http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-12

"ฟูคุชิมา" สะเทือนโลก (1) (2) โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

"ฟูคุชิมา" สะเทือนโลก (1)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 36


ผ่านไปแล้วหนึ่งปีเต็มๆ ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมาระเบิด กัมมันตรังสีรั่วไหลจนต้องปิดตัวเอง อพยพประชาชนออกจากพื้นที่อันตราย แต่ยังกลายเป็นคำถามใหญ่กับอนาคตพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นและของโลก
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้า "ฟูคุชิมา" รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ทั้งในระยะกลางและระยะยาว จากเดิมที่เคยใช้ "นิวเคลียร์" ผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับบ้านเรือน โรงงานถึงร้อยละ 30 และสั่งรื้อตรวจสอบระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งที่มีอยู่
ล่าสุด เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์อาซาฮี สำรวจความเห็นของชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศจำนวน 3,360 คนผ่านทางโทรศัพท์พบว่าร้อยละ 80 ไม่เชื่อมั่นมาตรการควบคุมความปลอดภัยของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปิดซ่อมบำรุงรักษาอยู่ ปรากฏว่ามีจำนวนร้อยละ 57 คัดค้าน
และมีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่เห็นด้วย



ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่นที่ยังผลิตไฟฟ้าอยู่เพียง 2 เครื่องจากทั้งหมด 54 เครื่อง จำนวน 2 เครื่องดังกล่าวใกล้ถึงกำหนดต้องปิดซ่อมบำรุงแล้ว
รัฐบาลญี่ปุ่นกังวลว่า ถ้าหากมีการคัดค้านการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างกว้างขวาง จะเกิดผลกระทบต่อทิศทางพลังงานและผลร้ายทางเศรษฐกิจ
ความวิตกกังวลดังกล่าวสะท้อนผ่านทาง นายยูกิโอะ เอดาโนะ รัฐมนตรีพาณิชย์ญี่ปุ่นซึ่งให้สัมภาษณ์ว่า หากไม่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เปิดใช้ได้ทันในฤดูร้อนปีนี้ จะทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าไปราวร้อยละ 10 ในช่วงที่ความต้องการพลังงานสูงขึ้น

คำถามตามมากับปฏิกิริยาคัดค้านของชาวญี่ปุ่นก็คือ รัฐบาลจะแก้ไขปัญหา "พลังงาน" อย่างไรถ้าประชาชนยังหวาดผวากับวิกฤตการณ์ "ฟูคุชิมา"
นอกเหนือจากนั้นแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเป็นกังวลกับพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ โดยเฉพาะในเขตฟูตาบา นามิเอะ และนาราฮา
ที่นั่นไม่มีไฟฟ้าใช้ โรงงานยังคงหยุดเดินเครื่อง ประชาชน 1 แสนคนที่ทางการสั่งอพยพจากพื้นที่เนื่องจากมีกัมมันตรังสีปนเปื้อน อาจจะไม่ได้กลับบ้านอีกเลยถึง 3 หมื่นคน
ขณะที่การฟื้นฟูโรงไฟฟ้าฟูคุชิมาและรื้อซากปรักหักพังที่เต็มด้วยคราบกัมมันตรังสีคาดกันว่าต้องใช้เงินทุนถึง 623,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อฟื้นฟูบำบัดพื้นที่เสร็จแล้ว ประชาชนจะให้ความไว้วางใจเข้าไปอยู่อาศัยอีกต่อไปหรือไม่



ความจริงแล้ว ถ้าย้อนประวัติศาสตร์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะพบว่าการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ๆ มีนับได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น

1. เหตุการณ์เมื่อปี 2522 เตาปฏิกรณ์บางส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ ไอส์แลนด์ รัฐเพนซิลวาเนีย หลอมละลาย ในเวลานั้นทางการสหรัฐสั่งให้อพยพผู้คนออกจากพื้นที่ชั่วคราว แม้ว่ากัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาเล็กน้อย

2. ปี 2529 เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในยูเครน เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้เตาปฏิกรณ์ระเบิด กัมมันตรังสีฟุ้งกระจายกินพื้นที่บริเวณกว้างมาก

3. เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าฟูฟูคุชิมา ระเบิดกัมมันตรังสีรั่วเนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ

แต่ทั้งสามเหตุการณ์ กลับส่งผลกระเทือนต่อความรู้สึกของทั้งโลก ความหวาดกลัวกับภัยนิวเคลียร์แผ่ซ่าน เกิดกลุ่มคัดค้าน "นิวเคลียร์" กระจายไปทุกแห่งหน รัฐบาลในหลายประเทศ ต้องหวนกลับมาทบทวนนโยบายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันใหม่

บางประเทศมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่แล้ว ต้องหยุดเดินหน้า ชะลอหรือหยุดโครงการพัฒนา
บางประเทศ ยุติโครงการก่อสร้าง และอีกหลายๆ แห่ง รัฐบาลมีนโยบายชัดเจน "ไม่เอา" โรงไฟฟ้านิวเคลียร์



++

"ฟูคุชิมา" สะเทือนโลก (2)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 38


ตั้งแต่เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมาระเบิด นอกจากเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีผลกระทบในทางลบต่อความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทั้งในญี่ปุ่นและคนทั่วโลกอย่างมากอีกด้วย

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทรีไมล์ไอส์แลนด์ รัฐเพนน์ซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2522 หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในยูเครน ระเบิดเมื่อปี 2529 เหตุการณ์ที่ฟูคุชิมารุนแรงกว่ามาก
ภาพที่ปรากฏในสื่อ หลังคาของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟูคุชิมา ปลิวกระเด็นด้วยแรงระเบิดเนื่องจากแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือน 9.0 ริกเตอร์ และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ไม่ทำงาน
ภาพนี้ทำให้คนทั้งโลกช็อก เพราะก่อนหน้านี้ บริษัทที่ขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์พากันโฆษณาชวนเชื่อว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เป็นเทคโนโลยีสุดยอด มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ป้องกันอันตรายจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี คนอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพื้นที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

แต่เมื่อกล้องทีวีจับภาพขณะโรงไฟฟ้าฟูคุชิมาระเบิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เสียงที่ดังกึกก้องพร้อมๆ กับควันไฟสีดำพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า
ความเชื่อมั่นว่าระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยอดเยี่ยมมาก สามารถป้องกันอันตรายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เปลี่ยนเป็นลบในทันที


หลังเตาปฏิกรณ์ทั้งสามของโรงไฟฟ้าฟูคุชิมาระเบิด ไฟไหม้เตาปฏิกรณ์อีกหนึ่ง คนทั้งโลกได้เห็นเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นควบคุมกัมมันตรังสีไม่ให้รั่วไหลและการลดความร้อนในจุดเกิดเหตุ ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ธรรมดาสามัญ พื้นๆ มาก อย่างเช่น สูบน้ำทะเลฉีดเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ หรือส่งเฮลิคอปเตอร์ไปตักน้ำขึ้นไปสาดเหนือหลังคาโรงไฟฟ้า ฯลฯ
ภาพอย่างนี้ จึงเกิดคำถามว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ลงทุนเป็นแสนๆ ล้านบาท มีระบบป้องกันความปลอดภัยด้วยวิธีพื้นๆ แค่นี้เองหรือ?

ขณะที่การบำบัดฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่มาจากโรงไฟฟ้าฟูคุชิมา วันนี้ทางการญี่ปุ่นยังทำไม่สำเร็จ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกนานนับหลายปี
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่โพลสำรวจความเห็นของหนังสือพิมพ์อาซาฮี พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่น ไม่เชื่อถือในมาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ความรู้สึกเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชาวญี่ปุ่น หากชาวโลกต่างรู้สึกด้วยและยังเป็นความรู้สึกตอกย้ำต่อเหตุการณ์ "ทรีไมล์ ไอส์แลนด์-เชอร์โนบิล" ซึ่งฝังใจอยู่แล้ว



ย้อนดูประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์นับตั้งแต่ปี 2485 เป็นต้นมา จะเห็นว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
รัสเซีย ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลก เมื่อปี 2497 สหรัฐ ก็หันมาสร้างแข่งบ้าง
ในเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์มั่นอกมั่นใจว่า การพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างก้าวกระโดดจะช่วยให้ชาวโลกใช้พลังงานในราคาถูกและจะนำมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน

ระหว่างปี 2498-2502 สหรัฐเดินหน้าผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 14 แห่ง แต่รัฐสภาสหรัฐ อนุมัติ 8 แห่ง ก่อสร้างและใช้งานจริงมีเพียง 2 โรง
ช่วงปี 2503-2507 ยื่นขอก่อสร้างลดมาครึ่งหนึ่งเหลือ 7 โรง มาบูมอีกหน
ระหว่างประธานาธิบดี "ลินดอน บี.จอห์นสัน" คุมอำนาจ มีการยื่นขอก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 81 แห่ง ตามด้วยยุค "ริชาร์ด นิกสัน" ขอเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 143 โรง แล้วลดเหลือเพียง 13 โรง ในช่วงระหว่างปี 2518-2522 หลังจากนั้นไม่มีการยื่นขอเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก

จำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของสหรัฐที่ก่อสร้างแล้วและยังใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 104 แห่ง มากที่สุดในโลกตามด้วยฝรั่งเศส 59 โรง และญี่ปุ่น 54 โรง
ถ้ารวมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก มีอยู่ทั้งหมด 437 โรง
ปีที่แล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผลิตพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 13 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดในโลก ลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2539
อัตราเฉลี่ยการเติบโตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แค่ +0.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก


อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์สะดุดอย่างรุนแรงเมื่อเกิดเหตุ "เชอร์โนบิล" เนื่องจากความเชื่อถือที่มีต่ออุตสาหกรรมแทบจะหมดไป
กัมมันตรังสีแผ่ซ่านจากยูเครนไปทั่วประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปกลายเป็นฝันร้ายของชาวโลก
ทุกประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องหันมาทบทวนมาตรการความปลอดภัยกันยกใหญ่
ในระหว่างนั้น ผู้คนต่างหันมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีพลังงานมาทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานจากซากฟอสซิล

หากพึ่ง "นิวเคลียร์" กลัวความเสี่ยงที่จะเกิดเหมือนเชอร์โนบิล ขณะที่พลังงานจากซากฟอสซิล ร่อยหรอและยิ่งดึงพลังงานชนิดนี้มาใช้มากเท่าไหร่เท่ากับเพิ่มปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้นไปอีก
เมื่อ "นิวเคลียร์" ไม่ใช่ทางออกของพลังงาน เชื้อเพลิงจาก "ฟอสซิล" ทั้งแพงทั้งอันตรายกับโลก
พลังงานหมุนเวียนจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ทุกคนหันไปจับจ้อง

ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พัฒนาก้าวหน้าไปมากและตลาดโลกตอบรับอย่างสูง

ปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์และกังหันลมเทอร์ไบน์ กินส่วนแบ่งของพลังงานทั้งหมดที่โลกนี้ใช้กันเกือบถึง 20 เปอร์เซ็นต์

แต่เมื่อเทียบระหว่างพลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์และวินด์เทอร์ไบน์ กับพลังงานนิวเคลียร์ พบว่า นิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ถ้าปีที่แล้ว ไม่มีเหตุร้ายที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมา ป่านนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะกลับมาผงาดอีกครั้ง
เผลอๆ โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในบ้านเรา อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ได้



.