.
บทความ - ฐากูร บุนปาน : เจรจา-ผิดตรงไหน?
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
การพูดคุยและเจรจา
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 98
หลังเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ครั้งร้ายแรงขึ้นใน 2 จังหวัดภาคใต้ สร้างความสูญเสียต่อประชาชนและทรัพย์สินอย่างร้ายแรง ในฉับพลันมีการระบุว่า ต้นตอความรุนแรงครั้งนี้ เพราะมีการเปิดเจรจากับฝ่ายก่อการร้ายอย่างผิดกลุ่ม เลยทำให้บางกลุ่มลงมือก่อเหตุเพื่อประกาศศักยภาพ
ราวกับว่า การเปิดเจรจากับผู้ก่อการร้ายเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างมหันต์
พร้อมทั้งอาศัยอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งนอกจากตกใจขวัญผวาแล้ว ยังเต็มไปด้วยความโกรธแค้น
มีการอาศัยบรรยากาศเช่นนี้ ผลักดันให้รัฐบาลเลิกนโยบายใช้การเมืองนำการทหาร
ประกาศกร้าวว่า ปิดประตูเจรจาได้แล้ว ไล่ล่าฆ่ามันให้หมด
ประชาชนในพื้นที่ที่รู้สึกคับแค้นใจที่ญาติพี่น้องต้องได้รับผลกระทบ ย่อมต้องรู้สึกพึงพอใจต่อผู้ที่มีท่าทีแข็งกร้าวกับฝ่ายก่อการร้าย
ทั้งที่ความจริงก็คือ ทุกวันนี้ก็ปราบกันอยู่แล้วปราบกันเต็มอัตราศึก งบประมาณด้านปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายใน 3 จังหวัดใต้สูงลิบลิ่ว
แล้วผลก็อย่างเห็นที่เห็นๆ กันอยู่
แม้แต่วันนี้ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามา ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนนโยบาย ไม่มีการลดหรือถอนหน่วยกำลังของรัฐออกไปจากพื้นที่แต่อย่างใด
เพียงแต่รัฐบาลนี้เริ่มจะใช้วิธีรุกทางการเมืองเพิ่มขึ้น แต่นโยบายหลักเดิมๆ ก็ยังไม่เปลี่ยน
คาร์บอมบ์รุนแรงครั้งนี้ ก็เกิดขึ้นขณะที่หน่วยกำลังของรัฐยังเต็มพื้นที่ดังเดิม!
การหยิบเฉพาะประเด็นที่ว่ามีการไปพูดคุยเจรจา เลยเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง น่าจะไม่ใช่บทสรุปที่ครบถ้วน
รวมทั้งไม่ควรนำมาเป็นเหตุนำไปสู่การล้มแนวทางยุติปัญหาด้วยสันติวิธี
เพราะสันติวิธีคือหนทางที่ทั่วโลกสรุปแล้วว่า แก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างถูกต้องและยั่งยืนที่สุด
ขณะเดียวกัน บรรดานักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาแสดงความเห็นกันมากมาย เรียกร้องให้รัฐบาลยึดแนวทางการใช้การเมืองแก้การเมืองต่อไป
แน่นอน ในระยะเฉพาะหน้ายังต้องประสานกับวิธีการใช้กฎหมายเข้มงวด ต่อกลุ่มก่อเหตุที่กระทำผิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชนและของราชการ
แต่สุดท้ายหนทางที่ถึงแก่นที่สุด คือการพูดคุยเพื่อให้ฝ่ายที่คิดต่างหยุดการใช้ความรุนแรง
สร้างสังคมที่เป็นธรรมในพื้นที่ขึ้นมาเพื่อให้อยู่ร่วมกันให้ได้ นั่นจะเป็นการแก้ความรุนแรงได้อย่างถึงที่สุดมากกว่าวิธีการปราบปราม
ความพยายามในแนวทางการเมืองนำการทหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ต่างไปจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ นอกจากจะมีการเตรียมร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร เพื่อให้มีเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษขึ้นมาใช้ใน 3 จังหวัดใต้แล้ว
สิ่งที่ชัดเจนอีกประการคือ การมอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เข้ามามีบทบาทในด้านนโยบายและความมั่นคงมากขึ้น
ขณะที่ สมช. เองก็ได้เสนอนโยบายออกมาอย่างน่าสนใจ คือ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557
นโยบายนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือเสนอให้รัฐสภาเพื่อทราบ
หัวใจสำคัญของนโยบายนี้คือ
"มุ่งให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ"
จะเห็นได้ว่านโยบายของ สมช. ภายใต้รัฐบาลชุดนี้คือ มุ่งเน้นการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ
ส่วนในประเด็นที่ระบุว่าจะต้องทำให้ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงนั้น
ในเอกสารได้ระบุถึงเงื่อนไขความรุนแรงคือ
1. เงื่อนไขระดับบุคคล ได้แก่ การใช้อำนาจปกครองของเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ให้ความสำคัญน้อยไปกับความละเอียดอ่อนของอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ ขณะเดียวกัน มีการใช้ความรุนแรงของกลุ่มคนที่มีความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ต่างจากรัฐ
นอกจากนี้ ก็มีความรุนแรงจากกลุ่มอิทธิพล ผลประโยชน์ ธุรกิจมืด ด้วย
2. เงื่อนไขระดับโครงสร้างการปกครองและการบริหารราชการ โดยการสนองตอบกับลักษณะเฉพาะทางอัตลักษณ์ความต้องการและความคาดหวังของประชาชนยังดำเนินได้ไม่ทั่วถึง
นำมาซึ่งความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติและขาดอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง
3. เงื่อนไขระดับวัฒนธรรม ประชาชนมุสลิมมลายูในพื้นที่รู้สึกแปลกแยกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย อัตลักษณ์ของตนถูกกดทับจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ไม่เข้าใจ หวาดระแวง มีอคติ จึงเป็นเงื่อนไขให้คนในพื้นที่บางส่วนยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง
อ่านแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นการมองเงื่อนไขของความรุนแรงในสายตาของฝ่ายรัฐบาลเอง ที่มองได้อย่างถึงแก่นทีเดียว!
ในนโยบายของ สมช. ได้มีข้อเสนอแก้ปัญหาที่น่าสนใจก็คือ
การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขของการนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
ให้ดำรงนโยบายการเมืองนำการทหารและการใช้พลังทางสังคมในการมุ่งปรับเปลี่ยนทัศนคติวิธีคิดของทุกฝ่าย จากการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา มาสู่การยึดมั่นแนวทางสันติวิธี
โดยไม่มองกลุ่มผู้เห็นต่างเป็นศัตรู และมุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงมาเลือกใช้การต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ แทนที่การมุ่งปรับความคิด ความเชื่อ ในเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว
เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
โดยให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ภาควิชาการและภาคประชาสังคม ทั้งในและนอกพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมในระดับที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและการปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐต้องมีความจริงใจ รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และนำมาดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง
แต่นโยบายของ สมช. ฉบับนี้ มิได้ละเลย การเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ใจการสกัดกั้นและทำลายการก่อเหตุรุนแรง ทั้งในด้านเงินทุนหมุนเวียน การลักลอบนำอาวุธและวัสดุประกอบระเบิด
การสร้างความปลอดภัย ป้องกันสถานที่ต่างๆ การปราบปรามกลุ่มอิทธิพลอำนาจเถื่อน
แต่สิ่งที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดของรัฐบาลชุดนี้ โดยมองผ่านนโยบายของ สมช. นั่นก็คือ การยอมรับความแตกต่าง ความคิดต่าง แล้วเปิดพื้นที่เพื่อให้อุดมการณ์ที่ต่างกัน สามารถมาร่วมต่อสู้กันได้บนเวทีสันติ
ไปจนถึงการปรับโครงสร้างการปกครองและการบริหารในท้องถิ่น
แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ไปไกลถึงขั้นจะเปิดเจรจากับฝ่ายก่อการร้าย
สมช. ยืนยันว่าขณะนี้มีแต่การพูดคุย การเปิดกว้าง เพื่อนำมาสู่การเข้าใจกัน และค่อยๆ ลดเงื่อนไขความรุนแรงลงไป
ยังไม่มีการเจรจา
แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพที่น่าสนใจยิ่ง
เพราะการยุติปัญหาต้องไม่ใช่การบังคับ แต่ต้องมาจากการยอมรับและการเข้าใจกัน!
++
ไฟเย็น 2555
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 98
คนที่อายุอานาม 50-60 ปีขึ้นไป นั่งดูการถ่ายทอดสดการประชุมสภาในช่วงระยะนี้ ทั้งวาระเรื่องรับฟังรายงานของกรรมาธิการปรองดอง ไปจนถึงวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อาจจะรู้สึกงงๆ คล้ายเข้าไปสู่วังวนของกาลเวลา
จู่ๆ ก็เหมือนกับย้อนยุคเข้าไปสู่ช่วงปี 2500-2510 อะไรประมาณนั้น
คนรุ่นอายุ 50-60 ปี สมัยนั้นก็เป็นเด็กวัยที่เริ่มจำความได้ บ้างก็อาจโตสัก 10 กว่าขวบ
ยุคนั้นเป็นช่วงที่คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเริ่มเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยอาวุธ จัดตั้งกองกำลังในเขตชนบท เริ่มขยายงานมวลชน สร้างแนวร่วมในพื้นที่ต่างๆ
โดยในปี 2508 เป็นปีที่เริ่มเสียงปืนแตก
ขณะนั้นรัฐบาลไทยยังไม่มีบทเรียนการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง อีกทั้งเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลเหนือรัฐบาลไทยอย่างเปิดเผย ยึดเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการต่อต้านอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์จากจีนและโซเวียต ที่เริ่มแผ่กว้างในเวียดนาม กัมพูชา ลาว
หน่วยงานของอเมริกาเข้ามามีบทบาทในไทยสูง
มีการโหมกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์หลากหลายรูปแบบ
แล้วที่คนในยุคนั้นจำได้ติดตา เพราะโหมโฆษณามาก คือหนังสารคดีชุดไฟเย็น!
หนังโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่จัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทุกรอบทุกวัน
สมัยนั้นหนังกลางแปลงยังเป็นที่นิยมอยู่ ก็ต้องมีสารคดีไฟเย็นฉายก่อนหนังจริง
ตามโรงเรียนต่างๆ ก็ยังจัดไปฉายให้เด็กดู
เพื่อซึมซับความรู้สึกหวาดกลัวคอมมิวนิสต์
สร้างภาพคอมมิวนิสต์ไปปีศาจซาตานน่าเกลียดน่ากลัว
ไม่เท่านั้น ไฟเย็น ยังจัดพิมพ์เป็นเอกสาร เป็นหนังสือเล่ม แจกจ่ายไปทั่วประเทศอย่างไม่อั้น
อารมณ์ความรู้สึกเหมือนได้ดูสารคดีไฟเย็นอีกครั้ง ได้หวนกลับมาในยุคปี พ.ศ.นี้
ผ่านการอภิปรายของสมาชิกพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และ ส.ว. กลุ่มหนึ่ง!
ความจริงไฟเย็น ถือเป็นสารคดีที่เชยและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเงียบหายไปนาน นับตั้งแต่หลังปี 2516 ซึ่งบ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่ยุคประชาธิปไตย อันเนื่องจากการต่อสู้ของวีรชน 14 ตุลาคม 2516
ประเทศไทยเปิดกว้างทางปัญญามากขึ้น เมื่อพ้นยุคอำนาจกองทัพกุมการเมือง
คนไทยได้รู้จักคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง ว่ามิใช่ปีศาจร้ายอะไร คอมมิวนิสต์มีข้อเสียแบบไหน มีลักษณะเผด็จการสูงเช่นไร เป็นเรื่องที่ได้เรียนรู้กันจริงๆ รู้จักด้านลบของคอมมิวนิสต์แบบเนื้อหาสาระที่เป็นจริง
ไม่ใช่ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อมั่วๆ
ขณะเดียวกัน เป็นช่วงที่อิทธิพลของสหรัฐ เริ่มถดถอยออกไปจากประเทศไทย หลังพ่ายแพ้สงครามใน 3 ประเทศอินโดจีน
ไม่เท่านั้น รัฐบาลไทยเองต้องเดินเกมใหม่ เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
การโฆษณาชวนเชื่อว่าคอมมิวนิสต์เป็นพวกจีนแดง เป็นพวกญวนจะยึดครองประเทศไทย พลันหายไปจากสังคมไทยหมดสิ้น
สารคดีไฟเย็นได้ตายสนิทไปตั้งแต่ช่วงนั้น
แต่แล้วก็มาปัดฝุ่นนำออกฉายใหม่กันกลางสภา ใน พ.ศ.2555 โดยนักการเมืองที่นับวันจะสร้างพรรคของตนเอง ให้กลายเป็นพรรคล้าหลังขวาจัด อนุรักษนิยมทางการเมือง หัวโบราณคร่ำครึ
เจตนาของการอภิปรายในสภา ทั้งวาระปรองดองและการแก้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องการต่อต้านพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลน้องสาวทักษิณ
มุ่งโจมตีว่าทั้งหมดทำเพื่อทักษิณ ปูทางให้ทักษิณพ้นโทษ กลับไทยอย่างลอยนวล
อันที่จริง เป็นประเด็นที่ควรอภิปรายให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจได้
เป็นข้อสังเกตที่ดี เพราะประชาชนส่วนใหญ่ ต้องการปรองดอง แต่ก็ไม่ต้องการให้วนกลับไปสู่จุดเดิม ซึ่งแน่นอนย่อมไม่มีใครอยากให้ทักษิณกลับมามีอำนาจอีก ไม่เช่นนั้น จะเหลิงและใช้อำนาจมากอีก
แต่แทนที่จะว่ากันในเนื้อหาสาระประเด็นนี้
กลับเลยเถิด กลับล้นเลอะ ไปเป็นการปลุกผีคอมมิวนิสต์ ปลุกกระแสล้มเจ้า
เป็นวิธีการที่คนไทยเบื่อหน่ายเต็มที
เบื่อมาตั้งแต่ยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์หลังปี 2500 ใหม่ๆ และในยุคสร้างกระแสฆ่าหมู่กลางธรรมศาสตร์เมื่อปี 2519 แล้ว
เล่นมุขย้อนยุคขนาดนี้ แสดงว่าหมดมุขที่จะต่อสู้ในสภากับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแล้ว
ในกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อ ผ่านสารคดีไฟเย็นนั้น จะวาดภาพคอมมิวนิสต์ให้คนไทยสมัยโน้นรู้สึกหวาดกลัวขยะแขยงสยดสยองคอมมิวนิสต์
เช่น บังคับประชาชนไปไถนา โดยเอาคนไปแทนควายไถนา ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย จะเอากำลังคนไปแทนกำลังควายได้อย่างไร
นอกจากนี้ก็ยังมี ถูกจับไปเข้าค่าย ไปสัมมนาล้างสมอง
ไม่น่าเชื่อว่า เราจะได้ยินคำโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้กลางสภาในปี 2555 อีกครั้ง!!
ยังขาดก็แต่ จะมีการจับคนขึ้นรถตู้เพื่อไปดูดเลือด โดยเอาเลือดไปให้กับ ผกค. ที่บาดเจ็บหนักจากการปะทะกับทหาร ซึ่งช่วงนั้นบรรดาแพทย์พากันส่ายหน้า ว่ารถตู้ของ ผกค. ที่จับคนไปดูดเอาเลือดนั้น มีห้องแล็บ ที่ตู้เก็บอุณหภูมิเก็บเลือดที่ดูดออกมาอย่างนั้นเลยหรือ
การโฆษณาชวนเชื่อยังมี เรื่องการบ่อนทำลายผู้ชายไทย ด้วยการส่งหน่วยจารกรรมแซปเปอร์ของเวียดนาม เข้ามาเผยแพร่อาหารที่มีสารทำให้จู๋หด
โดยในประเด็นจู๋หดนี้นับว่าได้ผลมาก บรรดาชายไทยในยุคนั้นหวาดผวา หวาดระแวง จนจู๋หดกันจริงๆ กันตามๆ กัน
นอกจากนี้ ยังวาดภาพคอมมิวนิสต์ ว่าจริงๆ แล้วเป็นพวก จีน พวก ญวน ที่มุ่งกลืนกินประเทศเรา
โดยจะมีโปสเตอร์ รูปแผนที่ประเทศไทย ซึ่งบริเวณส่วนภาคอีสานจะมีปากของคอมมิวนิสต์ใส่หมวกดาวแดง อ้ากว้างเพื่อจะกินประเทศไทยของเรา
เอาเป็นว่าการอภิปรายในสภาคราวต่อไป จะเรื่องปรองดองหรือการแก้รัฐธรรมนูญ
น่าจะเพิ่มเติมเรื่อง ทักษิณจับคนไทยไปดูดเลือด หรือทักษิณจะทำให้คนไทยจู๋หด หรือมีโปสเตอร์ทักษิณอ้าปากงาบประเทศไทย อะไรแบบนี้ด้วย
ความจริงทักษิณมีจุดอ่อนมากมาย และคนไทยจำนวนมากไม่ได้ปรารถนาจะให้ทักษิณกลับมาเป็นใหญ่
คนจำนวนไม่น้อยเลือกพรรคเพื่อไทย โดยความมุ่งหวังและชื่นชมในตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่ทักษิณ
ควรเปิดโปงต่อต้านทักษิณด้วยสาระ พูดให้ตรงจุด
ไม่ใช่ใช้ท่วงทำนองอย่างสารคดีไฟเย็น ซึ่งกลับจะทำให้คนเห็นใจทักษิณเสียมากกว่า
ถ้าหน้ามืดตามัว ใช้ข้อหาเปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้มสถาบัน
เป็นสูตรสำเร็จที่สะท้อนความล้มเหลวหมดแล้วซึ่งสาระของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
สะท้อนความล้าหลังตกยุคของพรรรคการเมืองพรรคนั้นมากกว่า!
+++
ฐากูร บุนปาน : เจรจา-ผิดตรงไหน?
คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:30:00 น.
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะปรากฏเป็นข่าวรับรู้ของคนในส่วนอื่นๆ ด้วยเหตุและปัจจัยหลัก 2 ประการ
ประการหนึ่งคือ เมื่อเกิดเหตุก่อความไม่สงบร้ายแรง เช่น การลอบวางระเบิดหรือการสังหารหมู่
ประการหนึ่งคือ เมื่อถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหากันทางการเมือง
เหมือนกรณีล่าสุด ที่ผสมทั้งสองเรื่องเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน
หลังคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ในยะลาและหาดใหญ่ พรรคฝ่ายค้านนำเสนอข้อมูลออกมาเป็นชุดๆ ว่า
1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียไปเจรจากับประธานกลุ่มพูโล
แต่ล้มเหลว
2.นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส สมาชิกพรรคมาตุภูมิ ไปถ่ายภาพร่วมกับนายมะแซ อุเซ็ง หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
และ
3.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เดินทางเข้าไปเจรจากับหัวหน้ากลุ่มบีอาร์เอ็นในประเทศมาเลเซีย
ซึ่งเป็นการเจรจาผิดฝาผิดตัว
แล้วฝ่ายที่เสนอข้อมูลข้างต้นทั้ง 3 เรื่อง ก็สรุปเปรี้ยงได้ทันที ว่านี่คือการจัดการปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้อย่างไม่ถูกจุด
และทำให้ปัญหาความไม่สงบรุนแรงยิ่งขึ้น
จริงหรือ?
เริ่มต้นจากในแง่ข้อเท็จจริงก่อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณไปเจรจากับพูโลในมาเลเซียจริงหรือไม่
พอถูกคนใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรีตอบโต้อย่างเต็มปากเต็มคำ
ผู้กล่าวหาก็เริ่มอ่อนเสียงลงมา
กรณีนายนัจมุดดีน เจ้าตัวบอกว่า ภาพที่ถ่ายร่วมกับนายมะแซนั้นเป็นภาพถ่ายเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ที่ป่าตอง จ.ภูเก็ต สมัยที่นายมะแซเป็น อบต.
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวียืนยันว่า ทั้งตนเองหรือ ศอ.บต.ไม่เคยพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือแกนนำบีอาร์เอ็น
ภาพถ่ายที่ปรากฏออกมา คือภาพการเดินทางไปพบกับประธานชมรมต้มยำกุ้งซึ่งเป็นคนใน 3 จังหวัดที่ไปประกอบอาชีพเปิดร้านอาหารในมาเลเซีย เพื่อช่วยเหลือให้ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย
ไฟการเมืองที่ถูกจุดขึ้นมาทับซ้อนไฟใต้ก็ราลงไปด้วยข้อเท็จจริงดังนี้
แต่ถ้ายกเรื่องข้อเท็จจริงออกไป ว่าด้วยเรื่องแนวคิดหรือปรัชญาการแก้ปัญหาล้วนๆ
ถามว่า ถ้าไปเจรจาจริงแล้วผิดตรงไหน มีปัญหาอะไร
จะยิ่งทำให้สถานการณ์ร้ายแรงขึ้นจริงอย่างที่กล่าวหา หรือว่าจะเริ่มเห็นทางแก้ไขปัญหาได้หลากหลายขึ้น?
ถ้าไม่อยากให้เจรจา แปลว่าอยากให้รบกันไปเรื่อยๆ ให้ชาวบ้านผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ล้มตายเสียหายมากกว่านี้?
ถ้าไม่เจรจา ท่านผู้คัดค้านการเจรจาเสนอทางเลือกอะไรที่ดีกว่า?
หรือจะให้เข้าใจว่าคนที่ค้านการเจรจาได้ประโยชน์จากความไม่สงบในภาคใต้
ถึงไม่อยากให้เรื่องยุติ?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย