http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-09

“มหาราช”กับอุดมคติชาติ (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

“มหาราช”กับอุดมคติชาติ (1)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 30


อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ตั้งข้อสังเกตในปาฐกถาของท่านที่มะนิลาเรื่อง "ปัญญาชนสาธารณะ" ว่า นิทรรศการถาวรซึ่งจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงเทพฯ แสดงประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นอันคลุมเครือเมื่อ 800 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่น่าแปลกใจโดยแท้ในการจัดแสดงภาพกว้างๆ นี้ก็คือ บอกชื่อบุคคลไว้เพียง 4 ชื่อ ทั้งหมดล้วนเป็น "มหาราช" ทั้งสิ้น ไม่มีนักเขียน, นายพล, หมอ, กวี, นักวิทยาศาสตร์, พระ, ตุลาการ, นักปรัชญา, นักสังคมสงเคราะห์ หรือจิตรกรสักคนเดียว ไม่ต้องพูดว่าไม่มีผู้หญิงด้วย
ท่านบอกด้วยว่า นิทรรศการแบบนี้เป็นสิ่งที่คิดไปไม่ถึงเลยในประเทศอาณานิคมเก่า เช่น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่มาเลเซีย
อันที่จริง อาจารย์เบนก็คงทราบแล้วว่า ประวัติศาสตร์ไทยถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้จดจำอดีตจากมุมมองของกษัตริย์ ยุคสมัยในประวัติศาสตร์ถูกแบ่งออกตาม "ราช" ธานี และความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เกาะเกี่ยวกับ "รัชกาล" 
ดังนั้น หากไม่พูดถึงกษัตริย์ คนไทยก็ไม่มีอดีตให้จดจำ

ประวัติศาสตร์ไทยเขียนกันขึ้นเพื่อรับใช้พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ นักประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็นกวีในราชสำนักอีกประเภทหนึ่งเท่านั้น (และลามไปถึงนักประวัติศาสตร์ฝรั่งที่เขียนประวัติศาสตร์ไทยจำนวนมากด้วย) 
แต่ก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ประวัติศาสตร์ยังเป็นความทรงจำเพื่อรับใช้อะไรบางอย่างของปัจจุบันด้วยเสมอ ดังนั้น "มหาราช" ที่ปรากฏในนิทรรศการถาวร จึงไม่เป็นเพียงแต่บุคคลและสถาบันที่สืบต่อจากบุคคลเหล่านั้น หากยังเป็นตัวแทนของอุดมคติที่ผู้มีอำนาจอยากให้คนไทยปัจจุบันยึดถือ
และเพราะเป็นอุดมคติ จึงมีพลวัตหรือแรงขับเคลื่อนที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนไป คนที่เข้ามาขับเคลื่อนอุดมคติก็เปลี่ยน-เปลี่ยนตัวหรือเปลี่ยนความคิดก็ตาม-เป็นธรรมดา

ข้อที่น่าประหลาดก็คือ จะเป็นเพราะนักประวัติศาสตร์ไทยขี้เกียจหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ปรากฏการณ์อย่างนี้ในสังคมอื่น ย่อมเป็นผลให้นักประวัติศาสตร์เสนอบุคลิกภาพของบุคคลในประวัติศาสตร์แตกต่างไปจากเดิม จากนโปเลียนที่เป็นทรราช ก็อาจกลายเป็นนักประชาธิปไตย จากเหมาผู้รักประชาชน เป็นเหมาที่ประชาชนต้องรัก ฯลฯ 
แต่แรงขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางอุดมคติในประเทศไทย ไม่มีผลต่อการเสนอบุคลิกภาพของ "มหาราช" ตัวของ "มหาราช" เคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น "มหาราช" เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่งที่จะเข้าไปรุ่มร่ามไม่ได้ แม้ว่าตัวอุดมคติที่ "มหาราช" เป็นตัวแทน อาจถูกตีความใหม่ไปได้เรื่อยๆ


ผมไม่เคยเข้าไปดูนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงเทพฯ แม้กระนั้น ก็อยากเดาอย่างค่อนข้างมั่นใจว่า ใน "มหาราช" สี่องค์นั้น อย่างน้อยต้องมีสามองค์นี้ คือพ่อขุนรามคำแหง, พระนเรศวร และพระจุลจอมเกล้าฯ

พ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นตัวแทนที่วิเศษสุดของ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ชื่อเรียกนี้อาจเพิ่งเกิดขึ้นในสมัย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ที่จริงแล้วเนื้อหาของมันตรงกับทฤษฎีธรรมราชาเป๊ะเลย นั่นคือการปกครองที่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด แต่ถูกกำกับด้วยศีลธรรม ฉะนั้น จึงเอาใจใส่ทุกข์สุขของประชาชน

ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เสียงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย เริ่มดังมากขึ้นในเมืองไทยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องนี้ด้วยคำอธิบายสามอย่าง

1. พระมหากษัตริย์ไทยนั้นที่จริงแล้วได้รับเลือกตั้งมาจากหมู่ชนจำนวนมาก เรียกว่า "อเนกนิกรสโมสรสมมติ" คือประชุมกันในหมู่ขาใหญ่เพื่อเลือกเจ้านายขึ้นสืบราชสมบัติ นี่ไม่ใช่ "ประชาธิปไตย" ในความหมายแบบตะวันตกแน่ แต่ปัญญาชนไทยสามารถพัฒนาทฤษฎีนี้ให้พึงใช้ได้ในระบอบประชาธิปไตยหลัง 24 มิถุนายน ไปได้อีกหลายอย่าง เช่น ทฤษฎีราชประชาสมาศัยของ คุณคึกฤทธิ์ ปราโมช, การถวายพระราชอำนาจให้ทรงเลือกสมาชิกของกลไกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยบางส่วน, การมีองคมนตรีในฐานะ "สถาบัน" (ไม่ใช่ในฐานะบุคคลที่ทรงปรึกษาหารือ) และประชาธิปไตยแบบ "การเมืองใหม่" เป็นต้น

2. พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธรรมราช ถูกกำกับด้วยศีลธรรมอย่างเคร่งครัดคือทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร เป็นต้น จึงไม่มีวันจะล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์ของประชาชนอย่างเด็ดขาด แม้แต่ออกกฎหมายหรือตั้งองค์กรขึ้นมาจำกัดพระราชอำนาจก็เคยทำมาแล้ว เช่น องคมนตรีสภา เป็นต้น 
การจำกัดพระราชอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญจึงไม่จำเป็น

3. ประชาชนไทยยังไม่พร้อมจะตัดสินใจทางการเมืองเอง
ทฤษฎีนี้ใช้ได้สืบมาจนถึงสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อประธานสภาถูกล้อมกรอบ และขว้างแฟ้มเข้าใส่ เพราะเสียงข้างมากคือพวกมากลากไป 
ในขณะที่พวกน้อยซึ่งเป็นคนดีมีศีลธรรมควรเป็นผู้ลากมากกว่า



พ่อขุนรามฯ (อย่างน้อยก็ในจารึกหลักที่ 1 ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อไรก็ไม่แน่) เป็นตัวแทนอันเหมาะเจาะกับสามคำอธิบายนั้น นักประวัติศาสตร์เรียกการปกครองของพระองค์ในภาษาอังกฤษว่า Paternalistic Democracy อันเป็นสองคำที่ไม่น่าจะรวมกันได้เลย แต่พอเรียกเป็นไทยว่าระบอบ "พ่อปกครองลูก" ก็ฟังอบอุ่นขึ้นแยะ 
คำว่าพ่อนั้น เป็นความเปรียบถึงอำนาจที่ทรงพลังอย่างมากในภาษาไทย เพราะอำนาจของพ่อเป็นอำนาจตามธรรมซึ่งคนดีไม่ควรตั้งคำถาม นอกจากพ่อเป็นเจ้าของทรัพยากรทั้งหมดแล้ว ยังเป็นผู้จัดการทรัพยากรเพื่อลูกทุกคนอย่างเป็นธรรมด้วย ความเป็นธรรมนี้คนดีก็ไม่ควรตั้งคำถามเช่นกัน 
พ่อขุนรามฯ ทรงเอาใจใส่ทุกข์สุขของประชาชน เพราะทรงแขวนกระดิ่งไว้ปากประตู (วัง) รัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้ง (ทั้งหมดหรือบางส่วน) ก็ควรเป็นแค่กระดิ่ง คือคอยลั่นเพื่อบอกทุกข์สุขของประชาชน ไม่ใช่ไปจัดการเอง

อย่างไรเสีย เราไม่สามารถปฏิเสธประชาธิปไตยได้ หากยังต้องการทั้งทุน, ตลาด และเทคโนโลยีจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตย (จริงๆ) นอกจากนี้ ในประเทศเองก็มีกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายกลุ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีกระดิ่งหลายอันให้คนเหล่านี้ได้ลั่นกันอย่างทั่วหน้า ฉะนั้น ในทางอุดมคติ ประเทศไทยจึงต้องเป็นประชาธิปไตย 
แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย

พ่อขุนรามคำแหงจึงเป็น "มหาราช" ในประวัติศาสตร์ไทย และ (น่าจะ) ในนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ไม่ใช่ในฐานะบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างเดียว ที่สำคัญกว่าคือในฐานะที่เป็นตัวแทนของอุดมคติไทยปัจจุบัน 
แต่พลวัตในสังคมไทย ไม่อำนวยให้ประชาธิปไตยแบบไทยของพ่อขุนรามฯ ดำรงอยู่โดยไม่ถูกตั้งคำถาม คณะปฏิวัติ ร.ศ.130 อันประกอบด้วยนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ตั้งคำถามขึ้นก่อน แม้ไม่อาจให้คำตอบแก่สังคมได้ แต่ตัวคำถามคงจะถูกคนอื่นถามซ้ำสืบมา จนอีก 20 ปีต่อมา เมื่อคณะราษฎรตั้งคำถามและให้คำตอบแก่สังคมได้สำเร็จ ก็ยังยอมรับว่า การปฏิวัติของตนสืบเนื่องกับคำถามใน ร.ศ.130 
จากนั้นประชาธิปไตยในประเทศไทยก็สลับสับเปลี่ยนกันระหว่างประชาธิปไตยเฉยๆ กับประชาธิปไตยแบบพ่อขุนรามคำแหงสืบมาอีกนาน


อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยแบบพ่อขุนรามฯ นั้นเป็นดาบสองคมอยู่เหมือนกัน เพราะไม่จำเป็นว่าพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะใช้อานุภาพพ่อขุนรามคำแหงได้ฝ่ายเดียว คนที่คุมกำลังกองทัพไว้ได้ค่อนข้างเด็ดขาดเช่นจอมพล ป. พิบูลสงครามก็อาจใช้อานุภาพนั้นเสียคนเดียวก็ได้ โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีส่วนร่วมเลย 
กว่าอุดมคติประชาธิปไตยแบบไทยของพ่อขุนรามฯ จะค่อยคืบคลานกลับมาใหม่ก็ต้องรอถึงการรัฐประหาร 2490 และ 2500 แล้ว แม้จะดูมั่นคงดี แต่ก็เสี่ยงที่เสนาอำมาตย์อาจตั้งตัวเป็นพ่อขุนเสียเอง

ความสำเร็จของนิสิตนักศึกษาประชาชนในการโค่นล้ม "พ่อขุนอุปถัมภ์" (โดยไม่ชัดเสียแล้วว่าใครเป็นพ่อขุนกันแน่) ใน พ.ศ.2516 เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนสองกลุ่มที่ต้องการประชาธิปไตยคนละชนิดกัน กลุ่มหนึ่งต้องการนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่งต้องการฟื้นฟูสาระที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตยแบบพ่อขุนรามฯ
แม้ว่าดูเหมือนกลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตยแบบพ่อขุนจะประสบชัยชนะใน พ.ศ.2519 แต่ก็ไม่อาจทำลายอีกฝ่ายหนึ่งลงอย่างราบคาบได้ ระบอบปกครองไทยนับจากนั้นสืบมา คือความพยายามจะกลืนกันและกันสืบมาจนทุกวันนี้ แต่ก็กลืนกันไม่ลงสักฝ่ายเดียว ทำให้เกิดความตึงเครียดบาดหมางกันมากขึ้น


พ่อขุนรามคำแหง จึงเป็นตัวแทนของอุดมคติทางการเมืองที่มีความสำคัญของฝ่าย "ทางการ" (ซึ่งแปลว่าอะไรชักจะไม่แน่นอนเสียแล้ว เพราะคนที่ถืออำนาจบ้านเมืองอาจไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน) นั่นคือประชาธิปไตยแบบไทย นี่เป็นเสาหลักอันหนึ่งของอุดมการณ์ชาติในปัจจุบัน เมื่อจะแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ หนึ่งใน "มหาราช" สี่องค์ที่ต้องแสดงไว้จึง (น่าจะ) เป็นพ่อขุนรามฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ก็ดังที่กล่าวแล้วว่า การต่อสู้ด้านอุดมคติของประชาธิปไตย หาได้กระทบต่อบุคลิกภาพทางประวัติศาสตร์ของพ่อขุนรามคำแหงไม่ ประวัติศาสตร์ไทยเคยพูดถึงพ่อขุนรามคำแหงอย่างไร นับตั้งแต่ได้ "ค้นพบ" พระองค์ จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังพูดอย่างเดียวกัน



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อ่านตอนที่สอง - “มหาราช”กับอุดมคติชาติ (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/n-mnchy2.html



.