.
CORIOLANUS “เช็กสเปียร์ในโลกสมัยใหม่”
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 87
กำกับการแสดง Ralph Fiennes
นำแสดง Ralph Fiennes
Gerard Butler
Brian Cox
Vanessa Redgrave
Jessica Chastain
Coriolanus อาจไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางนักว่าเป็นแทรเจดีจากปลายปากกามหากวีเอกของโลก วิลเลียม เช็กสเปียร์ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะทัศนะที่ดูจะต่อต้านประชาธิปไตยและคล้ายจะเชิดชูชนชั้นปกครองที่เป็นเผด็จการทหาร
บทละครเรื่องนี้เขียนเมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้วในรัชสมัยพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่หนึ่งแห่งอังกฤษ แต่กาลเวลาในท้องเรื่องนั้นย้อนกลับไปสู่ยุคโบราณกว่ายุคเอลิซาบีธันนับพันปี ในประติศาสตร์โรมัน
ในช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจของยุคก่อนที่โรมจะก้าวสู่การปกครองในระบอบสาธารณรัฐ โรมมีประมุขสูงสุดคือกงสุล ทรราชทาร์ควินหมดอำนาจลงไป โรมทำสงครามโรมรันกับเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนขาดแคลนให้แก่ประชาชนที่อดอยากหิวโหย เพราะคลังต้องสำรองอาหารไว้สำหรับกองทัพ
และเกิดการจลาจลเรียกร้องให้เอาอาหารในคลังมาแจกจ่ายแบ่งปันแก่ประชาชน
หนังอัพเดตท้องเรื่องจากประวัติศาสตร์โรมัน ให้กลายมาเป็นศตวรรษที่ยี่สิบ ณ "สถานที่ที่เรียกตัวเองว่าโรม" ด้วยหน้าตาของผู้คน สภาพบ้านเมืองและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังนั้นสงครามที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นสงครามแถบคาบสมุทรบอลข่าน แถวๆ บอสเนีย เฮอร์เซโกวินา ที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงปะทุขึ้นเป็นสงครามต่อเนื่องระหว่างเพื่อนบ้านอยู่นาน
คายัส มาร์เชียส (เรฟ ไฟน์ส จาก Red Dragon และจอมมารร้ายใน Harry Potter) เป็นนายทหารที่แข็งแกร่งและเก่งกาจ เขามีความภูมิใจในความเป็นชนชั้นสูงที่รักชาติ และดูแคลนชนชั้นล่างที่ไม่ได้ออกรบ ได้แต่เดินขบวนเรียกร้องเพื่อปากท้องของตัวเอง
ในช่วงที่เกิดการจลาจลภายในประเทศอยู่นั้น ก็เกิดสงครามภายนอกขึ้นจากการรุกรานของชาวโวลเชียนภายใต้การนำของ ทิลลัส อันฟิดิอัส (เจอราร์ด บัตเลอร์ จาก 300) ซึ่งเป็นคู่อริสำคัญของ คายัส มาร์เชียส
คายัส มาร์เชียส ต้องนำทัพโรมออกรบ เพื่อชิงเมืองคอริโอเลสที่ถูกรุกราน เข้าโรมรันอย่างถึงพริกถึงขิงกับอันฟิดิอัส จนเกือบจะปลิดชีพศัตรูตัวฉกาจคนนี้ได้ แต่ขณะที่ที่พวกโวลเชียนล่าทัพถอยไป ทหารโวลเชียนก็ลากเอาร่างบาดเจ็บของอันฟิดิอัสกลับไปด้วย
คายัส มาร์เชียส กลับสู่โรมในฐานะวีรบุรุษที่ได้รับการแซ่ซ้องจากการที่พิชิตข้าศึกและเอาชนะเมืองคอริโอเลสมาให้แก่โรม
เมื่อเขากลับมาโรม จึงได้รับการเสนอชื่อต่อท้ายนามเพื่อเชิดชูวีรบุรษของชาติผู้นี้ว่า "คอริโอเลนัส" ซึ่งเป็นชื่อบทละครและหนังเรื่องนี้
ด้วยวีรกรรมและความเด่นดังของเขา ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อและสนับสนุนให้เข้าดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของโรมที่กำลังจะเป็นสาธารณรัฐ ในการนี้เขาต้องได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนด้วย
แต่ในการลงประชามติเลือกตั้งเขาเป็นกงสุลนั้น คอริโอเลนัสมีวุฒิสมาชิกที่เป็นศัตรูทางการเมืองคอยปลุกปั่นกระแสมวลชนอยู่เบื้องหลัง
เพื่อขัดขวางไม่ให้คอริโอเลนัสก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุด
ด้วยความเป็นคนเลือดร้อน ทระนง หยิ่งผยองในเลือดรักชาติและเสียสละเยี่ยงวีรบุรุษของตน (ซึ่งเรียกว่า ข้อบกพร่องในลักษณะนิสัยตัวละครแทรเจดี (tragic flaw) ตามแบบแผนของบทละครประเภทแทรเจดี) ทำให้คอริโอเลนัสไม่สามารถเก็บงำความดูแคลนต่อมวลชนที่ไม่ได้ทำอะไรให้แก่ประเทศชาติ นอกจากการเรียกร้องสิทธิและสร้างความวุ่นวายภายในที่ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลง
ทัศนะรุนแรงของเขาที่โพล่งออกมากลางที่ประชุม ทำให้เขาแปรสภาพจาก "วีรุบุรุษผู้สร้างคุณงามความดีแก่บ้านเมือง" กลายเป็น "ศัตรูประชาชน" ที่ถูกโห่ขับและรุมประณาม และถูกเนรเทศออกจากบ้านเมืองตนในที่สุด
คอริโอเลนัสเร่ร่อนพเนจรไปตามลำพังอย่างเต็มไปด้วยความเคียดแค้นแสนสาหัสในโรมที่เขาเคยยอมสละชีวิตปกป้อง เขาเดินทางไปแสวงหามิตรในหมู่ศัตรู บากหน้าไปหาคู่อริเก่าแก่ของเขา คือ ทิลลัส อันฟิดิอัส จอมทัพของพวกโวลเชียน
และอาสานำทัพกลับมาโจมตีกรุงโรม ด้วยความอาฆาตและประสงค์จะแก้แค้น
ภายใต้การนำทัพของคอริโอเลนัสผู้นำทางทหารที่แกร่งกล้าและเป็นที่รักของทหารในบังคับบัญชา ทหารโวลเชียนต่างชื่นชมจงรักภักดีต่อคอริโอเลนัส จนทำให้สถานะผู้นำทัพของอันฟิดิอัสคลอนแคลนลงไปมาก
ทว่า สำหรับโรมแล้ว การผนึกกำลังของคอริโอเลนัสกับอันฟิดิอัสและมุ่งเข้าโจมตีโรมนั้น ทำให้โรมที่ขาดผู้นำทางทหารที่แข็งแกร่ง หมดหนทางต่อสู้โดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าโรมจะส่งทูตมาเจรจาเกลี้ยกล่อมขอสงบศึกอย่างไร คอริโอเลนัสก็ไม่ยอมฟังเสียง จวบจนโวลัสเนีย (วาเนสซา เรดเกรฟ) แม่ผู้ที่เขารักและเทิดทูน เวอร์จิเลีย (เจสซิกา เชสเทน) ภรรยา และลูกชายคนเดียว มาขอพบและเจรจากับเขา คอริโอเลนัสจึงยอมอ่อนข้อและยอมเซ็นสัญญาสงบศึกกับโรม
ทว่าเมื่อเขาเดินทางกลับไปสู่กองทัพโวลเชียน เขาก็ถูกอันฟิดิอัสมิตรใหม่ของเขา เรียกเขาว่าคนทรยศ และสังหารตายเอย่างน่าอนาถ
นี่คือแทรเจดีของคอริโอเลนัส ผู้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด และประสบกับความหายนะในบั้นปลายด้วยลักษณะนิสัยหยิ่งทระนงและเชื่อมั่นในตัวเองอย่างไม่ยอมลงให้แก่ใคร
เรฟ ไฟน์ส ซึ่งเป็นนักแสดงชั้นแนวหน้า ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้กำกับเป็นครั้งแรก รวมทั้งแสดงบทนำที่เขาเคยเล่นมาแล้วในละครเวทีเรื่องเดียวกันนี้ และเขาก็แสดงฝีมือได้ดีอย่างน่าประทับใจทั้งในการกำกับและการแสดงบทบาทที่เข้มข้นของวีรบุรษเลือดร้อนคนนี้
บทบาทที่ตรึงตราอีกบทหนึ่งได้แก่บทแม่ที่วาเนสซา เรดเกรฟ จับไว้ได้อยู่หมัด โดยเฉพาะการสร้างแคแรกเตอร์ของผู้หญิงแกร่งในสังคมของผู้ชาย เธอนำเอาความใฝ่ฝันความทะเยอทะยานทั้งหมดของตัวเองที่ไม่มีทางกลายเป็นจริงได้ด้วยข้อจำกัดของเพศในสังคมยุคนั้น ถ่ายลงสู่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน และต้องการส่งเขาไปสู่จุดสูงสุดในบ้านเมือง
ทว่าเมื่อเขาถูกเนรเทศออกจากบ้านเมืองไป และแปรพักตร์ไปอยู่ข้างศัตรู เธอก็ใช้อิทธิพลที่ตัวเองมีต่อลูกชายคนนี้มาตลอดชีวิต มาเปลี่ยนใจเขา เธอเลือกแล้วระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับความรักชาติบ้านเมือง
หนังใช้บทของเช็กสเปียร์ ซึ่งแม้จะฟังแปลกหูไปบ้างสำหรับคนดูสมัยใหม่ในสถานการณ์ของศตวรรษที่ยี่สิบ ทว่าด้วยฝีมือของนักแสดงที่เก่งกาจ โดยเฉพาะ เรฟ ไฟน์ส วาเนสซา เรดเกรฟ และ ไบรอัน คอกซ์ (ในบทมิเนนิอัส วุฒิสมาชิกลิ้นทองที่เป็นเพื่อนแท้และสนับสนุนคอริโอเลนัส) บทที่ออกจะแปร่งหู ก็ฟังราบรื่นเหมือนเกิดจากความคิดของตัวละครจริงๆ ไม่ได้ฟังขัดหูเกินเลยไปจนรับไม่ได้
เจสซิกา เชสแทน (จากหนังรางวัลคานส์ Tree of Life และหนังชิงออสการ์ The Help) มีบทพูดน้อยนิดของภรรยาในบ้านที่แม่สามีเป็นใหญ่และใช้อิทธิพลครอบงำตัวลูกชายคนเดียว หนังมีการตีความให้เห็นเป็นภาพที่บอกเล่าอะไรได้มากในฉากสั้นๆ ของการที่เวอร์จิเลียโผล่เข้ามาในห้องสามีที่เพิ่งกลับจากสงคราม และเจอเขาอยู่กับแม่ที่กำลังพันผ้าพันแผลให้ เวอร์จิเลียรีบหลบออกไปโดยไม่กล้าเข้ามารบกวนสามีกับแม่ของเขา
หน้าตาของหนังดูเหมือนจะเป็นหนังแอ๊กชั่นประเภท 300 มากกว่าเป็นแทรเจดีของเช็กสเปียร์ ในขณะที่ใช้บทของเช็กสเปียร์ตามต้นฉบับอย่างซื่อสัตย์ แม้จะตัดออกไป ก็เป็นธรรมดาอยู่เองในการสร้างบทหนัง
ขอปรบมือต้อนรับ เรฟ ไฟน์ส ที่ขยายความสามารถของตัวเองมาสู่การกำกับหนัง จากที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในฐานะนักแสดง
++++
บทวิจารณ์ของปี 2554
PIRATES OF THE CARIBBEAN: ON STRANGER TIDES “น้ำอมฤตแห่งยุวภาพ”
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1606 หน้า 87
กำกับการแสดง Rob Marshall
นำแสดง Johnny Depp
Penelope Cruz
Geoffrey Rush
Ian McShane
ความสำเร็จเหนือคาดของหนังที่สร้างจากไอเดียเพียงเบาบางของเรื่องราวจากเครื่องเล่นในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ Pirates of the Caribbean ซึ่ง จอห์นนี เดปป์ สร้างตัวละครกัปตัน แจ๊ก สแปโรว์ ให้เป็นที่น่าจดจำ ถึงขั้นเป็นบทที่ส่งให้เขาเข้าชิงบทยอดเยี่ยม ทำให้มีภาคต่อๆ มาจนถึงภาคที่สี่ขณะนี้
ทั้งๆ ที่ จอห์นนี เดปป์ มีกิตติศัพท์ในการเลือกสรรบท สรรหาความแปลกใหม่ และจะไม่ยอมเล่นบทซ้ำซาก ที่สะท้อนดังอยู่นับแต่ใครๆ พากันพิศวงกับการตัดสินใจรับเล่นบทที่มีรสชาตินี้ซ้ำอีกครั้งในภาคสอง
แต่ชื่อเสียงและเงินทองก็ไม่เข้าใครออกใคร เดปป์จึงยังคงรับบทบาทนี้ต่อมาถึงสี่ครั้งแล้ว และดูท่าว่าจะยังไม่จบลงที่ตรงนี้หรอก ด้วยเสียงตอบรับที่ยังคงไม่สร่างซาความนิยม
ภาคนี้มีผู้กำกับฯ ร็อบ มาร์แชล (Chicago) เป็นผู้นำทีมสร้างแทนผู้กำกับฯ กอร์ เวอร์บินสกี ในภาคก่อนๆ และทิ้งตัวละครสำคัญหลายตัวที่อยู่คู่กับ Pirates มาแต่เริ่มภาคแรก โดยเฉพาะคู่รักขวัญใจวัยรุ่น ออร์ลันโด บลูม และ เคียรา ไนต์ลีย์
แทนที่คู่รักคู่ขวัญหนุ่มหล่อสาวสวยแห่ง Pirates นี้ แจ๊ก สแปโรว์ กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องโรแมนติกเสียเอง โดยมี แอนเจลิกา (เพเนโลปี ครูส) สาวสเปนร้อนแรง คู่รักคู่อาฆาตที่ แจ๊ก สแปโรว์ เคยพัวพันรักใคร่และสร้างความเจ็บใจให้ในอดีตจนตามมาราวีกับเขาอีก
แอนเจลิกาเป็นลูกสาวของโจรสลัดแบล๊กเบียร์ด (เอียน แม็กเชน) ที่พลัดพรากจากกันไปนาน แต่พล็อตของนิยายผจญภัยเยี่ยงนี้ ย่อมไม่เสนอเรื่องอย่างตรงไปตรงมา แต่พลิกกลับหลายตลบจนแทบไม่มีทางเดาได้ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร
และแม้ที่พลิกมาเผยในตอนจบ ก็ยังสามารถพลิกกลับไปในทิศทางตรงข้ามได้อีก หากมีภาคต่อจากนี้อีก
พูดง่ายๆ คือ หนังแบบนี้เขาไม่ได้ดูเอาเรื่องราว หรือสร้างแคแร็กเตอร์ให้ลงตัว ได้แต่เล่าเรื่องให้สนุกเร้าใจ พลิกผันให้คนดูเดาไม่ถูกว่าใครเป็นฝ่ายไหน อย่างไร
เปิดเรื่อง ณ จุดที่ แจ๊ก สแปโรว์ สูญเสียเรือคู่ใจ แบล๊กเพิร์ล ไปแล้ว และอยู่ในลอนดอนเพื่อช่วยอดีตลูกเรือของเขาให้พ้นจากตะแลงแกงในลอนดอน ท่ามกลางเสียงร่ำลือว่า แจ๊ก สแปโรว์ กำลังเกณฑ์ลูกเรือเพื่อออกเรือไปอีกครั้ง ทว่า แจ๊กบอกว่า แจ๊ก สแปโรว์ คนนั้นไม่ใช่เขาแน่ๆ เพราะเขาไม่ได้กำลังทำอย่างนั้นอยู่เลย
แจ๊กฉ้อฉล ปลอมตัว ติดสินบนเจ้าหน้าที่ ถูกจับและหนีจากกษัตริย์อังกฤษมาได้อย่างฉิวเฉียดและฉุกละหุก ในลักษณะของหนังผจญภัยที่เรียกว่า swashbuckler
จนมาลงเอยที่การตามหาตัวบุคคลผู้ปลอมตัวเป็นเขา ซึ่งกลายเป็นแฟนเก่าที่เขาเคยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้
แอนเจลิกา เป็นสาวสวยที่เคยเกือบจะบวชชีอยู่แล้ว ถ้าแจ๊กไม่ไปหลอกลวง หว่านเสน่ห์ใส่ ใช้ประโยชน์จากเธอ ก่อนจะทิ้งขว้างเธอไป เธอประกาศตัวเป็นลูกสาวของแบล๊กเบียร์ด (เอียน แม็กเชน) โจรสลัดผู้กำลังตามหาน้ำอมฤตแห่งยุวภาพ ณ เกาะกลางทะเลที่ซึ่งแจ๊กเคยไปเยือนมาแล้ว
น้ำพุแห่งยุวภาพนี้ ไม่ใช่น้ำอมฤตที่ดื่มเข้าไปแล้วจะทำให้เยาว์วัยตลอดกาล แต่สรรพคุณของมันคือ หากใช้ร่วมกับองค์ประกอบของถ้วยเงินสองใบ และน้ำตานางเงือก ก็จะสามารถทำให้ผู้ดื่มถ้วยหนึ่งตายไป ในขณะที่ผู้ดื่มอีกถ้วยจะมีชีวิตยืนยาวขึ้นจากจำนวนอายุขัยของผู้ที่ตายไป
น้ำอมฤตนี้ย่อมเป็นที่ใฝ่ฝันของมนุษย์เดินดินที่ต้องการอมตภาพ จะได้ต่อชีวิตของตนให้ยืนยาวออกไปเรื่อยๆ โดยไม่ยอมให้ความชราภาพมาเยือน
หลายฝ่ายต่างตามหาแหล่งน้ำพุนี้ ไม่ว่าจะเป็นบาร์บอสซา (เจฟฟรีย์รัช) อดีตโจรสลัดที่ได้รับการชุบเลี้ยงจากกษัตริย์จอร์จแห่งอังกฤษ หรือกษัตริย์สเปนผู้ส่งกองเรือนาวีติดตามและขัดขวางคู่แข่งรายอื่นๆ
รวมทั้งแบล๊กเบียร์ดผู้ต้องการต่อชีวิตของตนให้ยืนยาวจากคำพยากรณ์ที่บอกว่าเขากำลังจะถูกฆ่าตาย
ก่อนจะเดินทางไปถึงน้ำพุแห่งยุวภาพ เหล่าผู้แสวงหาอมตภาพจะต้องหาองค์ประกอบอีกสองอย่างที่จะทำให้น้ำอมฤตออกฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์นี้ นั่นคือ ถ้วยเงินสองใบ และน้ำตานางเงือก
ที่ยากลำบากดูจะเป็นอย่างหลังนี้ เนื่องจากเหล่านางเงือกล้วนเป็นหญิงสาวสวยบริสุทธิ์ ทว่าดุร้ายเหมือนผีดิบดูดเลือด และจะใช้ความงามพิสุทธิ์ใสล่อผู้ชายให้ต้องมนตร์ ก่อนจะลากตัวดำดิ่งลงใต้สมุทรเพื่อฉีกเนื้อกิน
แต่ก็มีเรื่องราวของนางเงือกเซรีนา (แอสตริด เบอร์เจส-ฟริสบี) ที่ถูกจับตัวใส่กรงไป และได้รับความปรานีจากมิชชันนารีหนุ่ม ฟิลิป (แซม แคลฟลิน) จนกลายเป็นนิยายรักหวานซึ้งที่แทรกเข้ามาอีกคู่
เช่นเดียวกับหนังผจญภัยบันเทิงประเภทนี้ มีบทสนทนาเฉียบคมโปรยไว้ประปราย ซึ่งส่วนใหญ่จะออกจากปากของพระเอก แต่มีอยู่ประโยคหนึ่งที่มาจากพ่อของแจ๊กผู้เข้ามาช่วยลูกชายให้พ้นภัย และติดตามหาน้ำพุแห่งยุวภาพอยู่เหมือนกัน
แจ๊กถามว่าพ่อเคยไปถึงที่นั่นมาแล้วหรือ พ่อผู้มีใบหน้าย่นยับด้วยริ้วรอยแห่งวัยและความตรากตรำ สวนคำขึ้นว่า "ใบหน้านี้มันดูเหมือนเคยไปถึงที่นั่นมาแล้วละหรือ" ชัดเจนสะใจค่ะ
หลังจากเรื่องดำเนินไปตามทางของมัน และน้ำพุแห่งยุวภาพดูเหมือนจะสูญสิ้นไปตลอดกาลแล้ว แจ๊กได้พูดบทสุดท้ายถึงสาเหตุที่ทำให้เขาไม่สนใจจะใช้น้ำอมฤตนั้นกับตัว ซึ่งสรุปเนื้อหาให้แก่การที่มนุษย์พยายามแสวงหาอมตภาพให้แก่ตัวเองได้ดีมาก
แจ๊กบอกว่าเขาสนุกมากกว่ากับการใช้ชีวิตโลดแล่นเสี่ยงภัยโดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวในวันต่อไป มากกว่าจะมีชีวิตอมตะหรือเสถียรภาพที่มั่นคงแน่นอน
นี่คือข้อสรุปของการแสวงหานิรันดรภาพ เหมือนกับข้อสรุปจากหนังแวมไพร์หลายเรื่อง ซึ่งบอกว่าการมีชีวิตเป็นนิรันดร์แสนจะน่าเบื่อสิ้นดี
ความสนุกของชีวิตในโลกนี้ อยู่ที่ว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องตายต่างหาก
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย