http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-13

"สงกรานต์" ในมุมมอง "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ - สุจิตต์ วงษ์เทศ"

.



"สงกรานต์" ในมุมมอง "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ - สุจิตต์ วงษ์เทศ"
จาก มติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 19:30:00 น.




ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (เฟซบุ๊กส่วนตัว)


MAKE LOVE NOT WAR WITH ASEAN NEIGHBORS

FOR THE SAKE OF HAPPY NEW SANKRANTA


"สงกรานต์" (SANKRANTA) เป็นคำในภาษาสันสกฤต

แปลว่า "เคลื่อน" หรือ "เปลี่ยน" (ของดวงอาทิตย์ จากปีเก่า สู่ปีใหม่)

สงกรานต์เป็นวันหยุด "รัฐการ" ของรัฐทมิฬนาฎูในอินเดีย และศรีลังกา

สงกรานต์เป็นประเพณีทาง "ฮินดู-พราหมณ์" ของรัฐในเอเชียใต้

เช่น อัสสัม เบ็งกอล เคราลา มณีปุระ โอริสสา ปัญจาบ เนปาล บังคลาเทศ

ตลอดจนรัฐที่นับถือ "พุทธศาสนา"

เช่น พม่า กัมพูชา ลาว และไทยสยาม



สงกรานต์ คือ วาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

เป็น "วัฒนธรรมร่วม" SHARED CULTURES

ของ "เอเชียใต้" ของ "อุษาคเนย์" ในเขตมรสุมเหนือ (ที่มักมีต้นตาลโตนด)

ไม่มีใครเป็น "เจ้าของ" ไม่มีใคร "ผูกขาด"



----------



สุจิตต์ วงษ์เทศ (เฟซบุ๊กส่วนตัว)


สาดน้ำสงกรานต์ "ประเพณีร่วม" ของอาเซียน

รดน้ำ, สาดน้ำ น่าจะเป็นประเพณีในศาสนาผีของชุมชนอุษาคเนย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ แม้ไม่พบหลักฐานโดยตรง แต่ร่องรอยทางประเพณีพิธีกรรมก็เชื่อมโยงได้อย่างนั้น

ในพิธีเลี้ยงผีของชุมชนดั้งเดิมทั้งสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ ใช้น้ำทำความสะอาดเรือนและเครื่องมือทำมาหากินด้วยวิธีรด, ล้าง, สาด แล้วยังใช้อาบให้บรรพชนที่ตายไปแล้ว แต่มีกระดูกหรืออัฐิเหลือไว้บูชาเซ่นไหว้ตามประเพณีอุษาคเนย์ รวมทั้งอาบให้บรรพชนที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ปู่ย่าตายาย ฯลฯ

เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็สาดน้ำขึ้นหลังคาเรือน ตลอดจนต้นไม้ใบหญ้าที่อยู่โดยรอบ เป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างขับไล่สิ่งไม่ดีให้หมดสิ้นไป ยังมีเหลืออยู่ในประเพณีของเผ่าพันธุ์ต่างๆ แล้วเคยมีอยู่ในราชสำนักของบ้านเมืองในหุบเขาทางล้านนาและล้านช้าง

น้ำในพิธีกรรมยังมีสืบเนื่องไม่ขาดสาย


ต่อมาเมื่อสงกรานต์จากอินเดียแพร่ถึงอุษาคเนย์ คนพื้นเมืองก็ผนวกพิธีเลี้ยงผีให้เข้ากับสงกรานต์ แล้วกลายเป็นเล่นสาดน้ำสงกรานต์

สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ดั้งเดิมของบ้านเมืองบริเวณสุวรรณภูมิ เช่น พม่า, ลาว, กัมพูชา, ไทย, รวมถึงสิบสองพันนาในยูนนานของจีน

ทุกแห่งต่างอ้างว่าสงกรานต์เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของตนทั้งนั้น ทั้งๆ แท้จริงแล้วต่างรับสงกรานต์ของศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ล้วนไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิมของตน


สงกรานต์เป็นช่วงฤดูร้อนที่น้ำแล้ง คนจึงชอบเล่นรดน้ำ, สาดน้ำ โดยไม่จำกัดวัย, เพศ, และชาติพันธุ์

ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะที่อยู่บริเวณแผ่นดินใหญ่ ควรพิจารณาร่วมกัน ให้รดน้ำ, สาดน้ำ เป็นประเพณีร่วมของอาเซียน ไม่เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง แล้วจัดงานฉลองร่วมกันทั้งอาเซียน

โดยแต่ละชาติจะสร้างสรรค์รดน้ำ, สาดน้ำ ให้มีลักษณะเฉพาะของตัวเองก็ได้ แล้วดีด้วย จะได้มีความหลากหลายให้คนเลือกเล่น



สงกรานต์ลาว ปีใหม่ลาว

สงกรานต์ในลาว ถือเป็นปีใหม่ลาว

ผู้เชี่ยวชาญพงศาวดาร เคยอธิบายว่าราชสำนักลาวน่าจะรับสงกรานต์จากราชสำนักกัมพูชา เพราะวัฒนธรรมจากกัมพูชาแผ่ถึงสองฝั่งโขงบริเวณเวียงจัน ตั้งแต่ยุค พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีพยานสำคัญคือจารึกเมืองซายฟอง อยู่ทางใต้เวียงจัน

แต่นักค้นคว้าบางคนบอกว่า เจ้าฟ้างุ้ม กษัตริย์ลาว เป็นเครือญาติกษัตริย์กัมพูชา ได้พระพุทธรูปที่เรียกต่อมาว่า "พระบาง" จากกัมพูชา เป็นพยานว่าขนบธรรมเนียมประเพณี ผี-พราหมณ์-พุทธ จากเมืองพระนครหลวง แผ่ขึ้นไปถึงเวียงจัน ซึ่งน่าจะมีประเพณีสงกรานต์รวมอยู่ด้วย

(เจ้าฟ้างุ้ม เป็นเครือญาติร่วมยุคพระเจ้าอู่ทองกรุงศรีอยุธยา และพญาลิไทยกรุงสุโขทัย)


บรรพชนคนไทยสายหนึ่งเป็นลาว ทยอยเคลื่อนย้ายจากสองฝั่งโขง ตั้งแต่หลวงพระบางและเวียงจัน ลงลุ่มน้ำน่าน, ยม เข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วประสมกลมกลืนกับตระกูลมอญ-เขมรที่อยู่มาก่อน จนกลายเป็นคนไทยในกรุงศรีอยุธยาและกรุงสุโขทัย

นักวิชาการประวัติศาสตร์ไทย-ลาวจึงอธิบายว่า สงกรานต์จากราชสำนักสยามกรุงศรีอยุธยา (ที่รับจากพราหมณ์อินเดียมาก่อนแล้ว) ก็แผ่ขึ้นไปถึงเวียงจันตั้งแต่ครั้งนั้น แล้วสืบเนื่องจนทุกวันนี้


สงกรานต์ เป็นคติพราหมณ์ในอินเดีย ไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิมของลาว

ประเพณีดั้งเดิมของลาวก็เหมือนของไทย คือขึ้นฤดูกาลใหม่ (เรียกปีใหม่อย่างสากล) ตอนเดือนอ้าย แปลว่า เดือนที่หนึ่ง (ตามปฏิทินจันทรคติ) ช่วงหลังลอยกระทง เดือนสิบสอง



สงกรานต์เขมร ปีใหม่เขมร

สงกรานต์ในเขมร ถือเป็นปีใหม่เขมร มีก่อนไทย

ศิลาจารึกเขมรสมัยเมืองพระนคร ระบุชัดเจนว่าสงกรานต์มีแล้วในราชสำนัก ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1600

ขณะนั้นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาในไทยอยู่ปลายยุคทวารวดี ยังไม่มีกลุ่มชนเรียกตัวเองว่า "คนไทย" และยังไม่มีรัฐอยุธยา, รัฐสุโขทัย มีแต่พวกสยามพูดตระกูลภาษาไทย-ลาว เป็นประชากรชั้นล่างๆ ของบ้านเมืองสมัยนั้น

ราชสำนักกัมพูชายุคแรกๆ นับถือศาสนาพราหมณ์ มีพราหมณ์ประกอบประเพณีพิธีกรรมที่ได้แบบแผนจากอินเดียโดยตรง เช่น สงกรานต์ หลังจากนั้นก็แพร่หลายไปยังบ้านเมืองโดยรอบ เช่น ลาว, ไทย


ราชสำนักอยุธยา สืบมาจากราชสำนักขอมเมืองละโว้ (ลพบุรี) ที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดราชสำนักเขมรที่นครวัด, นครธม

สมัยแรกๆ ในราชสำนักอยุธยาใช้ภาษาเขมร แล้วมีพิธีกรรมตามแบบราชสำนักเขมร โดยประสมประสานกับพิธีกรรมดั้งเดิมของตระกูลไทย-ลาวบ้าง

ครั้นนานไปเมื่อเปลี่ยนใช้ภาษาไทยสื่อสารในชีวิตประจำวัน ก็ยกย่องภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์เพื่อรักษาจารีตขอมไว้


ประเพณีพิธีกรรมในราชสำนักอยุธยาจึงทำตามราชสำนักกัมพูชาที่นับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน แล้วเอามาปรับใช้บ้างให้เหมาะสม เช่น ถือน้ำพระพัทธ์, อินทราภิเษก, สงกรานต์, ฯลฯ

สงกรานต์ จึงไม่ใช่ปีใหม่ไทยเท่านั้น แต่เป็นปีใหม่เขมร, ปีใหม่ลาว, ปีใหม่พม่า ด้วย เพราะรับแบบแผนจากแขกอินเดียเหมือนๆ กัน



"แม่สี" สงกรานต์ จากกัมพูชา ถึงไทย

ชุมชนดึกดำบรรพ์ในสุวรรณภูมิ มีประเพณีเลี้ยงผีบรรพชนหลังฤดูเก็บเกี่ยวในหน้าแล้งอยู่ก่อนรับสงกรานต์จากอินเดีย

เมื่อสงกรานต์ของราชสำนักแพร่หลายไปสู่ชุมชนชาวบ้าน พวกชาวบ้านก็ผนวกเลี้ยงผีพื้นเมืองเข้ากับสงกรานต์ ผีสำคัญของกัมพูชาลุ่มน้ำโขงและไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ "แม่สี" (ที่คนยุคหลังๆ ไม่เข้าใจ เลยจับบวชบังคับให้เป็นบาลี-สันสกฤต แล้วสะกดว่า "แม่ศรี")


แม่สี มีศัพท์ 2 คำรวมกัน คือ แม่ เป็นคำพื้นเมืองดั้งเดิมของอุษาคเนย์ กับ สี เป็นคำเขมรที่กร่อนจากสรี อ่าน "แม่-สะ-รี" ฉะนั้นบางท้องถิ่นในประเทศไทยใกล้เขมรจะเขียนว่า แม่สี ซึ่งถูกต้องใกล้เคียงรากเหง้าเก่าแก่ที่สุด

แม่ ตรงกับคำเขมรว่า เม หมายถึง หัวหน้า หรือผู้เป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ แม่น้ำ ฯลฯ

สรี เป็นคำเขมรว่า สฺรี อ่าน เซฺร็ย กลายมาจากคำว่า สฺตฺรี หมายถึงผู้หญิง

เมื่อรวมเข้าเป็น แม่สรี หรือ แม่สี ก็หมายถึง หญิงผู้เป็นใหญ่ หรือ ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้า


ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้ามีทั่วไปทั้งโลกยุคเริ่มแรก แต่เฉพาะภูมิภาคอุษาคเนย์มีร่องรอยและหลักฐานชัดเจนเป็นที่รู้ทั่วไป เช่น นิทานกำเนิดบ้านเมืองและรัฐทั้งเขมรและมอญ ฯลฯ

โดยเฉพาะเขมรมีนิทานเรื่องนางนาค แล้วไทยรับนิทานเรื่องนี้มา ยังเหลือเค้าอยู่ในกฎมณเฑียรบาลยุคอยุธยาชื่อพระราชพิธีเบาะพก ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องบรรทมด้วยแม่หยัวพระพี่ ก็คือ "นางนาค" อย่างเดียวกับนิทานของนครธม



คนแต่ก่อนต้องทำพิธีเลี้ยงผีบรรพชนในวันขึ้นฤดูกาลใหม่คือเดือนอ้าย แล้วภายหลังเปลี่ยนไปเลี้ยงผีตอนมหาสงกรานต์เดือนห้า ด้วยการเชิญผีมา ลงทรง หรือ เข้าทรง เพื่อขอคำทำนายทายทักว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารปีต่อไปที่จะมาถึง (ในเดือน 6 แล้วฝนตกในเดือน 8) จะอุดมสมบูรณ์หรือจะล่มแล้งแห้งตาย จะได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ได้ถูกต้อง



.