http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-04

3 มุมมอง แนะทางออก-แก้ "ไฟใต้" ตรงจุด

.
เฟซบุค คิดต่าง - th-th.facebook.com/notes/nithiwat-wannasiri/ประชาธิปไตยจะล่มสลายไป-ถ้าคุณไม่ยอมให้ใคร-คิดต่างกับคุณ/234326909986353

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

แนะทางออก-แก้ "ไฟใต้" ตรงจุด
ในข่าวสดออนไลน์ วันพุธที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:13 น.


จากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่จ.ยะลาและอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

นักวิชาการที่คลุกคลีกับปัญหาภาคใต้ วิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แนวโน้มความรุนแรงที่ขยายตัวเข้ามาสู่ในเมือง เขตชุมชน ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะแนวทางการนำเขตปกครองพิเศษมาใช้จะได้ผลมากน้อยเพียงใด
การดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวผ่าน ?ข่าวสด? ดังนี้


----------------------

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผอ.สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ใช้ระเบิดกำลังสูงและมีคนเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์ไม่เคยรุนแรงขนาดนี้

มองว่าแนวโน้มของเหตุการณ์มีความหมายในแง่ของความต้องการสร้างผลกระทบการเมืองที่มีการต่อสู้ทางความคิดเพื่อแสวงหาสันติภาพ เพราะเหตุการณ์มีความรุนแรงมาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

โดยคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันติวิธี จึงใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาเพื่อปิดแนวทางสันติ

ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลมีความชัดเจนและถูกต้องแล้วที่ยึดแนวทางสันติเป็นหลัก ขณะที่นโยบายก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น การให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ประกาศนโยบายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นนโยบายที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยทำมา เพื่อแก้ปัญหาด้วยการเจรจา พร้อมทั้งสร้างความยุติธรรม

แต่สิ่งสำคัญจากนี้คือการนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม

ส่วนแนวความคิดการใช้กฎหมายเขตปกครองพิเศษ เพื่อเพิ่มการกระจายอำนาจในแต่ละท้องถิ่นจะต้องดำเนินต่อไป แต่ไม่ว่ากฎหมายจะดีแค่ไหนปัญหาคงไม่สามารถคลี่คลายได้หากกลุ่มก่อความไม่สงบไม่เกิดความเข้าใจ

ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่ลืมเรื่องการพูดคุยด้วยแนวทางสันติวิธี ซึ่งขอให้ดำเนินการต่อไป เพื่อให้คนกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีความเข้าใจได้เข้าใจมากขึ้นจนเหลือคนเพียงกลุ่มเล็กๆ และจะทำให้การใช้กฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐได้ผลมากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องทำความเข้าใจกับทหาร และเจ้าหน้าที่ที่จะต้องปรับตัวตามนโยบายด้วยการยอมรับและเข้าใจ เชื่อว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะดีขึ้นได้หากคนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา

ทั้งนี้ แนวโน้มความรุนแรงคงไม่สามารถเร่งกระแสให้รุนแรงมากไปกว่านี้ได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหมือนวงจรของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นๆ ลงๆ สลับกันไป ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงที่ฝ่ายก่อการร้ายอาจต้องการให้เหตุการณ์มีความรุนแรง

เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ในส่วนของความมั่นคงจะต้องเข้มงวดระมัดระวังมากขึ้น


----------------------

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม
ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้
และสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง

เชื่อว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และในเขตเทศบาลนครยะลา เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงผู้บริสุทธิ์ 4 ศพ ที่อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีทหารพรานเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และสร้างความไม่พอใจให้ชาวมุสลิมในพื้นที่เป็นอย่างมาก

เป้าหมายของกลุ่มขบวนการคือ

1.ต้องการแก้แค้นและสร้างเครดิตให้ตัวเอง จึงวางระเบิดพร้อมกัน 3 จังหวัด

2.ต้องการอาศัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ สร้างสถานการณ์ให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัว ไม่กล้ามาเที่ยวในไทยเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย

3.ต้องการให้เศรษฐกิจในพื้นที่ล้มเหลว ทำให้นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่

การที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายขยายพื้นที่เข้ามาในเขตเมืองมากขึ้น เพราะต้องการให้เป็นข่าว และเกิดผลกระทบในวงกว้าง เพราะที่ผ่านมาสังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่าใดนัก

โดยเฉพาะรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้น้อย เพราะมัวแต่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น เช่น การปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องของส่วนกลางมากกว่า

การก่อเหตุครั้งนี้เชื่อว่าไม่ได้วางแผนแค่ 1-2 วัน แต่เตรียมการมาแล้วเป็นเดือนๆ หลังเกิดกรณี 4 ศพ ที่อ.หนองจิก
ภาพรวมการแก้ปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาล ยังไม่เห็นว่ามีนโยบายที่ชัดเจนหรือแน่นอน ยังใช้ข้าราชการประจำแก้ไขปัญหาแบบวันต่อวัน เช่นเดียวกับกองทัพที่ยังใช้วิธีเดิม คือใช้พ.ร.ก. ตรวจค้น จับกุม ขณะที่ข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น การจัดตั้งเป็นเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ หรือการเปิดเจรจาหาข้อยุติกับกลุ่มขบวนการยังไม่มีความคืบหน้า

กลุ่มขบวนการจึงก่อเหตุเพื่อกดดันให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น เชื่อว่าการตั้งเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษจะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

โดยนักวิชาการจากหลายสถาบัน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันพระปกเกล้า ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ถ้ารัฐบาลใจกว้างมากกว่านี้ เปิดการปกครองท้องถิ่นพิเศษ ฝ่ายต่อต้านก็จะไม่มีเหตุผลในการต่อสู้
ที่ผ่านมา แม้แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือกองทัพก็ยังพูดไม่ตรงกัน เอาทหารเข้ามาจัดการตั้ง 8 ปีก็ยังไม่เรียบร้อย

ดังนั้น เรื่องด่วนที่รัฐบาลต้องทำขณะนี้ นอกเหนือจากการเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแล้ว คือต้องประกาศนโยบายให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ เช่น ประกาศเป็นเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ หรือประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะเวลานี้การเยียวยายังสำคัญน้อยกว่านโยบายที่ชัดเจน


----------------------

อิสมาแอ อาลี
ผอ.วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ผมคิดว่าข้อเสนอที่จะนำไปสู่ความสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอใดก็ไร้ประโยชน์

ที่ผ่านมามีการทำงานระดับพื้นที่ หรือระดับภาคมาหลายครั้ง มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำวิจัย ระดมความคิดเห็นของหลายฝ่าย แต่กลับไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด

ข้อเสนอต่างๆ ไม่ว่าการตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือข้อเสนออื่นๆ รัฐบาลไม่เคยตอบรับหรือดำเนินการใดๆ

คนในพื้นที่ไม่เคยรู้สึกว่ามีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าฝ่ายปฏิบัติจะบอกว่าได้ดำเนินการหลายอย่างไปแล้ว และคิดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่คนในพื้นที่กลับไม่รู้สึกอย่างนั้น

ข้อเสนอต่างๆ ที่ถูกเมินจากรัฐบาลจะถูกถามก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้น อย่างเช่นเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อผ่านไปก็ค่อยๆ ลืมไป

ข้อเสนอหนึ่งที่มีการพูดกันของคนในพื้นที่คือ อยากให้มีการพูดคุยกันในหลายระดับ หรือการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการทำงานในพื้นที่

แต่มีคำถามว่าอำนาจทุกอย่างอยู่ที่ศอ.บต.ทั้งหมดหรือไม่ เพราะการทำงานต้องมีทั้งเรื่องนโยบายและการปฏิบัติ แต่การทำงานของศอ.บต.ตอนนี้เป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติที่รับนโยบายจากรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ

ถ้าจะให้ศอ.บต.ทำงานได้เข้าเป้า ต้องมีผู้บริหารที่มาจากฝ่ายการเมือง มีอำนาจตัดสินใจ เข้าประชุมครม.ได้ เพื่อเสนอนโยบาย เพราะเรื่องของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันเลยการทำงานของฝ่ายปฏิบัติไปแล้ว แต่ไปถึงระดับนโยบาย

ผู้บริหารศอ.บต.จะต้องมีระดับเดียวกับรัฐมนตรี มีอำนาจในตัวเอง

ไม่ใช่ใช้เพียงข้าราชการประจำที่รับนโยบายมาทำเท่านั้น



+++

ขอแนะนำ เฟซบุคของผู้รณรงค์ สิทธิในการคิดและเวทีการเสนอความเห็น โดยไม่สร้างการกระทำคุกคาม ทำร้ายแก่กันและกัน
th-th.facebook.com/notes/nithiwat-wannasiri/ประชาธิปไตยจะล่มสลายไป-ถ้าคุณไม่ยอมให้ใคร-คิดต่างกับคุณ/234326909986353


ปัญหาของ 'ชาติไทย' ที่เกิดความรุนแรง ทำร้ายกันเหมือนอีกฝ่ายไม่มีสิทธิความเป็นมนุษย์ (แม้เป็นยุคใหม่เข้าสู่สังคมประชาธิปไตยแล้ว) เพราะมีรากเหง้ามูลเหตุจากผู้มีอำนาจและมีผลประโยชน์ล้นฟ้าไม่ยอมให้ผู้อื่นคิดต่างนั่นเอง . .ไม่ยอมให้ผู้คนถกแถลงแจงความจริงในแง่มุมอื่น โดยใช้ความรุนแรงทั้งอาวุธและกลไกอำนาจชวนเชื่อ-มาปิดปาก ปิดหู ปิดตา

ไม่ว่าผู้ถืออาวุธที่อ้างว่ารักษาอาณาจักร โดยใช้กำลังปราบปรามผู้กำลังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการวางอำนาจบาตรใหญ่ของตน(เจ้าหน้าที่รัฐ) หรือผู้ถืออาวุธผู้เรียกร้องอาณาจักรใหม่ตามประวัติศาสตร์ดั้งเดิม โดยกระทำรุนแรงให้ผู้คนต่างความเชื่อต่างศาสนาเกิดความกลัวในการดำเนินชีวิตร่วมกันตามปกติ ก็ล้วนเพราะไปหลงยึดติดความเชื่อและผลประโยชน์ของตนโดยไม่ยอมรับฟังความคิด,ชีวิตและผลประโยชน์ที่แตกต่างอย่างชอบธรรมของผู้อื่น



.