.
รายงานจากปาฐกถา - นิธิชี้ต้องกระจายอำนาจลดความเหลื่อมล้ำ ปรับตัวอยู่ร่วมประชาคมโลก
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ระบบนิเวศน์ใหม่ ทางการเมือง
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2555 เวลา15:20: น.
นักวิชาการที่เข้าไปศึกษาคนเสื้อแดงในภาคเหนือและอีสาน ต่างพูดตรงกันถึงแกนนำในท้องถิ่นของขบวนการ คนเหล่านี้ประกอบด้วยคนหลากหลายจำพวก ที่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองก็ใช่ แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ ที่มากกว่ากลับเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ, ผู้รับเหมา, นายหน้าแรงงาน, พ่อค้าร้านอาหาร, อุปกรณ์การเกษตร, เจ้าของโครงการบ้านจัดสรร, เจ้าของอู่ซ่อมรถ, เจ้าของร้านเกมส์ ฯลฯ รวมไปถึงข้าราชการซึ่งเป็นคนท้องถิ่น และแม่บ้าน
ถึงจะหลากหลาย แต่ก็มีอะไรคล้ายๆ กัน คือต่างเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงในระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาของชนบทไทย (อันที่จริงคำว่าชนบทก็ไร้ความหมายไปแล้ว) มีความตื่นตัวทางการเมือง และมุ่งมั่นที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประมาณกันว่าคนประเภทนี้มีอยู่ 20-30% ของประชากรในชนบทเวลานี้
เพราะหลากหลายเช่นนี้ แต่ละกลุ่มจึงเป็นอิสระต่อกัน แม้ในอำเภอเล็กๆ หนึ่งอำเภอ ก็อาจมีกลุ่มเสื้อแดงภายใต้แกนนำดังที่กล่าวนี้หลายกลุ่ม นอกจากเป็นอิสระต่อกันแล้ว ว่าที่จริงก็แข่งขันกันในทีด้วย คนพวกนี้ประสานกับแกนนำระดับชาติ ผ่านสื่อวิทยุหรือทีวี และช่วยระดมผู้คนไปร่วมในการชุมนุมตามคำเรียกร้องของแกนนำ ที่ติดต่อกันได้จริงๆ มีน้อย
(ผมซึ่งนั่งเก้าอี้เท้าแขนทั้งวัน โดยไม่เคยลงไปวิจัยอะไร คิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำระดับชาติ และแกนนำระดับท้องถิ่นนั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ แต่ยังไม่เคยเห็นงานวิจัยของนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้แต่สันนิษฐานจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า เป็นความสัมพันธ์ที่หลวมมากๆ แกนนำระดับจังหวัดเฉพาะบางคนเท่านั้น ที่อาจสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแกนนำระดับชาติบางคน และอาจรับนโยบายของแกนนำพรรคเพื่อไทยมาโฆษณาอย่างเซื่องๆ แต่เพราะส่วนใหญ่ของแกนนำในท้องถิ่นเป็นอิสระ อิทธิพลของแกนนำระดับจังหวัดจึงไม่อาจกำกับได้ เรื่องนี้เห็นได้ดีจากความขัดแย้งของขบวนการเสื้อแดงต่อกรณี "ปรองดอง" โดยข้ามศพของผู้เสียสละเป็นร้อยเมื่อเร็วๆ นี้)
แกนนำท้องถิ่นอาจใช้ฐานความนิยมที่ตนมีไปสู่ตำแหน่งสาธารณะผ่านการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ ยังดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของตนในท้องถิ่นต่อไปเรื่อยๆ นักวิชาการที่ลงไปศึกษาเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น "ผู้ประกอบการทางการเมือง" (political entrepreneur) แต่ "กำไร" ที่เขาพึงได้จากการประกอบการนี้คืออะไรไม่ชัดนัก เพราะ "กำไร" ที่เขาได้เป็นปกติมาจากการประกอบการทางเศรษฐกิจของเขาดังที่กล่าวแล้ว
คนเหล่านี้มีจำนวนมาก และลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้าน ที่ผมได้เห็นเองนั้น แม้แต่หมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนก็มีแกนนำเสื้อแดงหลายคนและหลายระดับด้วย ผมคิดว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่มีผู้ประกอบการทางการเมืองกระจายไปทั่วสังคมไทยอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้ (ทั้งนี้ยังไม่รวมแกนนำท้องถิ่นของเสื้อเหลือง ซึ่งไม่เคยมีใครศึกษา)
การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นใหม่จำนวนมากเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ประกอบการทางการเมืองเก่า (เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์, กองทัพ, พรรคและนักการเมือง, เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่, ฯลฯ) ล้วนต้องเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศทางการเมืองอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งตนไม่คุ้นเคย และหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางการเมืองที่ผมอยากพูดถึงคือ "เจ้าพ่อ"
"เจ้าพ่อ" เป็นผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นเก่า ถือกำเนิดขึ้นเพราะนโยบายพัฒนาของสภาพัฒน์ เป็นกุญแจสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะถ่ายโอนส่วนเกินจากชนบทมาหล่อเลี้ยงการเติบโตของเศรษฐกิจเมือง ในทางการเมือง เจ้าพ่อเป็นผู้รวบรวมคะแนนเสียงจากชนบทเพื่อส่ง ส.ส.ไปร่วมในพรรคการเมือง สร้างอิทธิพลระดับชาติ ซึ่งย่อมส่งผลมาถึงอิทธิพลระดับท้องถิ่นของตนด้วย
อันที่จริงระบบเจ้าพ่อเริ่มสลายตัวลง ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมาก่อนหน้าขบวนการเสื้อแดงจะเกิดขึ้นแล้ว ในทางเศรษฐกิจ เจ้าพ่อพบว่าธุรกิจในมุมมืดให้กำไรน้อยลง เพราะต้นทุนสูงขึ้น เจ้าพ่อหลายคนจึงโอนทุนที่สะสมไว้มาสู่ธุรกิจสว่าง (แม้ยังอาศัยอิทธิพลมืดเข้าช่วยด้วย) ธุรกิจสว่างบังคับให้เจ้าพ่อแผ่อิทธิพลด้วยวิธีการนอกกฎหมายได้ยาก การประกอบการทางการเมืองที่เคยทำอยู่ต้องเปลี่ยนไปสู่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น
ในทางการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคเล็กและมุ้งเล็กซึ่งเจ้าพ่อเป็นเจ้าของมีความสำคัญทางการเมืองน้อยลง
บัดนี้แม้ในการเมืองท้องถิ่นเอง ก็มีผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นใหม่ปรากฏขึ้น และยิ่งบั่นรอนการประกอบการทางการเมืองของเจ้าพ่อให้พังสลายเร็วขึ้น เพราะคนเหล่านี้ล้วนถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นอิสระจากเจ้าพ่อทั้งสิ้น
ในประการแรก เขามีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือกิจการทางธุรกิจของเขาไม่ได้สัมพันธ์กับธุรกิจของเจ้าพ่อ อย่างน้อยก็ไม่ได้สัมพันธ์โดยตรง (เช่นไม่ได้เป็นนายหน้าแรงงานให้ไร่ส้มหรือไร่อ้อยของเจ้าพ่อ ถึงเป็นก็มีอำนาจต่อรองเสมอกันในยามที่แรงงานภาคเกษตรขาดแคลนอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้)
ประการต่อมา เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ เล็กบ้างใหญ่บ้าง และอย่างเป็นอิสระจากเจ้าพ่อด้วย ไม่ใช่เพราะเขาเป็นลูกน้องเจ้าพ่อ เขาจึงได้รับการสนับสนุน หากเพราะเขาเป็นตัวแทนของ "อุดมการณ์" ทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุน ความสามารถ เช่น พูดเก่ง, จัดการเก่ง, หรือจัดรายการวิทยุได้สนุก ฯลฯ ก็เป็นความสามารถส่วนตัวของเขา ไม่ได้หยิบยืมมาจากเจ้าพ่อ
บางส่วนของเขายังสามารถเข้าถึงการเมืองระดับชาติได้ แม้ไม่ใกล้ชิดเท่าเจ้าพ่อ แต่ก็พอได้บ้าง ยิ่งกว่านี้เขายังอาจปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลก็ได้ แม้แต่นโยบาย "ปรองดอง" แบบทักษิณได้คนเดียว แกนนำท้องถิ่นก็สามารถโวยวายจนกระทั่งคุณทักษิณต้องออกมาโทษ "คลื่นไม่ดี"... ไม่รู้ว่าคลื่นวิทยุหรือคลื่นสมอง
ดังนั้น ในแง่หนึ่งเขาก็พอจะคุมหรือต่อรองกับข้าราชการท้องถิ่นได้ระดับหนึ่ง อาจไม่เท่ากับเจ้าพ่อ แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าของอู่ซ่อมรถ หรือผู้รับเหมารายย่อย อย่างที่เป็นอย่างแน่นอน
ที่เหนือไปกว่าเจ้าพ่อก็คือ ประชาชนในท้องถิ่นย่อมเข้าถึงเขาได้ง่ายกว่าเจ้าพ่ออย่างเทียบกันไม่ได้ ซ้ำยังเข้าถึงแบบมีอำนาจต่อรองด้วย ไม่ใช่เข้าถึงเพื่อกราบกรานขอร้อง ให้ได้เท่าไรก็เท่านั้น
สภาพนิเวศน์ที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ลดบทบาทของเจ้าพ่อในการเมืองลงอย่างเห็นได้ชัด หรือมิฉะนั้นก็เปลี่ยนบทบาททางการเมืองของเจ้าพ่อที่ยังเหลืออยู่ในการเมืองระดับชาติให้กลายเป็นตัวตลก
ที่บางคนเคยคิดว่า พรรคอย่าง "พลังชล" จะกลายเป็นแบบอย่างให้เกิดพรรคการเมืองแบบนั้นอีกหลายพรรค ผมออกจะสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะกรณีเมืองชลเป็นข้อยกเว้นมากกว่าเป็นกฎทั่วไป โชคดีที่พรรครัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้วพลังชลเข้าร่วม พลังชลก็จะกลายเป็นปรปักษ์กับผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นใหม่บางกลุ่ม ผลจะเป็นอย่างไร ไม่ทราบได้ แต่เมืองชลจะไม่หวานคอแร้งแก่พรรคพลังชลอย่างเคยแน่
ผมออกจะสงสัยยิ่งกว่านั้นด้วยว่า ในสภาพนิเวศทางการเมืองอย่างเป็นอยู่นี้ แม้แต่คุณทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทยเอง ก็อย่าได้วางใจว่าจะได้คะแนนท่วมท้นจากผู้ประกอบการทางการเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างท่วมท้นเหมือนเคย
หลังจากปาหี่ของพรรคเพื่อไทยที่แสดงผ่านการลงมติที่จะทำให้วาระ 3 ของการแก้รัฐธรรมนูญไม่อาจผ่านไปได้ เสื้อแดงจำนวนหนึ่งบนเว็บไซต์ต่างๆ บอกว่า เลือกตั้งครั้งหน้าเขาจะกาช่องไม่ใช้สิทธิ แทนที่จะกาให้เพื่อไทย ผมไม่ทราบว่าคนเหล่านี้เป็นแกนนำเสื้อแดงในท้องถิ่นหรือไม่ แต่เพราะกลุ่มของแกนนำท้องถิ่นมีขนาดไม่สู้จะใหญ่นัก แกนนำท้องถิ่นจึงต้องฟังเสียงของประชาชนอย่างมาก
เพราะขึ้นชื่อว่าปาหี่ จะแสดงอย่างไรก็ไม่เนียนเท่าของจริงหรอกครับ
โดยสรุปก็คือ ผู้ประกอบการทางการเมืองในท้องถิ่นไทยได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว มีผลให้ระบบนิเวศทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะในระบอบที่ต้องมีการเลือกตั้งเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้ประกอบการทางการเมืองอื่นๆ จะปรับเปลี่ยนตนเองอย่างไร เพื่อให้ตนยังมีบทบาทในการเมืองต่อไป หากไม่เปลี่ยนเลยก็จะเหมือนเจ้าพ่อที่กำลังสูญพันธุ์
+++
นิธิชี้ต้องกระจายอำนาจลดความเหลื่อมล้ำ ปรับตัวอยู่ร่วมประชาคมโลก
ใน www.prachatai.com/journal/2012/06/41122 . . Mon, 2012-06-18 13:36
(18 มิ.ย.55) นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "แผ่นดินเดียวกันแต่เหมือนอยู่คนละโลก: การปฏิรูปประเทศไทยเพื่อการอยู่ร่วมโลกเดียวกับคนอื่น จินตนาการสู่อนาคต" ในการประชุมสังคมวิทยาระดับชาติ ครั้งที่ 4 ที่ รร.มิราเคิลแกรนด์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์กับโลกข้างนอก คนไทยมักมองในเชิงการแข่งขัน เช่น เมื่อจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มักมองว่าเราจะแข่งขันกับประเทศสมาชิกได้อย่างไร ทั้งที่ส่วนตัวมองว่า AEC เกิดขึ้นเพื่อให้เราร่วมมือกันเพื่อให้เป็นตลาดที่ใหญ่โตพอที่คนอื่นจะเข้ามาลงทุนต่อ ซึ่งวิธีการมองโลกในลักษณะการแข่งขันดังกล่าวเข้าใจว่าน่าจะมากับวัฒนธรรมอเมริกัน ที่รู้สึกว่าเราต้องเป็นที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์กับคนในประเทศ เรามักนึกถึงความเป็นธรรม
นิธิกล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดและมีมานานพอสมควรในไทย คือ ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง รัฐ ทุนและสังคม ที่ขาดความสมดุลต่อกัน โดยอำนาจบางกลุ่ม เช่น รัฐ หรือทุน มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรสูง จนสังคมไม่สามารถถ่วงดุลและตรวจสอบได้ โดยทรัพยากรในที่นี้มีความหมายกว้าง กินความถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองและสังคม
ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเห็นได้จากคำพิพากษาที่ปรับชาวสวนชาวไร่ที่บุกเบิกที่ ซึ่งอ้างว่าไม่ใช่ที่ของเขา ด้วยข้อหาทำให้โลกร้อน เป็นแสนเป็นล้านบาท ท่ามกลางรถยนต์-โรงงานที่ปล่อยควันพิษ แต่ไม่มีใครโดนปรับ ทำให้คนที่จนที่สุดในสังคมกลับเป็นผู้รับผิดชอบโลกร้อนในสังคมเรา รวมถึงตัวเลขแสดงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจำนวนมาก แม้แต่งบประมาณบริการของรัฐ เช่น การศึกษา กลุ่ม 20% บนสุดเข้าถึงมากกว่า 10% ขณะที่กลุ่มล่างสุด เข้าถึงน้อยกว่า 10%
นิธิ กล่าวว่า การจะเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรเสียใหม่ ต้องทำให้อำนาจของการบริหารจัดการกระจายไปยังคนกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและประนีประนอมกันเอง โดยการกระจายการบริหารจัดการในเชิงการปกครองให้ลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น จะเป็นกุญแจแรกในการจัดการทรัพยากรด้านอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหา คือ อำนาจที่กระจายไปตกกับชนชั้นนำจำนวนน้อยในท้องถิ่น จึงต้องออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นใหม่ ให้มีสถาบัน-องค์กรอื่นเข้ามาต่อรองอำนาจได้ รวมถึงต้องให้พลังทางการเงินกับท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อจัดการบริหารทรัพยากรในท้องถิ่นเอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย