.
อ่านตอนแรก - “มหาราช”กับอุดมคติชาติ (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/n-mnchy1.html
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มหาราชกับอุดมคติชาติ (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 30
. . . . . . . .
"มหาราช" อีกสองพระองค์ที่ (น่าจะ) ปรากฏในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์แน่ คือสมเด็จพระนเรศวร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
พระนเรศวรคืออุดมคติของความรักชาติ อันเป็นหนึ่งในอุดมคติแห่งชาติไทยสมัยใหม่ นับตั้งแต่ ร.6 เป็นต้นมา
อันที่จริง ความรักบ้านเกิดเมืองนอน (หรือรักถ้ำที่เผ่าตัวอาศัยอยู่) คงเป็นธรรมชาติมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ (รวมทั้งสัตว์ด้วย) แต่ความรักหวงแหนถิ่นที่อยู่ของตนนั้น ถูกคนแต่ละสังคมพัฒนาขึ้นมาให้มีลักษณะเฉพาะของตน รักชาติแบบไทยกับรักชาติแบบเวียดนามจึงไม่จำเป็นว่าจะเหมือนกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือความรักชาติในโลกปัจจุบันเป็นวัฒนธรรม แม้ว่าอาจมีฐานจากธรรมชาติเหมือนกัน
ผมคิดว่าความรักชาติแบบไทยซึ่งผูกติดกับพระราชประวัติของพระนเรศวรนั้น มีลักษณะเฉพาะดังนี้
1. วีรกรรมอันเลื่องลือในพระราชประวัติคือการทำยุทธหัตถี เพราะเป็นชัยชนะในสงครามที่ทำให้อยุธยาพ้นจากอำนาจของพม่าได้อย่างมั่นคงแน่นอน
แต่น่าประหลาดมากที่ ท่ามกลางการใช้ปืนไฟอย่างหนาแน่นของทั้งสองฝ่าย การทำยุทธหัตถียังเกิดขึ้นได้ ทั้งพระราชพงศาวดารและนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังอธิบายว่า เกิดขึ้นได้เพราะอุบัติเหตุ กล่าวคือกองทัพเคลื่อนตามช้างพระที่นั่งไม่ทัน จนพระองค์ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของข้าศึก
ฉะนั้น ชัยชนะครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลงานของพระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว ความรักชาติไทยและการนำของพระมหากษัตริย์ไทย จึงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน รักชาติโดยไม่รักพระมหากษัตริย์ หรือรักพระมหากษัตริย์โดยไม่รักชาติจึงเป็นไปไม่ได้
2. ความรักชาติในพระราชประวัติแสดงออกด้วยการรบและสงคราม สองอย่างนี้กลายเป็นมาตรฐานสำคัญเกือบจะอย่างเดียวของความรักชาติแบบไทย เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ทหารและกองทัพกลายเป็นสถาบันที่ขาดไม่ได้ของชาติ เกิดสิทธิแก่ทหารและกองทัพจะทำอะไรก็ได้ (ในทางการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสังคม) ตราบเท่าที่อ้างว่าทำด้วยความรักชาติ
ความรักชาติแบบไทยจำกัดจุดมุ่งหมายให้แคบลงเหลือเพียงเอกราชของชาติ
3. ความรักชาติที่อาศัยพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรแสดงออกเช่นนี้ ไม่มีพื้นที่ให้คนอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นคนเล็กคนน้อยหรือกวี, ศิลปิน, นักปรัชญา, นักการศาสนา, และแน่นอนผู้หญิง
ชาวนาที่ตอบสนองต่อการเปิดค้าข้าวอย่างเสรี ด้วยการพาลูกเมียมาบุกเบิกที่ทำกินใกล้แหล่งส่งออกข้าว ทนยากลำบากก่นสร้างนาขึ้นจากป่า จนทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวได้เป็นที่สองของโลก (เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่คนเหล่านี้ไม่มีส่วนในการสร้างชาติไทย เพราะเขาไม่ได้ทำด้วยความรักชาติ หากทำเพราะรักลูกรักเมียเขาต่างหาก นอกจากนี้ ก็ไม่เกี่ยวกับเอกราชของชาติแต่อย่างไร
ถ้าชาติไม่ได้มาจากความบากบั่นดิ้นรนของผู้คนหลากหลายประเภทและชนชั้น ชาติเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คำตอบคือเกิดจากความรักชาติของผู้นำจำนวนน้อย ซึ่งรบเก่งหรือฉลาดเหนือคนอื่น สร้างสมขึ้นมาให้ลูกหลานซึ่งต้องรักษาไว้ แต่จะรักษาอย่างไร และรักษาไปทำไม ไม่สู้จะชัดนัก นอกจากดิ้นรนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำซึ่งมีหน้าที่รักชาติ
นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ลัทธิชาตินิยมที่เกิดในเมืองไทยมีลักษณะพิกลพิการ เพราะความรักชาติแบบไทยไม่สามารถรวมประชาชนทั้งหมดเป็นฐานของชาติอย่างเท่าเทียมกัน
นี่อีกเหมือนกันกระมัง ที่ทำให้อาจารย์เบนกล่าวว่า นิทรรศการลักษณะนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่มาเลเซีย
"มหาราช" องค์สุดท้ายที่ผมเชื่อว่าต้องมีในนิทรรศการแน่ก็คือพระปิยมหาราช
"มหาราช" พระองค์นี้เป็นตัวแทนของอุดมคติชาติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการพัฒนา หรือการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเพื่อให้ราษฎรอยู่ดีกินดี ความคิดเรื่องพัฒนาอาจคืบคลานมาสู่ผู้ปกครองไทยมาก่อนรัชสมัยของ "มหาราช" องค์นี้ แต่เป็นเพราะ ร.5 โดยแท้ ที่ให้ความหมายของการพัฒนาชัดเจนขึ้น เพราะโปรดให้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนา ที่ใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นตัวแทนดังนี้
1. เพราะแนวคิดเรื่องการพัฒนา มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอยู่ในนั้นด้วย แนวคิดเรื่องการพัฒนาจึงมีอันตรายต่อระบบปกครอง (ร.ศ.130 และ 2475 ก็มุ่งจะพัฒนาเหมือนกัน) ฉะนั้น อุดมคติการพัฒนาที่ฝากไว้กับ "มหาราช" พระองค์นี้ จึงช่วยตรึงให้การริเริ่มและดำเนินการพัฒนาจำกัดอยู่ที่ผู้ปกครองเพียงฝ่ายเดียว โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย
2. การพัฒนาของพระองค์ตามประวัติศาสตร์ที่เขียนกันขึ้นอย่างเป็นทางการนั้น ประกอบด้วยสองส่วน คือเปลี่ยนแปลงส่วนที่เป็นระบบ เช่น การปกครองส่วนกลางและส่วนหัวเมือง, การเลิกทาส, การสร้างกองทัพประจำการ ฯลฯ และส่วนที่เป็นวัตถุ เช่น การสร้างสาธารณูปโภคในกรุงเทพฯ, การสร้างทางรถไฟ, การสร้างตึกรามบ้านช่อง ฯลฯ
แต่น่าประหลาดที่ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ ไม่เคยประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นอกจากอ้างว่าทำให้บ้านเมือง "เจริญ" โดยอาศัยมาตรฐานตะวันตกเป็นเกณฑ์
3. แยกการพัฒนากับชีวิตส่วนตัวของผู้พัฒนาอย่างเด็ดขาด เช่น ประวัติศาสตร์ฉบับทางการไม่เคยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ของ ร.5 กับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาว่าเป็นสัดส่วนต่อกันอย่างไร
ผมคิดว่าวิธีคิดอย่างนี้อยู่เบื้องหลังความคิดของคนไทยจำนวนมากที่ว่า ไม่ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะปล่อยให้เงินหลวงแพล็มเข้าไปในเงินส่วนตัวเท่าไรก็ตาม แต่ผลงานด้านการพัฒนาของสฤษดิ์ยังมีคุณค่ากว่านั้นแยะ จึงคุ้มที่สังคมไทยจะมีสฤษดิ์อีกที
นี่คือรากฐานของตรรกะที่คนไทยส่วนใหญ่ตอบสำนักโพลว่า โกงก็ไม่เป็นไร ขอให้มีผลงานต่อบ้านเมืองแล้วกัน ซึ่งไม่ได้เริ่มที่ทักษิณ แต่อาจย้อนกลับไปได้ไกลมากในประวัติศาสตร์
อุดมคติแห่งชาติทั้งสาม มีความสัมพันธ์สืบเนื่องระหว่างกัน อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เราต้องพัฒนาหรือยอมเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเปลี่ยนตามวิถีทางแบบไทย เราต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแบบไทย เราทุกคนล้วนรักชาติ แต่เนื้อหาหลักของชาติคือความไม่เท่าเทียมหรือลำดับช่วงชั้นที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในการธำรงความเป็นชาติไว้
อย่างที่กล่าวในตอนที่แล้วว่า อุดมคติแห่งชาติเหล่านี้ในความเป็นจริงไม่ได้เสถียร แต่มีคนอื่นเข้ามาเสริมและดัดแปลงอยู่ตลอดเวลา
ดังเช่นความรักชาตินั้น นับตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา คนแปลกหน้าที่ไม่เกี่ยวกับการรบก็เข้ามาขอพื้นที่วีรบุรุษบ้าง น่าสนใจที่จะตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มคนที่ดูจะประสบความสำเร็จมากที่สุดคือศิลปิน (กวีและนักดนตรี) แต่คนที่ได้รับการยอมรับจากประวัติศาสตร์ฉบับทางการมากที่สุด คือคนที่สัมพันธ์อย่างห่างๆ บ้าง ใกล้ๆ บ้างกับราชสำนัก เช่น สุนทรภู่ และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เป็นต้น
ในแง่นี้รวมนักปราชญ์สามัญชนอย่างท่านเจ้าคุณอนุมานราชธนด้วย แต่ไม่รวมไปถึงคนอย่าง ส.ธรรมยศ หรือ จิตร ภูมิศักดิ์
เช่นเดียวกับการพัฒนา นักธุรกิจใหญ่สามารถแทรกตัวเข้ามาในแนวคิดเรื่องการพัฒนาได้ จะเขียนประวัติตัวเองหรือจ้างคนอื่นเขียนก็ตาม เขาคือผู้ตอบสนองต่อโอกาสอย่างชาญฉลาด, กล้าหาญ และบากบั่น จนทำให้ประเทศไทยเป็นอย่างที่เป็นในทุกวันนี้ได้
แต่ทั้งนี้ยังไม่รวมไปถึงชาวนาชาวไร่บุกเบิก และแรงงานบุกเบิกชาวไทย ซึ่งอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อสร้างอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และอุตสาหกรรมส่งออก ที่งอกงามมาจนถึงทุกวันนี้
แม้กระนั้น ผมคิดว่าในทุกวันนี้ประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการกำลังถูกท้าทายและลุกล้ำอย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นหลัง 2475 ไม่อาจอธิบายได้ด้วยกรอบคิดแบบพระราชพงศาวดารอีกแล้ว (อันที่จริง นักประวัติศาสตร์บางท่านคิดว่า ใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ ร.5 แล้วด้วยซ้ำ) เหตุดังนั้นประวัติศาสตร์ฉบับทางการจึงหยุดลงที่รัชกาลที่ 7 ที่เหลือหลังจากนั้นเป็นเพียง "สารคดีทางประวัติศาสตร์" ไม่ใช่ "ประวัติศาสตร์" แท้
นิทรรศการประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ คือการตรึงให้อุดมคติแห่งชาติ ซึ่งมีผู้คนเข้าไปมีส่วนออกแบบมากขึ้น และหลากหลายขึ้นทุกที หยุดนิ่งอยู่ที่ "มหาราช" ซึ่งนักประวัติศาสตร์ก็ยังบรรยายถึงด้วยกรอบคิดแบบเดิม แม้จะเพิ่มเติมเนื้อหาลงไปอีกมาก แต่ก็อยู่ภายใต้แนวการวิเคราะห์อย่างเดิม
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย