.
Admin บทความดี จะโพสต์ครั้งใหม่ ในวันพุธที่ 18 เมษายน 2555
______________________________________________________________________________________________________
เสรีภาพทางวิชาการ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 30
ในบรรยากาศอับทึบของเผด็จการทหารในทศวรรษ 2500 คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ โยนบอมบ์ลูกใหญ่ลงมาในสังคม ดังกึกก้องในฟากหนึ่ง แต่ในอีกฟากหนึ่งกลับด้าน
ระเบิดลูกนั้นชื่อ "เสรีภาพทางวิชาการ" แถมมีวงเล็บภาษาฝรั่งต่อท้ายเพื่อเพิ่มกำลังของบอมบ์ด้วยว่า แอ๊กคะเดมหมิก ฟรีด้อม
เสรีภาพทุกชนิดถูกระงับมาหลายปีแล้ว จนกระทั่งเสรีภาพถูกกลืนหายไปสนิทกับการอนุมัติ ฉะนั้น การเกิดเสรีภาพใหม่ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขการระงับ จึงได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นจากคนที่เห็นช่องทางจะใช้ประโยชน์จากเสรีภาพชนิดใหม่นี้
ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้คือ "นักวิชาการ" ซึ่งก็เป็นสปีชี่ส์ที่เพิ่งวิวัฒนาการขึ้นใหม่ในสังคมไทยเหมือนกัน
แต่ที่จริงแล้ว วงวิชาการไทยรวมทั้งสถาบันวิชาการของไทยไม่เคยต้องการเสรีภาพทางวิชาการเป็นเครื่องมือในการทำงานของตน อย่างน้อยก็ไม่ต้องการมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 บอมบ์ของคุณสุลักษณ์จึงค่อนข้างจะด้านในแวดวงและสถาบันวิชาการที่เป็นทางการ
ใครเอาบอมบ์ของคุณสุลักษณ์ไปใช้เรียกร้องอะไรกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเวลานั้น จะเห็นใบหน้างงๆ ของผู้บริหารซึ่งบอกความหมายว่าคุณกำลังพูดอะไร ผมไม่รู้เรื่อง แต่อันนี้ทำไม่ได้ เพราะผิดระเบียบราชการ หรือผิดคำสั่งของคณะปฏิวัติ หรือถึงทำไปก็ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการสอนของคุณ
อย่างไรก็ตาม บอมบ์ของคุณสุลักษณ์เป็นบอมบ์ประเภทหน่วงเวลา หลังจากระเบิดเปรี้ยงปร้างในหมู่คนจำนวนน้อย ก็ทยอยระเบิดต่อมากับผู้คนกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดถูกผนวกเข้าไปในรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ฉบับ 2540 เป็นต้นมา
เหมือนเป็นเสรีภาพพิเศษอีกหมวดหนึ่ง ที่แตกต่างจากเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั่วไปที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้ประกันไว้แล้ว ฉะนั้น จึงง่ายมากที่บางคนอาจคิดถึงเสรีภาพทางวิชาการประหนึ่งเป็นอภิสิทธิ์ของนักวิชาการหรืออะไรที่ดูเป็น "วิชาการ"
เสรีภาพทางวิชาการคืออะไร?
"คําประกาศแห่งกรุงลิมาว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการและอำนาจปกครองตนเองของสถาบันอุดมศึกษา" นิยามว่า
"เสรีภาพของสมาชิกแห่งชุมชนวิชาการ ในฐานะบุคคลหรือองค์รวมก็ตาม ในอันที่จะติดตาม, พัฒนา หรือเผยแพร่ความรู้ โดยอาศัยการวิจัย, การศึกษา, การอภิปราย, การทำเอกสาร, การผลิต, การสร้างสรรค์ (ในทางศิลปะ-ผู้เขียน), การสอน, การปาฐกถา และการเขียน"
จะเห็นได้นะครับว่า นิยามของ "คำประกาศฯ" ฉบับนี้ ก็ถือเอาเสรีภาพทางวิชาการเป็นเสรีภาพอีกประเภทหนึ่ง ที่ให้ไว้แก่ "สมาชิกแห่งชุมชนวิชาการ" โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับคนทั่วไปซึ่งมีอาชีพตัดผม, ขับแท็กซี่, เป็นเสมียน, หรือโฟร์แมน แต่อย่างใด
แต่เสรีภาพของกลุ่มคน กับเสรีภาพของสังคมโดยรวมแยกจากกันได้หรือ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ นอกจากนิยามให้อภิสิทธิ์กลายเป็นเสรีภาพเท่านั้น
แม้แต่ประเภทของเสรีภาพ เช่น เสรีภาพทางกายกับเสรีภาพทางความคิดก็ไม่น่าจะแยกจากกันได้ในทางปฏิบัติ เช่น บอกว่า มึงอยากคิดอะไรของมึงก็คิดไป แต่ห้ามบอกคนอื่น เสรีภาพทางความคิดนั้นก็กลายเป็นหมันไปเท่ากับความคิดที่เกิดในฝันเปียก เพราะความคิดนั้นจะไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นให้เป็นผลในสังคม
เสรีภาพใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นอภิสิทธิ์ เสรีภาพนั้นจะไม่มีทางดำรงอยู่อย่างปลอดภัยและมั่นคงได้เลย เรื่องนี้จะเห็นได้จากกระบวนการต่อสู้ขัดขวางเสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทยเอง
ว่าเฉพาะในเมืองไทย พลังสามอย่างด้วยกันที่เข้ามาต่อต้านขัดขวางเสรีภาพทางวิชาการ เรียงตามลำดับคือรัฐใหญ่สุด, สังคมรองลงมา และทุน
ผมขอพูดถึงส่วนที่มีพลังน้อยก่อน
ทุนในเมืองไทยเข้ามาแทรกแซงขัดขวางหรือกำกับเสรีภาพทางวิชาการน้อย (เมื่อเทียบกับอีกหลายสังคม โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) เหตุผลนั้นง่ายนิดเดียว ก็ทุนเมืองไทยแทบไม่ได้อุดหนุนอะไรทางวิชาการเอาเลย จึงไม่มีพลังเพียงพอที่จะเข้าไปแทรกแซงขัดขวางหรือกำกับ (เช่น ทุนไม่เคยให้ทุนสำหรับตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ฉะนั้น จะเลือกเอาคนที่ตัววางใจไปนั่ง จึงทำไม่ได้)
หัวต่อสำคัญของการเผยแพร่ผลงานวิชาการอันหนึ่งคือผู้จัดจำหน่าย ในสหรัฐมีหนังสือที่ผู้จัดจำหน่ายหรือสำนักพิมพ์ใหญ่ไม่ยอมพิมพ์อยู่บ่อยๆ แต่ผู้จัดจำหน่าย (สายส่ง) ไทยไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะตลาดหนังสือของเราเล็กเสียจนอยากหากำไรกับหนังสือทุกเล่มมากกว่า ถึงอย่างไรสายส่งก็แทบไม่ได้ลงทุนกับหนังสืออยู่แล้ว นักวิชาการไทยจึงสามารถลงทุนพิมพ์เองแล้วซื้อเฉพาะบริการของสายส่งได้เสมอ (หากอยากได้ตำแหน่งวิชาการหรือมีอะไรจะบอกคนอื่นจนนอนไม่หลับ)
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ นี้ ทุนเริ่มใช้ "รางวัล" เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงโดยอ้อม คือให้รางวัลแก่ศิลปินหรืองานวิชาการที่อยู่ในแนวคิดทางสังคมและการเมืองเดียวกับเจ้าของทุน
แต่ถ้าคิดในทางกลับกันว่า ทุนก็ควรมีเสรีภาพที่จะแสดงจุดยืนทางการเมืองและสังคมเท่ากับนักวิชาการ รางวัลเหล่านั้นก็เป็นการประกาศจุดยืนของเขาได้ ไม่เห็นผิดตรงไหน ข้อนี้ก็จริง เสียแต่ว่าทุนมักกันเหนียวโดยไม่แสดงจุดยืนดังกล่าวให้ชัด ไม่อย่างนั้นแทนที่จะเป็นรางวัล "บัวหลวง" ก็ควรจะเป็น "บัวหลวงหลวง"
พลังที่ใหญ่สุดในการแทรกแซงขัดขวางและกำกับเสรีภาพทางวิชาการคือรัฐ ซึ่งในเมืองไทยยังกำกับการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา, เป็นผู้ให้ทุนวิจัยรายใหญ่สุด (แม้แต่ในหน่วยงานให้ทุนวิจัยบางแห่งที่กฎหมายยกให้อิสระจากรัฐ ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นรัฐอยู่นั่นเอง), เป็นผู้ให้รางวัลการวิจัยและนักวิจัย, เป็นผู้เผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณชน, เป็นผู้เลือกใช้ผลงานวิจัย, เป็นผู้มีอำนาจที่จะระงับการเผยแพร่ผลงานวิจัย (โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ) เป็นผู้ดำเนินคดีอาญานักวิชาการที่ถูกกล่าวโทษได้หลายมาตรา รวมทั้ง ม.112 ด้วย ฯลฯ
คิดไปเถิดครับ อำนาจของรัฐในการแทรกแซงขัดขวางและกำกับเสรีภาพทางวิชาการในเมืองไทยนั้นมีล้นเหลือ
แต่พัฒนาการทางการเมืองในบ้านเรา นับตั้งแต่ 14 ตุลาคมเป็นต้นมา ทำให้รัฐกลับไม่กล้าใช้อำนาจดังกล่าวอย่างโจ่งแจ้ง รัฐพยายามจะไม่วางตัวเป็นปรปักษ์ของเสรีภาพทางวิชาการอย่างออกหน้า
อย่างไรก็ตาม ที่เรียกว่า "รัฐ" นั้น ไม่ใช่องค์กรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรืออยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของบุคคลหรือสถาบันเดียว สิบสี่ตุลาคมได้ทำลาย "รัฐ" ลักษณะนั้นไปแล้ว ในคำว่า "รัฐ" หลังจากนั้น มีอำนาจ, โลกทรรศน์, และผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำอันหลากหลาย และด้วยการต่อสู้ขัดแย้งกันในระดับหนึ่ง ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการสร้างดุลแห่งอำนาจที่ชนชั้นนำทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยไม่ต้องมีสายบังคับบัญชาที่รวมศูนย์อยู่สุดยอด (ซึ่งผมเข้าใจว่านักวิชาการฝรั่งบางท่านเรียกว่า the un-state) ไม่ว่าจะเกิดการเลือกตั้งหรือการรัฐประหาร ดุลแห่งอำนาจนั้นก็ยังดำรงอยู่ได้โดยไม่สั่นคลอน
(ถ้าจะพูดว่าประชาธิปไตยไทยก้าวหน้าขึ้นหลัง 14 ตุลาคม ก็เป็นการเพิ่มขึ้นของอำนาจต่อรองของกลุ่มชนชั้นนำที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น)
รัฐที่เข้ามาแทรกแซงขัดขวางหรือกำกับเสรีภาพทางวิชาการจึงไม่ได้มาจากคำสั่งของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการตัดสินใจของกลุ่มเล็กๆ แต่หลากหลาย ที่บริหารองคาพยพของรัฐ
พลังอย่างที่สามซึ่งเข้ามาขัดขวางหรือกำกับเสรีภาพทางวิชาการคือสังคม ซึ่งมีพลังเพิ่มขึ้นตลอดมา ยิ่งเชื่อมต่อกับส่วนของรัฐที่ใกล้ชิดกับสังคมที่สุดคือนักการเมือง ก็ยิ่งมีพลังมากขึ้น แม้แต่ใช้วิธีการผิดกฎหมาย รัฐก็มักไม่ทำอะไร
นับตั้งแต่ประท้วงข้อสรุปของนักประวัติศาสตร์เรื่องคุณหญิงโม มาจนถึงหมิ่นประมาทและชกหน้านักวิชาการ
เหตุผลที่สังคมซึ่งเข้มแข็งขึ้นกลับเป็นผู้ขัดขวางเสรีภาพทางวิชาการเสียเองเช่นนี้ คงอธิบายได้หลายอย่าง แต่ผมคิดว่าโดยพื้นฐานเลยแล้ว ก็คือสังคมโดยรวมไม่ได้รู้สึกว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นของเขา (ลองเปรียบเทียบกับเสรีภาพของผู้หญิงสิครับ แม้เป็นแนวคิดใหม่ๆ เหมือนกัน แต่สังคมรู้สึกเป็นเสรีภาพของเขา) เพราะทั้งการนิยามและการยืนยันเสรีภาพทางวิชาการตลอดมา ชวนให้เห็นเช่นนั้น
เสรีภาพทางวิชาการกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะนักวิชาการ หรืองานที่ถูกถือว่าเป็นวิชาการเท่านั้น นักวิชาการต้องการเสรีภาพไม่น้อยไปกว่า แต่ก็ไม่มากไปกว่าช่างตัดผม
ในสังคมที่ช่างตัดผมไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของนักวิชาการก็ไม่มีฐานรองรับที่แข็งแกร่งพอที่ใครจะให้ความเคารพ
อันที่จริง ถ้าไม่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการไว้ใน "สถาบันอุดมศึกษา" เท่านั้น ระบบการศึกษาไทยทั้งระบบนับตั้งแต่อนุบาลขึ้นมา ล้วนละเมิดต่อเสรีภาพทางวิชาการกันอย่างออกหน้า เลยไปถึงสื่อทุกชนิด หรือแม้แต่การนินทาของช่างตัดผมยังต้องหรี่เสียงลงในบางเรื่อง คนที่เชื่อในเสรีภาพทางวิชาการต้องผลักดันเสรีภาพทางวิชาการออกไปนอกรั้วมหาวิทยาลัย เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน
ก็เหมือนกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การกำกับควบคุมเสรีภาพทางวิชาการ ย่อมมาจากเสรีภาพทางวิชาการเอง หมายความว่าวงวิชาการด้วยกันนั่นแหละ ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบถ่วงดุลความคิดเห็นทางวิชาการของทุกคน แต่วงวิชาการไทยอ่อนแอทางวิชาการเสียจนไม่มีสมรรถภาพในการตรวจสอบถ่วงดุล อันเป็นกระบวนการธรรมชาติที่ความคิดเห็นทางวิชาการจะถูกพัฒนาขึ้นให้ละเอียดอ่อน และใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อไปได้กว้างขึ้นและลึกขึ้น เหมือนความคิดเห็นของช่างตัดผมที่อาจไม่ได้เรื่องบางครั้ง ก็จะถูกช่างตัดผมและลูกค้าตรวจสอบถ่วงดุล จนเจ้าตัวก็อาจเปลี่ยนความคิดเห็นไปเองได้
แต่เพราะความอ่อนแอของวงวิชาการไทยดังที่กล่าวแล้ว เสรีภาพทางวิชาการจึงดูอันตรายแก่สังคม จนทำให้เห็นการแทรกแซงขัดขวางกำกับของรัฐ, ทุนและสังคมเป็นเรื่องปรกติธรรมดา
กระบวนการแทรกแซงขัดขวางกำกับเสรีภาพทางวิชาการอย่างสุดท้ายที่ผมเพิ่งได้ยินมา ก็คือเสรีภาพทางวิชาการนั้นต้องใช้ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม
ฟังดูดีนะครับ แต่แปลว่าอะไรไม่ทราบ จงอย่าพูดถึงสิ่งที่คุณเชื่อว่าจริงหรือดีหรืองาม หากสังคมไม่ยอมรับกระนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้น ใครจะเป็นคนตัดสินล่ะครับว่า สังคมควรยอมรับหรือไม่ยอมรับอะไร
ความรับผิดชอบต่อสังคมในความหมายเช่นนี้ คือมาตรการใหม่ที่หยิบยื่นให้นักวิชาการในการเซ็นเซอร์ตัวเองเท่านั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย