http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-13

ข้างหลังภาพ"ไฟใต้"/ ..สู่แนวทาง"ดับไฟใต้"?

.
คอลัมน์ ในประเทศ - เปิดข้อเสนอ "สันติสนทนา" หลังเหตุ "คาร์บอมบ์".. จากการสัมภาษณ์ "ชัยวัฒน์ สถาอานันท์"
บทสืบสวน - เส้นทางข่าว เมื่อ "สื่อมาเลเซีย"เสนอข่าว"ทักษิณพบพูโล"
บทความ - นฤตย์ เสกธีระ : บทเรียนจากเบอร์ลิน
______________________________________________________________________________________________________


ข้างหลังภาพ " 'ไฟใต้'- 'ทักษิณ-ทวี-นัจมุดดีน' แท็กทีมเจรจา'พูโล'? "
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 13


หลังเกิดคาร์บอมบ์กลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ยะลา เพียงไม่กี่วัน ปัญหาก็แปรไปเป็นเกมการเมือง

เมื่อ นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นกระทู้ถามสด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ พร้อมระบุ
เป็นข่าวทั้งในไทยและในกลุ่มขบวนการต่างๆ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ เอาเจ้าหน้าที่ภาคใต้และอดีตนักการเมืองไทยไปพบกับกลุ่มขบวนการที่มาเลเซีย
ยังว่า
"เว็บไซต์กลุ่มขบวนการพูโลลงภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ โอบกอดกับแกนนำพูโล ขอให้รัฐบาลตรวจสอบดู อย่าทำให้บ้านเมืองเสียหายมากกว่านี้"

ตามมาด้วย นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่า
"เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไปพบผู้ก่อความไม่สงบ 18 คนที่ประเทศเพื่อนบ้าน
จากนั้นวันที่ 17 มีนาคม พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปอีกครั้ง คราวนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปด้วย ครั้งนี้ได้พบตัวแทน 15 คน
ทั้ง 2 เหตุการณ์ฝ่ายความมั่นคงไม่รับทราบอะไรเลย จึงเป็นที่มาทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกไม่พอใจรัฐบาล"


แต่การตรวจสอบของไทยอีนิวส์จาก http://www.puloinfo.net เว็บไซต์ทางการขององค์การปลดปล่อยปัตตานี (Patani United Liberation Organization-PULO)
หรือแม้แต่ใน http://www.puloif.org เว็บไซต์ที่แอบอ้างชื่อและบิดเบือนให้คนเข้าใจว่าเป็นของกลุ่มพูโล
กลับไม่พบภาพข่าวที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ อ้างถึง ไม่ว่าข่าวล่าสุดหรือย้อนหลังกลับไป

ต่อข้อสังเกตดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านอ้างว่า
ข้อมูลที่ฝ่ายค้านได้มาไม่ได้มาจากเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว ผู้ที่เกี่ยวข้องยังยืนยันมาด้วย
"ข้อมูลหลายแหล่งตรงกันว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นจริง ทำโดยไม่ระมัดระวัง ไม่รู้หรือไม่รอบคอบ เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงขึ้น"
แต่เมื่อสอบถามถึงรูปถ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ โอบกอดกับแกนนำพูโล คำตอบคือ
"เอาพาสปอร์ตคุณทักษิณมาดูดีมั้ย"



ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ข้อมูลการเจรจากับหัวหน้าพูโลว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตนเองไม่อยู่ในสถานะจะทำเช่นนั้นได้
พ.ต.ท.ทักษิณ ยังแสดงความเห็นด้วยหากจะมีการพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่การพูดคุยต้องไม่มาจากฝ่ายรัฐบาลโดยตรง
จากคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทยตอบโต้ปฏิบัติการเชื่อมโยงเหตุการณ์คาร์บอมบ์ของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ว่า
คล้ายกับ"จับแพะชนแกะ"
กล่าวคือขึ้นต้นด้วยภาพถ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ โอบกอดกับแกนนำพูโล แต่กลับลงท้ายด้วยการขอดูพาสปอร์ต

ไม่เพียงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น ยังมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ก็ยังตกเป็นเหยื่อขบวนการจับแพะชนแกะเช่นกัน
มีการเผยแพร่ภาพถ่าย พ.ต.อ.ทวี เดินทางไปพบปะพูดคุยกับชายกลุ่มหนึ่งในมาเลเซีย โดยระบุหนึ่งในนั้นคือ นายชำซูดิง คาน แกนนำพูโล

ตามติดด้วยภาพ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส ถ่ายร่วมกับ นายมะแซ อุเซ็ง แกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งถูกทางการไทยออกหมายจับ

ทั้งหมดนี้สอดรับกับกระทู้สดของ นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ที่ว่า
พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ เอาเจ้าหน้าที่ภาคใต้และอดีตนักการเมืองไทยไปพบกับกลุ่มขบวนการที่มาเลเซีย
ขณะที่"ความจริง"จากปากของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ นายนัจมุดดีน อูมา ทั้ง 2 คนยอมรับว่ามีการพูดคุยกับคนไทยในมาเซียจริง
แต่เป็นคนละเรื่องกับข้อมูลพรรคประชาธิปัตย์

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงเบื้องหลังภาพถ่ายดังกล่าวว่า แท้จริงเป็นภาพ นายวันซำซูดิน ดินวันฮูเซ็น ตัวแทนชมรม"ต้มยำกุ้ง" พื้นเพเป็นคนจังหวัดยะลา
ส่วนเรื่องที่พูดคุยกันเป็นเรื่องที่คนเหล่านี้ต้องการให้รัฐบาลมาเลเซียลดค่าในอนุญาตการทำงาน หรือเวิร์กเพอร์มิต ที่จะทำให้คนไทยเข้าไปทำงานอย่างถูกต้อง
ไปกันเป็นคณะ มีเจ้าหน้าที่ไทยหลายฝ่ายและมีตัวแทนกงสุลร่วมรับฟังด้วย
ไม่เพียงปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับคำสั่งรัฐบาลหรือจากใครให้ไปพูดคุยกับแกนนำแบ่งแยกดินแดน
พ.ต.อ.ทวี ยังยืนยันว่ามีภาพถ่ายชัดเจนว่า นายวันซำซูดิน ดินวันฮูเซ็น กับ นายชำซูดิง คาน เป็นคนละคนกัน


ขณะเดียวกัน นายนัจมุดดีน อูมา ก็ได้ออกมาชี้แจงภาพถ่ายร่วมกับ นายมะแซ อุเซ็ง
เป็นภาพถ่ายเมื่อปี 2537 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้วที่อ่าวป่าตอง สมัย นายมะแซ อุเซ็ง หรือ อุสตาซแซ เป็นประธานสภา อบต.บูกิต
ส่วนตนเองเป็น ส.ส.พรรคความหวังใหม่ พาผู้นำท้องถิ่นจำนวน 80 คนไปทัศนศึกษาดูงาน จ.ภูเก็ต

พร้อมทั้งกล่าวว่าการหารือกับคนไทยที่มาเลเซีย ตนเองเป็นเพียง"ผู้นำสาร" ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไทยพร้อมเปิดพื้นที่ร่วมแก้ปัญหา
ไม่ใช่การเจรจาและไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าร่วมหารือแม้แต่ครั้งเดียว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2547 ต่อเนื่องปัจจุบันเป็นเวลากว่า 8 ปี

ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐสภาได้รับทราบนโยบายบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ที่จัดทำโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อไม่นานมานี้
ตอนหนึ่งของนโยบายระบุถึงการส่งเสริม"การพูดคุยเพื่อสันติภาพ" หรือพีซ ทอล์ก (Peace Talk) ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟใต้ต้องรับไปปฏิบัติ

ไม่ว่ากระทรวง ทบวง กรมต่างๆ สมช. ศอ.บต. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
หรือแม้แต่กองทัพบก
เพราะหากหน่วยงานเหล่านี้ไม่มีเอกภาพในการทำงาน
ก็จะกลายเป็นช่องว่างให้ฝ่ายการเมืองตรงข้ามนำแนวทาง"การพูดคุยเพื่อสันติภาพ" ไปขยายความบิดเบือนในทางเสียหาย
ส่งผลให้เส้นทางดับไฟใต้ทอดยาวไกลออกไปอีก



++

จากแนวทาง "สันติวิธี" ถึงแนวทาง"การเจรจา" สู่แนวทาง"ดับไฟใต้"?
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 12


เหตุการณ์คาร์บอมบ์หาดใหญ่ จ.สงขลา และ 2 จุด อ.เมือง จ.ยะลา
คือความรุนแรงในภาคใต้ที่ต่อเนื่องมานาน 8 ปี จากเหตุการณ์ปล้นปืนกองพลพัฒนาที่ 4 (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 
ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับ 100 ปี

สถานการณ์ไฟใต้หนักสลับเบาต่อเนื่องมาในรัฐบาลทุกชุด ในรอบ 8 ปี ทั้งรัฐบาล สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนจะมาตกถึงมือ "รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

รัฐบาลชุดนี้จัดลำดับความสำคัญการ"ดับไฟใต้" เป็นนโยบายเร่งด่วนข้อ 1.5 คือ เร่งนำสันติสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ควบคู่การขจัดความยากจน ยาเสพติด และอิทธิพลอำนาจมืด โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัส "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เป็นหลักปฏิบัติในแนวทางสันติวิธี
สร้างโอกาสและความเสมอภาค พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เคารพอัตลักษณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบสอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 
บูรณาการการบริหารจัดการทุกภาคส่วน ให้มีเอกภาพทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ปรับปรุง พัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทันสมัยกับสภาพความเป็นจริงของปัญหา
ตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม



มีผู้พยายามอธิบายเหตุการณ์คาร์บอมบ์ในพื้นที่หาดใหญ่ และ จ.ยะลา ว่าคือการแสดงออกถึงการต่อต้านแนวทางสันติวิธีของรัฐบาล 
ทั้งยังมีความหมายในแง่ต้องการสร้างผลกระทบทางการเมือง
เป้าหมายแท้จริงของผู้ก่อการจึงไม่ได้อยู่ที่โรงแรมหรือถนนกลางเมือง 
แต่อยู่ที่รัฐบาลผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางการแก้ปัญหา
ทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงไม่ว่ากรณี กรือเซะ ตากใบ สะบ้าย้อย ไอร์ปาแย ฯลฯ สังคมจะตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่า นโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ เดินมาถูกทางแล้วหรือไม่

กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน
รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความชัดเจนในการมอบหมายสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็น"สองหัวหอก"ในการแก้ปัญหา 
โดยประสานกับกองทัพ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตามอำนาจใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต่ออายุบังคับใช้คราวละ 3 เดือนมาแล้ว 27 ครั้ง

แต่ปัญหาคือหน่วยงานเหล่านี้มีเอกภาพในการทำงานมากน้อยขนาดไหน เข้าใจและยอมรับนโยบายรัฐบาลเพียงใด มีความพร้อมนำไปปฏิบัติหรือไม่
โดยเฉพาะแนวโน้มการออกกฎหมายตั้งเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ หรืออาจรูปแบบอื่นที่เน้นหลักกระจายอำนาจที่สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่

หลังเหตุการณ์คาร์บอมบ์หาดใหญ่และยะลา
มีการพูดถึงการแก้ปัญหาไฟใต้ด้วยวิธีการเจรจาตามแนวทางสันติวิธี
แทนการใช้กำลังไล่ล่ากดดัน ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ทั้งยังทำให้"ไฟลุกโชน"กว่าเดิม 



ก่อนหน้านี้มีข่าวหัวหน้าหน่วยงานบางหน่วย เดินทางไปพบปะเจรจากับแกนนำ"กลุ่มบีอาร์เอ็น" ที่ฝังตัวอยู่ในมาเลเซีย เพื่อพูดคุยหาทางยุติการก่อเหตุความไม่สงบในภาคใต้ 

กระทั่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์คาร์บอมบ์ใหญ่ 2 จุด ได้กลายเป็นช่องให้คนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันติวิธี 
นำมาเป็นข้ออ้างความชอบธรรมที่จะดำเนินการแก้ปัญหาด้วยวิธีการ"ตรงกันข้าม" 

โดยมุ่งโจมตีว่าการเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น ประสบกับความล้มเหลวสิ้นเชิง อีกทั้งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้นั้น มีอยู่หลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่ยอมรับการเจรจา และกลุ่มที่ไม่ยอมรับ

การเจรจากับกลุ่มที่ยอมรับอาจได้ผลในการยุติความรุนแรง
แต่ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้กลุ่มที่ไม่ยอมรับ และไม่ได้ร่วมวงเจรจา รีบลงมือก่อเหตุรุนแรงเพื่อประกาศความมีตัวตนของกลุ่มตนเอง

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระดับสูงจาก สมช. ระบุว่าการที่มีข่าวการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่การเจรจา
เพียงแต่เป็นการ"พูดคุย"และ"แลกเปลี่ยน"ความคิดเห็นเท่านั้น 
ไม่ใช่การเจรจาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กำหนด"เงื่อนไข" แล้วอีกฝ่ายเป็น"ผู้ต่อรอง" แต่เป็นการพูดคุย"ทำความเข้าใจ"ซึ่งกันและกัน 
โดยไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลง"อุดมการณ์"ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงข่าวการเจรจากับแกนนำ"บีอาร์เอ็น"ว่าไม่เป็นความจริง 
ส่วนการ"พบปะพูดคุย"กับผู้นำกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อรับทราบปัญหาที่จะต้องแก้ไข แต่ไม่มีการพดคุยกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น 
การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยอมรับว่ามี เพราะทุกคนมีส่วนในการร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น"

ถึงยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเจรจา รวมถึงการจัดตั้งเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ
แต่นักวิชาการหลายคนที่เกาะติดปัญหาภาคใต้ต่างสนับสนุน 2 แนวทางดังกล่าว 



นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
เชื่อว่ารัฐบาลถูกต้องแล้วที่ยึดแนวทางสันติ แก้ปัญหาด้วยการเจรจา พร้อมทั้งสร้างความยุติธรรม สิ่งสำคัญจากนี้คือการนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม 
สำหรับการใช้กฎหมายเขตปกครองพิเศษ เพื่อเพิ่มการกระจายอำนาจจะต้องดำเนินต่อไป แต่รัฐบาลต้องไม่ลืมการพูดคุยทำความเข้าใจด้วยแนวทางสันติวิธี 
ขณะเดียวกัน ต้องทำความเข้าใจกับทหารและเจ้าหน้าที่ว่าต้องปรับตัวตามนโยบายด้วยการยอมรับและเข้าใจ


พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้กล่าวว่า ภาพรวมการแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่มีนโยบายชัดเจนยังใช้ข้าราชการประจำแก้ปัญหาแบบวันต่อวัน เช่นเดียวกับกองทัพที่ยังใช้วิธีเดิมคือใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการตรวจค้นจับกุม 
ขณะที่ข้อเสนอภาคประชาชน เช่น การจัดตั้งเป็นเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ หรือการเปิดเจรจาหาข้อยุติกับกลุ่มขบวนการ ไม่มีความคืบหน้า
เชื่อว่าการตั้งเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ จะช่วยแก้ปัญหาได้ไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ฝ่ายต่อต้านไม่มีเหตุผลในการต่อสู้


ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องความขัดแย้ง ต้องหาทางพูดคุยกับคนที่เป็นคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่ไม่คุยกับใครเลย
นโยบาย สมช. มีข้อหนึ่งที่ให้ฟังความเห็นแล้วทำเป็นนโยบาย แสดงให้เห็นชัดเจนว่าควรสนับสนุนให้เปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องเสรีภาพ
ดังนั้น กองทัพซึ่งอยู่ภายใต้รัฐบาลควรนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติด้วย


ขณะที่ นายสุณัย ผาสุก นักวิชาการประจำสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย กล่าวว่า 
การแก้ไขปัญหาความรุนแรงชายแดนใต้ รัฐบาลจะละทิ้งการเจรจาไม่ได้ ถ้าปิดประตูเจรจาจะมีแต่เสียกับเสีย
ส่วนการตั้งเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ เป็นการกระจายอำนาจอย่างหนึ่งที่รัฐบาลต้องรับไปศึกษา อาจเป็นเขตปกครองพิเศษที่มีมาตรการด้านความมั่นคงดูแลอยู่
และต้องทำควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่

ซึ่งทั้งหมดนี้คือการปฏิบัติตามแนวทาง"เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ปรัชญาในการดับไฟใต้นั่นเอง



+++

เปิดข้อเสนอ "สันติสนทนา" หลังเหตุ "คาร์บอมบ์" ท่ามกลางไฟใต้ระลอกล่าสุด
คอลัมน์ ในประเทศ จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 14


เหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และเทศบาลนครยะลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ถูกกระทำขึ้นในนามกลุ่มบุคคลใด เพื่อเรียกร้องอะไร และต้องการนำไปสู่หนทางไหน
แต่ความแน่นอนที่เกิดขึ้นแล้วคือผลสะเทือนถึงการเมืองส่วนกลางระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึงผลสะเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชน

ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ได้พูดคุยกับ "ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำการศึกษาประเด็นความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ถึงแนวทางที่น่าจะเป็น "ทางออก" และหนทางในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสารพัดช่องว่างที่คั่นกลางความเข้าใจซึ่งกันและกันของหลายฝ่าย

ชัยวัฒน์ กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดและมีความสำคัญ คือมีการเปลี่ยนแปลง "รุ่น" ของผู้นำขบวนการ ซึ่งมีผลสำคัญต่อชนิดของความรุนแรงที่เกิดขึ้น

อีกประเด็นที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคือ วิถีในการต่อสู้ ซึ่งคงไม่เหมือนสมัยก่อน หลายคนสงสัยว่า การต่อสู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้สมัยนี้ ทำไมไม่เห็นเลยว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ก่อการคืออะไร
มีนักวิชาการฝรั่งบอกว่า ขณะนี้รัฐไทยกำลังต่อสู้กับปีศาจ ไล่ตามเงาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ฝ่ายรัฐก็บอกว่าตนเองรู้ว่ากลุ่มนี้คือ "บีอาร์เอ็น โค-ออดิเนต"

"แต่ถึงแม้รัฐจะรู้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการ ประเด็นก็คือ วิธีที่พวกเขาสัมพันธ์กันก็คงไม่เหมือนเดิม มีการคลี่คลายของขบวนการ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายไม่มีแกนกลาง ฉะนั้น โอกาสในการทำงานจึงทำได้เยอะ"



นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าวต่อว่า วิธีแบ่งประเภทผู้ก่อการร้ายอีกแบบหนึ่ง ก็คือ การแบ่งออกเป็น "ขบวนการที่ปรากฏ" และ "ไม่ปรากฏ"
ขบวนการที่ปรากฏมีตัวแทนที่เห็นภาพเห็นเสียงอยู่ในโลกไซเบอร์ แต่ขบวนการที่ไม่ปรากฏ จะเห็นแต่เงา ไม่รู้อยู่ไหน และเพราะไม่รู้จะติดต่อกับคนกลุ่มหลังได้อย่างไร เราจึงต้องติดต่อกับคนที่เห็นภาพเห็นเสียง

"ถามว่าคนกลุ่มแรกที่ปรากฏตัวเป็นตัวแทนของทั้งหมดจริงหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะเขาอาจจะไม่สามารถคุมเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ได้จริง"

อย่างไรก็ตาม ชัยวัฒน์ย้ำว่า เมื่อกลุ่มก่อการแบ่งแยกดินแดนกับรัฐต่อสู้กันนั้น จริงๆ แล้วรัฐมักเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงต่อต้านรัฐจะแพ้รัฐอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือส่วนใหญ่แล้ว รัฐเป็นอมตะ แต่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนไม่เป็นอมตะ จนไม่สามารถกระทำการได้สำเร็จ

"ของพวกนี้ เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องเพิ่มขีดความน่าสนใจของกรณีความรุนแรงที่ใช้ เพราะกรณีความรุนแรงที่เกิดก่อนหน้านี้ ยิงที่สวนยางพารา ยิงคนบนมอเตอร์ไซค์ ยิงคนที่ไปกรีดยาง อันนี้เกิดขึ้นแทบทุกวัน ปัญหาของการใช้ความรุนแรงเกือบทุกวัน คือ ความเป็นปกติของความรุนแรง พอเป็นอย่างนั้น พลังของตัวความรุนแรงที่เขาอยากจะสื่อจึงลดลง จึงต้องเพิ่มขีด ฉะนั้น จึงเกิดเหตุระเบิดที่หาดใหญ่ โรงแรมลีกาเดนส์ ยะลา และปัตตานี 3 จุด"



นักวิชาการผู้นี้กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกล่าสุดในชายแดนใต้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีเคยทำรายงานเสนอสาธารณชนเมื่อปีที่แล้ว โดยคาดคะเนไว้ล่วงหน้าว่า เส้นกราฟความรุนแรงจะผงกหัวขึ้น และการใช้ระเบิดก็จะซับซ้อนมากขึ้น
"การใช้ระเบิดรถยนต์แบบนี้ ผมคิดว่าเริ่มต้นตั้งแต่ที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ล่าสุด ก็มีข้อเสี่ยงกลับไปยังฝ่ายผู้ก่อการเอง เพราะผู้ติดตามข่าวไม่ว่าจะเป็นชาติอะไร ศาสนาอะไร ก็ทนไม่ได้ ที่เห็นเหยื่อความรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเกือบร้อยและคนบาดเจ็บจำนวนมาก ฉะนั้น เกิดผลลบต่อขบวนการนี้เพิ่มขึ้น"

"ส่วนคำถามว่า สังคมควรทำอย่างไร ก็มี 2 ทางคือ 1) รอให้ความรุนแรงหนักไปอีกหรือความรุนแรงไม่หนักขนาดนี้ แต่เกิดขึ้นซ้ำๆ คนล้มลงเหมือนใบไม้ร่วง หรือ 2) ลองคิดวิธีที่จะทำให้เรื่องนี้ เป็นปัญหาทางการเมือง เพื่อพูดคุยประเด็นทางการเมือง ซึ่งเป็นที่มาของข้อเสนอ "สันติสนทนา" เพื่อให้ทราบว่า ผู้ก่อการคิดอะไร

"คาดว่าผู้ก่อการเองก็มีอยู่หลายส่วน และในขบวนการผู้ก่อการเอง ก็คงมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการใช้ความรุนแรง ปัญหาภาคใต้อาจจะไม่ได้มีเพียงกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เพราะคงมีกลุ่มมากกว่านั้น

"แต่จากข้อศึกษาหลายแห่งในโลกนี้ พบว่า การพยายามใช้ความรุนแรงของหลายกลุ่มที่พยายามจะแบ่งแยกดินแดนจะไม่บรรลุเป้าหมาย ทีนี้สมมุติถ้าคิดเรื่องการบรรลุเป้าหมาย ผมก็ไม่รู้เขา (ผู้ก่อการ) มีโครงการทางการเมืองไหม สมมุติถ้าแยกดินแดนแล้วหน้าตาเป็นยังไง จะสัมพันธ์กับรัฐไทยบางลักษณะได้ไหม หรืออยู่ในรัฐไทยอย่างไร

"ของพวกนี้เป็นประเด็นที่น่าจะลองพูดคุยสนทนากัน ไม่เฉพาะคนฝั่งรัฐหรือฝั่งกลางๆ แต่น่าจะได้คุยด้วยว่า เขา (ผู้ก่อการ) คิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แล้วผลของ "สันติสนทนา" ประการหนึ่ง น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า เราควรคิดถึงคนเหล่านี้ (ผู้ก่อการ) ในฐานะคนที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน

"ฉะนั้น การเสนอ "สันติสนทนา" จึงเป็นทางออก เพื่อให้เห็นว่า แม้แต่คนในขบวนการก่อการเอง ก็อาจจะมีความเห็นที่หลากหลาย แล้วทำให้ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเป็นคำตอบ อาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม"



ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปิดท้ายว่า ไม่ว่ากลุ่มผู้ก่อการจะคิดอะไร แต่ข้อเท็จจริงคือ ในยุคปัจจุบัน ฝ่ายรัฐมักจะชนะในกรณีแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ทั่วโลก

ส่วนปัญหาว่าจะ "สันติสนทนา" กับใครนั้น สิ่งที่เขาเสนอว่าควรมีคือความเป็นเอกภาพทางนโยบาย แต่ตัวสันติสนทนาควรปล่อยให้เกิดโอกาสพูดคุยจากหลายช่องทาง ซึ่งจะแก้ปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เกรงว่ารัฐบาลอาจจะไปสนทนาเฉพาะกลุ่ม ทำให้กลุ่มอื่นไม่พอใจได้

"ในขณะที่เราเองก็ไม่รู้กลุ่มก่อการใดมีพลังแค่ไหน การเปิดให้มีการสนทนาได้หลายช่องจะทำให้ลดปัญหาได้บ้างในระยะยาว"



++

เส้นทางข่าว เมื่อ "สื่อมาเลเซีย"เสนอข่าว"ทักษิณพบพูโล"
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 13:59:31 น.


เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่า กระแสข่าวทักษิณเจรจาหารือ และกอดพูโล สะพัดมาจากที่ใด

เริ่มจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน อ้างแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางไปพบปะกับแกนนำพูโล ที่มาเลเซีย
มีการหารือและโอบกอดถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ไปลงในเว็บไซต์ของพูโล

ผู้สื่อข่าวแห่งบางกอกโพสต์ สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ จากฮ่องกง ยืนยันไม่ได้เจรจา ไม่ได้ถ่ายรูปกับแกนนำขบวนการ
แม้สื่อภาษาอังกฤษอีกฉบับ อ้าง "แหล่งข่าว" ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไปพบแกนนำขบวนการ พร้อมกับระบุรายละเอียดการพบปะหารือ
แต่น้ำหนักข่าวอยู่ตรงไหน ผู้ติดตามข่าวสารย่อมตัดสินได้

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ก็ชี้แจงรายละเอียดการพบปะชมรมร้านต้มยำกุ้ง ชาวไทยที่ไปเปิดร้านค้าขายในมาเลเซีย
ที่มีการถ่ายภาพแล้วระบุว่า เป็นการพบปะกับแกนนำพูโล

เช่นเดียวกับ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส ชี้แจงภาพหมู่ ที่มีการระบุว่าเป็นภาพกลุ่มผู้เจรจาปัญหาไฟใต้ 
ว่าเป็นภาพนายนัจมุดดีนสมัยเป็น ส.ส. นำผู้นำท้องถิ่นไปดูงานที่ภูเก็ตเมื่อปี 2537 เมื่อไปเยือนแหลมพรหมเทพ เพื่อชมภาพพระอาทิตย์ตกดิน
ได้บันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก

"อุสตาซแซ" ที่อยู่ในภาพ หรือนายมะแซ อุเซ็ง ที่ฮือฮากันว่าเป็นแกนนำขบวนการ หากย้อนไปในปี 2537 เขายังเป็นประธานสภา อบต.บูกิต
ยังเป็นคนธรรมดา ที่ชื่นชมทิวทัศน์สวยงามของภูเก็ต

ที่น่าสนใจก็คือ ฝ่ายค้านยังยืนยันหนักแน่นว่า มีการพบปะจริง ภาพถ่ายก็มีจริง 

และที่น่าสนใจอีกเช่นกัน คือการยืนยันว่า สื่อในมาเลเซียยังลงข่าวนี้

สื่อออนไลน์หลายแห่ง ได้เสนอข่าวว่า กวางหวาหรือกวงหัวรึเป้า คือหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในมาเลเซีย ที่ได้เสนอข่าว "ทักษิณ" เจรจาขบวนการภาคใต้
กวงหัวรึเป้า ฉบับวันที่ 4 เม.ย. เสนอข่าวผลงานของนักข่าว ลี เจิ่น เหวย ระบุว่า ทักษิณเจรจาขบวนการภาคใต้ ที่กัวลาลัมเปอร์โดยระบุชื่อภาษาอังกฤษของ BRN เป็น BRM 

ในข่าวของกวงหัว มีภาพของ ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล หัวหน้าศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สมาชิกสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. ปรากฏอยู่ด้วย 


รายการวอยซ์นิวส์ ในวอยซ์ทีวี ได้ติดต่อสัมภาษณ์ ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล ออกอากาศผ่านรายการ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.
มีใจความสรุปได้ว่า ไชยยงค์ได้เปิดเผยว่าผู้สื่อข่าวกวงหัว เดินทางทำข่าวคาร์บอมบ์หาดใหญ่ แวะมาถามผมถึงสถานการณ์ภาคใต้
และถามผมว่า ก่อนหน้านั้นได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไปพบกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นความจริงหรือไม่
จึงอธิบายไปว่า มาจากหน่วยข่าวความมั่นคงในภาคใต้ ซึ่งผู้สื่อข่าวในพื้นที่ รู้ข่าวนี้พอๆ กับนักการเมืองในท้องถิ่น 

ผู้สัมภาษณ์ของวอยซ์นิวส์ถามว่า น้ำหนักความเป็นไปได้ ความน่าเชื่อถือ ของข่าวนี้เป็นอย่างไร
ไชยยงค์ตอบว่า มีเบาะแสความเป็นไปได้อยู่ 2-3 ทาง เพราะการเจรจานั้นมีตลอด
ขนาดกองทัพที่ปฏิเสธตลอดเวลาว่าไม่คุยกับโจร ก็มีชุดที่ไปพูดคุยกับขบวนการ
จึงเป็นไปได้ว่า พบปะพูดคุยกันจริง มีการพบปะ แต่เป็นใคร ผมไม่รู้ 

ข่าวที่ออกมา เป็นการให้ข่าวของพูโล ที่ต้องการยกระดับตัวเอง เนื่องจากไม่ค่อยมีศักยภาพในเวทีโลก
และอาจมีเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อขยายความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ฯลฯ

การสัมภาษณ์ดังกล่าว ทำให้มองเห็นถึง "ที่มาที่ไป" ของกระแสข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ พบปะขบวนการภาคใต้
กล่าวคือ แม้จะเป็นข่าวจากมาเลเซีย ที่ระบุกันว่าเป็นพื้นที่เกิดเหตุ
แต่ต้นทางของข่าว ก็มาจากประเทศไทยนั่นเอง



++

นฤตย์ เสกธีระ : บทเรียนจากเบอร์ลิน
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


เพิ่งกลับจากเบอร์ลิน เยอรมนี 
ไปคราวนี้มีโอกาสพบอุปทูตไทยประจำเบอร์ลิน โดยได้รับอุปการะอาหาร 1 มื้อ
ขากลับมีโอกาสพบคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างแดน มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อเมืองไทย
ทั้งอุปทูตไทยและคนไทยในต่างแดน ต่างห่วงกังวลเรื่องความปรองดองในไทย

อุปทูตไทยบอกว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของไทย 
ท่านทูตบอกว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่ตกระกำลำบากมาโดยตลอด คนในเมืองนี้ต้องเผชิญหน้ากับสงครามเป็นยุคๆ
ประเทศเพื่อนบ้านเคยย่ำยีรุกราน คนในประเทศถูกแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย
แต่ในที่สุดเขาก็ก้าวพ้นสิ่งเหล่านั้นไปได้
วันนี้เยอรมนีรู้ว่าหนทางแห่งความสุข คือ การอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง


ระหว่างอยู่ในเบอร์ลิน มีโอกาสเดินเท้าแวะเวียนไปยังแหล่งประวัติศาสตร์ของเมืองดังระดับโลก
ได้เห็นได้สัมผัสแล้วเข้าใจ ทำไมเยอรมนีถึงได้ข้อสรุปว่าการอยู่ร่วมกันคือหนทางแห่งความสุข 
เพราะแค่เมืองเบอร์ลินเมืองเดียวก็มีอนุสรณ์แห่งความทุกข์เต็มไปหมดแล้ว

มีภาพถ่ายระลึกถึงสิ่งปรักหักพัง เพราะถูกโจมตีทางอากาศ มีกำแพงเบอร์ลินที่เคยกีดกั้นญาติมิตรออกจากกัน
เดินทางบนทางเท้า มีป้ายสีทองจารึกชื่อนามสกุลของชาวยิวที่เคยอยู่แล้วถูกลากหายตัวไป
มีพิพิธภัณฑ์ที่ตอกย้ำให้ระลึกถึงผลสุดท้ายของการใช้ความรุนแรง

ความรุนแรงที่มิได้เกิดขึ้นแต่เพียงเฉพาะลูกระเบิด ลูกกระสุน
หากแต่เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความเกลียดชัง 
ยุคสมัยของฮิตเลอร์เรืองอำนาจ คนเยอรมันถูกครอบงำด้วยความเกลียด
เกลียดชังชาวยิว! 

ความเกลียดชังทำให้ฮิตเลอร์สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เพราะสังคมเกลียดชังจึงคลอดกฎหมายแห่งความเกลียดชังออกมา 
กฎหมายที่ออกมาจากความเกลียดชังก็สำแดงฤทธิ์เดชตามเจตนาของคนร่าง 
กฎหมายที่กีดกันชาวยิวได้เปลี่ยนสถานะคนยิวในเยอรมนีจาก "คน" กลายเป็น "ทาส" 
กีดกันไม่ให้คบหา กีดกันไม่ให้สมาคม จำกัดเวลาการจับจ่ายใช้สอย จำกัดเวลาใช้ที่สาธารณะ

โรงเรียนก็แบ่งแยก หากการเดินทางน้อยกว่า 5 กิโลเมตรต้องเดิน ฯลฯ 
กฎหมายพวกนี้ผ่านการพิจารณาจากกลไกแห่งรัฐได้อย่างไร?
ไม่มีคนในชาติ ไม่มีคนในโลก ต่อสู้ต่อต้านเลยกระนั้นหรือ? 
คำตอบคือไม่  เพราะคนในชาติตอนนั้นจมอยู่กับความเกลียดชัง 
แล้วความเกลียดก็ขยายกลายเป็นโศกนาฏกรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
นั่นคือ การฆาตกรรมหมู่ชาวยิว



วันนี้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไปแล้ว แต่สัญลักษณ์แห่งความรุนแรงยังประดับให้เห็นอยู่เต็มเมืองเบอร์ลิน

วันนี้ไทยกำลังตกอยู่ในความเกลียดชัง เลยเอาประสบการณ์จากเบอร์ลินมาเล่าสู่กันฟัง 

อย่าใช้ความเกลียดชังเป็นตัวกำหนดทางเดินของประเทศ

เหตุการณ์เมื่อปี 2552-2553 ที่เกิดขึ้นก็แย่พออยู่แล้ว

อย่าให้เกิดโศกนาฏกรรมเพราะความเกลียดชังเกิดขึ้นมาอีกเลย



.