.
ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีสงกรานต์ได้...ไม่ควรมีสงคราม
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 20
ทํานายสงกรานต์ 2555 วันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2555 ปีมะโรง เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์มีนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า หัตถ์ขวาทรงขรรค์ หัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร อยู่บนหลังมหิงสา
ทำนายว่า เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะโรง นาคราชให้น้ำ 3 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีมาก กลางปีงาม แต่ปลายปีน้อยแล เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ วาโย (ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิดกิมิชาติ มีแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน
บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม มีไฟกลางเมือง จะฆ่าฟันกัน จะนิราศจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแล
เห็นคำทำนายสงกรานต์ปี 2555 แล้วอย่าเพิ่งตกใจ ถึงตรงกับ ศุกร์ที่ 13 ก็ไม่เกี่ยว เพราะนี่เป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากอินเดีย ไม่ใช่ฝรั่ง
เรื่องความแม่นยำของการทำนายก็อยู่ในระดับต่ำมาก เนื่องจากไม่ได้ทำนายตามข้อมูลปัจจุบัน เช่นปี 2554 นางสงกรานต์ถือทั้งปืนทั้งตะขอ
บอกว่าบ้านเมืองจะมีเภทภัย ผู้น้อยจะแพ้ผู้ใหญ่ แต่บ้านเมืองก็เรียบร้อยดีแถม...ลั้งยี้...ยังชนะเลือกตั้ง
ทำนายว่าน้ำงามพอดี แต่น้ำกลับท่วมใหญ่ในรอบ 100 ปี เรื่องนี้จะไปโทษนาคราชที่ให้น้ำก็ไม่ได้ เพราะนาคราชไม่รู้ว่าจะมีคนปล่อยน้ำจากเขื่อนมาเพิ่ม
ปี 2553 บอกว่าน้ำน้อย แต่ในคำทำนาย ไม่ได้บอกว่าจะเกิดการต่อสู้กันกลางเมือง แต่หลังสงกรานต์ไม่กี่วัน เลือดก็นองราชดำเนิน คนทั่วไปเดาได้แม่นกว่าเพราะเห็นคนเสื้อแดงมาชุมนุมเป็นแสนๆ กลางเมืองก็รู้ว่ามีเรื่องร้ายแน่ เพราะคนที่กล้าใช้ปืนแย่งอำนาจมาย่อมต้องใช้ปืนปกป้องอำนาจ
คำทำนายสงกรานต์ที่มีสืบทอดกันมา จะบอกถึงปัจจัยที่จำเป็นและมีผลต่อชีวิตผู้คนยุคนั้น เช่น เรื่องน้ำ เป็นอย่างไร มีมากน้อยแค่ไหน เรื่องพืชผลเกษตรดีหรือไม่ และเรื่องการเมืองหรือสงครามจะเกิดปัญหาหรือไม่ เพราะความกังวลของคนยุคก่อน คือจะมีกินหรือไม่ จะมีเรื่องเดือดร้อนจากสงครามหรือไม่ เพราะต้องถูกเกณฑ์ไปรบ
ที่ไม่พูดถึงพลังงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพราะยังไม่ถึงยุค
คำทำนายสงกรานต์ยุค AEC เป็นอย่างไร
ทีมวิเคราะห์อยากทำนายสงกรานต์ยุคใหม่เพื่อแจ้งข่าวการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคเราให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวไว้กันไว้บ้าง เพราะไทยกำลังเข้าสู่ AEC
AEC ย่อมาจาก ASEAN ECONOMICS COMMUNITY หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นการรวมตัวของกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศซึ่งมีประชากรรวม เกือบ 600 ล้าน คือ อินโดนีเซีย 225 ล้านคน ฟิลิปินส์ 92 ล้าน เวียดนาม 89 ไทย 67 ล้าน พม่า 60 ล้าน มาเลเซีย 29 ล้านคน กัมพูชา 15 ล้าน ลาว 7 ล้าน สิงคโปร์ 5 ล้าน บรูไน 4 แสนเศษ เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
ยืมรูปแบบของยูโรโซนมาใช้โดยหวังว่าจะยกฐานการผลิต ขยายตลาดสินค้า ยกระดับการแข่งขัน ที่จะสู้กับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกและทำให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในทุกๆ ประเทศ
โดยได้เลือกจุดเด่นของประเทศต่างๆ ให้เป็นฐานการผลิต เช่น พม่าจะเน้นด้านเกษตรและประมง มาเลเซีย ผลิตภัณฑ์ยางและสิ่งทอ อินโดนีเซีย ภาพยนตร์และผลิตภัณฑ์ไม้ ฟิลิปปินส์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ไทย ด้านท่องเที่ยวและการบิน สิงคโปร์ IT และสุขภาพ แต่การตัดสินใจเคลื่อนย้ายทั้งทุนและแรงงานก็จะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่นายทุนและลูกจ้างจะได้รับผลตอบแทน
แต่ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการในทุกสาขาอาชีพโดยเฉพาะคนธรรมดาและธุรกิจย่อมๆ คงไม่สามารถเปลี่ยนหรือย้ายไปง่ายๆ แต่จะปรับตัวให้อยู่รอดอย่างไร?
วันที่ 1 มกราคม 2558 การรวมตัวนี้จะเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง และจะมีผลต่อประชาชนในทุกประเทศ ซึ่งผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเตรียมตัวรุกและรับเพื่อหาผลประโยชน์และแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
ถ้าเข้าสู่ AEC แล้ว
จะทำให้ชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างไร
ด้านการค้าขาย
ถ้ามองภาพรวมตลาดการค้าก็จะใหญ่ขึ้น มีการลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่เหลือ 0% ดังนั้น สินค้าที่ผลิตขึ้นทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมก็จะสามารถส่งไปขายในพม่าหรือที่เกาะบาหลีได้เช่นเดียวกับส่งไปขายที่เชียงใหม่
จะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันตามแต่ความถนัดของผู้ผลิตสินค้า สินค้าที่มีความสามารถทางการผลิตที่ต่ำกว่า จะไม่สามารถแข่งกับสินค้าที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าจากประเทศข้างเคียง
ผลก็คือ โรงงานจะปิด หรือต้องย้ายไปผลิตในที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า สินค้าที่ถูกกว่าจากประเทศอื่นๆ จะเข้ามาแทน
นายทุนไทยก็จะย้ายไปผลิตในประเทศอื่นๆ หรือร่วมลงทุนกับคนประเทศนั้นแล้วส่งขายทั่วทั้งภูมิภาคผ่าน บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในทุกประเทศ
ชายแดนที่เป็นด่านจะเป็นที่ตั้งของสำนักงานการค้า ระบบการส่งสินค้าและถนนหนทางก็ต้องพัฒนาตาม แต่ชาวบ้านธรรมดาที่ชายแดนคงได้แค่มีงานทำ
ผลกระทบทางการค้ามีทุกระดับ ที่จริงหลายคนปรับตัวมาตั้งแต่เจอสินค้าราคาถูกของจีนทะลักเข้ามาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้จะไม่มีกำแพงภาษีช่วยได้เลย ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องเตรียมตัวรับมือ
ด้านแรงงาน
ความเปลี่ยนแปลงทางด้านแรงงาน ตามข้อตกลงแรงงานฝีมือที่เคลื่อนย้ายอย่างเสรีจะมี 7 สาขาอาชีพ คือวิศวกรรม สถาปัตย์ การสำรวจ พยาบาล แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี
ดังนั้น คนที่ประกอบอาชีพใน 7 สาขานี้จะเข้าไปทำงานใน กลุ่ม AEC โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน (WORK PERMIT) อีกแล้ว ซึ่งจะได้ค่าแรง สวัสดิการและเสียภาษีในอัตราเดียวกับเจ้าของประเทศ ดังนั้น การไหลของแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญก็จะเกิดขึ้น
แต่สิ่งที่จำเป็นคือภาษา ถ้าเป็นภาษาที่ใช้ได้เกือบทุกประเทศคงจะเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นบางประเทศ เช่น มาเลเซียอาจจะมีคนไทยที่พูดภาษามาเลย์ได้อยู่แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพจะได้ประโยชน์สูงกว่า เพราะสามารถจะเลือกสถานที่ทำงานได้อีกหลายแห่ง หลายประเทศ แม้ธรรมดา มนุษย์จะเคยชินกับการดำรงอยู่ในถิ่นเดิมของตนเอง แต่ถ้าหมอเก่งๆ ในประเทศไทยไปทำงานที่สิงคโปร์ ผลตอบแทนที่ได้จากเดือนละสองแสนก็อาจกลายเป็น 8 แสน
