.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 66 ปีพรรคประชาธิปัตย์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/04/40151 . . Fri, 2012-04-20 22:27
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ เมษายน นี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการทำพิธีทำบุญครบรอบ ๖๖ ปีของพรรค โดยมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมอย่างคึกคัก ในโอกาสที่ถือได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในยุคตกต่ำอย่างที่สุด ในงานนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้พยายามกล่าวแก้เกี้ยวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็จะทำเพื่อประชาชน จึงได้เปิดตัวโครงการ เขียวใต้ฟ้าพื้นป่าต้นน้ำใต้ร่มพระบารมี ของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เพื่อมีส่วนร่วมในการรักษาป่าต้นน้ำอนุรักษ์ธรรมชาติ ตามโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสนี้ด้วย
พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ โดยถือกันว่าเป็นพรรคแนวทางอนุรักษ์นิยมเจ้า เพื่อต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎรสายพลเรือน ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ในระยะแรก กลุ่มนักการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ก่อตั้งพรรค ได้เชิญนายควง อภัยวงศ์มาเป็นหัวหน้าพรรค และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคประชาธิปัตย์ในระยะแรก ก็ใช้กลวิธีทางการเมืองที่ไม่ใสสะอาดนัก เพราะเลขาธิการพรรคและสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งอยู่เบื้องหลังการโจมตีใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ และในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรกของพรรค คือเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ก็ได้นำเอาประเด็นเรื่องกรณีสวรรคตมาหาเสียงทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลฝ่ายปรีดี พนมยงค์
แต่ผลงานชิ้นสำคัญของพรรค คือ การเข้าร่วมสนับสนุนการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ยอมรับเป็นรัฐบาลรักษาการให้กับคณะรัฐประหาร โดยนายควง อภัยวงศ์รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความชอบธรรมในสายตานานาชาติให้กับการรัฐประหาร ในระยะนี้เอง ที่นายควง อภัยวงศ์ ได้สร้างผลงานเด่น เช่น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนคคีสวรรคต ที่นำโดย พล.ต.ต.พระพินิจชนคดี เพื่อเอาผิดแก่นายปรีดี พนมยงค์ ให้จงได้ อันนำมาสู่การประหารชีวิตมหาดเล็กผู้บริสุทธิ์ ๓ คนต่อมา นอกจากนี้ ก็คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้การจัดการดูแล และการใช้จ่ายทรัพย์สิน เป็นไปตามพระราชอัธยาศรัย นายควงเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ๖ เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหาร”รื้อนั่งร้าน”โดยจี้บังคับออก เพื่อเปิดทางแห่งการครองอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะรัฐประหาร หลังจากนั้น ภายใน ๔ ปี พรรคประชาธิปัตย์ก็ตกอยู่ในภาวะแพแตก แยกย้ายกัน จน พ.ศ.๒๔๙๘ เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.เปิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ ให้มีการแข่งขันในระบบพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์จึงฟื้นตัวขึ้นมา และส่งผู้สมัครแข่งขันในการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๐๐ แต่กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้สนับสนุนประชาธิปไตยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับให้ความร่วมมือกับฝ่ายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในการก่อหารรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง
เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารล้มระบบรัฐสภา บริหารแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ พรรคประชาธิปัตย์ก็เก็บฉากล้มเลิกพรรค และแยกย้ายกันไป จนถึง พ.ศ.๒๕๑๑ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และตระเตรียมให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มารวมตัวกันรื้อฟื้นพรรคอีกครั้ง และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเนื่องจากนายควง อภัยวงศ์ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ นำพรรคลงสมัยรับเลือกตั้ง และกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งน่าจะเป็นสมัยเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวของยุคสมัยนั้น ที่ไม่พอใจระบอบถนอม-ประภาส อย่างไรก็ตาม เมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร ก่อการรัฐประหารปิดสภาผู้แทนราษฎร หันมาใช้อำนาจปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยุติบทบาท สลายพรรคอีกครั้ง
จึงสรุปได้ว่า บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคแรกนี้ ยังเป็นพรรคเฉพาะกิจ ที่มารวมตัวกันเมื่อเผด็จการทหารเปิดให้มีการเลือกตั้ง และจะสลายตัวเมื่ออำนาจเผด็จการกลับคืนมา แม้กระทั่งเมื่อ สมาชิกพรรคเช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน และ อดีตอีก ส.ส. ๒ คน ยื่นฟ้องจอมพลถนอมในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญและเป็นกบฏ จึงถูกคณะรัฐประหารของจอมพลถนอมจับผู้ฟ้องเข้าคุก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็อธิบายว่า การดำเนินการของนายอุทัยเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ อำนาจเผด็จการล่มสลาย และเปิดให้มีการเลือกตั้งต้นปี พ.ศ.๒๕๑๘ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงรื้อฟื้นพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาอีก และส่งผู้สมัครแข่งขัน ในครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ได้จัดตั้งรัฐบาลเพียงระยะสั้น ต้องคอยมาจนถึงการเลือกตั้งเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๙ พรรคประชาธิปัตย์จึงชนะและได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนี้ ได้แตกเป็นปีกขวาและปีกซ้ายอย่างชัดเจน โดยกลุ่มปีกซ้ายแสดงลักษณะที่เป็นเสรีนิยม ไม่เห็นด้วยกับแนวทางขวาจัดที่ปราบปรามนักศึกษา ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอันแหลมคม ทำให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้เพียง ๖ เดือน ก็เกิดการรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ชนชั้นนำรื้อฟื้นเผด็จการอีกครั้ง
อำนาจเผด็จการครั้งนี้อยู่ได้เพียงระยะสั้น เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ เกิดการรัฐประหารเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย การเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ นี่เป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในกรุงเทพฯอย่างยับเยินต่อพรรคประชากรไทย จนทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค นายถนัด คอมันตร์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแทน พรรคประชาธิปไตยกลายเป็นฝ่ายค้านระยะสั้นสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อมา เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าร่วมรัฐบาล และเป็นฝ่ายรัฐบาลทุกสมัยตลอดการบริหารของ พล.อ.เปรม และยังร่วมรัฐบาลต่อในสมัยต้นของรัฐบาล พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นนายพิชัย รัตตกุล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕
พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓ และเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นนายชวน หลีกภัย ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๔ หลังจากเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๓๔ พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร และเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทก้าวหน้าที่สุด
หลังจากการล้มลงของรัฐบาลทหาร โดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร และมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๓๕ พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด และได้เป็นพรรคแกนกลางตั้งรัฐบาลผสม โดยมี นายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็กลายเป็นพรรคสำคัญที่สุดลงแข่งขันในระบอบรัฐสภา และได้เป็นแกนกลางในการตั้งรัฐบาลอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ ทำให้นายชวน หลีกภัยได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงต้นปี พ.ศ.๒๕๔๔ จนแพ้ในการเลือกตั้งต่อพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ และเปลี่ยนมาเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ นายอภิสิทธิ์ได้นำพรรคให้เป็นแกนกลางในการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับการนำเสนอมาตรา ๗ เพื่อเปิดทางให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง จนได้ฉายาว่า “มาร์ค ม.๗” และต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นหนึ่งเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ในการล้มล้างประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนเผด็จการ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สูญเสียสถานะพรรคแนวทางเสรีนิยม และประชาธิปไตย กลายเป็นพรรคฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเต็มที่
ลักษณะเช่นนี้ยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับคำเชิญของฝ่ายอำมาตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำการต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนบริหารประเทศตามปกติไม่ได้ ต่อมา เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารประเทศแล้ว และประชาชนคนเสื้อแดงมาต่อต้านคัดค้าน นายอภิสิทธิ์ก็ใช้วิธีการทางทหารเข้าแก้ไขจัดการจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนนับร้อยคน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพรรค ที่มีผู้นำพรรคมือเปื้อนเลือดประชาชนเช่นนี้ นอกจากนี้ ยังแสดงบทบาทเป็นพรรคขวาจัด ล่าแม่มดโดยการจับกุมประชาชนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ จำนวนมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความเป็นธรรมภายใต้การบริหารของนายอภิสิทธิ์จึงสูญสิ้นไป
ต่อมา หลังการเลือกตั้ง กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ พรรคประชาธิปไตยกลับมาแสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้าน เพราะแพ้การเลือกตั้งแก่พรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังแสดงบทบาทเป็นพรรคขวาจัด อนุรักษ์นิยมที่สุดเช่นเดิม ด้วยการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย คัดค้านการปฏิรูปมาตรา ๑๑๒ สนับสนุนกอดขาองคมนตรี คัดค้านการปรองดองสมานฉันท์ ใส่ร้ายป้ายสีประชาชน เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ยืนยันการฟอกถ่านให้ขาว รับระเบียบวาระของฝ่ายพันธมิตรมาเป็นวาระของตน และแสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้านอันเหลวไหล ทำให้ประวัติศาสตร์ ๖๖ ปีของพรรค จึงเป็นประวัติศาสตร์อันไร้ค่าสำหรับประชาชน ตราบเท่าที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่
บทความนี้ จะขอลงท้ายด้วยปุจฉาว่า เหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงได้ชื่อว่าพรรคแมลงสาบ วิสัชนา คือ แมลงสาบเป็นสัตว์ที่อยู่นาน อยู่ทน ไม่เคยเปลี่ยนรูปร่างลักษณะมานานนับล้านปี แมลงสาบเป็นสัตว์ที่อยู่ในโลกนี้มานานยิ่งกว่าไดโนเสาร์ แมลงสาบจึงเหมาะแก่พรรคประชาธิปัตย์ด้วยประการฉะนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * *
เชิญอ่านความคิดเห็นหลากหลาย ท้ายบทความ ที่ www.prachatai.com/journal/2012/04/40151
++
บนความแตกต่าง... ยิ่งลักษณ์ VS อภิสิทธิ์
โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ bcheewatragoongit@yahoo.com
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:30:20 น.
เห็นภาพท่านนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยหยิบขันเล่นสาดน้ำสงกรานต์กับกลุ่มผู้สื่อข่าวในงาน"ปี๋ใหม่เมือง" ที่เชียงใหม่แล้วก็ต้องแอบอมยิ้ม ท่านนายกฯเป็นคนน่ารักครับ ไม่ดัดจริตเหมือนนักการเมือง "อาชีพ" ทั่วไป ที่มักสร้างภาพให้ตนดูเป็น "คนดี" ปรับเสียงพูดให้ฟังดู "ทุ้ม..นุ่มนวล" ตอนให้สัมภาษณ์ แสร้งทำเป็นยากจน นอนบ้านหลังคารั่ว ฯลฯ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น นับแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเอกอัครมหาเสนาบดีของสยามประเทศ ก็ได้มุ่งมั่น "ทำงานบริหาร" ชาติประเทศมาโดยตลอด "การตอบโต้ทางการเมือง" คำน้อยนิดก็ไม่เคยที่จะหลุดจากปากเธอ นับเป็นยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดและถูกต้องอย่างยิ่ง เป็นกุศโลบายของปราชญ์ที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่าง นายอภิสิทธิ์ ยากที่จะเข้าใจ ค่าที่ได้หลวมตัวไปฝึกปรือวิชา "การเมืองโบราณ" จากเล่าซือ ภายในพรรคประชาธิปัตย์จน "เข้าเนื้อ" ยากที่จะกะเทาะออกจากแก่นวิญญาณของท่านได้เสียแล้ว!
นายกฯยิ่งลักษณ์เป็นสาว "เจียงใหม่" เรียนจบปริญญาตรีจาก มช. แล้วไปต่อโทที่สเตท กลับมาทำมาหากินในภาคธุรกิจ มีความเป็น "คนบ้านนอก" เหมือนคนต่างจังหวัดทั่วไป มีความเป็น "คนชั้นกลาง" เหมือนคนไทยส่วนหนึ่งที่พยายามถีบตัวเองด้วยการศึกษา จะต่างอยู่บ้างก็ตรงที่เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้วจึงผันตัวเองมาเล่นการเมือง ด้วยโปรไฟล์เช่นนี้ คุณยิ่งลักษณ์จึงดูเป็นอะไรที่คนไทยทั่วไปน่าจะ "สัมผัสได้" มากกว่าคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งเรียนไฮสกูลที่อีตัน อย่าว่าแต่ให้หนุ่มมาร์คหยิบขันเล่นสาดน้ำสงกรานต์เลย ชั้นแต่ให้นั่งทานข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว ก็ดูไม่ค่อย "เหมือน" แล้ว!
การไม่ดัดจริต มีให้เห็นแม้กระทั่งระหว่างการสัมภาษณ์ที่ผู้สื่อข่าวใช้ "คำเมือง" ซึ่งท่านนายกฯก็ "อู้" ตอบได้เป็นธรรมชาติมากครับ ความชัดถ้อยชัดคำ และดูจริงใจ มีอยู่อย่างครบถ้วนกระบวนความ
มีผู้สันทัดกรณีแบ่งคนในสังคมไทยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มคนรักทักษิณ (2) กลุ่มคนเกลียดทักษิณ (3) กลุ่มคนที่เป็นกลาง ในฐานะผู้สังเกตการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง วันนี้กลุ่มที่เป็นกลางดูมีแนวโน้มนิยมคุณยิ่งลักษณ์มากขึ้น แม้แต่กลุ่มเกลียดทักษิณ ส่วนหนึ่งก็เริ่มมีเสียง "อ่อนลง" เมื่อได้สัมผัสกับวิธีการ Approach ปัญหาบ้านเมือง และการวางตัวของนายกรัฐมนตรี "ขวัญใจชาวบ้าน"
ตัดภาพกลับไปที่พรรคประชาธิปัตย์ อันที่จริงสมรรถนะ (Competencies) ของพรรคมีมากมายเป็นภูเขาเลากา ลองไล่กันสักย่อหน้าหนึ่งก็ยังได้
คุณอภิสิทธิ์นอกจากเรียนคอลเลจที่อีตันดังได้กล่าวไปแล้ว ยังไปจบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
คุณกรณ์ จาติกวณิช เรียนไฮสกูลที่วินเชสเตอร์ คอลเลจ จบปริญญาตรีสาขาดัง ปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากออกซ์ฟอร์ดเช่นกัน
คุณเกียรติ สิทธิอมร จบวิศวฯจุฬาฯ ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ ประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านการบริหาร จาก Harvard Business School
คุณศิริโชค โสภา ฉายา "วอลเปเปอร์" จบ Kings College มหาวิทยาลัยลอนดอน
ฯลฯ
ในช่วง 2 ปีที่เป็นนายกฯ หรือแม้จะเป็นฝ่ายค้านอยู่ในปัจจุบันก็ตาม หากนายอภิสิทธิ์และคณะได้นำเอาสมรรถนะและประสบการณ์ที่พวกตนมีอยู่พร้อมมูลนั้นมา "บริหารประเทศ" แบบเดียวกับที่นายกฯยิ่งลักษณ์ทำอยู่ในเวลานี้ ประเทศไทยคงได้รับคุณูปการอันใหญ่หลวงจากพวกท่านไปนานแล้ว และวันนี้ เสียงชื่นชมก็คงจะยังดังอึงคะนึงอยู่
ความจริงก็คือ ท่านอดีตนายกฯได้เก็บขีดความสามารถอันยิ่งใหญ่เหล่านั้นไว้ในลิ้นชักเสีย แล้ววาดลวดลาย "ทางการเมือง" แบบ "การเมืองโบราณ" ซึ่งควรจะล้มพับไปพร้อมกับยุคสมัยของพวก "หัวหมอ" ในพรรคทั้งหลาย ประชาธิปัตย์ยุค "ผลัดใบ" กลับโลดแล่นอยู่ในจังหวะการเมืองแบบอดีต แม้กระทั่งวันที่กลับลงมาเป็น "ฝ่ายค้าน" อยู่ในเพลานี้
หลักฐานก็คือ การคอมเมนต์นายกฯยิ่งลักษณ์ ในช่วงใกล้สงกรานต์ ว่าไม่ให้ความสำคัญงานรัฐสภา เอาแต่บริหารบ้านเมือง
เข้าทำนอง เลิก "ทำงาน" ได้แล้ว...มา "เล่นการเมือง" กันดีกว่า ...!
คุณอภิสิทธิ์นั้นหากรู้จักปรับโฟกัสไปที่ "การทำงาน" แทน "การเล่นการเมือง" คงจะทำคะแนนตีตื้นกลับมาได้บ้าง ซึ่งก็มีเรื่องสำคัญให้ติดตามมากมาย อาทิ
--การเตรียมพร้อมของรัฐบาล กรณี AEC
--การเร่งรัดระบบรถไฟความเร็วสูง (โดยชี้ให้สังคมเห็นในส่วนที่รัฐบาลมองข้ามไป)
--การขยายขีดความสามารถรับนักท่องเที่ยวของสนามบินสุวรรณภูมิ
และ--การอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย
ฯลฯ
มีคนเก่งทั้งความรู้และประสบการณ์อยู่เต็มพรรค แล้วให้มานั่งจัดรายการ "สายล่อฟ้า" จึงเหมือนมี "ม้าศึก" แต่เอาไป "ลากรถส่งนม"...ฉันใดก็ฉันนั้น...!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย