http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-26

ฐากูร: ขอชาวบ้านพูดบ้าง/ นฤตย์: สัญญาณเตือน


.
โพสต์เพิ่ม - ปราปต์ บุนปาน : เพราะว่าคุณประมาทราษฎร

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ฐากูร บุนปาน : ขอชาวบ้านพูดบ้าง
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 22:55:00 น.


ผลการเลือกตั้งทั้งระดับชาติชิงเก้าอี้ ส.ส. และระดับท้องถิ่นชิงเก้าอี้นายก อบจ. ที่ตัวแทนของพรรค เพื่อไทยพ่ายแพ้อย่างราบคาบทั้งสองสนามนั้น
ไม่ว่าจะเพราะเหตุผลว่า "เสื้อแดงแตกกัน" "ไม่ขยันลงพื้นที่" "ไม่เคยเห็นหัวเวลาชาวบ้านเดือดร้อน" หรืออะไรก็ตามที
แต่สะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองข้อหนึ่งให้เห็นว่า 
การเมืองนั้นเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลง ความนิยมของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงได้

วันที่คุณๆ ท่านๆ ทั้งหลายยืนเคียงข้าง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา ชาวบ้านก็พร้อมจะตอบสนองในสิ่งที่คุณๆ ท่านๆ ต้องการ
แต่เมื่อไหร่ที่ชนะแล้วเสวยสุข ชนะแล้วเหิมเกริม
ชาวบ้านก็หันไปหาคนหรือพรรคที่ดีกว่า
เป็นปกติธรรมดาอย่างยิ่ง


แต่ถ้าคิดว่าปทุมธานีนั้นคือ "จังหวัดสีแดง" และมีบทบาทมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ถึงขนาดที่พรรคเพื่อไทยกวาดเก้าอี้ทั้งจังหวัดมาหลายสมัย 
ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ก็ไม่ธรรมดา 
และยิ่งจะไม่ธรรมดามากขึ้นเมื่อคิดถึงคำเตือนของอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่พูดเอาไว้ก่อนหน้านี้สักประมาณ 2 สัปดาห์ว่า
ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย รวมไปถึง นปช. ยัง "ทิ้งมวลชน" เช่นนี้ต่อไป 
เมื่อไหร่ที่ชาวบ้านมี "ทางเลือก" อื่น ที่เขาเห็นว่าสามารถตอบสนองต่อทุกข์สุขของเขาได้ดีกว่า ได้มากกว่า
เขาก็จะหันไปหาทางเลือกที่ว่านั้น 
ทิ้งมวลชนที่ว่านั้นก็คือการละเลยการเยียวยาเหยื่อ ผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง 
หรือการให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ยังต้องคดีการเมืองที่มีอีกจำนวนนับร้อยนับพันทั่วประเทศ 

เช่นเดียวกันกับที่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขียนลงเฟซบุ๊กตัวเองว่า
พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. จะปรองดองอะไรก็ทำไป แต่อย่ากดดันหรือบังคับให้ญาติของผู้เสียชีวิต 91 ศพต้อง "เสียสละ" มาร่วมรับแผนปรองดองของตัวเองด้วย
เพราะไม่ว่า "แม่น้องเกด" หรือญาติของผู้เสียชีวิตคนไหนก็ตาม ที่ถูกพาดพิงว่าควรจะเสียสละเพื่อ "ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่" นั้น
เอาเข้าจริงๆ แล้วนั่นไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครทั้งสิ้น
แต่เป็นการพยายามสร้าง "บรรทัดฐาน" ของ "นิติรัฐ" ให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ 
ว่าการฆ่าคนบริสุทธิ์จำนวนมากโดยรัฐ โดยไม่มีใครจะรับผิดชอบเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรยอมรับเลย ในประเทศประชาธิปไตย 
นี่เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ที่สุด เป็นเรื่องของอนาคตของประเทศและประชาธิปไตย



ไม่รู้ว่าเมื่อเป็นรัฐบาลมีอำนาจวาสนากันไปแล้ว 
ท่านทั้งหลายยังจะได้ยินเสียงเตือนของ "มิตร" อย่างอาจารย์ทั้งสองท่านนี้หรือไม่  
หรือจะ "แปลสัญญาณ" ของชาวบ้านที่ส่งมาจากปทุมธานีออกหรือไม่

ว่าเมื่อท่านไม่เอาเขา
เขาก็พร้อมจะไม่เอาท่านเหมือนกัน



++

นฤตย์ เสกธีระ : สัญญาณเตือน
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


วันนี้มีสัญญาณเตือนภัยส่งถึงพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล 2 สัญญาณสำคัญ

สัญญาณแรก เกิดขึ้นอย่างชัดแจ้งภายหลังผลการเลือกตั้ง ที่จังหวัดปทุมธานีปรากฏออกมา 
ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ 
ไม่ได้แพ้เฉพาะการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 เท่านั้น หากแต่ยังแพ้การเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีเสียด้วย
และแม้จะแพ้การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 3,000 คะแนน แต่ก็แพ้การเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี เป็นแสนแต้ม

มีข้อน่าสนใจตรงที่ ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานีของพรรคเพื่อไทย ก็คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขต 5 ที่ลาออกไป 
งานนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยเสียหายหนัก คือ เสียทั้งที่นั่ง ส.ส. และยังไม่ได้ที่นั่งนายก อบจ.ปทุมธานี อีกด้วย


พรรคเพื่อไทยยอมรับว่า ความพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ปทุมธานีครั้งนี้ เหตุมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว 
พรรคประชาธิปัตย์มองว่า ความพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ เพราะผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยเป็น "คนนอกพื้นที่"
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ส่ง "คนในพื้นที่" ที่คลุกคลี่ประชาชนลงไปแข่ง 
ผลที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนเลือก "คนในพื้นที่"

ส่วนนักวิเคราะห์การเมืองอย่าง อาจารย์สุขุม นวลสกุล มองว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาคือการให้บทเรียนกับพรรคเพื่อไทย 
นี่ก็คือการใช้อำนาจของประชาชน  

สัญญาณที่เตือนภัยออกมานี้ เร่งเร้าให้พรรคเพื่อไทยต้องเร่งปรับปรุงตัว
ปรับปรุงก่อนจะสายเกินไป !


นอกจากสัญญาณแรกแล้วยังมีสัญญาณที่สองดังกระหึ่มขึ้นมาในจังหวะใกล้เคียงกัน 
สัญญาณที่สองนี้ดังขึ้นเพื่อทักทวงการเร่งรีบดำเนินการปรองดองจนเกินเหตุ 
เสียงที่ทักท้วงมิได้รังเกียจการปรองดอง หากแต่ส่งเสียงคล้ายๆ กับน้อยใจที่รัฐบาลเร่งรีบดำเนินการมากเกินไป

นายณัทพัช อัคฮาด น้องชาย "น้องเกด" ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แสดงความคิดเห็นกับกระบวนการปรองดองว่า เหยื่อในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองต้องไม่ตายฟรี 
นายณัทพัช บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้กลับ ประเทศหรือไม่ เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่คนที่มาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องไม่ตายฟรี
ดูเหมือนเสียงของนายณัทพัช จะดึงกึกก้องอยู่ในหัวใจคนเสื้อแดงเสียด้วย

ความรู้สึกของนายณัทพัชนี้ ถูกสะท้อนออกมาจากปากคำของ นายทวี สุรฤทธิกุล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 
อาจารย์ทวีบอกว่า คนเสื้อแดงที่ จ.เชียงใหม่ เริ่มระแวงรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทั้งที่คนเสื้อแดงชื่นชมนายกรัฐมนตรี แต่เท่าที่ฟังเสียงจากคนเสื้อแดง หลายคนรู้สึกไม่สบายใจที่รัฐบาลจะเกี้ยเซี้ย 
นี่คือ สัญญาณเตือนที่ส่งต่อถึงพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร



เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่เตือนถึงการเร่งรัดการปรองดองในขณะที่เหยื่อผู้สูญเสียยังทำใจไม่ได้ 
สะท้อนให้เห็นว่า การเร่งกระบวนการปรองดอง โดยไม่ทำความเข้าใจกับมวลชน อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี 
สัญญาณเตือนนี้กำลังกระหึ่มอยู่ในหมู่คนเสื้อแดง ยังเคลือบแคลงสงสัย และต้องการคำตอบจากคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาด้วยกันมาก่อน

สัญญาณเตือนนี้ เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลสมควรรับฟัง
อย่างน้อยก็ควรรับรู้ว่ากระบวนการปรองดองนั้นเร่งรัดไม่ได้ 
เพราะกระบวนการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน 



+++

ปราปต์ บุนปาน : เพราะว่าคุณประมาทราษฎร
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 23:02:00 น.


ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ปทุมธานี เขต 5 บ่งบอกทิศทางการเมืองที่น่าสนใจ 
ในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยสามารถกวาด ส.ส. ของจังหวัดดังกล่าวมาได้ครบทั้งหมด 6 ที่นั่ง
ต่อมา ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ส.ส.ปทุมธานี เขต 5 ตัดสินใจลาออกไปลงสมัครนายก อบจ.
จึงนำมาสู่การเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา 

เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ อ.ลำลูกกา 
คู่สมรสของ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี เขต 4 พรรคเพื่อไทย
กับ นายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

แม้จะรับรู้กันว่าพื้นที่เลือกตั้งเขต 5 ปทุมธานี อันประกอบด้วย 3 ตำบลของ อ.ลำลูกกา 
เป็นหนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญของ "คนเสื้อแดง"
แต่ผลการเลือกตั้งซ่อมที่ปทุมธานีกลับออกมาว่า
พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่าย "พ่ายแพ้"

บางคนวิเคราะห์ว่า ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เกิดจากตัวผู้สมัครของเพื่อไทยเอง ซึ่งไม่คุ้นเคยเขตเลือกตั้ง ลงพื้นที่ไม่มากพอ และมีท่าทีมองข้าม "คนเสื้อแดง"
บางกระแสวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งในภาพกว้างขึ้นอีกนิดว่า เมื่อครั้งเกิดวิกฤตมหาอุทกภัย ซึ่ง จ.ปทุมธานี ต้องจำใจยอมรับการมีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านของ กทม.นั้น 
ไม่มี ส.ส.ในพื้นที่จากพรรครัฐบาล แม้เพียงสักคนเดียว ที่ออกมาดูแลประชาชน 
ความปราชัยในการเลือกตั้งซ่อม จึงเป็นบทเรียนที่คนปทุมฯตั้งใจมอบให้แก่ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ


นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายที่กินความไปถึงสถานการณ์การเมืองระดับประเทศ 
กล่าวคือ ความพ่ายแพ้ที่ปทุมธานี อาจแสดงนัยให้เห็นว่า "คนเสื้อแดง" ไม่ยอมรับแนวทางการปรองดองของรัฐบาล 
อันมีแนวโน้มจะเป็นการเกี้ยเซี้ยระหว่าง "ชนชั้นนำ" หรือการพยายามพา "ทักษิณ" กลับบ้าน 
มากกว่าจะเป็นการรื้อฟื้นเรียกคืนความเป็นธรรมให้แก่บรรดา "เหยื่อ" จากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 
ที่หลายคนเสียชีวิต และมีอีกไม่น้อยที่ยังถูกคุมขังในคุก 
มิหนำซ้ำ "เหยื่อ" บางส่วนเริ่มรู้สึกได้ถึงแรงกดดันจากฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทย-แกนนำ นปช. 
ซึ่งคล้ายจะฉุดรั้งพวกเขาไม่ให้เรียกร้อง ในสิ่งที่ตนเองมีสิทธิอยู่อย่างเต็มเปี่ยม หากประเทศนี้ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ



ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่ปทุมธานี ด้วยปัจจัยประการใด 
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ดี สาเหตุเหล่านั้นล้วนมีบ่อเกิดของปัญหาร่วมกันอยู่ประการหนึ่ง 

นั่นคือ ประชาชนบางส่วนเริ่มเกิดความรู้สึกว่า พรรคการเมืองซึ่งได้รับชัยชนะมาจากการต่อสู้-เสียสละ (ชีวิต) ของผู้คนจำนวนมาก 
กำลังสบประมาทและมีวี่แววจะถอยห่างออกจากราษฎร 
ส่งผลมาสู่ความพ่ายแพ้ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรืออาจรวมทั้งครั้งอื่นๆ อีกในอนาคต  
หากคุณยังไม่ยอมย้อนคืนกลับไปหา "รากฐานดั้งเดิม" แห่งชัยชนะของตน



.