.
เทวบุตรหลวงชาวยอง เมื่อเทพอยากเป็นคน ในยุคที่คนกลายเป็นเทพ
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 76
เทพเจ้าในภพภูมิอื่นๆ อาจมีอยู่จริง แต่เทพที่เป็นผลผลิตจากคน เสกสมมติคนธรรมดาขึ้นให้สูงส่งขึ้นเหนือกว่าคนเพราะอำนาจบารมีจนกลายเป็น "สมมติเทพ" ก็เพื่อให้คนทั่วไปกราบไหว้
เทพหลายองค์ถูกเสกสร้างขึ้นให้ดูสมจริง มีชีวิตเลือดเนื้อเต้นตุบๆ มีความรัก มีเรื่องชู้สาวฉาวโฉ่ ตบตี นินทา
เทพบางองค์ประทับพิมพ์อยู่ในความทรงจำของคน ด้วยถูกกระบวนการ "ผลิตซ้ำทางความเชื่อ" เช่น พระพรหมต้องมีสี่หน้า พระอิศวรต้องมีตาที่สาม พระคเณศร์ต้องมีหัวเป็นช้าง พระอินทร์ต้องทรงช้างเอราวัณ ฯลฯ
ทว่า มีเทพอีกไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการถ่ายถอดออกมาในเบ้าหลอมแบบพิมพ์ ยังอยู่ในสถานะ "นามธรรม" ไม่มีหน้าตา ไม่มีพาหนะ ไม่มีอาวุธ ไม่ทราบสีผิวกาย มิพักต้องถามถึงชื่อของลูกเมีย
ดังกรณีของเทพสี่องค์นี้ที่เรียกกันโดยรวมว่า "เทวบุตรหลวงชาวยอง" หรือ "เตวบุตรโหลงจาวยอง" แห่งเมืองลำพูน
ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ ในเมื่อบรรพบุรุษชาวยองอยู่กันมาแต่ไหนแต่ไรได้ แสดงว่าไม่มีใครเห็นความจำเป็นว่าจะต้องกำหนดรูปลักษณ์ให้แก่เทวบุตรหลวง แล้วคนยุคสมัยเราจะไปเดือดร้อนอะไร
เรื่องนี้ต้องถามทางเทศบาลตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ลำพูน ว่ามีแนวคิดอย่างไร ถึงได้อยากแปลงเทพสมมติให้เป็นมนุษย์?
เทวบุตรหลวงชาวยองคือใคร
เทพเจ้าฮินดูหรือเทวดาพุทธ?
ไม่เพียงแต่ชาวยองเท่านั้นที่มีความเชื่อเรื่อง "เทวดาสี่ตน" (ภาษาเหนือใช้ "ตน" แทน "องค์") แต่ยังเป็นความเชื่อรวมของคนพื้นเมืองภาคเหนือด้วย เรียกเป็นภาษาบ้านๆ ว่า "ต๊าวตึงสี่" (ท้าวทั้งสี่) แต่ชาวยองยังคงเรียกว่า "เทวบุตรหลวง"
ท้าวทั้งสี่แท้ก็คือ "เทวดาอารักษ์เมือง" ทำหน้าที่เฝ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองก็คือพระมหาธาตุเจดีย์ ดังนั้น ชาว "ไท" จากสิบสองปันนาจึงนิยมสร้าง "หอบูชาไฟ" เสมือนที่สถิตของท้าวทั้งสี่ ไว้ที่ฐานเจดีย์วัดสำคัญ โดยไม่ได้สร้างให้เป็นเทวดามีรูปร่างหน้าตา
ผิดกับชาวล้านนาหรือชาวไทโยน ที่สร้างท้าวทั้งสี่เป็นรูปยักษ์กุมภัณฑ์ถือกระบองล้อมรอบองค์พระธาตุเจดีย์
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุเพราะท้าวทั้งสี่หรือยักษ์กุมภัณฑ์ที่ชาวล้านนานับถือนั้น แท้ที่จริงก็คือ "ท้าวจตุโลกบาล" กอปรด้วย ท้าวกุเวร (เวสสุวรรณ) ทิศเหนือ ท้าวธรตราษฎร์ (คนธรรพ์) ทิศตะวันออก ท้าววรูธกา (วิรุฬหก หรือกุมภัณฑ์) ทิศใต้ และท้าววิรูปักษ์ (นาค) ทิศตะวันตก
หากแยกโดยละเอียดตามหลักเทพประจำทิศที่ปกปักพุทธสถานต้องเป็นตามนี้ แต่ชาวลัวะและชาวล้านนา เรียกเหมาโดยรวมว่า "ท้าวกุมภัณฑ์" เหมือนกันหมดทั้งสี่ตน
ส่วนที่มาแห่งเทวบุตรหลวงของชาวยองนั้น มีความแตกต่างออกไป เพราะชาวยอง (ไทยอง) อยู่ในฐานะ "คนพลัดถิ่น" ถูกกวาดต้อนให้อพยพบ้านแตกสาแหรกขาดชนิดเทครัวกว่าหมื่นชีวิต ให้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองลำพูนแบบมิทันตั้งเนื้อตั้งตัว
หากผ่าหัวใจชาวยองเมื่อ 200 ปีก่อนออกมา เราคงได้ยินเสียงกู่ก้องตะโกนว่า "ถ้าเป็นไปได้ ข้อย (ชาวยองไม่เรียกตัวเองว่า "ข้าเจ้า" เหมือนชาวล้านนา แต่กลับเรียกว่า "ข้อย" มาจาก "ข้าน้อย" เหมือนชาวลาวอีสาน) ใคร่ยกพระมหาธาตุจอมยองย้ายมาสร้างที่เมืองใหม่ทั้งองค์ด้วยซ้ำ
แต่นี่ทำได้เพียงแค่เก็บเศษหินเศษดิน (เรียก "เป้ก") ที่ร่วงมาจากหอเทวบุตรหลวงทั้งสี่ติดตัวมาด้วย
เมื่อถึงลำพูนนำมาก่อหอบูชาไฟไว้ ณ วัดหัวขัว (ฝั่งเวียงยอง) เพื่อใช้เป็นเครื่องรำลึกถึงพระมหาธาตุสำหรับคนไกลบ้าน
ในฐานะคนพลัดที่นาคาที่อยู่ ต้องมาอาศัยร่มเงาเมืองลำพูนภายใต้แผ่นดินสยาม ชาวยอง ได้แก่ เก็บเอาเศษเป้กนั้นมาบูชาอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว มิอาจสร้างพระมหาธาตุจอมยององค์ใหม่แข่งกับพระมหาธาตุหริภุญไชย ซึ่งเป็นหลักเมืองของชาวลำพูน และตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำกวง (ปิงเก่า) ได้เลย
กาลเวลาผ่านไปนานกว่า 200 ปี แทบไม่มีใครให้ความสำคัญต่อเทวบุตรหลวงอีกต่อไป หอบูชาไฟเศร้าหมองถูกละเลย ลูกหลานคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก
จนกระทั่งเทศบาลเวียงยองได้ดำริที่จะฟื้นเทวบุตรหลวงขึ้นมาในรูปโฉมใหม่ ให้เป็นเทพที่มี Icon ถือศาสตราวุธ มีพาหนะ แต่ละองค์มีอัตลักษณ์เฉพาะตน เหมือนดังเทพอื่นๆ
โจทย์หนักกระหน่ำโถมท้าทายภูมิปัญญาของบรรดาปราชญ์ท้องถิ่นด้านยองศึกษา
นอกจากจะต้องทักท้วงว่ามันเหมาะสมแค่ไหน ต้องจำลองมหาธาตุจอมยองเป็นประธานก่อนเพื่อให้ประติมากรรมเทวบุตรหลวงทั้งสี่สามารถติดตั้งล้อมรอบฐานอีกด้วยหรือไม่ ยังต้องสืบค้นกันอย่างหนักหน่วงว่า เทวบุตรหลวงทั้งสี่คือใครมาจากไหน?
ย้อนรอย "จตุคามรามเทพ"
กับเงื่อนงำจารึกทมิฬถึงฤๅษีเมืองลำพูน
หากเทวบุตรหลวงชาวยองคือท้าวกุมภัณฑ์เหมือนท้าวทั้งสี่ของล้านนาก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะต้นแบบท้าวจตุโลกบาลนั้นมีให้เห็นกลาดเกลื่อน ตั้งแต่ศิลปะในประเทศแม่คืออินเดีย
ปัญหาก็คือ เทวบุตรหลวงชาวยอง หาใช่เทวดากลุ่มเดียวกับท้าวจตุโลกบาลไม่ เพราะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า สุรณะ ลขะณะ พิธิวร และ มหินิยัง
ดิฉันพยายามถอดรหัสของชื่อไม่คุ้นหูคุ้นตานี้ออกมาเทียบเคียงกับเทพสี่องค์ของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ
เมื่อตัดกลุ่มจตุโลกบาลทิ้งไปแล้ว ลองชายตาลงไปมองยังนครศรีธรรมราชเมืองที่เคยร้อนแรงยุคกระแสจตุคามรามเทพบ้างไรบ้าง จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ระบุชื่อของเทวตาสี่ตนที่ทำหน้าที่เฝ้าพระเขี้ยวแก้วในลังกา และเฝ้าพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชด้วย มีชื่อดังนี้ สุมน ลักขณ ขัตตคาม (คนไทยเรียกเพี้ยนเป็นจตุคาม) และรามเทวราช
จะเห็นว่าชื่อ สุรณะ กับ ลขะณะ ใกล้เคียงกับ สุมนเทวราช และลักขณเทวราช
พิธิวร กับมหินิยัง นั้นเล่าเอาไปไว้ไหน พิเคราะห์อย่างไรก็ไม่เห็นว่าจะสอดคล้องกับ จตุคาม-รามเทพที่เหลืออีกสององค์เลยแม้แต่น้อย
ถ้าเช่นนั้นคงต้องมองย้อนไปให้ไกลยิ่งกว่ายุคที่เขียนชินกาลมาลีปกรณ์ เอาจารึกสิงหลกับวรรณกรรมของชาวทมิฬที่เขียนเมื่อพันปีที่แล้วมาเทียบเคียงดู พบว่าเทพสี่องค์ผู้เฝ้าพระเขี้ยวแก้วมีชื่อว่า วิษณุ นาถะ สกันธา และพัททินี
วิษณุนามนี้ใช่ใครที่ไหน เขาคือรามเทพ เหตุเพราะพระรามเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ
ส่วนนาถะนั้นเล่า ในตำนานพระรอดวัดมหาวันลำพูน ได้กล่าวว่าสร้างโดยพระฤๅษีสุมนนารอท หรือสุมนนารถะ ถ้าเช่นนั้น นาถะก็คือสุรณะ หรือสุมน องค์เดียวกัน
เหตุที่ต้องลากฤๅษียุคหริภุญไชยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็เพราะผู้อารักษ์เมืองลำพูนนั้นมีชื่อสอดคล้องกันพอดิบพอดีกับเทพของหลายๆ เวอร์ชั่น ซ้ำยังบอกทิศได้อีกคือ
ทิศเหนือ มีฤๅษีกฤษณะวาสุเทพ (ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือวิษณุ หรือรามเทพ)
ทิศตะวันตก มีฤๅษีสุมนนารอทแห่งวัดมหาวัน
ทิศใต้ฤๅษีสุกกะทันตะ แห่งเขาสมอคอล ละโว้ (ทิศนี้มืดแปดด้านไม่รู้จะเทียบกับใคร)
แต่ทิศตะวันออกคือ สุพรหมฤๅษี ผู้ขี่นกยูง เป็นคนเดียวกันกับ "สกันธา" Skanda ใครๆ ก็รู้ว่าหมายถึงขันทกุมาร หรือขัตตุคาม (จตุคาม)
ในขณะที่พัททินี ของทมิฬ จะเป็นตนเดียวกันกับ พิธิวรของชาวยองหรือไม่ เรื่องนี้ยังต้องศึกษา พัททินี หากเขียนเป็นภาษาสันสกฤตจะได้ว่า ปัตตานิ ที่หมายถึง เทวสตรี
ส่วน พิธิวร หรืออ่านแบบชาวยองว่า ปิตติพร ซึ่งฟังดูเป็นอิตถีเพศ หากเป็นจริงตามข้อสันนิษฐานก็แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อของชาวทมิฬและชาวยองได้เปิดพื้นที่ให้แก่สตรีเข้าไปเป็นอารักษ์เมืองหนึ่งที่นั่ง
แน่นอนว่า ลักขณาก็คือพระลักษณ์ น้องชายพระราม อันเป็นนามที่ปรากฏทั้งในชินกาลมาลีปกรณ์และของเทวบุตรหลวงชาวยอง แต่ชาวทมิฬกลับไม่ยกย่อง รวมทั้งไม่ปรากฏนามในลำพูน
อนึ่ง เรื่องของชื่อเทวดาที่คลาดเคลื่อนสะกดผิดเพี้ยนกันไปตามแต่ละท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่โดยรวมแล้ว พอจะได้ข้อสรุปว่า เทวบุตรหลวงชาวยอง เป็นเทพที่สืบมาจากตระกูล ลังกา-นครศรี-ลำพูน ไม่ใช่สายจตุโลกบาลเหมือนความเชื่อของชาวลัวะพื้นเมืองเดิมที่ส่งทอดให้ชาวล้านนาไทโยน
ทีนี้เราจะพอเห็นรูปร่างหน้าตาของเทวบุตรหลวงทั้งสี่คร่าวๆ แล้วว่า ใครควรมีผิวกายสีเหลืองแบบพระลักษมณ์ (ลักขณะ) ใครควรเป็นอิตถีเพศ (พิธิวร?) ใครควรหน้าตาคล้ายคนปั้นพระรอดลำพูนผู้ประทับอยู่ ณ เขาสุมนกูฏ (สุรณะ) ส่วนอีกคนนั้นคือ มหินิยัง ชื่อคล้ายกับ "มหิยังคณะ" ชื่อทางการของเมืองยองนั้น จนด้วยเกล้าจริงๆ ไม่รู้จะเทียบกับ จตุคามหรือรามเทพดี
แม้กระนั้น คนเฒ่าคนแก่ชาวยองลำพูนจำนวนไม่น้อยเมื่อรู้ข่าวนี้ ก็ทักท้วงว่า "อย่าปั้นเลยรูปเทวบุตรหลวง รูปร่างหน้าตาภายนอกไม่สำคัญเท่าจิตวิญญาณหรอก"
หลายท่านเกรงว่าเมื่อแปลงนามธรรมสู่รูปธรรมแล้วออกมาอาจกลายเป็นยี่เก หัวมังกุท้ายมังกร
ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น นายกเทศมนตรีเทศบาลเวียงยองยังคงยืนยันเจตนารมณ์เดิมว่า
"ที่พวกเรากลัว ก็เพราะไม่เคยเห็นต้นแบบมาก่อน จึงคิดว่าการเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ครั้งนี้เป็นการอุตริ เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยง คนที่สร้างพระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ให้มีรูปร่างหน้าตาเป็นคนแรกก็อาจถูกสาปแช่งมาก่อนแล้ว ขึ้นชื่อว่าเทพ ไม่ว่าจะใหญ่จะเล็ก จะเคยมีคนทำหรือไม่เคยมีคนทำ เทพก็ไม่จำเป็นต้องสงวนไว้ให้เป็นรูปธรรมตลอดกาลมิใช่หรือ"
อือม์ น่าคิดเหมือนกัน ว่าทำไมเทพจะถูกสร้างให้กลายเป็นคนไม่ได้ ในเมื่อคนนั่นแหละเป็นผู้เขียนตำนานสร้างเทพขึ้นมาเอง แถมคนยุคก่อนยังชอบยกมนุษย์ด้วยกันให้กลายเป็นเทพยืนเหยียบหัวมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย ซึ่งยุคสมัยเราพฤติกรรมตกค้างเช่นนี้ยังคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศแล้ว
แน่นอนว่าทุยแลนด์แห่งนี้เป็นหนึ่งในนั้น เหตุเพราะทั้งรัฐและเอกชนต่างแก่งแย่งแข่งขันกันสร้าง พิธีกรรมกราบจ้าวอวยเทพกันไม่เว้นวัน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย