.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปรองดอง บนศพเกลื่อนกลาด
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
ผมขอเดาว่า พ.ร.บ.ปรองดองผ่านสภาแน่ โดยร่างของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นร่างหลัก อีกทั้งไม่เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งใหญ่ในสังคม หรือยังไม่เป็นเหตุให้เกิดในตอนนี้หรอก
หากผมเดาถูก ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไร ใครที่ติดตามสัญญาณทางการเมืองมา ก็คงเดาได้อย่างเดียวกัน พ.ร.บ.ปรองดองที่มุ่งจะเอาคุณทักษิณกลับประเทศ จะเกิดขึ้นโดยไม่มีการเจรจาต้าอวยกันก่อน อาศัยแต่เสียงข้างมากในสภาเพียงอย่างเดียว ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
เขาเจรจาต่อรองกันที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่มีสัญญาณที่ใครๆ ก็เห็นว่า ได้ตกลงกันถึงระดับที่พอใจแก่ทั้งสองฝ่ายแล้ว จู่ๆ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะไปงานเลี้ยงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จัดขึ้น แสดงไมตรีตอบสนองกันให้สื่อได้เห็น จนแม้แต่เปิดบ้านต้อนรับการเข้าอวยพรในวันสงกรานต์แก่นายกฯยิ่งลักษณ์ และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังพูดชมเชยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นคนดี ย่อมจะร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ทางฝ่ายเสื้อแดงก็หยุดโจมตีพลเอกเปรม แกนนำบางคนถึงกับพูดยกย่อง บางคนไม่ยกย่อง แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าเกมส์เปลี่ยนไปแล้ว วาทกรรมอำมาตย์-ไพร่ค่อนข้างเลือนรางลง
ในข้อตกลงกันนี้จะมีรายละเอียดอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่อยากเดาว่าคงต้องมีอย่างน้อยคือ
1/ คุณทักษิณกลับประเทศได้ ภาระทางคดีที่ดินรัชดานั้น จะได้รับการนิรโทษกรรม ส่วนคดีอื่นๆ ต้องว่ากันไปในแต่ละคดี ส่วนหนึ่งคงระงับการฟ้องร้อง (เพราะการถูกฟ้องร้องเป็นการกระทำที่เนื่องกับการยึดอำนาจ ในวันที่ 19 ก.ย.49) แต่คุณทักษิณจะไม่กลับเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก ตรงกับที่คุณทักษิณได้ให้สัมภาษณ์เองก่อนหน้านี้
ข้อตกลงนี้ อย่างน้อยก็ทำความมั่นใจแก่ผู้ที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณทักษิณว่า จะไม่ถูกปลดจากตำแหน่ง อย่างน้อยก็โดยยังไม่ทันตั้งตัว ส่วนตำแหน่งที่ได้มาเพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น เอาไว้ต่อสู้กันใน ส.ส.ร.ต่อไปข้างหน้า
2/ ในส่วนข้าราชการประจำที่สำคัญๆ และเป็นกำลังหลักของฝ่ายปฏิปักษ์คุณทักษิณ น่าจะทำความเข้าใจกันแล้วว่า จะไม่โยกย้ายจนกว่าจะครบอายุเกษียณอายุ
3/ เมื่อเลิกแล้วต่อคุณทักษิณ ก็หมายความว่าต้องเลิกแล้วต่อฝ่ายตรงข้ามคุณทักษิณด้วย โดยเฉพาะทหารที่สังหารหมู่ประชาชน รวมทั้งฝ่ายพันธมิตร ที่ได้ละเมิดกฎหมายมาก่อน ข้อนี้เห็นได้ชัดในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอยู่แล้ว
4/ ฝ่ายคุณทักษิณคงสัญญาว่า จะไม่ทำอะไรที่กระทบต่อโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่เดิมในประเทศไทย โดยอีกฝ่ายหนึ่งก็จะยุติการตามล้างตามผลาญฝ่ายคุณทักษิณในทางกฎหมาย (เช่น ละเมิดกฎหมายอาญา ม.112) ด้วย แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงคนอื่นซึ่งไม่ใช่คู่กรณี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังมีหน้าที่ปราบปรามผู้ที่อาจสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่เดิมนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่น่าหวาดระแวงว่าผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์, ม.112 หรือทำหนังทำละครที่ดูจะล้ำเส้น พวกนี้ต้องกำราบเอาไว้
เป็นอันว่า "ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป" เพราะชนชั้นนำทั้งสองกลุ่มสามารถตกลงกันได้ในกติกาของความขัดแย้ง
อันที่จริง ชนชั้นนำไทยเคยขัดแย้งกันตลอดมา แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ระดับหนึ่งเสมอ (หรือเกือบเสมอ หากไม่นับกรณีท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์) ที่เกิดการนองเลือดเป็นครั้งคราว ก็เพราะมีคนหน้าใหม่ซึ่งไม่ได้อยู่วงในของชนชั้นนำเสนอหน้าเข้ามาร่วมวง จึงต้องใช้วิธีรุนแรงซึ่งทำให้เกี้ยเซี้ยกันยาก
คนหน้าใหม่เหล่านี้ ที่จริงจะว่าเข้ามาเองก็ไม่เชิงทีเดียวนัก ส่วนหนึ่งของเขาได้รับการเชื้อเชิญให้เข้ามาโดยบางกลุ่มของชนชั้นนำ ดังเช่นการลุกฮือขึ้นของประชาชนในวันที่ 14 ต.ค.2516 แต่เครื่องมือที่ใช้จนสำเร็จภารกิจแล้ว ควรกลับไปอยู่ในกล่อง ไม่ใช่มีเสียงของตัวเอง หรือไปดึงคนหน้าใหม่อื่นๆ เข้ามาในวงมากขึ้น ฉะนั้น จึงต้องเกิด 6 ตุลา ให้น่าสะพรึงกลัวเสียยิ่งกว่า 14 ตุลาเสียอีก เช่นเดียวกับพฤษฎามหาโหดใน 2535
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเกี้ยเซี้ยของชนชั้นนำเริ่มจะควบคุมความขัดแย้งได้ยากขึ้น เพราะคนหน้าใหม่ที่ถูกดึงเข้ามาร่วมวงในการต่อสู้ (หรือเข้ามาเองก็ตาม) เริ่มมีจำนวนมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นคือหลากหลายขึ้นด้วย
ดังนั้น การเกี้ยเซี้ยครั้งนี้จึงต้องข้าม "ศพ" คนจำนวนมาก ทั้งที่หายใจไม่ได้แล้ว และศพที่ยังหายใจได้อยู่
92 ศพ (ข้อมูลบางแห่งว่าในปัจจุบันมีถึง 102 ศพเข้าไปแล้ว) ที่เสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของรัฐใน 2553 ถูกข้ามไปหน้าตาเฉยอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ยังผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 ก็ถูกข้ามไปเหมือนกัน
แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งยังไม่ได้เป็นศพ ก็ถูกข้ามไปเหมือนกัน แม้พยายามดิ้นรนขัดขวางไม่ให้ข้าม เขาก็ข้ามไปจนได้
พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลมา 2 ปี และโอกาสกู้หนี้อีกก้อนมหึมา ก็ยังอุตส่าห์แพ้การเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ถูกข้ามไปเหมือนกัน เพราะถูกพิจารณาว่าเป็น "ศพ" ในทางการเมืองไปเสียแล้ว ยิ่งเล่นการเมืองแบบโต้วาทีเช่นนี้ ก็คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้น (หากจะมีโอกาสฟื้น) และถึงจะเปลี่ยนการแสดงเป็นปาหี่ ก็หาทำให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่
แม้กระนั้น ศพทั้งสองก็มิได้ถูกกระทำย่ำยีอนาจาร เพราะ พ.ร.บ.ปรองดองได้นิรโทษกรรมไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
สมาชิก นปช.ที่ต่อต้านอำนาจอันมาจากการรัฐประหาร และบางคนก็อาจสนับสนุนคุณทักษิณด้วย อย่างน้อยก็เชิงสัญลักษณ์ นี่ก็เป็น "ศพ" ที่ถูกข้ามไปจาก พ.ร.บ.ปรองดองเช่นกัน พวกเขาไม่ได้เสี่ยงชีวิตสู้เพื่อช่วยคุณทักษิณ แต่สู้เพื่อให้คุณทักษิณได้รับความยุติธรรม อย่างที่พวกเขาอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพความเป็นธรรม หากคุณทักษิณทำผิดกฎหมาย คุณทักษิณก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมาย แต่กระบวนการทางกฎหมายที่จะเอาผิดกับคุณทักษิณ ต้องโปร่งใส, เป็นธรรม และให้โอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่เท่าที่กฎหมายซึ่งยุติธรรม (อันเปรียบเทียบได้กับนานาอารยประเทศ) มอบให้
โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนปฏิรูปอะไรในโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมเลย คุณทักษิณก็จะเดินข้ามศพคนจำนวนมากกลับบ้าน ดังนั้น พวกเขาจึงเป็น "ศพ" อีกชนิดหนึ่งที่คุณทักษิณต้องก้าวข้าม (แล้วลืมพวกมันไป) เหมือนกัน
คนพวกนี้จะมีสักเท่าไร ผมตอบไม่ได้ แต่รู้แน่ว่ามีจำนวนมาก (อย่างน้อยก็มากกว่า"ศพ"พันธมิตรไม่เกิน 5,000 คนที่ชนชั้นนำได้ก้าวข้ามไปแล้ว) ผมประเมินจากปัจจัยสองสามอย่าง อาจารย์ธิดา ประธาน นปช.ในปัจจุบัน ซึ่งมีสามีเป็น ส.ส.สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้แสดงจุดยืนให้เห็นว่า ไม่อาจเห็นด้วยกับข้อเสนอนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองได้ วิทยุเสื้อแดงในจังหวัดที่ผมอยู่ระดมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.เกือบ 24 ชั่วโมง เสียงสะท้อนของคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ออกมาในสื่อออนไลน์ และในการประชุมสัมมนาตามที่ต่างๆ รวมทั้งการกลับลำของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ถ้าคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก ก็ไม่ต้องมีปฏิกิริยาเช่นนี้
แต่คนพวกนี้ ทั้งที่อยู่ในพันธมิตร, ใน นปช. รวมกับคนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง เพราะคิดว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จะเป็นศพให้ข้ามไปเฉยๆ กระนั้นหรือ
ขออนุญาตใช้สำนวนของคุณ "ใบตองแห้ง" ที่ว่า คนเหล่านี้เป็นยักษ์ที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาเสียแล้ว (คงจะกลับลงขวดหรือตะเกียงอีกได้ยาก)
แต่ยักษ์ไม่ได้ตื่นเพียงเพราะเหตุการณ์ชุมนุมใน 6-7 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าพวกเขาถูกปลุกให้ตื่นจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดในเมืองไทยมา กว่า 20 ปีแล้ว จากคนที่ไม่อินังขังขอบทางการเมือง กลายเป็นคนที่กระตือรือร้นจะมีส่วนร่วมทางการเมือง และเมื่อไม่มีพื้นที่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมได้มากกว่าหีบบัตรเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องใช้ท้องถนน
ผมไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่า การเคลื่อนไหวของยักษ์เหลืองยักษ์แดงเหล่านี้มีชนชั้นนำบางกลุ่มสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่พอหรอกครับ ไม่ว่าจะสนับสนุนอย่างไร ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยบางอย่างที่ช่วยให้เขาเลือกจะตอบสนองต่อการสนับสนุนนั้นด้วย ชนชั้นนำที่คิดว่า เมื่อตนถอนการสนับสนุน ยักษ์ก็ต้องกลับลงขวดหรือลงตะเกียงไปเอง ออกจะคิดตื้นและสั้นไปหน่อย
ผมเห็นด้วยกับคุณ "ใบตองแห้ง" ว่า ยักษ์ไม่กลับลงไปแน่ ไม่ว่าแกนนำจะถอดสีไปอย่างไร เสื้อแดงและเหลืองจำนวนหนึ่ง ย่อมกระเสือกกระสนที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองของตนเองต่อไปอย่างแน่นอน แม้อาจต้องเปลี่ยนสีเสื้อไปตามสถานการณ์ก็ตาม
ร่าง พ.ร.บ.นี้จึงไม่นำไปสู่อะไรสักอย่างเดียว นอกจากเอาคุณทักษิณกลับบ้าน (อย่างสง่างามไม่มากไปกว่าการหลบเข้าเมืองสักเท่าไรนัก) ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ต่อไป แต่เมื่อขาดการสนับสนุนของชนชั้นนำ ก็อาจไม่บานปลายถึงขนาดยึดทำเนียบ-สนามบิน หรือยึดสี่แยกราชประสงค์ ที่สำคัญก็คือร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ และกติกาใหม่ สำหรับเปิดให้ความขัดแย้งสามารถดำเนินไปได้ โดยไม่กระทบถึงสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
ชนชั้นนำเกี้ยเซี้ยกันได้อีกครั้งหนึ่ง บนซาก"ศพ"นานาชนิดอย่างเคย แต่ครั้งนี้จะไม่สามารถผัดผ่อนความขัดแย้งระดับรากฐานในสังคมได้เสียแล้ว ในที่สุด เมื่อชนชั้นนำลงมาหาประโยชน์จากความขัดแย้ง ก็จะกลับไปสู่การนองเลือดอีกครั้งหนึ่ง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย