http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-14

หนุ่มเมืองจันท์: “สงกรานต์”/ สรกล: สึนามิ"ความกลัว"

.

ตำนาน“สงกรานต์”
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 24


เมื่อวันที่ 1 เมษายน ผมกลับไปบ้านที่เมืองจันท์
นอนที่ห้อง "ป๋า" ที่เสียไปแล้ว
ในห้องนอนมีกองหนังสือเก่าที่ทิ้งไว้นานแล้ว
ก่อนนอน ผมไปคุ้ยกองหนังสือนี้เผื่อว่าจะมีเล่มไหนที่น่าสนใจบ้าง

แล้วผมก็เจอหนังสือเล่มหนึ่ง
...เก่ามาก
หน้าปกหนังสือเล่มนี้ เขียนว่า "ตำนานสงกรานต์เมืองจันท์"
พลิกดู 2-3 หน้า
เฮ้ย...น่าสนใจมาก

เป็นเรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อน
ผมคิดว่าตำนานสงกรานต์ในเมืองไทย ที่ไหนก็เหมือนกัน
จะแตกต่างกันบ้างก็เล็กน้อย
แต่ไม่นึกว่าตำนานสงกรานต์ที่เมืองจันท์จะน่าตื่นตาตื่นใจมาก
แอบเก็บเรื่องนี้ไว้ ไม่รีบเขียน
กะรอถึงวันสงกรานต์เมื่อไร จะเขียนเรื่องนี้


ตามประเพณีเก่าของไทยจะถือว่าวันสงกรานต์คือวันครอบครัว
รดน้ำดำหัว ขอขมา และขอพรผู้ใหญ่
แต่จากหนังสือ "ตำนานสงกรานต์เมืองจันท์"
ผมเพิ่งรู้ว่าจุดเริ่มต้นของประเพณีการเล่นน้ำ
"Water Festival"
เริ่มที่เมืองจันท์
ที่เมืองจันท์เราไม่พรมน้ำ

แต่เราเล่นกับ "น้ำ" ครับ
สาดน้ำดับความร้อน
สนุกสนานเฮฮามาตั้งแต่โบราณ
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2483



คําว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า "ก้าวขึ้น ย่างขึ้น"
ในสมัยก่อน เราถือว่าวันสงกรานต์ คือ วันปีใหม่ของไทย เพราะเป็นวันที่เปลี่ยนจุลศักราชใหม่
พระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่

คนไทยใช้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
มาเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ตามหลักสากลในรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
เมื่อปี 2483

แม้วันที่ 13 เมษายน จะไม่ใช่วันปีใหม่อีกต่อไป
แต่วันสงกรานต์ก็ยังคงความสำคัญอยู่
รัฐบาลถือว่าเป็น "วันครอบครัว" จะมีประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
ทั้งขอขมา และขอพร

เนื่องจากตรงกับหน้าร้อน จึงเพิ่มการประพรมน้ำแก่กันเพื่อความชุ่มชื่น
แต่แค่ "พรม" ไม่ใช่ "สาด"
คนในเมืองกรุงและจังหวัดใกล้เคียงจะเข้าใจและรับรู้ประเพณีสงกรานต์เป็นอย่างดี
แต่จังหวัดที่ห่างไกลไม่มีใครรู้จัก "วันสงกรานต์"
รวมทั้งเมืองจันท์ด้วย

เมื่อรัฐบาลต้องการให้ประเพณีสงกรานต์แพร่หลายออกไปทั่วประเทศ "จอมพล ป." จึงกระจายข่าวไปยังเจ้าเมืองต่างๆ
แต่ยุคนั้นระบบการสื่อสารยังโบราณมาก
นึกถึงเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ได้ไหมครับ
"พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลีฯ"
พ.ศ.2504 ยังใช้ระบบตีกลองประชุมอยู่เลย
ไม่มีเสียงตามสายเหมือนในปัจจุบัน

แล้วปี 2483 คิดดูก็แล้วกันว่าระบบการสื่อสารจะเป็นอย่างไร
การถ่ายทอดเรื่อง "วันสงกรานต์" จากรัฐบาลไปตามหัวเมืองต่างๆ จึงต้องปรับตามสภาพความเป็นจริง
ส่งข่าวไปถึงเจ้าเมืองไม่ยาก เพราะสามารถส่งหนังสือไปได้
เจ้าเมืองอ่านหนังสือออก
แต่พอจะไปถึงระบบตำบลและหมู่บ้าน เริ่มมีปัญหา

ทั้งการเดินทางก็ลำบาก และผู้ปกครองในพื้นที่ต่างๆ อ่านหนังสือไม่ออก
ระบบการสื่อสาร จึงต้องใช้ "การบอกต่อ"
เล่าให้เจ้าหน้าที่สื่อสารฟังจนเข้าใจ แล้วให้นำเรื่องนี้ไปเล่าต่อให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ตามพื้นที่ต่างๆ
"สาร" ที่ต้องการสื่อสาร คือ วันที่ 13 เมษายน เป็น "วันสงกรานต์"
และอธิบายต่อว่า ประเพณีในวันนี้คือ วันครอบครัว ให้รดน้ำดำหัว ขอพรและขอขมาผู้ใหญ่
ทุกที่ไม่มีปัญหา
ยกเว้นตำบลท่าแมวที่เมืองจันท์



เจ้าหน้าที่ฝ่ายพีอาร์ของเจ้าเมืองขี่ม้าฝ่าป่าลึกไปที่ตำบลท่าแมว
ระหว่างทางเจอไข้ป่าเข้าไป จนเมื่อไปถึงที่หมายก็อาการไข้กำเริบหนัก
แต่เขายังแน่วแน่ต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
เขาแจ้งข่าว "วันสงกรานต์" กับกำนันตำบลท่าแมว ด้วยอาการตัวสั่นด้วยความหนาวจากพิษไข้
เสียงของเขาสั่นและขาดเป็นห้วงๆ

"รัฐบาลให้แจ้งว่าวันที่ 13 เมษายนของทุกปี..."
ลมหายใจของเขาเบาลง แต่เขายังกัดฟันพูดต่อ
"เป็นนน..วันนน...สงงง...กัน"

พูดจบก็สิ้นลม
"วันสรงกัน" กำนันทวนคำ
ไม่มีใครรู้ความหมายของวันนี้ ทุกคนจึงตีความตามคำที่คุ้นเคย
"สรง" แปลว่า "อาบน้ำ"
"สรงกัน" ก็แปลว่า "อาบน้ำกัน"

ทุกวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ที่ตำบลท่าแมวจึงมีประเพณีใหม่ขึ้นมา
...อาบน้ำให้กัน ด้วยการสาดน้ำใส่กัน
อากาศร้อนๆ สาดน้ำใส่กัน
ยิ่งสาด ยิ่งสนุก
ความสนุกสนานของประเพณีสาดน้ำในวันสงกรานต์ที่ตำบลนี้ร่ำลือไปยังตำบลข้างเคียง
คนต่างถิ่นเริ่มเข้ามาเล่นสาดน้ำที่ตำบลนี้
และนำกลับไปเล่นที่ตำบลของตนเอง

จากตำบล เป็นอำเภอ
จากอำเภอ เป็นจังหวัด
และขยายไปทั่วทั้งประเทศไทยในที่สุด


ระหว่างนั้น มี "มิชชันนารี" มาเผยแผ่ศาสนาที่ตำบลท่าแมว เห็นคนสาดน้ำกันในวันที่ 13 เมษายน เขาจึงถามล่ามว่าเป็นประเพณีอะไร
"สรงกัน" ล่ามตอบ
"SONG-GUN" เขาทวนคำ
แล้วนึกสงสัยว่าทำไมไม่มี "ปืน"

มิชชันนารี เป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี เขาจึงคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้เล่นน้ำในวัน "SONK-GUN"

และคนไทยเรียกสิ่งประดิษฐ์นี้ว่า "ปืนฉีดน้ำ"

นี่คือ ตำนานวันสงกรานต์เมืองจันท์

ที่ผมค้นพบในวันที่ 1 เมษายน



++

สรกล อดุลยานนท์ : สึนามิ "ความกลัว" ....
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


"การที่ไทยพีบีเอสยกเลิกการถ่ายทอดสดในพระราชพิธีสำคัญ เพื่อรายงานข่าวเตือนภัยเป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องใช้สติและความกล้าหาญ ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ร่วมกันทำให้ทีวีสาธารณะทำหน้าที่ได้จริงๆ"
"วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์" รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส เขียนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อคืนวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา

เหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 15.38 น.
ตอนนั้น "ทีวีพูล" กำลังถ่ายทอดสดพระราชพิธีสำคัญอยู่
จากนั้นไม่นานศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ที่อยู่ชายฝั่งทะเลอันดามันอพยพไปอยู่บนพื้นที่สูง เพราะเกรงว่าจะเกิด "สึนามิ"

มีการเผยแพร่อักษรวิ่งถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเวลาต่อมา แต่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องยังถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีเหมือนเดิม
สื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพที่สุดในยามที่ประเทศเกิดภัยวิบัติร้ายแรงกลับไม่มีสักช่องที่รายงานข่าวเตือนภัย

กว่า "ไทยพีบีเอส" จะยกเลิกการถ่ายทอดสดและตัดภาพมารายงานข่าวเรื่องนี้ได้ก็เป็นเวลา 17.42 น.
ก่อนที่ช่อง 7 และ "โมเดิร์นไนน์" จะตัดเข้ารายงานสดก็อีกประมาณครึ่งชั่วโมง

ทำไม "วันชัย" ใช้คำว่า "ต้องใช้สติและความกล้าหาญ" มากในการตัดภาพไปถ่ายทอดสดข่าวแผ่นดินไหวและเตือนภัยสึนามิ
ทั้งที่ พล.ท.สบโชค ศรีสาคร เลขานุการบริหารโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยหรือทีวีพูลจะยืนยันว่าสำนักพระราชวังได้อนุญาตให้ทางทีวีพูลสามารถตัดสัญญาณพระราชพิธีเพื่อรายงานสดเหตุแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา
"ท่านก็พูดตรงๆ ว่าถอดไปได้เลย จะเอาอย่างไรก็ได้ ขอให้ประชาชนอย่าเดือดร้อน"

สำนักพระราชวังยืนยันมาขนาดนี้แล้ว สงสัยไหมครับว่าทำไม "ทีวีพูล" ไม่กล้าตัดสินใจ
ทำไม "โมเดิร์นไนน์" หรือ "ช่อง 11" ที่เป็นของรัฐบาลไม่ยกเลิกการถ่ายทอดสดแล้วเตือนภัยสึนามิทันที
แล้วให้สถานีโทรทัศน์อีก 2-3 ช่อง ถ่ายทอดสดพระราชพิธีต่อไป

หรือสงสัยไหมครับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้กุมอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศซึ่งอยู่ในพระราชพิธีมีโอกาสได้รับรู้เรื่องเหตุแผ่นดินไหวในขณะนั้นหรือไม่
ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจาก "ความกลัว" ที่เกินเหตุ
เพราะโดยสามัญสำนึกแล้วทุกคนก็รู้ว่าสถาบันเบื้องสูงใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนมากแค่ไหน

แต่ทุกคนกลัว

กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพัฒนาเป็นข้อหาล้มเจ้าที่กลายเป็น "อาวุธ" ทางการเมืองประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามจนถึงขั้นร่าง "ผังล้มเจ้า" ขึ้นมาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกฝ่ายกลัวข้อกล่าวหานี้
ทุกคนยอมทำทุกอย่างแบบ "ปลอดภัย" ไว้ก่อน


ลองคิดเล่นๆ สิครับว่าถ้าเกิดเหตุสึนามิขึ้นมาจริงๆ
อะไรจะเกิดขึ้น
จะมีใครกล้าเดินไปหานายกฯยิ่งลักษณ์และแจ้งข่าวนี้เหมือนเมื่อครั้งที่มีคนไปกระซิบข้างหูประธานาธิบดีบุชขณะกำลังอ่านนิทานให้เด็กนักเรียนฟังตอนเกิดเหตุเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดหรือไม่

ใครทำให้เกิดบรรยากาศเช่นนี้ขึ้นมา???



.