http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-22

ไทยประดิษฐ์ โดย คำ ผกา

.

ไทยประดิษฐ์ 
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 89


"ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ทำให้ "ชาติไทย"" มีความหมายว่าเป็นชาติของ "คนไทย" แม้ว่าเมืองไทยจะประกอบขึ้นด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนไทยโดยกำเนิด แต่คนเหล่านั้นจะต้อง "กลายเป็นไทย" ด้วยการเรียนรู้และยอมรับใน "ความเป็นไทย" อย่างสมบูรณ์ มิฉะนั้น ก็จะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ "ชาติไทย" 
และด้วยเหตุดังนั้น "ชาติไทย" จึงมีวัฒนธรรมไทยแท้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น มิใช่เป็น "พื้นที่" อันประกอบขึ้นด้วยวัฒนธรรมหลากหลายที่ทุกวัฒนธรรมมีสถานะเท่าเทียมกัน

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำให้คนไทยรับรู้ว่า คนไทยที่ประกอบกันขึ้นเป็น "ชาติไทย" นี้มีสถานะแตกต่างกันหลายชั้น เนื่องจากคนแต่ชั้นมีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน จึงทำให้มีหน้าที่แตกต่างกัน แต่เนื่องจากชาติกำเนิดมิใช่ปัจจัยเดียวที่กำหนด "ชั้น" ของคน ในขณะที่ความรู้ความสามารถมีความสำคัญมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้มีการเลื่อนสถานะได้เสมอ
ภายใต้โครงสร้างทางสังคมข้างต้น ระบบความสัมพันธ์อันถูกต้องเหมาะสมที่จะทำให้เกิดระเบียบ ความมั่นคง ความสงบสุข และความเจริญก้าวหน้าขึ้นใน "ชาติไทย" ก็คือระบบความสัมพันธ์ที่แต่ละคน "รู้ที่ต่ำที่สูง" และแต่ละคนทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด

โครงสร้างของสังคมที่แบ่งกันเป็นลำดับชั้นเช่นนี้เป็นสิ่งที่พึงรักษาเอาไว้ ซึ่งจะกระทำด้วยการทำให้คนไทยมี "จิตใจแบบไทย" อยู่เสมอ

ความเปลี่ยนแปลงใน "ชาติไทย" ได้แก่ การพัฒนาทางวัตถุเท่านั้น เพราะ "จิตใจแบบไทย" และความสัมพันธ์แบบ "รู้ที่ต่ำที่สูง" นั้นดีอยู่แล้ว...จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่คนไทยจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม และวัฒนธรรมไทย 

หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ทางออกของสังคมไทย (ซึ่งมีลักษณะพิเศษ) ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนสังคมอื่น...
สิ่งที่คนไทยควรให้ความสำคัญคือ เอกภาพและความสามัคคี เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามทั้งหลายที่จะมาทำลาย "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" ลงไป"

(คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" ยุคจอมพลสฤษดิ์ถึงทศวรรษ 2530, หน้า 436-437. สายชล สัตยานุรักษ์)


สารภาพว่าช่วงนี้มึนตึ๊บกับการอภิปรายในสภาทั้งเรื่องปรองดองทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญมึนกับศัพท์แสงประเภท "สุนทรียสนทนา"

(ศัพท์แสงการเมืองไทยแบบนี้ดูเข้ากันได้ดีกับประดิษฐกรรมความเป็นไทยแบบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เพราะดูสามารถสร้างเอกภาพและความสามัคคีโดยไม่ต้องมีความยุติธรรม ใครทำอะไรลงไปบ้างไม่สำคัญเท่ากับ "ท่าที" นอบน้อม สุภาพ แบบไทย พูดไปยิ้มไป เราฟังท่าน ท่านกับฟังเรา เราจะเกี่ยวก้อยพาสังคมออกจากความขัดแย้งไปด้วยกัน, ฮ่วย ช่วยสะสางประวัติศาสตร์เสียก่อนได้ไหม?)

มึนกับความหวังดีต่ออนาคตลูกหลานไทยของนักการเมืองที่กระโดดเข้าสะเอวทหารหลังการรัฐประหาร แต่มาปั้นหน้าพูดเรื่องการแสวงหาความจริงและการปรองดองทั้งเรื่องการสถาปนาความยุติธรรมของผู้ชนะ

เอิ่ม...ครั้งหนึ่งที่คุณเคยอ้าขาหนีบสะเอวทหารขึ้นเป็นฝ่ายชนะแล้วสถาปนาความ "อยุติธรรม" ขึ้นมาบนวาทกรรมว่าด้วยการ "กระชับพื้นที่" และ "ขอคืนพื้นที่" จนมีคนตายเกือบร้อย บาดเจ็บหลายพัน ติดคุกอีกนับร้อย นี่จะเรียกว่าอะไร? 

มึนมากไปกว่านั้นกับการไปรำลึกเหตุการณ์ 10 เมษาฯ ของพรรคการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์และความสูญเสียครั้งนั้นในฐานะที่ตนเองเป็นรัฐบาลและในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร แต่วันดีคืนดี เมื่อต้องมานั่งเป็นฝ่ายค้านเพราะไม่มีสะเอวทหารให้หนีบกลับทำราวกับว่า พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้แหละลากรถถัง สไนเปอร์ออกมา "กระชับพื้นที่"

มึนเพราะไม่อยากเชื่อว่ามนุษย์เรานั้นหากเพาะบ่มความสามารถในการฉ้อฉลไว้ในกมลสันดานได้เสียแล้ว อย่าว่าแต่การโกหก แม้กระทั่งการขโมยความจริงก็สามารถทำได้อย่างหน้าชื่นตาบาน



เมื่อตกอยู่ในความมึนถึงเพียงนี้ จึงขอกลับไปอ่านงานของ อ.สายชล สัตยานุรักษ์ เกี่ยวกับประดิษฐกรรมความเป็นไทย เพราะไม่อยากจะนั่งหดหู่กับชะตากรรมของประเทศไทยว่า นับตั้งแต่ปี 2500 ลงมานั้น ประชาชนไทยได้ถูกฆ่าตายกลางเมืองด้วยน้ำมือรัฐมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่เรากลับไม่ได้รับบทเรียนอะไรเลย

ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องมือทางภาษาและอุดมการณ์ชุดเดิมๆ ได้ถูกนำกลับมาเป็นเครื่องสร้างความชอบธรรมให้กับการฆาตกรรมนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า และดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่น

หากมีการชุมนุมประท้วงของประชาชน พวกเขาจะบอกว่า
"สังคมจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ขอแค่แต่ละคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่ทุกวันนี้นอกจากไม่รู้หน้าที่ ไม่ทำตามหน้าที่แล้วยังไปละเมิด สิทธิ สรีภาพของคนอื่น ไม่พอใจอะไรก็มายึดถนนประท้วง"

แต่เมื่อมีการรัฐประหาร พวกเขาจะบอกว่า
"เป็นบุญของประเทศที่ทหารมาช่วยกอบกู้บ้านเมืองยามวิกฤติให้พ้นจากความโสมมของนักการเมืองละโมบ ถ้าทหารไม่ออกมาปฏิวัติ (พวกเขาแยกไม่ออกว่าปฏิวัติต่างจากรัฐประหารอย่างไร) ประเทศนี้ถูกนักการเมืองยึดไปทั้งประเทศแน่ "

แต่พวกเขาจะไม่พูดว่า "การรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการทำที่ละเมิดสิทธิของพลเมือง ที่สำคัญคือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของพลเมืองในระดับที่รุนแรงที่สุด" แต่สังคมไทยที่ถูกหล่อหลอมผ่านประดิษฐกรรมของความเป็นไทยก็ได้แห่ไปมอบช่อดอกไม้ให้กับการรัฐประหารอย่างหน้าชื่นตาบานและสื่อมวลชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่เคยแสดงจุดยืนของการต่อต้านรัฐประหาร แต่แสดงทัศนคติอันสอดคล้องกับประดิษฐกรรมความเป็นไทยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นคือ เชื่อว่าทางรอดของประเทศไทยคือการพยุง "จิตใจแบบไทย" และมุ่งมั่นรักษา เอกภาพ และความสามัคคี เอาไว้ให้มั่นคง

การ "กระชับพื้นที่" และ "ขอคืนพื้นที่" จนเป็นเหตุให้มีคนบริสุทธิ์ตายและบาดเจ็บจำนวนมาก นำมาซึ่งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญจากบรรดาชนชั้นกลางที่มีการศึกษาแบบกลางๆ อย่างวิตถารเกินกว่ามนุษย์ที่มีสติสัมปชัญญะคนใดจะเข้าใจได้

คนที่มีส่วนในการสั่งการ "กระชับพื้นที่" โฆษกหนุ่มๆ กลายมาเป็นไอดอลขวัญใจสาวๆ แม่ยก ได้รับเชิญให้ไปขึ้นปกนิตยสารผู้หญิงชั้นนำในฐานะของคนเก่ง คนหล่อ คนที่มีหัวใจรักชาติ

ชนชั้นกลาง สื่อมวลชนของชนชั้นกลางที่เป็นผลผลิตของประดิษฐกรรมความเป็นไทยล้วนเชื่อว่า "คนเสื้อแดง" ที่เข้ามาชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นได้ "ละเมิด" "ช่วงชั้น" ละเมิด "ระบบความสัมพันธ์" ละเมิด ความมั่นคง สงบสุขของชาติ ละเมิด "จิตใจแบบไทย" ที่ต้องรู้จัก "ที่ต่ำที่สูง" 

ถ้อยคำที่ใช้ในการประณามคนเสื้อแดงจึงวนเวียนอยู่กับ "ตำแหน่งแห่งหน" ทางสังคมอันเป็นระเบียบพื้นที่แบบไทยๆ เช่น "จาบจ้วง", "ก้าวล่วง", "บังอาจ" "กำแหง" "เหิมเกริม" "กำเริบเสิบสาน" ฯลฯ ทั้งไม่ลังเลยัดข้อหา "ผู้ก่อการร้าย", "กองกำลังชายชุดดำ", "เผาบ้านเผาเมือง", "คนถ่อยเถื่อนบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ", "ขโมยของทุกอย่างในเซเว่นฯ ยกเว้นหนังสือเพราะไม่อ่านหนังสือ"

ความผิดของคนเสื้อแดงที่สำคัญที่สุดคือการ "ละเมิด" ไวยากรณ์ของการใช้พื้นที่แบบ "ไทย" คือ "หิ่งห้อยที่เผยอแข่งแสงตะวัน" ชาวนา ชาวบ้านที่ควรจะน่ารักน่าเอ็นดูอยู่ในชนบทในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็ง เอกภาพ ให้เห็นแต่ "จิตใจแบบไทย" 
มิใช่เข้ามาเรียกร้อง "สิทธิ", "เสรีภาพ" ทั้งยืนกรานปฏิเสธ "ผู้นำแบบไทย" ที่เปี่ยมไปด้วย "คุณธรรม ความดี" แต่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง 



ถึงวันนี้คนไทยกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "สลิ่ม " ยังพูดถึงคนเสื้อแดงในฐานะ "พวกเผาบ้านเผาเมือง"

เรียกกลุ่มคนที่พยายามปกป้องการล้มรัฐธรรมนูญว่าเป็นพวก "กำเริบเสิบสาน ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่รู้สำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน"

ขณะเดียวกันก็พร่ำหา "ความสามัคคี" และ "ความรัก" ในหมู่คนไทยด้วยกันราวกับเด็กขาดความอบอุ่นและมีปมด้อย

เคยอ่านข้อเขียนของ อ.ณัฐพล ใจจริง ที่ไหนก็จำไม่ได้เสียแล้วว่า "ความเป็นไทย" ที่พวกเราเทิดทูน คลั่งไคล้ บูชากันอยู่ในปัจจุบันนี้ หาใช่ ความเป็นไทยที่สืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน (มรดกไทย, รอยไทย ฯลฯ)
แต่เป็นความเป็นไทยที่สร้างขึ้นมาหลัง พ.ศ.2490

ทว่า พวกเรามีอายุหกสิบปีลงมาที่เกิดมาพร้อมกับ "ความเป็นไทย" ชุดนี้ บังเกิดอุปาทานว่าความเป็นไทยที่ตนเองเกิดมาและก็ "เห็น -สัมผัส-กำซาบ" นั้นคือ ความเป็นไทยที่สืบทอดต่อเนื่องมายาวนานนับอสงไขย สูงส่ง งดงาม สมควรได้รับการสืบทอดต่อไปเป็นนิตย์



ถ้าจะถามว่าอุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยและหลักการสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยอยู่ที่ไหน ก็คงตอบได้ว่าอยู่ที่ประดิษฐกรรมความเป็นไทยตามที่ อ.สายชล สัตยานุรักษ์ พรรณนาไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอุดมการณ์หลักของกลุ่มคนที่ต่อมาถูกเรียกว่า "สลิ่ม" สืบทอดมานั่นเอง



.