http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-13

'พท.'เปลี่ยน ต่อ' ปชป.' กับร่างฯ รธน./ ลึกแต่ไม่ลับ13 เม.ย.55

.
บทวิจารณ์ - พท.-ปชป. สาดโคลนสงกรานต์ "แดง" เคลื่อน "คนพเนจร" กลับบ้าน "ฟ้า" ปลุกม็อบต้านนอกสภา
คอลัมน์ โล่เงิน -"คุยหรือเจรจา" สันติภาพ? "วิเชียร" แจงปมร้อนไฟใต้ ชี้หลากปัจจัย "คาร์บอมบ์"

______________________________________________________________________________________________________

ท่าที เพื่อไทย เปลี่ยน ต่อ ประชาธิปัตย์และพันธมิตร กับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 7


หากถึงขนาดตั้งใจเอาเรื่อง "กด" โทรศัพท์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นประเด็นในการขยายและโจมตีทางการเมือง
ก็ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรเริ่มหมด "มุข"
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง หากถือบรรทัดฐานการชี้แจงข้อเท็จจริงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านทางเฟซบุ๊ก นายพานทองแท้ ชินวัตร ว่า
"กำลังปิดโทรศัพท์ก่อนเริ่มงานพิธี"
ก็ต้องสรุปตามสำนวนของ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ โฆษกส่วนตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า
"ไร้สาระ"

ความจริง ประเด็น "ไร้สาระ" อย่างนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว
ไม่ว่าจะเรื่อง "หญ้าแฝก" ไม่ว่าจะเรื่อง "ประธานาธิบดีมาเลเซีย"
ไม่ว่าจะเรื่องการหยิบยกเอารหัส ว.5 เข้ามาประสานเข้ากับเงื่อนงำของการไปยังชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์

ความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่คือ-จุดไม่ติด


ความเป็นจริงแล้ว พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรดำเนินกลยุทธ์ 2 แนวทางอย่างสอดประสานกันโดยแนบแน่น
กลยุทธ์ 1 โจมตีทางการเมือง
กลยุทธ์ 1 พยายามหยิบจับและนำเอาทั้งเรื่องส่วนตัวประสานเข้ากับข่าวลือสารพัดข่าวแล้วขยายเป็นเรื่องการเมือง

ทุกนโยบายที่เสนอโดยรัฐบาลต้อง "ขวาง"
ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน การปรับอัตราเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท การพยายามขับเคลื่อนในเรื่องการเยียวยา ปรองดอง เพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้บังเกิดขึ้น
แม้กระทั่งการซื้อแท็บเล็ตเพื่อนำร่องกระบวนการใหม่ทางการศึกษาให้กับเด็ก ป.1

ขณะเดียวกัน อีกทางหนึ่งก็เพียรพยายามอย่างเต็มกำลังในการจุดประเด็น ไม่ว่าจะในเรื่องของแพง แพงทั้งแผ่นดิน การขยายเรื่อง ว.5 ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กระทั่งกลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ยักลงต่ำ
ล่าสุด คือการจับแพะชนแกะเป็น "เบี้ย" นอกกระดานในการสร้างเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โอบกอดกับแกนนำขบวนการพูโล

ทุกอย่างล้วนแป้ก จุดไม่ติด



เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยอาจขานรับและกระโจนเข้าตอบโต้ทุกเรื่องราวที่พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรเสกปั้นเนรมิตขึ้น
นี่ย่อมตรงกันข้ามกับท่าที น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นิ่งเฉย

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการพิจารณาจะรับหรือไม่รับรายงานการสร้างความปรองดองแห่งชาติของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร อย่างเข้มข้น
ท่าทีของพรรคเพื่อไทยเริ่มแปรเปลี่ยน

น่าสนใจก็คือ เป็นการแปรเปลี่ยนมาดำเนินในแนวทางเดียวกันกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยึดกุมมาอย่างแน่วแน่ เห็นได้จากการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสอง พรรคเพื่อไทยปล่อยให้นักพูดจากพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรอันเป็น ส.ว. อภิปรายกันน้ำท่วมทุ่ง

ไม่มีการตอบโต้ ลงมติรับอย่างเดียว



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 7


บรรยากาศ-สีสัน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันปีใหม่แบบไทยๆ ในประเทศกัมพูชา-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คึกคักไม่แพ้เชียงใหม่-เชียงราย-ขอนแก่น-นครราชสีมา จังหวัดที่นิยมสาดน้ำ พลันที่มีข่าวว่า "นายใหญ่-พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ออกจากถิ่นที่พัก ในเมืองดูไบ เดินทางมาไหว้พระที่กรุงเวียงจันทน์ และมีโปรแกรมลัดเลาะเข้ากรุงพนมเปญ สนทนาวิสาสะ ตีกอล์ฟกับเกลอเก่า "สมเด็จฮุน เซน"

เพราะมีข่าวเกาะติดทั่วทุกสื่อว่า ใน 2 คาบช่วง คือ วันที่ 11-12 เมษายน และ 14-15 เมษายน กองทัพคน "เสื้อแดง-แกนนำ นปช." จัดคาราวานใหญ่ ระดับ "จัดเต็ม" เพื่อคารวะ และถือโอกาสรดน้ำดำหัว "นายใหญ่" ที่เคารพรักกันในช่วงสงกรานต์

เป้าหมายวางไว้ไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นคน เข้าทางด่านหนองคายส่วนหนึ่ง ทางกาบเชิง สุรินทร์อีกส่วนหนึ่ง

"ทัพหน้า" นำโดย "ธิดา ถาวรเศรษฐ" ประธาน นปช. นำคณะไปล่วงหน้า ทั้ง "นิสิต สินธุไพร-ขวัญชัย ไพรพนา-ปัณณวัฒน์ นาคมูล" เป็นอาทิ นอกจากนั้นแล้ว ยังหอบหิ้ว ของฝาก ของขวัญไปให้ "นายใหญ่" กันหลากหลาย พร้อมกับทำหน้ากาก "ทักษิณ" แจกจ่ายหลายคันรถบรรทุก

หลังเสร็จสิ้นคิวประชุมรัฐสภา ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในวาระ 2 เรียบร้อย "ทัพใหญ่" ที่เป็น ส.ส. ทั้งบัญชีรายชื่อเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีภารกิจอยู่ จะเดินทางไปสมทบ ทั้ง "ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์-เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-หมอเหวง โตจิราการ" และแกนนำพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เป็นรัฐมนตรี-ส.ส. ตลอดถึงประชากรบ้านเลขที่ 111 ซึ่งใกล้ๆ จะพ้นโทษแบนในไม่กี่วันข้างหน้า ไปผสมโรงอีกชุด

มีข่าวว่า ก่อนบินเข้าเยือนกัมพูชา ลาว เพื่อร่วมประเพณีเทศกาลสงกรานต์กับ "คนเสื้อแดง" ทาง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" แอบตีกรรเชียงไปทานอาหารอร่อย ช็อป ที่เกาะฮ่องกงล่วงหน้ามา 3-4 วันแล้ว แต่ "ปิดลับ" มีแต่คนใกล้ชิดตัวจริงสี่ซ้าห้าคนเท่านั้น ที่ได้รับไฟเขียวให้บินไปสมทบ
เท่ากับว่า แม้ "ทักษิณ" ยังไม่สามารถกลับประเทศไทย บ้านเกิดเมืองนอนได้ แต่โดยพฤตินัยแล้ว หลังศูนย์อำนาจเปลี่ยนถ่าย จากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ "นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" มาเป็นพรรคเพื่อไทย เป็น "นายกฯ ปู ยิ่งลักษณ์" ผู้เป็นน้องสาวแล้ว

การเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก เปิดกว้าง อิสระเสรีมากขึ้นกว่าร้อยเท่า ช่วงรัฐบาล "มาร์ค" กระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือระบุรายละเอียดหมายจับไปยังประเทศสมาชิก 187 ทั่วโลก "ล้อมกรอบ" ไว้ มีหลายประเทศที่คุ้นเคยมาเมื่อครั้งเรืองอำนาจ ไม่กล้าแหยมเข้าไป
แต่พลันการเมืองเปลี่ยนขั้ว ทาง "พ.ต.ท.ทักษิณ" บินเข้าบินออกได้ทั่วทั้งยุโรป แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ มีเพียงอังกฤษ-สหรัฐเท่านั้น ที่ยังไม่กล้าสุ่มเสี่ยง
ยิ่งในภูมิภาคอาเซียน ทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย เดินทางไปเหยียบมาหมดแล้ว

บรูไน ไม่ต้องพูดถึง ช่วงที่ตกยาก เข้าๆ ออกๆ ได้ทุกภารกิจ "มาเลเซีย" บ้านใกล้เรือนเคียง ถือเป็นมหามิตรอีกรายหนึ่ง เพราะนำเครื่องบินส่วนตัว มาเติมน้ำมันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์บ่อยที่สุด
เหลือแต่ "ประเทศไทย" บ้านเกิด ยังเป็นเขตต้องห้าม



ใครพลัดพราก จากแผ่นดินเกิด ย่อมเป็นธรรมชาติ ต้องคิดถึงบ้าน

"พ.ต.ท.ทักษิณ" ท่องโลกกว้างทางไกล ทะลุเกือบจะทุกมิติ แต่ไม่มีที่ไหนอยากเหยียบเท่ากับบ้านเกิด คือเมืองไทย
ไปไหนมาไหน ตราบใดที่ไม่ได้กลับเมืองไทยก็มิต่างอะไรกับ เยี่ยวไม่เสร็จ สะเด็ดไม่ได้

กอปรกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน พรรคแกนนำ ก็ปั้นมากับมือ จึงไม่น่าจะมีอุปสรรค เพราะฐานมวลชน ไม่ว่าจะรูปของพรรคเพื่อไทย หรือคนเสื้อแดง คือเกราะกำบัง
"แผนปรองดองแห่งชาติ" ที่ ครม. "ยิ่งลักษณ์" รับทราบ ตลอดถึงคิวแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภากำลังถกเถียงกันอยู่ในวาระที่ 2 เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ที่จะมาเป็นผู้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ทั้งฉบับ
ถูกฝ่ายตรงข้ามหยิบยกมาเป็นเงื่อนไข ตีขลุมให้แลเห็นว่า แผนปรองดองก็ดี และแก้รัฐธรรมนูญก็ดี มีกิจแอบแฝงซ่อนอยู่ แท้จริงแล้ว คือเกม "พานายกลับบ้าน"

รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ช่วง 2-3 เดือนหลังนี้ เพดานบินสูงขึ้น ฝ่ายค้าน หรือ "ประชาธิปัตย์" ทำท่าจะถูกกลืนหาย ไม่มีมุขอะไรเล่น
อาศัยประสบการณ์และชั้นเชิง ปลุกกระแส "ปรองดอง-แก้รัฐธรรมนูญ" เป็นอาวุธ ถล่ม "ทักษิณ" แคนนอนถึง "ยิ่งลักษณ์"
รัฐบาล "น้องปู" จึงเสมือนกับจะถีบๆ ถอยๆ เดินไม่เต็มสูบทั้ง "ปรองดองแห่งชาติ-แก้ รธน."
อยากจะกระชากกระแสไปด้วย "การบริหาร" ลดโทนการเมืองไว้สักระยะ ซึ่งคาดหมายว่า หากยื้อไปได้ถึงสิ้นปี 2555
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สะดุดเหลี่ยมการเมืองหกล้มไปก่อน ถึงตอนนั้น ฝ่ายตรงข้ามก็หมดน้ำยาไปแล้ว

"พี่ใหญ่" อยากจะกลับเมืองไทย ใครมาปลุกปั่นสถานการณ์ก็ย่อมจุดไม่ติด
แต่หากเหยียบคันเร่ง "พานายกลับบ้าน" ในตอนนี้ ไม่ว่าจะซ่อนรูปด้วยแผนปรองดอง หรือแก้รัฐธรรมนูญ
สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ "ฝ่ายตรงข้าม" ทั้งประชาธิปัตย์-เสื้อเหลือง-เสื้อหลากสี กระชากกระแสได้อยู่



+++

พท.-ปชป. สาดโคลนสงกรานต์ "แดง" เคลื่อน "คนพเนจร" กลับบ้าน "ฟ้า" ปลุกม็อบต้านนอกสภา
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 10


ในขณะพร่ำเพ้อคำว่า "ปรองดอง"
ในขณะที่ปากบอกว่า "ทำเพื่อประเทศชาติ และประชาชน"
ในขณะที่คนไทยต้องการฉลองสงกรานต์อย่างมี "ความสุข"
นักการเมืองจาก 2 ขั้วอำนาจ กลับสาดกระสุนความคิด-พ่นน้ำลายใส่กันไม่ยั้งกลางรัฐสภา ทางหน้าสื่อ โดยสาละวนอยู่กับ 2 ปมปัญหา

หนึ่งคือ การสร้างความปรองดอง หลังสภาผู้แทนราษฎรรับทราบข้อสังเกตรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 เมษายน
และมีมติเห็นด้วยในการส่งข้อสังเกต กมธ. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) 307 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 3 เสียง

อีกหนึ่งคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่งเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ในวาระ 2 วันที่ 10-11 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนนัดลงมติวาระ 3 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม

ด้วยเพราะเข็มมุ่งของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.) ชัดเจนว่าต้องการล้มมรดกคณะปฏิวัติ-ล้างกลไกที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 ทุกกระบวนการ จึงเลือก "2 ข้อเสนอระยะสั้น" ของสถาบันพระปกเกล้ามาสนับสนุนอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นคือ การยกเลิกผลพวงทางกฎหมายของคดีที่ตั้งเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ออกอาการ "ขวาง" อย่างไม่ปิดบัง ประกาศตัวเป็น "องครักษ์พิทักษ์กฎอำมาตย์" แบบโต้งๆ
แม้เรื่องปรองดอง กับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะเป็น 2 กรรม 2 วาระ ทว่า เป็นคนละปัญหาเดียวกัน
เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับชายชื่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเหตุให้พรรคแดง-พรรคฟ้า มิอาจ "สงวนจุดต่าง" ได้



หัวหอก ปชป. นาม "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 91 ศพ กล่าวท้าท้าย "คนหนีโทษจำคุก 2 ปี" จากคดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ผ่านลูกน้องว่า "ผมต่อให้ 2 ต่อ 1 ผมกับคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ) 2 คนไม่รับการนิรโทษกรรม แลกกับคุณทักษิณไม่นิรโทษกรรมคนเดียว ที่เหลือนิรโทษให้หมด อย่างนี้ประชาชนไม่ต้องเดือดร้อน และคุณทักษิณกลับมาสู้คดีเลย"
นี่คือ "สูตรปรองดอง" ที่ดีที่สุดในสายตาผู้นำฝ่ายค้าน
แม้เป็นการพูดเอามันส์ และเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้

ทว่า ในมุมมอง "พรรคเสียงข้างมาก" มองเห็นความเป็นไปได้เฉพาะส่วนในสูตรปรองดองนั้น
เกือบทันทีทันใด "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี โยนรายงาน กมธ.ปรองดอง ให้คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มี "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน รับลูกต่อ ทั้งที่ไม่ใช้ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง หากเบนให้คณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) รับเรื่องไปดำเนินการต่อ น่าจะตรงจุดมากกว่า

ส่วนบรรดาลิ่วล้อ-โทรโข่ง พท. ต่างออกมาประสานเสียงกดดัน "รัฐบาลพวกเดียวกัน" ให้เร่งออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมกำหนดกรอบเวลาให้เสร็จสรรพ
จากนั้นในการประชุม ครม. วันที่ 10 เมษายน "รายงานร้อน" ก็ถูกส่งเข้าทำเนียบ-เสิร์ฟขึ้นโต๊ะ ครม. แล้วรับทราบกันแบบเงียบๆ ทั้งที่สถาบันพระปกเกล้าทั้งแข็งขืน ทั้งขู่ถอนรายงานเพื่อสกัดกระบวนการ "ปรองดองแบบเร่งรีบ" โดยยื่นเงื่อนไขให้ผู้มีอำนาจเปิดเวทีสานเสวนาเพื่อรับฟังความเห็นต่อเรื่องการสร้างความปรองดองจากทุกภาคส่วนก่อน
นี่จึงเป็นสัญญาณที่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่ารัฐบาลเอาจริงเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม!

เช่นเดียวกับการ "รื้อรัฐธรรมนูญ" ที่รัฐบาลลงทุนยืดสมัยประชุมสภา ประธานรัฐสภายอมมาทำงานวันหยุดนักขัตฤกษ์ 6 เมษายน เพื่อเซ็นบรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาอย่างลุกลี้ลุกลน
โดยมีเป้าหมายปิดเกมแก้มาตรา 291 ภายในเดือนเมษายน

ก่อนเร่งคลอดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) "สูตร 90 (15+20+40+15)" ต่อ โดย 15 วันแรกประกาศวันเลือกตั้ง ส.ส.ร. อีก 20 วัน รับสมัคร ส.ส.ร. อีก 40 วัน เลือกตั้ง ส.ส.ร. และอีก 15 วันให้รับรอง ส.ส.ร.


ต่อให้ฝ่ายค้านออกแรงถ่วง-รั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการอภิปรายโจมตี "จุดซ่อนเร้น" แบบข้ามวันข้ามคืน ถอนตัวจากวง กมธ. แก้รัฐธรรมนูญ หรือชักชวน "พลพรรคสะตอ" วอล์กเอาต์ยกพรรค 159 เสียง ก็มิอาจหักธง "รัฐบาล 300 เสียง" ได้
ตราบที่ "เสียงข้างมาก" ยังเป็นเครื่องชี้ขาดความเห็นต่างในสภา
การกระทำของ ปชป. จึงเปรียบเสมือน "เอาเรือขวางน้ำเชี่ยว" และหนักๆ เข้ากลายเป็นภาพ "เด็กเกเร" จ้องก่อกวนในสภา

ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการขอสงวนคำแปรญัตติในมาตรา 1 ขอแก้ไขชื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็น "รัฐธรรมนูญรวบรัดเพื่อทักษิณแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ...." เสนอโดย "เทพไท เสนพงศ์" ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป.
หรือ "รัฐธรรมนูญฉบับ นปช.ครองเมืองแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ...." เสนอโดย "สาธิต ปิตุเตชะ" ส.ส.ระยอง ปชป.
รวมถึง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่มาจากการลงประชามติของประชาชน จำนวน 14.7 ล้านเสียง) (ฉบับที่...) พ.ศ...." เสนอโดย "วัชระ เพชรทอง" ส.ส.บัญชีรายชื่อ

จนถูกวิจารณ์ว่าแสดงพฤติกรรมสวนทางกับคำพูดที่ว่า "เป็นพรรคที่ยึดมั่นในระบบรัฐสภา" และถูกคนบางส่วนมองว่า "พรรค 66 ปี" กำลังขวาง "ขบวนประชาธิปไตย" แบบข้างๆ คูๆ และตก "ขบวนปรองดอง" หรือไม่



ถามว่า "คีย์แมน ปชป." รับรู้ถึงสายตาค่อนขอดที่มองมา หลังละเลงโวหารกลางสภาหรือไม่
คำตอบคือรู้ แต่ไม่ใส่ใจ เพราะเกมที่ ปชป. วางไว้คือการใช้จุดแข็งทลายความแข็ง
โจมตี "เครือข่ายทักษิณ" แบบซ้ำๆ ด้วยวาทกรรม "เสียงข้างมากลากไป" เพื่อสะกดจิตผู้คนในสังคมให้เห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของ พท. ทั้งในชั้น กมธ. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน กมธ.ปรองดอง และในรัฐสภา
และสร้างความรู้สึกร่วมกันว่า "เกมในสภา" ที่กำหนดโดย "พรรคเสียงข้างมาก" ไม่ชอบธรรม-ไม่เป็นธรรม ก่อนต่อยอดปลุกระดมมวลชนนอกสภา

อย่าได้แปลกใจกับน้ำคำ "ขุนพลสะตอ" ที่สาดไม่ยั้งในระหว่างอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาทิ จะใช้เสียงคนร้อยกว่าคนมาฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 14.7 ล้านเสียงได้อย่างไร, น่าจะเจอกันนอกสภาก่อน ส.ส.ร. ได้เริ่มต้น ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อปลุก "เสียงนอกสภา" ให้เตรียมพร้อมต่อสู้กับ "เสียงข้างมากในสภา" เพราะ "พรรคสีฟ้า" เชื่อและมองอย่างชิงชังว่า พท. คือ "พรรคทักษิณ" ทุกเสียงอยู่ภายใต้การควบคุมของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ข้อสั่งการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และญัตติปรองดอง ล้วนเกิดจากคำบงการของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ
แตกต่างอย่างลิบลับกับการแสดงออกของคนในรัฐบาล-พท.-คนเสื้อแดง ที่ยกพลบุกประเทศกัมพูชาและลาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อรดน้ำดำหัวและขอพรจาก "นายใหญ่"

คำว่า "สงกรานต์" มีรากมาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงการผ่าน การเคลื่อนย้าย การก้าวขึ้น
คนต่างถิ่นจึงมักใช้โอกาสนี้ "เคลื่อนย้ายตัว" กลับภูมิลำเนา จนกลายเป็น "วันกลับบ้านเกิด" ของคนไทยไปโดยปริยาย
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจกับการเร่งเกมปรองดอง และลุกลี้ลุกลนโละรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อพา "ใครบางคน" ก้าวขึ้นบันไดปรองดอง แล้วได้กลับบ้านเกิดในวันข้างหน้า
เพราะนี่คือการแสดงออกถึงความกตัญญูสูงสุดต่อ "นายที่เคารพ" ที่รัฐบาล พท. จะกระทำได้!!!



+++


"คุยหรือเจรจา" สันติภาพ? "วิเชียร" แจงปมร้อนไฟใต้ ชี้หลากปัจจัย "คาร์บอมบ์"
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 99


เหตุวินาศกรรมคาร์บอมบ์ 2 จุด ในเทศบาลนครยะลา และโรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า กลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ 14 คน และบาดเจ็บหลายร้อย เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับหน่วยงานความมั่นคงของไทยอีกครั้ง

มีบทวิเคราะห์ คาดการณ์ ถึงมูลเหตุวินาศกรรมครั้งล่าสุดหลากหลาย และให้น้ำหนักไปที่ "การเจรจาลับ" กับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งจาก "คนในรัฐ" และ "คนนอกรัฐ"

อย่างไรก็ตาม "คนในรัฐบาล" ต่างปฏิเสธเรื่องการเจรจากับ "กลุ่มโจร" ทำให้หลายประเด็นยังคลุมเครือ


กับประเด็นดังกล่าว "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.) อรรถาธิบาย กับ "โล่เงิน" ว่า หนึ่งในหลายข้อสันนิษฐานของการก่อเหตุคาร์บอมบ์ครั้งนี้ คือ การออกนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรรับทราบแล้ว เน้นการเมืองนำการทหาร เปลี่ยนแปลงการต่อสู้ด้วยความรุนแรง มาต่อสู้ด้วยสันติวิธี ส่งเสริมให้มีพื้นที่ใน "การพูดคุย" หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

"มีข้อมูลว่าตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งหากรัฐบาลแสดงความจำนงว่าจะมี "การพูดคุย" ทางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย พวกต่อต้าน พวกนิยมความรุนแรง จะใช้ความรุนแรง เช่น ระเบิดที่หาดใหญ่ในปี 2550 ปี 2551 มีข่าวว่ารัฐบาลในช่วงนั้นจะเปิดให้มีการพูดคุย นี่ก็น่าเป็นปัจจัยก่อให้เกิดเหตุรุนแรงในครั้งนี้" เลขาฯ สมช. เผย

หากแต่ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่เลขาฯ สมช. ระบุว่าอาจเป็นปมให้ก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้ได้ คือ รัฐบาลรุกทางการเมืองอย่างชัดเจน รวมถึงรุกทางการทหารด้วย ทั้งการเยียวยา การพัฒนาต่างๆ การเดินหน้าสร้างอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาการเดินทางเข้าออก เปิดด่านเข้าออก ไทย-มาเลเซีย รวมถึงการประสานความร่วมมือกับทางมาเลเซียในการช่วยอำนวยความสะดวกพี่น้องมลายูที่ข้ามไปทำงาน หรือแม้แต่การสนับสนุนขยายโควต้าให้ไปฮัจญ์มากขึ้น

"การจะเข้ามาสังเกตการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชน ดูความเป็นอยู่ของพี่น้องมุสลิม ขององค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of The Islamic Conference : OIC) หรือองค์กรมุสลิมโลก ในช่วงวันที่ 7-9 พฤษภาคม ก็เป็นปัจจัยที่กลุ่มคนร้ายต้องการสร้างความรุนแรงให้เห็น ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หาดใหญ่ รวมถึงกรณีทาง ศอ.บต. จัดแข่งขันมวยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ จ.ยะลา เพื่อแสดงว่าพื้นที่สงบเรียบร้อย จัดงานได้แล้ว แต่คนร้ายต้องการแสดงจุดยืนว่า ยังไม่ใช่ ยังไม่ถึงเวลา หรือการระลึกถึงครบรอบเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ 28 เมษายน เหล่านี้เป็นปัจจัยได้ทั้งหมด" เลขาฯ สมช. ระบุ

พร้อมแจงว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นการดึงมวลชน ทำให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเพลี่ยงพล้ำในเชิงยุทธศาสตร์ จึงตอบโต้ให้เห็นว่ายังสร้างความรุนแรงได้อยู่



ย้อนกลับมาเรื่อง "การเจรจา" กับแกนนำผู้ก่อความไม่สงบ ปมร้อนแรงที่พรรคฝ่ายค้านเปิดประเด็นโยงถึง "นายใหญ่" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิง นายนัจมุดดีน อูมา รองเลขาธิการพรรคมาตุภูมิ อดีต ส.ส.นราธิวาส หลายสมัย และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เลขาฯ ศอ.บต.) ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียร ยืนยันว่าไม่มีการเจรจา ฝ่ายรัฐบาลไม่เจรจา แต่มีการพูดคุย

"ครั้งที่ผมเดินทางไปมาเลเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ยืนยันว่าไม่มีการเจรจาลับกับใครทั้งนั้น แต่ผมไปพูดคุยกับ สมช.มาเลเซีย เพื่อให้ช่วยประสานงานกับคนที่เราควรจะพูดคุย เพื่อให้สถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้น"

ทั้งนี้ พล.ต.อ.วิเชียร อธิบายความแตกต่างของ "การพูดคุยสันติภาพ" กับ "การเจรจาสันติภาพ" ด้วยว่า แตกต่างกันตรงที่ "การพูดคุย" ไม่มีการยื่นเงื่อนไข หรือให้คำมั่นใดๆ เป็นเพียงการทำความเข้าใจกับผู้มีความเห็นต่างซึ่งต้องใช้เวลา

เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ที่ สมช. กำหนดขึ้น ในข้อ 8 ที่ว่า นโยบายนี้จะสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสียในการเสริมสร้างสันติภาพ

"การพูดคุยที่ว่า หมายถึง การพูดคุยสันติภาพ หรือ Peace Dialogue เพื่อทำความเข้าใจ สร้างความไว้วางใจ เกิดพัฒนาการของตัวเอง ทำให้รู้ความต้องการที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย แต่ก็ต้องใช้เวลาตามสมควร คำว่าพูดคุยมันเป็นการเริ่มต้นกับแนวทางสันติภาพ เป็นการพูดคุยสร้างความเข้าใจกัน เช่น เรื่องการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 การใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี 66/23 สำหรับคนกลับใจ คนหลงผิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แนวร่วมกลับใจ นี่คือการไปพูดคุย แต่ไม่ใช่ไกล่เกลี่ยเพื่อวางอาวุธ หรือต่อรองยกฐานะเป็นรัฐ หรือแบ่งแยกดินแดน แบบนี้ไม่ใช่

"ถามว่ารัฐบาลทำได้มั้ย ต้องตอบว่ารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการพูดคุย เพื่อนำไปสู่แนวทางสันติภาพจริง แต่ไม่ใช่รัฐบาลไปเจรจาเอง หรือระดับนโยบายจะลงไป ถ้าในพื้นที่ ท้องถิ่น ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน มีโอกาสจะพูดคุย ก็ทำได้ รัฐบาลสนับสนุน ไม่ใช่วางอาวุธคุยกัน ตรงนี้ทัพภาค 4 ก็เคยทำ หรือ ศอ.บต. จะทำ ก็ทำได้ ถ้ามันเป็นไปตามแนวทางสู่สันติภาพ"


อย่างไรก็ตาม เลขาฯ สมช. แจงว่า ขณะนี้ สมช. ยังไม่ได้ "พูดคุย" กับกลุ่มขบวนการตามแนวทางสันติภาพ เพียงแต่รับความเห็นชอบจากรัฐบาล เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย ทั้งกองทัพบก สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ ศอ.บต. เห็นชอบว่าจะไปปรึกษาหารือกับทางมาเลเซีย ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการพูดคุยกันกับคนที่เป็นเจ้าความคิด คนที่มีอุดมการณ์ ซึ่งไม่ใช่คนที่ทำผิด

ด้านตัวกลางในการพูดคุยสันติภาพ เลขาฯ สมช. บอกว่า สมช. คงไม่คุยเอง ส่วนรัฐบาลไม่คุยแน่เพราะจะเป็นการยกระดับขึ้นมา แต่หนุนให้เจ้าหน้าที่พื้นที่คุยกัน จึงไปประสานให้ทางมาเลเซียช่วยอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในพื้นที่อาจพูดคุยกันอยู่แล้ว

เป็นความกระจ่างจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดีกรี เลขาฯ สมช. และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อสร้างความเข้าใจ ถึงแนวทางของรัฐบาลเรื่องความตั้งใจ "พูดคุยสันติภาพ" แต่ไม่ใช่ "การเจรจา" กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กลุ่มไหน คนใด ทั้งสิ้น!!?



.