http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-05

อัพเดตวิกฤติน้ำมัน โดย อนุช อาภาภิรม

.

อัพเดตวิกฤติน้ำมัน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 34


ราคาน้ำมันหน้าปั๊มในประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้รู้ในวงการน้ำมันบางคนกล่าวว่าราคาน้ำมันเกรดดีในไทยอาจสูงถึงลิตรละ 50 บาท ได้ในเงื่อนไขที่เลวร้าย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย สถานการณ์น้ำมันโลกก็ดูน่ากังวล เมื่อราคาน้ำมันเกรดดีเบรนต์ออยล์ที่ตลาดกรุงลอนดอนถีบตัวสูงขึ้นเป็นบาร์เรลละ 128 ดอลลาร์ และวิเคราะห์กันว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ แถบเอเชียอย่างสูง

เดวิด เรสเลอร์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งโนมูระ สถาบันการเงินใหญ่ของญี่ปุ่นได้เตือนว่า "การที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในรอบ 2 เดือนแรกของปี 2012 ได้กลายเป็นการคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของเอเชีย" ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรติดตาม เพื่อการตระเตรียมตัวไว้
(ดูบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ชื่อ Oil creeps toward top of Asia"s economic worry list ใน arabnews.com, 070312)



เหตุใดปัญหาน้ำมันจึงยืดเยื้อ
และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

โลกผ่านวิกฤติน้ำมันมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 1973 ซึ่งมักเกิดจากประเทศผู้ผลิต เช่น กรณีประเทศผู้ส่งออกน้ำมันงดส่งน้ำมันให้แก่สหรัฐและพันธมิตร การเกิดปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน สงครามอ่าวปี 1990 วิกฤติเหล่านี้ก่อผลกระทบ ด้านหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วชะลอตัว และลดการใช้น้ำมันลง

อีกด้านหนึ่ง กระตุ้นให้เกิดการสำรวจขุดเจาะน้ำมันในแหล่งใหม่ เช่น ทะเลเหนือในมหาสมุทรแอตแลนติก และที่อลาสกาในสหรัฐ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดวูบ แล้วทุกอย่างก็ดูกลับไปเหมือนเดิม

วิกฤติน้ำมันที่ผ่านมาจึงมีลักษณะชั่วคราว

แต่วิกฤติน้ำมันครั้งหลังสุดในปี 2008 ดูจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันจากปี 2002 ถึงกรกฎาคม 2008 เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ทำให้ประเทศมั่งคั่งในกลุ่มโออีซีดีต้องใช้จ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนสำคัญให้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน (ดูบทวิเคราะห์ของ Jeff Rubin and Peter Buchanan ชื่อ What"s the Real Cause of the Global Recession? ใน cibcwm.com 311008)

ในช่วงการถดถอยใหญ่ ปรากฏว่าสหรัฐได้ลดการใช้น้ำมันไปถึงราววันละ 1 ล้านบาร์เรลหรือกว่านั้น

มีการคาดหมายว่าราคาน้ำมันจะทรุดตัวลงเหมือนที่เคยเป็นมา แต่ว่ามันไม่เหมือนเดิมทีเดียว กล่าวคือราคาน้ำมันในตลาดนิวยอร์กได้ทรุดต่ำลงเหลือบาร์เรลละ 30 ดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม 2008 แต่หลังจากนั้น ราคาน้ำมันก็ได้เริ่มถีบตัวขึ้นเป็นกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนมิถุนายน 2009 และเป็นกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนมีนาคม 2010

นั่นคือ ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัวดี

คำอธิบายมีหลายอย่างด้วยกัน แต่ที่เป็นพื้นฐานน่าจะ ได้แก่ ปรากฏการณ์การผลิตน้ำมันสูงสุด (Peak Oil) โดยมีนักวิชาการที่เชื่อในทฤษฎีนี้ระบุว่าการผลิตน้ำมันแบบธรรมดาของโลกคือที่ขุดกันมาตั้งแต่เริ่มยุคน้ำมัน ได้ถึงจุดสูงสุดในปี 2005 มีอัตราการผลิตวันละ 73 ล้านบาร์เรล แต่หากนับน้ำมันที่ไม่ใช่แบบธรรมดา ได้แก่ ที่ผลิตจากทรายน้ำมัน หินน้ำมัน หินแก๊ส แก๊สธรรมชาติเหลว เป็นต้น การผลิตน้ำมันของโลก จะสูงสุดปี 2008 ที่ราว 82 ล้านบาร์เรล

ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมหมายถึงว่าวิกฤติน้ำมันจะเลวร้ายอย่างรวดเร็ว การแก้ไขต่างๆ น่าจะไม่ทันกาล

คำทำนายข้างต้นนั้นเลวร้ายจนผู้คนจำนวนมากไม่อยากจะเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะมีสิ่งที่เห็นพ้องกันบางประการว่า ยุคแห่งน้ำมันหาง่าย (Easy Oil) ได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างไม่หวนกลับคืน

น้ำมันหาง่ายได้แก่น้ำมันที่ขุดเจาะบนดินหรือชายฝั่งที่ตื้น หรือในที่เข้าถึงง่าย และอยู่ในรูปของเหลว ซึ่งขุดเจาะมาใช้มานานเป็นร้อยปีนั้น ไม่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากทุ่งน้ำมันเก่าได้ลดพร่องลง

แหล่งสำรองที่ค้นพบใหม่ก็มักมีขนาดเล็ก การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยอะไรไม่ได้มาก

การผลิตน้ำมันโลกจึงต้องย้ายไปสู่แหล่งน้ำมันหาลำบาก (Tough Oil) มากขึ้นทุกที

แหล่งน้ำมันหายาก เช่น แหล่งน้ำมันที่ท้องทะเลลึก เช่น ในอ่าวเม็กซิโก เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

นอกจากนั้น ก็จากแหล่งน้ำมันที่ขั้วโลกเหนือ ส่วนที่เหลือก็ผลิตจากแหล่งที่ไม่ใช่น้ำมันจริง ไม่ได้เป็นของเหลว ได้แก่ ทรายน้ำมัน หินน้ำมัน และบางทีนับรวมไปถึงหินแก๊ส

การผลิตน้ำมันหาลำบากนี้ต้องการเงินทุนก้อนใหญ่ พลังงานที่ใช้ในการขุดเจาะและลำเลียงสูง มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาคิดรวมเป็นต้นทุนด้วย

ดังนั้น แม้ว่าอุตสาหกรรมน้ำมันยังคงสนองน้ำมันให้แก่ผู้บริโภคได้ แต่ก็หมายถึงว่ามันต้องมีราคาแพง

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่ประเทศตลาดเกิดใหม่พยายามจะไล่ให้ทันประเทศตะวันตก ราคาน้ำมันแพงจึงน่าจะเป็นสิ่งถาวรและต้องอยู่กับมันให้ได้ (ดูบทความของ Michael T. Klare ชื่อ A Tough-Oil World ใน huffingtonpost.com, 130312)

เรื่องยังทำให้เลวขึ้นอีกจากการแจ้งสำรองน้ำมันเกินจริงของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งหลาย มีผู้ยกตัวอย่างของซาอุดีอาระเบีย โดยใช้คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีน้ำมันและทรัพยากรแร่ธาตุ อัล ไนมิ แห่งซาอุดีฯ ที่กล่าวกันไปคนละอย่าง โดยในปี 2004 เขากล่าวว่า

"ซาอุดีฯ ในปัจจุบันมีน้ำมันสำรองถึง 1.2 ล้านล้านบาร์เรล นี่เป็นการประเมินแบบขั้นต่ำ การวิเคราะห์ของเราทำให้เรามีเหตุผลที่จะมองโลกสดใส เรายังคงค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ และจะใช้เทคโนโลยีใหม่ในการขุดเจาะน้ำมันจากหลุมเดิมให้มากขึ้นอีก"

ท่านผู้นี้กล่าวเสริมว่า "สำรองน้ำมันมหาศาลของซาอุดีฯ อยู่ที่นั่น แหล่งสำรองเหล่านี้ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการขุดเจาะ เรามีสำรองน้ำมันเกินพอที่จะเพิ่มการผลิตตามที่ต้องการ เราสามารถเพิ่มการผลิตจากวันละ 10.5 ล้านบาร์เรล เป็นวันละ 12-15 ล้านบาร์เรลได้ เราสามารถรักษาการเพิ่มการผลิตไปอีก 50 ปีหรือมากกว่า จะไม่มีการขาดแคลนน้ำมันในอีก 50 ปีข้างหน้า" (Arab News 290404)

แต่ในเดือนมีนาคมปี 2012 รัฐมนตรีน้ำมันท่านเดิมกล่าวว่า "อย่างที่เราทุกคนรู้ น้ำมันมีการแปรปรวนมากทั้งในด้านราคาและอัตราการผลิต...เนื่องจากการไหวตัวอย่างไม่คาดฝันนี้จึงเป็นการไม่เหมาะสมที่จะพึ่งการผลิตและส่งออกน้ำมันเป็นฐานของรายได้ของชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน" เขายังเห็นว่าควรพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำมากขึ้น (Business Record 020312)

อนึ่ง ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งหลายมักมีประชากรเพิ่ม หรือต้องการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามทันประเทศตะวันตก ต้องการเงินงบประมาณจำนวนมาก กับทั้งต้องการนำน้ำมันมาใช้ภายในประเทศตนมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัดคือซาอุดีฯ ที่ดูจะต้องการให้น้ำมันราคาสูงเท่าที่จะยอมกันได้ และคงยากที่จะเพิ่มการส่งออก

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางเทคนิคและภูมิศาสตร์การเมืองที่อาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันอย่างรุนแรงได้ เช่น กรณีพิพาทสหรัฐ-อิสราเอลกับอิหร่าน

ท้ายสุด การที่ประเทศทั่วโลกพิมพ์แบ๊งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ก่อแรงกดดันต่อราคาสินค้าและภาวะเงินเฟ้อที่อาจระเบิดขึ้นได้



ผลกระทบต่อเอเชีย

นํ้ามันราคาแพงมีผลกระทบต่อเอเชียสูง ในปัจจุบันภูมิภาคนี้เป็นผู้บริโภคน้ำมันใหญ่ที่สุดของโลก โดยเข้ามาแทนภูมิภาคอเมริกาเหนือตั้งแต่ปี 2007 มีสัดส่วนการใช้น้ำมันมากกว่าร้อยละ 31 ของโลก ในจำนวนประเทศใช้น้ำมันมากที่สุดในโลก 10 ประเทศ ปรากฏว่าอยู่ในเอเชียถึง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดียและเกาหลี

ภูมิภาคเอเชียต้องนำเข้าน้ำมันถึงราว 2 ใน 3 ของที่ต้องการใช้ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แม้เมื่อตัดประเทศญี่ปุ่นออก นับแต่ประเทศตลาดเกิดใหม่ มูลค่าน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันปิโตรเลียมก็ยังสูงถึง 447 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2011 เพิ่มจาก 329 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2010 และ 234 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2009 สัดส่วนมูลค่านำเข้าน้ำมันต่อจีดีพีในภูมิภาคเอเชียเมื่อเทียบเคียงกันแล้วจะสูงกว่าในประเทศตะวันตก ความต้องการน้ำมันปริมาณมหาศาลของเอเชียเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันของโลกไม่ได้ลดต่ำลงมามาก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และยุโรปเผชิญกับปัญหาวิกฤติหนี้

ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 3 ปี จึงเป็นสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจในเอเชีย

อันตรายสำคัญเบื้องต้น ได้แก่ การกระทบต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาหนักอยู่แล้วจากการที่ตลาดในสหรัฐและอียูที่รองรับสินค้าจากเอเชียต้องหดแคบลง ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ราคาสินค้าในประเทศเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

เหล่านี้น่าจะมีส่วนทำให้ประเทศจีนจำต้องเลือกความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รักษาอัตราเงินเฟ้อในระดับที่ควบคุมได้ และไม่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงเหมือนเดิม เนื่องจาก 4 ประเทศที่นำเข้าน้ำมันสูงเป็นเหมือนหัวรถจักรของเอเชีย ย่อมส่งผลกระทบไปทั่ว (ดูบทความใน Arab News ที่อ้างแล้ว)

ในประเทศไทยก็มีการกล่าวถึงปัญหาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงกันหนาหูขึ้น ซึ่งควรมองว่า นี่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ไขทำได้ยากไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล



บางเรื่องเล่าเล็กๆ จากสหรัฐ

สหรัฐที่มีข่าวดีทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น ดัชนีหลักทรัพย์ดาวโจนส์ทะยานเกิน 13,000 จุด สามารถส่งออกน้ำมันได้เพิ่มขึ้น แต่มีบางเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นความหนักหน่วงจากปัญหาน้ำมันราคาแพง การว่างงาน และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีพันล้านของสหรัฐได้ให้สัมภาษณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อใหญ่ และเตือนให้นักลงทุนป้องกันตนเอง โดยไม่ควรเชื่อตัวเลขทางรัฐบาลมากนัก เช่น ตัวเลขการว่างงานน่าจะสูงถึงกว่าร้อยละ 20 ไม่ใช่ร้อยละ 8.3 และว่าราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนเปลี้ย ในช่วงนี้ของปี ราคาน้ำมันได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เมื่อถึงฤดูร้อนอาจพุ่งสูงถึง 5 หรือกระทั่ง 6 ดอลลาร์ต่อแกลลอน (ดูบทรายงานข่าว Trump Warns "Massive Inflation" Coming, Prepare ใน newsmax.com 050312)

และเนื่องจากภาวะการว่างงาน สินค้าราคาสูง ได้เกิดปัญหาการลักขโมยระบาดไปทั่วประเทศ เพื่ออยู่รอดในยามเศรษฐกิจถดถอย บางเรื่องดูแปลกประหลาด เช่น

(1) การขโมยน้ำยาซักผ้าระบาดตั้งแต่รัฐนิวยอร์กถึงโอเรกอน เป็นน้ำยาซักผ้ายอดนิยมยี่ห้อไทด์ ราคาขายในท้องตลาดสูงราวขวดละ 10 ถึง 20 ดอลลาร์ แต่ราคาในตลาดมืดเพียงราวครึ่งหนึ่ง เกิดการขโมยเพื่อขายในตลาดมืดหรือนำไปแลกกับยาเสพติด มีคนหนึ่งได้ขโมยน้ำยาซักผ้ายี่ห้อนี้เป็นมูลค่าถึง 25,000 ดอลลาร์ ในรอบ 15 เดือน

อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่าการขโมยของแบบนี้มักเลือกสินค้ายี่ห้อดังเพื่อขายต่อได้สะดวก (The Daily, 120312)

(2) การขโมยน้ำมันพืชใช้แล้วเนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูง จากรัฐแคลิฟอร์เนียถึงเมน น้ำมันพืชใช้แล้วเดิมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเคมีและอาหารสัตว์ แต่ในตอนหลังนำมาใช้เป็นไบโอดีเซล ทำให้ความต้องการพุ่งสูง ในภัตตาคารจำนวนมากเก็บน้ำมันใช้แล้วไว้นอกอาคาร เปิดช่องให้นักเก็บของใช้แล้วมาลักเอาไป จนหลายแห่งต้องใช้มาตรการป้องกัน ราคาน้ำมันพืชใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่านับแต่ปี 2005 (USA Today 100312)

(3) การขโมยเครื่องทำความร้อนของวัด วัดก็ยังกลายเป็นเป้าการโจรกรรมเมื่อโบสถ์ที่เมืองมอร์แกนตันถูกขโมยเครื่องทำความร้อนไป 4 เครื่อง โดยหวังที่จะได้ทองแดงที่อยู่ในเครื่องนั้น มูลค่าความเสียหายราว 18,000 ดอลลาร์ (Morganton News Herald, 210212)

(4) การขโมยรวงผึ้งที่สูงราว 3 ฟุตจากภัตตาคารแห่งหนึ่งที่เมืองฮุสตัน บ้านที่สร้างให้ผึ้งราว 5 พันตัวมาสร้างรวงรังนี้มูลค่า 1,000 ดอลลาร์ ภัตตาคารแห่งนี้ปลูกพืชผักเองเพื่อใช้ประกอบอาหาร และใช้ผึ้งในการผสมเกสรและผลิตน้ำผึ้ง (Houston Chronicle มีนาคม 2012)

เมื่อประเทศอภิมหาอำนาจโลกยังเป็นเช่นนี้ ประเทศอื่นก็คงต้องเตรียมพร้อมป้องกันตนเองไว้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

มีบทความเรื่อง น้ำมัน ที่แล้วมาของผู้เรียบเรียง
การผลิตน้ำมันสูงสุดฯ, วิกฤติน้ำมันกับโลกาภิวัตน์, ฯ เมื่อน้ำมันขาดแคลน โดย อนุช อาภาภิรม
อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2011/08/blog-post_06.html



.