.
ฤๅ “เสียมกุก” ที่เสียมเรียบ คือ “กุกกุฏนคร” เมืองที่สาบสูญไปจากลำปาง?
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 76
คาใจมานานหลายปีแล้วกับปรัศนีที่ อาจารย์ศักดิ์ (สักเสริญ) รัตนชัย ปราชญ์นครลำปางเคยถามว่า
"ใคร่ทราบว่า "กุกกุฏนคร" หรือเมืองไก่ขาว ที่สร้างสมัยหริภุญไชยของลำปางนั้นอยู่ที่ไหน?"
ตามด้วยระเบิดตูมใหญ่ซึ่งฟังดูคล้ายกับเป็นกุญแจไขปริศนาข้อนั้นพอดิบพอดี อ.วิธูร บัวแดง นักวิชาการอิสระด้านมานุษยวิทยา ตั้งข้อสงสัยถามดิฉันว่า
"เป็นไปได้ไหมที่เจดีย์ "กู่กุฏิ" (ปัจจุบันเรียกวัดจามเทวี ลำพูน) คือคำเรียกที่เพี้ยนแผลงมาจาก "กุกกุฏนคร" เพราะวัดนี้ตกแต่งปูนปั้นรูปกินรีรำฟ้อน อันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของไก่ขาว?"
คนหนึ่งถามหาเมืองไก่ขาวซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนในลำปาง อีกคนหนึ่งกลับมาช่วยเฉลยว่าเมืองไก่ขาวนั้นแท้จริงอยู่ที่ลำพูน!
เป็นคำถามและคำตอบที่ต่างกาล ต่างวาระ ต่างบุคคล ต่างสถานที่ แต่โชคดีเหลือเกินที่ดิฉันมีโอกาสได้สดับรับรู้ความแหลมคมจากทั้งสองท่าน
เพราะอะไรหรือ ก็เพื่อที่จะนำปริศนานี้ไปโยนเผือกร้อนใส่ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านขแมร์ศึกษา ที่ถกเถียงกันเรื่อง "เสียมกุก" คำจารึกบนภาพสลักปราสาทหินนครวัด ที่เสียมเรียบ กัมพูชา กันมานานกว่าห้าทศวรรษ ต่ออีกทอดน่ะซี
ว่าแท้จริงแล้ว ชาวสยามกุกหรือเสียมกุกที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเสนอว่า น่าจะหมายถึง คนไทแห่งลุ่มน้ำกุกนทีแถบเชียงราย-เชียงแสนนั้น
บางที อาจเป็นชาวหริภุญไชย-เขลางค์ แห่ง "กุกกุฏนคร" ก็ได้ใครจะรู้?
เนะ สยำกุก ควรเป็นคนในศตวรรษไหน
ก่อนไทย หรือ ยุครัฐไทยแล้ว?
"เนะ สยำกุก" เป็นภาษาขอมโบราณ แปลเป็นไทยว่า "นี่ เสียมกุก" ไม่ใช่ "สยามก๊ก" (แคว้นไทย) หรือ "สยามกุฏิ" (ห้องชาวสยาม) ตามความเข้าใจเดิมๆ ของคนรุ่นยอร์จ เซเดส์ กับคุณชายคึกฤทธิ์
"กุก" ตัวนี้ลึกซึ้งยิ่งกว่า "ก๊ก" หรือ "กุฏิ" เพราะมันเน้นย้ำระบุชัดยิ่งขึ้นว่า ชาวสยามในภาพสลักนูนต่ำด้านทิศใต้ที่ระเบียงปราสาทนครวัดนั้น มีแหล่งกำเนิดมาจากถิ่นบ้านย่านไหน แค่ "สยาม" ยังไม่พออีกหรือ ไยต้องมี "กุก" ต่อท้าย
จิตร ภูมิศักดิ์ จึงสันนิษฐานว่า อาจหมายถึง ชาวเสียมหรือสยามจากลุ่มแม่น้ำกก ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "กุกนที"
ปัญหาที่ขบไม่แตกตามมามีอยู่ว่า ชาวไทลาวลุ่มน้ำแม่กกเรียกขานตัวเองหรือถูกคนอื่นเรียกว่า "สยาม" ด้วยล่ะหรือ ประเด็นถัดมาคือชาวไทลาวเหล่านั้นเข้าไปมีบทบาทช่วยกองทัพขอมของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 แห่งเมืองพระนคร สู้รบกับพระเจ้าชัยอินทรวรมันกษัตริย์แห่งจามปา เมื่อปี พ.ศ.1688 ได้อย่างไรกัน ประวัติศาสตร์หน้านี้มีความสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงได ไยจึงยอมจำนนกับเหตุผลด้านนิรุกติศาสตร์แค่คำว่า "กุก" เพียงคำเดียว
ในเมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 นั้น แผ่นดินด้ามขวานของสยามทั้งหมดจัดเป็นยุคที่เรามักเรียกว่าเป็นรัฐ Pre-Thai หรือเป็นยุคทองของกลุ่มมอญ-ขอม-ละว้า มีรัฐเด่นๆ สองรัฐที่อยู่เหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความสัมพันธ์กับขอมอย่างแนบแน่นคือ รัฐละโว้ และรัฐหริภุญไชย ส่วนรัฐหิรัญนครเงินยาง (เชียงราย) ณ ลุ่มน้ำแม่กกนั้นแทบไม่เคยได้รับการกล่าวขานถึงเลยในจารึกขอมโบราณ
สมมติว่าชาวกุกนทีอาสาหรือถูกชาวขอมเกณฑ์ไปรบจริง พวกเขาก็ต้องเป็นบรรพบุรุษของพระญามังราย ยังไม่ใช่ยุคสมัยที่เราเรียกกันว่า "ล้านนา" และเมื่อคำนวณดู พ.ศ.1688 แล้ว ย่อมตรงกับรัชกาลของ "ลาวเงินเรือง" แห่งเชียงราย ซึ่งร่วมสมัยกับ "ขุนแพง" แห่งพะเยา เป็นยุคที่ต่อเนื่องจากการที่ "ลาวเจิง" (เชียงราย) และ "ขุนเจื๋อง" (พะเยา) เพิ่งชนะศึกล้านช้างและเมืองแกวกลับมาได้ไม่นาน
นักประวัติศาสตร์หลายคนอาจมองว่านี่คือความยิ่งใหญ่หลังจากที่ "ขุนเจื๋อง" ปราบลาวปราบแกวได้แล้ว ก็เท่ากับช่วยสร้างใบเบิกทางเอาไว้ให้ลูกหลานกล้าโกอินเตอร์มากขึ้น บางทีอาจฮึกเหิมตีสนิทอาสาขอมเพื่อร่วมปราบจามปา
นี่! เสียมกุก จึงจบลงด้วยบทสรุปแทบจะเป็นเอกฉันท์ตามที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอไว้ตั้งแต่ปี 2508 ว่าหมายถึงชาวเสียมจากกุกนที
โดยที่ไม่ได้มองความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างขอมกับชาวลุ่มน้ำกก ว่ามีความลึกซึ้ง แนบแน่นมากน้อยเพียงไร ถึงขนาดว่าจะสามารถกะเกณฑ์กันมาได้
โดยที่มองข้ามรัฐโบราณไปรัฐหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างละโว้และลุ่มน้ำกก นั่นคือหริภุญไชยนคร ผู้เพรียกขานตัวเองว่า "สามเทศะ" หรือสยามประเทศ มานานนมตั้งแต่ยุคพระนางจามเทวี เป็นชาวสยามที่ใช้อักขระมอญ
เหตุเพราะปราชญ์ยุคก่อนยังไม่พบเงื่อนงำของคำว่า "กุก" ในที่อื่นใด นอกจาก "กุกนที"
กุกกุฏนคร นครไก่ขัน
เมืองแห่งเทพอารักษ์ลำพูน-ลำปาง
กุก ก็คือกุ๊กไก่ เป็นคำเดียวกับ "กุฏ" แปลว่าไก่อีกเช่นกัน ตำนานมูลศาสนาและตำนานไฟม้างกัปแห่งเมืองลำปาง เอาคำทั้งสองนี้มาวางเรียงกันเป็น "กุกกุฏ" ยิ่งทำให้เห็น "ก.ไก่" ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด แถมออกเสียงยากเย็นเข็ญใจหนักขึ้นไปอีก
ทำไมเมืองนี้ต้องชื่อไก่ เกี่ยวข้องอะไรกับสัญลักษณ์ของ "ไก่ขาว-ลำปาง" หรือ "ไก่แก้ว-ลำพูน" ไหม?
เกี่ยวแน่นอน ขอเริ่มที่เมืองไก่แก้วลำพูนก่อน อาณาจักรหริภุญไชยในยุคของพญาอาทิตยราชนั้น (ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17) ตำนานกล่าวว่า เคยมีเทพยดารักษาเมืองเป็น "ไก่แก้ว" ชื่อ "เปตตกุกกุฏ" ไก่ตัวนี้จับอยู่บนยอดไม้ย่างทรายในทุกค่ำคืน และจักขันเสียงใสกังวานปลุกชาวเมืองยามอรุณรุ่งเป็นศรีสวัสดิ์แก่พระนคร ซ้ำยังขับขานเสียงหวานกล่อมชาวเมืองวันละ 6 รอบอีกด้วย ทำให้พระเจ้ากรุงละโว้ซึ่งเป็นศัตรูคู่แค้นกับหริภุญไชยรู้สึกหมั่นไส้ จึงจัดการวางแผนทำลายเสื้อเมืองตนนี้เสียด้วยการลวงไปให้จระเข้กัดตายในแม่น้ำ
หลังจากนั้น ชาวละโว้รบกับหริภุญไชยทีไรก็ชนะทุกครั้ง ผิดกับเมื่อก่อนที่ละโว้มักเป็นฝ่ายแพ้ทุกที เหตุเพราะลำพูนมีไก่แก้วเป็นอารักษ์
จวบจนทุกวันนี้ ยังมีหลักฐานของ "กู่ไก่แก้ว" ซึ่งเชื่อกันว่าชาวหริภุญไชยได้กระทำสรีรกิจสร้างกู่เพื่อบรรจุอัฐิธาตุของอารักษ์เมืองไว้ใกล้กับไม้ย่างทราย (ใกล้วัดสันป่ายางหลวง)
ส่วนไก่ขาวเมืองลำปางนั้นเล่าเป็นมาอย่างไร?
กุกกุฏนคร บ้างก็เขียนว่า กุกุตตนคร หรือนครไก่ขันของชาวลำปางนั้น ปรากฏอยู่ในตำนานวัดศรีล้อม มีลักษณะเป็นตำนานพระเจ้าเลียบโลก ระบุว่าเมื่อพระตถาคตมีพระชันษาได้ 56 ปี ทรงเหาะมายังดอยสละกิตติ หรือม่อนพญาแจ้ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองนครไก่ขัน
ขณะนั้นมีฤๅษีอยู่ 5 ตน ตั้งความปรารถนาจะถวายข้าวบิณฑบาต แต่ให้เผอิญว่าวันนั้นอากาศมืดมัวไร้แสงอาทิตย์ เหล่าฤๅษีจึงเกรงว่าจะล่วงเลยเวลาฉันภัตตาหารเช้า ร้อนถึงพระอินทร์จำต้องเนรมิตกายเป็นไก่ขาวสูงสี่ศอกยาวสองวา มาโก่งคอร้องขันเป็นสัญญาณว่ายังเช้าอยู่
พวกฤๅษีดีใจจึงได้ถวายทานแด่พระพุทธองค์บริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มียักษ์อาศัยอยู่ พระพุทธเจ้าทรงตรัสพยากรณ์ว่า ณ ที่แห่งนี้จักกลายเป็น กุกกุฏนคร ต้นไม้นี้จักกลายเป็นที่สิงสถิตของอารักษ์ไก่ขาวต่อไป
น่าสนใจที่ตำนานไก่แก้ว-ลำพูน กับไก่ขาว-ลำปาง แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จะเหมือนกันอยู่อย่างเดียวตรงที่ต่างก็เป็นอารักษ์ของเมือง
ชาวลำพูน-ลำปางจึงเกิดความสับสนว่านครไก่ขันนี้ควรตั้งอยู่ที่ไหนกันแน่ อยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูนแถววัดสันป่ายางหลวง หรือเป็นส่วนหนึ่งของเวียงดินที่ซ้อนอยู่ในเมืองเก่านครเขลางค์ หรือว่าจะอยู่ที่อำเภอเมืองยาว แถววัดม่อนไก่แจ้ ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับอำเภอแม่ทาของลำพูน แต่ในอดีตถือว่าเป็นปราการทิศตะวันออกของหริภุญไชยก่อนจะข้ามดอยขุนตานมาแม่น้ำวัง
ข้อสำคัญฤๅษีทั้งห้าตนที่กล่าวถึงนั้น ย่อมหมายถึงฤๅษีชุดเดียวกันกับที่ช่วยสร้างเมืองลำพูน-ลำปาง และมีอยู่ตนหนึ่งชื่อ "ฤๅษีสุพรหมญาณ" ผู้เป็นอวตารของขันทกุมาร (ขัตตคาม-จตุคาม) ฤๅษีตนนี้เองที่มีไก่ขาว (หรือนกยูง) เป็นพาหนะ บำเพ็ญพรตประจำอยู่ทางทิศตะวันออก
การนับถือไก่ของชาวลำพูน-ลำปางในอดีตนี้ นอกเหนือจากการสะท้อนความเชื่ออันตกค้างว่าเคยนับถือเทพฮินดูที่ฝังรากลึกตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิมาก่อนที่รัฐหริภุญไชยจะสมาทานพระพุทธศาสนาแล้ว อีกโสดหนึ่ง ไก่ขาวในมิติทางพุทธศาสนา ยังเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดพระพุทธเจ้าพระองค์แรกในภัทรกัปอีกด้วย นั่นคือ พระกกุสันโธ
ประเด็นที่ว่า ทำไมแถวเชียงรายจึงมีแม่น้ำชื่อ กุกนที เกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับ กุกกุฏนครของลำพูน-ลำปาง ยังต้องศึกษากันอย่างละเอียดต่อไป เช่นเดียวกับความเป็นมาของเมืองลอง จังหวัดแพร่ ในอดีตนั้นเป็นแขวงหนึ่งของนครลำปาง และถือเป็นทิศตะวันออกสุดของเขลางค์นคร แถมเมืองลองเดิมยังมีชื่อว่า กุกุฏไก่เอิ๊ก อันเป็นเมืองแห่งพระลอตามไก่อีกด้วย
ไม่ว่า "กุกกุฏนคร" จะอยู่ในลำพูนหรือลำปาง หรือกินพื้นที่ขยายวงกว้างไปถึงเมืองแพร่ก็ตามที แต่เราได้ประจักษ์แล้วว่าเมืองนี้มีอยู่จริงในยุคหริภุญไชย เป็นเมืองที่สร้างอุทิศให้เทพยดาอารักษ์สิงสถิต และเป็นส่วนหนึ่งของหริภุญไชยหรือสามเทศ (สยามประเทศ) เมืองที่มีความชอบธรรมมากพอที่จะเพรียกขานตัวเองว่า "สยามกุก"
ดิฉันลองโยนก้อนหินถามทางเล่นๆ ว่าหากเบนข้อสมมติฐานใหม่มายังกุกกุฏนคร คำอธิบายเรื่อง "เนะ สยำกุก" ก็อาจฟังดูสมเหตุสมผล เป็นประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยกับขอมแห่งเมืองพระนครมากขึ้น ไม่เหมือนการยกเอา "สยามกุก" ให้เป็นชาวโยนกเชียงแสน ผู้เรียกตัวเองว่า "ลาว" ไม่มีสายสัมพันธ์กับขอม และเพิ่งจะมีบทบาทเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในยุคล้านนาซึ่งกาลเวลาห่างไกลจากสูริยวรมันที่ 2 เกือบสองศตวรรษ
ส่วนการตั้งข้อสังเกตของ อ.วิธูร บัวแดง เรื่อง "กุกกุฏนคร" ว่าจะมีความเกี่ยวข้องอะไรไหมกับเจดีย์กู่กุฏิ วัดจามเทวี คงต้องยกยอดไปคราวหน้า
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย