http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-10

นิธิ เอียวศรีวงศ์: 300 บาท กับภาระใหม่ของรัฐ

.

300 บาท กับภาระใหม่ของรัฐ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 15:15:25 น.


วันที่ 1 เมษายน มาถึงพร้อมกับโอกาสที่ควรแสดงความยินดีกับรัฐบาลนี้ ที่สามารถเพิ่มค่าแรงแก่แรงงานใน 7 จังหวัดที่มีการจ้างงานสูง และด้วยเหตุดังนั้น จึงอาจขยายไปทั่วประเทศได้ไม่ยากในอนาคต เป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มค่าแรงแบบก้าวกระโดด หลังจากเพิ่มอย่างกะปริบกะปรอยไม่ทันกับเงินเฟ้อมาเป็นสิบปี

จุดมุ่งหมายเพื่อการหาเสียงหรืออะไรก็ตามที บัดนี้ค่าแรงไทยสูงกว่าทุกประเทศในอาเซียน ยกเว้นมาเลเซีย, สิงคโปร์ และบรูไน ดังนั้น นโยบายเพิ่มค่าแรงจึงเท่ากับวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไปสู่ทิศทางใหม่ ไทยจะไม่แข่งขันเป็นโรงงานนรกให้แก่อุตสาหกรรมตะวันตกอีกแล้ว อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะไม่มีอนาคตในประเทศไทย


นายทุนและสมุนจึงมักข่มขู่ว่า จะมีการย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทย ซึ่งก็คงเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมประเภทที่เน้นแรงงานราคาถูก
อันที่จริงอุตสาหกรรมประเภทนี้ได้ "ย้ายฐาน" ไปก่อนหน้านี้แล้ว บางส่วนอาศัยชายแดนไทยเป็นที่ตั้งโรงงานเท่านั้น แรงงานทั้งหมดมาจากพม่า หรือลาว หรือกัมพูชา แต่ที่ยังเลือกตั้งโรงงานตามชายแดนไทย ก็เพราะถนนหนทางและการสื่อสารคมนาคมที่สะดวกของไทย ช่วยให้ขนส่งวัตถุดิบและสินค้าได้ในราคาต่ำลง

กรณีของโรงงานตามชายแดน ให้บทเรียนว่า "ฐานการผลิต" ไม่ใช่ที่ตั้งของโรงงานเพียงอย่างเดียว อุตสาหกรรมโลกาภิวัตน์ไม่ได้จำกัดอยู่ในเส้นเขตแดนของรัฐชาติไปนานแล้ว ความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย ทำให้อย่างไรเสียไทยก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ "ฐานการผลิต" ของอุตสาหกรรมแรงงานถูกอยู่นั่นเอง การจ้างงานในโรงงานนรกของประเทศไทยอาจลดลง (ซึ่งก็ดีแล้ว) แต่อาจไปโผล่ในกิจการอื่นๆ เช่นการขนส่งและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง, การสื่อสาร หรือถ้าเรามีกึ๋นพอ ก็อาจเป็นการวางตลาดสินค้า (ที่เราไม่ได้ผลิตเอง) ในตลาดที่มีความต้องการสินค้าคุณภาพต่ำเช่นนั้น ตำแหน่งงานใหม่ที่เกิดขึ้นอาจมีมากกว่าตำแหน่งเหงื่อท่วมตัวในโรงงานนรกเสียอีก ซ้ำยังเหมาะกับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นของไทยด้วย

ในส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นประกอบรถยนต์ ขอประทานโทษเถิด "มึงจะย้ายไปไหน?" ค่าแรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการคำนวณว่า จะตั้งโรงงานที่ไหนจึงจะได้กำไรดีที่สุด
ฝีมือแรงงาน, โครงสร้างพื้นฐาน, ตลาดภายใน, สิ่งแวดล้อมทางสังคม, กฎหมายและการรักษากฎหมาย ฯลฯ ล้วนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า หรือบางอย่างมากกว่าค่าแรงด้วยซ้ำ

ผมไม่ได้หมายความว่าปัจจัยอื่นๆ เหล่านี้ของไทยดีเลิศ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรอบบ้านแล้ว เราดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียซึ่งประกอบด้วยเกาะนับพัน ถนนหนทาง (แม้ในเกาะชวา) ก็ยังไม่พัฒนาถึงขั้นมาตรฐานสากลอย่างไทย ที่สำคัญกว่านั้น ไม่มีใครคาดเดาอนาคตของมุสลิมหัวรุนแรงในอินโดนีเซียได้ ในขณะที่คาดเดาน้ำท่วมในประเทศไทยพอได้ และดังนั้นจึงหาทางป้องกันได้


อย่างไรก็ตาม เพราะรัฐบาลเพิ่มค่าแรงอย่างก้าวกระโดด (ซึ่งเป็นการกระทำที่ควรสรรเสริญ) อันเป็นการเริ่มทิศทางใหม่ของเศรษฐกิจไทย รัฐบาลจึงมีภาระที่จะต้องทำอย่างอื่นๆ ควบคู่กันไปกับการขึ้นค่าแรงด้วย จะรอเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียวไม่พอ เพราะความได้เปรียบของไทยนั้น นับวันก็มีแต่จะลดลงเป็นธรรมดา เนื่องจากประเทศอื่นย่อมพัฒนาตามมา การเพิ่มค่าแรงจึงควรเป็นจุดเริ่มต้นที่ไทยจะผลักดันตัวเองไปสู่เศรษฐกิจระนาบที่สูงขึ้น

สิ่งต่อไปนี้เป็นอย่างน้อยที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจ และวางมาตรการในการพัฒนาอย่างเร่งด่วน

1. จะรักษาความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้ ก็ต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รัฐต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้ การขนส่งระบบรางจะช่วยตอบปัญหาราคาพลังงานซึ่งนับวันมีแต่จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก่อนจะคิดถึงรถไฟความเร็วสูง ควรคิดถึงรถไฟรางคู่ทั้งประเทศก่อน หากทำฐานรางให้แข็งแรง รถไฟก็จะใช้ความเร็วได้เต็มสมรรถนะของหัวรถจักร ซึ่งก็ช่วยให้การเดินทางทำได้รวดเร็วและสะดวกขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ควรเร่งพัฒนาการสื่อสารให้ก้าวหน้ากว่านี้ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาธุรกรรมทางการเงินได้ดีขึ้น พร้อมทั้งขยายพื้นที่สำหรับตลาดภายในไปพร้อมกัน

2. ถึงอย่างไร ประเทศไทยก็มีแรงงานไม่พอสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว อย่างไรเสียก็ต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เพื่อมิให้แรงงานข้ามชาติแย่งงานคนไทย ต้องทำให้แน่ใจได้ว่า แรงงานข้ามชาติจะได้รับค่าแรงและสวัสดิการทุกอย่างเหมือนแรงงานไทย

นายจ้างบางคนอ้างว่า แรงงานข้ามชาติ"หัวอ่อน" จึงยินดีจ้างแรงงานข้ามชาติมากกว่า แท้จริงแล้วความ "หัวอ่อน" ของเขาเกิดขึ้นจากความไม่มั่นคงในอาชีพการงานต่างหาก แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยถูกกฎหมายมีเพียง 5-10% ส่วนใหญ่จึงเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย และไม่คิดจะต่อรองกับนายจ้าง นโยบายแรงงานข้ามชาติของไทย จึงควรลดอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถทำงานอย่างถูกกฎหมายได้ เพราะทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของนายจ้าง ตำรวจ และโสณทุจริตที่หากำไรจากการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศ แทนที่จะปล่อยให้คนเหล่านี้ขูดรีดแรงงานข้ามชาติอย่างไม่ยุติธรรม รัฐควรมีทะเบียนที่ถูกต้องและครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทั้งหมด เพื่อเรียกเก็บค่าประกันสังคมอย่างเดียวกับที่แรงงานไทยต้องจ่าย เป็นหลักประกันว่า แรงงานข้ามชาติจะได้สิทธิประโยชน์เหมือนแรงงานไทยทุกอย่าง

3. เป้าหมายที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านมนุษยธรรมของการเพิ่มค่าแรงก็คือ เปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มผลิตภาพของแรงงานได้จริง รัฐบาลควรคิดเรื่องนี้ให้รอบด้าน จะพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้ผลจริง โดยวิธีใด
วิธีเดิมคือ มีกรมอยู่กรมหนึ่งในกระทรวงแรงงานรับผิดชอบไป พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผล

จะระดมพลังในเรื่องนี้จากทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมมือกันโดยวิธีใด จึงจะสามารถเห็นผลได้ในเร็ววัน ในขณะเดียวกัน รัฐต้องสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้นายจ้างอยากพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย นับตั้งแต่ส่งเสริมการศึกษาของแรงงาน ให้รางวัลตอบแทน (เช่นเพิ่มค่าจ้าง) แก่แรงงานที่สามารถพัฒนาตนเองได้ ลดภาษีการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น ไม่ใช่ลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักรโดยไม่ขยับเทคโนโลยีเลย เป็นต้น

4. รัฐบาลต้องเร่งปรับคุณภาพการศึกษาทุกระดับ เช่น นำการสอบตกซ้ำชั้นกลับมาใช้อย่างจริงจัง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องมีความสำคัญในระบบการศึกษามากขึ้นกว่านี้ ฉะนั้น ควรปรับปรุงคุณภาพของมหาวิทยาลัยราชมงคลทั่วประเทศ อุตสาหกรรมไทยต้องการผู้บริหารระดับกลางๆที่มีความสามารถทั้งในการทำงานที่รับผิดชอบ และไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นไปพร้อมกัน ผลผลิตของราชมงคลต้องเป็นที่ต้องการ หากมีคุณภาพมากกว่านี้ ทำให้ชีวิตของนักเรียน "ช่าง" ทั้งหลายมีความหมายมากกว่าการตีกันระหว่างโรงเรียน
แน่นอนว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต้องไปสูงกว่าการฝึกอาชีพ คือ เป็นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการวิจัยค้นคว้าด้วย

การศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในรั้วโรงเรียน รัฐบาลควรคิดถึงการศึกษาในชีวิตประจำวันของคนไทยให้มาก ทีวีหรือวิทยุที่เสนอสารคดีความรู้ต่างๆ (และทำได้ดี) ควรได้รับเงินอุดหนุน หรือลดค่าสัมปทานลง หน่วยงานของรัฐด้านซอฟต์แวร์ควรเลิกเป็นสาขาของไมโครซอฟท์ แต่หันมาส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดซอฟต์แวร์สำหรับการเรียนรู้ต่างๆ หนังสือที่หมดลิขสิทธิ์แล้ว รัฐควรเผยแพร่ให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยสะดวกผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ในขณะเดียวกัน หลักสูตรของกระทรวงในทุกระดับ ต้องออกแบบให้ความรู้จากนอกห้องเรียนและในห้องเรียน สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยสะดวก สำนักงานมาตรฐานการศึกษา พัฒนาวิธีวัดความรู้ที่มีประสิทธิภาพพอที่จะให้ทุกคนสามารถขอประเมินตนเองได้ ในทุกระดับการศึกษา และในทุกเนื้อหาวิชา

5. รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรของท้องถิ่นและของชาติ ฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากทำให้เกิดรายได้แล้ว ยังกระจายโอกาสสร้างรายได้ไปในหมู่คนอย่างกว้างขวางด้วย ในขณะเดียวกันก็มีศักยภาพที่จะใช้ความรู้สมัยใหม่มาเสริมต่อ จนเกิดอุตสาหกรรมชั้นสูงได้ การเปิดฐานทรัพยากรให้ทุนไปตักตวงทองคำหรือโปแตชอย่างง่ายๆ เป็นการคิดสั้น ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่เหมาะกับการเริ่มต้นทิศทางใหม่ของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งควรก้าวเข้าสู่การผลิตที่ใช้ฐานความรู้มากขึ้น ไม่ใช่การขุดและขูดสมบัติขายอีกต่อไป


"ราคาค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งเร่งเร้าให้คนออกจากภาคเกษตรเร็วขึ้นและมากขึ้น"

6. ราคาค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งเร่งเร้าให้คนออกจากภาคเกษตรเร็วขึ้นและมากขึ้น ดูเผินๆ เหมือนจะไม่เป็นไร หากภาคอุตสาหกรรมและบริการขยายตัวได้ทันและรับแรงงานส่วนนี้ไป แต่จริงๆ แล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในภาคเกษตรของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างกว้างขวางมาก



ทุนขนาดใหญ่ ทั้งของไทยและต่างประเทศ คงจะเข้าไปผลิตด้านเกษตรกรรมแทน แต่ด้วยความขาดแคลนแรงงาน ก็คงต้องผลิตในเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนให้มาก ผลก็คือราคาอาหารในประเทศจะสูงขึ้น จนค่าแรงไม่อาจขึ้นตามทันได้ หรือมิฉะนั้น รัฐก็ต้องเข้ามาอุดหนุน (subsidize)การผลิต ซึ่งไม่ส่งผลดีแต่อย่างไรต่อด้านความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ, ส่งออกมากก็ยิ่งเสียงบประมาณมาก, ซ้ำยังบิดเบือนกลไกราคา และสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเครื่องจักรและเคมีพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน้อยลง กำไรเป็นตัวกำหนดเหนืออื่นใด

นอกจากนี้ การผลิตอาหารที่ถูกผูกขาดอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท ยังเป็นผลให้คุณภาพของอาหารเลวลงจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ในขณะที่อำนาจเงินของบริษัทขนาดใหญ่ด้านการเกษตร ทำให้บริษัทเหล่านี้มีอำนาจเหนือรัฐ ในที่สุดก็ต้องสังเวยสุขภาวะของประชาชนให้แก่ผลกำไรของบริษัทสามสี่บริษัทนั้นตลอดไป


"เกษตรกรอิสระ" (ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็นเกษตรกรรมตลาดนี่แหละ หากเป็นเกษตรกรรมที่มีความเคารพต่อผลิตภัณฑ์ของตนเอง, ต่อผู้บริโภค, ต่อตนเอง และต่อสิ่งแวดล้อม) จึงมีความสำคัญ รัฐบาลต้องพยายามทุกวิถีทางให้พวกเขาอยู่ได้ มีรายได้และความมั่นคงในชีวิตไม่น้อยไปกว่าแรงงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม หรือเหนือกว่า

การเพิ่มค่าแรงจึงต้องหมายถึงการเอาใจใส่ด้านเกษตรกรรมมากขึ้น หาทางที่จะพัฒนาชาวนาชาวไร่ซึ่งมีหนี้สินรุงรังให้ก้าวไปสู่ "เกษตรกรอิสระ" ที่แข็งแกร่งให้จงได้



.