http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-21

ศิริพงษ์: ภูมิฯกับวัฒนธรรม, โบโกตา, พบมีเทนผุดเหนืออาร์กติกฯ

.
บทความของปี 2554 - พืชตัดต่อพันธุกรรม ใครว่าให้ผลผลิตสูงกว่า โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ภูมิศาสตร์กับวัฒนธรรม
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 100 

หากเอาแผนที่โลกมากางดูเราจะเห็นรูปร่างลักษณะของประเทศแต่ละประเทศในแผนที่แตกต่างกันออกไป ลักษณะของประเทศที่แตกต่างกันนี้มีผลอะไรหรือไม่ต่อสังคมมนุษย์ 

ในหนังสือ "ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์" อันลือลั่นของ จาร์ ไดมอนด์ มีสมมติฐานประการหนึ่งว่าสาเหตุหนึ่งที่อารยธรรมยูเรเชียมีอิทธิพลครอบงำโลกก็เพราะลักษณะของทวีปที่มีด้านกว้างจากตะวันตกไปตะวันออกยาวมากกว่าด้านสูงจากเหนือลงใต้
ทวีปที่มีด้านกว้างแคบกว่าจะมีความแตกต่างด้านสภาพภูมิอากาศน้อยกว่า ดังนั้น พืชและสัตว์จึงปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกันมากกว่า ผลดีที่ตามมาก็คือนวัตกรรมทางด้านการเกษตรสามารถแพร่กระจายไปได้ง่ายกว่า รวมทั้งวัฒนธรรมและความคิด
ไดมอนด์จึงทำนายว่าตามแนวเส้นรุ้ง (เส้นที่ขนานกับเส้นศูนย์สูตร) จะมีความกลมกลืนมากกว่าแนวเส้นแวง
หนังสือเล่มที่ว่านั้นออกมาในปี 2540 ล่วงมาจนถึง พ.ศ.นี้ ดูเหมือนว่าพอจะมีการศึกษายืนยันทฤษฎีแกนทวีปที่ว่านั้นอยู่เหมือนกัน


ในนิตยสารเนเจอร์รายงานถึงผลการศึกษาเพื่อทดสอบสมมติฐานของไดมอนด์โดยทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ยืนยันสมมติฐานนี้ โดยใช้ภาษาเป็นตัวชี้วัดแทนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และวิเคราะห์สัดส่วนของภาษาท้องถิ่นในประวัติศาสตร์ที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบันใน 147 ประเทศ เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ที่มีต่อลักษณะของประเทศ 
ตัวอย่างเช่นทีมนักวิจัยพิจารณาความแตกต่างของชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีแกนเหนือใต้ยาว เทียบกับตุรกีที่มีแกนออกตกยาวกว่า เป็นต้น
นักวิจัยพบว่ายิ่งประเทศมีแกนออกตกยาวกว่าแกนเหนือใต้มาก ก็จะยิ่งมีภาษาท้องถิ่นน้อยลง ตามแบบจำลองนี้ มองโกเลียซึ่งมีด้านกว้างยาวเป็นสองเท่าของด้านสูงก็สามารถทำนายได้ว่าจะมีภาษาท้องถิ่นน้อยกว่าแองโกล่าซึ่งลักษณะประเทศเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสร้อยละ 5
เมื่อนักวิจัยสำรวจภาษาท้องถิ่นที่มีใช้อยู่ในทั้งสองประเทศก็พบว่าผลเป็นไปตามแบบจำลอง

ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้แม้จะไม่ใช่ความสัมพันธ์โดยตรงก็ตาม แต่ก็ช่วยให้เราสามารถเข้าใจอะไรต่อมิอะไรได้เพิ่มมากขึ้นมาอีกเยอะ เพราะเป็นที่รู้กันว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมีความเชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าและโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงสูงกว่า
ที่จริงแล้ว ในงานวิจัยชิ้นนี้มีรายละเอียดที่ซับซ้อนลงไปมากกว่าแค่วัดขนาดประเทศแล้วไปนับภาษาท้องถิ่นเพื่อหาความสัมพันธ์ แต่ยังพิจารณาตัวแปรอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการแพร่กระจายของภาษาด้วย 
อยากรู้ละเอียดต้องตามไปอ่านต้นฉบับครับ



++

โบโกตา โมเดล เมืองเพื่อสุขภาพ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 100


เมืองใหญ่ๆ ในหลายประเทศที่แออัดมีประชากรอยู่กันมากๆ มีปัญหาคล้ายๆ กันคือปัญหาการจราจร บางเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีก็ค่อยยังชั่วหน่อย แต่ที่แย่ๆ ก็ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาไปมากมายในแต่ละวันบนท้องถนน 
ในบ้านเราเคยมีแนวคิดที่จะจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในบางส่วนของกรุงเทพมหานคร แต่แนวคิดนี้ไปไม่ถึงดวงดาว เพราะเสียงของคนใช้รถยนต์ผู้ยึดครองถนนส่วนใหญ่ดังกว่าเสียงของชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดา 
ทุกวันนี้หลายเมืองในหลายประเทศพยายามขอพื้นที่ถนนคืนมาให้คนเดินดินใช้ อย่างน้อยก็บางส่วนและเฉพาะบางวัน ตัวอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นต้นแบบให้กับโลกก็คือ เมืองโบโกตา เมืองหลวงของโคลัมเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ มีประชากรอยู่มากกว่า 7 ล้านคน


ในแต่ละวันสภาพการจราจรของโบโกตาจะแออัดไปด้วยรถยนต์ ยกเว้นวันอาทิตย์ ที่ถนนหลายสายจะปลอดรถยนต์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนออกมาเดิน มาขี่จักรยาน เล่นสเก็ต หรือทำกิจกรรมอื่นตามท้องถนน 
ฟังดูเหมือนการปิดถนน หรือคล้ายโครงการถนนคนเดินธรรมดาซึ่งในหลายกรณีกลับซ้ำเติมปัญหาจราจรให้สาหัสยิ่งขึ้น แต่โทษทีครับโบโกตา โมเดล นั้นไม่ธรรมดา เพราะถนนปลอดรถยนต์ในวันอาทิตย์ที่ริเริ่มมานานร่วมสามสิบปีนั้นจนถึงปัจจุบันขยายครอบคลุมถนนคิดเป็นระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร 
ทุกวันอาทิตย์จะมีคนออกมาใช้ถนนปลอดรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 30 ของประชากร 
ความสำเร็จนี้เกิดจากการผลักดันของอดีตผู้ว่าการเมืองโบโกตาและเสียงสนับสนุนของประชน เคยมีผู้แทนสภาเมืองเสนอให้จำกัดเวลาปลอดรถยนต์ลงเหลือตั้งแต่ตีห้าจนถึงเที่ยงวันเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว แต่ถูกคัดค้านจากอดีตผู้ว่าการและประชาชนจนตกไป


การปิดถนนของโบโกตาอาจจะทำให้เมืองต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปราวปีละ 1.7 ล้านเหรียญ แต่สิ่งที่ได้คืนกลับมานั้นมากกว่า เฉพาะด้านสุขภาพของคนเมืองที่ประเมินกันไว้เป็นตัวเลขสูงกว่าส่วนที่สูญเสียมากกว่าถึง 4 เท่า

ผมเชื่อว่าโครงการถนนปลอดรถยนต์นี้ หากศึกษาและวางแผนกันดีๆ ในหลายๆ จังหวัดสามารถจะริเริ่มวางรากฐานกันได้ก่อนที่ความเป็นเมืองจะขยายจนเอาไม่อยู่เหมือนที่เป็นกันหลายเมืองในเวลานี้ ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ 
ขอเพียงให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีวิสัยทัศน์ยาวไกลสักหน่อย และภาคประชาชนตื่นตัว



++

พบมีเทนผุดเหนืออาร์กติก สัญญาณเตือนภัยโลกร้อน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 100


โลกเมื่อราว 250-225 ล้านปี ก่อนอยู่ในยุคที่นักธรณีวิทยาเรียกขานกันว่ายุคเพอร์เมียน ยุคนี้เป็นยุคที่โลกสีเขียวสดใสสิ่งมีชีวิตเบ่งบาน 
แต่เข้าสู่ปลายยุคก็เกิดปรากฏการณ์โลกาวินาศขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ใช่ทีละ 1 หรือ 2 องศาเซลเซียส แต่ขึ้นไปถึง 6 องศาเซลเซียส 

จากการขุดค้นทางธรณีวิทยานำไปสู่ข้อสรุปว่าปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงที่สุดที่ขึ้นในยุคเพอร์เมียนนำไปสู่การสูญพันธุ์อย่างขนานใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก สิ่งมีชีวิตราวร้อย 95 สูญพันธุ์ไป และตัวการสำคัญก็คือก๊าซมีเทนหรือน้ำแข็งแห้งมีเทนใต้พื้นทะเลที่ปลดปล่อยออกมาอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการสั่งสมคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก่อให้เกิดปฏิกิริยาย้อนกลับจนเกิดเป็นปรากฏการณ์กู่ไม่กลับ หรือ runaway effect   
รายละเอียดของเรื่องนี้ที่บรรยายให้เห็นภาพได้ในเชิงวิชาการอยู่ในหนังสือ "หกองศาโลกาวินาศ" ของ มาร์ก ไลนัส การปรากฏตัวของปีศาจร้ายมีเทนนั้นยิ่งเสียกว่าระเบิดนิวเคลียร์


ที่เอาเล่านี้มาเล่าไว้อย่างรวบรัดก็เพราะเมื่อราวๆ ปลายเดือนเมษายน วารสาร Nature Geoscience ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่มีนักวิจัยตรวจพบก๊าซมีเทนขณะบินผ่านเหนือรอยแยกของน้ำแข็งทะเลหรือบริเวณที่น้ำแข็งละลายในทวีปอาร์กติก 
แต่ละครั้งที่บินผ่านบริเวณดังกล่าวนี้ระดับก๊าซมีเทนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แตกต่างจากเมื่อผ่านบริเวณที่เป็นแผ่นน้ำแข็งปรกติไม่ตรวจพบก๊าซมีเทน 
การบินสำรวจนี้เป็นการบินซ้ำหลายครั้งประมาณ 950 ไมล์ ไปทางเหนือของชายฝั่งอะแลสกา และ ราว 350 ไมล์ ทางใต้ขั้วโลกเหนือ สิ่งที่นักวิจัยพบทำให้ประหลาดใจ เพราะแหล่งปลดปล่อยมีเทนมาจากส่วนลึกไปในมหาสมุทร แตกต่างจากที่เคยพบบริเวณผิวทะเลจากการสำรวจครั้งสุดท้ายที่ไซบีเรีย 
สิ่งที่นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศเป็นกังวลก็คือระดับการปลดปล่อยขึ้นสู่มีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเร็วมาก และมีเทนจัดเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 20-25 เท่า ในวงจร 100 ปี ซึ่งจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาย้อนกลับที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนระดับหนึ่งก็จะหยุดไม่อยู่


แน่นอนว่าระดับการปลดปล่อยมีเทนในขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นอันตรายเมื่อเทียบสัดส่วนกับก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นจะเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาย้อนกลับวนไปวนมาและกระตุ้นมีเทนให้ปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากลำบากที่สุด เนื่องจากเป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก แต่วาระร่วมของโลกที่จะฟันฝ่าจากปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ นอกจากนั้น ยังเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่ทำให้ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ 
การค้นพบของนักวิจัยคณะนี้เป็นเหมือนสัญญาณเตือนที่ทุกคนควรจะตระหนัก



++++

บทความของปี 2554

พืชตัดต่อพันธุกรรม ใครว่าให้ผลผลิตสูงกว่า
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601  หน้า 100


วิกฤตอาหารของโลกเป็นสิ่งที่เราพอจะรับรู้กันอยู่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารค่อนข้างสมบูรณ์ก็ตาม ปัญหาขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีเสียงเร่งเร้าให้หันไปหาพืชต่อพันธุกรรม ที่ถูกหยิบยกมาว่าจะช่วยแก้ไขวิกฤตอาหาร หรือกระทั่งลดความอดอยากขาดแคลนในประเทศโลกที่สาม คำตอบที่ว่านี้มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยออกมาชิ้นหนึ่ง ผู้ทำวิจัยคือศาสตราจารย์ บาร์นีย์ กอร์ดอน แห่งภาควิชาพืชไร่ มหาวิทยาลัยแคนซัสในสหรัฐอเมริกา เป็นงานวิจัยภาคสนามในเขตเพาะปลูกธัญพืชของสหรัฐที่ใช้เวลาราวสามปี แล้วพบว่าพืชตัดต่อพันธุกรรมน่าจะไม่ใช่คำตอบ เพราะข้อสรุปจากการวิจัยพบว่า ผลผลิตของถั่วเหลืองตัดต่อพันธุกรรมต่ำ (ถั่วเหลืองจีเอ็ม) กว่าถั่วเหลืองธรรมชาติ 
สาเหตุที่ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัสจับงานวิจัยเรื่องนี้ก็เพราะมีเกษตรกรหลายคนที่เปลี่ยนมาปลูกถั่วเหลืองจีเอ็มสังเกตเห็นว่าผลผลิตไม่ได้สูงอย่างคาดแม้เมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมที่เอื้อต่อถั่วเหลืองมากที่สุดแล้ว พวกเขาสงสัยว่าผลผลิตที่ได้ต่ำกว่าเดิมไปได้อย่างไร

ในการวิจัยภาคสนามบาร์นีย์ปลูกถั่วเหลืองตัดต่อพันธุกรรมของมอนซานโต้ ซึ่งถูกตัดต่อพันธุกรรมให้ต้านทานยาปราบศัตรูพืชยี่ห้อราวด์อัพของมอนซานโต้ วิธีนี้เป็นวิธีปกติของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการเกษตร กล่าวคือผลิตทั้งเมล็ดพันธุ์และสารเคมี ที่ไม่สามารถใช้แยกจากกันได้ ถาไม่ซื้อพ่วงก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย  
ในแปลงใกล้กันบาร์นีย์ปลูกถั่วเหลืองที่ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรมโดยเลือกสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับถั่วเหลืองตัดต่อพันธุกรรมของมอนซานโต้มากที่สุด 
ผลที่ออกมาก็คือถั่วเหลืองตัดต่อพันธุกรรมให้ผลผลิต 70 บุชเชลต่อเอเคอร์ ขณะที่ถั่วเหลืองธรรมชาติให้ผลผผลิต 77 บุชเชลต่อเอเคอร์ หรือสูงกว่าราว 10 เปอร์เซ็นต์ 
ถั่วเหลืองตัดต่อพันธุกรรมของมอนซานโต้สามารถจะเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้ก็ต่อเมื่อใส่แมงกานีสเพิ่มเท่านั้น แต่เพิ่มได้อย่างมากที่สุดก็เท่ากับถั่วเหลืองธรรมชาติเท่านั้น ไม่สูงกว่า 
ทำให้น่าสงสัยว่าผลจากการตัดต่อพันธุกรรมอาจจะไปขัดขวางการดูดซึมสารอาหารที่สำคัญจากดินของถั่วเหลือง


นี่ไม่ใช่การศึกษาชิ้นแรกที่บ่งชี้ว่าพืชตัดต่อพันธุกรรมให้ผลผลิตต่ำกว่าพืชไม่ตัดต่อพันธุกรรม ก่อนหน้านี้มีการศึกษาอีกชิ้นของมหาวิทยาลัยที่ค้นพบว่าถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมอีกพันธุ์หนึ่งของมอนซานโต้ก็ให้ผลผลิตต่ำกว่าถั่วเหลืองไม่ตัดต่อพันธุกรรมเช่นกัน กล่าวคือต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับถั่วเหลืองสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด และต่ำกว่าถึง 11 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีที่สุดที่มีอยู่ตลาด

ในการศึกษาของมหาวิทยาลัยเนบราสก้าระบุว่าสาเหตุที่ทำให้ถั่วเหลืองตัดต่อพันธุกรรมให้ผลผลิตต่ำกว่า นั่นคือ ความเหลื่อมของเวลา เพราะเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมใช้เวลานาน กว่าจะเสร็จออกมา ถั่วเหลืองธรรมชาติก็พัฒนาไปจนให้ผลผลิตสูงกว่าแล้ว ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่แม้แต่กระทรวงเกษตรสหรัฐที่เชียร์พืชตัดต่อพันธุกรรมก็ยอมรับ 
สถานการณ์เดียวกันนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นกับฝ้ายในสหรัฐ เช่น เพราะฝ้ายตัดต่อพันธุกรรมเป็นฝ้ายที่เข้ายึดพื้นที่ปลูกฝ้ายในสหรัฐไปเกือบหมด ปรากฏว่าผลผลิตฝ้ายโดยรวมของสหรัฐกลับลดลง 

หลังงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคนซัสเปิดเผยสู่สาธารณชน มอนซานโต้ก็ออกมาแถลงว่าผลการวิจัยของศาสตราจารย์บาร์นีย์ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะ "ถั่วเหลืองของมอนซานโต้ไม่ได้ถูกตัดต่อพันธุกรรมมาเพื่อเพิ่มผลผลิต" 
ก็จริงของเขาเหมือนกันเพราะมอนซานโต้ตัดต่อพันธุกรรมถั่วเหลืองให้ทนทานต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยี่ห้อของมอนซานโต้เท่านั้น



.