.
โบโรบูดูร์ (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 30
เนื้อความในคัมภีร์คันทวยูหะ กินเนื้อที่ของภาพสลักบนโบโรบูดูร์เป็นส่วนใหญ่ คือเริ่มจากระเบียงคดชั้นที่สองต่อขึ้นไปจนสุดภาพสลักบนระเบียงคดชั้นที่สี่ รวมทั้งหมดเป็น 460 ระเบียงภาพ
คันทวยูหะฉบับสมบูรณ์ในภาษาสันสกฤตได้อันตรธานไปแล้ว ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันคือฉบับแปลภาษาจีนและญี่ปุ่น (ซึ่งแปลจากจีนอีกที) เท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือคันทวยูหะฉบับสมบูรณ์ในภาษาจีนนั้น เพิ่งแปลเสร็จในพุทธศตวรรษที่ 13 หลังการสร้างโบโรบูดูร์ แสดงว่าชาวชวามีคัมภีร์เรื่องนี้ในมือก่อนจีนเสียอีก และอาจเป็นสำนวนที่ต่างกันก็ได้ จึงมีเนื้อความที่ปรากฏในภาพสลักไม่ตรงกับคัมภีร์จีนทีเดียวนัก
คันทวยูหะเล่าถึงการเดินทางแสวงหา "ปัญญา" ของชายหนุ่มที่ชื่อสุธน ได้พบครูนานาชนิด ซึ่งคัมภีร์เรียกว่า "กัลยาณมิตร" ที่แนะให้สุธนเดินทางไปพบครูคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ ในคัมภีร์ได้พบครูถึง 110 คน แต่โบโรบูดูร์นำเสนอไว้เพียง 45 ตอน ประกอบเป็นระเบียงภาพ 126 ระเบียง ที่เหลืออีก 334 ระเบียงภาพเล่าตอนที่สุธนได้พบพระเมตไตรยบนที่อยู่ของพระเมตไตรยแล้ว (ไม่ใช่บนสวรรค์ชั้นดุสิต แต่เป็นส่วนหนึ่งของพุทธเกษตรของพระมหาไวโรจนะ) และได้รับคำสอนทั้งจากพระโพธิสัตว์เมตไตรย และพระโพธิสัตว์สมันตภัทร องค์หลังนี้มีความสำคัญที่สุดในการทำให้สุธนบรรลุ "ปัญญา"
คันทวยูหะไม่มีเรื่องรักหรือผจญภัยอย่างที่มีในชาดก เนื้อเรื่องล้วนเป็นนามธรรม ซึ่งยากที่ประติมากรจะเสนอออกเป็นภาพสลักได้ ฉะนั้น จึงเต็มไปด้วยภาพสัญลักษณ์ต่างๆ แทนเนื้อหา ผู้จาริกแสวงบุญในสมัยโบราณจะดูภาพเหล่านี้รู้เรื่องได้ ก็ต้องรู้ความในคันทวยูหะมาก่อน หรือมีนักบวชซึ่งนำมาคอยอธิบาย
เรื่องนี้ก็เป็นปริศนาอีกอย่างหนึ่งของโบโรบูดูร์ ใครคือผู้จาริกแสวงบุญ ชาวบ้านธรรมดา หรือนักศึกษาทางศาสนาที่ช่ำชองหลักธรรมในมหายานแล้ว หรืออาจเป็นได้ทั้งสองพวก ร่องรอยหลักฐานที่เหลืออยู่ชี้ไปทางใดก็ได้ทั้งสิ้น
ภาพสลักคันทวยูหะมาจบลงในระเบียงคดชั้นที่ 4 เมื่อพระโพธิสัตว์สมันตภัทร แสดงปณิธานที่จะเจริญรอยตามวิถีแห่งพุทธะทั้งหลาย โดยมีสุธนร่วมอยู่ในปณิธานนั้นด้วย เหล่าพุทธะต่างแสดงความยินดีกับทั้งสอง
จากนั้น ผู้จาริกแสวงบุญก็จะก้าวพ้นจากระเบียงคด ขึ้นสู่ลานกว้างสามระดับ มีแถวเจดีย์เรียงเป็นวงกลมลดหลั่นกันสามชั้น ลานชั้นที่สามประดิษฐานพระสถูปใหญ่ มีสถูปเล็กล้อมรอบ
ระเบียงคดทั้งสี่ชั้นที่ผ่านมานั้น แม้ไม่มีหลังคา แต่ผู้เดินชมระเบียงภาพจะถูกบีบด้วยผนังภาพสองข้าง ทางเดินกว้างสัก 2 เมตร ฉะนั้น เมื่อขึ้นพ้นจากระเบียงคด ถึงลานสถูปหรือเจดีย์ในระดับแรก ความรู้สึกที่ได้ทันทีคือทุกอย่างดูเปิดโล่งเบาสบายขึ้น มองเห็นทิวทัศน์โดยรอบไปได้ไกล เหมือนเป็นความหลุดพ้นด้านจิตใจไปพร้อมกัน
เจตนาที่จะแบ่งระดับทั้งของระเบียงคด และระหว่างชั้นต่างๆ ของระเบียงคดกับลานเจดีย์อีกสามชั้นนั้นเห็นได้ชัด เพราะแต่ละชั้นของระเบียงคด รวมทั้งขั้นสุดท้ายก่อนจะถึงลานเจดีย์ ล้วนมีประตูให้ผู้จาริกแสวงบุญเดินผ่านขึ้นไป
ประตูดังกล่าวเหมือนประตูที่เราเห็นอยู่ทั่วไปในบาหลีปัจจุบัน นั่นคือมีแต่เสาสองข้าง ไม่มีบานประตูแต่อย่างใด ประตูลักษณะนี้ ไทยเรียกว่าโขลนทวาร หรือประตูป่า ไม่ได้มีไว้กั้นคนเข้าออกทางกายภาพ (จึงไม่ต้องมีบาน) แต่เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตระหว่างพื้นที่นอกและในประตู มีกฎระเบียบและคุณสมบัติของบุคคลต่างกัน เช่น ทางเข้าหมู่บ้านไทยสมัยก่อน มักมีประตูป่าและศาลเจ้าที่ของหมู่บ้านตั้งอยู่หลังประตู เมื่อเดินผ่านประตูเข้าสู่หมู่บ้าน ก็ต้องรับเอากฎเกณฑ์ของหมู่บ้านมาปฏิบัติ
ประตูแต่ละชั้นของโบโรบูดูร์ก็เหมือนกัน แสดงความแตกต่าง (ด้านปัญญาและจิตใจ) ระหว่างชั้นต่างๆ เมื่อบุคคลได้ผ่านประตูขึ้นสู่ชั้นที่สูงขึ้น คุณสมบัติของเขาก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว คือพัฒนาปัญญาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จนถึงระเบียงคดชั้นที่สี่ ก็ต้องผ่านประตูสู่ชั้นที่เป็นลานเจดีย์อันเปิดโล่งและไม่มีภาพสลักอีกต่อไป กลายเป็นบุคคลอีกระดับหนึ่งที่สามารถเข้าถึงโพธิสัตวญาณได้ง่ายขึ้น
ประตูจึงแสดงให้เห็นว่า ชั้นของโบโรบูดูร์นั้นมีความหมายในทางธรรมแน่ ไม่ใช่เพียงชั้นของสถาปัตยกรรมที่สร้างบนเนินเขาเท่านั้น
สถูปหรือเจดีย์เล็กที่รายรอบลานทั้งสามระดับนั้นมีทั้งหมด 72 องค์ แต่องค์เจดีย์ไม่ทึบ ข้างในโปร่ง องค์ระฆังมีช่องทั้งองค์ เจดีย์ในสองระดับแรกช่องรอบองค์ระฆังเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แต่เจดีย์รายที่ล้อมรอบสถูปใหญ่กลับเป็นช่องรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส หากมองลอดเข้าไปในช่องนั้นก็จะเห็นพระพุทธรูปภายในทุกองค์เจดีย์ ส่วนพระสถูปใหญ่ที่อยู่บนยอดนั้นทึบ มองไม่เห็นอะไรภายใน
หมายความว่าอะไร ไม่มีใครทราบแน่ เพียงแต่ทุกคนเชื่อว่า ต้องมีความหมายอะไรสักอย่างในปรัชญามหายาน
โบโรบูดูร์เป็นพุทธสถานที่มีรหัส มีนักวิชาการพยายามถอดรหัสมามาก ทั้งเป็นที่ยอมรับและไม่เป็นที่ยอมรับ
ผมจะนำเอาการถอดรหัสที่ยอมรับกันกว้างขวางหน่อยมาเล่า
ดังที่กล่าวแล้วว่า โบโรบูดูร์ประกอบด้วยระเบียงคด 4 ชั้น (ไม่นับชั้นที่อยู่ใต้ดิน) ก่อนจะถึงลานเจดีย์สามชั้นบน หากผู้จาริกแสวงบุญ เดินประทักษิณศึกษาภาพสลักในระเบียงคดชั้นแรก ก็จะต้องเดินสี่รอบ ขึ้นไปชั้นที่สอง-สาม-สี่ ภาพสลักจะมีเพียงสองแถว คือด้านนอกและด้านใน แต่ละชั้นก็จะต้องเดินสองรอบ รวมทั้งหมดก่อนที่จะบรรลุลานเจดีย์ในชั้นที่ 5 ผู้จาริกแสวงบุญก็ต้องเดินประทักษิณ 10 รอบ
ทำไมถึงต้องเป็น 10 ก็เพราะ 10 คือบารมี 10 ประการที่บุคคลต้องสั่งสมก่อนจะตรัสเป็นพระโพธิสัตว์ได้ การศึกษาเรียนรู้หลักศาสนามหายานจากภาพสลักไปทีละขั้นถึง 10 รอบ คือการเปรียบกับการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์นั่นเอง
หลังจากนั้น ก็ได้บรรลุธรรมขั้นสูง ที่ทำให้โปร่งโล่งสบายและมีดวงตาเห็นธรรม อันเปรียบได้กับการขึ้นไปถึงลานเจดีย์ทั้งสามชั้น ไปจบลงที่ได้นมัสการพระสถูปใหญ่บนยอดซึ่งเปรียบเหมือนสุดยอดของอุดมคติในพุทธศาสนามหายาน คือได้บรรลุโพธิสัตวญาณ
นี่เป็นรหัสของโบโรบูดูร์ที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างหนึ่ง เพราะมีความหมายของภาพสลักและคัมภีร์มหายานรองรับ
อีกรหัสหนึ่งที่มีผู้กล่าวถึงกันมากก็คือ แท้จริงแล้วโบโรบูดูร์เมื่อดูจากภายนอกคือ "ภูเขา" อันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งของชวาและของมหายาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชาวชวามักจะเกลี่ยยอดเขาให้เป็นลาน (อย่างที่ปรากฏบนโบโรบูดูร์) เพื่อใช้เป็นที่ฝังอัฐิบรรพบุรุษและทำพิธี ส่วนเขาพระสุเมรุในมหายานก็เป็นแกนกลางของกามภพ, รูปภพและอรูปภพ ฉะนั้น หนึ่งในรหัสทั้งหลายก็คือโบโรบูดูร์คือตัวแทนของจักรวาล
ผังของโบโรบูดูร์นั้น หากมองจากมุมของนก คือมัณฑละอย่างหนึ่ง กล่าวคือมีสี่เหลี่ยมสี่ชั้น ล้อมรอบวงกลมสามชั้น นับเป็นสาระสำคัญของมัณฑละทั้งประเภทธรรมธาตุและวัชรธาตุของพุทธตันตระในระยะแรก รหัสอีกอันหนึ่งของโบโรบูดูร์จึงเป็นการสร้างมัณฑละ
แต่ก็เป็นมัณฑละที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ คือแทนที่จะเขียนเป็นภาพ หรือเขียนด้วยแป้งสีกรวดสีลงบนพื้น กลับทำเป็นสถาปัตยกรรม แทนที่ผู้เข้าร่วมพิธีจะจ้องมองมัณฑละ กลับเดินเข้าไปในมัณฑละ พร้อมทั้งตั้งจิตเป็นสมาธิ เพื่อทำวิปัสสนากับคำสอนต่างๆ ที่ปรากฏทั้งในภาพสลักและในตัวสถาปัตยกรรม
รหัสอันลี้ลับทางศาสนาของโบโรบูดูร์เช่นนี้ ทำให้โบโรบูดูร์ยังคงดึงดูดศาสนิกของมหายานจนถึงปัจจุบัน ลามะจากทิเบตและตอนเหนือของอินเดีย นิยมมาทำพิธีและทำสมาธิที่โบโรบูดูร์ ไม่ไกลจากโบโรบูดูร์ในระยะที่เดินได้ มีที่พักของลามะ รวมทั้งโรงแรมของผู้ที่ใฝ่ใจอยากชมโบโรบูดูร์โดยละเอียด เพราะสามารถเดินมาชมได้ตลอดเวลาฟรี ระหว่างที่ผมไปก็มีลามะและสานุศิษย์จำนวนมาก มาพักที่ที่พักแห่งนี้ และมักมาทำพิธีกันในตอนเช้า ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะมาถึง
ไม่ว่าโบโรบูดูร์จะมีความหมายอย่างไร ปัญหาที่ตามมาทันทีก็คือ เขาสร้างโบโรบูดูร์ขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเรียนรู้หรือฝึกใจทางศาสนา หรือเขาสร้างสำหรับนักบวชและผู้คงแก่เรียน ใช้ทำพิธีบางอย่างโดยเฉพาะ หรือสร้างไว้ทั้งสองอย่าง ไม่ไกลจากโบโรบูดูร์ มีพุทธสถานอีกแห่งหนึ่งซึ่งร่วมสมัยกัน ชื่อ (ในปัจจุบัน) ว่า เซวู บางคนอธิบายว่าครูและศิษย์จะมาทำพิธีที่วิหารเซวูก่อน แล้วจึงเดินทางหรือแห่กันมาที่โบโรบูดูร์ แต่นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ไม่มีหลักฐานอื่นรองรับเท่านั้น
ฐานะเศรษฐกิจของคนไทยดีขึ้น จนกระทั่งคนไทยเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของเพื่อนบ้านอาเซียน แม่ค้าขายของที่ระลึกในชวาและบาหลี ต่างพูดไทยเพื่อชวนซื้อสินค้าได้ ไม่ต่างจากพ่อค้าแม่ค้าในเวียดนาม, พม่าและกัมพูชา
แต่นักท่องเที่ยวไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นนักช็อป, แชะ, ฉี่ คือไม่อยากเรียนรู้ผู้คนและสถานที่ซึ่งไปท่องเที่ยว ขอแต่ได้ช็อปปิ้ง, ได้ถ่ายรูป และมีห้องน้ำที่สะอาดพอให้ใช้ ก็พอแล้ว
ที่จริงการท่องเที่ยวเป็นหนทางที่ง่ายและได้ผลในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากการท่องเที่ยวนำมาซึ่งความรู้เกี่ยวกับผู้คนและวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน แต่การท่องเที่ยวแบบช็อป, แชะ, ฉี่ ไม่ให้ผลในแง่นี้
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวไทยอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้อยากเที่ยวแบบช็อป, แชะ, ฉี่ เพราะเมื่อนักวิชาการจัดทัวร์ประเทศเพื่อนบ้าน ก็มักมีคนขอจองที่กันเต็มทุกครั้งไป แต่นักวิชาการก็มีเวลาจะจัดได้ไม่บ่อยนัก
เราน่าจะเปิดทางเลือกของการท่องเที่ยวแบบเพื่อความรู้ให้มากขึ้น ถึงไม่สามารถจัดในเชิงธุรกิจได้ ก็สามารถทำเป็นหนังสือสำหรับขายให้นักท่องเที่ยวไทยที่อยากเดินทางไปเอง หรือซื้อทัวร์ชนิดเลือกรายการได้ไป ดูนครวัดอย่างไรให้สนุกด้วย และได้ความรู้ด้วย (หรือพระนครศรีอยุธยา, สุโขทัย, ศรีสัชนาลัย, หรือเชียงใหม่, หรือสงขลา ฯลฯ) จะแทรกที่กินที่ช็อปไว้ด้วยก็ได้ แต่ต้องมีความรู้ทั้งด้านวัฒนธรรมและสังคมของแหล่งท่องเที่ยว
ผมมองไม่เห็นใครที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีไปกว่า ททท. ไม่ทำเองก็อาจทำให้เกิดขึ้นให้ได้
* * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่าน โบโรบูดูร์ (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ . . ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/04/1-n-brbd.html
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย