http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-08

รักในหมู่บ้านโอลิมปิก, ท่องเที่ยว..มีความสุข, ทำไม..คิวยาว ซื้อโทรฯ, โรคติดมือถือ โดย พิศณุ นิลกลัด

.

ความรักในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 96


เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา มีพิธีเปิดตัวหมู่บ้านนักกีฬาที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้วสำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากทั่วโลกที่จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกลอนดอน ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 12 สิงหาคมปีนี้
หมู่บ้านนักกีฬามีทั้งหมด 11 อาคาร 2,818 ยูนิต ใช้เงินสร้าง 1,100 ล้านปอนด์ (54,000 ล้านบาท) รองรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่รวม 16,000 คน จากกว่า 200 ประเทศ แต่ละยูนิตจะอยู่รวมกัน 4, 6 หรือ 8 คนขึ้นอยู่กับขนาดของยูนิต
ทุกๆ ยูนิตมีห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น อินเตอร์เน็ต และโทรทัศน์ซึ่งถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาทั้ง 26 ประเภท แต่ถ้าจะดูหนังนักกีฬาต้องจ่ายเงินเหมือนเวลาพักอยู่โรงแรม ห้องครัวมีมั้ย ตอบว่าไม่มีครับ เพราะในหมู่บ้านกีฬามีห้องอาหารขนาด 5,000 ที่นั่งเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว

หมู่บ้านนักกีฬา ตั้งอยู่ในโอลิมปิก พาร์ก ทางลอนดอนตะวันออก
โอลิมปิก พาร์กมีสนามที่ใช้การแข่งขันกีฬาหลายประเภท เช่น กรีฑา บาสเก็ตบอล และว่ายน้ำ
สิ่งสำคัญที่สุดในหมู่บ้านนักกีฬาคือห้องนอน ห้องอาหาร และยานพาหนะ
ห้องนอนนั้นเตียงต้องนอนสบาย ม่านต้องทึบเพื่อไม่ให้แสงแดดลอดผ่าน ห้องอาหาร ต้องจัดเตรียมอาหารที่สด สะอาด ไม่ใช่ทานแล้วปวดท้อง ยานพาหนะต้องเพียบพร้อม ไม่ใช่ไปส่งนักกีฬาที่สนามไม่ทันเวลาแข่งขัน

สำหรับหมู่บ้านนักกีฬาที่ลอนดอน ห้องนอนแต่ละห้องจะมีนักกีฬานอนรวมกันไม่เกิน 2 คน ผ้าม่านในห้องนอนเป็นแบบทึบ แสงลอดเข้าไม่ได้ เพื่อให้นักกีฬานอนเต็มอิ่ม นักกีฬาคนไหนจะนอนเดี่ยวจะนอนคู่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโค้ช คนเป็นตัวเก็งมักจะได้นอนห้องเดี่ยว เพราะหากนอนกับเพื่อนร่วมห้องที่กรน อาจทำให้นอนไม่หลับส่งผลเสียต่อสถิติหรือผลงาน
เตียงนอนเป็นเตียงเดี่ยวทำด้วยไม้อัด กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร และมีตั่งวางขาต่อที่ปลายเตียงอีก 40 เซ็นติเมตร สำหรับนักกีฬาตัวสูงอย่างนักบาสเก็ตบอล นักวอลเลย์บอล ส่วนผ้าห่มที่เป็นพิมพ์ลายการแข่งขันประเภทต่างๆ นั้น นักกีฬาสามารถนำกลับบ้านเป็นของที่ระลึกได้
สำหรับที่นอนทางผู้จัดเลือกจาก 8 แบบกว่าจะได้ที่นอนถูกใจซึ่งผู้จัดการแข่งขันบอกว่ากำลังดี ไม่นิ่ม ไม่แข็งเกินไป ทางผู้จัดให้ความสำคัญกับความอ่อนความแข็งของที่นอนมากเพราะนักกีฬาต้องนอนหลับให้เต็มอิ่ม

โรงอาหารสำหรับนักกีฬา ประมาณการว่า จะเสิร์ฟขนมปังวันละ 25,000 แถว นม 75,000 ลิตร ไม่มีการเสิร์ฟแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ มีห้องออกกำลังกาย ร้านตัดผม และธนาคาร
ลิฟต์นั้นจะใช้เวลารอเต็มที่ไม่เกิน 1 นาทีหลังการกดเรียก
ระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมาก ก่อนเข้าหมู่บ้านนักกีฬา นักกีฬาต้องเดินผ่านเครื่องตรวจโลหะเหมือนกับสนามบิน มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1,500 คน

การจัดการว่านักกีฬาประเทศไหนพักอยู่ตึกไหนนั้น ทางเจ้าภาพจัดที่พักให้กับประเทศที่ยืนยันว่าจะส่งนักกีฬาไปถึงก่อนแต่เนิ่นๆ เช่น อเมริกา เยอรมันนี รัสเซีย จีน และอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าภาพ



ถุงยางอนามัยเป็นสิ่งที่สำคัญมากในหมู่บ้านพักนักกีฬา

โอลิมปิก ปี 2012 ยังไม่ทันจะเริ่มก็มีการทำลายสถิติกันแล้ว โดยปีนี้เจ้าภาพเตรียมถุงยางดูเร็กซ์ซึ่งเป็นสปอนเซอร์จำนวน 150,000 ชิ้น ไว้แจกฟรีให้กับนักกีฬาประมาณ 10,000 คน ไว้ใช้ในช่วงการแข่งขัน 16 วัน นับเป็นสถิติการแจกถุงยางมากที่สุดเมื่อเทียบกับโอลิมปิกที่ผ่านๆ มา
ครั้งแรกที่ทางเจ้าภาพโอลิมปิคแจกถุงยางฟรีให้แก่นักกีฬาคือโอลิมปิกปี 1992 ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ตอนนั้นแจกเพียงไม่กี่พันชิ้น ปรากฏว่าถุงยางหมดอย่างรวดเร็ว
มาถึงการแข่งขันโอลิมปิกปี 2000 ที่ซิดนีย์ จำนวนถุงยางแจกฟรีเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 ชิ้น
ปรากฏว่าก็ยังไม่พอใช้ เจ้าภาพต้องรีบนำมาเพิ่มอีก 20,000 ชิ้น

ต่อมาปี 2004 ที่เอเธนส์แจกเพิ่มขึ้นอีกเป็น 130,000 ชิ้น ครั้งล่าสุดปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง แจกถุงยางทั้งสิ้น 100,000 ชิ้น

บ้านพักนักกีฬาเป็นสถานที่ที่นักกีฬา "กุ๊กกิ๊ก" กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาที่ไปแบบไม่ได้หวังเหรียญหรือคนที่แข่งจบแล้ว จึงอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาแบบไม่เครียดกับการเตรียมตัวลงแข่งขัน
เนื่องจากนักกีฬาที่เข้าแข่งโอลิมปิกทุกคนร่างกายฟิตเต็มที่ ส่วนใหญ่เป็นโสด ฮอร์โมนพุ่งพล่าน ดังนั้น เรื่องกุ๊กกิ๊กจึงห้ามใจลำบาก

ว่ากันว่านักกีฬาชายที่ได้เหรียญทองจะเนื้อหอมมาก นักกีฬาสาวๆ อยากจะ "มีอะไร" ด้วย
ตรงข้ามกับนักกีฬาสาวที่ได้เหรียญทอง จะถนอมเนื้อตัว

เรื่องการมีความสัมพันธ์รักในหมู่บ้านนักกีฬา นักกีฬาทีมชาติผู้มีประสบการณ์แนะนำว่าไม่ควรกุ๊กกิ๊กกับนักกีฬาที่แข่งกีฬาประเภทเดียวกัน เพราะโอกาสที่จะเจอกันอีกนั้นมีบ่อย ดังนั้น ควรกุ๊กกิ๊กกับนักกีฬาที่แข่งคนละประเภท
ยิ่งคนละทวีปจะยิ่งดีมาก!

แม็ตธิว ซีด นักปิงปองทีมชาติอังกฤษเล่าว่าช่วงเวลาแค่สองอาทิตย์ในหมู่บ้านนักกีฬา เขากุ๊กกิ๊กกับสาวมากกว่าที่ผ่านมาทั้งชีวิตรวมกัน!

นักกีฬาชายคนหนึ่งบอกว่า เวลาอยู่ในบ้านพักนักกีฬาสามารถหาสาวจีบตามสเป๊กที่ตัวเองชอบง่ายมากเพราะมีสาวมาจากทั่วโลก หากเป็นคนชอบสาวหน้าท้องเรียบให้ไปจีบสาวนักยิมนาสติก หากชอบสาวสะโพกสวย ให้ไปจีบนักกรีฑา


นอกจากนี้ "สปิริต" ของนักกีฬาโอลิมปิกก็คือ ไม่เอาเรื่องในที่ลับมาไขในที่แจ้ง หากไปกุ๊กกิ๊กกับใครไม่ควรประกาศให้คนอื่นรู้
ดังนั้น เราจึงไม่ได้ยินข่าวรั่วออกมาว่านักกีฬาคนไหนไปกุ๊กกิ๊กกับใครในหมู่บ้านพักนักกีฬา



++

ท่องเที่ยวอย่างไรจึงจะมีความสุข
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 96


เดือนเมษายนคือเดือนแห่งการท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทย
ถามว่าทำไมคนไทยต้องไปเที่ยวต่างประเทศเดือนเมษา?
เหตุผลมีหลายอย่าง
1. ลูกปิดเทอมทำให้ได้ไปเที่ยวพร้อมกันพ่อแม่ลูก
2. เทศกาลสงกรานต์มีวันหยุดยาว
3. อากาศช่วงเดือนเมษายน เมืองไทยร้อนตับแลบ แต่ที่ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป อเมริกา อากาศมีทั้งแบบหนาวสบายเย็นสบายให้เลือกไปเที่ยวตามฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน และ ฯลฯ
ไปเที่ยวต่างประเทศเสียสตังค์ครั้งละเยอะๆ ไปแล้วต้องมีความสุขให้คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป


ผมมีรายงานผลการสำรวจของเว็บไซต์ เอ็กซ์พีเดีย (Expedia) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ท่องเที่ยว รับจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรมเว็บดังของโลก ว่าปัจจัยใดเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวมีความสุข สนุกสนาน ราบรื่น
โดยเขาทำโพลสำรวจคนในประเทศนิวซีแลนด์จำนวน 500 คนที่อายุระหว่าง 18 ถึง 54 ปี
แล้วมีนักจิตวิทยาร่วมวิเคราะห์ผลสำรวจ ซึ่งผลสำรวจพบว่าจะเที่ยวให้มีความสุขต้องมีปัจจัยดังต่อไปนี้

1. เป็นการท่องเที่ยวที่ใช้เวลานอนค้างคืนอย่างน้อย 5 คืน

2. ใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินอย่างน้อย 7 ชั่วโมง เพราะการบิน 7 ชั่วโมง ทำให้รู้สึกว่าห่างจากบ้าน ห่างจากออฟฟิศ ทำให้ลืมเรื่องงาน ตลอดจนปัญหาต่างๆ ในบ้าน เป็นการพักผ่อนจริงๆ
นักจิตวิทยากล่าวว่าการท่องเที่ยวโดยใช้เวลาค้างคืน 3 วัน และจุดหมายปลายทางห่างจากบ้านเพียงแค่นั่งเครื่องบินชั่วโมงเดียว จะทำให้เราไม่รู้สึกหายเครียด หรือไม่รู้สึกว่าได้พักผ่อนเต็มที่เท่ากับการได้พักค้างคืน 5 วันและเดินทางด้วยเครื่องบิน 7 ชั่วโมงขึ้นไป

3. ไปเที่ยวกับครอบครัวเพื่อนฝูงอย่างน้อย 4 คน และพบว่ากลุ่มท่องเที่ยว 5 คนเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุด เหตุผลก็คือจำนวนคนท่องเที่ยว 5 คน สามารถลดโอกาสการขัดแย้ง และต่างก็มีความสนใจหลากหลายแตกต่างกันไป ทำให้ทุกคนได้ประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ

4. ไม่ท่องเที่ยวกับญาติ โดยเฉพาะยิ่ง พ่อแม่ตัวเอง พ่อสามี แม่สามี พ่อตา แม่ยาย ยิ่งญาติเยอะความสนุกในการท่องเที่ยวยิ่งลดลง

5. ได้ลงรูปในโซเชี่ยล มีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เหตุผลนั้นนักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่าเวลาคนไปเที่ยวและลงรูปอวดเพื่อนฝูง ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนโชคดี มีโอกาสได้ท่องเที่ยว สนุกสนาน และยิ่งมีความสุขเมื่อเพื่อนฝูงเขียนความเห็นตอบกลับมาในเฟซบุ๊กว่า "อิจฉาจัง" "โชคดีจริงๆ" หรือกด Like จากการสำรวจพบว่าการท่องเที่ยว 15 วัน คนนิวซีแลนด์ใช้เวลาใน Social Media ถึง 5 ชั่วโมง 4 นาที

6. ท่องเที่ยวในเมืองหรือประเทศที่มีอากาศดี ไม่แปรปรวน

7. ที่น่าภูมิใจก็คือจากสถิติการขายตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พักของเว็บไซต์ Expedia พบว่า ภูเก็ตของเราติดอันดับ 6 ของสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย โดยอีกห้าแห่งคือ ลาสเวกัส สิงคโปร์ ฟิจิ บาหลี และเกาะโออาฮูที่ตั้งของหาดไวกิกิ ฮาวาย



นอกจากนี้ เว็บไซต์เอ็กซ์พีเดียยังมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อเป็นเพื่อนร่วมเดินทางท่องเที่ยวที่ดี ทำให้ใครๆ ก็อยากชวนไปเที่ยวด้วยทุกครั้งดังนี้

1. ไปเที่ยวด้วยกัน ต้องปล่อยให้เพื่อนร่วมเดินทางมีเวลาเป็นส่วนตัวบ้าง เช่น เวลาไปซื้อของที่ระลึก เพราะคนเราสนใจซื้อของไม่เหมือนกัน บางคนใช้เวลาเลือกนาน ดังนั้น การมีเวลาส่วนตัวบ้าง ทำให้ต่างฝ่ายต่างมีความสุข ไม่อึดอัดรำคาญ

2. ทำตัวยืดหยุ่น แผนการเดินทางอาจเปลี่ยนแปลงเพราะเที่ยวบินยกเลิก หรือรถเสีย ดังนั้น ต้องรู้จักปรับตัว ทำตัวยืดหยุ่นให้เข้ากับสถานการณ์ มองปัญหาว่าเป็นสีสันของการท่องเที่ยว ผจญภัย ไม่อารมณ์เสีย บ่นหรือโวยวาย

3. มีความสะอาด รู้จักรักษาความสะอาดของร่างกาย เพราะไม่มีใครอยากอยู่ใกล้เพื่อนร่วมทัวร์ที่ไม่อาบน้ำ ไม่สระผม กลิ่นตัวแรง แต่ขณะเดียวกันอย่าใช้เวลาในการแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม นานเกินเหตุจนทำให้เพื่อนร่วมก๊วนเบื่อ

4. รู้จักกาลเทศะว่าตอนไหนควรพูด ตอนไหนควรเงียบ เช่น เวลาพักอยู่ที่โรงแรม ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะพูดคุยกับพนักงานโรงแรมหรือแขกที่มาพักเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการเดินทาง ท่องเที่ยวว่ามีที่ไหนควรไปเที่ยว ส่วนเวลาที่ควรเงียบก็ต้องเงียบ เช่น เวลายืนอยู่บนยอดเขา ชื่นชมธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์ หรือหลังจากเที่ยวมาเหนื่อยทั้งวัน กลับถึงที่พักหมาดๆ ก็อยากที่จะนั่งพักผ่อนเงียบๆ สักครู่ เพราะคงไม่มีใครที่ชอบฟังคนที่พูดตลอดเวลา

5. เคารพในความเห็นของกันและกัน คนเรามีความชอบเรื่องอาหาร กิจกรรม ต่างกัน หากเพื่อนร่วมเดินทางอยากลองทานตั๊กแตนทอด ก็อย่าไปวิจารณ์ว่าทานอาหารประหลาด หรือทำหน้ารังเกียจ

6. ให้ความเคารพในวัฒนธรรมของสถานที่ที่เดินทางไป ไม่ควรนำวัฒนธรรมที่ต่างจากของเรามาเยาะเย้ย ขบขัน เพราะทำให้เพื่อนร่วมทัวร์อึดอัด และอาจเป็นอันตรายได้ ถ้าคนท้องถิ่นได้ยินเข้า

7. อย่าหยิบยืมของใช้ส่วนตัวโดยไม่ขออนุญาต

8. ตรงเวลา นอกจากจะเป็นมรรยาทแล้ว ยังเป็นเรื่องความปลอดภัยของเพื่อนร่วมทัวร์ หากเรามาช้าเป็นชั่วโมง เพื่อนร่วมทัวร์ต้องยืนรอจนมืดค่ำก็เป็นอันตรายได้ หรือทำให้พลาดโปรแกรมการเที่ยวบางรายการ

9. ออกเงินค่าใช้จ่ายอย่างเท่าเทียม หากเราออกค่าอาหารวันนี้ วันต่อไปอีกคนก็ควรออก เช่น มื้อเช้า เพื่อนเป็นคนออกค่าอาหาร มื้อกลางวันเราก็ต้องเป็นคนออกเงิน

มรรยาทต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรประพฤติปฏิบัติเป็นนิสัยไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม



++

ทำไมคนถึงเข้าคิวยาว ซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 96


ทุกครั้งที่แอปเปิ้ล (Apple) ออกวางจำหน่าย iPhone หรือ iPad รุ่นใหม่ แทบทุกประเทศจะมีคนหอบหมอนผ้าห่มมานอนรอล่วงหน้าหลายวันเพื่อเข้าแถวต่อคิวหน้าร้าน Apple
ระหว่างที่รอบางคนก็ฆ่าเวลาด้วยการเอา iPhone หรือ iPad ที่เพิ่งซื้อได้ไม่ถึงปีและยังใช้งานได้ดีอยู่มาใช้งาน โดยเฉลี่ย iPhone และ iPad จะมีรุ่นใหม่ออกมาทุกปี
นับตั้งแต่ Apple เปิดตัว iPad ในปี 2010 เพียงเวลาไม่ถึง 2 ปี มีคนซื้อ iPad กว่า 55 ล้านเครื่อง ภายในสิ้นปีนี้จะมียอดขายรวม 65 ล้านเครื่อง ส่วน iPhone คาดว่านับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2007 จนถึงสิ้นปีนี้ จะขายได้รวม 80 ล้านเครื่อง
ล่าสุด iPad 3 เปิดตัววางจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคมใน 10 ประเทศทั่วโลก เช่น อเมริกา, อังกฤษ, ฮ่องกง และสิงคโปร์ หน้าร้าน Apple ทุกแห่งมีคนจำนวนหลายร้อยเข้าแถวต่อคิวรอนานเป็นชั่วโมงเพื่อซื้อ iPad 3 ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าอีกเพียงไม่กี่อาทิตย์ ก็สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องทรมานยืนรอนาน

แต่เมื่อได้ฟังสัมภาษณ์คนที่นอนรอต่อแถวหรือยืนต่อแถว ต่างตอบเหมือนกันว่าคุ้มค่ารอไม่ว่าจะเป็นคนที่ต่อแถวเพื่อซื้อ iPad 3 ไว้ใช้เองหรือตั้งใจไปขายต่อ


คนที่เข้าคิวรอหลายชั่วโมงเพื่อซื้อ iPad 3 แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. พวกชอบลองเทคโนโลยีใหม่ๆ อยากลองลูกเล่นใหม่ของเครื่อง
2. พวกตามกระแส สิ่งไหนที่ฮิตตัวเองต้องมีไว้ใช้ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของก่อนใคร
3. พวกรับจ้างต่อคิว ซึ่งมีทั้งได้ค่าจ้างต่อเป็นชั่วโมงหรือขายตำแหน่งในคิว ยิ่งอยู่ต้นแถวยิ่ง สามารถขายคิวในราคาสูงพอๆ กับราคา iPad 3
4. พวกซื้อแล้วไปขายโก่งราคา

แต่ไม่ว่ามีจุดประสงค์อะไรในการต่อคิว การที่คนเป็นร้อยเป็นพันยืนเข้าแถวรอซื้อ iPad 3 ไม่เพียงแต่ Apple จะทำเงินมหาศาล หากมองในแง่การตลาด ถือเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าชั้นเยี่ยม ยิ่งคนรอคิวเข้าแถวซื้อ iPad ยาวเท่าไหร่ สินค้าขาดตลาด ก็ยิ่งทำให้จำนวนคนอยากได้เพิ่มมากขึ้น

จากตัวเลขในปี 2010 Apple ใช้งบการตลาดทั่วโลกเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ หรือ 21,000 ล้านบาท
ดังนั้น บรรดาลูกค้า Apple ที่ยืนต่อแถวซื้อ iPad 3 นอกจากจะทำให้ Apple รวยแล้ว ยังช่วยประชาสัมพันธ์โดย Apple ไม่ต้องเสียเงินจ่ายค่าโฆษณา



เชื่อว่าหลายท่านมีเพื่อนหรือมีคนรู้จักที่ชอบเปลี่ยนโทรศัพท์มือถืออยู่เรื่อยเมื่อมีรุ่นใหม่ออกมา-แม้เครื่องที่มียังใช้งานได้ดีอยู่

เหตุผลที่คนเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ นั้นมีนักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นเครื่องแสดงสถานภาพทางสังคม การมีข้าวของเครื่องใช้รุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ ทำให้คนอื่นรู้หรือเข้าใจว่ามีเงินในระดับหนึ่งและมีความทันสมัย เจ้าตัวก็แอบภูมิใจในความไฮเทคของตัวเอง

เหมือนกับเวลามีภาพยนตร์ดังเข้าฉายใหม่ๆ ต้องรีบไปดูทันทีทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นภาพยนตร์แนวที่ชอบ แต่ต้องไปดูเพื่อจะได้คุยอวดว่าหนังเรื่องนี้ดูมาแล้ว
เคยอ่านนักจิตวิทยาวิเคราะห์พฤติกรรมการเปลี่ยนมือถือบ่อยจนเกินความจำเป็นว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ อยากมีของดีๆ ใช้ และอยากอวดให้คนเห็น
เหมือนใครๆ ก็อยากซื้อรถใหม่ไว้ขับ ไว้โชว์ทุกปี แต่ในชีวิตจริงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะรถราคาแพงมาก ดังนั้น อุปกรณ์เครื่องใช้ทางเทคโนโลยี อย่าง iPad หรือ iPhone จึงเป็นทางเลือก มีไว้โชว์ก็ได้ใช้ก็ได้โดยที่ราคาไม่แพงเหมือนรถยนต์

ในหลายอาชีพ iPhone หรือ iPad เป็นสิ่งจำเป็นในการติดตามงาน รับส่งข้อมูลได้ทันท่วงที
ส่วนคนที่มีกำลังทรัพย์น้อยแต่ต้องอัพเกรด iPhone หรือ iPad เพื่อให้ทันเพื่อนหรือทันสมัย ยอมซื้อแบบผ่อนรายเดือน แต่ไม่มีเงินซื้อสิ่งจำเป็นในชีวิต ต้องหยิบยืมเงินคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า
ถ้าเป็นแบบนี้การมี iPhone หรือ iPad ไม่ใช่สิ่งที่จะอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อความโก้เก๋ แต่กลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น



++

โรคติดโทรศัพท์มือถือ
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 96


โรคโนโมโฟเบี่ย Nomophobia หรือโรคกลัวไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ กำลังเป็นโรคที่ระบาดไปทั่วโลกขณะนี้

Nomophobia มาจากชื่อเต็มว่า no-mobile-phone phobia ศัพท์คำนี้บัญญัติเมื่อปี 2008 โดย UK Post Office หรือการไปรษณีย์ของสหราชอาณาจักร โดยตอนนั้นได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคนในสหราชอาณาจักร 2,100 คน ซึ่งสมัยนั้นคนที่นั่นติดโทรศัพท์สุดขีด 53 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าเป็นโรคกลัวไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ (คิดเป็นผู้หญิง 48 เปอร์เซ็นต์ และผู้ชาย 58 เปอร์เซ็นต์)

อาการของโรคคือ เครียด หงุดหงิด จิตใจว้าวุ่นหากลืมโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือหมด หรือไม่มีสัญญาณโทรศัพท์


ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทซีเคียวเอ็นวอย (SecurEnvoy) ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการรักษาความปลอดภัยของโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ชั้นนำของประเทศอังกฤษ และมีสาขาในหลายประเทศทั่วโลก ได้รายงานผลการสำรวจเรื่อง Nomophobia ซึ่งได้ข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

จากการสำรวจคนในสหราชอาณาจักรจำนวน 1,000 คนพบว่า 66 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่ากลัวโทรศัพท์หาย (คิดเป็นผู้หญิง 70 เปอร์เซ็นต์ ผู้ชาย 61 เปอร์เซ็นต์) เพิ่มขึ้นจากการศึกษาเมื่อสี่ปีก่อนโดย UK Post Office ที่ได้ตัวเลข 53 เปอร์เซ็นต์ ยุคนั้นจำนวนผู้ชายกลัวมือถือหายมากกว่าผู้หญิง แต่ พ.ศ. นี้ผู้หญิงกลัวมือถือหายมีจำนวนมากกว่า ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะผู้ชายสมัยนี้นิยมมีมือถืออย่างน้อยสองเครื่องขึ้นไป เลยทำให้มีความกลัวมือถือจะหายน้อยกว่าเมื่อก่อน
ผู้ชาย 47 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิง 36 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่ามีโทรศัพท์มือถืออย่างน้อย 2 เครื่องเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร

49 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าจะโกรธมากเวลาแฟนหรือสามีหรือภรรยาแอบมาอ่านข้อความ SMS

ยิ่งอายุน้อย อัตราการเป็นโรค Nomophobia ก็ยิ่งสูง คนอายุระหว่าง 17-24 ปี จำนวนถึง 77 เปอร์เซ็นต์ บอกว่ากลัวไม่มีมือถือใช้ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่กลัวมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มอายุ 25-34 ปี อยู่ที่ 66 เปอร์เซ็นต์
สาเหตุที่ยิ่งอายุน้อยยิ่งขาดมือถือไม่ได้นั้น นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ติดเพื่อนแทบ 24 ชั่วโมง อยู่คนเดียวแล้วเหงา เบื่อ ดังนั้น จึงมีมือถือเป็นเพื่อน และใช้ในการติดต่อเพื่อน


เมื่อปีที่แล้ว จากการศึกษาของ Helsinki Institute for Information Technology ประเทศฟินแลนด์ พบว่าโดยเฉลี่ยคนจะเช็กโทรศัพท์มือถือวันละ 34 ครั้ง โดยมักจะเช็กอี-เมล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือแอ็ปต่างๆ โดยจะใช้เวลาเช็กไม่เกิน 30 วินาที สาเหตุที่เช็กนั้นไม่ใช่เพราะมีเรื่องด่วน แต่ว่าเป็นสิ่งที่ทำประจำจนเป็นนิสัยแล้ว หรือห้ามใจไม่ไหว
ดังนั้น หากวางมือถือผิดที่จะใช้เวลาเพียงไม่นานก็ทราบว่ามือถือหาย



อยากทราบว่าตัวเราเป็นโรค Nomophobia หรือเปล่า ให้ลองดูว่าตัวเองมีนิสัยต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ หากมีตรงหลายข้อแสดงว่าเป็นโรคนี้เข้าแล้ว
1. เมื่อขับรถออกจากบ้าน ทันทีที่รู้ตัวว่าลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน ต้องรีบวนรถกลับไปบ้านทันที ไม่ว่าจะอยู่ไกลจากบ้านขนาดไหน
2. เวลาพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนข้างนอกทางมือถือ ส่ง SMS ส่งเฟซบุ๊ก มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า
3. มีบลูทูธติดหูอยู่ตลอดเวลา
4. เวลานอนมีโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างกาย เหมือนกับนอนกอดตุ๊กตาหมีเมื่อสมัยยี่สิบปีก่อน
5. ภายในหนึ่งนาทีหลังเจอหน้าเพื่อน จะต้องถ่ายรูปเพื่อโหลดลงเฟซบุ๊ก
6. เวลาทำงาน หรือประชุมเรื่องสำคัญก็ยังอดใจเช็กมือถือไม่ไหว
7. มีคนพูดเตือนว่าให้วางมือถือได้แล้ว มากกว่าหนึ่งครั้งต่อวัน
8. ลองตั้งใจว่าจะไม่เช็กมือถือเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง แต่ไม่เคยทำสำเร็จ
9. ก่อนทานอาหารต้องถ่ายรูปอาหารลงเฟซบุ๊ก

คำแนะนำในการแก้ปัญหาโรค Nomophobia
1. ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคติดโทรศัพท์ เพื่อที่จะได้ตั้งใจแก้นิสัยนี้
2. ตั้งกฎไว้ว่าจะไม่แตะมือถือภายในเวลาที่กำหนด โดยเริ่มจาก 10 นาที จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาในการห่างจากมือถือเป็นครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง
3. เมื่อถึงบ้านก็จัดบริเวณต้องห้ามสำหรับโทรศัพท์มือถือ เช่น ห้องทานข้าว หรือห้องนอน เพราะเป็นห้องที่ควรใช้เวลาอยู่กับสมาชิกในครอบครัว เช่น ทานข้าวร่วมกัน หรือดูโทรทัศน์ร่วมกันก่อนนอน
4. หากิจกรรมอย่างอื่นทำยามว่าง เช่น ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก อ่านหนังสือ
5. ปิดโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน

โทรศัพท์มือถือเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันง่ายขึ้น สะดวกขึ้นเท่านั้น ไม่ควรเป็นอุปกรณ์ที่มาทำให้สุนทรีย์ของชีวิตในส่วนอื่นๆ ที่ควรจะเป็นและควรจะมีของเราหายไป



.