http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-19

วิกฤติหนี้ลุกลาม: (2)ร้อนกันไปทั้งโลก โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (2)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 35


วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีศูนย์กลางเริ่มที่สหรัฐ ได้แผ่ขยายและโจมตียุโรปอย่างรุนแรง จนปัจจุบันดูจะหนักหนากว่าในสหรัฐเสียอีก เพราะว่าวิกฤติหนี้ในสหรัฐที่สำคัญเกิดจากสถาบันการเงิน โดยทางรัฐบาลเข้าไปช่วยไถ่ถอนอุ้มเอาไว้ไม่ให้ล้ม ขณะที่วิกฤติในยุโรปตอนใต้เป็นวิกฤติหนี้ของรัฐบาลเองที่ทำท่าว่าจะต้องผิดชำระหนี้ 
วิกฤตินี้ได้ลามเข้าสู่สถาบันการเงินทั่วยุโรปที่เป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลอย่างรวดเร็ว 
วิกฤติหนี้ของกรีซได้ปะทุขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2010 และสถานการณ์ดูเหมือนจะหนักขึ้นไม่ได้เบาลง ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในสถาบันการเงิน

มีข่าวว่าในวันที่ 14 พฤษภาคม 2012 วันเดียว มีผู้ถอนเงินจากธนาคารในกรีซสูงเกือบ 900 ล้านยูโร (ดูบทความของ Stefan Kaiser ชื่อ Fears of Bank Runs Mount in Southern Europe ใน spiegel.de 180512
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2010 ที่เริ่มเกิดวิกฤติมีผู้ถอนเงินออกจากธนาคารในกรีซถึง 72 พันล้านยูโร หรือราวร้อยละ 30 ของยอดเงินฝาก เหตุการณ์เช่นนี้ดูเหมือนว่าจะทำให้วิกฤติยิ่งเลวร้ายลงไปอีก 
วิกฤติใหญ่นี้ แนวคิดกระแสหลักเห็นว่าเกิดจากผู้แสดงได้แก่รัฐบาลและบรรษัทการเงินประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสม และใช้มาตรการเยียวยาโดยแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น แต่ความพยายามดังกล่าวกระทำมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ ทั้งดูจะคุลามขึ้นมาใหม่

ดังนั้น เป็นไปได้ว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติหนี้ครั้งนี้จะอยู่ลึกซึ้งกว่าการกระทำของรัฐบาลหรือภาคธุรกิจเอกชน นั่นคือเป็นปัญหาของระบบ



เหตุปัจจัยของวิกฤติ
: ปัญหาจากระบบ


การมองว่าวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ครั้งนี้มีลักษณะเชิงโครงสร้างและเกิดจากเนื้อในของระบบทุนเองนั้น กล่าวได้ว่าเป็นการมองจากฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งที่สำคัญเป็นการอธิบายตามแนวคิดลัทธิมาร์กซ์  
ผลงานสำคัญของมาร์กซ์ (1818-1883) มีหลายเล่ม เนื้อหาส่วนใหญ่ประมวลมาจากนักคิดนักเขียนและนักวิชาการจำนวนมากของยุโรปโดยเฉพาะจากประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ มาร์กซ์ทำเพียงนำทัศนะและความรู้เหล่านั้นมาวิพากษ์ ร้อยเรียงหรืออธิบายความใหม่ตามปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของตนเท่านั้น 
การมองโลกแบบมาร์กซ์ก็คือมองสิ่งต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมในห้วงเวลาที่แน่นอน โดยที่สิ่งเหล่านี้มีการเคลื่อนที่หรือก้าวหน้าตามกฎความขัดแย้งภายในของมัน ซึ่งมีทั้งด้านภววิสัยและอัตวิสัย 
สิ่งที่มาร์กซ์นำเสนอเป็นเรื่องใหม่ที่สำคัญดูจะเป็นเรื่องเดียวคือเรื่อง การทำงานส่วนเกิน (Surplus Labour) และมูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) เพื่ออธิบายว่าระบบทุนขูดรีดแรงงานได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้ใช้แรงงานเกณฑ์เหมือนสมัยฟิวดัล

การวิพากษ์ระบบทุนของมาร์กซ์นั้นเป็นการกล่าวจากสิ่งที่พื้นๆ และง่ายๆ ที่ปรากฏอยู่ประจำวัน เขากล่าวว่าระบบทุนนั้นดำเนินไปด้วยการใช้เงินก้อนหนึ่งไปผลิตสินค้าเพื่อให้ได้เงินก้อนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้เรียกว่ากำไร 
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือระบบทุนเป็นการผลิตเพื่อแสวงหากำไร และระบบนี้ก็ขับเคลื่อนตัวของมันเองไปตามการขัดแย้งระหว่างกำลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต  
ถ้าหากเป็นชนชั้นก็เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นคนงาน นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งอื่นได้แก่ ความขัดแย้งในหมู่นายทุนด้วยกันในการหากำไร ความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิกับอาณานิคม เป็นต้น 
จากการผลิตสินค้าเพื่อหากำไรที่กระทำกันทั่วไป ได้มีการเวียนรอบที่เพิ่มความซับซ้อนขึ้นทุกที เกิดมีตลาดโลก กระแสโลกาภิวัตน์ บรรษัทข้ามชาติ และทุนการเงินอย่างที่เห็นกัน 

การขับเคลื่อนของระบบทุนนิยมก่อให้เกิดผลที่คาดไม่ถึงหลายประการดังนี้ 

1. การแข่งขันทำให้นายทุนพัฒนาพลังการผลิตอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่ง มีการพัฒนาเครื่องจักรและวิธีการผลิต การหาวัตถุดิบและพลังงานไปทั่วโลก การลงทุนในทุนคงที่ได้แก่โรงงานและเครื่องจักรมีสัดส่วนสูงขึ้นทุกที ขณะที่เงินที่ลงไปในทุนแปรผัน ได้แก่ ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น มีสัดส่วนลดลง เกิดความโน้มเอียงที่อัตรากำไรจะลดลง ซึ่งกลุ่มทุนก็ต้องเร่งหาทางออก โดยพัฒนาเครื่องจักรและการผลิตให้สูงขึ้น และกระจายการผลิตไปทั่วโลก เพื่อหาแรงงานและวัตถุดิบราคาถูก จนกระทั่งทั้งโลกมีการผลิตแบบนี้ และระบบทุนก็ถึงทางตัน เกิดการผลิตล้นเกิน สินค้าล้นตลาด ไม่มีใครซื้อ

2. การผลิตเพื่อหากำไรนี้ เมื่อมีการผลิตซ้ำมากรอบ ก็ทำให้เกิดสะสมทุนอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยนิด สำนวนของสภาพัฒน์กล่าวว่า "รวยกระจุก จนกระจาย" การสะสมทุนในปัจจุบันมีมากจน นักเคลื่อนไหวเรียกว่าตกอยู่ในการควบคุมของพวกร้อยละ 1 ส่วนประชาชนร้อยละ 99 อยู่อย่างเสี่ยงที่ชีวิตความเป็นอยู่จะตกต่ำลง เกิดการแบ่งคนในสังคมออกเป็น 2 ขั้ว ที่จะต่อสู้กันอย่างรุนแรง ในอีกด้านหนึ่งการที่คนส่วนใหญ่ที่สุดมีเงินน้อย ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่าบริโภคต่ำเกิน (Underconsumption) เป็นอีกด้านหนึ่งของการผลิตล้นเกิน ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยถี่และรุนแรงขึ้น

3. นายทุนที่ คิดไม่ทัน เปลี่ยนไม่ทันหรือโชคไม่ดี ก็จะล้มละลาย โดยเฉพาะในยามเกิดวิกฤติ เกิดทุนผูกขาด บรรษัทข้ามชาติที่ครอบงำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด ธนาคารใหญ่ 5 แห่งของสหรัฐ ได้แก่ เจพีมอร์แกนเชส, ธนาคารแห่งอเมริกา, กลุ่มซิตี้แบงก์, ธนาคารเวล ฟาร์โก และโกลด์แมน แซกส์ เมื่อก่อนเกิดวิกฤติในปี 2006 มีสินทรัพย์รวมกันราวร้อยละ 43 ของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่เมื่อเกิดวิกฤติและได้รับการอุ้มชูไถ่ถอนจากรัฐบาล ก็ใหญ่โตขึ้นมาก มีทรัพย์สินถึง 8.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราวร้อยละ 56 ของเศรษฐกิจสหรัฐ (ดูบทความชื่อ Big Five Banks Larger the before Crisis, Bailout ใน journalnow.com, 220412)

4. ปัญหาเกี่ยวกับเงินและสินเชื่อหรือหนี้ มาร์กซ์เห็นว่าเงินและสินเชื่อมีบทบาทสำคัญในด้านการแลกเปลี่ยนหรือในการซื้อขาย เพราะการซื้อขายทำให้กำไรเกิดเป็นจริงขึ้นมา ไม่เช่นนั้นสินค้าก็จะตกค้างในคลังสินค้าหรือชั้นวางสินค้าตามห้างร้าน เงินและสินเชื่อนี้จะมีลักษณะเสรี ค่อนข้างปลอดจากการควบคุม ต่างกับการผลิต

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเห็นว่าการขยายสินเชื่อหรือหนี้สินเป็นการเติมเต็ม "ช่องว่างทางอุปสงค์" (Demand Gab) เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว เกิดกำไรและการลงทุนต่อไปได้


หลังมรณกรรมของมาร์กซ์ระบบทุนก็ยังก้าวหน้าต่อไป กิจการด้านการเงินและสินเชื่อที่ค่อนข้างเสรีได้พัฒนาเป็นภาคการเงินที่ทรงอิทธิพล ในปี 1910 ได้มีผู้เขียนถึงทุนการเงินที่ผุดบังเกิดขึ้นนี้ หลังการปฏิวัติสังคมนิยมครั้งแรก สหภาพโซเวียตดูเหมือนจะเป็นผู้ผูกขาดในการอธิบายลัทธิมาร์กซ์ แต่ก็มีชาวลัทธิมาร์กซ์ในประเทศทุนก้าวหน้าหลายประเทศที่พยายามตั้งสำนักคิดเพื่อการตีความหมายและพัฒนาลัทธิมาร์กซ์ตามทัศนะของตน 
สำนักที่น่าสนใจได้แก่สำนักวารสารมันธ์ลี รีวิวในสหรัฐ มีสวีซี (Paul Sweezy 1910-2004) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสำคัญในปี 1949 มันธ์ลี รีวิวเป็นสำนักคิดสังคมนิยมที่เสรี เคลื่อนไหวตามแนวทางของตน ไม่สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ใด  
วารสารมันธ์ลี รีวิวได้วิพากษ์ทุนนิยมก้าวหน้าในโลกตะวันตกอย่างต่อเนื่อง สร้างคำอธิบายใหม่ขึ้นจำนวนหนึ่ง 

ในช่วงทศวรรษ 1960 เกิดกระแสการเรียกร้องของนักศึกษาปัญญาชนบางทีเรียกว่ากลุ่มซ้ายใหม่ วารสารมันธ์ลี รีวิว จึงอยู่ในกลุ่มซ้ายเก่าที่อุ้ยอ้าย เพราะมักย้อนไปเริ่มต้นทางทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ และอาศัยข้อเท็จจริงจำนวนหนึ่งมาสนับสนุนการตีความของตน ไม่รวดเร็วทันใจ และไม่หลากหลายเหมือนทัศนะจำนวนมากในขบวนนักศึกษาปัญญาชน 
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงทศวรรษ 1980 ที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่และกระแสโลกาภิวัตน์ขึ้นสู่กระแสสูง ขบวนซ้ายใหม่อ่อนกำลังลง วารสารมันธ์ลี รีวิว ได้แสดงศักยภาพของตนในการวิเคราะห์วิจารณ์ปรากฏการณ์ใหม่เหล่านี้อย่างถึงราก 
ชี้ให้เห็นถึงบรรษัทข้ามชาติที่มีลักษณะผูกขาด และกลุ่มทุนการเงินที่ทรงอิทธิพลในขอบเขตทั้งโลก 
ได้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤติไม่สิ้นสุดของระบบทุนที่ก้าวหน้า และทายล่วงหน้าเป็นปีถึงฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ว่าจะเกิดขึ้น 
ทุกวันนี้บทความในวารสารนี้ได้รับการยอมรับและมีการอ้างอิงถึงมากขึ้น แต่ก็อยู่ในขอบเขตความคิดทฤษฎีเป็นสำคัญ

สำนักนี้ได้ชี้ให้เห็นว่านับแต่ครึ่งหลังทศวรรษที่ 1970 ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกที่เรียกว่ากลุ่ม 3 ได้แก่ สหรัฐ ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ได้เข้าสู่ภาวะซบเซา (Stagnation) อย่างเรื้อรัง  
จนกล่าวเป็นทฤษฎีได้ว่า ระบบทุนนิยมเมื่อพัฒนาถึงขั้นก้าวหน้าจะเข้าสู่ภาวะซบเซา 

อนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดกรณีวิกฤติน้ำมันครั้งแรกในปี 1973-1974 ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศตะวันตก บางคนที่เชื่อในเรื่องการหมดไปของพลังงานได้ชี้ว่า สาเหตุสำคัญของการถดถอยและการซบเซาทางเศรษฐกิจในประเทศระบบทุนก้าวหน้าเกิดจากปัญหานี้ 
แต่อาจกล่าวได้ว่าการประจวบของทั้ง 2 เหตุปัจจัยทำให้เกิดวิกฤติไม่สิ้นสุด



สวีซีเห็นว่าระบบทุนได้ค่อยๆ เปลี่ยนวิธีการสะสมทุนจากการแข่งขันเสรีสู่การผูกขาดมากขึ้นโดยลำดับ แต่สะดุดไปด้วยสงครามโลก 2 ครั้ง ในช่วงสั้นๆ หลังสงครามโลกครั้ง 2 ระหว่างปี 1950-1970 ระบบทุนได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เรียกได้ว่าเป็น "ยุคทอง" แต่หลังวิกฤติปี 1974-1975 แล้ว เหตุการณ์ดูจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
ชัยชนะของโลกเสรีในสงครามเย็นช่วยให้ระบบทุนขยายตัวไปทั่วโลกเกินขีดจำกัดเดิม แต่การขยายตัวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างสูงในศูนย์กลางทุน ได้แก่ สหรัฐ ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่นเอง รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมเดิม ที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย 
เขาเห็นว่ามีแนวโน้มสำคัญ 3 ประการในระบบทุนโลกที่เริ่มจากภาวะถดถอยในปี 1974-75 ได้แก่ 1. การลดลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม 2. การแพร่กระจายของบรรษัทข้ามชาติที่มีลักษณะผูกขาด 3. การแปรกระบวนการสะสมทุนให้เป็นเชิงการเงิน แนวโน้มเหล่านี้เกิดขึ้นในกระแสรุดไหลของโลกาภิวัตน์

การชะลอตัวของอัตราการขยายตัวของศูนย์กลางระบบทุน 3 ภูมิภาคนี้เกิดขึ้นในยุโรปกับญี่ปุ่นมากกว่า แต่ในสหรัฐก็ถูกผลกระทบไม่น้อย และไม่เคยมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงไปกว่าในทศวรรษ 1960 อันตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐระหว่างปี 2000-2011 ต่ำกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1960 ถึงร้อยละ 63 
การชะลอตัวนี้เกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย ได้แก่ การแข่งขันจากประเทศกำลังพัฒนาที่ได้สร้างอุตสาหกรรมของตนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ตลอดจนปกปักรักษาทรัพยากรไว้ใช้เพื่อประโยชน์ตนมากขึ้น นอกจากนี้ อัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงในประเทศทุนก้าวหน้าทำให้สินค้าราคาแพง แข่งขันสู้ไม่ได้ จึงใช้วิธีย้ายฐานการผลิตไปยังที่แรงงานถูก และกดค่าจ้างแรงงานไม่ให้เพิ่ม 
ซึ่งยิ่งซ้ำเติมอัตราการขยายตัวให้ต่ำลง



สําหรับการสร้างบรรษัทข้ามชาติที่มีลักษณะผูกขาดและรวมศูนย์ทุนอย่างเข้มข้นนั้น ส่งผล 2 ด้านที่ขัดกัน
ด้านหนึ่งก่อให้เกิดกำไรมากขึ้น 
อีกด้านหนึ่ง ลดทอนแรงจูงใจในการลงทุนในตลาดที่มีการผูกขาด จึงเกิดภาวะที่ว่ากำไรเพิ่มขึ้น แต่โอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างกำไรยิ่งลดลง ทำให้การสะสมทุนชะลอตัว ซึ่งก็ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวไปด้วย เพราะว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดจากการขยายตัวของการสะสมทุน

การขยายตัวของทุนการเงินหรือการทำให้ระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นแบบการเงิน (Financialisation) เกิดขึ้นในท่ามกลางสภาพที่เงินกำไรที่ได้มานั้นไม่สามารถกลับไปลงทุนเพื่อสร้างกำไรได้อีกในเศรษฐกิจการผลิตจริง เงินกำไรนี้จึงไหลไปสู่การหาประโยชน์และการเก็งกำไรทางการเงิน เช่นการขยายสินเชื่อและการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกาสิโนขึ้นไปทุกที จนกระทั่งล่มสลาย (ดูบทความของ Paul Sweezy ชื่อ More (or Less) on Globalization ใน monthlyreview.org กันยายน 1997 และของ John Bellamy Foster และ Robert W. McChesney ชื่อ The Endless Crisis ในวารสารเดียวกันฉบับเดือนพฤษภาคม 2012 )

ในฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเหตุปัจจัยของวิกฤติหนี้จากแง่ของประวัติศาสตร์หนี้



.