.
บทวิจารณ์ - ชำแหละงบปี'56 ไทยเข้มแข็งปะทะจัดการน้ำ ภาระดอกเบี้ยจ่ายบักโกรก โดยทีมข่าวเศรษฐกิจ มติชนรายวัน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
แกะรอย พ.ร.ก. 3.5 แสนล้าน
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 39
รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น่าจะหายใจโล่งยาวๆ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
ต่อแต่นี้ไป รัฐบาลต้องก้มหน้าก้มตาคิดทำอย่างไรจึงจะจัดการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำอีกในอนาคต
ถ้าอ่านเนื้อหาใน พ.ร.ก. ฉบับนี้โดยละเอียดจะเห็นว่า รัฐบาลบรรยายความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 หนักหน่วงรุนแรงอย่างยิ่ง
รัฐบาลอ้างตัวเลขประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2.6 ล้านครัวเรือน และยังยกข้อมูลจากธนาคารโลกมาอ้างด้วยว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของไทยเนื่องจากน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้มีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท
แยกเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวน 6.3 แสนล้านบาท
ความเสียหายต่อรายได้จำนวน 7.9 แสนล้านบาท
เมื่อจำแนกเป็นความเสียหายระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนแล้ว สามารถคิดเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโครงสร้างพื้นฐานการผลิตและภาคสังคมของรัฐจำนวน 141,000 ล้านบาท ภาคเอกชน 1.28 ล้านล้านบาท
เฉพาะความเสียหายกับนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมมีโรงงานอุตสาหกรรมรับผลกระทบ 841 โรงงาน
โรงงานส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบของอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม เป็นผลให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลก
หลายหน่วยงานปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2554 ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 1.1 จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ร้อยละ 4.0
ผลที่ตามมาหลังน้ำท่วม รัฐบาลต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งยืดหนี้ ลดหย่อนภาษี ช่วยเหลือค่าครองชีพ ใช้เงินงบประมาณ ปี 2555 ไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และยังต้องใช้เงินเพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนอีก 1.39 แสนล้านบาท
เนื้อหาใน พ.ร.ก. ดังกล่าวยังบอกอีกว่า ที่จริงแล้วประเทศไทยเคยจัดทำแผนแม่บท ป้องกันอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542
หน่วยงานของญี่ปุ่นคือ ไจก้า (Japan International Cooperation Agency) ศึกษาและแนะนำว่าประเทศไทยควรจะลงทุนเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัย
นอกจากนั้น ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2543 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดทำรายงานอีกฉบับหนึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงสอดคล้องกัน โดยแนะนำลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
แต่ปรากฏว่า ไม่มีรัฐบาลชุดใดนำผลการศึกษามาวางแผนป้องกัน
วิกฤต "น้ำท่วม" ในปี 2554 จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของประเทศไทย
คนไทยได้เรียนรู้ร่วมกันว่า สาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ไม่ใช่เป็นเพราะมาจากพายุใหญ่หลายลูกพัดถล่มเพียงเท่านั้น แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำทั้งบริเวณต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่ล้มเหลวด้วย
ที่สำคัญกว่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการทำลายสภาพป่าไม้ พื้นที่ต้นน้ำ และแหล่งรับน้ำ
ป่าไม้โล่งเตียน พื้นดินที่แห้งกรัง เมื่อพายุเข้า น้ำฝนเทลงมาหนักๆ น้ำไหลทะลักอย่างรวดเร็ว ปริมาณน้ำมาก เชี่ยวกรากจึงกวาดทำลายพื้นที่กินบริเวณกว้างเนื่องจากมีแหล่งซับน้ำ โดยเฉพาะผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำขนาดใหญ่มหึมาที่ธรรมชาติสรรค์สร้างมา เช่นเดียวกับหนองบึงธรรมชาติ ตื้นเขินเนื่องจากฝีมือของคน ทำให้ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอ
การปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ถนนหนทางกีดขวางทางน้ำ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเมื่อน้ำทะลักมาแรงเร็วทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก
ฉะนั้น รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ออก พ.ร.ก. เพื่อกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และจัดวางยุทธศาสตร์ในการป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืนนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าจับตาอย่างยิ่ง
ถ้ารัฐบาลใช้เงินจำนวนมหาศาลอย่างโปร่งใสเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้และสามารถป้องกันน้ำท่วมได้จริงแล้ว ประชาชนจะพากันชื่นชมแซ่ซ้องอย่างแน่นอน
แต่ถ้าล้มเหลว น้ำหลากทะลักท่วมซ้ำอีกครั้ง รัฐบาลไม่เพียงล้มคว่ำไม่เป็นท่า หากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการบริหารจัดการน้ำอาจกลายเป็นพรรคต่ำสิบไปในบัดดล
++
3.5 แสนล้าน เดิมพันประเทศ
โดย ทวี มีเงิน คอลัมน์ เมืองไทย 25 น.
ในข่าวสดออนไลน์ วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.
เรียบร้อยโรงเรียนยิ่งลักษณ์ สำหรับพ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหาระบบระบายน้ำและเพื่อสร้างอนาคต ประเทศที่ฝ่ายค้านเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเร่งด่วนหรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนควรจะผ่านกระบวนการสภา ออกเป็นพระราชบัญญัติให้สภา มีส่วนร่วม มีการตรวจสอบ
แต่ศาลท่านอาจจะเห็นว่ารัฐบาลมีอำนาจในการออกพ.ร.ก.ได้ และให้การทำงานคล่องตัวจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ หากไม่ผ่านก็คงเหนื่อยกันทั้งหมด เมื่อผ่านแล้วทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อไปนี้รัฐบาลต้องทำงานแข่งกับเวลา
ตอนนี้คนไทยมีหนี้เพิ่มในพริบตา 3.5 แสนล้านบาท เป็นราคาความเชื่อมั่นที่รัฐบาลซื้อความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามอย่าได้ชะล่าใจว่าเงิน 3.5 แสนล้านจะเอาอยู่ถ้ารัฐบาลยังบริหารจัดการแบบเดิมๆ เหมือนปีที่แล้ว
ปัจจัยน้ำท่วมปีที่แล้วมีหลายปัจจัย ฝนตกหนักผิดปกติ รัฐบาลและกทม.บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ขาดเอกภาพ ประมาท ไม่มีการเตรียมการลอกคูคลองทางระบายน้ำล่วงหน้า ทั้งที่ใช้งบประมาณไม่ได้มากมายอะไร บางอย่างไม่ต้องใช้เงินเช่น การบริหารจัดการน้ำใช้ภาวะผู้นำล้วนๆ ทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นแผนบริหารจัดการน้ำ เห็นแต่แผนวิศวกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุน
ไหนๆ พ.ร.ก.เงินกู้ก็พ้นพงหนามแล้วนับจากนี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องแสดงภาวะผู้นำจัดการงบประมาณ 3.5 แสนล้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่แค่ใช้ป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียว แต่จะต้องดูภาพใหญ่ภาพรวมทั้งหมด ให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลทุ่มงบฯ ลงทุนไปแล้วเอกชนลงทุนตาม
จากสถิติตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาหลังวิกฤตต้มยำกุ้งการลงทุนในไทยน้อยลงทุกปี เพราะมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค ระบบโลจิสติกส์ไม่พร้อมไม่เพียงพอ เป็นจังหวะดีที่รัฐบาลใช้การลงทุนครั้งนี้กระตุ้นการลงทุนให้กลับมาคึกคัก
ที่สำคัญต้องใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ลงทุนในโครง การที่เกิดประโยชน์จริงๆ ต้องบอกประชาชนว่ามีโครงการไหนลงทุนเท่าไหร่ ทำไมถึงลงทุน ลงทุนแล้วใช้ประโยชน์อะไร ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร ทำได้จะให้เป็นผลงานโบแดง ทำดีๆ อาจใช้เงินไม่ถึง 3.5 แสนล้านก็ได้
อย่าลืมหนี้ก้อนนี้คือหนี้ประเทศ หากไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์ ประเทศอาจล้มละลายเหมือนกรีซ หนี้ 3.5 แสนล้านจึงเป็นการเดิมพันอนาคตประเทศอย่างมิอาจปฏิเสธได้
+++
ชำแหละงบปี'56 ไทยเข้มแข็งปะทะจัดการน้ำ ภาระดอกเบี้ยจ่ายบักโกรก
โดยทีมข่าวเศรษฐกิจ มติชนรายวัน
จากมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:00:18 น.
ปัญหาวิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรปที่ลุกลามมาตั้งแต่ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี และที่หนักสุดเห็นจะเป็นกรีซ ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นแววฟื้นตัวจากปัญหา ทำให้เสียงสะท้อนและความกังวลเหล่านี้กลับมาที่ประเทศไทย ในภาวะที่กำลังเผชิญหน้ากับการฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หลายหน่วยงานออกมาเตือนให้ระวังระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นจนถึงระดับที่อาจจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางการคลัง
แม้ว่าระดับหนี้ในปัจจุบันจะมีประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท หรืออยู่ที่ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
แต่ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ก็อนุมัติปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2555 เป็นครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลมีแผนก่อหนี้เพิ่มเติมอีก 4.5 แสนล้านบาท จากเดิม 3.5 แสนล้านบาท ทำให้แผนการก่อหนี้ในปีงบประมาณ 2555 เพิ่มเป็น 8 แสนล้านบาท
เพราะหลังจากที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 4 ฉบับผ่านสภา ประกอบด้วย
1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555
2.พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555
3.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555
และ 4.พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555
ทำให้นอกจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นล้านบาท จากกรอบเดิมที่เคยวางไว้ 3.5 แสนล้านบาท เป็น 4 แสนล้านบาทแล้ว ยังทำให้มีการกู้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 4 แสนล้านบาท จากการกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และกู้เพื่อกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติอีก 5 หมื่นล้านบาท
ทำให้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 1.18 ล้านล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยทางการคลัง ระดับหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท
ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของงบประมาณปี 2555 อยู่ที่ 48.6% คิดเป็น 9.3% ของงบประมาณ เทียบกับสิ้นปี 2554 ที่มีหนี้สาธารณะทั้งสิ้น 4.297 ล้านล้านบาท หรือ 40.30% ของจีดีพี และมีการประมาณการกันว่าแนวโน้มหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2556 จะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 50% ของจีดีพีได้
โดยที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 มกราคม ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.1% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาทจากปี 2555 หรือ 0.8% จากประมาณการที่จะจัดเก็บรายได้ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาทจากปี 2555 หรือ 6.1% ทำให้กรอบการขาดดุลงบประมาณจะลดลงถึง 1 แสนล้านบาท หรือ 25% จากปี 2555 ทำให้การขาดดุลเหลือเพียง 3 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2556 จะขยายตัวเท่ากับปีนี้ที่ 4-5% อัตราเงินเฟ้อ 3.8% โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากความต้องการในประเทศ (อุปสงค์) เป็นหลัก ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเองก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะเม็ดเงินที่จะลงไปเพื่อการลงทุนบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง
ทั้งนี้ หากแยกแยะจากงบประมาณรายจ่าย 2.4 ล้านล้านบาท นั้นพบว่าเป็นรายจ่ายประจำ 1.88 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.37 หมื่นล้านบาทจากปีก่อน หรือ 2.4% คิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณ 78.5% ขณะที่รายจ่ายด้านการลงทุนวงเงิน 4.67 แสนล้านบาท คิดเป็น 19.% ของงบประมาณ เพิ่มขึ้น 2.84 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.5% ส่วนรายจ่ายชำระคืนเงินต้นเงินกู้ 4.86 หมื่นล้านบาท หรือ 2% ของงบประมาณ เพิ่มขึ้น 1.79 พันล้านบาท หรือ 3.8%
อย่างไรก็ตาม ก่อนการจัดทำงบประมาณ 2556 รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โยกภาระการชำระดอกเบี้ยหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มียอดคงค้างกว่า 1.14 ล้านล้านบาท ที่บอกว่าแต่ละปีมีภาระหนักถึง 6 หมื่นล้านบาท ไปอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ซึ่งจะทำให้การจัดทำงบประมาณมีความคล่องตัวและมีวงเงินเหลือที่จะนำมาเป็นงบลงทุนได้
แต่จากการพิจารณาภาระจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในปีงบประมาณ 2556 ไม่ได้ลดลงเลย และยังคงสูงถึง 1.34 แสนล้านบาท และหากรวมถึงภาระเงินต้นด้วยแล้วจะสูงถึง 1.83 แสนล้านบาท
เพราะไม่เพียงแค่ดอกเบี้ยที่จะเกิดจากการกู้เงินเพื่อการบริหารจัดการน้ำ 1.17 หมื่นล้านบาท และดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เกิดจากกองทุนส่งเสริมภัยพิบัติอีก 2.5 พันล้านบาทแล้ว ยังมีภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากการก่อหนี้ 4 แสนล้านบาท ของโครงการไทยเข้มแข็ง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี อีก 1.42 หมื่นล้านบาท
เมื่อรวมกับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณอีก 9.81 หมื่นล้านบาท จึงเป็นภาระหนักสำหรับรัฐบาล
เพราะไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่บทสรุปเหมือนกันคือ "การกู้" ซึ่งไม่ได้ต่างกันมากนัก โดยเฉพาะตัวเลขเงินกู้ที่บังเอิญตรงกันที่ 4 แสนล้านบาท
ซึ่งที่สุดแล้ว ภาระทั้งหมดก็ตกกับประชาชนที่ต้องใช้เงินภาษีมาจ่ายดอกเบี้ย แค่เพียงปี 2556 หากจะรวมอัตราดอกเบี้ยจากเงินกู้ 8 แสนล้านบาท ของทั้งสองรัฐบาลแล้วสูงถึง 2.84 หมื่นล้านบาท
ผลของการใช้เงินจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ยังต้องติดตาม
แต่ที่แน่ๆ เงินกู้ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่เพื่อผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานป้องกันภัยจากน้ำท่วมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณที่ดีที่เริ่มมีการส่งสัญญาณการจัดทำงบประมาณสมดุลออกมาบ้างแล้ว โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่บอกว่า จะทำงบประมาณสมดุลให้ได้ในปี 2560 โดยการขาดดุลจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2556 ที่จะขาดดุลเพียง 3 แสนล้านบาท เหลือ 2.7 แสนล้านบาท ในปี 2557 และเหลือ 2 แสนล้านบาท ในปี 2558 ก่อนที่ปี 2559 จะลดเหลือเพียง 7 หมื่นล้านบาท และจะเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปี 2560 อย่างแน่นอน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย