http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-14

มุกดา:(จบ)ไฟไหม้ต้องรีบดับ ปรองดองล้มต้องเริ่มใหม่ เริ่มที่66ปี ปชป.

.

ไฟไหม้ต้องรีบดับ ปรองดองล้มต้องเริ่มใหม่ เริ่มที่ 66 ปี ประชาธิปัตย์ (จบ)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 20


การปรองดองที่เป็นข่าวทุกวันไม่ใช่เป็นการสร้างความขัดแย้งใหม่ แต่เป็นความพยายามแก้ไขความขัดแย้งเดิม ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจทุกฝ่าย และคงจะล้มลุกคลุกคลานอีกระยะหนึ่ง
แต่จะล้มหรือลุก ต้องลุ้น

ต้องเข้าใจว่าการปรองดองครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงคู่ขัดแย้งจะหันกลับมาดีกัน กอดกัน แบบที่เห็นภาพ เนวิน ชิดชอบ กอด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (อันนั้นเรียกว่ากลับมาสมคบกันเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า)
เพราะวันนี้ความตายและความอยุติธรรม ได้ขยายความขัดแย้งไปไกลเกินกว่าผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะคนแล้ว

การปรองดองที่จะเกิดขึ้นได้คงต้องเริ่มต้นที่ คู่ขัดแย้งต้องแข่งขันกันภายใต้กติกาที่ยุติธรรม กรรมการต้องไม่ลำเอียง นักกีฬาเคารพกติกา อย่าเล่นนอกเกม คนดูอย่าขว้างขวดลงไปในสนาม การแข่งขันจึงดำเนินต่อไปได้ ไม่มีจลาจลในสนาม เมื่อเกมจบก็แยกย้ายกันไปทำมาหากิน

การปรองดองแบบนี้อาจเป็นไปได้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทำตาม คำประกาศยุทธศาสตร์การเมืองในโอกาสครบรอบ 66 ปี ซึ่งควรเรียงลำดับดังนี้จึงจะถูกต้อง
ทำให้พรรคเป็นที่ยอมรับของประชาชน ชนะการเลือกตั้ง เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาล
ที่จริงนี่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย และ ปชป. ก็เคยทำได้หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว



ชนะเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลครั้งสุดท้าย
หลังรัฐประหาร รสช. กันยายน 2535

ฉบับที่แล้วกล่าวถึง ปชป. ตั้งแต่ก่อนตั้งพรรคจนถึงการแตกของกลุ่ม 10 มกราคม ซึ่งนำโดย วีระ มุสิกพงศ์ และ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ต้นตอของปัญหาคือการแย่งตำแหน่ง รมต. จากนั้นก็ลุกลามไปแย่งกรรมการพรรค

วีระกลายเป็นอดีตเลขาฯ พรรคที่กระเด็นออกมาแต่ก็ทำให้ นายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภา กลุ่ม 10 มกราคม ออกมาตั้งพรรคประชาชน แต่ ปชป. ที่มีเลขาฯ ใหม่คือ เสธ.หนั่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก็ได้ ส.ส. เพียง 48 คน จากเดิม 100 คน บทเรียนของการอิงแอบอำนาจนอกระบบจนพรรคแตกเคยเกิดมาแล้ว

ปี 2531 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เปิดศักราชใหม่ของประชาธิปไตยเต็มใบและสร้างกระแสเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูขึ้น แต่พอถึงปี 2534 ก็ถูกรัฐประหารโดยคณะ รสช. แม้จะให้ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน แต่พอถึงปี 2535 เมื่อมีการเลือกตั้งประชาชนก็ไม่ยอมรับ พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกฯ แม้พรรคสามัคคีธรรมจะมี ส.ส. มากที่สุดถึง 79 เสียง เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของคณะรัฐประหาร การเลือกตั้งครั้งนั้น ปชป. ได้เพียง 44 เสียง

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง มีการเผาบ้านเผาเมือง เผาทั้งกรมประชาสัมพันธ์และกรมสรรพากร แต่ดูเหมือนเหตุการณ์จะจบลงแบบไม่มีผู้ก่อการร้าย แต่อาจจะมีวีรชนเล็กน้อย

ผู้นำการต่อสู้อย่าง พลตรีจำลอง ศรีเมือง ถูกกล่าวหาจากคู่แข่งทางการเมืองว่าพาคนไปตาย การเลือกตั้งใหม่กันยายน 2535 ปชป. ได้ ส.ส. มากที่สุด 79 เสียง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงปี 2538 ก็เกิดกรณี ส.ป.ก.4-01 ทำให้ ปชป. ต้องยุบสภาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม

และไม่เคยชนะเลือกตั้งอีกเลย


ความพ่ายแพ้ 6 ครั้งซ้อนของ ปชป.
(ไม่ได้แพ้มากเพียงแต่ได้ที่ 2 ทุกครั้ง)

ครั้งที่ 1 การเลือกตั้ง กรกฎาคม 2538 พรรคชาติไทยซึ่งนำโดย นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้รับเลือกสูงสุด 92 เสียง ปชป. ได้ 86 เสียง แต่นายบรรหารได้เป็นนายกฯ อยู่เพียงปีเดียวก็ถูก ปชป. อภิปรายเรื่องสัญชาติและการบริหารงาน ต้องยุบสภา

ครั้งที่ 2 เลือกตั้งใหม่ในปี 2539 ความหวังใหม่ได้รับเลือกสูงสุด 125 เสียง ปชป. ได้ 123 เสียง นายชวนสวมบทสุภาพบุรุษประชาธิปไตย เสียงน้อยกว่าก็จะไม่แย่งจัดตั้งรัฐบาล แต่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ ได้เพียงปีเดียวก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ มีการลดค่าเงินบาทในปี 2540 พลเอกชวลิตลาออก

นายชวนได้เป็นนายกฯ โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ แต่การแย่งชิงตำแหน่งนายกฯ ครั้งนี้นายชวนได้งูเห่ามาคล้องคอไว้หนึ่งตัว เนื่องจาก เสธ.หนั่นได้ใช้วิทยายุทธ์ช่วงชิง ส.ส. ประชากรไทย 13 คน ของ นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีมติสนับสนุนอดีตนายกฯ ชาติชาย ให้มาโหวตเสียงให้นายกฯ ชวน

ตั้งแต่วันนั้นการ์ตูนนิสต์บางคนก็วาดรูปนายกฯ ชวนมีงูเห่าคล้องคอเป็นเน็คไทจนถึงปัจจุบันนี้

ครั้งที่ 3 นายกฯ ชวนบริหารไปจนถึงปี 2544 ก็ยุบสภาก่อนหมดวาระไม่กี่วันและมีการเลือกตั้งใหม่ มกราคม 2544 ปชป. ดูเหมือนจะไม่มีคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ แต่ก็มีพรรคไทยรักไทยแปลงกายมาจากพลังธรรม โผล่ขึ้นมาและกวาด ส.ส. ไปถึง 248 เสียง ปชป. ได้ 128 เสียง เป็นการพ่ายแพ้ครั้งที่สามแบบหมดทางสู้

ครั้งที่ 4 เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ จนครบวาระ เลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 คราวนี้ไทยรักไทยได้ ส.ส. ถึง 377 เสียง ในขณะที่ ปชป. ได้เพียง 96 เสียง หลังจากนั้น ก็มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองกดดันจนนายกฯ ทักษิณต้องยุบสภา

มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2549 ซึ่ง ปชป. บอยคอตด้วยการไม่ส่งคนสมัครรับเลือกตั้ง ครั้งนี้ไม่นับว่าแพ้บนเวที ปชป. เหมือนนกรู้ไม่ต้องเสียหน้าและเสียเงินไปเปล่าๆ เพราะหลังทักษิณยุบสภาไม่นานกลุ่มพันมิตรฯ ก็ชุมนุมยึดทำเนียบ และเดือนกันยายน พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก็ทำรัฐประหารขึ้นตามแรงกดดันของกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ประสงค์จะออกนาม นายกฯ ทักษิณต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ พรรคไทยรักไทยถูกยุบ กรรมการพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 111 คน แต่ก็ยังแปลงกายเป็นพรรคพลังประชาชนได้

ครั้งที่ 5 การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ตามรัฐธรรมนูญใหม่ 2550 พรรคพลังประชาชนซึ่งนำโดย นายสมัคร สุนทรเวช และตัวสำรอง แม้จะถูกมัดมือชกก็ยังชนะ ปชป. ด้วยจำนวน 233 ต่อ 165 เสียง และก็เกิดตุลาการภิวัฒน์เพื่อโค่นล้มรัฐบาลและพรรคพลังประชาชน

คราวนี้ ปชป. สามารถเปลี่ยนขั้วได้สมใจโดยมีกลุ่มเนวินเป็นงูเห่าแยกออกมา 32 ตัว หนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

หลังจากแพ้การเลือกตั้งมา 5 ครั้งซ้อนก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ แต่ต้องมีทั้งการรัฐประหารและตุลาการภิวัฒน์เข้ามาช่วยอุ้ม จึงได้ฉายาว่ารัฐบาลเทพประทาน เป็นรัฐบาลท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง จนต้องปราบผู้ประท้วง ด้วยกำลังทหารติดอาวุธในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ครั้งที่ 6 ปี 2554 นายกฯ อภิสิทธิ์ยืดอายุรัฐบาลมาได้อีก 1 ปีก็ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่เดือนกรกฎาคม ก็แพ้แก่พรรคเพื่อไทยด้วยคะแนน 265 ต่อ 159 เสียง



วิเคราะห์ความเป็นไปได้
ยุทธศาสตร์การเมือง 66 ปีของ ปชป.
จะทำให้เกิดความปรองดองหรือไม่?

พวกเราพยายามวิเคราะห์การกำหนดยุทธศาสตร์การเมือง ว่าเป็นจุดมุ่งหมายจริงๆ หรือแค่สร้างวาทกรรม?
จะทำได้จริงหรือไม่?
และจะทำให้การปรองดองจะมีโอกาสสำเร็จจริงหรือไม่?


1. ผู้วิเคราะห์อาวุโสบอกว่า ดูจากการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในอดีต ปชป. สามารถปรับตัวเข้าหาอำนาจได้ทุกสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไรจะอิงประชาชน เมื่อไรจะอิงแอบทหารหรือผู้มีอำนาจ และเมื่อไรควรจะอยู่เงียบๆ คนเดียว

ดูได้จากการที่ได้เป็นรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2490 การอยู่เงียบในยุค สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ ถนอม กิตติขจร-ประภาส จารุเสถียร การได้เข้าร่วมรัฐบาลยุคป๋าเปรม 8 ปี การใช้งูเห่าช่วยในการตั้งรัฐบาลหลังพลเอกชวลิตลาออก และล่าสุดยังอิงตุลาการภิวัฒน์ เปลี่ยนขั้วอำนาจจนได้เป็นรัฐบาล
จากพฤติกรรมจะเห็นว่า ปชป. ไม่เคยกำหนดกรอบการเข้าสู่อำนาจรัฐไว้เลย ขอแต่ให้ได้อำนาจ ไม่ว่าจะด้วยการเลือกตั้ง หรือด้วยวิธีพิเศษใดๆ ก็เอาทั้งนั้น

การรัฐประหารในอดีตปี 2490 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นรัฐบาลปี 2491 กับการรัฐประหารในปี 2549 และได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลปี 2551 ดูคล้ายจะมีความเหมือน แต่เงื่อนไขพื้นฐานทางการเมืองมีความแตกต่างกันมาก เพราะห่างกันถึง 60 ปี โดยเฉพาะความตื่นตัวทางการเมืองและการศึกษาของคนชั้นกลาง ชั้นล่าง ระบบสื่อสารและเสรีภาพของสื่อฯ

การรัฐประหารในปี 2549 ตุลาการภิวัฒน์ในปี 2551 การปราบประชาชนด้วยอาวุธในปี 2553 จะเป็นภาพที่ตามมาหลอกหลอนไปอีกนาน และจะส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของทั้งสองพรรค
ถ้าดูจากพฤติกรรมในอดีต และปัจจุบัน เมื่อคนพูดคืออภิสิทธิ์ "ยุทธศาสตร์ 66 ปี" คงเป็นเรื่องดีแต่พูด


2. ผู้วิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านตัวเลขได้ให้ข้อสังเกตเรื่องความสามารถไว้ดังนี้ ถ้าดูจำนวน ส.ส. ที่ได้รับเลือกยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในปี 2519 ทำได้ดีที่สุด 114 เสียง ประมาณ 42% ของทั้งสภาผู้แทนฯ

ในปี 2535 ก่อนพฤษภาทมิฬ ทำได้น้อยสุด 44 เสียง 12.2% แต่หลังพฤษภาทมิฬในปีเดียวกันได้ 79 เสียง 22% ครั้งที่แพ้ บรรหาร ศิลปอาชา ก็ได้ 22% แต่ปี 2539 ตอนที่แพ้ชวลิต ได้ 31% แพ้ไทยรักไทยปี 44 ได้ 29.2% ปี 2548 ได้เพียง 19.2% ปี 2550 แพ้พลังประชาชนได้ 165 เสียง 33% และครั้งสุดท้ายปี 2554 ได้ 159 เสียง 31.8%

วิเคราะห์ตามสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าไม่มีเหตุการณ์พลิกผันมากมาย เลือกตั้งอีกครั้ง ในปี 2558 ปชป. จะได้ ส.ส. อยู่ระหว่าง 22-30% ของสภาผู้แทนฯ ถือว่าเป็นพรรคขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล
ปชป. จะยอมรับตัวเลขนี้ และรอสะสมชัยชนะไปทีละขั้นได้หรือ?
ความไม่อยากแพ้ครั้งที่ 7 จะทำลายความตั้งใจและลืมว่าเคยมียุทธศาสตร์ 66 ปี


3. ถ้า ปชป. จะทำให้ประชาชนยอมรับจริง ก็จะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีทางการเมือง คือ ลดความขัดแย้ง ลดท่าทีที่ก้าวร้าว

แต่ดูจากการเดินแต้มการเมือง ทั้งในสภา นอกสภา หามิตรไม่เจอ แม้แต่พลเอกสนธิ ซึ่ง ปชป. เคยคลานเข่าเข้าไปหายังถูกตะคอกใส่ กล้าสร้างภาพปีศาจทักษิณถึงขนาดขบวนการพูโลต้องออกมาปฏิเสธว่าเป็นเรื่องโกหก อย่าเล่นไฟใกล้ถังน้ำมันจะดีกว่า
วันนี้ อภิสิทธิ์-สุเทพ เทือกสุบรรณ กล้าท้าให้เอาตัวพวกเขาและทักษิณมาขึ้นศาล เพราะ มีคนให้ท้ายจนมั่นใจว่าทุกคดีไม่มีติดคุกภายใต้ระบบยุติธรรม 2550 ซึ่งนายกฯ สมัครทำกับข้าวออกทีวียังผิด คนออกมาชุมนุมติดคุกปีครึ่ง แต่ฆ่าคนกลางถนนไม่ผิด ยึดสนามบินไม่ต้องติดคุก ใครจะกล้าเข้าสู่ระบบยุติธรรมแบ่งสีเสื้อ
แต่ไม่มีอำนาจอยุติธรรมที่ยืนยง ถ้าไม่มีนิรโทษกรรม เชื่อว่าอีกไม่เกิน 3-4 ปีจะต้องมีคนมาขึ้นศาลกันเยอะแยะ

ผู้อาวุโสในพรรคหลายคนมีบทเรียน น่าจะเตือนมากกว่าเข้าไปร่วมสนับสนุน ควรผลักดันพรรคเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้องได้แล้ว แม้จะต้องเปลี่ยนตัวบุคคลในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์


4. ถ้าเพื่อไทยยังก้าวไม่ข้ามทักษิณ และ ปชป. ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งหลักซึ่งไม่มีอำนาจกำหนดทุกอย่างได้ คำถามคือ หลังรัฐประหาร 2549 จนถึงวันที่ครบรอบ 66 ปี ปชป. มีอิสระและเข้มแข็งพอที่จะเลือกทางเดินด้วยตนเองหรือยัง?

ถ้าทำได้ ปชป. จะต้องเลือกว่า จะเดินแนวทางสร้างความหวัง หรือสร้างความกลัว เพื่อให้คนศรัทธา
ถ้าจะสร้างความกลัวก็ต้องสร้างปีศาจ แล้วทำตัวเป็นหมอผี ให้คนมาขอเครื่องรางเหมือนเดิม

แต่ถ้าจะสร้างความหวังก็ต้องทำงานเพื่อประชาชน เช่นเสนอให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้ง 200 คนอันนี้ดี

คำตอบสุดท้าย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรม, แนวทาง และตัวบุคคลในปีนี้ แสดงว่านั่นเป็นเพียง วาทกรรมในรอบ 66 ปี ปชป. ไม่มีอะไรเป็นยุทธศาสตร์จริง และจะมีแต่เรื่องปองร้ายไม่ใช่ปรองดอง

นี่จึงเป็นคำตอบว่าการปรองดองมีแน่ มีเยอะด้วย เพราะมันจะล้มแล้วเริ่มใหม่ อย่างน้อยก็ 19 ครั้ง และอาจมากถึง 91 ครั้งแต่จะสำเร็จเมื่อไรไม่รู้



.