.
ต้นไม้ใหญ่
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC
คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 24
วันก่อน นัดทานข้าวกับ "พี่อู๊ด" นักธุรกิจใหญ่ด้านประกันภัย และเพื่อนพ้องน้องพี่
"พี่อู๊ด" เพิ่งไปงานศพของ "เฉลียว อยู่วิทยา" เจ้าพ่อกระทิงแดงที่วัดเครือวัลย์วรวิหาร
งานศพของ "มหาเศรษฐีแสนล้าน" ที่สุดแสนจะเรียบง่าย
เป็นที่รู้กันว่า "เฉลียว" นั้นเป็นคนที่ใช้ชีวิตสมถะมาก
ทั้งที่ร่ำรวยมหาศาล
เขาใส่เสื้อผ้าง่ายๆ ไม่ใช้ของแพง
ไม่ออกงาน
มีความสุขอยู่กับการทำงาน อยู่กับโรงงาน
แต่ในวันที่เขามีชีวิตอยู่ เรื่องเหล่านี้คือเรื่องที่เล่าขานต่อๆ กันมา เพราะ "เฉลียว" ไม่ยอมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ภาพความเรียบง่ายของ "เฉลียว" จึงปรากฏให้สาธารณชนได้รับรู้
"เฉลียว" สั่งเสียลูกๆ ไว้แล้วว่าให้จัดงานศพแบบเรียบง่าย รบกวนคนให้น้อยที่สุด
ตอนแรกจะจัดงานศพแค่ 3 วัน แต่หุ้นส่วนใหญ่ที่ต่างประเทศเดินทางมาไม่ทัน จึงขยายเวลาเป็น 7 วัน
"เฉลียว" บอกลูกหลานให้เป็นเจ้าภาพเพียงคนเดียว ไม่รับ "เจ้าภาพร่วม"
จัดงานที่วัดเล็กๆ ใกล้ที่ทำงาน พนักงานจะได้เดินทางสะดวก
เงินที่แขกช่วยงานศพทั้งหมดบริจาคให้กับวัด
"พี่อู๊ด" เล่าว่าไปงานศพผู้ใหญ่หลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาเรื่องหาที่นั่งไม่ได้ หรือต้องไปนั่งกับคนที่ไม่คุ้นเคย
ครั้งหนึ่งไปงานศพคุณแม่ของนายแบงก์ พอไปถึงกลับไม่มีที่นั่ง แขกต้องยืนรอ
จนเจ้าภาพต้องประกาศผ่านทางไมโครโฟนให้พนักงานของบริษัทสละที่นั่งให้แขกด้วย
แต่งานนี้ ลูกหลาน "อยู่วิทยา" ทั้งหมดยืนเป็นแถวรอรับแขกอยู่หน้างาน
แขกของใครมา เขาก็จะเดินมารับและพาไปนั่งในกลุ่มคนที่คุ้นเคย
จากนั้นค่อยกลับไปยืนรอแขกต่อ
แต่ที่ประทับใจที่สุด ก็คือ การดูแล "คนขับรถ"
จะมีเจ้าหน้าที่ของ "กระทิงแดง" เดินมาถามคนขับรถว่ามางานนี้หรือครับ
จากนั้นจะชี้ทางไปที่จอดรถ และยื่นกล่องอาหารว่างของ "เอสแอนด์พี" และน้ำดื่มให้คนขับพร้อมกับของที่ระลึก
งานศพนั้นจัดช่วงเย็น บางทีคนขับรถอาจจะหิว
ยิ่งงานใหญ่ คนเยอะ หาของกินก็ยาก
การเตรียมอาหารว่างให้ "คนตัวเล็ก" อย่างคนขับรถ แสดงถึงความใส่ใจของครอบครัว "อยู่วิทยา"
นี่คือ เรื่องเล็กๆ ที่งดงาม
มี "ผู้ใหญ่" หลายคนที่เราเคารพเพราะ "เรื่องเล็กๆ" แบบนี้
อย่างผู้ใหญ่คนหนึ่ง ทุกครั้งที่มีงาน หรือต้องรับรองคนใหญ่คนโต
นอกจากสอบถามลูกน้องเรื่องอาหารการกินและการดูแล "แขก" แล้ว
เขาต้องถามเรื่องความสะอาดของห้องน้ำ
และประโยคหนึ่งที่ติดปากผู้ใหญ่คนนี้ก็คือ "อย่าลืมดูแลคนขับรถและผู้ติดตามด้วยนะ"
บางครั้งความยิ่งใหญ่ของคนเราที่อยู่ในใจคน
ไม่ใช่ขนาดของ "อาณาจักรธุรกิจ"
ไม่ใช่ฐานะความร่ำรวย
แต่เป็นเรื่องการใส่ใจในเรื่องเล็กๆ ของ "คนตัวเล็ก"
ที่เขาไม่เคยคิดว่า "คนตัวใหญ่" จะมองเห็น
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจ
เป็นเรื่องของนักการเมืองใหญ่อาวุโสคนหนึ่ง
เอ่ยชื่อมา คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเป็น "ไดโนเสาร์เต่าพันปี"
เป็นนักเลงโบราณ
แต่นักการเมืองใหญ่คนนี้จะมีลูกน้องเยอะมาก
ทั้งที่ฐานะการเงินก็ไม่ได้ฟู่ฟ่าอะไร
ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนคนนี้จึงมี "บารมี" มากขนาดนี้
จนวันหนึ่งมีคนเล่าเรื่องเล็กๆ ของนักการเมืองอาวุโสคนนี้ตอนที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งแรก
วันที่ประกาศผลการเลือกตั้ง นักการเมืองคนอื่นๆ กำลังมีความสุขกับชัยชนะ
นักการเมืองผู้ใหญ่คนนี้กลับนั่งนิ่ง
ทั้งที่เขาเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งทำให้ "ไทยรักไทย" ชนะเลือกตั้ง
นักการเมืองรุ่นหลานคนหนึ่งเดินไปถาม
"ทำไม ป๋าไม่ดีใจ"
"ดีใจ" ผู้อาวุโสตอบ
"แล้วทำไม หน้าเศร้าจัง"
"ป๋าสงสารลูกหลานที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง"
เป็นคำตอบที่ทำให้รู้เลยว่า คำว่า "บารมี" มาจากอะไร
ในขณะที่คนส่วนใหญ่มองแต่ "ชัยชนะ"
มองเห็นแต่คนที่ได้รับการชูมือ
แต่ "ไดโนเสาร์" คนนี้กลับนึกถึงคนที่แพ้การเลือกตั้ง
นึกถึงลูกหลานที่กำลังเสียใจ
รายละเอียดเล็กๆ แบบนี้เองที่ทำให้คนคนหนึ่งยิ่งใหญ่
ลองนึกถึงตอนที่เราประสบความสำเร็จ
ชนะในเกม
เราดีใจ
คนที่มาแสดงความยินดีกับผู้ชนะนั้นมีจำนวนมาก
ส่วนใหญ่เราจะจำไม่ได้
แต่ในวันที่เราเสียใจ พ่ายแพ้
คนที่เดินมาหาเราจะน้อยกว่าวันที่เราชนะ
และคนคนหนึ่งที่ปลอบใจและนั่งอยู่เคียงข้างเรา
เราจะจดจำคนนั้นได้เป็นอย่างดี
สังเกต "ต้นไม้ใหญ่" ไหมครับ
เวลาพูดถึง "ต้นไม้ใหญ่" ที่เราชอบ
ต้นไม้ต้นนั้นจะไม่ใช่ต้นไม้ที่ "สูง" ที่สุด
แต่เป็นต้นไม้ที่แผ่ "กว้าง" ที่สุด
ไม่มีใครนึกถึงต้นไม้ใหญ่ที่เป็นต้นอโศก หรือต้นสนที่สูงลิบลิ่ว
แต่มักจะนึกถึงต้นจามจุรี หรือต้นไม้ใหญ่ที่ไม่ต้องสูงมาก
ทว่า แผ่กว้างให้ร่มเงากับผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา
ไม่เลือกว่าเป็นใคร
ไม่ดูชื่อ ไม่ดูนามสกุล ไม่ดูฐานะ
ใครผ่านมาก็ร่มเย็นทุกคน
สิ่งที่เราจดจำต้นไม้ใหญ่จึงไม่ใช่ "ความสูงส่ง"
แต่กลับเป็น "ความกว้าง"
คงเหมือนกับ "คน"
ช่วงหนุ่มสาว เราอาจคิดเหยียดกายให้สูงที่สุด
แต่เมื่อเวลาผ่านไป
เราต้องรู้จักแผ่กิ่งก้านเพื่อให้ร่มเงาแก่คนอื่น
เพื่อให้คนจดจำในวันที่ร่วงโรย
++
สรกล อดุลยานนท์ : รบไป-เจรจาไป
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:18:00 น.
การประกาศเปิดให้ "คนเสื้อแดง" ข้ามไปรดน้ำอวยพรวันสงกรานต์ที่ลาวและกัมพูชาของ "ทักษิณ ชินวัตร" ครั้งนี้มีความหมายทางการเมือง
เพราะไม่ใช่แค่รดน้ำอวยพรธรรมดา
แต่มีการปราศรัยด้วย
เหมือนกับการหาเสียงกับ "คนเสื้อแดง"
อย่าแปลกใจที่ครั้งนี้ "แกนนำ" จะระดมพลครั้งใหญ่
เพราะเหมือนการนำกำลังพลไปพบกับ "แม่ทัพ"
นี่คือ สัญญาณที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
ที่ผ่านมา "ทักษิณ" ได้แต่วิดีโอลิงก์เข้ามาคุยกับ "คนเสื้อแดง"
แต่ไม่เคยปราศรัยแบบเห็นตัว ไม่เคยจับมือสวมกอดเหมือนตอนหาเสียงเลือกตั้ง
การสื่อสารแบบเจอตัวจริง พลังความรู้สึกจะสูงกว่ามากกว่าการแค่ฟังผ่านวิดีโอลิงก์
คำถามก็คือ ทำไม "ทักษิณ" ต้องทำแบบนี้
ด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะคิดถึงชาวบ้านที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้พรรคเพื่อไทย
แต่อีกทางหนึ่ง เชื่อว่า "ทักษิณ" ต้องการยกระดับความเหนียวแน่นของฐานเสียง
ถ้าครั้งนี้สำเร็จ ต้องมีครั้งต่อไปอย่างแน่นอน
และบางที "ทักษิณ" อาจมาปักหลักที่ลาวและกัมพูชาบ่อยครั้งมากขึ้น
ลองจินตนาการดูว่าถ้า "ทักษิณ" ได้เจอมวลชน "คนเสื้อแดง" เรื่อยๆ
พลานุภาพของ "คนเสื้อแดง" จะเป็นอย่างไร
ขนาดยังไม่ได้เจอ ยังขนาดนี้
ถ้าเจอกันบ่อยๆ จะเป็นอย่างไร
อย่าลืมว่า "อาวุธ" ของ "ทักษิณ" ที่จะต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีเพียง 2 อย่าง
คือ มวลชนคนเสื้อแดง และการเลือกตั้ง
"ทักษิณ" ไม่กลัวรัฐประหาร เพราะมี "คนเสื้อแดง"
"ทักษิณ" ไม่กลัวพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมั่นใจว่า "เลือกตั้ง" เมื่อไร ก็ชนะทุกครั้ง
ในขณะที่เกม "ปรองดอง" เดินหน้าไปเรื่อยๆ
"ทักษิณ" ก็แสดงพลังให้ฝ่ายตรงข้ามเห็น
ทั้งการขยายในเชิง "ปริมาณ" ผ่านหมู่บ้านคนเสื้อแดง
ทั้งการเพิ่มน้ำหนักความผูกพันระหว่าง "เสื้อแดง" กับ "ทักษิณ" ด้วยการเจอหน้าเจอตากันที่ลาวและกัมพูชา
ช่วงสงกรานต์ถ้า "ทักษิณ" ปราศรัยอ้อน "คนเสื้อแดง" ด้วยประโยคนี้
...อยากกลับบ้าน
หรือ..ช่วยพาผมกลับบ้านด้วย
หมายความว่า "ทักษิณ" เดินเกมเร็วแล้ว
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยบอกว่าไว้ว่า "สันติภาพ" เกิดขึ้นจาก "ความกลัว"
และนี่คือหนึ่งในเกม "รบไป-เจรจาไป" ของ "ทักษิณ"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย