http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-18

Draw Something, แท็บเล็ต, FMS, Viber โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.

"อึด" ครองโลก เส้นทางของ Draw Something
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 100


เมื่อราวๆ เดือนมีนาคม ช่องข่าวบนแท็บเล็ตที่ใช้อยู่มีข่าวอยู่ข่าวหนึ่งสะกิดใจนั่นก็คือข่าวเกี่ยวกับเกมออนไลน์เกมหนึ่งซึ่งพาดหัวข่าวว่า 20 ล้านดาวน์โหลดในเวลาไม่ถึง 5 สัปดาห์
แต่ก็ไม่ได้สนใจจะเข้าไปดูรายละเอียด เพราะโดยปรกติไม่เล่นเกมอยู่แล้วไม่ว่าจะบนคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือเล่นก็แบบฉาบฉวยพอให้ได้รู้จัก

ถัดมาอีกสองสัปดาห์ก็มีข่าวพาดหัวใหม่มาอีกว่า 35 ล้านดาวน์โหลดในเวลาเพียง 7 สัปดาห์
คราวนี้ชักเริ่มสนใจเข้าไปอ่าน และพบว่ามันเป็นเกมที่มาแรงเป็นพิเศษขึ้นไปติดท็อปชาร์จทั้งฝั่งแอนดรอยด์และ iOS ก็เลยติดตั้งลงในแท็บเล็ตเพื่อจะดูว่ามันเป็นยังไงถึงได้โด่งดังสนั่นขนาดนั้น
และตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้น่าจะเกือบเดือนแล้ว ทุกวันพอว่างๆ ก็มักจะหยิบเกมมาเล่น


เกมนี้ชื่อเกมดรอว์ ซัมธิงก์ (Draw Something) เป็นเกมพื้นๆ แนววาดรูปทายคำ คนที่เล่นกับเราอาจจะเป็นคนรู้จักบนเฟซบุ๊กหรือเป็นใครก็ได้ในโลกออนไลน์อันไร้พรมแดน นอกเหนือจากนี้ไม่มีฟังก์ชั่นอื่นใด ถ้าไม่ใช่เพื่อนบนเฟซบุ๊กเราก็จะไม่รู้หรอกว่าคนที่เราเล่นอยู่ด้วยเป็นใคร มาจากไหน นอกจากเห็นชื่อและบางกรณีอาจจะเห็นภาพถ้าใส่ไว้ ไม่มีการแชตกันไปมาหรือช่องทางขยายความรู้จักมักจี่ให้เพิ่มมากขึ้น
วิธีเล่นเกมก็เพียงผลัดกันวาดผลัดกันทายไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ไม่มีใครแพ้ชนะ ไม่มีการเลื่อนชั้นเลื่อนระดับเหมือนเกมทั่วๆ ไป อาจจะมีรางวัลอยู่บ้างก็คือเหรียญที่เอาไว้ซื้อสีเพิ่มหรือซื้อคำเพิ่ม
โดยพื้นฐานเกมนี้คือเกมที่เล่นกันเพื่อเอาใจช่วยผู้ร่วมเล่นให้ทายถูกเวลาเราวาด ไม่ได้แข่งขันกันแต่เป็นการร่วมไม้มือกัน ซึ่งแตกต่างไปจากเกมอื่นๆ หรือเกมประเภทเดียวกัน และในบรรรดาเกมประเภทเดียวก็ไม่มีเกมใดประสบความสำเร็จได้เท่านี้มาก่อน


บริษัทที่เป็นเจ้าของเกมนี้คือบริษัท omgpop ที่ก่อตั้งมาประมาณ 6 ปี ผลิตเกมบนโทรศัพท์มือถือมา 35 เกม แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย จนกระทั่งมาถึง Draw Something หลังจากเกมก้าวขึ้นสู่เกมยอดนิยมเพียงไม่กี่วัน บริษัท Zyncga ซึ่งถือเป็นเจ้าแห่งเกมก็เข้ามาเจรจาซื้อบริษัทและเกม ปิดการเจรจากันในเวลาอันสั้น ทั้งหมดเป็นเงินกว่า 5,000 ล้านบาท
ชาร์ลส์ ฟอร์แมน ผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งออกจากบริษัทไปร่วมปีแล้วเพื่อไปบุกเบิกบริษัทใหม่แต่ยังคงถือหุ้นอยู่มีความรู้สึกที่ยังไม่หายงุนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาบอกว่าตอนนั้นเขาเหลือเงินอยู่ในบัญชีแค่ห้าหมื่นกว่าบาท บริษัทซึ่งมีฐานะลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด 6 ปี ที่จริงหากไม่ได้ Draw Something มาชุบชีวิตไว้ตอนนี้ก็คงปิดบริษัทไปแล้ว
แต่โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน บางอย่างอยู่ๆ มันก็เกิด "คลิกขึ้นมา"

เกมวาดรูปทายคำของ omgpop เกมแรกที่ฟอร์แมนมีส่วนสร้างขึ้นชื่อเกม Draw My Thing เป็นเกมอิงเว็บที่ผู้เล่นแข่งกันทายในเวลาอันจำกัด ผู้เล่นจะแข่งกันทายคำให้ได้เร็วที่สุดโดยไปทายกันในห้องแชต แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จใดๆ

ส่วน Draw Something ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดของ แดน พอร์เตอร์ ผู้บริหารคนปัจจุบัน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเล่นกับลูกตัวเองและลูกเพื่อนในสวนสาธารณะเขาตั้งรางวัลเป็นไอศกรีม ให้ลูกกับเพื่อนโยนบอลกลับไปกลับมา 100 เที่ยวโดยบอลไม่ตก ความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างผู้เล่นนี่เองที่ทำให้ "ปิ๊ง" ขึ้นมาแล้วเอาไปสร้าง Draw Something ให้มีลักษณะเดียวกัน ไม่มีการจับเวลา และเล่นกันไปได้ไม่รู้จบ

หรือจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเบื่อไปเอง



++

แท็บเล็ตกับนักเรียน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 100


โครงการแท็บเล็ตสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่หนึ่ง เดินหน้ามาจนใกล้จะเป็นจริงและเห็นคาดกันว่าคงจะทันเปิดเทอมใหม่ปีนี้
เท่าที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการนี้มา แทบไม่เห็นนัยสำคัญในเชิงการศึกษารูปแบบใหม่ใดๆ จากแท็บเล็ตนักเรียนออกมาจากผู้เกี่ยวข้องเลย ประโยชน์ที่จะได้จากแท็บเล็ตเท่าที่พูดๆ กันก็มีแต่ลอยๆ ออกมาจากสามัญสำนึก

ล่าสุดไม่กี่วันก่อน ความคืบหน้าที่พบมีเพียงคำพูดจากคนของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. บอกว่าจัดเตรียมหนังสือเรียนไว้พร้อมแล้ว 8 เล่ม จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ เป็นไฟล์พีดีเอฟที่มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งช่วยแปลงให้เพื่อให้ผู้ผลิตโหลดใส่ไว้ในเครื่องก่อนส่งมอบ
ผมไม่ได้คัดค้านการที่จะแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนเอาไปใช้ แต่รู้สึกหงุดหงิดกับการทำงานเหมือนสุกเอาเผากินมากไปหน่อย แม้แต่จะมองแบบผิวเผินว่าแค่เอาไว้อ่านอีบุ๊กก็คุ้มแล้วก็ไม่จริง เพราะเห็นชัดว่าแทบไม่มีอีบุ๊กให้เด็กไทยระดับ ป.1 อ่านปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์เลยก็ว่าได้ อย่าว่าแต่เด็กเล็กเลย แม้แต่เด็กโตจนถึงผู้ใหญ่ก็หาอีบุ๊กไทยอ่านได้ยาก
เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นมันก็มีแค่หนังสือเรียน 8 เล่มที่เปลี่ยนจากกระดาษไปเป็นรูปแบบดิจิตอลให้เด็กใช้เรียนแทนเท่านั้นเอง
แถมยังเป็น PDF ซึ่งเป็นรูปแบบไฟล์ที่ล้าสมัยในการทำอีบุ๊กอีกด้วย

นี่ต่างจากเกาหลีใต้ประเทศที่พัฒนาไปไกลกว่าเรา เริ่มต้นจากการเปลี่ยนตำรับตำรา หนังสือเรียน หนังสืออ่านนอกว่าเวลาไปเป็นดิจิตอลก่อน แล้ววางพื้นฐานโครงข่ายและเซิร์ฟเวอร์รองรับ ส่วนอุปกรณ์ที่นักเรียนใช้นั้นอยู่ลำดับท้ายๆ



อันที่จริงแล้วปัจจุบันมีโรงเรียนอยู่จำนวนไม่น้อยในต่างประเทศนำเอาแท็บเล็ตไปใช้ในการเรียนการสอน ในเมืองไทยเองก็มีหลายโรงเรียนที่ทำโครงการนำร่องอยู่ในขณะนี้
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเรียนหนังสือกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็กๆ
และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่ากระบวนการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ที่สามารถออนไลน์ได้ แท็บเล็ตควรเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ให้เต็มตามศักยภาพของมัน ไม่ใช่เป็นเพียงสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ของครูที่เอาไปให้นักเรียนใช้ในชั้นเรียนเท่านั้น

โรงเรียนในต่างประเทศบางแห่งเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนหลังการนำแท็บเล็ตเข้าไปใช้ เช่น แทนที่นักเรียนจะนั่งกันหน้าสลอนหันหน้าเข้าหากระดานดำ โดยมีครูสอนอยู่หน้าชั้นเรียน ก็เปลี่ยนเป็นการให้เด็กแบ่งเป็นกลุ่มนั่งล้อมวง แต่ละคนค้นหาข้อมูลผ่านแท็บเล็ตแล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เป็นต้น

ทุกวันนี้ผมก็นั่งจิ้มแท็บเล็ตอยู่ทุกวันทั้งวัน เห็นประโยชน์มากมายก่ายกองของมันสำหรับเด็กๆ เพียงแค่ขอให้คุณเกิดมาในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะคอนเทนต์มีมากมายรวมถึงพวกที่เป็นแบบมัลติมีเดียอันน่าตื่นตาตื่นใจ

แต่โทษทีครับ ที่นี่ประเทศไทย แท็บเล็ตจึงให้อะไรเด็กนักเรียนได้ไม่มากนัก หากปราศจากการทำการบ้านอย่างหนักของคนที่เกี่ยวข้อง



++++

Firely Media Server ศูนย์กลางความบันเทิงในบ้าน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 100


ความที่เป็นคนอยู่ไม่สุขทำให้ต้องหาอะไรมาลองเล่นไปเรื่อยๆ ยิ่งในภาวะที่จิตไม่ปรกติ งานอดิเรกที่เอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาทดสอบโน่นนี่ จะช่วยให้สามารถผ่อนคลายไปได้เยอะ อุปกรณ์ที่ผมนั่งเล่นอยู่บ่อยๆ ตอนนี้ก็คือ ไอพอด ทัช ซึ่งเล่นไปเล่นมาก็ชักจะไม่ค่อยมีอะไรเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ

หลายอาทิตย์ก่อนเกิดความคิดขึ้นมาว่าจะทำมีเดีย เซิร์ฟเวอร์แบบง่ายๆ ไม่ต้องเสียสะตุ้งสตังค์ไปซื้ออะไรมาเพิ่มเติม อาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่แล่วนี่แหละทำเป็นเซิร์ฟเวอร์ แต่ต้องเป็นวิธีที่มันทำได้ง่ายๆ หน่อย
มีเดียเซิร์ฟเวอร์นั้นเขาทำกันขึ้นมาก็เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของความบันเทิงในบ้าน ที่มันจะส่งหนัง หรือเพลงไปในอากาศ แล้วใช้เครื่องลูกข่ายอื่นๆ เปิดเข้าไปดูหนังฟังเพลงได้หมด ไม่ว่าจะเป็นไอพอด หรือคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ
ถามว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ประการแรกเลยคือได้ลองทำดูมันก็สนุกกับชีวิตไปน่ะสิครับ ถ้าทำได้เราก็ปลื้มอกปลื้มใจเป็นธรรมดา เหตุผลประการถัดมาคือการประหยัดพื้นที่ในเครื่อง ไม่ต้องก๊อปปี้ไฟล์ใส่กันไปมาให้ยุ่งยากซ้ำซ้อน เก็บไฟล์หนังไฟล์เพลงเอาไว้ในเซิร์ฟเวอร์เครื่องเดียว แล้วจะไปนั่งๆ นอนๆ ซอกไหนมุมไหนของบ้านก็สามารถเปิดเข้าไปดูหรือฟังได้

แต่ด้วยเหตุที่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะใช้เป็นเซิร์ฟเวอร์ของผมเป็นลินุกซ์ สายพันธุ์อูบุนตู วิธีการก็เลยไม่เหมือนพวกชาววินโดวส์ หรือแมค ครั้นไปจะใช้เครื่องที่เป็นวินโดวส์มาทำก็คงไม่ไหว เพราะเครื่องพวกนั้นลำพังทำงานของมันเองก็อืดเป็นเรือเกลืออยู่แล้ว



หลังจากค้นคว้าอยู่ไม่นานก็เจอทางสว่างแบบง่ายๆ เข้า เพราะว่าบนอูบุนตูมีโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์สำหรับทำมีเดียเซิร์ฟเวอร์อย่างง่ายๆ อยู่ตัวหนึ่ง ในชื่อ Firely Media Server หรือชื่อเดิมที่รู้จักกันว่า mt-daapd
อาศัยความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวอูบุนตูคลับอีกนิดหน่อยก็สามารถสตรีมเพลงจากเซิร์ฟเวอร์ไปได้สำเร็จ ตอนนี้ก็เลยช่วยให้ทำตัวกิ๊บเก๋ถือไอพอดไปเลือกเปิดฟังเพลงใต้ต้นไม้หน้าบ้าน มีเพลงจากเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองให้เลือกเป็นกุลุต ต่างจากเพลงในไอพอดของตัวเองที่พื้นที่มีจำกัด

หลังจากผ่านการทดสอบแลใช้งานได้จริงในขั้นแรก ขั้นต่อไปก็เป็นการทำเซิร์ฟเวอร์จริงๆ นั่นคือ การเอาเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าๆ ที่แทบไม่ได้ใช้งานมาทำ แทนที่จะใช้เครื่องที่ใช้ทำงานอื่นๆ อยู่ตอนนี้เป็นเซิร์ฟเวอร์ ติดตั้งลินุกซ์ตัวเล็กๆ ลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าๆ เพื่อชุบชีวิตมันขึ้นมาใหม่แล้วใช้ทำมีเดียเซิร์ฟเวอร์
นี่ว่ากันเฉพาะเป็นเครือข่ายใช้ภายในบ้าน ซึ่งที่จริงจะทำถึงขนาดให้เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่เข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ตเลยก็ได้ เพียงแต่มันต้องทำอะไรต่อมิอะไรซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกหลายขั้นตอน ดูจะยุ่งยากเกินไปสำหรับงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลาย

ที่ไม่แน่ใจอยู่อย่างก็คือไอ้การทำมีเดียเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาแม้มันจะช่วยประหยัดพื้นที่ดิสก์ และอำนวยความสะดวกให้เราในการดูหนังฟังเพลงตรงไหนก็ได้ โดยไม่ต้องถ่ายโอนไฟล์ซ้ำซ้อน มันจะยิ่งช่วยผลาญไฟฟ้ามากขึ้นไปอีกหรือเปล่า

คำถามนี้แทบไม่ต้องใช้สมองคิดก็ตอบได้ทันทีทันควันเลยว่า "ใช่แล้ว"



++++

"Viber" โทร.ผ่านเน็ตด้วยมือถือ บอกลาค่าโทรศัพท์เป็นนาที
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1585 หน้า 100


ถึงแม้ทุกวันนี้เราจะมีโทรศัพท์มือถือใช้กันเพื่อเอาไว้ติดต่อกันด้วยเสียง เวลามีธุระอะไร หรือ ไม่มีธุระก็แล้วแต่ ก็โทรศัพท์ถึงกัน แต่สมัยนี้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ทั้งโดยผ่านเครือข่าย 3G/EDGE หรือ w-fi แทนที่จะโทรศัพท์คุยกันผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ตามปกติก็หันมาใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับการโทรหากันผ่านอินเตอร์เน็ตแทน บนพื้นฐาจของเทคโนโลยีที่เรียกนกันว่า VOIP หรือ วอยซ์ โอเวอร์ อินเตอร์เน็ต โปรโตคอล
วิธีนี้ไม่เสียค่าโทรศัพท์แต่เสียค่าเน็ตตามแต่เน็ตที่เราใช้

หากอยู่ที่บ้าน การใช้แอพพลิเคชั่นบนถือมือเพื่อการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต ก็ช่วยประหยัดค่าโทรศัพท์ไปโดยปริยาย บอกลาค่าโทรศัพท์ไปได้ และสะดวกเพราะใช้มือถือ ไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นสำหรับการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือ ที่นิยมใช้กันมาแต่เดิมคือ Skype ซึ่งสามารถตอบสนองการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างครบถ้วนและยังมากความสามารถในการโทร.เข้าเครื่องโทรศัพท์เมื่ออีกฝ่ายไม่ได้ ใช้ Skype แต่การใช้ Skype ผ่าน wi-fi บนโทรศัพท์มือถือนั้นยังเพิ่งจะเริ่มพัฒนา ส่วนใหญ่ใช้งานโดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์กันมากกว่า
เพราะวัตถุประสงค์ของ Skype นั้น เพื่อเข้ามาทดแทนเครือข่ายโทรศัพท์ปรกติในทุกหน้าที่ และเชื่อมโยงถึงกันได้หมดระหว่างอินเตอร์เน็ตกับโทรศัพท์
หรือในทางกลับกัน เป้าหมายคือโทร.ฟรี กับโทร.ถูกกว่า

เมื่อสมาร์ทโฟนพัฒนาจากเดิมมากขึ้นและกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แอพพลิเคชั่นสำหรับการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยมือถือก็พัฒนาตาม และ 1 ในแอพพลิเคชั่น บน iOS (ไอโฟน,ไอพอดและ ไอแพด) ที่เพิ่งออกมาเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาให้เมาธ์กระจายผ่านอินเตอร์เน็ตในเทศกาลอำลาปีเก่าต้อนรับปีใหม่ก็คือ แอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Viber (viber.com) สำหรับระบบปฏิบัติการบนมือถืออื่นๆ คือ แอนดรอยด์ และ แบล๊กเบอรี จะมีตามมาในภายหลัง

Viber หรือ ไวเบอร์ ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน 3G/EDGE และ wi-fi พูดคุยกันด้วยเสียงได้ด้วยวิธีการที่สะดวกมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังจากติดตั้งโปรแกรมลงในเครื่องผ่านแอพ สโตร์ เปิดโปรแกรมลงทะเบียนใช้งานด้วยอีเมล และเบอร์โทรศัพท์ จะได้หมายเลขรหัสส่งมาทางเอสเอ็มเอสเพื่อนำไปกรอก จากนั้น ก็เริ่มใช้งานได้ทันทีอย่างไม่มีพิธีรีตรองเป็นแอพพลิเคชั่นที่เน้นความสะดวกและฟรี จึงไม่มีอะไรซับซ้อนมากเรื่อง
ไวเบอร์จะดึงเอาคอนแทกต์ ลิสต์ หรือ สมุดโทรศัพท์ในเครื่องมาใช้ และรายชื่อในสมุดโทรศัพท์ที่ไวเบอร์ดูดมานั้น หากมีใครติดตั้งไวเบอร์ ก็จะมีสัญลักษณ์ หรือ ไอคอนบ่งบอกไว้ สามารถกดโทร.ผ่านเน็ตถึงคนเหล่านี้ได้ทันที ใครไม่มีกดเชิญให้มาใช้ได้
เพียงแต่อย่าลืมว่า ณ ขณะนี้ ยังใช้ได้เฉพาะอุปกรณ์ในตระกูล iOS ของแอปเปิ้ลเท่านั้น
หลังจากนี้ก็เมาธ์กันให้สนั่นโดยไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์เป็นนาที โดยเฉพาะเวลาอยู่ที่บ้าน


แต่จะว่าไป ไวเบอร์ไม่ได้ตอบสนองเฉพาะการใช้งานส่วนตัวเท่านั้นหรอกครับ ถ้าผมทำธุรกิจคงต้องเอามาใช้ เพราะประโยชน์ตกอยู่กับลูกค้าที่ไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ ยกตัวอย่างเช่น พวกธุรกิจส่งถึงบ้านทั้งหลายทั้งปวง หรือการติดต่อกลับไปยังลูกค้า หากลูกค้าใช้ Viber มันก็ประหยัดให้เราได้อีกเช่นกัน เรียกว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง
สำหรับคุณภาพเสียง หากเป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ 3G ก็ชัดเจนดียิ่งกว่าโทรศัพท์ด้วยซ้ำ

อันที่จริง แอพพลิเคชั่นตัวนี้ผมไม่ได้เจอมาเอง แต่เพื่อนที่ใช้ไอโฟนแนะนำมา ตอนแรกก็งงๆ ติดตั้งแล้วลบทิ้งไป แต่หลังจากไปรวมพลกันที่เชียงใหม่ ก็ติดตั้งใหม่อีกครั้ง คราวนี้พอเข้าใจวิธีการทำงานของมันทุกอย่างก็ง่ายไปหมด บังเอิญแก๊งที่รวมผลกันแต่ละคนใช้ไอโฟนกันทั้งนั้น (ยกเว้นผมที่ใช้ไอพอด ทัช) ก็เลยลงไวเบอร์กันไปถ้วนหน้า และมีอยู่หนึ่งคนที่บอกว่ากลับบ้านจะไปซื้อไวร์เลสเราเตอร์มาใช้ที่บ้าน จะได้เปลี่ยนมาใช้อินเตอร์เน็ตผ่าน wi-fi บนมือถือ ทั้งเพื่อใช้ไวเบอร์และอื่นๆ

คำว่า "ประหยัด" ยังคงขลังเสมอ ต่อให้ใช้เครื่องราคาแพงแค่ไหน



.