http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-22

หนุ่มเมืองจันท์: โจรมุมตึก/ สรกล: ทีวีการเมือง

.

โจรมุมตึก 
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 24


วันนี้มีสภาพคล้ายกับ "โจรมุมตึก" ของการ์ตูนอาวัฒน์ครับ

ถ้าใครติดตามการณ์ของ "อาวัฒน์" จะคุ้นตาว่า "อาวัฒน์" มีการ์ตูนทีเด็ดอยู่ 2 ฉาก
คือ มุมตึก กับ บนเกาะ
นึกฉากไม่ออก ก็เล่นฉากนี้แหละ
อารมณ์ขันจะอยู่ที่บทสนทนาของโจรที่โผล่จากมุมตึกกับเหยื่อ
กับภาพของคนที่ติดเกาะ

สภาพของผมตอนนี้คือ "โจรมุมตึก" ครับ
นึกเรื่องจะเขียนไม่ออก
แต่ขึ้นชื่อว่า "โจร" แล้ว แม้จะอยู่มุมตึก
เราก็ไม่ยอมจำนนง่ายๆ

ตามหลัก "บันไดหนีไฟ" ของผม
เวลาคิดอะไรไม่ออก ก็เริ่มมองหาสมุดโน้ตส่วนตัว
และ "หนังสือ" ที่ชั้นข้างโต๊ะ

ในสมุดโน้ต เจอ "มุข" ที่จดไว้เรื่องหนึ่ง
เป็นเรื่องที่เกิดบนโต๊ะสนทนาของตัวละครสาวในอดีตของผม
กรุณาอ่านซ้ำอีกครั้ง

"ตัวละครสาวในอดีตของผม" ไม่ใช่เป็นคำเชื่อมระหว่าง "ตัวละครสาว" กับ "ในอดีตของผม"
แต่เป็นการเชื่อมคำระหว่างตัวละคร "สาวในอดีต" และคำว่า "ของผม"
คือตอนที่เธอเป็นตัวละครนั้น ผมเขียนเรื่อง "การตลาดวัย 30"

เรื่องนี้เขียนเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีก่อน
มุขนี้เกิดขึ้นในวันที่นั่งคุยกันบนโต๊ะอาหาร
หลังจากผมยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม และสะบัดนิ้วก้อยขึ้นแต่พองาม
เธอทั้งสี่คงคิดว่าผมได้เปลี่ยนไปแล้ว เรื่องที่เล่าบนโต๊ะอาหารจึงเปิดเผยอย่างยิ่ง
เหมือนไม่มี "ผู้ชาย" อยู่ร่วมโต๊ะ

อย่างตอนที่ผมถามเธอว่าวัยนี้กับตอนเป็นวัยรุ่นต่างกันอย่างไร
น้องคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้ระบุชื่อ บอกว่า ที่ต่างกันชัดเจนก็คือเรื่องความรู้สึกต่อสิ่งที่มาประจำทุกๆ เดือนเปลี่ยนไป
ตอนวัยรุ่น พอ "สิ่งนั้น" มา ทุกคนจะบ่นว่า "มาอีกแล้ว"

แต่วันนี้ เสียงจะเปลี่ยนโทนไป
"มาแย้ว"
ดีใจที่ยังได้เจอกัน...

และเมื่อ "สิ่งนั้น" ผ่านไป 2-3 วัน
ตอนวัยรุ่น จะบ่น "ทำไมไม่หมดเสียที"
แต่วันนี้ เสียงบ่นจะเป็นเสียงเสียดาย
"ทำไมมาแค่ 2 วันเอง"
นี่คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก "วัย" อย่างแท้จริง



จากสมุดโน้ต ผมหา "ตัวช่วย" ชิ้นต่อไป
เจอแล้ว
นิตยสาร "ยูงทอง" ของนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หน้าปกเป็นเรื่อง "ARE YOU HAPPY"
ทีมงานสัมภาษณ์ "คนดัง" 5 คน เรื่อง "ความสุข"

มีทั้ง บอย ตรัย ภูมิรัตน นักร้องชื่อดัง, วิลิต เตชะไพบูลย์ เศรษฐีที่ไปทำนา, "กิ๊ฟ" กฤชภร หอมบุญญาศักดิ์ นางสาวไทยปี 2553, แดเนียล เฟรเซอร์ พิธีกรรายการ "หลงกรุง"
และ...ผมเอง

น้องบอกว่าที่เลือกผมไม่ใช่เพราะเป็นคนที่ชื่อเสียงโด่งดัง
แต่เป็นคนหัวเราะเสียงดัง
อยู่ในหมวด "คนดัง" ประเภทหนึ่ง

เมื่อมาสัมภาษณ์แล้วก็ต้องส่งหลักฐานมายืนยัน
นิตยสารยูงทองเล่มใหม่จึงวางอยู่บนโต๊ะของผม
และกลายเป็น "ตัวช่วย" ของผมในวันนี้

บทสัมภาษณ์เรื่อง "ความสุข" ทั้งหมด ผมชอบนิยาม "ความสุข" ของ "บอย ตรัย" มาก
น้องถามว่านิยามความสุขในแบบของเขา คืออะไร
"บอย ตรัย" ตอบว่า ความสุขของเขา คือ "การที่หัวใจไม่แกว่งไปแกว่งมา"
"หัวใจไม่แกว่งไปแกว่งมา" คือ ต่อให้เจอกับเรื่องที่ยากๆ เรื่องที่แย่ๆ แต่ก็ยังควบคุมจิตใจตัวเองได้ ไม่แกว่งตาม
เขาขอให้ควบคุมจิตใจตัวเองให้นิ่งได้
น่าจะหมายถึง "สติ"
เท่-มว้ากเลย

ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ยังไม่ได้อ่านเลยครับ
ยกเว้นคอลัมน์ Take a break ของน้อง "ฐชาภัทร ศรีหมื่นไวย"
ตั้งชื่อเรื่องว่า "คลำถาม "
เป็นเรื่อง "มุข" คำถามขำ-ขำ ธรรมดา

ตามประสาคนสะสม "มุข" เป็นงานอดิเรก เจอคอลัมน์แบบนี้เมื่อไร ผมจะอ่านก่อนเป็นลำดับแรก
เหมือนใน "มติชนสุดสัปดาห์" ก็จะ "เช็กมุข" ในคอลัมน์ "เช็กสต็อก" ของ "หนุงหนิง"
ดูว่าสัปดาห์นี้ เธอจะมี "โจ๊ก" อร่อยๆ อะไรมาให้กินบ้าง

"คลำถาม" ของน้อง "ฐชาภัทร" เหมือนจะเขียนง่าย แค่ไปขอ "มุข" จากเพื่อนๆ
แต่ที่โชว์ฝีมือของเธอ คือ คำถามสุดท้ายครับ
เธอเริ่มต้นคำถามแรก "มีคน 100 คน ยืนบนหน้าผา อยากรู้ว่า คนที่เท่าไหร่จะตกหน้าผาตาย?"
ตอบ "คนที่ 9 "
อ่านว่า "คนที่ก้าว "

"อาภาพร นครสวรรค์ ชอบสัตว์อะไร"
..หมู ไก่ ปลา ฯลฯ
ไม่ใช่ครับ

"อาภาพร" ชอบ "ม้า"
จำเพลงนี้ได้ไหมครับ "อาภาพร" บอกไว้ชัดเจน
...รุปร่างหน้าตาอย่างเนี้ย ชอบม้า ชอบม้า
รูปร่างอย่าง "อาภาพร" ชอบม้าครับ

อีกข้อหนึ่ง "ทำไม Coca Cola จึงต้องใช้ซีตัวใหญ่"
ถ้าไม่รู้คำตอบ อย่าคิดเลยครับ เสียเวลา
คำตอบก็คือ ถ้าเป็น "ซีเล็ก" ก็กลายเป็น "ปลาทูน่า" อะเด่ะ

แต่มีคำถามหนึ่งที่ผมเถียง
เธอถามว่า "ยาย กับ กาแฟ เหมือนกันตรงไหน"
ตอบ "ทำให้ตาแข็ง"
คำถามนี้แสดงให้เห็นเลยว่าคนถามเป็น "ผู้หญิง" ไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้หรอก
อายุระดับ "ยาย" แล้ว
ไม่มีทางทำให้ "ตาแข็ง" ได้

เรื่องบางเรื่องไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ แบบเพราะ "ยาย" เป็นแฟน "ตา" จึงเป็นคนเดียวที่มีสิทธิ์ทำให้ "ตาแข็ง"
คิดแบบนี้ไม่ได้ครับ
ไม่เชื่อลองถามคุณตาสิครับ ว่าระหว่าง "ยาย" กับ "อาโออิ"
ใครก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกายได้มากกว่ากัน

น้องเขาถามมาเรื่อยๆ จนถึงคำถามสุดท้าย
"ตัวอะไรเอ่ย ถามเท่าไหร่ก็ไม่ตอบ?"
รู้ไหมครับว่าตัวอะไร
ผมโดนแล้ว ถึงคิวคนอื่นบ้าง

คำตอบก็คือ "ตัวเองนั่นแหล่ะ อ่านเฉลยอย่างเดียวเลย"

555



++

สรกล อดุลยานนท์ : ทีวีการเมือง
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 14:22:06 น.


สถานการณ์ในแวดวงโทรทัศน์กำลังเปลี่ยนแปลง จาก "ทีวีดาวเทียม"
การเมืองไทยก็เปลี่ยนแปลงเพราะ "ทีวีดาวเทียม"
"พันธมิตรประชาธิปไตย" เคยยิ่งใหญ่ได้เพราะ "ทีวีดาวเทียม"
วันนี้ "คนเสื้อแดง" และพรรคเพื่อไทย ก็มี "ทีวีดาวเทียม" เช่นกัน คือ "เอเชีย อัพเดท"

ส่วนทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ก็เปิดช่อง "บลูสกาย" เป็นทีวีประจำพรรค
แม้ในทางกฎหมายจะไม่เกี่ยวข้องกัน เหมือนกับพรรคเพื่อไทยกับ "เอเชีย อัพเดท" แต่ทุกคนรับรู้ว่า "บลูสกาย" ก็คือ "ประชาธิปัตย์"
ใครที่เคยสงสัยว่าทำไม "คนเสื้อแดง" จึงยังทรงพลังอยู่
คำตอบอยู่ที่เรตติ้งของทีวีเสื้อแดง

คนในเมืองกรุงอาจไม่ชัดเจนมาก แต่ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในเขตภาคกลาง เหนือ และอีสาน
"เอเชีย อัพเดท" มาแรงมาก

เพราะคนต่างจังหวัดติดจานรับดาวเทียมแทนเสาก้างปลาแบบเดิม โดยเฉพาะจานดำในระบบซีแบนด์
ตัวเลขเรตติ้งจาก "พีเอสไอ" ซึ่งเป็นเจ้าตลาดดาวเทียมพบว่ายอดคนดูช่อง "เอเชีย อัพเดท" อยู่ในอันดับต้นๆ 
ชนะช่องไทยพีบีเอส และช่อง 11
และบางเวลาก็ชนะช่อง 5 และช่อง 9

โดยเฉพาะในวันที่ถ่ายทอดสด "ทักษิณ ชินวัตร" ปราศรัยที่กัมพูชา
เรตติ้งพุ่งกระฉูดอย่างแรง
นี่คือ พลังของ "ทีวีดาวเทียม" ที่ทำให้พลังของ "คนเสื้อแดง" ยังคงอยู่ 

ในมุมกลับ "บลูสกาย" ของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะไม่แรงเท่า "เอเชีย อัพเดท" เพราะเพิ่งเปิดช่องได้ไม่นาน
"บลูสกาย"เริ่มต้นด้วยการแพร่ภาพผ่าน "จานส้ม" ของ "ไอพีเอ็ม" ในระบบเคยูแบนด์ 
ก่อนที่จะขยับเข้า "จานดำ" ด้วยเป็นพันธมิตรกับทีวีช่องหนึ่งในระบบซีแบนด์ เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสาร 
คนในแวดวงทีวีดาวเทียม บอกว่าตอนนี้ "จานส้ม" เริ่มขายดีขึ้น

ส่วนหนึ่ง เพราะกลยุทธ์การตลาดของ "ไอพีเอ็ม" 
ส่วนหนึ่ง มาจากกลุ่มคนที่ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ 
แต่สำคัญที่สุดมาจากกลยุทธ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

เหมือนกับเมื่อครั้งที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เคยลงทุนซื้อ "จานดำ" แจกชาวบ้าน 
เป็นกลยุทธ์ขยายมวลชนด้วย "ทีวีดาวเทียม"
ถ้ามองแบบปกติธรรมดา เมื่อฝ่ายหนึ่งทำได้ อีกฝั่งหนึ่งก็ทำบ้าง 
เสมอภาคกันดี

แต่วันนี้สังคมการเมืองไทยขัดแย้งกันอย่างร้าวลึก

"ทีวีดาวเทียม" ทางการเมือง จึงเป็น "ระเบิดเวลา" ของสังคมไทยที่รอการปลดชนวน

บทเรียนจาก "รวันดา" บอกให้รู้ว่าเมื่อ "สื่อ" ทำให้คนดูหรือคนฟังรู้สึกว่าคนที่เป็น "คู่ขัดแย้ง" ไม่ใช่ "คน"

คนก็พร้อมจะฆ่ากัน
เพราะมองคนไม่ใช่คน 



.