http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-24

สายลม “ปฏิวัติซินไห่” พัดผ่านการเมืองสยาม (จากคำบรรยายของ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์)

.

สายลม "ปฏิวัติซินไห่" พัดผ่านการเมืองสยาม
จากคำบรรยายของ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ / รายงานโดย ธีรนัย จารุวัสดร์
ในคอลัมน์ ต่างประเทศ  ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 04:30 น.


ธีรนัย จารุวัสดร์ / รายงาน

นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน จะดำเนินมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลแล้ว จีนยังมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์การเมืองของไทยอย่างมหาศาลเรื่อยมาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการหลั่งไหลเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเล ไปจนถึงบทบาทของจีนต่อขบวนการลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แต่ในเวลาต่อมา ในวงการวิชาการไทย ก็มีการศึกษา "ที่ทาง" ของจีนในประวัติศาสตร์ไทยเช่นกัน 
วาระครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย 24 มิถุนายน 2475 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายศึกษา มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย" ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีหัวข้อ "การปฏิวัติซินไห่และผล กระทบต่อสยาม" รวมอยู่ด้วย


ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ในเรื่องนี้

การปฏิวัติซินไห่ เป็นการลุกฮือโค่นล้มราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นผู้ปกครองชาวแมนจู และสถาปนาระบอบสาธารณรัฐจีน เมื่อปี 1911 ชาวจีนมักถือกันว่านักคิดสำคัญในการปฏิวัติคือ "ซุน ยัดเซ็น" ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวจีนถึงทุกวันนี้

ถัดมาเพียงปีเดียวก็เกิดเหตุการณ์ "กบฏร.ศ.130" ขึ้นในประเทศสยาม ซึ่งเป็นความพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลสมบูรณญาสิทธิราชย์โดยคณะทหารหนุ่ม นำโดย ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) แต่ถูกทางการสยามจับได้เสียก่อนจะลงมือจริง

ดร.วาสนา เท้าความว่า ดูเผินๆ เหมือนเหตุการณ์ ร.ศ.130 จะเป็นแรงกระเพื่อมโดยตรงจากการปฏิวัติซินไห่ ปีค.ศ.1911 แต่ในความเป็นจริง สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และกระแสชาตินิยม-ประชาธิปไตย-ต่อต้านจักรวรรดินิยม ทั่วโลกก็คงกระทบต่อผู้ก่อการร.ศ.130 เช่นกัน

นอกจากนี้ การปฏิวัติซินไห่ของจีนเอง ก็มักถูกเข้าใจผิดๆ

ดร.วาสนา มองว่า การปฏิวัติล้มราชวงศ์แมนจูนั้น มิใช่เป็นผลงานของ "จีนคณะชาติ" อันมี ซุน ยัดเซ็น เป็นผู้นำอย่างเดียว แต่เป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอำนาจท้องถิ่น สหภาพแรงงาน สมาคมอั้งยี่ในตอนใต้ของจีน และสำคัญที่สุดคือบรรดาอดีตนายทหารที่ก่อกบฏต่อระบอบจักรพรรดิแมนจู อย่างเช่น นายพลหยวน ซื่อไข่ ที่ต่อมา สถาปนาตนเองเป็นเผด็จการทหารหลังการปฏิวัติ


ประเด็นนี้สำคัญเพราะหมายความว่า อุดมการณ์หลักเบื้องหลังการโค่นล้มราชวงศ์ชิง มิใช่ "ประชาธิปไตย" เพียงอย่างเดียว แต่มีความรู้สึกต่อต้านราชวงศ์ชิงเป็นปัจจัยสำคัญด้วย 

ชาวฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจีนต่อต้านการปกครองของฮ่องเต้แมนจู เห็นได้จากบทบาทของสมาคมอั้งยี่ ซึ่งยังจงรักภักดีต่ออดีตจักรพรรดิราชวงศ์หมิงของชาวฮั่น ในการปฏิวัติซินไห่ แม้แต่ซุน ยัดเซ็น เมื่อปฏิวัติสำเร็จแล้ว ก็เดินทางไปสักการะอนุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น พร้อมกล่าวคำอุทิศให้วิญญาณของอดีตจักรพรรดิปกปักคุ้มครองชนชาติใหญ่ทั้ง 5 ของจีน 

ดังนั้น การตีความว่าปฏิวัติซินไห่เป็นการปฏิวัติบนอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเดียว จึงค่อนข้างผิดข้อเท็จจริงนั่นเอง


นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการยกย่องเชิดชู ซุน ยัดเซ็น ในฐานะบิดาการปฏิวัติซินไห่ จนกลายเป็น "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง"

ยกตัวอย่างเช่นภาพยนตร์ "1911" ที่เฉินหลงนำแสดง สร้างขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติซินไห่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากหนัง "สุริโยทัย" หรือ "นเรศวร" ของไทย คือเอาเป็นแหล่งอ้างอิงในการศึกษาประวัติศาสตร์มิได้ 



อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการปฏิวัติซินไห่จะยิ่งใหญ่หรือประสบผลสำเร็จจริงดังที่ประวัติศาสตร์สมัยนี้กล่าวอ้างหรือไม่ ความจริงก็คือ "จินตนาการ" ของการปฏิวัติซินไห่ ส่งผลกระเทือนมายังประเทศสยามอย่างมาก 
ก่อให้เกิดความตื่นเต้นและปฏิกิริยาทั้งในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยในสยาม และบรรดา "หัวก้าวหน้า" ชาวไทยอย่างผู้ก่อการ ร.ศ.130 ฝั่งหนึ่ง กับราชสำนักไทยที่หวาดระแวงว่าจะมี "เก๊กเหม็ง" กันในสยามดังเช่นในจีน อีกฝั่งหนึ่ง

ทั้งสองฝั่งต่างเผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่สำคัญคือการโต้เถียงกันผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ระหว่าง "เซียวฮุดเสง" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชาวจีนสยาม กับ "อัศวภาหุ" อันเป็นนามปากกา ของรัชกาลที่ 6 ซึ่งโดยมากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติในจีน ทั้งมีเนื้อหาหวั่นระแวงว่าชาวจีนโพ้นทะเลอาจจะกลายเป็น "มารดาการปฏิวัติซินไห่ในสยาม"

ตลกร้ายทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งคือ ชาวจีนโพ้นทะเลมิได้มีบทบาทในการปฏิวัติซินไห่โดยตรงมากนัก แม้แต่ ซุน ยัดเซ็น ก็อยู่ที่สหรัฐอเมริกาในขณะนั้น อีกทั้งการปฏิวัติยังเป็นฝีมือของการก่อกบฏในจีนเสียส่วนใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่การปฏิวัติซินไห่และชาวจีนโพ้นทะเลในสยาม กลับมีบทบาทอย่างมากต่อพัฒนาการความคิดทางการเมืองของสยามหรือไทยในเวลาต่อมา



.