การ์ตูนที่รัก ปี2554 - PSYCHIATRIC TALES : คนแก่รกโลกและวัยรุ่นน่าเบื่อ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
รามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ ว่าด้วยจิตวิเคราะห์ของโรคซึมเศร้า
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 71
บทความนี้เขียนจากข้อมูลที่ปรากฏในการ์ตูน ไม่เกี่ยวกับวรรณคดีต้นฉบับแต่อย่างใด
รามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ ผลงานของ ณ ภพ เสาใบ สำนักพิมพ์อมรินทร์คอมิกส์ ความยาว 6 เล่มจบ เป็นหนังสือการ์ตูนคอมพิวเตอร์กราฟิกพิมพ์สี่สีทั้งเล่ม
ณ ภพ เสาใบ มีผลงานด้านนี้มาหลายปีตีพิมพ์ในนิตยสาร นำตัวละครจากรามเกียรติ์มาออกแบบใหม่ให้ล้ำสมัย ลำพังลายเส้นไม่ต้องดูเนื้อเรื่องก็น่าตื่นเต้นแล้ว
อ่านศึกไมยราพฉบับการ์ตูนครั้งนี้โดยไม่กลับไปอ่านรามเกียรติ์ต้นฉบับ เพื่อให้ได้เนื้อหาและข่าวสารที่ผู้เขียนตั้งใจจะบอกเอง ไม่เกี่ยวอะไรกับวัตถุประสงค์ของรามเกียรติ์ฉบับดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรืออื่นใด รวมทั้งวัตถุประสงค์ของต้นฉบับหรือวัตถุประสงค์ของกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกตั้งก็ตาม
ไม่มากก็น้อย ณ ภพ เสาใบ ก็ไม่อาจไปพ้นบริบทของสังคมไทยปัจจุบันไปได้
เล่ม 1 หน้าปกเป็นพื้นสีน้ำเงิน หนุมานร่างสีขาวพร้อมตรีเพชรสะท้อนแสงแวววับ ฉากหลังด้านซ้ายมีใบหน้าปิศาจหน้าตาคล้ายงูซึ่งเมื่อเปิดอ่านจึงรู้ว่าคือไมยราพ ด้านขวาเป็นใบหน้าสตรีรอยยิ้มลึกลับซึ่งเมื่อเปิดอ่านจึงพบว่าคือรูปสลักขนาดอภิมหามหึมาที่หนุมานจะต้องดิ่งผ่านลงไปในนรกเพื่อตามหาพระราม
ทำไมไมยราพหน้าตาคล้ายดั่งงูมีเขี้ยวมากกว่าที่จะมีหน้าตาเหมือนยักษ์ตนอื่น
บทที่ 1 กองทัพที่ไม่มีผู้ใดในโลกเคยเห็น
"แสงสว่างสาดทะลุความมืดเป็นเงาร่างสีดำ" คือคำบรรยายฉากเปิดตัวไมยราพที่พุ่งขึ้นมาจากความมืดมนอนธการเบื้องล่าง ณ ภพ เสาใบ บรรยายฉากนี้ได้ดำมืดที่สุดแห่งความดำมืดทั้งปวง ชวนให้นึกถึงหลุมดำในอวกาศที่ดูดกลืนสรรพสิ่งรวมทั้งแสง ขณะเดียวกันก็เปรียบเปรยไมยราพที่ผุดขึ้นมาจากหลุมดำพร้อมกับแสงสว่างว่าประหนึ่งความหวังใหม่ แม้จะเป็นความหวังที่ "เต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้าย" ก็ตาม
ดูเหมือนว่าการ์ตูนจะเปิดตัวไมยราพเป็นแอนตี้ฮีโร่เสียแล้ว
ไมยราพในดีไซน์ขุนพลน่าเกรงขามพร้อมชายผ้าที่โบกสะบัดและรองเท้าปลายแหลมงอนด้วยลวดลายกราฟฟิกก้าวย่างอย่างมั่นคงเข้าสู่วิหารหมื่นนาคราช คือนาคราชนับหมื่นที่มีสภาพเป็นวิหารมีชีวิตป้องกันผู้บุกรุก ไมยราพเดินผ่านฝูงนาคราชยักษ์เข้าไปอย่างไม่สะทกสะท้านเพื่อพบกับจักรพรรดิแห่งอสูร "ร่างสีเขียวมรกตในชุดทองคำนั่งเป็นสง่า" บนบัลลังก์
แต่ที่แท้แล้วทศกัณฐ์กำลังนั่งเอนหลังหน้าเซ็ง เท้าคางรอเสียมากกว่า
"ข้าให้เชลยศึกเจ้าไปกว่าหกสิบล้านตน" ทศกัณฐ์พูดขึ้นหลังจากโบกมือให้อีกเก้าเศียรหุบปากแล้วเลือนหายไป "เจ้ารับปากจะสร้างกองทัพซึ่งไม่เคยมีในสามโลกให้ข้า" ทศกัณฑ์หน้าย่นเขี้ยวโง้งตามแบบฉบับยักษ์ตามวัดและฝาผนัง "นี่ก็ล่วงเลยมากว่าแปดร้อยปีแล้ว"
ทำไมต้องหกสิบล้าน เท่าประชากรประเทศไทยด้วยความบังเอิญ (ซึ่งไม่มีจริง)
แล้วไมยราพก็แสดงให้ทศกัณฐ์ได้ยล "กองทัพที่ไม่มีผู้ใดในโลกเคยเห็น" กองทัพอสูรนรกแห่งบาดาล "มหากองทัพที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในโลก"
จะอย่างไร บทที่หนึ่งของศึกไมยราพก็ผสานลายเส้นวรรณคดีไทยยุคคอมพิวเตอร์เข้ากับฉากสำคัญของสตาร์วอร์สอย่างงดงาม เมื่อดาร์ธเวเดอร์เข้าพบจักรพรรดิเพื่อนำชมกองทัพโคลนขนาดมหึมาที่พร้อมแล้วสำหรับการยึดครองจักรวาลหรือสามโลก
บทที่ 2 หนุมานอมพลับพลา
หลายคนคุ้นเคยกับภาพลิงขนขาวม้วนเป็นวงตัวอ้วนกลมน่ารักนอนอ้าปากอมพลับพลาบนกำแพงวัดพระแก้ว คราวนี้มาอ่านเรื่องนี้กันบ้าง
พระรามพระลักษมณ์ ซึ่งการ์ตูนจะเรียกว่าพระลักษมัณ รูปร่างสูงระหง หน้าเกาหลี ชุดโรมัน ส่วนพิเภกเป็นยักษ์หน้าย่นเขี้ยวโง้งใส่ชุดที่ออกแบบคล้ายชุดข้าราชการเพียงแต่เป็นสีขาว
หนุมานมีรูปร่างลักษณะเป็นมนุษย์หน้าลิง กล้ามเนื้อเป็นมัด หางขาวยาวเหยียดพุ่งไปมาดูทรงพลังประหนึ่งหางเลเซอร์ก็ไม่ปาน ยามขยายร่างใหญ่เกินชั้นบรรยากาศสูงเกือบจะแตะดวงจันทร์นั้น กล้ามเนื้อยิ่งขยายออกเป็นมัดดูน่าเกรงขาม จากนั้นย่อตัวลงอมพลับพลาหายไป
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าแม้หนุมานจะอมพลับพลาไว้ก็มิอาจสกัดไมยราพลักพาพระรามไปซ่อนที่บาดาลได้ กิริยา "อม" เป็นกิริยาที่ตรงกับ "incorporation" ในจิตวิเคราะห์
นั่นคือกลืนกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในตนเองคือ "self" แต่การกลืนกินวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ดี สิ่งแปลกปลอมเพียงหายไปจากภายนอกแล้วไปโผล่ภายในและสร้างพยาธิสภาพทางจิตให้แก่คนกลืน พยาธิสภาพทางจิตชนิดหนึ่งคืออาการหลงตนเองที่เรียกว่า "narcissistic" (Paul Williams. The International Journal of Psychoanalysis, 85(6) 1333-1348, December 2004) เมื่อหนุมานอมพลับพลาจึงหลงตนเองว่าเป็นเลิศเหนือผู้ใด แต่กลับต้องเพลี่ยงพล้ำให้แก่ไมยราพลักพระรามไปบาดาลนรกได้สำเร็จ
หนุมานปล่อยให้ไมยราพชิงพระรามไปได้ นับเป็นความผิดใหญ่หลวง พระลักษมัณถึงกับขว้างคันศรพระรามตรงไปที่หนุมาน หนุมานรับศรเข้าภายในร่างกาย บัดนี้พระรามคือคันศรพระรามมิได้เป็นสิ่งคุกคามภายนอกแต่กลายเป็นสิ่งคุกคามที่พุ่งเข้าไปและทิ่มแทงภายในใจหนุมาน ตรงกับที่จิตวิเคราะห์เรียกว่า "introjection" ทำให้หนุมานสำนึกผิดเหลือคณาถึงกับอาสาบุกบาดาลนรกตัวคนเดียว "ด้วยชีวิตพ่ะย่ะค่ะ"
หนุมานกลืนคันศรพระรามไว้ในตัวแล้วใช้ตรีเพชรทะลวงแผ่นดินลงข้างใต้ นานแสนนานกว่าจะทะลุชั้นบาดาล
จากชั้นบาดาลยังดำดิ่งลงในหุบเหวมืดผ่านรูปสลักนางกาลีขนาดยักษ์น่าเกรงขามสู่ความดำสนิทเบื้องล่าง ฆ่าฟันยักษาที่เฝ้าด่าน จนกระทั่งไปพบกับสุสานแห่งสุสาน พบกองทัพที่สามโลกไม่เคยเห็น และพบโรงงานชำแหละนาคราช!
ตบท้ายด้วยการต่อสู้กับซอมบี้นาคยักษ์อย่างถึงพริกถึงขิงในตอนท้ายเล่มสอง
หนุมานจะล้างความรู้สึกผิดนี้ได้ต่อเมื่อหาพระรามพบ พบแล้วจะได้คายคันศรที่พระลักษมัณขว้างมาให้ส่งคืนแก่พระราม ตนเองจึงจะอยู่ในสมดุลอีกครั้ง คือสมดุลที่พระรามเป็นภาวะคุกคามภายนอก (powerfully projected object)
นี่คือโมเดลของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เมื่อวางสิ่งคุกคามไว้ภายนอกก็อยู่ไม่สุข เมื่อนำสิ่งคุกคามเข้าภายในก็กลายเป็นหอกแหลมทิ่มแทง เมื่อทำสิ่งคุกคามหายไปก็เสียสมดุล
สุดท้ายจึงเป็นทุกข์อยู่ชั่วนาตาปีเช่นนั้นเอง+++
การ์ตูนที่รัก ปี 2554
PSYCHIATRIC TALES : คนแก่รกโลกและวัยรุ่นน่าเบื่อ
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1603 หน้า 86
ขณะที่ผมเดินดูส่วนหนังสือการ์ตูนในร้านหนังสือต่างประเทศแห่งหนึ่ง พบหนังสือการ์ตูนปกแข็งเล่มสีดำชื่อ PSYCHIATRIC TALES ของ Darryl Cunningham ชื่อหนังสือแปลว่าเรื่องเล่าจิตเวช
คันนิงแฮม เป็นนักเขียนการ์ตูนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่งของอังกฤษ
เมื่อแรกพบหนังสือเล่มนี้ ก็สงสัยว่าควรจัดให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในแผนกการ์ตูนหรือแผนกตำรากันแน่ เพราะหน้าปกหนังสือนั้นเคร่งขรึมเกินกว่าจะเป็นการ์ตูนที่แฟนการ์ตูนแถวนี้จะอ่าน
