คอลัมน์ในประเทศ - ประชาธิปไตย"งานเข้า"? "เสื้อแดง-รัฐบาล เห็นต่าง เกมเบรก "รธน.-ปรองดอง"
รายงานพิเศษ - หัวอก "บิ๊กเฟื่อง" หัวใจ "บิ๊กตู่" กับหัวหน้า "เจี๊ยบ" และ "บิ๊กโอ๋" กลางดงเสือปฏิวัติ และเลข 12
คอลัมน์ โล่เงิน - ล้มกระดานโกงสอบตำรวจ "เพรียวพันธ์" โชว์ภาวะ "ผู้นำ" ตั้ง 4 ชุด "ล้างบาง-ล้อมคอก"
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 9
นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศ "รุก" ผ่านระบบวิดีโอลิงก์ มายังเวทีรำลึก 2 ปี เหตุการณ์นองเลือด ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2555
โดยบอกคนเสื้อแดงว่า
"วันนี้เราเดินทางมาสุดทาง เหมือนพี่น้องขับเรือพาผมมาถึงฝั่ง ต่อไปเป็นการขึ้นเขา ซึ่งต้องขึ้นรถไป พี่น้องไม่จำเป็นต้องแบกเรือมาส่งผมขึ้นเขา"
แล้วเราก็ได้เห็น "การขึ้นเขา" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างตื่นเต้น เร้าใจ
แต่เป็น ความเร้าใจ ที่ชวนให้ หวาดเสียว
เพราะกลัวรถจะตกเหว
มากกว่าจะเร้าใจ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังพุ่งเข้าสู่จุดหมาย ที่วาดหวังไว้
และที่สำคัญ วันนี้ รถ "ขึ้นเขา" ที่ว่า ต้องถอยกลับมาจอดริมฝั่ง อย่างสะบักสะบอม
จำเป็นจะต้อง ทบทวน "บทเรียน" กันยกใหญ่!
ในเบื้องต้น ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำไปแล้ว และคงต้องทำต่อเนื่องไปอีกนาน เพื่อลบความขุ่นข้องหมองใจของคนเสื้อแดง
นั่นคือ ขอโทษมวลชนเสื้อแดง ที่รู้สึกถึง "การถีบหัวเรือส่ง"
เป็นการถีบหัวเรือส่งหลังจากพายเรือส่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงฝั่ง แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาบอกว่า ปล่อยให้ผมขึ้นเขา พร้อมๆ กับเรียกร้องให้คนเสื้อแดง "ยอมให้รัฐบาลเดินหน้า เพื่อความปรองดอง"
เป็นความปรองดอง ขณะที่คนเสื้อแดงหลายหมื่น "กำลัง" รำลึกถึงเหยื่อความรุนแรงที่ยังไม่อาจเอาผิดผู้สั่งการได้
ทำให้เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ดูดำดูดี กับมวลชน ที่เดินเคียงข้างมาตลอด
แม้จะมีคำขอโทษ พร้อมกับโยนว่าฝ่ายตรงข้ามคือพรรคประชาธิปัตย์ พยายามเสี้ยมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แตกคอกับคนเสื้อแดง แต่ก็ดูจะยังลบความรู้สึก "ไม่เหมือนเดิม" จากหัวอกคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยไปได้
แถม พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังคงเดินหน้า "ขึ้นเขา" ต่อไป
เมื่อจู่ๆ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ลุกขึ้นมาเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่สภา โดยมีพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล กระโดดตามกันอย่างคึกคัก
แม้จะไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่า เรื่องนี้ คือความร่วมมือกันในกลยุทธ์ "ขึ้นเขา" หรือไม่
แต่ละอ่อนทางการเมืองขนาดไหน ก็คงมองออกได้ไม่ยากว่า "อะไรเป็นอะไร"
เนื้อหาของ พ.ร.บ.ปรองดอง ที่มุ่งเน้นการล้างผิดทุกฝ่าย ทุกสี รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะหลุดพ้นทุกคดีและได้รับเงินหลายหมื่นล้านที่ถูกยึดไปคืน ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน อย่างรุนแรง
และเกินคาดหมาย
พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะเชื่อมั่นใน "สัญญาณ" ที่ดีจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับฝ่ายอำมาตย์มาก "เกินไป"
เลยไม่ลังเล ที่จะ ขับรถ บุกทะลวงขึ้นเขาไป โดยหวังว่า ทุกอย่างจะ "ราบรื่น"
แต่เอาเข้าจริง คนกันเอง คือมวลชนเสื้อแดง ที่เจ็บช้ำน้ำใจจากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ หยกๆ ก็ต้องมาอึ้งซ้ำสองกับเนื้อหาของ พ.ร.บ.ปรองดอง เพราะต้องมากลำกลืนรับสภาพ "เจ๊าๆ กันไป" อีก
มวลชนเสื้อแดง จำนวนมาก จึงรู้สึก "รับไม่ได้"
กลายเป็นภาวะ "คนใน" ก็ไม่เอา
ขณะที่ "คนนอก" ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ดาหน้าออกมาต่อต้าน อย่างพร้อมเพรียง
ถือเป็นการ "เรียกแขก" ที่ทรงประสิทธิภาพ
แถมยังไปทำให้ ความอ่อนล้า แตกแยก ของฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คนหลากสี พรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นสิ่งที่ "ถูกวางไว้ก่อน"
ความจำเป็นเฉพาะหน้า ที่จะต้องต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดอง ทำให้การผนึกกำลังของฝ่ายต่อต้านพลิกฟื้นขึ้นมาอย่างมีพลัง ทั้งในและนอกสภา
จึงทำให้เราได้เห็นการต่อต้านอย่างหนัก ของประชาธิปัตย์ ในสภา แบบไม่กลัวเสียภาพพจน์ ทั้งการขว้างปาสิ่งขวาง แย่งเก้าอี้ประธานสภา การโห่ร้องขับไล่ อย่างก้าวร้าวหยาบคาย
แม้จะถูกมองอย่างตำหนิจากสังคม
แต่พรรคประชาธิปัตย์ ก็สามารถทำให้ พ.ร.บ.ปรองดอง ขับเคลื่อนได้เพียงการเลื่อนวาระขึ้นมา แต่ไม่สามารถพิจารณาในวาระ 1 ได้
ขณะที่นอกสภา การกระจายปิดล้อมรัฐสภา ของกลุ่มพันธมิตรฯ และเสื้อหลากสี ก็ประสบความสำเร็จ ทำให้สภา ประชุมไม่ได้ จนต้องนำไปสู่การเลื่อนประชุมเรื่องดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หวังจะหักดิบ เรื่อง "ปรองดอง"
กลายเป็นถูก "หักดิบ" จากฝ่ายตรงข้ามเสียเอง
ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการต่อต้านรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มเสื้อหลากสี เท่านั้น
จู่ๆ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคำสั่งมายังรัฐสภา ให้ระงับการลงมติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 ในวันที่ 5 มิถุนายน ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีเป้าหมายล้มล้างการปกครอง ตามที่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, กลุ่ม ส.ว.สรรหา และกลุ่มมวลชน รวม 5 กลุ่ม ยื่นคำร้องเข้ามา
แม้คำสั่งดังกล่าว จะทำให้ พรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง ที่เคืองๆ กันอยู่ กลับมาเป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ กำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
จึงมีการรวมพลังสู้
แม้จะมากด้วยน้ำหนัก และเหตุผล ที่ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำเกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด และกำลังก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่ที่สุดแล้ว ประธานรัฐสภา ก็ตัดสินใจ ไม่หักดิบกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยยอมเลื่อนการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3 ออกไป ด้วยเหตุผล เพื่อความปรองดอง
ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาล ก็เกรงกลัวจะเดินเข้าสู่เขา "คิลลิ่งโซน" โดยเฉพาะเมื่อหักดิบโหวตแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน
ซึ่งหลังจากนั้นไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับอนาคตของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกินไป
ที่สุดก็จำเป็นต้องถอย
แถมยังต้องมาเสียหน้าในตอนท้ายอีก เมื่อไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนได้เกินกึ่งหนึ่งเพื่อผลักดันให้เรื่องนี้ เป็นญัตติของที่ประชุมรัฐสภาเพื่อชี้ว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับรัฐสภา หรือไม่
โดยรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหวังว่าจะใช้การลงมติญัตตินี้เป็นการตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญ
แต่เพราะเตรียมการไม่ดี พรรคร่วมบางพรรคไม่เอาด้วย ส.ว. บางส่วนชิ่งหนี ที่สุดเรื่องนี้ก็ล่มกลางรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน
กลายเป็น "ความเสียหน้า" ครั้งใหญ่อีกครั้งของรัฐบาล
เมื่อประเมินการรุกใหญ่ ด้วยการ "ขับรถขึ้นเขา" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ คราวนี้แล้ว
พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง คงต้องจับเข่าพูดคุยกันยกใหญ่
เพราะ แทนที่ จะเป็นการ "รุก"
แต่กลับเป็นการต้อง "ถอย"
ถอยแบบถอยแล้วถอยอีก
ถือเป็น "บทเรียนใหญ่" อีกครั้งที่ต้องรีบทบทวน
ยังดีที่การถอยครั้งนี้ ยังพอมีคำอธิบายได้บ้างว่า เป็นการช่วยประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายไปกว่านี้ ขณะที่ พ.ร.บ.ปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงอยู่เพียงแต่ยืดเวลาออกไปเพื่อรอสถานการณ์ที่เหมาะสม
แต่ถ้ายังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไปเรื่อยๆ
จะไม่ใช่ถอย เพื่อตั้งหลักอีกแล้ว
แต่เป็นการถอยแบบ "แพ้ยะย่าย พ่ายจะแจ"!!
++
คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 8
"ถอยหนึ่งก้าวดีกว่าหกล้ม" ในที่สุด "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภา ตัดสินใจไม่มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ขยับพร้อมกับ "พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ...." ออกไปแบบไม่มีกำหนด
สอดรับกับ คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือ "วิป" พรรคร่วมรัฐบาล เสนอความเห็นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตราร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) ปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ ซึ่ง ครม. "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไฟเขียว เสนอปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 มิถุนายน จากนี้ไป สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล
เท่ากับ "ปิดเกม" ประเด็นร้อนๆ ทางการเมืองลงไปได้โดยพลัน "ฝ่ายตรงข้าม" ที่ "สมคบคิด" จะหยิบฉวย "พ.ร.บ.ปรองดอง-ลงมติแก้ รธน. วาระ 3" มาเป็นประเด็นขับเคลื่อน เพื่อกดดันให้เกิดเหตุหนึ่งเหตุใด และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อันประกอบด้วย ยื่นถอดถอน "นายกฯ ปู-ยุบสภา-นองเลือดภาค 2" และนำไปสู่โหมด "ปฏิวัติ" ในท้ายที่สุดนั้น เป็นอันแยกสลายพังทลายไปโดยอัตโนมัติ
มีข่าวว่า ก่อนที่ "เพื่อไทย" จะสั่งถอยกรูด ระงับยับยั้งการลงมติร่างแก้ไข รธน. วาระ 3 และเลื่อนโปรแกรมนำเข้า พ.ร.บ.ปรองดอง แกนนำ "ขาใหญ่" ซึ่งคัดเกรดฝ่ายกฎหมาย-มือฉมังทางการเมืองล้วนๆ นำทีมโดย "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขย "นายใหญ่" และพี่เขย "นายกฯ ยิ่งลักษณ์"
พร้อมด้วย "โภคิน พลกุล-จาตุรนต์ ฉายแสง-พงศ์เทพ เทพกาญจนา-วราเทพ รัตนากร-ภูมิธรรม เวชยชัย" ประชุมกลั่นกรอง และประเมินสถานการณ์ "ถกลับ" กันหลายชั่วโมง
สรุปว่า การเดินหน้าลุยลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง เสียงแม้จะชนะสดใส เพราะกุมสภาพเสียงข้างมากอยู่ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิด ไม่ว่าจะ "ม็อบ" หรือภารกิจอื่นๆ มีสัญญาณพิเศษบ่งบอกชัดเจนว่า "ผิดปกติ" องคาพยพการขับเคลื่อนละม้ายคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์เมื่อปี 2549 ซึ่งถอนรากถอนโคน "ระบอบทักษิณ" พังครืนไม่เป็นท่ามาแล้ว
หากพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลดันทุรังขับเคลื่อน เพื่อเอาชนะคะคาน เท่ากับเดินไป "ตกหลุมพราง"
แม้ว่า การชะลอ ถดถอยของ 2 พ.ร.บ. จะสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับ "คนเสื้อแดง" ที่เป็นฐานเสียงใหญ่ จน "ส.ส.เสื้อแดง" พากันของขึ้น แต่ถือว่าเป็นคนกันเองสามารถชี้แจงทำความเข้าใจกันในภายหลังได้
การประชุมของระดับลับมากของ "หัวกะทิ" ส่งบทสรุป "ถอย" ไปให้ "นายใหญ่ดูไบ" ปรากฏว่า หะแรกเลย "ลมออกหู" ไม่เห็นด้วย อ้างว่า "ประชาธิปัตย์เล่นเกมนอกสภา ยอมไม่ได้ ต้องเดินหน้า"
แต่หลายรายที่เป็นแกนนำในที่ประชุม ร่วมกัน "กล่อม" โดยยกประเด็นมาแยกแยะ
สรุปสาระสำคัญว่า หากรีบไปแตะต้องของร้อน แม้ว่า ชนะศึก และขับเคลื่อนสู่จุดแตกหัก เพื่อเอาใจแฟนคลับ "คนเสื้อแดง" นอกจากจะติดกับดักฝ่ายตรงข้ามแล้ว มรรคผลทางการเมืองจะ "แคนนอน" มากระทบสถานะของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ให้พังเร็วตามไปด้วย
ชั่วโมงนี้ถือว่า "นายกฯ ปู" คุมเกมในฐานะผู้นำประเทศได้ดีเกินที่คาดหมาย
ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ "ฝ่ายตรงข้าม" ที่เป็นระดับ "ตัวกลั่น" พากันหมดเรี่ยวแรง ขณะที่ "กลุ่มทุน" ที่สนับสุนด้วยรูปลักษณ์ต่างๆ เพื่อกำจัด "ระบอบทักษิณ" ให้หายไปจากสารบบ ขณะนี้พากันล่าถอย "ศัตรู" ส่วนหนึ่งแปรเป็น "มิตร" หาก "ยิ่งลักษณ์" ลากสถานการณ์ไปได้ถึงเดือนกันยายน อันเข้าช่วงฤดูโยกย้ายใหญ่ มีการจัดแถวข้าราชการระดับสูงทุกกรมกองอีกครั้ง ทุกอย่างจะกุมสภาพไว้ได้เบ็ดเสร็จ
"นายใหญ่" จึงสั่งถอย
เมื่อสกัดกั้น ไม่ให้ "ศึกนอก" บานปลายขยายวง "ปิดเกม" ไปได้เรียบร้อยแล้ว พลันที่ถอย เลื่อนโปรแกรม "พ.ร.บ.ปรองดอง" กับลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 และออก พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภาสมัยวิสามัญนิติบัญญัติ
เหลือแต่ "ศึกใน" ว่าด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ "พรรคร่วม" อันได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา-พลังชล ร้องขอ เพื่อส่ง "ตัวจริง" ลงสนามเอง
ด้วยการสลับฟันปลา อาทิ "สนธยา คุณปลื้ม" มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทน "กุสุมล" ภรรยา "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" นั่งว่าการอุตสาหกรรม ควบรองนายกฯ และชาติไทยพัฒนา ของ "บรรหาร ศิลปอาชา" จะขอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบางคน
"เพื่อไทย" ถือโอกาสเดียวกันนี้ ปรับ ครม. ในสัดส่วนของพรรค เพื่อดึงประชากรบ้านเลขที่ 111 ซึ่งพากันพ้นโทษแบนทางการเมือง ยกเข่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555
ดึงนักเลือกตั้งเกรดเอสี่ซ้าห้าคน เพื่อมาเสริมความแข็งแกร่งในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 3"
แต่ข่าวล่ามาเรือ ฟันธงว่า "นายใหญ่-น้องหญิง" ปรึกษาหารือร่วมกันแล้ว หลังถอย พ.ร.บ.ปรองดอง-ลงมติแก้ไข รธน. วาระ 3 และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระเพื่อมขึ้นในพรรคเพื่อไทย จึงขอเตะถ่วงการปรับคณะรัฐมนตรี "ปู 3" ออกไปแบบไม่มีกำหนด
"ปู 2" แม้ว่าบางคนจะเป็น "ทีมบี-ทีมซี" แต่ขณะนี้ส่วนใหญ่ทำงานเข้าขากับ "ยิ่งลักษณ์"
ขอประคับประคองทีมงานเก่า กันไปอีกระยะ และดูจังหวะที่เหมาะสม และหากไม่มีเหตุทับซ้อนใดเกิดขึ้นอาจจะลากยาวไปลงมือ ในช่วงปลายเดือนกันยายน
ส่งผลให้พรรคร่วม ทั้งพลังชล ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ที่ยื่นเงื่อนไขปรับ อาจจะชวดเงื้อค้างตามไปด้วย
สรุปว่า หลัง "สมศักดิ์" ถอย 2 พ.ร.บ. ออก และรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ออก พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา ความร้อนแรงทางการเมือง "ปิดข่าว"
+++
ประชาธิปไตย"งานเข้า"? "เสื้อแดง-รัฐบาล เห็นต่าง เกมเบรก "รธน.-ปรองดอง"
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 10
ภายใต้ยุทธศาสตร์ 2 ขาประชาธิปไตย
รัฐบาลเพื่อไทยกับกลุ่มเสื้อแดงมีเรื่องให้ต้องขัดกันเองเป็นระยะ
โดยเฉพาะช่วงหลัง นับตั้งแต่การเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดอง ต่อเนื่องการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 291 วาระ 3
แม้ฝ่ายต่อต้านคัดค้านภายนอกจะเป็นขบวนการคนหน้าเดิม คือ พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม 40 ส.ว. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประสานเข้ากับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
จะสร้างปัญหาให้รัฐบาลจนไม่สามารถผลักดันทั้ง 2 เรื่องเป็นผลสำเร็จ ตามที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนฯ และประธานรัฐสภา ยืนยันว่า
ไม่มีการ"ลักไก่" ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 และพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในการประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัตินี้แน่นอน
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตราร่างพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภา วันที่ 19 มิถุนายน ตามข้อเสนอวิปรัฐบาล
ความหมายคือการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 และการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จำเป็นต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยก็ในสมัยประชุมสภาหน้า
ตรงนี้เองที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน เกรงจะทำให้สถานการณ์รัฐบาลที่คนเสื้อแดงให้การสนับสนุน
มีความไม่แน่นอนมากขึ้น
คนเสื้อแดงฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเพื่อไทย 2 เรื่องใหญ่ด้วยกัน
เรื่องแรก คือ การคลี่คลายคดี 98 ศพ จากเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ช่วยเหลือคนเสื้อแดงในเรือนจำให้ได้รับประกันตัวออกมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมมาตรฐานเดียว
เรื่องที่สอง คือ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญอันมีที่มาจากคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ"ผลไม้พิษ"
เมื่อมีอะไรมาขัดขวางเส้นทาง 2 เรื่องนี้
คนเสื้อแดงพร้อม"ดับเครื่องชน"ทันที ไม่ว่าสิ่งกีดขวางนั้นจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่รัฐบาลเพื่อไทยเองก็ตาม
หลายคนมองว่าวันนี้มวลชนเสื้อแดงเหมือนยักษ์ในตะเกียงวิเศษ ขยายตัวเติบโตมาถึงจุดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถใช้มนต์คาถาควบคุมได้อีกต่อไป
การจับยัดกลับเข้าตะเกียงยังเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
เมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ปราศรัยผ่านวิดีโอลิงก์มายังเวทีราชประสงค์ ในการชุมนุมคนเสื้อแดงรำลึก 2 ปี 19 พฤษภาคม 2553
การสั่งให้คนเสื้อแดง"ลืม"ความเจ็บปวดในอดีต เพื่อเข้าสู่โหมด"ปรองดอง"ในปัจจุบัน ได้ก่อเกิดแรงกระเพื่อมในกลุ่มเสื้อแดง เนื่องจากมีจำนวนหนึ่งรู้สึกว่ากำลังถูกถีบหัวเรือส่งหลังจากพา"ใครบางคน"ส่งถึงฝั่ง
จากนั้นยังมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่สภา มีเนื้อหาสาระสำคัญในการนิรโทษกรรมทุกสีทุกฝ่าย รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้อยู่เบื้องหลังสั่งปราบปรามประชาชน 98 ศพเมื่อปี 2553
ตรงนี้เองคนเสื้อแดงสะเทือนใจ รู้สึกว่าถูกรัฐบาลหักหลัง
แรงกระเพื่อมจากความรู้สึกดังกล่าว ผสมผสานกับแรงเสี้ยมจากฝ่ายตรงข้าม
ทำให้ตัวแทนเสื้อแดงในรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ต้องทำหน้าที่ทูตหย่าศึก
นำ ส.ส.เพื่อไทยจำนวนหนึ่ง เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับเสื้อแดง มีเนื้อหาให้"ยกเว้น"การนิรโทษกรรมบุคคลที่ต้องคดีก่อการร้าย และคดีความผิดต่อชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่าง 15 กันยายน 2548 ถึง 10 พฤษภาคม 2554
หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังโฟนอิน-วิดีโอลิงก์เข้ามาขอโทษขอโพยคนเสื้อแดง 2-3 ครั้ง ช่วยให้คลื่นลมเสื้อแดงลดความกราดเกรี้ยวลงได้
กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและคนเสื้อแดงจะมาถึงจุดล่อแหลมอีกครั้ง
โดยมีเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลางความเห็นแตกต่าง
ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมาถึงบทสรุป ของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ว่าจะไม่มีการลงมติวาระ 3 ในสมัยประชุมสภานี้ เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง
รายงานข่าวระบุมีการถกเถียงกันอย่างหนักในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ระหว่างผู้บริหารพรรค แกนนำรัฐบาล และ ส.ส.เสื้อแดง
แกนนำรัฐบาลเห็นว่าหากประธานรัฐสภาสั่งชะลอการลงมติแก่รัฐธรรมนูญวาระ 3 ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นการ"ชักฟืนจากเตาไฟ"
ยังเป็นการ"พาดบันได"ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีทางลง บนความเชื่อว่าในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยกคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 5 สำนวน
ต่างจาก ส.ส.เสื้อแดง กลับเห็นว่าประธานรัฐสภาควรเดินหน้าให้มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทันที ไม่ต้องสนใจคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ชะลอไว้ก่อน
เนื่องจากเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทั้งขัดต่อหลักอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย มีลักษณะการใช้อำนาจก้าวล่วงแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดแจ้ง
ข้อเสนอแนะของ ส.ส.เสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ยังเป็นเนื้อหาเดียวกับของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. และมวลชนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวนอกสภา
สะท้อนจากการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7-8 มิถุนายน สะท้อนจากการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเจ้าของคำสั่งชะลอการลงมติ วาระ 3
เบื้องแรก แกนนำเสื้อแดงยื่นรายชื่อต่อประธานวุฒิสภาแล้วกว่า 3 หมื่นรายชื่อ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ 1 ล้านรายชื่อ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ส.ส. และคนเสื้อแดงเป็นห่วง คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจหมายถึง"สัญญาณอันตรายรอบใหม่"
ที่รัฐบาลจะประมาทหรือมองข้ามไปไม่ได้
ขณะนี้มีกระบวนการเดินเกมล้มรัฐบาล เป็นการประสานงานครบวงจรทั้งกลุ่มพันธมิตร พรรคประชาธิปัตย์ ต่อสายไปยังนายทหารระดับสูงของกองทัพบก ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แต่เป็นระดับรองลงมาที่มีอำนาจดำเนินการได้"
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.แกนนำเสื้อแดง ระบุ
เป็นความพยายามเปลี่ยนข้างพลิกขั้วการเมืองโดยใช้โมเดลเดียวกับสมัย นายเนวิน ชิดชอบ ย้ายไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
โดยมีองค์กรตุลาการบางองค์กรเป็น 1 ในส่วนประกอบของแผนก่อตั้ง"รัฐบาลเทพประทาน ภาค 2" เท่านั้น
ส.ส.เสื้อแดงยังพยายามโน้มน้าวว่าหากรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จช่วงเวลานี้ ถือว่าเหมาะที่สุด
เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามเดินเกมผิดพลาดอย่างแรง ใช้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเกินอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุให้ถูกกระแสสังคมตีกลับจนภาพลักษณ์เสียหาย
ถ้ารัฐบาลไม่ฉวยโอกาส"นาทีทอง"นี้ไว้ แล้วชะลอการลงมติวาระ 3 ออกไป ก็ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าช่วงเวลานับจากนี้ไปจนถึงเปิดสมัยประชุมสภาหน้า
รัฐบาลจะประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝันอีกหรือไม่
เพราะไม่ว่ากรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง ที่จริงแล้วเป็นเพียง"หนังตัวอย่าง"ของขบวนการโค่นล้มรัฐบาลเท่านั้น เป็นการเรียกน้ำย่อยก่อน"หนังจริง"ออกฉาย
เมื่อถึงเวลานั้น กว่ารัฐบาลจะรู้ตัวว่าเดินพลัดหลงเข้าไปใน"กับดักที่มองไม่เห็น "ก็สายเกินกว่าจะชักเท้ากลับทัน
สุดท้าย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจมีชะตากรรมไม่ต่างจาก รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ทั้งหมดนี้เป็นหนังม้วนเก่ากลับมาฉายใหม่หรือเป็นเพียงจินตนาการของคนเสื้อแดง
ผลวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อ 5 คำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่คาดว่าจะมีขึ้นในอีกไม่เกิน 1 เดือนข้างหน้า จะเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดี
พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงจะ"งานเข้า"อีกหรือไม่
+++
หัวอก "บิ๊กเฟื่อง" หัวใจ "บิ๊กตู่" กับหัวหน้า "เจี๊ยบ" และ "บิ๊กโอ๋" กลางดงเสือปฏิวัติ และเลข 12
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 16
การเมืองวุ่นทีไร มีม็อบเหลือง ม็อบแดง และคนที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาทีไร กองทัพก็พลอยต้องวุ่นร้อนไปด้วย
เพราะมีการปลุกกระแสปฏิวัติ ทั้งจากฟากฝั่งพันธมิตรอำมาตย์ ที่อยากให้ทหารปฏิวัติล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และทั้งจากแกนนำเสื้อแดง ที่ปะติดปะต่อข้อมูลจนหวาดวิตกว่าทหารจะปฏิวัติ
ประวัติศาสตร์ ไม่มีวันซ้ำรอยง่ายๆ หรือซ้ำรอยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะแค่มีความคล้ายเหมือน และความน่าจะเป็นเท่านั้น
จนส่งผลให้บรรดา ผบ.เหล่าทัพ ต้องมานั่งถกหาจุดยืน ที่ตกผลึกออกมาว่า "จะไม่ยุ่งเกี่ยว ให้เป็นเรื่องของกฎหมาย และหนุนให้เป็นไปอย่างสงบ สันติวิธี ไม่ให้ยกระดับไปสู่ความรุนแรง"
นั่นหมายถึง ผบ.เหล่าทัพ ภายใต้การนำของบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ได้นั่งโต๊ะหารือถึงสถานการณ์บ้านเมือง ที่ตึงเครียดจากการผลักดันและต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดอง ที่อาจหมายถึงว่า "ไม่ปฏิวัติ"
"แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น แต่เรียกว่า ยังไม่จำเป็น และไม่ถึงเวลา ถ้าแก้ปัญหากันได้ตามกลไกที่มีอยู่ ทหารก็ไม่อยากยุ่ง" ขุมข่าวคนสำคัญเผย
และตราบใดที่ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังไม่ส่อแสดงไปถึงการหมิ่นสถาบัน หรือหนุนให้กลุ่มใดพาดพิงสถาบัน หรือเข้ามาแทรกแซงกองทัพในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารในหลายระดับ
ว่ากันว่า หากช่วงนี้เป็นช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน กระแสปฏิวัติจะยิ่งเชี่ยวกราก โดยเฉพาะในกองทัพอากาศ ที่ส่อเค้าว่าจะถูกล้วงลูก
จนทำให้บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. กำลังเดือดปุดๆ แต่สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้คือ การลดบทบาท งดการให้สัมภาษณ์ สงบปากสงบคำ เพราะหากพูดอะไรพลาดไปไม่เข้าหูรัฐบาล หรือแทงใจคนเสื้อแดง อาจจะส่งผลต่อการวางตัวทายาทอำนาจในตำแหน่ง ผบ.ทอ.
"ตอนนี้ผมเคาต์ดาวน์แล้ว 3 เดือนจะเกษียณ ไม่อยากพูดอะไร เพราะผมเป็นคนพูดตรงๆ" บิ๊กเฟื่อง เปรย
พล.อ.อ.อิทธพร นั้นเป็นกังวลไม่น้อยกับการแต่งตั้ง ผบ.ทอ. คนใหม่ ในการโยกย้ายกันยายนนี้ เพราะเกรงการเมืองจะเข้าแทรก โดยเฉพาะเมื่อบิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม นั้น ส่อแววจะร่วมเลือกแม่ทัพฟ้าคนใหม่
เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า เขาวางตัวบิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. น้องรัก ตท.13 ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. คนต่อไป
แต่ก็มีข่าวแรงว่า พล.อ.อ.สุกำพล และนายทหารอากาศ ตท.10 ต่างหันไปหนุนบิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยะฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. นักบินประจำตัวป๋าเปรม และสายอำนาจเก่า รสช. ลูกน้องบิ๊กเต้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล อดีต ผบ.ทอ. ที่ยังเปี่ยมบารมี ให้ข้ามกลับมาเป็น ผบ.ทอ.
แต่ใช่ว่า พล.อ.อ.สุกำพล และ ตท.10 จะรักใคร่สนิทสนมกับ พล.อ.อ.บุญยะฤทธิ์ แต่เพราะพวกเขาไม่ต้องการให้ทีมคณะปฏิวัติเก่าหรือ พวก คมช. ได้วางทายาทอำนาจยึดกองทัพอากาศต่อ เนื่องจาก พล.อ.อ.ประจิน ถูกมองว่าเป็นทายาทอำนาจ คมช. เพราะเป็นน้องรักของบิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก อดีต ผบ.ทอ. แกนนำปฏิวัติ ที่ตอนนี้เป็นองคมนตรี และ พล.อ.อ.อิทธพร ที่ถือเป็นสายอำนาจเดียวกัน
พล.อ.อ.บุญยะฤทธิ์ จึงกลายเป็นตัวเลือกที่มีอยู่ อีกทั้งเหลืออายุราชการ 2 ปี และมีความชอบธรรม ตรงที่ถูกเตะจาก ผช.ผบ.ทอ. ไปเป็น รอง ผบ.สส. เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.อ.ประจิน ขยับจาก เสธ.ทอ. ขึ้น ผช.ผบ.ทอ. ในโยกย้ายใหญ่ที่ผ่านมา
แต่เกิดกระแสต้านใน ทอ. ขึ้น เพราะเกรงว่าหาก พล.อ.อ.บุญยะฤทธิ์ มาเป็น ผบ.ทอ. จะมีการล้างบาง จัดวางตัวในทัพฟ้ากันใหม่ เนื่องจาก พล.อ.อ.อิทธพร มีการวางตัวทายาทอำนาจไว้เรียบร้อยหมดแล้ว โดยเฉพาะการดัน ตท.13 ขึ้นมารองรับ พล.อ.อ.ประจิน
"เป็นทหารอากาศ มาเป็น รมว.กลาโหม แล้วทำอะไรใน ทอ. ไม่ได้เลย แล้วจะมาเป็นทำไม ผมต้องคุยกับเฟื่องเขาแน่" บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว
นี่จึงเป็นเหตุให้ พล.อ.อ.อิทธพร ต้องสงบปากสงบคำ พร้อมๆ กับหน้าเครียดไม่ต่างจาก พล.อ.อ.ประจิน ที่ก็เก็บเนื้อเก็บตัว และเลี่ยงที่จะออกงานต่างๆ โดยเฉพาะงานที่จะต้องเผชิญหน้ากับ พล.อ.อ.สุกำพล
"เอาไว้รอดูสถานการณ์ก่อน ใกล้ๆ เกษียณ ตอนนี้แค่ติดตามดูสถานการณ์บ้านเมือง ที่ผมอยากเกษียณไปอย่างสงบๆ ไม่อยากให้มีเรื่องวุ่นอีก เพราะเป็น ผบ.ทอ. มาตลอด 4 ปี ก็มีวิกฤติเกิดขึ้นตลอด" พล.อ.อ.อิทธพร กล่าว
แม้โดยภาพที่ออกมา พล.อ.อ.สุกำพล กับ พล.อ.อ.อิทธพร จะพูดคุยกันดี แต่ในหัวใจของทั้งคู่แล้วไม่กล้าที่จะสบตากันแบบเต็มที่ เหมือนกับจำเป็นที่ต้องคุยกัน ทำงานด้วยกัน แต่ในหัวใจไม่ได้มีความรักให้แก่กัน
แม้ พล.อ.อ.สุกำพล บอกว่า ยึดปรองดอง มาเป็น รมว.กลาโหม ก็ไม่ได้แตะต้องโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพคนไหน แม้แต่ ผบ.ทอ. ก็ตาม แต่เขาก็ไม่อาจทำใจให้รักชอบ พล.อ.อ.อิทธพร ที่เป็นน้องรักของบิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก อดีต ผบ.ทอ. และองคมนตรี ที่เป็นแกนนำปฏิวัติ ดับฝันบนเก้าอี้ ผบ.ทอ. ของเขาไปได้
ท่ามกลางเสียงสวดภาวนาให้การปรับ ครม. ครั้งหน้านี้ พล.อ.อ.สุกำพล หลุดจากเก้าอี้ รมว.กลาโหม ดังสนั่นทัพฟ้า เพื่อไม่ให้มาแทรกการตั้ง ผบ.ทอ.คนใหม่ แม้จะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควบ รมว.กลาโหม ด้วย ก็ยังรับไหว
แต่หารู้ไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เองก็ไม่ค่อยประทับใจกับบทบาทของ พล.อ.อ.อิทธพร เท่าใดนัก ตั้งแต่เรื่องส่งเครื่องบินเอฟไปสกัดกั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จนมาถึงน้ำท่วมใหญ่ ทอ. เสียหายหมื่นล้าน จะเห็นได้ว่าเธอพยายามให้ ทอ. ตัดลดงบฯ และบางส่วนให้ใช้งบฯ ทอ. ซ่อมเอง
แม้ พล.อ.อ.สุกำพล จะให้น้ำหนักและโอกาสในการควบ รมว.กลาโหม ของ นายกรัฐมนตรี น้อยแค่หนึ่งในร้อย หรือหนึ่งในล้าน เท่านั้นก็ตาม แต่เขาก็เริ่มหวั่นไหวกับเก้าอี้ สนามไชย 1 ที่ไม่ค่อยมั่นคง เพราะนอกจากมีเพื่อน ตท.10 และทหารแตงโมหลายคน หายใจรดต้นคอรอคิวนั่งแทนอยู่แล้ว ยังอาจถูกน้องปูดึงไปนั่งควบอีกด้วย
แม้ว่าที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะทำงานกับ ผบ.เหล่าทัพ ได้ดี โดยเฉพาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ และลุยไปเยี่ยมหน่วยทหาร ถึงภาคสนามทุกเหล่าทัพ มีประเพณีทานข้าวกับ ผบ.เหล่าทัพทุก 2 เดือน นั่งหัวโต๊ะหรือเดินนำ ผบ.เหล่าทัพ และขุนทหาร อย่างสง่างามราว หงส์บินเหนือหมู่มังกร ก็ตาม
แต่ลึกๆ แล้ว ผบ.เหล่าทัพ ไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีควบกลาโหม
ไม่ใช่เพราะรังเกียจนามสกุลชินวัตร หรือเพราะเป็นผู้หญิง แต่เพราะเห็นว่า แค่งานของนายกรัฐมนตรี ก็หนักหนามากพอแล้ว อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีพื้นความรู้ด้านการทหารและความมั่นคงมากนัก แม้ว่าจะตั้ง รมช.กลาโหม ก็ตาม
เพราะยิ่งหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควบ รมว.กลาโหม แล้วมีการตั้ง รมช.กลาโหม ไม่ใช่แค่ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มคะแนนเสียงในการโหวต ตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ให้ฝ่ายการเมืองมากขึ้นอีก หากต้องโหวตในการเลือก ผบ.เหล่าทัพ ในการโยกย้ายใหญ่กันยายนนี้ ที่มีทั้งปลัดกลาโหม ผบ.ทอ. และห้าเสือแต่ละเหล่าทัพอีกหลายตำแหน่ง
เพราะมีทั้ง รมว.กลาโหม 1 เสียง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม สายสีแดง อีก 1 เสียง แล้วมี รมช.กลาโหม เพิ่มมาอีก 1 เสียง รวมเป็น 3 เสียง แล้วถ้าล็อบบี้ได้คะแนนเสียง ผบ.เหล่าทัพคนใดคนหนึ่ง มาเพิ่มแค่คนเดียว ก็จะชนะ 4 ต่อ 3 โดยเฉพาะบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ที่ดูกลางๆ จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นแตงโม เพราะเหตุเป็นน้องรักของบิ๊กติ๊ด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีต ผบ.ทร. นั่นเอง
จนส่งผลให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. ต้องพยายามสร้างยูนิตี้ในหมู่ ผบ.เหล่าทัพ ให้เหนียวแน่น โดยเฉพาะการเพิ่มความสนิทสนมกับ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ที่มักจะทานอาหารร่วมกัน โทร.คุยกันทุกวัน และเดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยในต่างจังหวัด เช่นหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง (นรข.) และไปเยี่ยมหน่วยเรือปราบโจรสลัด โซมาเลีย มาด้วยกัน
ความพยายามของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ที่จะเป็น ผบ.สส. ที่เปี่ยมบารมี และเป็นที่ยอมรับของ ผบ.เหล่าทัพ นี่เอง ที่อาจส่งผลให้เขาถูกคนเสื้อแดงจับตามอง จนไปร่ำลือกันว่าจะเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ
"ผมพยายามเก็บตัวเงียบ ไม่พูดอะไร ผมก็ยังโดนอีกหรือเนี่ย" บิ๊กเจี๊ยบ เปรย
"แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องไปปฏิเสธข่าวหรือแก้ข่าวอะไร เพราะผมไม่เคยคิดอะไรอย่างที่เขาว่ากัน" พล.อ.ธนะศักดิ์ ย้ำ
เพราะในช่วงที่มีข่าวลือว่าเขาโดนเรียกตัวไปสั่งให้ปฏิวัตินั้น ก็อยู่ระหว่างการไปประชุมคณะกรรมการชายแดนระดับสูงที่มาเลเซีย กลับมาก็ไปประชุมแชงกรีล่า ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์ เรียกว่าแทบไม่ได้อยู่เมืองไทยเลย เพราะไปเยือนมิตรประเทศและประชุมต่างๆ โดยมีกำหนดจะไปเยือนบรูไนอีกเร็วๆ นี้
"เป็น ผบ.สส. จะไปนำปฏิวัติได้ยังไง" บิ๊กเจี๊ยบ กล่าวอย่างอารมณ์ดี
"ประเทศชาติต้องก้าวเดินไปข้างหน้า ผม และ ผบ.ทบ., ผบ.เหล่าทัพ คุยกันอยู่ตลอด ไม่อย่างนั้นจะไปต่อกันยังไง" พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าว
"ตอนอยู่สิงคโปร์ ตอนนั้น ผมยังได้ข่าวเลย บอกเจี๊ยบจะทำปฏิวัติ" พล.อ.อ.สุกำพล เอ่ยทักทันใดเมื่อพบหน้า พล.อ.ธนะศักดิ์ ที่ บก.กองทัพไทย
แต่ก็กลายเป็นเรื่องข่าวลือขำๆ "มีแต่คนปล่อยข่าวครับ ไม่มีใครคิดกันหรอกครับ" บิ๊กเจี๊ยบ ออกตัว
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ พล.อ.อ.สุกำพล ฟันธงว่า ไม่มีปฏิวัติ ไม่มีแม้กรุ่นกลิ่น เพราะนอกจากคำยืนยันจาก ผบ.สส. แล้ว บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ร้อนใจโทรศัพท์ชี้แจงกับบิ๊กโอ๋ด้วยตนเอง หลังจากที่ข่าวสะพัด ในวันที่เขาเรียกประชุม ผบ.หน่วยขึ้นตรงทั่วประเทศ และผู้บังคับกองพันทั่วประเทศ หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี เอง ก็สงสัยโทรศัพท์มาสอบถาม
การเปิดใจของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อ.สุกำพล ไม่แตกต่างจากที่เขาพูดกับนายกรัฐมนตรีหญิง เท่าใดนัก
"ผบ.ทบ.โทร.มาคุยกับผม บอกว่าพี่ ตอนนี้มีข่าวลือเยอะเหลือเกินว่าทหารจะปฏิวัติ เตรียมการที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในใจผมไม่มีอย่างข่าวที่ลือกัน ประยุทธ์ บอกว่า ถ้าผมสงสัยอะไรเรื่องปฏิวัติก็ให้โทร.มาถามได้ แต่ผมบอกว่าจะโทร.ไปทำไมในเมื่อไม่มีอะไร" พล.อ.อ.สุกำพล เผยคำพูดบิ๊กตู่ ที่ทำให้เขาเชื่อ
"ผมเชื่อว่าทหารไม่ทำแล้ว จะทำไปเพื่ออะไร เพื่อเปลี่ยนคนขึ้นมาบริหารประเทศหรือ ก็มีแค่ 2 ขั้ว ทำแล้วเอาพรรคประชาธิปัตย์จะขึ้นมาหรือ พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำงานกับพรรค ปชป. ตอนเป็นรัฐบาลมาแล้ว รู้ดีว่าเป็นยังไง เขาเป็นคนเก่ง เขารู้ว่าอะไรที่เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง" พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว
พร้อมกับความเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า "ผบ.ทบ. ก็โดนคนด่าเละเหมือนกัน"
แต่ข่าวลือปฏิวัติครั้งนี้ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หวั่นไหวไม่น้อย ถึงขั้นที่ต้องโทรศัพท์สอบถาม พล.อ.อ.สุกำพล เป็นระยะๆ อาจเพราะเกรงว่า พล.อ.อ.สุกำพล จะเจอกลยุทธ์ ลับ ลวง พราง ขั้นเทพ แม้ว่าทั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ยืนยันไม่ปฏิวัติ ก็ตาม
"ใครจะมาหลอกผมได้ ผมเองก็มีข้อมูลของผมเองด้วย มีทีมงานคอยตรวจสอบอยู่ ไม่ต้องห่วง" บิ๊กโอ๋ ยันไม่ซ้ำรอย บิ๊กแอ๊ด พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหม เมื่อครั้งถูกบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในเวลานั้นหลอก จนปฏิวัติสำเร็จ
"ทหารมีบทเรียนมาเยอะแล้ว แม้แต่ พล.อ.สนธิ ก็ยังกลับใจมาช่วยแก้ปัญหาที่ทำผิดพลาดไปเลย เมื่อก่อนผมเรียก ไอ้บัง แต่ตอนนี้ผมเรียก ท่าน เพราะเข้าใจแล้ว ชื่นชมคนที่ทำผิดแล้วมาแก้ไข" พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว
ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เอง ก็ระวังตัวมากขึ้น ทั้งในการให้สัมภาษณ์ หรือการพูดในที่ประชุม จนไม่ให้พูดเรื่องการเมืองในที่ประชุม ทบ. วันๆ มีแต่ประชุมเรื่องการขุดคลอง และเตรียมรับน้ำท่วม เพราะรู้ว่าหากพูดอะไรออกไปพาดพิงรัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง ก็มักจะไปเข้าหูนักข่าวเสมอ
อีกทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ ก็ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของคนเสื้อแดงด้วย เพราะมักพาดพิงว่าเขามีแผนจะปฏิวัติอยู่เสมอๆ ในฐานะที่เป็น มันสมองของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องพยายามลดบทบาท แม้แต่ความเคลื่อนไหวใน ทบ. ที่ก็ไม่อาจหลุดรอดสายตาของบรรดาทหารแตงโม
หรืออาจเรียกได้ว่า เวลานี้ ตท.12 กำลังเป็นเป้า เพราะทั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ ก็ล้วนเป็นเพื่อน ตท.12 ด้วยกัน แถมทั้งในรุ่นก็ครองเก้าอี้ใหญ่ใน 3 เหล่าทัพไม่น้อย
รวมทั้งแกนนำ ตท.12 อย่าง พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ลูกป๋าสุดเลิฟ ที่ถูกคนเสื้อแดงจับตามอง ในฐานะแกนนำฝ่ายอำมาตย์และเสื้อเหลือง เพราะมักมีรายงานถึงความเคลื่อนไหวในบ้านหลังเล็ก ในบ้านสี่เสาเทเวศร์ อยู่เสมอๆ โดยเฉพาะการต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากมองว่ามีการสอดไส้ ทั้งการใช้ระบบรัฐสภาแต่กึ่งประธานาธิบดี และการลดพระราชอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกา จากที่หากทูลเกล้าฯ แล้วไม่โปรดเกล้าฯ ลงมาใน 90 วัน ก็สามารถเสนอร่างนั้นให้นายกรัฐมนตรี ลงนาม ภายใน 30 วันได้ โดยจะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แจกจ่ายประชาชนให้รู้เท่าทัน
จนทำให้เด็จพี่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย อ้างถึง "พลเรือเอก พ." ที่เป็นแกนนำในการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือตอบโต้ นอกจากเงียบ
ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้แกนนำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย บางคน หวาดระแวงว่า ภาพดีๆ ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก่อนหน้านี้ เป็นแค่การแสดงละคร
แต่บางส่วนก็มองว่า ป๋าไม่เกี่ยว อาจเป็นความเคลื่อนไหวและความคิดส่วนตัวของนายทหารลูกป๋าเหล่านี้ เท่านั้น
เพราะเวลานี้ บ้านใหญ่สี่เสาฯ ยังคงมีเสียงเปียโนและเสียงครวญเพลงของป๋าให้ได้ยินตลอดทั้งวันและทุกวัน ราวกับไม่สนใจการเมืองที่แสนวุ่นวาย นอกรั้วบ้านนั่น
ยกเว้นว่าเป็น ลับ ลวง พราง ขั้นเทพ เท่านั้น
+++
ล้มกระดานโกงสอบตำรวจ "เพรียวพันธ์" โชว์ภาวะ "ผู้นำ" ตั้ง 4 ชุด "ล้างบาง-ล้อมคอก"
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 99
การตัดสินใจยกเลิกการสอบรับบุคคลภายนอก เป็นตำรวจชั้นประทวน 10,000 อัตรา อย่างฉับไว ของ "บิ๊กอ๊อบ" พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หลังพบการทุจริตสอบอย่างเอิกเกริก โดยยึดของกลางอุปกรณ์การโกงได้จำนวนมาก
ย่อมสะท้อน "ภาวะผู้นำ" ที่ตัดสินใจเร็วต่อปัญหาวิกฤตได้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งการแสดงความเป็นผู้นำลักษณะเช่นนี้ ไม่ค่อยพบในระดับบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ภายหลังคณะกรรมการคุมสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกวุฒิ ม.6 หรือเทียบเท่า เข้าเป็นตำรวจชั้นประทวน ติดยศ "ส.ต.ต." 10,000 อัตรา และฝ่ายสืบสวนของหน่วยสอบมากกว่า 4 แห่งใน 13 แห่ง พบหลักฐานการโกงสอบ ซิม ตัวรับสัญญาณสั่น ที่ผู้เข้าสอบสอดซุกตามใต้ร่มผ้า จุดซ่อนเร้น เข้าห้องสอบ โดยตั้งใจจะผ่านด่านตรวจเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ และเครื่องตรวจจับโลหะเข้าห้องสอบ เมื่อเย็นวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา
รุ่งขึ้น พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา (ผบช.ศ.) นำหลักฐานเข้ารายงานตรงต่อ ผบ.ตร. วันถัดมาภายหลังประชุมร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง "บิ๊กอ๊อบ" ตัดสินใจแบบ "ทุบโต๊ะ" ประกาศยกเลิกการสอบอย่างไม่ต้องเงื้อง่าราคาแพง ในเมื่อหลักฐานทุจริตสอบ ชัด และจำนวนมาก
เฉพาะที่จับได้คาหนังคาเขาก็มากกว่า 200 รายแล้ว
มีรายงานจากโต๊ะประชุมในบ่ายวันที่ 11 มิถุนายน ว่ามีเสียงคัดค้านจากหน่วยแม่งานว่า ไม่ควรยกเลิก แต่ควรสกัดเอาคนโกงออกมาตีตราขึ้นบัญชีดำ ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณและอื่นๆ แล้วเดินหน้าประกาศผลสอบ
แต่กระนั้น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็ตัดสินใจ ประกาศยกเลิกการสอบทันที ด้วยเหตุผลที่ว่า การคัดเลือกคนเข้ามาเป็นตำรวจ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ควรใสสะอาดไร้มลทิน
ขณะเดียวกัน "บิ๊กอ๊อบ" สั่งเดินหน้าคุ้ย ล้างบางเครือข่ายโกงสอบแบบขุดรากถอนโคน โดยระบุด้วยว่า ขบวนการนี้เป็นเครือข่ายใหญ่ ซึ่งปฏิบัติการลูบคม ใช้ "วิธีโจร" สอบเข้า "ตำรวจ" ครั้งนี้ เป็นฝีมือของขบวนการเดียวที่มีทีมเวิร์กระดับหัวกะทิ มีติวเตอร์กวดวิชาร่วมสอนกลโกง
ทั้งนี้ ผบ.ตร. แต่งตั้งให้ "บิ๊กปาน" พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. ด้านป้องกันปราบปราม เป็นผู้ควบคุมการสืบสวนสอบสวน คุมทีมกองบังคับการสืบสวนทุกกองบัญชาการ สืบหาช่องโหว่ในกระบวนการสอบ พร้อมสืบหาโยงใยขบวนการโกงสอบ
แต่งตั้งให้ พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมกับสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กองตำรวจสื่อสาร ตรวจสอบด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการทุจริตสอบ เพื่อหาคำตอบศึกษาการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่คนร้ายนำมาใช้
แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง จเรตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและตั้งกรรมการสอบสวนดำเนินการทางวินัยในส่วนของตำรวจ ว่าผิดพลาด บกพร่อง มีรอยรั่วในกระบวนการใดหรือไม่
หรือร้ายกว่านั้นหากตำรวจรายใด "เกลือเป็นหนอน" ร่วมวงแก๊งทุจริตเสียเอง ก็ต้องลงดาบเฉียบขาด
และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ไปดำเนินการคิดหามาตราการรองรับการจัดสอบครั้งต่อไป เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอย
ทว่าสังคมกำลังจับจ้องว่า การจับทุจริตสอบ ผบ.หมู่ ครั้งนี้ จะนำมาสู่การขุดรากถอนโคน ขบวนการโกงสอบได้ ดังที่บิ๊ก ตร. ออกมาประสานเสียงกร้าวหรือไม่?!
มีรายงานระบุว่า ขบวนการโกงสอบนี้ เคยทำสำเร็จมาหลายสนาม ทั้งการสอบข้าราชการพลเรือน รัฐวิสาหกิจ พนักงานสายการบิน หรือกระทั่งการสอบวัดความสามารถทางภาษา ฯลฯ โดยต้องจับตาว่าการทำงานของทีมสืบสวนสอบสวนชั้นครู ของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะกระชากหน้ากาก ลากมิจฉาชีพเหล่านี้ มาดำเนินคดีได้หรือไม่
ทั้งนี้ หากเป็นดังว่า ความเสียหายจากการกระทำของแก๊งโกงสอบนี้สร้างความเสียหายแก่รัฐ อย่างมิอาจประเมินค่าได้ นั่นเพราะได้ทำให้ผู้ที่สนับสนุนพฤติการณ์โจร หรือบางคนมีพฤติกรรมโจรเสียเอง ได้เข้ารับข้าราชการ ขณะเดียวกัน ถือว่าทำให้ประชาชนต้องว่าจ้างคนด้อยคุณภาพโดยไม่รู้ตัว
โฟกัสเฉพาะการสอบเข้าเป็นข้าราชการตำรวจในอดีต เคยพบการทุจริจมาหลายครั้ง เท่าที่ยังพอจำกันได้ ในปี 2553 ตอนนั้น พล.ต.ท.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็น ผบช.ศ. พบการทุจริตสอบในการคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวน เพื่อแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร
จับทุจริตตำรวจที่ใช้วิธีโจร หวังติดดาวทางลัดได้ 11 นาย ในสนามสอบกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (บช.ภ.4) และอีกเกือบ 20 นาย ในสนามสอบ บช.ภ.8 และ บช.ภ.9
ครั้งนั้น พบการซ่อนอุปกรณ์ที่เป็นลักษณะของเครื่องรับสัญญาณ โดยซ่อนไว้ในกางเกงชั้นใน และจับกุมผู้ส่งสัญญาณได้ คล้ายกับครั้งนี้
อีกเหตุการณ์ วันที่ 10 มิถุนายน ปี 2554 ในการสอบบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิปริญญาตรีเข้าเป็นตำรวจชั้นประทวน ตำรวจภูธรภาค 8 ซ้อนแผน จับกุม เจ้าของสถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่ง หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มาติดสินบนนายตำรวจยศ "พ.ต.อ." ให้ช่วยขโมยข้อสอบ แลกกับเงิน 8 ล้านบาท
วิธีการคือ คนร้ายเสนอให้นายตำรวจคนนี้ขโมยข้อสอบออกมาก่อนเวลาสอบ 2 ชั่วโมง โดยคนร้ายจะรอที่รถ และจะส่งแฟกซ์ข้อสอบไปให้ทีมงานทำหน้าที่เฉลย ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที จากนั้นทีมเฉลยจะไปติวผู้เข้าสอบ ใช้เวลา 30 นาที สำหรับการติวและจำก่อนเข้าสอบ ซึ่งวิธีการนี้ หากทำสำเร็จ และเจ้าหน้าที่คุมสอบเล่นด้วย ก็ไม่มีหลักฐานเอาผิดอะไรกับผู้ทุจริต
โดยผู้สมัครสอบจะต้องจ่ายเงินค่าโกง 300,000 - 400,000 บาท เพื่อเข้าเป็นข้าราชการตำรวจ
การโกงสอบที่จับได้ 2 ครั้งที่ผ่านมา ปี 2553 ใช้เวลาสอบสวนกันอยู่ร่วมปี เงื้อง่าราคาแพงอยู่นาน ท้ายที่สุดก็ประกาศผลสอบ
ขณะที่ปี 2554 เมื่อคนร้ายไม่ทันได้ทุจริต การสอบก็ดำเนินต่อไป โดยไม่อาจล่วงรู้ว่ามี "คนโกง" หลุดรอดมาสวมเครื่องแบบตำรวจบ้างหรือไม่ มากน้อยเพียงใด?!
การสอบคัดเลือกผู้สมัครเป็นข้าราชการตำรวจ ครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องหามาตรการล้อมคอก เพื่อไม่ให้เครื่องแบบสีกากีด่างพร้อยไปมากกว่านี้
หากกล่าวกันตามความจริง กลโกงที่จับพบทุจริตครั้งนี้และหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงจับโกงได้ในกระบวนการสอบข้อเขียน ซึ่งเป็นปราการคัดเลือกแรกๆ เท่านั้น ยังไม่นับรวมขั้นสอบสัมภาษณ์ ขั้นสอบสมรรถภาพร่างกาย หรือตรวจร่างกาย อีกหลายขั้นตอน ที่มักมีเสียงครหาแทบทุกครั้งถึงการเล่นเส้นเล่นสายให้คนมีนาย มีพวก ผ่านฉลุย สอบได้อย่างแสนง่ายดาย
ไม่ต้องพูดถึงการรับตำรวจตามโครงการพิเศษ หลักสูตรพิเศษ เป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่โครงการเหล่านี้มีไว้เปิดรับ "คนพิเศษ" นามสกุลใหญ่ สายดี ดีกรีไม่ตรง ได้มียศมีศักดิ์ติดดาวมีตำแหน่งใหญ่
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการคัดเลือก "คน" คุณภาพไม่ตรง ศักยภาพไม่ถึง มาสวมเครื่องแบบ บั่นทอนกำลังใจตำรวจน้ำดี และบั่นทอนประสิทธิภาพองค์กรสีกากีมานาน
วิกฤตในการพบการโกงสอบเข้าตำรวจครั้งมโหฬารครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะขุดรากถอนโคนขบวนการโกงสอบ เป็นโอกาสดีที่จะล้างภาพระบบการคัดคนเป็นตำรวจที่เคยมีข้อครหา เป็นโอกาสดีที่จะสร้างระบบป้องกันการโกงที่เข้มแข็ง
นั่นเพราะภารกิจเลือกคนที่เหมาะสมเข้ามาเป็น "ตำรวจ" คือภารกิจ "พิทักษ์" ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติพึงทำ !?!
.