http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-13

วิกฤตินักวิชาการปัญญาชน โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤตินักวิชาการปัญญาชน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 39


มีคำศัพท์อยู่ชุดหนึ่งที่ใช้เรียกผู้ทรงความรู้ในด้านต่างๆ ของสังคม โดยมีนัยว่าบุคคลที่ถูกเรียกเช่นนี้เป็นที่ยอมรับนับถือในระดับหนึ่ง
คำศัพท์ชุดนี้ ได้แก่ คำว่า นักวิชาการ, ปัญญาชน, ปราชญ์, ผู้รู้, ผู้ทรงคุณวุฒิ, ผู้เชี่ยวชาญ

คำเหล่านี้มีการใช้ที่ต่างกันไปบ้าง คำที่มีความหมายกว้างมากที่สุดน่าจะได้แก่ "นักวิชาการ" ซึ่งหมายถึงผู้ที่ได้รับการศึกษาสูง ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ถ้าให้ดีควรได้ปริญญาเอก และได้ผ่านการทำงานวิจัยมาบ้าง
ในระบบราชการไทยมีตำแหน่งที่เรียกว่า "นักวิชาการ" ที่มีอยู่มากด้วยกัน เช่น นักวิชาการศึกษา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักวิชาการภาษี

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่ง "นัก" เฉยๆ มีความหมายทำนองผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกีฏวิทยา นักธรณีวิทยา ซึ่งสะท้อนว่าระบบราชการไทยนั้นมีนักวิชาการหรือเทคโนแครตเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ไม่น้อย

วิกฤติปัญญาชนหรือนักวิชาการย่อมกระทบต่อระบบราชการในระดับหนึ่ง
ในอีกด้านหนึ่งระบบราชการไทยก็ได้กล่อมเกลาหล่อหลอมนักวิชาการไทยจนมีลักษณะอย่างที่เป็นอยู่


ข่าวคราวเกี่ยวกับนักวิชาการปัญญาชนที่น่าจับตา ได้แก่ กรณีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีที่กรีซและอิตาลี ทั้ง 2 ประเทศประสบปัญหาวิกฤติหนี้รุนแรง ถูกบีบคั้นอย่างหนักเพื่อให้ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มที่ใช้เงินสกุลยูโร จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ต้องลาออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนในช่วงปลายปี 2011 ซึ่งค่อนข้างผิดธรรมเนียมการเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่ก็ไม่ได้มีใครยกขึ้นมาเป็นประเด็น

ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ นั้นปรากฏว่าเป็นนักวิชาการหรือเทคโนแครต ที่กรีซ ได้แก่ นายลูคัส ปาปาดิมอส (Lucas Papademos เกิด 1947) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซ (1994-2002) และดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการธนาคารกลางยุโรป (2002-2010) และยังเป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกหลายประเทศ
เมื่อได้ขึ้นดำรงตำแหน่งมีเสียงวิจารณ์ว่าแท้จริงเขาคือตัวแทนของสถาบันการเงิน

ในอิตาลีมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ (Technical Government) ตั้งบุคคลภายนอก ได้แก่ นายมาริโอ มอนติ (Mario Monti เกิด 1943) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์เช่นเดียวกันขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ความคิดชี้นำในการนำนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในยามเศรษฐกิจคับขันด้วยวิธีการพิเศษนี้ น่าจะมีจุดประสงค์สำคัญที่จะนำเอาผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เข้ามามีอำนาจในการบริหารแก้ไขปัญหาโดยตรงขึ้น
อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างความหวังให้แก่สาธารณชนว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะได้รับการดูแลแก้ไขอย่างดี ควรช่วยกันอดทนประคับประคองไว้

ในทางปฏิบัติเห็นได้ชัดว่าวัตถุประสงค์ข้อหลังไม่บรรลุผล
มวลชนชาวกรีกและชาวอิตาลีก็ยังคงเดือดดาลรัฐบาลและมาตรการรัดเข็มขัด และทำการประท้วงอย่างดุเดือด

ในด้านจุดประสงค์ข้อแรกยังไม่ชัดเจน แม้จะมีข่าวดีออกมาเป็นระยะโดยเฉพาะการช่วยเยียวยาเศรษฐกิจของกรีซ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าข้อเรียกร้องของธนาคารกลางยุโรปต่อกรีซนั้นยากจะปฏิบัติตามได้
นั่นคือวิกฤติยังไม่ได้ถูกแก้ไข ดังนั้น อาจปะทุขึ้นมาอีก
ดังนั้น ฐานะพิเศษ "ความเป็นนักวิชาการ" หรือความเป็นกลาง ไม่ฝักฝ่ายการเมืองค่ายไหน ก็ดูจะใช้ไม่ได้ผลตามคาด เป็นสัญญาณของวิกฤตินักวิชาการปัญญาชนอย่างหนึ่ง ที่ทั้งไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน และน่าจะปฏิบัติไม่ได้ผล



ความเป็นมาสั้นๆ เกี่ยวกับนักวิชาการปัญญาชน

นักวิชาการปัญญาชนเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในระบบทุนนิยมที่มีการพัฒนาสถาบันการศึกษาระดับสูง การต้องใช้นักวิชาการหรือนักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีปริมาณมากเพื่อเพิ่มการผลิต การสร้างตลาดโลก การปกครองและการแก้ปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบขึ้นเป็นชนชั้นหนึ่งขึ้นมา

มีการก่อตั้งชุมชนหรือสมาคมนักวิชาการในอังกฤษตั้งแต่ปี 1660 และในสหรัฐตั้งแต่ปี 1780
และศัพท์ "ทรัพย์สินทางปัญญา" (Intellectual Property) ได้มีการใช้อย่างกว้างขวางในสหรัฐตั้งแต่ทศวรรษ 1870 เมื่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขยายตัวและตั้งมั่นในสังคม บทบาทและความสำคัญของนักวิชาการปัญญาชนก็สูงตามไปด้วย

เมื่อถึงทศวรรษ 1970 กระแสการยอมรับนักวิชาการหรือเทคโนแครตได้พุ่งสู่ระดับสูง ท่ามกลางความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ-การเมือง


ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตินักวิชาการปัญญาชนบางด้าน

ความเข้าใจเกี่ยวกับนักวิชาการปัญญาชนมีหลายแง่มุมด้วยกัน ทั้งนักวิชาการปัญญาชนก็มีในทุกสังคมตั้งแต่อดีตมา ปรากฏว่านักวิชาการ, ปราชญ์, บัณฑิต, ผู้รู้, ปุโรหิต ในอารยธรรมตะวันออก ก็มีความโดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะตนหลายประการ

ในที่นี้จะจับประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องหรือฉายแสงให้เห็นวิกฤตินักวิชาการปัญญาชนในปัจจุบัน โดยอาศัยทัศนะของนักวิชาการนักเคลื่อนไหวและนักคิดของตะวันตกบางท่าน ได้แก่ โนม ชอมสกี้ (เกิด 1928) ที่ได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐ

ชอมสกี้มีความสนใจเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับบทบาทของปัญญาชนว่าจะสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างไร
เขาได้เขียนความเรียงที่ยังเป็นที่กล่าวถึงอยู่ได้แก่ "ความรับผิดชอบของปัญญาชน" (เผยแพร่ปี 1967)
ชอมสกี้เห็นว่าคำว่าปัญญาชนมีความหมายค่อนข้างหลวม ตัวเขาได้พบบุคคลที่คิดว่าเป็นปัญญาชนมากที่สุดเท่าที่เคยพบมาบางคน แต่บุคคลเหล่านี้ไม่มีคุณลักษณะที่ถือว่าเป็นปัญญาชนในวิชาชีพอย่างที่ถือกันเลย ขณะที่ก็ได้พบผู้ที่ชื่อว่าเป็นปัญญาชนจำนวนมาก ที่ถือว่าทำงานโดยใช้สมองไม่ใช้มือ แท้จริงเกี่ยวข้องกับการทำงานคล้ายเสมียนเท่านั้น

ในทัศนะของเขาเห็นว่าปัญญาชนคือใครก็ตามที่ครุ่นคิดถึงสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ดนตรีไปจนถึงเหตุการณ์ทางการเมือง-สังคม พยายามที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ พยายามที่จะปฏิบัติสิ่งดังกล่าว และพยายามที่จะบอกกล่าวและแสดงสิ่งเหล่านี้ให้แก่ผู้อื่น
มองในแง่บวกนี้ปัญญาชนก็มีบทบาทที่สำคัญอยู่

แต่ปัญญาชนก็ต้องติดต่อสัมพันธ์กับสถาบันในสังคม เช่น สถาบันการศึกษา ในแง่หนึ่งปัญญาชนเป็นอภิสิทธิ์ชนที่สามารถมีเวลาเหลือเฟือที่จะทำงานทางปัญญา เพียงแต่ว่ามักไม่ได้ทำเช่นนั้น แต่กลับชอบไปทำงานที่ง่ายๆ เป็นท่อนๆ
การจะดูความรับผิดชอบของนักวิชาการปัญญาชน จำต้องแยกภารกิจของบุคคลเหล่านี้ ออกจากเรื่องจริยธรรม
ภารกิจของปัญญาชนก็อยู่ที่ว่าเหตุใดสถาบันสังคมจึงได้ให้เวลา เงินทุน เครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ปัญญาชนในการทำงาน
ดังนั้น ภารกิจของนักวิชาการปัญญาชนก็คือพวกเขาจะต้องสนับสนุนชนชั้นนำ กลุ่มอำนาจ หรือเข้ามาทำงานบริหารตามทฤษฎี หรือประกันว่าจะทำให้คนอื่นๆ ได้มองเห็นโลกในทางที่จะเอื้อประโยชน์และสนับสนุนกลุ่มอำนาจและอภิสิทธิ์ชนที่ดำรงอยู่
ถ้าหากพวกเขาไม่ยอมปฏิบัติภารกิจนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะถูกตัดโอกาสในการทำงานทางด้านวิชาการและปัญญา

ในอีกด้านหนึ่งความรับผิดชอบทางศีลธรรมบอกพวกเขาอีกอย่างหนึ่งว่า เพื่อจะแสดงความรับผิดชอบทางศีลธรรมนี้ นักวิชาการปัญญาชนต้องค้นหาสัจจะจากความเป็นจริง และทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้เห็นว่าโลกที่เป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร และพยายามถ่ายทอดความรู้นี้แก่ผู้อื่น ทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจโลกเป็นการวางรากฐานการปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์
นี่คือความขัดแย้งใหญ่ในหมู่นักวิชาการปัญญาชน ชอมสกี้ดูจะมีความเห็นว่านักวิชาการปัญญาชนส่วนใหญ่หรือกระทั่งเกือบทั้งหมดเลือกที่จะปฏิบัติภารกิจของตน ในลักษณะบ้างก็เป็นอย่างโจ่งแจ้งหรือเข้าข้างชัด บ้างก็เป็นอย่างเหนียมอาย

นักวิชาการปัญญาชนได้สร้างวิธีคิดพิเศษและกลไกป้องกันตนเองทางจิตวิทยา เพื่อแก้ไขความขัดแย้งนี้ให้ตกไป (ดูบทสนทนาของ โนม ชอมสกี้ กับ ไมเคิล อัลเบิร์ต ใน thirdworltreveller.com เป็นบทสนทนาปี 1993 ทั้งสองยังได้สนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ครั้งหลังในปี 2011 ดูการสนทนาเรื่อง The Responsibility of Intellectual ใน zcommunication.org, 270911)



การวิเคราะห์พฤติกรรมของนักวิชาการปัญญาชนยังอาจมองผ่านทางด้านปรัชญาและการปฏิบัติว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติและจุดยืน โดยนักวิชาการปัญญาชนเป็นผู้ศึกษาการปฏิบัติทางสังคม ซึ่งพื้นฐาน ได้แก่ สาธารณชน จากนั้นก็จะสรุปแบบแผนการปฏิบัติเหล่านี้ขึ้นเป็นทฤษฎี เพื่ออธิบายว่าการปฏิบัติเหล่านี้เป็นอย่างไร จะก่อผลกระทบอะไร และแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ ก็โดยผ่านเครื่องกรองบางอย่าง ได้แก่ ระเบียบวิธีวิจัย และจุดยืน เป็นต้น ซึ่งมักรับใช้ผู้ปกครอง
เช่น การศึกษาความยากจนในชนบทเป็นเวลานาน ก็ได้พบวงจรสำคัญที่เรียกว่า "โง่ จน เจ็บ" คือความโง่หรือรู้หนังสือน้อยทำให้ยากจน ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยง่ายที่มีราคาแพง หมุนเวียนให้เกิดความโง่ต่อไปอีก
ข้อสรุปนี้ดูเป็นวิชาการ อธิบายภาพความยากจนได้ชัดเจน
แต่ก็เป็นคำอธิบายที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจและอภิสิทธิ์ เนื่องจากชี้ว่าความยากจนมาจากความโง่ หรือความโง่กับความจนเป็นอันเดียวกัน ทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องรับผิดชอบต่อความยากจนนั้นมาก

และข้อสรุปนี้ดูจะยังใช้จนถึงปัจจุบัน เช่นเห็นว่าเสียงของคนจนคือเสียงของคนโง่

อย่างไรก็ตาม สามารถศึกษาความยากจนในชนบท และมีข้อสรุปอีกแบบหนึ่งที่มีลักษณะเอื้อต่อคนยากจน นั่นคือวงจรว่า "กดขี่ เหลื่อมล้ำ ลุกขึ้นสู้" ได้แก่การกดขี่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ นำมาสู่การลุกขึ้นสู้ และหมุนกลับไปสู่การกดขี่ปราบปราบหนักขึ้น และก็ทำให้การลุกขึ้นสู้รุนแรงขึ้นอีก มีปัญญาชนฝ่ายซ้ายได้กล่าวไว้นานแล้วว่า "ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้"


ปัญญาชนกับมวลชนในทัศนะของ เหมา เจ๋อ ตง

เหมา เจ๋อ ตง เป็นนักปฏิวัติชาวจีนที่ยิ่งใหญ่ พื้นเพเป็นชาวนา ไม่ได้รับการศึกษาสูงเหมือนผู้นำปฏิวัติอื่นหลายคนที่ได้ไปศึกษาในต่างประเทศ ได้ชื่อว่าเป็นนักต่อต้านปัญญาชน และเน้นในเรื่องการเดินแนวทางมวลชน (Mass Line) ประธานเหมาได้กล่าวว่า

"ประชาชนและมีแต่ประชาชนเท่านั้นที่เป็นพลังในการสร้างประวัติศาสตร์โลก" (ปี 1945)
"มวลชนคือวีรชนที่แท้จริง ตัวเรานั้น (คือผู้ปฏิบัติงานพรรคและปัญญาชน) มักอ่อนหัดเหมือนเด็กน้อย หากไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ก็ไม่อาจมีความรู้แม้แต่ขั้นพื้นฐานที่สุดได้" (1941)
"มวลชนมีพลังสร้างสรรค์ไม่หมดสิ้น พวกเขาสามารถจัดตั้งตนเองและปฏิบัติงานอย่างสุดกำลังในงานทุกสถานที่และทุกชนิด พวกเขาสามารถรวมศูนย์การผลิตทั้งในด้านกว้างและด้านลึก และสามารถแบกรับภาระในการสร้างความอยู่ดีกินดีของตนเองเพิ่มมากขึ้น" (1955)
"จงฝังตัวเองอยู่กับมวลชน เราจะต้องปฏิบัติตามความต้องการและความปรารถนาของมวลชน งานทั้งหมดเพื่อมวลชนจะต้องเริ่มจากความต้องการจำเป็นของมวลชน ไม่ใช่จากความปรารถนาของบุคคลใดเป็นอันขาด ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีเพียงใด" (1944)

ระหว่างปี 1966-76 ประธานเหมาก่อกระแสการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น บีบให้ปัญญาชนรวมทั้งผู้ปฏิบัติงานของพรรคจำนวนมากต้องไปศึกษาเรียนรู้จากมวลชนกรรมกรชาวนาและการลบล้างวัฒนธรรมเก่าทั้งหลาย

ในปัจจุบันเห็นกันว่าการปฏิวัตินี้ออกจะเป็นการเคลื่อนไหวที่เลยเถิดไปไม่น้อย แต่ก็น่าจะเห็นในอีกด้านว่าการละเมิดคำสอนของเหมาที่กล่าวแล้ว สามารถก่อให้เกิดวิกฤตินักวิชาการปัญญาชนได้โดยง่าย



.