แต่ถ้าจะเอาไปไว้ที่แผนกตำราก็ต้องบอกว่าก็มันการ์ตูนชัดๆ
เพื่อทดสอบสมมติฐานบางอย่างของตนเอง ผมจึงเดินไปดูแผนกตำราแพทย์ แล้วก็พบหนังสือการ์ตูนที่เล่าเรื่องศัลยแพทย์จริงๆ เสียด้วย นั่นคือการ์ตูนศัลยแพทย์ถูกนำไปไว้หมวดตำรา แต่การ์ตูนผู้ป่วยโรคจิตถูกนำมาไว้แผนกการ์ตูน
เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรนอกเหนือจากคำอธิบายว่าการ์ตูนศัลยแพทย์เล่าเรื่อง "แพทย์" ขณะที่การ์ตูนผู้ป่วยโรคจิตเล่าเรื่อง "ผู้ป่วย" ที่จริงแล้ว อาจจะมีคำอธิบายอื่นอีก
เมื่ออ่านคำนำของคันนิงแฮม ซึ่งเขียนในรูปของการ์ตูน คันนิงแฮมเล่าว่าเขาเขียนการ์ตูนเล่มนี้เพื่อลด stigma คือตราบาปที่เกิดกับผู้ป่วยจิตเวชทุกคน เขาเขียนว่าตราบาปนี้มิได้เกิดแก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่เกิดกับพยาบาลที่ทำงานกับผู้ป่วยจิตเวชด้วย
"พยาบาลจิตเวชก็ถูกกีดกัน ครั้งหนึ่งผมได้ทำงานกับพยาบาลทั่วไปที่ไม่คิดว่าพยาบาลจิตเวชเป็นพยาบาล!"
ซึ่งเป็นความจริง
เมื่ออ่านหน้าคำนำต่อไปจะพบว่าคันนิงแฮมได้เขียนบันทึกการทำงานของเขาเอาไว้ก่อนแล้ว และแม้ว่าเพื่อนร่วมงานจะเชียร์ให้เขาเขียนหนังสือออกมาสักเล่มหนึ่งแต่เขาก็ไม่ได้ลงมือเสียทีจนกระทั่งได้อ่านหนังสือการ์ตูน PERSEPOLIS ของ Marjane Satrapi ที่เล่าเรื่องการปฏิวัติอิหร่านในรูปแบบของการ์ตูนขาวดำลายเส้นคมชัดและเรียบง่าย
นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาลงมือวาดการ์ตูนเล่มนี้
บทที่หนึ่ง DEMENTIA WARD หอผู้ป่วยสมองเสื่อม
คันนิงแฮมเล่าเรื่องหอผู้ป่วยที่ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมหลากหลายสาเหตุต้องมาอาศัยอยู่รวมกันเพื่อรอเวลาที่จะถูกย้ายต่อไปยังสถานบริบาลผู้สูงอายุ มีทั้งคนที่อายุมากจริงๆ ซึ่งก็สมควรสมองเสื่อมได้แล้วอยู่ไปก็รกสถานที่ทำงาน กับคนที่อายุไม่มากนักเพียงแค่หกสิบปีก็เริ่มจำสามีไม่ได้และถูกสามีนำมาทิ้ง หรือคนที่อายุยังไม่ถึงหกสิบแต่ดื่มเหล้ามาทั้งชีวิตก็สมองเสื่อมแล้วเช่นกัน
คันนิงแฮมเก็บประเด็นสำคัญๆ เพียงไม่กี่ประเด็นของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมาเล่าได้อย่างแม่นยำ ลักษณะเด่นประการหนึ่งของผู้ป่วยสูงอายุเหล่านี้คือ "จะกลับบ้าน"
งานประจำของผู้ช่วยเหลือคนไข้คือพยายามอธิบายว่าคืนนี้พวกท่านจะไม่ได้กลับบ้านแต่ต้องนอนที่นี่
เรื่องน่าสะเทือนใจเรื่องหนึ่งคือภรรยาแก่ชรามักจะไปยืนรอที่หน้าประตูเพื่อหาโอกาสกลับไปพบสามีสุดที่รัก
ประตูทำไว้สองชั้น แต่ละชั้นมีรหัสผ่านเป็นตัวเลขสี่ตัว คนออกแบบเข้าใจว่าผู้ป่วยสูงอายุสมองเสื่อมไม่สามารถจำชุดตัวเลขมากเท่านี้ได้ หารู้ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ก็จำไม่ได้เหมือนกัน
เรื่องทารุณสำหรับตัวผู้สูงอายุสมองเสื่อมเองและผู้ดูแลคือเรื่องการขับถ่าย ดังที่ผมเคยเขียนไว้หลายครั้งแล้วว่าตอนพ่อแม่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ลูกน้อยน่ารักสุดหัวใจนั้น อุจจาระปัสสาวะก็ยังมีกลิ่นหอม แต่เมื่อถึงเวลาลูกหลานต้องเช็ดสิ่งปฏิกูลที่พ่อแม่แก่ชราถ่ายเรี่ยราดตามพื้นและเลอะแหมะติดกางเกงติดก้น ร้อยทั้งร้อยเบือนหน้าหนีพร้อมๆ กับหัวใจที่หนักอึ้ง เสมือนมีแม่กุญแจขนาดยักษ์คล้องถ่วงหัวใจไว้ฉะนั้น
การดูแลบุพการีที่ขี้เยี่ยวราดทั้งวัน กตัญญูอย่างเดียวไม่พอ
คันนิงแฮมเล่าเรื่องงานที่ทำเป็นประจำคือช่วยกันลากผู้สูงอายุสักคนไปนั่งส้วม กว่าจะปล้ำคนแก่คนนี้นั่งส้วมสำเร็จ คนแก่อีกคนก็ยืนถ่ายอุจจาระลงพื้นแล้วเรียบร้อย กว่าจะไปเอาอุปกรณ์เช็ดถูกลับมาได้ คนแก่รายนั้นก็เอาอุจจาระป้ายกำแพงเรียบร้อยแล้วด้วย และกว่าจะจัดการตัวปัญหาและทำความสะอาดพื้นและกำแพงได้ คนแก่อีกคนก็กำลังกินขี้ของคนแก่อีกคน
ขออภัย ถ้าการ์ตูนที่รักวันนี้ใช้ภาษาชวนให้หม่นหมอง
คันนิงแฮมปิดท้ายบทนี้ด้วยคำพูดฝากถึงพยาบาลว่า "ไม่มีใครชอบทำงานกับอุจจาระปัสสาวะของคนอื่น แต่พยาบาลต้องทำ ถ้าคุณทำไม่ได้ ก็ไม่ควรเป็นพยาบาล"
บทที่สอง CUT กรีด
บทนี้เล่าเรื่องผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งที่กรีดท้องแขนตนเองมาหลายครั้ง บางครั้งเธอก็ใช้บุหรี่จี้ และมีครั้งหนึ่งเธอกระโดดตึกมา คันนิงแฮมว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นมากกว่าพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ พวกเธอลงมือเมื่อความตึงเครียดถึงขีดสุด ความโกรธที่ควบคุมไม่ได้และความเกลียดตัวเองอย่างเหลือรับ
แม้ว่าผู้ป่วยที่ทำร้ายตนเองบ่อยๆ บางคนมิได้มีเจตนาฆ่าตัวตายทุกครั้ง แต่พวกเขามีโอกาสฆ่าตัวตายมากกว่าคนอื่นๆ
การ์ตูนเรื่องนี้ชวนให้ผมนึกถึงวัยรุ่นหญิงคนหนึ่ง
"ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ลองพยายามเล่าให้ผมฟังให้เข้าใจสิครับว่ากรีดแขนทำไม" ผมชวนคุย "ก่อนอื่น ผมขออนุญาตถามเพื่อความแน่ใจ ตอนที่เอามีดกรีดแขน เวลานั้นตั้งใจจะฆ่าตัวตายหรือเปล่า"
"เปล่าค่ะ" เธอตอบ "หนูไม่เคยคิดเลย"
"ครับ ลองอธิบายสิว่าทำเพราะอะไร"
เธอนิ่งไปครู่ใหญ่ แต่ผมรอได้ เพราะรู้ว่าถึงเวลาต้องรอเสียที
"พอกรีดลงไป" เธอเริ่ม "เลือดก็ไหลเป็นทางลงมาตามแขน สวยดี"
"หมอฟังอยู่" ผมพูดขึ้นโดยเปลี่ยนสรรพนามด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง
"แล้วเลือดก็หยดลงพื้นค่ะ เป็นดวงๆ" เธอเล่าต่อพร้อมกับยิ้มหวาน "สวยดีค่ะ เหมือนดอกไม้"
เล่าถึงตอนนี้ผมต้องขอแทรกคำอธิบายและยืนยันในขั้นตอนนี้นะครับว่าเธอไม่ได้บ้าหรือเสียสติ เธอเป็นหญิงสาวที่แลดูเหมือนทุกๆ คน ผู้ป่วยเหล่านี้มิใช่คนบ้าหรือเสียสติแต่อย่างใด
"เจ็บมั้ย" ผมถาม โดยรู้คำตอบอยู่แล้ว
"เจ็บค่ะ แต่ที่เจ็บใจมันมากกว่า"
คันนิงแฮมเล่าเรื่องหญิงสาวคนหนึ่งที่ตัดหัวนมทิ้งไปในที่สุด แล้วปิดบทนี้ด้วยคำพูดที่เป็นความจริงอีกเช่นเดิม
"บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่รู้สึกเสียเวลาที่ต้องมาดูแลคนพวกนี้"
คันนิงแฮมเล่าเรื่องราวอีกหลายเรื่องอย่างน่าสนใจก่อนจะมาถึงบทสุดท้ายคือเรื่องของตัวเขาเอง เขาเคยเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ในหอผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินหลายปีก่อนที่จะตัดสินใจเรียนเป็นพยาบาลจิตเวชต่อ เขายอมรับว่าตนเองทนทุกข์ทรมานกับอาการของโรคที่เรียกว่า Anxiety และ Depression จนกระทั่งไม่สามารถทนเรียนเป็นพยาบาลต่อไปได้ เขาสารภาพว่าตนเองเคยเป็นเด็กขี้กลัว ขี้กังวล และขาดความมั่นใจตลอดมา
เขาวาดรูปได้แต่ขายผลงานไม่ได้ เขาเรียนพยาบาลแต่เรียนไม่จบ ชีวิตของเขาเคยตกต่ำถึงที่สุดเมื่อหนี้สินล้นพ้นตัวและเตรียมฆ่าตัวตายด้วยการไปยืนบนยอดตึก
คันนิงแฮมเล่าว่าชีวิตเขากลับมาดีขึ้นด้วยของสองอย่าง หนึ่งคือโพรแซ็ก สองคืออินเตอร์เน็ต โพรแซ็กคือ Prozac เป็นยาต้านอารมณ์เศร้าที่มีชื่อสามัญทางยาว่า Fluoxetine อินเตอร์เน็ตคือพื้นที่ที่ช่วยให้เขาได้อัพโหลดผลงานการ์ตูนให้โลกเห็น
ถูกต้องแล้วครับ คนทุกคนสามารถป่วยทางจิตได้ทั้งนั้นถ้าไม่มีที่ให้ยืน และผู้ป่วยทางจิตก็เหมือนคนทุกคน นั่นคือขอเพียงที่ให้ยืน
ปัจจุบัน คันนิงแฮมเป็นนักเขียนการ์ตูน อาศัยอยู่ที่ยอร์กไชร์ ประเทศอังกฤษ
.