http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-14

รำลึก21ปี 'ทนง โพธิ์อ่าน' และการต่อสู้เพื่อ ปชต.ของผู้ใช้แรงงาน

.


14 มิ.ย. รำลึกครบรอบปีที่ 84 วันเกิดของ น.พ.เออร์เนสโต เช เกวารา
(Ernesto Che Guevara) นักปฏิวัติชาวอาเจนตินาของมวลชนผู้ยากไร้
แม้ตายมาช้านาน ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่มนุษย์ทุกคนที่ใฝ่หาอิสรภาพ 





_____________________________________________________________________________________________



รำลึก 21 ปี 'ทนง โพธิ์อ่าน' และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของผู้ใช้แรงงาน
โดย เจษฎา โชติกิจภิวาทย์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/06/41051 . . Wed, 2012-06-13 23:56


เจษฎา โชติกิจภิวาทย์
สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน(สสร.)

“ทนง โพธิ์อ่าน” อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย หายสาบสูญไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ภายหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งขณะนั้น “ทนง โพธิ์อ่าน” เป็นผู้นำระดับสูงของขบวนการแรงงานที่มีบทบาทในการต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างชัดเจนที่สุด
การหายตัวไปของ “ทนง โพธิ์อ่าน” จึงมีเงื่อนงำและเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ณ ปัจจุบัน เวลาผ่านไป 21 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลชุดใดสามารถให้คำตอบต่อการสูญหายของ”ทนง โพธิ์อ่าน”

ในโอกาสรำลึกถึง “ทนง โพธิ์อ่าน” ในฐานะผู้นำแรงงานที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้เขียนจึงขอเสนอบทความนี้เพื่อเปิดประเด็นปัญหาประชาธิปไตยในสังคมไทยและบทบาทของขบวนการแรงงานที่ควรจะเป็นในอนาคตและเพื่อสืบทอดจิตวิญญาณประชาธิปไตยของ “ทนง โพธิ์อ่าน”


ปัญหาประชาธิปไตยในสังคมไทย

ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราช” เป็น”ระบอบประชาธิปไตย” ที่มีพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง หรือระบอบรัฐสภา ได้เคยเขียนบทความเรื่อง “ประชาธิปไตย” เบื้องต้นสำหรับสามัญชน และได้ให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้
คำว่า “ประชาธิปไตย” ประกอบด้วยคำว่า “ประชา” หมายถึงหมู่คนคือปวงชน กับคำว่า ”อธิปไตย” หมายถึงความเป็นใหญ่คำว่า “ประชาธิปไตย” จึงหมายถึง “ความเป็นใหญ่ของปวงชน” และราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้ในหนังสือพจนานุกรมของทางราชการว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่” 
ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าการที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมิติได้ก็จำเป็นที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้นต้องมี “สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน” อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่ มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อมนุษย์อื่นและหมู่คนอื่นหรือปวงชนเป็นส่วนรวม ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น “สามัญชน” ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส หรือข้าไพร่ของชนส่วนน้อยซึ่งมีสิทธิใหญ่ยิ่งหรือ “อภิสิทธิ์ชน” แบบการปกครองจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าสามัญชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว โดยไม่มีหน้าที่ มนุษยชนแบบการปกครองก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย


ทำนองเดียวกัน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กลุ่มนิติราษฎร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยสัมภาษณ์จุลนิติ โดยกล่าวถึง คำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึงการปกครองโดยประชาชนเป็นใหญ่ เป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบการปกครอง (Regime of Government) เราคงทราบว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น ได้ผ่านรูปแบบการปกครองมาแล้วหลายรูปแบบด้วยกัน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นประเด็นที่นับว่าเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด คือ “อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยควรเป็นของใครหรือควรอยู่ที่ใคร” ซึ่งในที่สุดแล้วพัฒนาการของแนวความคิดทางด้านการเมืองโดยเฉพาะในยุคสมัย ใหม่เป็นต้นมา ได้ให้การยอมรับและถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ “ควรเป็นของประชาชน” 
ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว หลักการพื้นฐานหรือหัวใจที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาและคำนึงถึงคือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนั้นเป็นของใคร ฉะนั้น ถ้าหากว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของพระเจ้าหรือผู้แทนของพระเจ้า บนพื้นพิภพ หรือเป็นของพระมหากษัตริย์ หรือเป็นของนักวิชาการหรือนักปราชญ์แล้ว การปกครองในรูปแบบนั้นไม่ถือว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศต้องเป็นของประชาชน หลักการนี้คือหลักการพื้นฐานอันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญหรือนิยามที่สั้นที่ สุดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ให้พิจารณาในแง่ของตัวผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศว่า เป็นใคร อย่างไรก็ตามการแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนนั้นอาจเป็นไปได้ในหลายลักษณะ ดังนั้นการใช้อำนาจสูงสุดจึงอาจมีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปได้ เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การให้องค์กรของรัฐที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นต้น


นอกจากนี้แล้ว ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้เขียนหนังสือทางเดินของประชาธิปไตย และสรุปหลักการประชาธิปไตยว่าด้วยอำนาจและการปกครอง ที่สำคัญ คือ
1. หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (People’s sovereignty) หมายความว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในการตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการต่างๆของประเทศ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจเหนือกว่าประชาชน หรือยิ่งใหญ่ไปกว่าประชาชน เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นั่นหมายความว่า ระบอบการเมืองการปกครองเป็นของประชาชน ประชาชนปกครองตนเอง (Self government) แบบโดยตรง (direct rule) หรือโดยผ่านระบบผู้แทน และไม่ว่าระบอบการเมืองการปกครองจะเป็นแบบใด หรือเปลี่ยนไปอย่างไร ล้วนต้องได้รับการยินยอมจากประชาชน (Consent by the governed)

2. หลักการสิทธิมนุษยชน (Human Rights) คนเราทุกคนเกิดมาควรมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวที่ควรได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกัน ไม่ว่าด้วยสามัญสำนึกหรือด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งนี้ การปฏิบัติใดๆต่อสมาชิกในสังคมก็ควรอยู่บนหลักการนี้ อย่างน้อยก็ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นพี่น้องร่วมชาติและร่วมโลก นี่คือคำประกาศในข้อที่ 1 ของปฏิญญาสากลของสห ประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(UNHR) และนี่คือหลักการหนึ่งที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย

3. หลักการสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน (Political rights and freedom) ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ได้แก่ มีสิทธิที่จะลงคะแนนเลือกตั้ง สิทธิที่จะดำเนินการใดๆตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆกำหนดไว้ เช่น การตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร การถอดถอนผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง ฯลฯ มีเสรีภาพในการพูด การชุมนุม การนับถือศาสนาหรือมีความเชื่อ การจัดตั้งกลุ่มหรือสมาคม และการเคลื่อนไหวใดๆทางการเมือง และที่สำคัญ มีเสรีภาพที่จะไม่ตกอยู่ในระบบการเมืองการปกครองตลอดกฎข้อบังคับใดๆที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

4. หลักการความเสมอภาคทางการเมือง (Political equality) หมายถึงสิทธิ และเสรีภาพทางการเมืองของสมาชิกทุกคนในสังคมที่มีเท่าเทียมกัน, อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน, ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน, ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ ไม่มีอภิสิทธิชน และไม่มีระบบสองมาตรฐานในสังคม


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังหาได้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามความหมายข้างต้น ซึ่ง ปิยะบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความถึง ปัญหาประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือ 1. ประชาธิปไตยที่องคมนตรีมีอำนาจแทรกแซงการเมือง 2. ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นได้เพียง ข้าแผ่นดิน ไม่ใช่ พลเมือง 3. ประชาธิปไตยที่เชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ตัวบ่งชี้ประชาธิปไตย 4. ประชาธิปไตยที่มีกองทัพเป็นผู้อนุบาล 5. ประชาธิปไตยที่ปราศจากการตรวจสอบและความรับผิด 
ดังนั้น สังคมไทยยังห่างไกลจากความหมายของ “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยผู้รักประชาธิปไตยทุกสาขาอาชีพทุกกลุ่มชั้นชน ต้องรวมมือกันผลักดันให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้อำนาจในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนโดยแท้จริง  


สิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการของผู้ใช้แรงงาน

การเลือกตั้ง เป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกตั้ง และในสังคมไทยบุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ล้วนเป็นพลเมืองที่มีสิทธิการเลือกตั้งผู้แทนทั้งระดับท้องถิ่นและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรม ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากสู่พื้นที่การทำงานในภาคอุตสาหกรรม และแรงงานส่วนใหญ่ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ทำงานไม่ได้กลับสู่ภูมิลำเนาเดิม และจากสภาพเศรษฐกิจและการจ้างงานแรงงานราคาถูก ผู้ใช้แรงงานก็ไม่ได้มีบ้านของตนเอง จึงไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ทำงาน จึงเป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนทั้งระดับท้องถิ่นและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ที่ตนเองทำงานและใช้ชีวิตอยู่ จึงไม่มีอำนาจต่อรองหรือเสนอปัญหาและนโยบายต่างๆของแรงงาน ให้ผู้แทนทั้งระดับท้องถิ่นและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อประชาธิปไตย ในอนาคต จึงต้องผลักดันให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้ง ผู้แทนทั้งระดับท้องถิ่นและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสถานที่ประกอบการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของผู้ใช้แรงงานในการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย


สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานอย่างเสรี 

สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนสาขาอาชีพ เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าการรวมกลุ่มในรูปแบบของสมาคมธนาคาร สมาคมหอการค้า สมาคมพ่อค้า กลุ่มเกษตรกรรายย่อย สมาพันธ์ประมงพื้นบ้าน สหพันธ์นิสิตนักศึกษา ฯลฯ ตลอดทั้งการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน อันถือเป็นเสรีภาพพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย 
การรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน นั้นมีทั้งในรูปแบบสหภาพแรงงานและไม่ใช่สหภาพแรงงานซึ่งมีหลายวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อสิทธิของผู้ใช้แรงงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านแรงงาน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิทธิการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานในยุคที่อำนาจเผด็จการทหารหรือระบอบอำมาตยาธิปไตยเป็นใหญ่ ผู้ใช้แรงงานมักจะถูกริดรอนสิทธิ หรือห้ามการรวมกลุ่มกัน เช่น สมัยอำนาจเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีการใช้กฎหมายเพื่อริดรอน แทรกแซง แยกสลายขบวนการผู้ใช้แรงงานก็มักเกิดขึ้นในสมัยที่สังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2534 ถือเป็นกฎหมายที่ออกมาในสมัยเผด็จการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2534 และเป็นกฎหมายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพการจัดตั้ง การดำเนินงานของสหภาพแรงงาน และการคุ้มครองการเรียกร้องต่อรองของฝ่ายแรงงาน 
ขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม ช่วงที่สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม2516 ก็มีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์2518 ซึ่งส่งเสริมสิทธิการรวมตัวของคนงานในรูปแบบสหภาพแรงงานตามกฎหมาย (แต่ปัจจุบันล้าสมัยแล้ว ต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่) หรือการผลักดันกฎหมายสำคัญๆของผู้ใช้แรงงานมักเป็นผลสำเร็จช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน เช่น กฎหมายประกันสังคม ซึ่งเกิดขึ้นสมัยนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัน ที่มาจากการการเลือกตั้ง เป็นต้น


ดังนั้น สรุปได้ว่า ถ้าตราบใดสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สิทธิของผู้ใช้แรงงานย่อมมีมากขึ้น และปัญหาของผู้ใช้แรงงานย่อมได้รับการแก้ไขได้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้ใช้แรงงานจึงมีภาระกิจทางประวัติศาสตร์ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ร่วมกับชนชั้นอื่นๆ ในสังคมไทยด้วยเช่นกัน



________________________________________________________________________________________________

ขอเชิญชวน อ่านบทความของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
“14 ปี สถาบันพระปกเกล้า . . 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม? ตอนที่ 1 สถาบันสถาปนา”
ที่ www.prachatai.com/journal/2012/06/40839
และ “14 ปี สถาบันพระปกเกล้า . . 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม? ตอนที่2 กิริยาและปฏิกิริยา”
ที่ www.prachatai.com/journal/2012/06/41047










ฝ่ายนิยมเจ้าให้เป็นผู้นำกำลังทหารก่อกบถหวังล้มทำลายระบอบประชาธิปไตย



.