http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-27

ศิริพงษ์: “ซุปเปอร์ทรี”, ..อาฟเตอร์ช็อกยาว, MOOCs, ฯอินเตอร์เน็ตกับโลกใหม่แห่งการทำงาน

.

“ซุปเปอร์ทรี” ป่าเทียมในเมืองใหญ่
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 100


เมื่อไม่กี่วันก่อนมีรายงานจากองค์กรมีเดีย แมตเทอร์ส ที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวของสื่อ บอกว่าการรายงานข่าวของสื่อทีวีหลักๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ไคลเมต เชนจ์ นั้น ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี 2009 ในขณะที่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์และการเมือง มีพัฒนาการขึ้นมาเป็นลำดับ 
และเฉพาะปีที่แล้ว สื่อหลักอันได้แก่ ABC, CBS, NBC และ Fox ใช้เวลารวมในการพูดถึงเรื่องนี้เพียงแค่ 47 นาที 
ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาที่ใช้มากกว่ากันถึงสองเท่าในการรายงานข่าวคราวเกี่ยวกับความทะเยอทะยานของ โดนัลด์ ทรัมพ์ ที่จะเสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และการสืบสวนสอบสวนอัน "ไร้สาระ" ของเขาเกี่ยวกับใบเกิดของประธานาธิบดีโอบามา

การกระทบกระเทียบของเขาว่าไปแล้วก็ตลกดี อาจจะคล้ายกับในบ้านเราตอนนี้ก็ได้ ที่สื่อกระแสหลักให้ความสนใจล้นหลามกับข่าวภาพโป๊แวบขึ้นจอในสภา อย่างชนิดจะเป็นจะตาย ตามติดกันแบบตาไม่กะพริบทุกวัน 
แต่แทบไม่ให้ความสนใจข่าวเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ โครงการซ่อนเงื่อนที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ให้สร้างเมื่อไม่นานมานี้ 
ทั้งที่เรื่องหลังมีความหมายสำคัญยิ่งกว่ามากมาย


เรากำลังจะแลกผืนป่าสมบูรณ์ทั้งๆ ที่มันมีน้อยอยู่แล้วไปอีกหนึ่งผืนใหญ่ กินพื้นที่เป็นหมื่นๆ ไร่ เพื่อตอบสนองความไม่รู้จักพอของมนุษย์

หันไปดูประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ที่ในอดีตก็ทำลายพื้นที่ป่าจนยับเยินไปแล้วไม่เหลือหลอ ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดเวลานี้เป็นป่าปลูกทั้งนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพหมดเกลี้ยง สัตว์ท้องถิ่นพากันสูญพันธุ์ไปเกือบหมด
นั่นอาจจะเป็นเหตุให้สิงคโปร์โหยหาธรรมชาติ มีการหาทางเพิ่มพื้นที่สีเขียวแม้ในเขตใจกลางเมืองอย่างโครงการสวนในแนวตั้งที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์และเปิดเต็มที่ในราวเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนสุดท้ายของโครงการห้าปีก็คือ ซุปเปอร์ทรี หรืออภิต้นไม้ ซึ่งเป็นโครงสร้างแนวตั้งคล้ายหอคอย ความสูง 164 ฟุต มีทั้งหมด 18 ต้น

ซุปเปอร์ทรี จะปลูกต้นไม้ไล่จากโคนขึ้นไปจนถึงยอดจำนวนทั้งหมดมากกว่า 200,000 ต้น กว่า 200 ชนิดจากทั่วโลก มันจึงอุดมไปด้วยความหลากหลาย แม้จะไม่ได้เกิดจากธรรมชาติก็ตาม ซุปเปอร์ทรีแต่ละต้นจะทำหน้าที่รองรับน้ำฝน กระจายความชื้น แผ่ความเย็น ดูดซับความร้อน และในจำนวนนี้ 11 ต้นติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วย

ดูจากภาพแล้วก็น่าทึ่งดีเหมือนกัน และปลงอนิจจังไปด้วย สำหรับประเทศที่ไม่มีก็ขวนขวายที่จะมีด้วยวิธีต่างๆ นานา ส่วนประเทศที่ยังพอมีอยู่ กลับไม่เคยคิดจะฟูมฟักรักษาไว้ 
โผล่มาได้อยู่เรื่อยละครับ ไอ้โครงการทำลายธรรมชาติให้ย่อยยับในบ้านเรา



++

แผ่นดินไหว อาฟเตอร์ช็อกยาว...
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 100


โลกนี้ชักอยู่ยากขึ้นทุกวัน เป็นประโยคที่ใช้กันบ่อยพอสมควรในเฟซบุ๊ก มาจากชื่อเพจบนเฟซบุ๊กที่ไว้เล่นขำขื่นกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านภาพถ่าย ซึ่งมีอยู่หลายเพจที่ใช้ประโยคทำนองนี้ ซึ่งเมื่อจะพิจารณาแล้วโลกนี้มันก็ชักอยู่ยากขึ้นทุกวัน

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ตเมื่อเย็นวันก่อน ตามติดด้วยที่สุมาตรา และเกิดตามมาอีกหลายครั้งในภูเก็ตเป็นระยะๆ หลังเที่ยงคืนสลับฉากไปเกิดที่พม่า พอข้ามวันเข้าถึงตีหนึ่งเกิดที่สุลาเวสี จนถึง 10 โมงของวันที่กำลังเขียนต้นฉบับก็เกิดที่ตอนเหนือของสุมาตราอีก 
ย้อนกลับไปไม่กี่วันก่อนหน้านั้นหลังเกิดสึนามิน้อยๆ ที่ไม่มีอำนาจทำลายล้างแต่สร้างความแตกตื่นไปในหลายประเทศ เพราะระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวสูงถึง 8.6 ริกเตอร์ และยังมีอาฟเตอร์ช็อกที่เกิน 8 ริกเตอร์ตามมาอีกครั้ง
นี่ยังไม่นับที่เกิน 5 ริกเตอร์อีกนับสิบๆ ครั้ง


ผมอ่านเว็บไซต์ของ เดอะ การ์เดียน เจอข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวบอกไว้

เป็นข้อมูลที่ช่วยเตือนให้จำใส่ใจไว้ว่าโลกนี้ชักอยู่ยากขึ้นทุกวัน นั่นก็คือ เขาบอกว่าอาฟเตอร์ช็อกเกิน 8 ครั้งที่ตามมานั้น เกิดตามรอยเลื่อนเปลือกโลกแนวยาว 125 ไมล์เดิมที่เปลือกโลกเลื่อนทำให้เกิดแผ่นดินไหวอันเป็นเหตุสึนามิน้อยๆ นั่นละครับ มันส่งผลให้เกิดพลังงานมหาศาลที่กระจายแรงเค้นไปตามจุดที่เปราะบางของรอยเลื่อน 
ผลที่ตามมาในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวก็คือ คาดว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกถี่มากกว่าปรกติไปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จนถึงหลายเดือน หรือบางครั้งหลายปี

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อต้นปี นักวิชาการแผ่นดินไหววิทยายังยืนยันมั่นเหมาะว่าปีนี้จะไม่เกิดแผ่นดินไหวเกิน 8 ริกเตอร์ แต่ผ่านมาไม่กี่เดือนมันก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ว่าที่จริงเราอยู่กับความไม่แน่นอนของโลก ซึ่งในทางกายภาพมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หลังสึนามิปี 2547 หรือล่าสุดที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น แผ่นทวีปก็เคลี่อนตัวจากที่เดิมกันไปทั้งโลก  
ดังนั้น แนวคิดเดิมบนสภาพทางกายภาพของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงต้องนำเสนอด้วยท่าทีที่ระมัดระวัง เนื่องจากเอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่รู้โดยละเอียด เพราะโลกกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน  
แต่ตามหลักแล้วเรารู้ว่ามันส่งผลสะเทือนถึงกันแน่ๆ



ถึงแม้ว่าพื้นโลกจะเป็นของแข็งแต่โดยข้อเท็จจริงก็คือ มันลอยตัวอยู่บนของเหลวหรือแมกม่า 
เดิมเชื่อกันว่าแผ่นดินไหวระดับเกิน 8 ริกเตอร์ 5-10 ปี จะเกิดสักครั้ง แต่ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ปาเข้าไป 7 ครั้งแล้ว 
แต่โลกนี้ก็เกิดแผ่นดินไหวถี่ยิบละครับ ตามสถิติที่เก็บกันไว้คือนาทีละ 2 ครั้ง เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีเครื่องมือที่จะรู้ได้ล่วงหน้าเท่านั้นเอง และไม่ใช่ว่าไหวใหญ่รุนแรงหมดทุกครั้ง  
แม้จะไหวอยู่แบบที่เรียกว่าเกือบตลอดเวลาก็ตาม



++

MOOCs โลกใหม่ของการศึกษาขั้นสูง
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 100


ในโลกไซเบอร์ที่ก้าวรุดหน้าไปเรื่อยๆ มีศัพท์ใหม่คำหนึ่งเกิดขึ้นมาคือ MOOCs ย่อมาจาก Massive Open Online Courses ซึ่งกำลังเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเครื่องมือในการศึกษาขั้นสูงอย่างเท่าเทียมหรือเป็นประชาธิปไตย

รายงานชิ้นหนึ่งในหนือสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เมื่อเร็วๆ นี้ หยิบเรื่องนี้มารายงาน โดยยกตัวอย่างวิชาเรียนที่กำลังจะเปิดสอนกันเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ คือวิชา "การสร้างเสิร์ช เอ็นจิ้น" ที่โฆษณาว่า "เรียนการเขียนโปรแกรมภายในเจ็ดสัปดาห์เริ่มต้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ เราจะสอนให้คุณสามารถเขียนเว็บเสิร์ช เอ็นจิ้น อย่างกูเกิ้ลหรือยาฮูได้" 
ถ้อยคำโฆษณาดูเหมือนโฆษณาดาดๆ ของคอร์สเรียนเร็วเรียนลัดทั่วๆ ไป ที่ทำให้วิชา "การสร้างเสิร์ชเอ็นจิ้น" นี้ไม่ธรรมดาก็เพราะผู้สอนคือนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียงสองคน ได้แก่ เซบาสเตียน ทรัน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นหัวหน้าที่พัฒนารถยนต์ไม่มีคนขับของกูเกิ้ล และ เดวิด อีวานส์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย 

ชั้นเรียนออนไลน์แบบเปิดนี้กับอีกวิชาหนึ่งที่สอนโดยทรัน และดำเนินการโดย Udacity เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเมื่อปลายเดือนมกราคม ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมหาศาล มีคนสมัครเรียนกว่า 90,000 คน 
พวกเขากำลังก้าวเข้ามาสู่โลกของการเรียนการศึกษาแบบเปิดที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงสถาบันการศึกษาแบบเก่าๆ อีกต่อไป เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตพัฒนามากขึ้น ความเร็วของโครงข่ายทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับคนจากทั่วโลกที่จะเรียนในขั้นสูงขึ้นตามความต้องการโดยไม่ต้องผ่านระบบการศึกษาแบบเก่า

กระทั่งมหาวิทยาลัยอย่างสแตนฟอร์ดเองก็ให้ความสนใจและหันมาเปิดวิชาเรียนออนไลน์ทำนองเดียวกันนี้ ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา มีคน 160,000 คน จากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก สมัครเข้าเรียนวิชาปัญญาประดิษฐ์ซึ่งสอนโดย เซบาสเตียน ทรัน และ ปีเตอร์ นอร์วิก จากกูเกิ้ล
ขณะที่มี 200 คน ลงทะเบียนเลือกแบบมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเพื่อจะได้เรียนแบบต่อหน้าต่อตาจากผู้สอน
ในจำนวนนี้ลดลงเหลือเพียง 30 คน ในเวลาไม่กี่สัปดาห์เพราะสมัครใจเปลี่ยนไปเรียนแบบออนไลน์มากกว่า



ชั้นเรียนออนไลน์แบบเปิดใหญ่โตขนาดนี้ย่อมสร้างความประหลาดใจได้ไม่น้อย มันเหมือนระบบใหม่ของการศึกษากำลังก่อตัวขึ้นเป็นคลื่นลูกใหญ่โตมโหฬาร โอกาสทางการศึกษาขยายตัวไปอย่างไม่น่าเชื่อหลังจากผ่านช่วงเวลาแห่งความฝันในเรื่องการศึกษาทางไกลกันมานาน

เซบาสเตียน ทรัน บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขาไม่อาจกลับไปสอนที่สแตนฟอร์ดได้อีก "ผมรู้สึกเหมือนมียาเม็ดสีแดงกับสีฟ้า คุณจะเลือกกินเม็ดสีฟ้าก็ได้แล้วกลับไปสอนนักศึกษา 20 คนในห้องเรียน แต่ผมเลือกสีแดง มันทำให้ผมได้พบกับดินแดนมหัศจรรย์"

ในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีคนจากทั่วโลกหลายแสนคนที่เข้าเรียนชั้นเรียนออนไลน์ทำนองนี้ สแตนฟอร์ดเองในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ก็มีเปิดให้เรียนถึง 13 วิชา และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่งที่กำลังเริ่มเต็มที่กับ MOOCs

วิชาเรียนออนไลน์แบบนี้ไม่ใช่ชั้นเรียนโหลๆ อย่างแน่นอน เป็นการเรียนรู้อย่างจริงจังของคนที่ใฝ่รู้ อย่างเช่น ในวิชาปัญญาประดิษฐ์ซึ่งมีคน 160,000 คนลงทะเบียนเรียน มีคนเรียนจบแค่ 23,000 คน

หรือวิชา Machine Learning คนลงทะเบียนเรียน 104,000 คน เรียนจบจริง 13,000 คน เป็นต้น



++++
บทความของปี 2554

พลังอินเตอร์เน็ต กับโลกใหม่แห่งการทำงาน 
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1595 หน้า 100


วันก่อนลูกสาวผมเล่าให้ฟังว่ารับจ้างวาดตัวละครประกอบฟิกชั่นให้เด็กฝรั่ง เข้าใจว่าคงเป็นหนังสือทำมือแบบโดจินบ้านเรา วาดไปสองสามตัวได้ค่าจ้างมา 1,600 บาท ส่วนอีกงานที่รับมาเป็นการวาดเพื่อเอาไปเป็นของขวัญให้เพื่อน เจ้าหลังนี้ให้ค่าจ้าง 1,800 บาท พอสเก็ตช์ภาพร่างส่งไปให้ดูก็โอนเงินมาให้ก่อนครึ่งหนึ่ง
เด็กพวกนี้ไปเจอและรู้จักกันบนเว็บไซต์ Devianart.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ชุมนุมงานศิลปะและศิลปินทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพทั่วโลกที่ก่อตั้งมายาวนาน เป็นหนึ่งในแหล่งที่หากใครอยากได้งานศิลปะ ภาพวาด ภาพถ่าย ทั้งรูปแบบดิจิตอล พิมพ์กระดาษ ปฏิทิน โปสการ์ด ขอให้เข้าไปสอดส่ายสายตาดูได้ มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่อาศัย Devianart เป็นแกลเลอรีแสดงและขายภาพอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

Devianart.com เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการอยู่ในโลกไร้พรมแดน ที่เราสามารถหางาน รับงานจากที่ไหนๆ ก็ได้ในโลก หากมีฝีมืออยู่ท่าสองท่าและเอาจริงเอาจังก็สามารถมีอาชีพได้โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร


มีอยู่เว็บไซต์หนึ่งของฝรั่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนต้องการทำงานอิสระโดยเฉพาะคือเว็บไซต์ peopleperhour.com ที่เป็นเสมือนตลาดกลางสำหรับเหล่าฟรีแลนซ์ทั่วโลก ให้มาจับคู่กับผู้ว่าจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดย่อมที่ต้องการจ้างงานเป็นชิ้นๆ ซึ่งทุกวันนี้แต่ละวันจะมีธุรกิจเข้ามาเสนองานเป็นพันๆ บริษัท ให้บรรดาฟรีแลนซ์เสนอราคาและคุณภาพงานที่ดีที่สุด
ธุรกิจขนาดย่อมนิยมวิธีนี้เพราะประหยัดและได้งานที่ออกมาดี เนื่องจากมีตัวเลือกให้เลือกหลายตัว ขณะที่ฝั่งของคนทำงานฟรีแลนซ์ก็มีช่องทางการหางานกว้างขึ้น แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง เรียกได้ว่าแข่งกันในระดับโลกเลยทีเดียว

มูลค่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ผ่านเว็บไซต์นี้ตั้งแต่ก่อตั้งมาราวสามปีคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ 
เว็บไซต์ในทำนองเดียวกับ peopleperhour.com นั้นความจริงมีอยู่ไม่น้อย บางแห่งก็เจาะจงเฉพาะด้านเช่น เป็นเว็บไซต์ตลาดกลางสำหรับดีไซเนอร์ เป็นต้น 
โลกแห่งการทำงานนับวันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยที่ก่อนหน้าจะมีอินเตอร์เน็ตไม่มีใครสามารถจะทำในลักษณะนี้ได้ เมื่อมีอินเตอร์เน็ตจึงทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ยิ่งพื้นฐานอินเตอร์เน็ตแข็งแกร่งสมบูรณ์มากขึ้นก็ยิ่งเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก



มีตัวอย่างของเด็กหนุ่มอังกฤษสองคนที่เป็นเพื่อนกันสมัยเรียนมหาวิทยาลัย หลังจบก็ไปทำงานด้านการเงินอยู่สามปี แต่ในที่สุดก็ลาออกมาตั้งบริษัทเล็กๆ ของตัวเองทำธุรกิจผ่านเว็บไซต์ tiptoken.co.uk

ธุรกิจของเว็บไซต์นี้อาจจะไม่ใหม่สำหรับฝรั่ง มันเป็นธุรกิจที่เรียกกว่า กรุ๊บ-บายอิ้ง หรือการรวมกลุ่มกันซื้อบริการหลายแหล่ในลอนดอน ซึ่งจะทำให้ส่วนลดมากกว่าราคาตลาดปกติ เช่น ซื้อคอร์สเรียนดำน้ำ ซื้อบัตรสมาชิกภัตคาร ซื้อคอร์สเรียดวาดภาพ ซื้อตั๋วชมคอนเสิร์ต เป็นต้น เมื่อคนเข้าไปคลิกซื้อจนถึงจำนวนขั้นต่ำ ดีลนั้นก็เป็นอันจบ แต่ละคนจ่ายเงินแล้วนำหลักฐานไปใช้บริการที่ซื้อภายในเวลาที่กำหนด
เปิดมาได้แค่สามเดือนมีคนลงทะเบียนเป็นสมาชิกเกินหลักแสนแล้ว

ประเด็นอยู่ตรงที่บริษัทนี้มีลูกจ้างรวมกันอยู่แค่สองคน ไม่มีสำนักงาน แต่ทั้งสองคนทำงานจากที่บ้านผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และงานทุกอย่างเอาต์ซอร์สไปภายนอกจากเหล่าฟรีแลนซ์ทั่วโลกหมด แม้แต่การพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ก็ใช้ฟรีแลนเซอร์จากอินเดีย ระบบไอทีที่สนับสนุนงานก็อยู่อาศัยบริการเคลาด์ คอมพิวติ้ง 
นี่เป็นแนวโน้มของบริษัทยุคใหม่โดยคนรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานจากบ้านผ่านอินเตอร์เน็ต แน่นอนว่าเมื่อไปถึงจุดหนึ่งสำนักงานอาจจะจำเป็น แต่สำหรับระยะเริ่มต้นของการบุกเบิก ด้วยเงินทุนเพียงน้อยนิด ธุรกิจก็สามารถริเริ่มขึ้นได้จากที่บ้าน อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ที่จริงบริษัทในขอบเขตที่ใหญ่กว่านี้และอาศัยแนวคิด เวอร์ชวล ออฟฟิศในการทำงานยังมีอยู่อีกไม่น้อย
ในเมืองไทยจะว่าไปโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีนับว่าพร้อมพอสมควร แต่ที่เราขาดมากๆ คือแนวคิดในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลิตภาพ



.