บางคนอาจต้องบินไปมาหมือนนางฟ้า เพื่อรักษาคนไข้หลายประเทศ
การเคลื่อนย้ายของผู้ชำนาญการด้านต่างๆ จึงต้องเกิดขึ้นแน่นอน และคนรวยย่อมได้ประโยชน์กว่า การผลิตบุคลากรในอนาคตจึงอาจต้องมีสัญญาการทำงานอย่างรัดกุมว่าจะต้องทำงานอยู่ในประเทศกี่ปี
ส่วนแรงงานธรรมดาใน 4-5 ปีนี้ยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมาก จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือพม่าซึ่งคงต้องใช้เวลาพัฒนาพื้นฐานประมาณ 4-5 ปี การเคลื่อนย้ายแรงงานกลับประเทศแบบมากมายจะยังไม่เกิดเร็วๆ นี้
ด้านการท่องเที่ยว
การเดินทางจะสะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องขอวีซ่า แต่ก็จะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาแน่นอน
สนามบินในหลายประเทศจะขยายเพิ่มขึ้น
ถนนหนทางที่ไปสู่เมืองท่องเที่ยวจะได้รับการพัฒนา
การท่องเที่ยวน่าจะได้รับผลดีทุกประเทศโดยเฉพาะ พม่า ไทย กัมพูชา ลาวและเวียดนาม
ด้านพลังงาน
คำทำนายยุคก่อนไม่ได้พูดถึงปัญหาพลังงาน เพราะสมัยนั้นใช้แรงงานคนและสัตว์ผ่านเครื่องทุ่นแรงเป็นหลัก แต่ปัจจุบันการดำเนินชีวิตคนยุคใหม่ ต้องพึ่งเครื่องจักรกลหรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันหรือไฟฟ้าเป็นหลัก
ปัญหาใหญ่ที่ทุกคนจะต้องเผชิญคือการขาดแคลนพลังงาน ในอีกไม่เกิน 10 ปี ข้างหน้า การร่วมมือเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่มาก
การซื้อไฟฟ้าจากลาวต้องเพิ่มขึ้น
การซื้อก๊าซจากพม่าต้องเพิ่มขึ้น
การขุดค้นน้ำมันและก๊าซในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาต้องรีบลงมือ
แต่การทำสัญญาจะต้องเป็นประโยชน์กับผู้ใช้พลังงานทั้งสองประเทศ บริษัทที่อยากทำมีทั่วโลกเจ้าของพื้นที่ไม่ต้องง้อผู้อยากได้สัมปทาน
ผู้วิเคราะห์กล่าวว่า กลุ่มที่จะได้ผลประโยชน์มากที่สุดในทุกๆ ด้าน คือนายทุนหรือเจ้าของกิจการเพราะสามารถเลือกพื้นที่การลงทุนเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบเท่า ขยายตลาดสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 9 ประเทศ สามารถคัดเลือกแรงงานซึ่งมีความชำนาญด้านต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น แสวงหาทรัพยากรในแหล่งต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น หาแหล่งพลังงานได้เพิ่มขึ้น มีที่ทิ้งขยะเพิ่มขึ้น
รัฐบาลอย่ามัวไปเสียเวลากับ ปชป. งานมีเยอะจะทำอะไรก็รีบทำ
ความพร้อมด้านการเมือง...
อย่าไปตบกันเอง
หรือตีกับเพื่อนบ้าน กลางงาน AEC
ที่จริงแล้วปัญหาทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ในทุกประเทศ จะมีมากน้อยต่างกัน การรวมกันเพื่อให้เกิด AEC ก็เหมือนการจัดงานแฟร์ ไว้ในอาคารเดียวกัน เส้นพรมแดนแทบมองไม่เห็น เป็นเพียงแค่ทางเดิน
ทุกประเทศต้องรีบแต่งตัวและออกมาต้อนรับแขก
บางประเทศแต่งตัวรอมานานแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน และไทย
ส่วนกัมพูชา เวียตนาม ลาว พม่า มาทีหลัง ดูเหมือนพม่าจะมาช้ากว่าเพื่อน แต่ผู้นำก็แต่งตัวได้รวดเร็วมาก เอาเสื้อสูทสวมทับโสร่ง แล้วให้ ออง ซาน ซูจี แต่งหน้า ติดดอกไม้ที่มวยผม ช่วยเดินนำหน้าเข้างานเลย
อีกสองปี พม่าก็จะเป็นประธานจัดงานอีกต่างหาก
ทุกประเทศพยายามแก้ปัญหาภายในเพื่อไม่ให้คนอื่นเห็นว่าแต่ละบ้านยังตบตีทะเลาะกันอยู่ พม่ามีแผนจะใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง แก้ปัญหาที่หมักหมม มาประมาณ 50 ปีลงให้ได้มากที่สุด
แต่ความขัดแย้งของรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนชาติ อีกเกือบ 10 กลุ่ม ไม่แน่ว่าจะลงตัวง่ายๆ
เวียดนาม มีปัญหาการเมืองน้อยมาก ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจรอมาเป็น 10 ปี
ส่วนลาวก็แทบจะไม่มีปัญหาทางการเมืองเลย เพราะมีเพียงพรรคเดียว ลาวแต่งตัวรอเพราะเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลเลย การร่วมมือครั้งนี้ ลาวยังมีความสามารถขายพลังงานจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำให้เพื่อนบ้านได้มากที่สุด
กัมพูชาแม้มีปัญหาบ้างแต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ
ประเทศที่เหลือ ปัญหาการเมืองลงตัวเกือบหมดยกเว้นประเทศไทย จากไม่มีปัญหา กลับมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้นใน 5-6 ปีนี้
การเตรียมพร้อมทางการเมืองหมายถึงทุกประเทศต้องยึดหลักการที่จะยึดถือมิตรภาพระหว่างประเทศในภูมิภาคเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรทะเลาะกัน
ความขัดแย้งภายในประเทศก็ต้องพยายามคลี่คลายเพื่อให้มีบรรยากาศที่น่าลงทุนท่องเที่ยว
หลักการปกครองที่ใช้ ก็ต้องเน้น เสรีภาพ ความยุติธรรม และความเสมอภาคของคนในชาติ ไม่ให้ประเทศอื่นดูถูกว่าเรายังปกครองแบบป่าเถื่อนหรือยังกดขี่ประชาชนของตนเอง เป็นประเทศที่หาความยุติธรรมได้ยาก ถ้าเป็นแบบนี้จะไม่มีใครอยากมาค้าขายกับเรา
คำทำนายทางการเมืองในปี 2555
ทีมวิเคราะห์คาดว่า การทะเลาะกันยังไม่จบง่าย ตลอดทั้งปี 2555 การร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำผ่าน ส.ส.ร. จะถูกถ่วงเวลาโดย ปชป. และกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งทั้งกัด ทั้งหยิกทั้งข่วน
แต่ฝ่ายรัฐบาลก็จะเดินหน้าใช้จำนวนมือที่มากกว่ายกมือลุยไปเรื่อยๆ เพราะถือว่า เวลากลุ่มอำนาจเก่าฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ทั้งกำลังอาวุธและเร่งรีบฉีกภายใน 5 นาทีเท่านั้นโดยไม่ฟังเสียงใครทั้งสิ้น
ในช่วงเวลาเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงก็จะเรียกร้องความยุติธรรมหลายเรื่อง ซึ่งรัฐบาลจะให้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่การสะสมกำลังของคนเสื้อแดงจะมากขึ้นเรื่อยๆ เข้มข้นขึ้นพร้อมกับความไม่พอใจ
ไม่น่าเชื่อว่าแม้อำนาจรัฐเปลี่ยนขั้วแล้ว พวกเสื้อแดงยังขยายต่อไปเรื่อยๆ
ผู้วิเคราะห์บอกว่าความอยุติธรรมที่ยังดำรงอยู่และความแค้น จะเป็นปุ๋ยให้คนเสื้อแดงงอกงามและขยายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว
นี่เป็นพายุที่กำลังก่อตัว แต่พวกเขายังใจเย็น ยังไปเล่นสงกรานต์กับทักษิณได้แสดงว่ายังอดทนได้
แต่ความอยุติธรรมที่ยืดเยื้ออาจสร้างสงครามได้...อย่าประมาท
คนเสื้อแดงยังใจเย็นพอที่จะร้องเพลงได้ ก็เลยได้ยินเพลง ...ทรายกับทะเล...
คือ... ผืนทรายที่โอบทะเลไว้...
จะวันใด มั่นคงเหมือนดังที่เป็น
อยู่เคียงข้างเธอ... ใจไม่ไหวเอน
และยังคงชัดเจน อย่างนั้น ...
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย