http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-10

5 อำนาจในพายุตุลาการภิวัตน์ รัฐสภา-อัยการ-นิติบัญญัติระส่ำ

.
อีก1บทความ -  อริยสัจจ์ กฎหมาย นิติศาสตร์ กับ รัฐศาสตร์ ทดแทนกัน ไม่ได้

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

5 อำนาจในพายุตุลาการภิวัตน์ รัฐสภา-อัยการ-นิติบัญญัติระส่ำ
ในมติชน ออนไลน์ (ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ ) วันเสาร์ที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 13:36:21 น.


ทันทีที่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแสดงจุดยืน-หลักการของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อน 
ดีกรีความขัดแย้งอาจจะทวีเพิ่มขึ้น หลังจากที่หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องต่างออกมาตบเท้าแสดงความเห็นในทิศทางที่ "ตรงข้าม" กับศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งสิ้น 
เริ่มจาก "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ในฐานะประธานสภา ที่ออกมาแสดงท่าทียืนยันที่จะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 8 มิ.ย.

เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างสภา แต่จะไม่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว 
ประธานสภาระบุว่า เพื่อยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และไม่ต้องการให้ประชาชนเสียเลือดเสียเนื้อ 
"หากสั่งให้เดินหน้าประชุมและให้ลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ก็ละเมิดอำนาจศาล แต่หากฟังคำสั่งศาล ผมก็ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคห้า"

ขณะที่ "พิทูร พุ่มหิรัญ" เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงชี้แจงในทิศทางเดียวกับ "สมศักดิ์" ว่า ทีมกฎหมายรัฐสภาก็ได้ตีความอย่างสุจริตเพื่อให้ข้อมูลแก่ประธานสภา
โดยสรุปความเห็นได้ทั้งหมด 6 ประเด็น หยิบยกเอาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญมา 
สนับสนุนทั้งสิ้น 4 มาตรา ดังนี้ 
1.มาตรา 3 กำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้รัฐสภามีผลผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยขององค์กรใดองค์กรหนึ่งที่ถูกบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าต้องปฏิบัติตาม
2.มาตรา 216 กำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเด็ดขาดต่อรัฐสภา แต่ต้องเป็นคำวินิจฉัยต้องถูกกระทำโดยคณะตุลาการไม่น้อยกว่า 5 คน โดยต้องทำความเห็นในคำวินิจฉัยในส่วนของตน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
แต่คำสั่งศาลครั้งนี้ไม่ปรากฏตามลักษณะในมาตรา 216 จึงถือว่าไม่เป็นคำวินิจฉัยที่ผูกพันต่อสภา 
3.การที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตามมาตรา 68 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 213 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถเรียกขอเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคล ตลอดจนหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อมาดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาได้ 
แต่รัฐสภามิใช่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงไม่มีผลผูกพันตามคำสั่งดังกล่าว 
4.มาตรา 291 กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นไปตามมาตรา 122 ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดหรือความครอบงำใด ๆ จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตเพื่อประโยชน์ของประชาชน 
5.คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นนี้ เป็นหนังสือส่งถึงเลขาธิการสภาเพื่อให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาว่า ขอให้รอดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถือว่าเป็น "คำสั่ง" ที่ส่งตรงถึงประธานรัฐสภาหรือรัฐสภาโดยตรง  
และ 6.การดำเนินการใดของประธานสภาและรัฐสภาในเรื่องดังกล่าวหลังจากนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

ด้าน "อัชพร จารุจินดา" เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า วิธีการรับเรื่องร้องเรียนของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ไม่เคยมีใครในโลกนี้เขาทำกัน และสิ่งนี้ทำให้เกิดความคาราคาซังของรัฐสภา-รัฐธรรมนูญ 
เขาย้ำว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือกฤษฎีกาอีกแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจไปบังคับรัฐสภา ดังนั้นสภาจะเดินหน้าต่อโดยไม่ฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น ต้องไปว่ากันด้วยเรื่องข้อกฎหมายต่อไป 
"รัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่า พอพ้น 15 วันก็ต้องลงมติ แต่หากพ้นกรอบเวลาดังกล่าวไปแล้ว เรื่องนี้ก็จะยังไม่ตกไป ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนที่รัฐสภาสามารถจะคาเรื่องนี้ไว้ได้"

ขณะเดียวกัน "อรรถพล ใหญ่สว่าง" รองอัยการสูงสุด ก็ได้ออกมาเปิดเผยอย่างสงวนท่าที ว่า ขณะนี้ได้รับข้อมูลแค่เฉพาะจากทางสำนักเลขาธิการฯ เท่านั้น แต่ไม่ได้รับข้อมูลจากทางฝั่งศาลรัฐธรรมนูญ  
"เหตุที่ต้องขอเอกสารก่อน ก็เพราะต้องตรวจสอบว่ากระบวนการทางรัฐสภาอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ทางด้านศาลก็ต้องดูว่าได้รับคำร้องไว้จริงหรือไม่ ทางเราทำเรื่องขอเอกสารไปนานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับทั้งหมด" 
ทั้งนี้เมื่อสรุปความเห็นเรียบร้อย จะส่งต่อให้ "จุลสิงห์ วสันตสิงห์" อัยการสูงสุดทันที โดยยืนยันว่า ความเห็นจากอัยการสูงสุดจะตอบคำถามสังคมได้ทุกข้อ


ส่วน "นิคม ไวยรัชพานิช" รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ออกมาแสดงท่าทีสวนทางกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวว่า การยับยั้งขั้นตอนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติถือว่าเป็นการขัดแย้งต่อกระบวนการถ่วงดุลอำนาจ 
หากพิจารณาข้อมูลตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 150 และ 151 จะเห็นปฏิทินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างละเอียด 
โดยมาตรา 150 ระบุตอนหนึ่งว่า "ร่าง พ.ร.บ.ใดที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้ประธานสภานำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา" 
ดังนั้น หากรัฐสภาเดินหน้าหารือวันลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 8 มิ.ย. 55 ก็จะสามารถนัดวันลงมติอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 13 มิ.ย. 55 นั่นหมายความว่า ประธานสภาจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายในวันที่ 3 ก.ค. 55 
ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนและมีคำวินิจฉัย กรณีมาตรา 68 ที่กำหนดกรอบเบื้องต้นไว้ในวันที่ 5-7 มิ.ย. 55

ขณะเดียวกันในมาตรา 151 ระบุตอนหนึ่งว่า "กรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือพ้น 90 วันแล้วยังไม่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่าง พ.ร.บ.นั้นใหม่ และยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา จากนั้นให้ประธานสภานำขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้ง และหากไม่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 30 วัน ให้ประธานสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"
โดยหากเป็นไปตามปฏิทินข้างต้น จะส่งผลให้รัฐสภาเดินหน้าต่ออย่างช้าที่สุดในวันที่ 3 ต.ค. 55 (3 ก.ค.+90 วัน) เพื่อนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้งหนึ่ง 
ในกรณีที่มีการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯครั้งที่สอง แต่มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย มาตรา 151 ก็ได้ระบุว่า หลังจากนั้น 30 วัน ประธานสภาสามารถประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาได้ทันที หรือใน 3 พ.ย. 55

ซึ่งอาจพอสรุปได้ว่า หากรัฐสภาตัดสินใจเดินหน้าและเมินคำสั่ง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็พุ่งเป้าไต่สวนหาคำวินิจฉัย ดีกรีความแรง-ขัดแย้งก็มีโอกาสที่จะปะทุขึ้นอีกครั้งด้วยเช่นกัน



++

อริยสัจจ์ กฎหมาย นิติศาสตร์ กับ รัฐศาสตร์ ทดแทนกัน ไม่ได้  
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 13:00:16 น.


พลันที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตยประกาศต้าน พ.ร.บ.ปรองดองอย่างเป็นด้านหลัก และไม่สนใจที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ค่อนข้างว้าเหว่
อาจมีกลุ่ม40 ส.ว.ยืนเรียงอยู่เคียงข้างโดยมี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นแถวหน้าประสานเข้ากับขุนพลจากพรรคประชาธิปัตย์
แต่ดูส่วนของ "สมอง" ก็ขาดความหนักแน่น
อย่างเก่งที่ออกมาให้การปกป้องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญก็มีเพียงนักกฎหมายระดับ นายคมสัน โพธิ์คง และ นายศาสตรา โตอ่อน
เมื่อ นายแก้วสรร อติโพธิ ออกมาพูดกลับอิงหลัก "รัฐศาสตร์" มิใช่ "นิติศาสตร์"

ตรงกันข้าม ฝ่ายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรม นูญบนพื้นฐานแห่งมาตรา 291 กลับหนักแน่นและมั่นคงเป็นอย่างมาก
อย่างเช่นแถลงการณ์ "นิติราษฎร์"
อย่างเช่นการออกโรงของ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย รวมถึงมวยหลักระดับ นายพนัส ทัศนียานนท์ ซึ่งยืนต่างมุมกับ นายแก้วสรร อติโพธิ 
ยิ่งกว่านั้น ยังมีรัฐสภา มีอัยการเป็น   หลังพิง


การออกโรงของ นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการรัฐสภาถือว่ากล้าหาญ เช่นเดียวกับการออกโรงของคณะทำงานแห่งสำนักงานอัยการสูงสุด

เลขาธิการรัฐสภายืนยันในหลักการบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ 
1 ยืนยันว่าคำสั่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีลักษณะตามที่มาตรา 216 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงไม่เป็นคำวินิจฉัยอันมีผลผูกพันรัฐสภา
1 รัฐสภาไม่ผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะรัฐสภามิใช่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นอันอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
1 การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาเป็นไปตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญ

และเมื่อคณะทำงานพิจารณาคำร้องของสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า การที่ ครม. และ ส.ส.ของพรรคการเมืองหลายพรรคเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 291 จึงไม่มีเนื้อหาเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง
ข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่ามีพฤติการณ์หรือการกระทำอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการตามความในมาตรา 68 
นี่ย่อมเป็นสัญญาณอันหนักแน่นและจริงจังในทางกฎหมาย
จากทั้งสำนักงานอัยการสูงสุดและทั้งจากคณะทำงานกฎหมายของเลขาธิการรัฐสภา

คล้ายกับการปะทะและขัดแย้งครั้งนี้มีจุดเริ่มมาจากส.ส.โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรครัฐบาล เพราะ ส.ส.เหล่านั้นเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คล้ายกับ ครม.ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน
แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปเหมือนกับที่เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกาได้สรุปนั่นก็คือ เมื่อเรื่องผ่านที่ประชุมรัฐสภาวาระ 1 วาระ 2 แล้ว
ความรับผิดชอบก็อยู่ที่รัฐสภา
ความขัดแย้งอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในขณะนี้จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญ

เป็น"ศาลรัฐธรรมนูญ" มิใช่ "ศาลยุติธรรม"
เป็นเฉพาะ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เพียงศาลเดียว มิใช่ทุกกระบวนการอันอยู่ภายใต้โครง สร้างแห่ง "อำนาจตุลาการ"
จึงมิใช่การปะทะระหว่าง "อำนาจนิติ บัญญัติ" กับ "อำนาจตุลาการ"
เป็นเพียงการปะทะและขัดแย้งระหว่างรัฐสภาอันเป็นส่วนสำคัญยิ่งภายในโครงสร้างแห่งอำนาจนิติบัญญัติกับ ศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นเพียงส่วนหนึ่งภายในโครงสร้างแห่งอำนาจตุลาการ


ปัญหาอยู่ตรงนี้การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจากตรงนี้ 
ที่สำคัญคือต้องใช้หลักกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายรัฐธรรมนูญ 
ไม่ว่ารัฐสภา ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญล้วนต้องอยู่ภายใต้หลักแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 

กฎหมายรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติตราเอาไว้เป็นมาตราเป็นสัดส่วนอย่างแน่ชัดหากสงสัยต้องนำเอาเจตนารมณ์มาเป็นเครื่องมือไม่อนุญาตให้คิดเองจินตนาการเองเด็ดขาด 
ที่สำคัญต้องอิงหลักนิติศาสตร์ ไม่ใช่อ้างเหตุผลทางรัฐศาสตร์ 



.