http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-11

"การเมือง-น้ำมัน", ภาษีที่ไม่แฟร์, "น้ำมัน" 2 นโยบาย, "ญี่ปุ่น"ไม่ห่วงน้ำท่วม, บัญชีดำฟอกเงิน โดย ทวี มีเงิน

.

"การเมือง-น้ำมัน" ป่วน ศก. โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


หากจะถามว่านักธุรกิจ 'กังวล' เรื่องอะไรมากที่สุด เท่าที่พูดคุยมาประเมินได้ 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 'การเมือง' ที่ยังขัดแย้งหาทางปรองดองไม่ได้ กับ 'ราคาน้ำมัน' ในตลาดโลก

ความวุ่นวายการเมืองขนาดนักธุรกิจใหญ่ อย่าง 'เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช' บิ๊กบอสของธนาคารกรุงเทพ พูดทำนองว่าน่าห่วงตอนนี้คือ 'สถานการณ์การเมืองบ้านเราไม่ราบรื่น'
เช่นเดียวกับ 'คุณบัณฑูร ล่ำซำ' บิ๊กบอสกสิกรไทยบอกว่า "สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือเรื่องปัญหาการเมืองหากมีการตีกันทั้งในและนอกสภาทำให้ประเทศเดินต่อไม่ได้ ประเทศทะเลาะกันน่าเป็นห่วงกฎหมายที่เสนอเข้าไปในสภาก็ออกไม่ได้ ซึ่งในเรื่องกฎหมายถือว่าเป็นการบริหารประเทศ มีอายุและมีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นั้นๆ ถ้ากฎหมายล้าหลังก็ฉุดเศรษฐกิจ อยากให้เศรษฐกิจหมุนกฎหมายต้องมีความเหมาะสม"
นานๆ 2 บิ๊ก ให้ความเห็นเดียวกันในห้วงเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย นั่นแสดงว่า ปัญหาการเมืองไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แน่

อีกปัจจัยที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยไม่ให้เดินหน้า นั่นคือ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังหาทางลงไม่เจอ ขณะนี้ราคาก็ขยับอยู่ราวๆ 122 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ประกอบกับรัฐบาลได้เร่งทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลับคืนอีกลิตรละ 1 บาททุกวันที่ 16 ของเดือน โดยเบนซินทยอยเก็บครั้งละ 1 บาท จนครบ 7 บาท ส่วนดีเซลลิตรละ 60 สตางค์
ผู้บริโภคน้ำมันรับไป 2 เด้ง ทั้งราคาตลาดโลกและเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตาม แปลว่าเงินเฟ้อจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลเพราะราคาน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของปัจจัยการผลิต ยิ่งถ้าสถานการณ์เลวร้ายตามที่หลายฝ่ายวิตกว่าอาจจะเกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันตลาดโลกก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

หากเป็นจริง เราคงไม่เผชิญเฉพาะปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้น หรือเงินเฟ้อเท่านั้น แต่จะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว คนทั้งโลกจนลง การส่งออก การท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้าประเทศย่อมกระทบกระเทือนไปด้วย

ที่สำคัญเราต้องเสียเงินตราต่างประเทศในการซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเราต้องนำเข้าน้ำมันสูงถึง 12% ของจีดีพี หรือ 20% ของสินค้านำเข้าทั้งหมด มูลค่านำเข้าปีที่แล้ว 1.9 ล้านล้านบาทเกือบเท่างบประมาณแผ่นดิน สวนทางกับรายได้เข้าประเทศที่ได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวลดลง

การเมืองและน้ำมันเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดเศรษฐกิจไทย จมอยู่ใต้น้ำเป็นบัวเหล่าที่ 5 ไม่ได้ผุดได้เกิด



++

"ภาษีบุคคลธรรมดา" ภาษีที่ไม่แฟร์ โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เมื่อวันก่อน "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกฯให้สัมภาษณ์ว่า นอกจากลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ ปีหน้าจะเหลือ 20% จะไม่มีการทบทวนภาษีใดๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นภาษีทรัพย์สิน หรือปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% รวมถึงจะไม่พิจารณาลดภาษีบุคคลธรรมดา
โดยให้เหตุผลว่า ภาษีทรัพย์สินเป็นเรื่องระยะยาว รัฐจะแก้ปัญหารายได้โดยการขยายฐานภาษีแทน ส่วนภาษีบุคคลธรรมดาก็เป็นไปตามหลักสากลอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปล

ฟังแล้วหลายคนรู้สึกเจ็บแปล๊บ รัฐบาลเอาใจแต่นักลงทุนต่างชาติ เอาใจธุรกิจขนาดใหญ่ลืมคนทำงานกินเงินเดือน ที่ไม่มีโอกาสจะเลี่ยงภาษี เหมือนกับเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย
ทั้งที่ภาษีทรัพย์สิน เป้าหมายไม่ใช่เพิ่มรายได้ แต่มันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นธรรมในสังคม เป็นภาษีที่คนรวยต้องจ่าย

ส่วนอัตราภาษีบุคคลธรรมดา ปัจจุบันก็เกิดความ 'ลักลั่น' อัตราการจัดเก็บมีไม่กี่อัตรา มีกรอบค่อนข้างกว้าง อย่างเช่น คนทำงานเงินเดือน 1 แสนบาทต้นๆ ต้องเสียในอัตรา 30% เช่นเดียวกับคนเงินเดือน 4 แสนบาท
ซึ่งไม่เป็นธรรมด้วยประการทั้งปวง


ขนาดกรมสรรพากรยังเห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงเสนอปรับโครงสร้างใหม่มีหลายอัตราให้กรอบแคบลง จากเดิมแค่ 4 อัตรา 10% 20% 30% และ 37% อัตราใหม่มีตั้งแต่ 5% 10% 15% 20% 2 5% 30% และ 35% ให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ลักลั่น
ที่สำคัญอัตราภาษีบุคคลธรรมดาในปัจจุบันหากเทียบกับ 'ภาษีนิติบุคคล' ที่รัฐบาลปรับลดจาก 30% มาเป็น 23% และจะเหลือ 20% ในปีหน้ายิ่งไม่เป็นธรรม
นั่นหมายความว่า อัตราสูงสุดภาษีนิติบุคคล แค่ 20% ขณะที่ภาษีบุคคลธรรมดาต้องเสีย 37% ต่างกันถึง 17%


เป็นธรรมไหมครับ แทนที่ 'ธุรกิจ' จะเสียมากกว่า 'คนธรรมดา' แต่กลายเป็นว่าจ่ายน้อยกว่า ทั้งที่บรรดาธุรกิจเหล่านี้ได้ทั้งสิทธิประโยชน์จากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และยังได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ในกรณีที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน

นี่ยังไม่รวมบริษัทต่างชาติขนกำไรกลับบ้านด้วยวิธีซิกแซ็กซื้อวัตถุดิบจากบริษัทแม่ราคาแพงๆ หรือบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติก็จะให้บริษัทแม่รับออร์เดอร์ ส่วนโรงงานในเมืองไทยทำหน้าที่แค่ส่งมอบ กำไรจึงโผล่ที่บริษัทแม่แทน
ไม่หนำใจรัฐบาลยังใส่พานประเคนให้ทุกอย่าง
ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดให้ก็ไม่หายไปไหน ก็จับจ่ายใช้สอยเป็นการกระตุ้นการบริโภค ภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะเก็บได้มากขึ้น รัฐมีแต่ได้กับได้



++

"น้ำมัน" 1 รัฐบาล 2 นโยบาย โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ราคาน้ำมันเบนซินในประเทศได้ขยับขึ้นอีกลิตรละ 1 บาท ผลจากการเก็บเงินกลับคืนเข้ากองทุนน้ำมัน ไม่ถึง 2 เดือนราคาน้ำมันขยับขึ้นสิบกว่าครั้งแล้ว

ปัญหา "ราคาน้ำมัน" กลายเป็นลิงแก้แหไปแล้วสำหรับนโยบายพลังงานรัฐบาลปูจ๋า
แปลกแต่จริง "รัฐบาลเดียวนโยบาย 2 นโยบาย" ต่างกันราว "ฟ้ากับเหว"

ทันทีรัฐบาลปู 1 เข้ามาก็ประกาศกระชากราคาค่าครองชีพลงโดยกระชากราคาน้ำมันในประเทศลงด้วยการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ 7.30 บาท งดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทกว่าๆ
ปรากฏว่ากระชากได้แต่ราคาน้ำมัน แต่กระชากค่าครองชีพให้ลงตามที่หาเสียงไว้ไม่ได้

ต้องบอกว่าผิดที่ผิดเวลา จังหวะที่รัฐบาลประกาศชะลอเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ราคาน้ำมันยิ่งถูก คนใช้น้ำมันก็ใช้กันเพลินใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยไม่บันยะบันยัง
ส่งผลให้ปีที่แล้วไทยต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบหลายปี
ไม่ทันไรนโยบายชะลอเก็บเงินเข้ากองทุนก็ออกลาย เม็ดเงินกองทุนทยอยไหลออก กองทุนติดหนี้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลไม่มีทางเลือกตัดสินใจเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลับคืนเข้ากองทุนเหมือนเดิม โดยเก็บจากผู้ใช้เบนซินลิตรละ 1 บาท ทุกเดือนจนกลับไปอยู่ในสภาพปกติ

แต่โชคร้ายตรงที่ราคาปรับขึ้นในจังหวะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นกัน ล่าสุด "นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์" รมว.พลังงาน ยืนยันว่าจะเดินหน้าเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนต่อไป ใน วันที่ 16 เม.ย. จะเรียกเก็บเพิ่มอีก 1 บาทเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน
นั่นหมายความว่า โอกาสที่คนไทยจะได้ใช้น้ำมันเบนซิน 2 ลิตรร้อยจึงเป็นไปได้สูงยิ่ง


อย่างบอกไว้แต่ต้นเป็นการปรับขึ้นในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงปรับตัว ในภาวะที่ราคาสินค้าในประเทศขยับ เท่ากับประชาชนโดน 2 เด้งแบบเต็มๆ ทั้งราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ถือซะว่าตอนรัฐบาลปู 1 ได้ใช้ของถูก พอยุครัฐบาลปู 2 ต้องก้มหน้าใช้น้ำมันแพงเป็นการชดเชย

คนที่ได้ค่าแรงงานเพิ่ม 300 บาท เงินเดือนใหม่ 1.5 หมื่นบาท ก็อาจจะพอกล้อมแกล้ม แต่ชาวบ้านตาดำๆ ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนก็คงต้องก้มหน้ารับกรรม
รัฐบาลเดียวแต่ 2 นโยบาย จึงสับสน ปั่นป่วน ด้วยประการ ฉะนี้แล



++

"ญี่ปุ่น"ไม่ห่วงน้ำท่วม...แต่กลัว? โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 06:00 น.


รู้สึกจะมั่นอกมั่นใจว่า "เอาอยู่" สำหรับคณะทัวร์ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไปโรดโชว์กวักมือเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนญี่ปุ่นให้กลับคืนมา

แต่เท่าที่รู้ว่าทางญี่ปุ่นยืนยันว่าจะไม่ย้ายหนีไปไหน ไม่ใช่เพราะเชื่อมั่นในแผนที่ฝ่ายไทยนำไปยืนยัน แต่เป็นเพราะญี่ปุ่นกับไทยผูกพันกันมานาน นานเกินกว่าจะทิ้งกันง่ายๆ

ที่สำคัญอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นหยั่งรากลึกจนเกินกว่าจะถอนตัว เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ที่รากยังไม่ลงลึกอย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์แอบถอนตัวหนีไปบ้างก็มี ซึ่งไม่น่าจะเกิน10%ของนักลงทุนญี่ปุ่นในเมืองไทย

โอกาสดีๆ ที่จะได้รับจากญี่ปุ่นก็คงครั้งนี้อีกแค่ครั้งเดียวเท่านั้น หากปีนี้หรือปีหน้าน้ำยังท่วมหนักรากที่ยังลึกคง "เอาไม่อยู่" คงต้องถอน อย่าว่าแต่ญี่ปุ่นเลย คนไทยเองก็เถอะเจออีกทีก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

หากจะให้คะแนนความสำเร็จของการไปโรดโชว์ญี่ปุ่นครั้งนี้ก็คงให้ผ่านแบบกล้อมแกล้ม จะด้วยโชควาสนาหรือฝีมือก็เป็นอีกเรื่อง

เท่าที่ทราบจากคณะที่ไปโรดโชว์เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นกังวลตอนนี้ไม่ใช่เรื่องน้ำท่วม แต่เป็นเรื่อง 'ค่าแรง 300 บาท' กับ 'ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ'

ค่าแรง 300 บาท มีความเห็นแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เป็นเอสเอ็มอี ของเขาก็บอกว่าค่าแรง 300 บาทเขาไม่สามารถยอมรับได้ อาจต้องย้ายโรงงานไปหาค่าแรงถูกๆ แทน หรือนำเข้าเครื่องจักรมาทดแทน แต่ธุรกิจขนาดใหญ่อย่างบริษัทรถยนต์ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใดทุกวันนี้ก็จ่ายเกิน 300 บาทแล้ว

ปัญหาใหญ่สุดของนักลงทุนญี่ปุ่นกลายเป็น 'ปัญหาขาดแคลนแรงงาน' เฉพาะอย่างยิ่ง 'แรงงานฝีมือ' เรียกว่าขาดแคลนอย่างหนักมาหลายปี

เรื่องนี้เคยคุยกับผู้บริหารบริษัทรถยนต์รายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า แต่ละปีบริษัทต้องโรดโชว์ไปตามวิทยาลัยเทคนิคในภาคอีสาน เพื่อควานหานักศึกษามาทำงาน

เขาเล่าว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยได้เป็นสิบ แต่ 5-6 ปีหลังบางปีก็ได้คนเดียว ระยะหลังๆ ไปกลับมามือเปล่า ปัญหานี้เรื้อรังมาสิบกว่าปียังไม่มีการแก้ไข โรดโชว์ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์เที่ยวนี้น้ำท่วมกลายเป็นปัญหาเล็กนิดเดียว

แต่ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่คือ 'ขาดแคลนแรงงานฝีมือ' ป้อนให้กับอุตสาหกรรมพวกไฮเทคที่มีแนวโน้มยกทัพใหญ่ย้ายฐานการลงทุนมาในไทยและอาเซียนระลอกใหม่

หากปัญหานี้แก้ไม่ตก ยังแก้ไม่ได้ อาจจะเป็นอีกปัจจัยผสมโรงน้ำท่วมที่ผลักให้นักลงทุนหันไปลงทุนที่อื่นแทน



++

บัญชีดำฟอกเงิน ผิดที่มาร์ค หรือ ปู โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ในระหว่างที่เขียนต้นฉบับผลการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน(FATF) ที่ประเทศฝรั่งเศสยังไม่มีมติออกมาก็เลยยังไม่รู้ว่าชะตากรรมประเทศไทยจะออกหัวหรือออกก้อย โทษฐานที่ไม่เร่งออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่ไทยไปลงนามให้ความร่วมมือ แต่หลังจากนั้นไม่มีอะไรคืบหน้า

เพิ่งความแตกเมื่อสภาตลาดทุนไทยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ก่อนจะโดนขึ้น 'บัญชีดำ' ตอนนี้ก็อยู่ในระดับบัญชีสีเทาเข้ม เกือบจะติดบัญชีดำรอมร่อ
นั่นเท่ากับว่าเราถูกจัดให้อยู่เกรดเดียวกับพม่า ศรีลังกา เกาหลีเหนือ บทลงโทษจะมี 2 ระดับ รุนแรงสุดก็จะเหมือนเกาหลีเหนือ หรืออิหร่าน คือคว่ำบาตร แต่ยังไงเสียเราคงไม่โดนถึงขั้นนั้น อาจแค่ขึ้นบัญชีดำธรรมดา ระดับเดียวกับพม่า

แม้ไม่โดนคว่ำบาตร แต่อย่างน้อยๆ การจะทำธุรกรรมทางด้านการเงินระหว่างประเทศไม่ว่าการส่งออกนำเข้าสินค้า การเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ก็จะยุ่งยาก ทั้งเอกสาร ขั้นตอนต่างๆ จะโดนตรวจสอบละเอียดมากขึ้น คนที่จะค้าขายหรือจะเข้ามาลงทุนในบ้านเราจะหันไปที่อื่นที่สะดวกสบายกว่า เช่น มาเลย์ หรือสิงคโปร์ ที่ไม่มีชนักติดหลัง


ทำไมถึงปล่อยให้คาราคาซังมาจนไฟลนก้น เราเพิ่งรู้ว่าจะโดนเล่นงานจากผู้ที่เข้าประชุม FATF เมื่อวันที่ 13-17 ก.พ.ที่ผ่านมานี่เอง กระซิบบอกว่าไทยจะโดนเล่นงานในการประชุมวันที่ 20 ก.พ.2555
หากไม่มีใครกระซิบก็คงไม่รู้

สาเหตุที่ล่าช้าไม่น่าเชื่อว่าเป็นเพราะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพิ่งจะมีคณะกรรมการเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังว่างเว้นถึง 3 ปี
หากไล่หาความรับผิดชอบ ก็ต้องตำหนิรัฐบาลอภิสิทธิ์ มัวทำอะไรอยู่จึงไม่รู้ร้อนรู้หนาว ปล่อยให้คาราคาซังสร้างความเสียหายประเทศ พอมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มัวยุ่งเรื่องน้ำท่วม


แต่ทำไมรองนายกฯ ที่ดูแลหน่วยงานนี้ไม่เร่งผลักดัน หรือทำไมไม่มีใครเขียนสคริปต์ให้นายกฯ ส่งสัญญาณให้นานาชาติรู้ว่ารัฐบาลไทยมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา



.