.
ครูอังคณา
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 85
เด็กชายที่กำลังศึกษาในชั้น ม.1 สองคน ทะเลาะกันเรื่องการทำงานกลุ่มผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ "เฟซบุ๊ก"
คู่กรณีฝ่ายหนึ่ง จึงตัดสินใจทำคลิปวิดีโอระบายความในใจออกมา ด้วยน้ำเสียงเหน่อๆ และสีหน้า ท่าทาง ลีลาการพูดจาที่ "เอาเรื่อง" อยู่
แล้วก็มีใครสักคนเอา "คลิป" ดังกล่าว ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ จนนำมาสู่ปรากฏการณ์ที่ไม่น่าเชื่อ
เมื่อมีคนคลิกเข้าไปชมคลิประบายความอัดอั้นใจของเด็ก ม.1 คนหนึ่ง เป็นหลักแสนครั้ง
มีคนแต่งเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำพูดซื่อๆ ตรงๆ ของเด็กชายคนนั้น หลายเพลง
มีคลิปล้อเลียน และเพจล้อเลียน เกิดขึ้นตามมาไม่น้อยในโลกไซเบอร์
ขณะที่ประโยคปิดท้ายคลิปที่ว่า "เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่" ก็ส่งผลให้ "ครูอังคณา" กลายเป็นคนดัง
มีคนเล่นมุขด้วยคำพูดประเภท "ถ้าไม่ทำ... เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่" กันแน่นเฟซบุ๊ก
แม้แต่กองทัพสื่อมวลชนก็ต้องเดินทางไปสัมภาษณ์คนต้นเรื่อง อย่าง "ครูอังคณา (แสบงบาล)" ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนกระทุ่มแบน "วิเศษสมุทคุณ" เพื่อให้ชี้แจงเรื่องเด็กนักเรียนในชั้นทะเลาะกัน ถึงจังหวัดสมุทรสาคร
กระทั่งท่าน ผอ.โรงเรียน ก็พลอยได้ออกสื่อไปด้วย
บางคนวิจารณ์ว่า เพราะสังคมไทยมันมีลักษณะ "เซอร์เรียล" (เหนือจริง) เรื่องไม่ค่อยเป็นเรื่องแบบนี้จึงกลายเป็นข่าวคราวใหญ่โตได้
บางคนวิเคราะห์ว่า คลิป "เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่" ให้อารมณ์ "โหยหาอดีต" แบบที่หนังเรื่อง "แฟนฉัน" เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว
เมื่อเรื่องจริงจังแบบไม่เป็นเรื่องของเด็กๆ กลายเป็นเรื่องสนุกหรือของเล่นสำหรับผู้ใหญ่
บางคนอธิบายว่า ปรากฏการณ์ "ครูอังคณา" ชี้ให้เห็นว่าช่องทางการสื่อสารชนิดใหม่อย่าง "โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก" มีพลังมหาศาลในการกำหนดประเด็นทางสังคม
ซึ่งพลังดังกล่าวมิได้จำกัดพื้นที่ของตนเองอยู่แต่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น หากยังก่อกระแสที่แพร่ลามไปถึงเว็บไซต์ของสำนักข่าวกระแสหลัก รวมทั้งสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์
หากสื่อหลักสำนักไหนไม่เล่นข่าวนี้ ก็ย่อมถือว่าสื่อสำนักนั้น "ตกข่าวสำคัญ" (ที่มียอดคนอ่านในเว็บไซต์ระดับหมื่นคลิกขึ้นไป) อย่างไม่น่าให้อภัย
จากพลังของ "นิวมีเดีย" ในกรณี "ครูอังคณา" ผมย้อนนึกไปถึงช่วงเวลาที่รายการประเภท "เล่าข่าว" เริ่มบูมขึ้นมาใหม่ๆ
ลักษณะอันโดดเด่นแปลกใหม่ประการหนึ่งของรายการประเภทดังกล่าว ก็คือ การขึ้นข้อความเอสเอ็มเอสที่ส่งมาจากโทรศัพท์มือถือของผู้ชมทางบ้าน ตรงบริเวณด้านล่างจอโทรทัศน์
ในยุคแรกๆ คนดูที่เป็น "ผู้รู้" ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ มักจะวิพากษ์วิจารณ์ข้อความเอสเอ็มเอสซึ่งมีเนื้อหาทำนอง "ที่แพร่กำลังฝนตก" หรือ "ที่อุดรฯ กำลังหนาว" ว่าไม่เห็นมีความเกี่ยวข้องอันใดเลยกับประเด็นข่าวที่กำลังถูกเล่าอยู่ในรายการทีวี
สำหรับผู้รู้เหล่านี้ คนส่งข้อความสั้นจากแพร่และอุดรฯ อาจจะมีสถานะย่ำแย่เสียยิ่งกว่าบรรดา "ผู้บริโภค" ที่ไม่รู้เท่าทันสื่อมวลชน เพราะคนเหล่านั้นเป็นแค่ผู้พยายามจะมีส่วนร่วมกับสื่อ โดยไม่ได้ดูข่าวหรือไม่ใส่ใจในประเด็นข่าวที่ถูกนำเสนอด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่า คนส่งเอสเอ็มเอสหลายท่านคงไม่ได้ให้ความใส่ใจกับข่าวโทรทัศน์จริงๆ แต่มันอาจไม่ใช่เรื่องผิด
หากเรื่องที่ผู้บริโภคสื่อสนใจ เป็นคนละสิ่งกับข่าวสารที่ตัวสื่อเองอยากนำเสนอ
เรื่องฝนตกที่จังหวัดในภาคเหนือ หรืออากาศหนาวที่จังหวัดในภาคอีสาน อาจเป็นเรื่องราววิถีชีวิตของคนเล็กคนน้อยในต่างจังหวัด ที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญสำหรับสังคมของผู้เข้าถึง/รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ณ ส่วนกลาง (ซึ่งฝนก็ไม่ตก อากาศก็ไม่หนาว) มากนัก
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนในพื้นที่เกิดเหตุ น้ำที่โปรยปรายลงมาจากฟากฟ้า หรืออุณหภูมิอากาศที่ลดลง คงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของพวกเขา
ทว่า กลับไม่มีพื้นที่ใดๆ ในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้สามารถสื่อสารเรื่องราวสำคัญในชีวิตของตัวเองออกมาได้อย่างมีตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ นอกจาก การส่งข้อความเอสเอ็มเอส (ในยุคนั้น)
วิธีการสื่อสารระหว่างผู้คนธรรมดาสามัญผ่านระบบเอสเอ็มเอสค่อยๆ คลี่ขยายมาสู่การเผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
พร้อมๆ กันกับที่สื่อกระแสหลักจำนวนมาก มีความจำเป็นต้องทุ่มเทสรรพกำลังมาให้ความใส่ใจกับ "สื่อใหม่" ชนิดนี้มากยิ่งขึ้น
เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนั้น พรมแดนระหว่าง "ข่าวที่ควรเป็นข่าว" กับ "ข่าวที่ไม่น่าจะเป็นข่าว" ตามโลกทัศน์ ชีวทัศน์ และบรรทัดฐานการตัดสินใจของสื่อมวลชนส่วนกลางจาก "สื่อแบบเดิม" ก็เริ่มจะค่อยๆ พร่าเลือนลงไปด้วย
จนสุดท้าย การทำงานของประชาสังคมผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ก็มีพลังมากพอที่จะกำหนดประเด็นการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักทั้งหลายได้
ข่าว "ครูอังคณา" จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างฟลุกๆ ขำๆ และใช่ว่าเรื่องไม่เป็นเรื่องของเด็กๆ กับคุณครูเรื่องนี้ จะเป็น "ข่าวที่ไม่น่าจะเป็นข่าว" เพียงข่าวเดียวซึ่งถูกนำเสนอในพื้นที่สื่อมวลชนกระแสหลัก ณ ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย