.
SNOW WHITE AND THE HUNTSMAN “จากเทพนิยายสู่มหากาพย์”
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 87
กำกับการแสดง Rupert Sanders
นำแสดง Charlize Theron
Kristen Stewart
Chris Hemsworth
Sam Claflin
Sam Spruell
สโนว์ไวต์ของพี่น้องตระกูลกริมม์เป็นเทพนิยายสำหรับที่มีองค์ประกอบของเรื่องน่ากลัวที่สุดเรื่องหนึ่ง
มีทั้งความพยายามฆ่าเด็กหญิงแสนซื่อด้วยการสั่งให้นายพรานเอาตัวเข้าไปในป่า แล้วควักหัวใจออกมาเพื่อเป็นหลักฐานว่าสโนว์ไวต์ได้ถูกสังหารไปแล้วจริงๆ แล้วยังมีเรื่องราวของการวางยาพิษในแอปเปิลให้กัดกินจนพิษแล่นเข้าสู่หัวใจล้มลงทันที
ไม่เหมือนกับเรื่องซินเดอเรลลาที่อยู่ในความฝันของเด็กๆ ไม่มีการฆ่าฟันกัน มีแต่นางก้นครัวแปลงร่างเป็นเจ้าหญิงแสนสวย และได้พิชิตหัวใจของเจ้าชาย
อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีที่สโนว์ไวต์ฮิตติดตลาด จึงเกิดปรากฏการณ์ว่าเทพนิยายเรื่องเดียวกันได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึงสองเรื่องต่างหากจากกัน และออกฉายห่างกันเพียงชั่วสามเดือน
เรื่องแรกที่ฉายไปราวเดือนมีนาคม คือ Mirror, Mirror ที่มี จูเลีย โรเบิร์ตส์ เล่นเป็นราชินีใจร้าย และ ลิลี คอลลินส์ เป็นสโนว์ไวต์ (ข่าวว่า ลิลี คอลลินส์ ออดิชั่นสำหรับบทสโนว์ไวต์ในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง)
และเรื่องที่เพิ่งเข้าฉายอยู่ในขณะนี้ คือ Snow White and the Huntsman ซึ่งมี ชาร์ลีซ เธอรอน เป็นราชินีใจร้าย และ คริสเตน สจ็วร์ต ขวัญใจแวมไพร์จากหนังชุด Twilight เล่นเป็นหญิงสาวที่สวยที่สุดในแผ่นดิน
Snow White and the Huntsman เปิดเรื่องตามเทพนิยายด้วยเรื่องราวของราชาและราชินีที่มีลูกสาวสมใจและให้ชื่อว่าสโนว์ไวต์ พระราชินีสิ้นพระชนม์ไปก่อนวัยอันควร พระราชาโศกเศร้าเสียพระทัยอย่างไม่มีที่เปรียบ ออกทำสงครามเข่นฆ่าศัตรูที่มารุกราน และช่วยเหลือสาวงามนางหนึ่งไว้
เมื่อแรกเห็นสาวงามพระองค์หลงใหลก็ได้ปลื้มในตัวหญิงสาวคนนี้ และพาตัวเข้าวังทันที
สาวงามนางนี้จะกลายเป็นความวิบัติยิ่งใหญ่ของพระองค์เองและของราชอาณาจักรอันร่มเย็นสุขสงบที่พระองค์ปกครองมาช้านาน
ราเวนนา (ชาร์ลีซ เธอรอน) คือนามของเจ้าสาวองค์ใหม่ของราชาแมกนัส และในคืนแรกที่เสกสมรสสถาปนาเป็นราชินี นางก็ปลงพระชนม์พระสวามี จับรัชทายาทองค์เดียวคือสโนว์ไวต์ขังในคุกใต้ดิน และครอบครองบัลลังก์ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเวทมนตร์วิเศษที่ตนมี
ทันทีที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ นางก็นำกระจกวิเศษ (ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนั้นย่อมไม่ใช่กระจกเงา แต่เป็นโลหะขัดเงาวาววับให้สะท้อนภาพได้) มาติดตั้งในห้องโถงใหญ่ เพื่อใช้เป็นที่ปรึกษาความงามยามต้องการ
นางไม่ได้รีรอที่จะสอบถามกระจกด้วยประโยคที่เราๆ ท่านๆ คุ้นหูในภาคภาษาไทยว่า "กระจกวิเศษ บอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี" จากการ์ตูนโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามเมื่อหลายสิบปีก่อน กระจกตอบว่า "อ๋อ แน่ เจ้าแม่น่ะสิ ทั่วทั้งปฐพีไม่มีใครงามเกิน" ราชินีใจร้ายก็พอใจกับคำตอบ
จนเมื่อสโนว์ไวต์เติบโตเป็นสาว กระจกจึงตอบว่า "อ๋อใช่ สโนว์ไวต์น่ะสิ ทั่วทั้งปฐพีไม่มีใครงามเกิน" "อุเหม่ ทำไมเป็นเช่นนั้น ทำไมฉันไม่งามเท่าสโนว์ไวต์"
"จะงามเท่าได้อย่างไรถ้าท่านไม่ใช้แป้งน้ำควินนา"
ส่วนกระจกวิเศษในหนังนั้นก่อนจะตอบคำถาม ก็ต้องการแปรรูปตัวเองเป็นโลหะหลอมเหลวที่ไหลย้อยออกจากกรอบที่แขวนบนผนังลงมากองกับพื้น ก่อนจะรวมตัวเข้าเป็นมนุษย์โลหะ ชวนให้นึกถึงผู้ร้ายในหนังเรื่อง Terminator ที่ฝ่ายพระเอกเข่นฆ่าอย่างไรก็ไม่ตายเสียที
นอกจากโลหะหลอมละลายในกระจกวิเศษนี้ ราเวนนายังมีเวทมนตร์ปลุกเสกกองทัพปีศาจที่ทำด้วยโลหะ เมื่อถูกฆ่าฟัน ก็กระจายตัวแตกออกเป็นเศษโลหะชิ้นเล็กชิ้นน้อยร่วงกราว ชวนให้นึกว่าเวทมนตร์ที่นางมีต่อโลหะนี้คล้ายกับแมกนีโตใน X-Men มนุษย์กลายพันธุ์ที่มีความสามารถพิเศษในการบังคับโลหะให้เป็นไปตามใจชอบได้
ราเวนนาหมกมุ่นวิตกจริตอยู่แต่กับเรื่องความงาม และการใช้เวทมนตร์เสกสรรค์ให้ตนคงความงามอยู่ได้ตลอดกาล โดยที่หนังให้ภูมิหลังบอกว่านางมีอดีตอันเลวร้ายที่ให้บทเรียนแก่นางว่าความงามคืออำนาจของสตรีที่มีเหนือบุรุษ เมื่อความงามเสื่อมถอย บุรุษก็หันไปหาสาวสวยที่ยังเต่งตึงคนอื่นต่อไป
วิธีการรักษาความงามของราเวนนา นอกจากการแช่ตัวในน้ำนมทั้งร่าง ซึ่งเป็นภาพติดตาอย่างมากแล้ว นางก็ยังควักหัวใจสดๆ ของสัตว์กิน และให้นำตัวสาวรุ่นมาเพื่อให้นางดูดกินความเยาว์วัยออกจากร่าง ทิ้งให้สาวรุ่นเหลือแต่ความชราภาพเหี่ยวย่น
ราเวนนามีลิ่วล้อคอยรับใช้ คือ ฟินน์ (แซม สปรูลล์) น้องชายผู้ภักดี ซึ่งมีรูปลักษณ์เป็นผู้ร้ายด้วยผิวซีดเผือดเหมือนคนเผือก และผมหน้าม้าทรงมหาดเล็กที่สะดุดตา แต่ความภักดีที่ฟินน์มีต่อราเวนนาก็ดูจะไม่ใช่จากการเป็นสายเลือดเดียวกัน แต่เป็นเพราะอำนาจวิเศษที่ราเวนนาสามารถบันดาลให้เขาได้ต่างหาก
จุดที่หนังหักเหออกห่างจากเทพนิยายโดยยังคงเค้าโครงดั้งเดิมไว้พอควรนั้น ทำให้หนังสนุกชวนติดตามขึ้นมาก
สโนว์ไวต์ในเรื่องนี้เป็นสาวใจสู้แกร่งกล้า ที่หลบหนีออกจากคุกที่คุมขังเธอมาร่วมสิบปี และออกไปผจญภัยในโลกกว้าง แรกทีเดียวก็เข้าไปหลงทางอยู่ใน "ไพรทมิฬ" ที่ซึ่งว่ากันว่าไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเข้าไปอยู่อาศัยแล้วจะรอดไปได้
นายพราน (คริส เฮมสเวิร์ธ หนุ่มผมทองจาก Thor) ผู้มีอดีตอันขมขื่นของตัวเองเหมือนกัน ได้รับบัญชาจากราชินีแม่มดให้เข้าไปตามจับตัวสโนว์ไวต์ และในที่สุดก็กลับกลายไปเข้าข้างสาวน้อยผู้หลบหนีคนนี้ จนไปพบคนแคระแปดคน ค่ะ ไม่ผิดหรอก แต่แรกมีคนแคระอยู่แปดคน
เสียแต่ว่าระหว่างการต่อสู้กัน คนแคระคนหนึ่งเสียชีวิตไป จึงเหลืออยู่เจ็ดคนตามเทพนิยาย
คนแคระทั้งแปดนี้ใช้นักแสดงที่เก๋ากึ้กอยู่ในวงการทั้งสิ้น มีหน้าตาและชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่คุ้นเคยกันดี อย่างเช่น เอียน แม็กเชน บ็อบ ฮอสกินส์ เรย์ วินสโตน นิก ฟรอสต์ เอ็ดดี มาร์สัน โทบี โจนส์ และ ไบรอัน กลีสัน โดยใช้เทคนิคสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนตัวเตี้ยตะแมะแคะไป
ความจัดเจนบทบาทของนักแสดงรุ่นเก๋าเหล่านี้ทำให้บทของคนแคระมีสีสันขึ้นเยอะ
คนแคระพวกนี้อาศัยอยู่ในดินแดนของเหล่าภูต ซึ่งเต็มไปด้วยเวทมนตร์และสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาด เช่น ภูตตัวจิ๋วมีปีกที่บินไปบินมา สัตว์ป่าน่ารัก เหมือนในหนังการ์ตูนสโนว์ไวต์ และที่น่าประทับใจคือกวางตัวผู้สีขาวปลอดมีเขาเป็นกิ่งก้านงดงาม ที่สื่อสารกับสโนว์ไวต์ได้ เหมือนกับเป็นกวางวิเศษผู้พิทักษ์ป่า
สโนว์ไวต์ที่หนีไปจากเงื้อมมือของราชินีใจร้ายนี้ จะไปซ่องสุมผู้คนและกองกำลังกลับเข้ามาโจมตีปราสาทที่ราเวนนาครอบครองอยู่ ทำให้ฉากการบุกเข้าปราสาทและการรบพุ่งมีหน้าตาเหมือนในหนัง Lord of the Rings และสโนว์ไวต์แปลงร่างสวมเกราะขี่ม้าเหมือนในหนัง Joan of Arc ไม่มีผิด
หนังเรื่องนี้มีภาพงดงามน่าตื่นตาและดนตรีประกอบเหมาะเจาะ
ส่วนที่เด่นจับตาที่สุดเห็นจะได้แก่บทบาทของราเวนนา (ชื่อของนางมีความหมายว่าอีกา) ซึ่ง ชาร์ลีซ เธอรอน สุดสวยด้วยรูปโฉมที่ดูเหมือนข่ม คริสเตน สจ็วร์ต จนราบคาบ
ตลอดจนฝีมือการแสดงที่จัดจ้านของเธอก็ทำให้ไม่เสียชื่อเจ้าของรางวัลออสการ์เมื่อหลายปีมาแล้ว
สรุปว่าหนังสนุกมากเลยค่ะ สมควรไปดูอย่างยิ่ง
++++
บทวิจารณ์ของปี 2554
SOURCE CODE “ไซไฟ”
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1601 หน้า 87
กำกับการแสดง Duncan Jones
นำแสดง Jake Gyllenhaal
Michelle Monaghan
Vera Farmigo
Jeffrey Wright
"ซอร์สโค้ด" คืออะไร
ยังจำได้ไหมเอ่ย สมัยเมื่อหนัง The Matrix ออกมา ก็มีคำถามกระหึ่มกันไปทั่วว่า "เมทริกซ์" คืออะไร
คำตอบก็อาจจะคล้ายๆ กันในสาระสำคัญ แต่ก็มีจุดที่แปลกแยกแตกต่างออกไปในข้อปลีกย่อยและสมมติฐานใหญ่ๆ
ซอร์สโค้ด เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์โดยอาศัยหลักของฟิสิกส์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้จิตสำนึกของคนเข้าไปอยู่ใน "ความจริงเสมือน"
โดยมีสมมติฐานที่ว่าจิตสำนึกที่เก็บจากเซลล์สมองของคนตายจะสามารถยังคงจำเหตุการณ์ก่อนตายย้อนหลังไปได้แปดนาทีเต็มๆ และนักวิทยาศาสตร์สามารถนำเอาจิตสำนึกของคนอีกคนเข้าไปใส่ไว้ เพื่อให้ผ่านประสบการณ์ก่อนตายนั้นๆ
ที่ว่าคล้ายกับเมทริกซ์ก็คือ พระเอกตัวเป็นๆ ของเรื่องกำลังนอนหลับไร้สติอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ขณะที่จิตหรือความรู้สึกนึกคิดของคนคนนั้นถูกพาไปยังโลกอีกแห่งหนึ่ง และใช้ชีวิตโลดแล่นเสมือนกับว่ามีตัวตนอยู่จริงๆ
หนังเริ่มเรื่องตั้งแต่ผู้ชายคนหนึ่ง (เจก จิลเลนนาล) ตื่นขึ้นในรถไฟขบวนหนึ่ง และมีผู้หญิงคนหนึ่ง (มิเชล มอนาแกน) นั่งอยู่ตรงข้าม และพูดคุยกับเขาเหมือนรู้จักกันมานาน ผู้หญิงที่เขาไม่รู้จักเลยคนนั้นเรียกเขาว่า ฌอน ในขณะที่เขาบอกว่าเขาชื่อ โคลเทอร์ สตีเวนส์
เขาเชื่อว่าเขาเป็นนักบินทหารที่กำลังปฏิบัติการบินเฮลิคอปเตอร์อยู่ที่อิรัก และไม่รู้ว่าเหตุผลกลใดจึงมาตื่นขึ้นในรถไฟขบวนนี้โดยไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อเขาเข้าห้องน้ำเพื่อสงบสติอารมณ์ เขาก็เห็นเงาในกระจกเป็นผู้ชายที่เขาไม่รู้จัก แถมในตัวเขาเองยังพกบัตรประจำตัวในกระเป๋าสตางค์ที่เป็นรูปของชายแปลกหน้าคนนั้น ในชื่อของ ฌอน เฟนเทรส
ต่อมาอีกแปดนาที รถไฟขบวนที่เขานั่งอยู่ก็เกิดระเบิดมอดไหม้เป็นจุล ขณะเมื่อกำลังแล่นเข้าสู่ตัวเมืองชิคาโก
โคลเทอร์ตื่นขึ้นอีกครั้งต่อจากนั้นถูกมัดติดอยู่ในที่แคบๆ ซึ่งมีจอภาพให้เขาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้หญิงที่เขารู้ในเวลาต่อมาว่าชื่อ คอลลีน กูดวิน (เวรา ฟาร์มิโก)
นี่คือสิบนาทีแรกของหนัง ซึ่งหลังจากนั้น โคลเทอร์จะรู้ตัวแล้วกับสภาพที่แท้จริงของตัวเองที่อยู่ในสถานที่ที่เรียกว่า "ปราสาทที่ถูกโอบล้อม" หรือ "Beleaguered Castle" และถูกส่งตัวกลับไปสู่ความจริงเสมือน ณ กาลเวลาในช่วงแปดนาทีสุดท้ายในชีวิตของฌอน ครั้งแล้วครั้งเล่า
ด้วยภารกิจที่เขารู้ในเวลาต่อมาว่าคือ การเข้าไปใช้ชีวิตในจิตสำนึกสุดท้ายของฌอนเพื่อค้นหาตัวคนวางระเบิดครั้งนั้นให้เจอก่อนที่ระเบิดจะทำลายรถไฟขบวนนั้นให้มอดเป็นจุณ
ภารกิจของเขาไม่ใช่เพื่อขัดขวางหรือแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่ให้เกิดขึ้น แต่เพื่อหาทางป้องกันสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะสร้างความเสียหายใหญ่โตยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
นั่นคือ มือระเบิดนิรนามคนนี้กำลังวางแผนจะจุดระเบิดครั้งใหญ่กว่าเดิม และเป็นอันตรายแก่มนุษยชาติมากกว่าเดิม
ถ้าไม่คิดมากว่าสมมติฐานของหนังออกจะดูเกินเลยขอบเขตของความเป็นไปได้ จนยังไงๆ เสียก็เป็นเรื่องหลอกเด็กและเหลือเชื่อ แต่หนังก็ประสบความสำเร็จในฐานะหนังธริลเลอร์ที่คาดเดาไม่ถูก และมีสิ่งที่ต้องติดตามลุ้นอยู่จนถึงตอนจบ
และยังเป็นตอนจบที่หักมุมตลบกลับทิ้งไว้ให้คิดต่ออีกว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่
นอกจากประเด็นของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นความจริงเสมือนแล้ว หนังยังครอบคลุมประเด็นอื่นๆ ในเรื่องจักรภพคู่ขนานที่สิ่งต่างๆ อาจไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งกลายเป็นตอนจบที่ชวนพิศวงของเรื่อง
เพราะยากจะคิดให้ลงตัวได้ว่าอะไรเป็นอะไร และอย่างไรกันแน่
แต่ที่แทรกอยู่ในความน่าตื่นเต้นชวนลุ้นของภารกิจกอบกู้โลกครั้งนี้คือสัมพันธภาพที่ค่อยๆ งอกงามขึ้นระหว่างหนุ่มสาวสองคน
และคำถามที่ผุดขึ้นมาสำหรับคนที่มองเห็นความตายอยู่เบื้องหน้าว่า เราจะทำอะไรในช่วงเวลาอันน้อยนิดถ้ารู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปอีกไม่กี่นาที ซึ่งโคลเทอร์ใช้ความตระหนักนั้นจัดการกับชีวิตของตนในด้านความสัมพันธ์ที่หมางเมินกับพ่อ
นอกจากนั้น หนังยังเสนอประเด็นด้านมนุษยธรรมและจริยธรรมของวิทยาศาสตร์ในโลกที่ก้าวหน้าไปไกล
ซึ่งถูกนำเสนอไว้ในบทบาทอันแตกต่างกันคนละขั้วของ คอลลีน กูดวิน และ ดร.รัตเลดจ์ (เจฟฟรีย์ ไรต์) ในลักษณะเดียวกับที่หนัง The Minority Report ของสปีลเบิร์กได้นำเสนอไว้ จากการจับคนที่มองเห็นอนาคตล่วงหน้ามากักขังไว้โดยไม่เต็มใจ ด้วยข้ออ้างของคุณประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ
โคลเทอร์พบทางออกที่สวยงามสำหรับตัวเขา สำหรับชีวิตที่เหลือต่อมาของเขา รวมทั้งภารกิจในการกอบกู้โลกไว้จากอันตรายใหญ่หลวงของการก่อการร้าย
ซึ่งทำให้กลายเป็นหนังที่มีแฮปปี้เอนดิ้งและทัศนะที่มองโลกในแง่ดีอย่างมาก
จึงทำให้คนดูออกจากโรงอย่างแฮปปี้ แม้จะยังต้องใช้หัวขบคิดต่อจากตอนจบว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกันแน่หนอ
แต่การที่พระเอกสามารถเอาชนะชะตาที่กำหนดไว้อย่างลอยลำและเหนือคาด ก็เป็นความสุขสมใจของคนดูอย่างหนึ่งละ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย