http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-19

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(9) (10): “นิวเคลียร์” ชั่วคราว?, ฆ่าตัวตายหมู่ โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (9): ปลอด "นิวเคลียร์" ชั่วคราว?
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 39


เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าด้วย "นิวเคลียร์" เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โทมาริ บนเกาะฮอกไกโด หยุดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เพื่อซ่อมบำรุงและตรวจสอบระบบความปลอดภัย 
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 41 ปี ที่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์ทั้งหมด 54 เครื่อง แม้แต่ "วัตต์" เดียว 
การตรวจสอบระบบความปลอดภัยหรือซ่อมบำรุงดังกล่าวนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "ฟุคุชิมา" ระเบิด กัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่ภายนอก ภายหลังเกิดแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์และคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554

ณ ขณะนี้ยังไม่รู้ว่า เมื่อการตรวจสอบระบบความปลอดภัยและเช็กระบบซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โทมาริ เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นจะอนุญาตให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผลิตพลังงานป้อนบ้านเรือน โรงงานและชุมชน เหมือนเดิมหรือไม่ 
หรือว่าญี่ปุ่นจะปลอดจาก "นิวเคลียร์" อย่างถาวร เหมือนๆ "นิวซีแลนด์"


แต่เป็นที่แน่นอนว่า ชาวญี่ปุ่นราว 80 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นนักธุรกิจ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม คัดค้านแนวทาง "ปลอดนิวเคลียร์" 
อย่างไรก็ตาม ผลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นไม่ผลิตพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของระบบไฟฟ้าทั้งหมด รัฐบาลต้องคิดหาทางออกในการแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง 
ใครๆ ในญี่ปุ่น ต่างรู้ดีว่า เมื่อถึงฤดูร้อนคราใด จะต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงเฉลี่ย 40 องศาเซลเซียส

หลายๆ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่น พยายามรณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงและแนะนำให้บริษัทห้างร้านเลิกเปิดเครื่องปรับอากาศ เรียกร้องให้พนักงานถอดสูท ปลดเน็กไทออก และใส่เสื้อผ้าสบายๆ 
ฤดูร้อนครั้งนี้ จะเป็นเกมวัดใจว่า ชาวญี่ปุ่น 130 ล้านคน เอาอย่างไรกับทิศทางพลังงานในอนาคต 
ถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกต่อไป จะทนต่อสภาวะขาดแคลนพลังงานได้หรือไม่ หรือจะมีพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาทดแทนที่ขาดหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ 

พลังงานทางเลือกนั้นคืออะไร - แสงอาทิตย์ กระแสลม พลังงานคลื่นหรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ?
หรือว่าต้องสั่งนำเข้าถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซเข้าไปป้อนโรงไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเดิม?



ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าเชื้อเพลิงธรรมชาติราว 84 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนี้ นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี (Liquefied Natural Gas-LNG) มากที่สุดในโลก ถ้านำเข้าเพิ่มขึ้นอีก ญี่ปุ่นจะสามารถป้องกันปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ในระดับไหน  
แน่นอนว่า ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานป้องกัน "สิ่งแวดล้อม" ได้ดีเยี่ยมติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ต้นทุนในการ "ควบคุม" ก๊าซพิษไม่ให้ฟุ้งกระจายออกสู่ชั้นบรรยากาศหรือกระทบกับสภาวะแวดล้อม ต้องเพิ่มสูงเป็นเงาตามตัว 
เมื่อต้นทุนเพิ่ม นั่นหมายถึงราคาสินค้าก็จะแพงขึ้น

จะว่าไปแล้ว ญี่ปุ่นเหมือนมีกรรม เพราะไม่มีแหล่งพลังงานธรรมชาติเหมือนประเทศอื่นๆ แทบทุกอย่างต้องนำเข้ามา ยิ่งนำเข้ามากเท่าไหร่ ปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะราคาพลังงานมีแต่เพิ่มสูงขึ้น (ญี่ปุ่นต้องจ่ายน้ำมันที่สั่งจากต่างประเทศวันละ 3,000 ล้านบาท) ขณะที่สถานะทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น สาละวันเตี้ยลง คู่แข่งอย่างเกาหลีใต้และจีน กำลังก้าวกระโดดแซงหน้า 
สินค้าเมด อิน เจแปน ในตลาดโลก เริ่มหดหายไปจากชั้นร้านค้า นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำ เดี๋ยวนี้เจอเกาหลีใต้เบียดตกกระแส ดูอย่างโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ 
คาดกันว่า ในอีกราว 1-2 ทศวรรษ ญี่ปุ่นอาจหล่นอันดับต้นๆ ของประเทศพัฒนาแล้วไปอยู่รั้งท้าย


นอกจากนี้แล้ว ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ญี่ปุ่น "ติดกับ" ภัยธรรมชาติ อีกทั้งยังตั้งอยู่บนแนวเลื่อนแผ่นดินไหว แต่ละปีเกิดแรงสั่นสะเทือนเฉลี่ย 1,500 ครั้ง มีพายุ คลื่นสึนามิ ถล่มอยู่เนืองๆ 
ปัจจัยดังกล่าวนี้ ทำให้ญี่ปุ่นเกิดสภาวะกระอักกระอ่วน อนาคตจะเลือกเดินไปทางไหน 
ถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ จะดึงพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาเติมเต็มได้อย่างที่ฝันไว้หรือเปล่า?
แต่ถ้ายืนกรานเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง จะเกิดภาวะเสี่ยงเหมือนที่เกิดกับโรงไฟฟ้า "ฟุคุชิมา ไดอิจิ" อีกหรือไม่

การตรวจสอบระบบความปลอดภัย การซ่อมบำรุงที่รัฐบาลสั่งให้บริษัทซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศทำอย่างเข้มงวดสุดขีด จะสามารถ "ประกัน" ว่า ถ้าเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นสึนามิถล่ม หรือพายุทอร์นาโด กระหน่ำอย่างรุนแรงแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหลายที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว จะยืนหยัดสู้กับภัยเหล่านี้ได้อย่างราบรื่น 

ก่อนวันเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิด ไฟไหม้ ไฟดำลุกโขมงปกคลุมท้องฟ้า ชาวญี่ปุ่นจำได้ว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยจากรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 
แต่ทำไมจึงมีเกิดเหตุบึ้ม กัมมันตรังสีรั่วไหล ผู้คนต้องอพยพหนีตาย?



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (10): ฆ่าตัวตายหมู่
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 34 


ปฏิกิริยาจากการหยุดเดินเครื่องชั่วคราวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 54 โรงทั่วญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคมเป็นต้นมานั้นแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เห็นด้วย
กลุ่มเห็นด้วยเป็นกลุ่มที่คัดค้านการนำนิวเคลียร์มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปที่เห็นว่าภัยจากพลังงานนิวเคลียร์คือสิ่งที่น่าหวาดกลัว เพราะเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นมาเหมือนเช่นเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลเนื่องจากแรงระเบิด ไม่สามารถควบคุมได้ และการบำบัดฟื้นฟูพื้นที่ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีใช้เวลานานมาก 
คนกลุ่มนี้ เฝ้าจับตาสถานการณ์ของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาว่า บริษัทโตเกียว อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ หรือเทปโก้ จะแก้ปัญหาหลังเกิดเหตุและฟื้นฟูบำบัดอย่างไรให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือว่าเทปโก้ต้องหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแห่งนี้อย่างถาวร? 
เวลานี้ ยังมีข้อถกเถียงกันถึงเรื่องการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาว่า มีปริมาณเท่าไหร่กันแน่ 

ข่าวล่าสุดบอกว่า เทปโก้ให้ข้อมูลต่ำกว่าความเป็นจริงมาก 
เทปโก้ แถลงหลังเกิดเหตุเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าระเบิดทั้ง 3 เตา หลอมละลายในวันแรกว่า มีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา 900,000 เทราเบ็กเกอแรล (tera becquerels หน่วยวัดการสลายตัวของกัมมันตรังสี) 
แต่ผลการประเมินเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ปริมาณไอโอดี-131 แพร่กระจายออกมาจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา มีปริมาณมากกว่าที่ประเมินไว้ในตอนแรก
ตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไอโอดี-131 เป็นไอโซโทปรังสีที่มีอันตรายที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น 
ผู้ได้รับไอโอดี-131 ทำให้เนื้อเยื่อได้รับความเสียหายมักจะแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไปแล้วเป็นปี ซึ่งไอโอดี-131 สลายตัวหมดไปแล้ว
ถ้าหากเป็นไปตามการประเมินผลล่าสุด ชาวญี่ปุ่นจะเกิดภาวะหวาดวิตกถึงภัยจาก "กัมมันตรังสี" ของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมามากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์หรือเปล่า?


ในขณะที่คนอีกกลุ่มซึ่งคัดค้านการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมองอีกมุม 
คนกลุ่มนี้บอกว่า ถ้าญี่ปุ่นไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อนาคตจะอับเฉาแน่ เพราะพลังงานไฟฟ้าขาดแคลน โรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่ไม่ได้ต้องเผ่นหนีย้ายโรงงานไปอยู่ประเทศอื่น ธุรกิจเจ๊งล้มระเนระนาด 
นายโยชิโตะ เซนโกกุ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยบอกว่า โรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างถาวรเมื่อไหร่ เปรียบเหมือนกับการฆ่าตัวตายหมู่ 
การถกเถียงทางความคิด ระหว่าง "เอา-ไม่เอา" โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แพร่กระจายไปทั่วเกาะญี่ปุ่นและซึมลึกไปถึงกลุ่มการเมือง


นักการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นพากันหยิบฉวยประเด็นนี้มาหาเสียง 
นายโทรุ ฮาชิโมโต นายกเทศมนตรีแห่งนครโอซาก้า ก็เป็นอีกคนที่ชูประเด็น "ไม่เอานิวเคลียร์" ทำให้กระแสความนิยมพุ่งกระฉูดอย่างรวดเร็ว

โอซาก้าต้องพึ่งพาพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "โออิ" ของบริษัทคันไซ อิเล็กทริกส์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองโกเบ ติดกับชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น 
เมื่อเกิดเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระเบิด บรรดาชาวเมืองโอซาก้าพากันหวั่นวิตกว่า จะเกิดเหตุร้ายขึ้นกับโรงไฟฟ้าโออิ เพราะโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ในแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก 
ถ้าเกิดแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนขนาด 9.0 ริกเตอร์ เหมือนกับเกิดในพื้นที่ฟุคุชิมา โรงไฟฟ้า "โออิ" จะรับมือไหวหรือเปล่า? นี่เป็นข้อกังวลของชาวโอซาก้า โดยเฉพาะประชาชนทั่วไป
ขณะนี้เตาปฏิกรณ์ 2 เตาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิอยู่ระหว่างการตรวจสอบความปลอดภัย รัฐบาล นายโยชิฮิโกะ โนดะ วางเกณฑ์การตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่า ถ้าโรงไฟฟ้าแห่งนี้กลับมาเดินเครื่องตามปกติแล้วจะไม่มีเหตุร้ายซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

แต่กระนั้น ชาวโอซาก้าส่วนใหญ่ ยังไม่ไว้วางใจกับมาตรการความปลอดภัยของรัฐบาลนายโนดะซะเท่าไหร่
นายฮาชิโมโตจับความรู้สึกเป็นกังวลนี้ได้ นำมาขยายเป็นประเด็นเรียกความนิยมจนกระทั่งสื่อญี่ปุ่นบางแห่งเก็งไว้ว่า นายฮาชิโมโตคนนี้แหละมีแววเป็น "นายกฯ" ในอนาคต



.