http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-26

วิกฤติหนี้ลุกลาม: (3)ร้อนกันไปทั้งโลก โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (3)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 38


การเข้าใจวิกฤติหนี้กระทำได้อีกทางหนึ่งก็คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ของหนี้ ดูว่าเงินและหนี้ถือกำเนิดได้อย่างไร หนี้มีบทบาทสำคัญต่อสังคมอย่างไร ซึ่งก็ได้มีผู้เขียนหนังสือไว้หลายชื่อเรื่องด้วยกัน
การศึกษาประวัติศาสตร์หนี้ในระยะยาวเป็นพันๆ ปีนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่าหนี้และวิกฤติหนี้ได้ฝังตัวอยู่ในอารยธรรมมนุษย์มานาน และมีการแก้ไขกันไปต่างๆ จนกระทั่งอารยธรรมมนุษย์ก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม ที่ระบบตลาดครอบงำสังคม ดูเหมือนว่าการแก้ไขจะทำให้วิกฤตินี้รุนแรงขึ้น
เพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์หนี้และการเกิดวิกฤติหนี้ใหญ่ ขอเริ่มด้วยลักษณะของวิกฤติหนี้เป็นเบื้องต้นเล็กน้อย


ลักษณะทั่วไปของวิกฤติหนี้เป็นอย่างไร

หลังวิกฤติหนี้ในสหรัฐ-ยุโรปปรากฏออกมาชัดเจน ก็ได้มีนักวิเคราะห์เสนอขั้นของวิกฤติหนี้ว่าเกิดได้อย่างไร ซึ่งมักกล่าวว่ามี 5-6 ขั้น ในที่นี้จะใช้ 6 ขั้น เพื่อแสดงให้เห็นขั้นของการก่อหนี้ที่ดำเนินมาหลายสิบปีดังนี้

1. ขั้นการสะสมหนี้ที่เป็นพิษต่อเนื่องมานาน หนี้เหล่านี้เกิดขึ้นในฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และการใช้จ่ายเกินตัวอื่นๆ เป็นที่น่าสังเกตว่าหนี้สาธารณะในประเทศตะวันตกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 1973-1974 ที่สืบเนื่องจากและประจวบกับเหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์ 
ได้แก่ การล่มสลายของระบบเบรตตัน วูด เมื่อประธานาธิบดีนิกสันประกาศเลิกเทียบค่าเงินดอลลาร์กับทองคำโดยลำพัง และวิกฤติน้ำมันครั้งแรกในปี 1973 
หนี้สาธารณะของสหรัฐเพิ่มสูงโดยเฉพาะนับแต่ทศวรรษ 1980 แม้ประเทศแคนาดาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ หนี้ของชาติก็พุ่งทะยานขึ้นนับแต่ปี 1974 
จากวิกฤติปี 1973-1974 ก็ได้เกิดวิกฤติซ้ำอีกหลายครั้ง จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 ได้เกิดวิกฤติติดต่อกันในปี 2002 และ 2008 อันเป็นวิกฤติใหญ่ ในท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้รัฐบาลและธนาคารกลางมีแนวทางแก้ไขคล้ายกัน ได้แก่ การเพิ่มสินเชื่อหรือหนี้ขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค ช่วงนี้อาจนับว่าเป็นการสะสมวิกฤติ

2. หนี้เป็นพิษเหล่านี้เริ่มส่งผลเสียรุนแรง ที่เรียกว่าฟองสบู่แตก ในกรณีสหรัฐเริ่มเกิดตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2007 หนี้ที่เป็นพิษกลายเป็นหนี้เสีย

3. หนี้เสียเหล่านี้ทำลายสภาพคล่องของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ในกรณีสหรัฐเริ่มต้นจากที่เรียกว่า "ธนาคารเงา" แล้วลามสู่วาณิชธนกิจในวอลล์สตรีต และธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย จุดเด่นอยู่ที่การล้มของสถาบันการเงินที่สำคัญคือ เลห์แมน บราเธอร์ ในวันที่ 15 กันยายน 2008

4. ฐานะของธนาคารทั้งหลายเสี่ยงต่อการล้มละลายไม่สามารถชำระหนี้ได้ เนื่องจากทรัพย์สินของธนาคารถูกทำลาย

5. เกิดการวิ่งหาเงินสดเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดชำระหนี้ จนเกิดกับดักสภาพคล่อง เมื่อสถาบันการเงินทั้งหลายต่างพยายามขายสินทรัพย์ทางการเงินของตนเพื่อให้ได้เม็ดเงินมา ซึ่งยิ่งกดให้ราคาทรัพย์สินตกต่ำลงไปอีก และทำให้สภาพคล่องยิ่งฝืดเคือง

6. เกิดการแห่ถอนเงินจากธนาคารพาณิชย์ ในกรณีสหรัฐเกิดขึ้นหลังจาก เลห์แมน บราเธอร์ ล้ม (กันยายน 2008) และธนาคารทั้งหลายต่างไม่ยอมปล่อยกู้ ทำให้ทุกธนาคารรวมทั้งโกลด์แมนแซกส์เสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้ ถึงตอนนี้รัฐบาลและธนาคารกลางก็ได้เข้ามาไถ่ถอนหนี้ เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินกิจการต่อไป และเศรษฐกิจทั้งระบบไม่ล่มสลาย
(ดูคำสัมภาษณ์ของ Thomas Palley ผู้เขียนหนังสือชื่อ From Financial Crisis to Stagnation ในเว็บของเขา thomaspalley.com 180412)



แนะนำเดวิด แกรเบอร์ 

ในช่วงของวิกฤติเศรษฐกิจมีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับหนี้ไว้หลายเล่ม แต่ที่โด่งดังมากน่าจะเป็นของ แกรเบอร์ (David Graeber 1961) นักมานุษยวิทยาชาวสหรัฐ 
เขาเกิดในครอบครัวคนงานที่ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง มารดาเป็นคนงานในโรงงานทอผ้า บิดาเคยร่วมสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ และเข้าร่วมในการปฏิวัติสเปนที่เมืองบาร์เซโลนา 
แกรเบอร์เองก็ดูมีชีวิตและการศึกษาแบบข้ามวัฒนธรรม เขาจบปริญญาตรีที่นิวยอร์ก ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนายกับทาสที่มาดากัสการ์ เคยสอนที่มหาวิทยาลัยเยล ปัจจุบันพำนักที่อังกฤษ 
เขาสนใจศึกษาวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ ทั่วโลก
งานเขียนสำคัญของเขาชื่อ "ประวัติศาสตร์หนี้ 5 พันปีแรก" (Debt : The First 5000 Years เผยแพร่ปี 2011) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างสูง

กล่าวได้ว่าแหล่งที่มาของความคิดทางการเมืองของแกรเบอร์ (Graeber) มาจากสองทาง คือ
(ก) จากประสบการณ์และความสนใจของเขาในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์การยึดครองจตุรัสทาห์รีที่กรุงไคโรประเทศอียิปต์ 
(ข) และจากการเป็นนักมานุษยวิทยาที่ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมอันหลากหลายของชนพื้นเมืองในอเมริกา บางชนเผ่าในแอฟริกา และประวัติอารยธรรมโบราณตั้งแต่พวกซูเมอร์ ไอร์แลนด์สมัยกลาง

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่การได้รับการตอบรับจากสาธารณะสูงอย่างเดียว หากยังเกิดจากแนวคิดในหนังสือและตัวผู้เขียนเองได้มีบทบาทสูงในขบวนยึดครองวอลล์สตรีตของสหรัฐ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นขบวนประชาธิปไตยชาวรากหญ้าที่สำคัญที่สุดขบวนหนึ่งในปัจจุบัน
ในหนังสือเล่มนี้แกรเบอร์ได้นำเสนอประเด็นต่างๆ จำนวนมาก เช่นการกลับไปมาระหว่างเงินเสมือนจริงกับเงินจริงในประวัติศาสตร์ ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่บางเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน


กำเนิดเงินและหนี้

มีคำถามทั่วไปข้อหนึ่งว่า เงินและหนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิกของ อดัม สมิธ เห็นว่าเงินและตลาดเกิดขึ้นจากความโน้มเอียงที่มนุษย์จะค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน (Truck and Barter) ก่อนที่จะมีเงิน ผู้คนใช้การแลกเปลี่ยนกันโดยตรง เช่น ไก่ 7 ตัวกับแพะ 1 ตัว หรือข้าว 1 ถุงกับรองเท้าแตะ 1 คู่ 
ต่อมามีพ่อค้าที่เกิดความคิดว่าเพื่อให้การค้าและการแลกเปลี่ยนนี้สะดวกเป็นธรรมขึ้นโดยใช้ตัวกลางร่วมในการแลกเปลี่ยน ได้แก่ เงิน (Silver) เป็นต้น แนวคิดแบบนี้ได้มีการสั่งสอนกันทั่วไปในชั้นเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น และเกิดความเชื่อว่าเงินเกิดก่อนหนี้


อย่างไรก็ตาม แนวคิดข้างต้นได้ถูกนักมานุษยวิทยาทั้งหลายคัดค้านมานานหลายสิบปีมาแล้วว่า ไม่มีตัวอย่างเช่นนี้เกิดในสังคมหรือวัฒนธรรมในโลกที่มีการศึกษามาเลย ไม่ปรากฏว่ามีเศรษฐกิจแลกเปลี่ยนสินค้า (Barter Economy) เกิดขึ้นในที่ไหนในโลก ดังนั้น จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงกำเนิดของเงินตามที่นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคกล่าว 
แกรเบอร์ได้ชี้ว่า ประชาชนชาวบ้านที่อยู่ในสังคมที่ไม่มีเงินนั้น ไม่ได้แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันเองเลย ถ้าจะมีการแลกเปลี่ยนก็จะเป็นการกระทำกับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักหรือกระทั่งกับผู้เป็นศัตรู
สำหรับภายในสังคมนั้นผู้คนจะให้ของแก่กันบางครั้งในรูปของบรรณาการ บางครั้งโดยหวังว่าจะได้รับของตอบแทนในภายหลัง บางครั้งก็เป็นของขวัญ บางคนเรียกสังคมแบบนี้ว่า เศรษฐกิจของขวัญ (Gift Economy)

แกรเบอร์เห็นว่าเงินไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าขายแลกเปลี่ยน หากแต่สร้างขึ้นโดยอำนาจรัฐอย่างเช่นอาณาจักรอียิปต์โบราณหรือของชาวซูเมอร์ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการจ่ายภาษี หรือเป็นตัวกลางในการวัดมูลค่าของทรัพย์สินที่ถือครอง จากแง่นี้หนี้เกิดก่อนเงิน และทั้งเงินและหนี้เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐที่ใช้ความรุนแรงบังคับ เงินและหนี้เกิดขึ้นและพัฒนาไปอย่างมั่นคงในอาณาจักรและจักรวรรดิใหญ่พร้อมกับระบบทาส 
อนึ่ง ในธนบัตรของไทยมีข้อความว่า "ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" สะท้อนความเห็นคล้ายกันว่าหนี้เกิดก่อนเงิน แต่เป็นการมองในแง่ของกฎหมาย


หนี้และบทบาทต่างๆ

จากการศึกษาวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณพบว่าในความคิดของประชาชนทั่วไป หนี้มีบทบาทสำคัญ 3 ประการคือ
(ก) เป็นความผูกมัดหรือสัญญาและเป็นบาป นั่นคือหนี้นั้นเกิดขึ้นจากสัญญาหรือการผูกพันว่าจะต้องชดใช้ให้ ซึ่งมีหลายแบบ เช่น หนี้ชีวิต หนี้ค่าน้ำนม และหนี้สิน ขณะเดียวกันก็เห็นว่าคนที่หากินเป็นนายเงินเก็บดอกเบี้ยเป็นความบาป 
(ข) เป็นเครื่องจักรของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยให้มีการค้าขายมากขึ้น
และ (ค) เป็นเครื่องมือในการกดขี่

ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ เงินทำหน้าที่เป็นเครื่องมือให้รัฐควบคุมประชาชนในสังกัดของตน และรีดเอาทรัพยากรออกไปจากประชาชนเหล่านี้ ซึ่งโดยมากใช้ในการทำสงคราม เมื่อประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น ก็จะลุกขึ้นก่อการปฏิวัติ 
ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างเงิน-หนี้กับสงคราม เช่น ในจักรวรรดิโรมันที่มีกองทหารประจำการต้องจ่ายเป็นเงินเดือน ซึ่งหามาได้ด้วยการรุกรานดินแดนอื่น แล้วจับผู้คนมาเป็นทาสเชลย บังคับให้ทำงานในเหมืองเพื่อขุดแร่เงินและทองคำขึ้นมาใช้เป็นเงินในการทำสองครามต่อไป

แกรเบอร์เห็นว่าบทบาทของเงินและหนี้ที่สำคัญ ได้แก่ การทำให้ข้อผูกพันและความรับผิดชอบซึ่งเป็นเรื่องทางสังคม กลายเป็นหนี้ซึ่งเป็นเรื่องทางการเงินและอำนาจบังคับ ความรู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้หนี้ทำลายแรงกระตุ้นที่จะเอาใจใส่เอื้ออาทรต่อกัน หนี้ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่างหากที่เป็น
อย่างไรก็ตาม แกรเบอร์กล่าวว่า เขาไม่ได้ต่อต้านระบบตลาดและเงิน โดยเฉพาะในสังคมที่มีความซับซ้อน เพียงแต่ชี้ว่า หนี้และเงินเกิดขึ้นในสังคมทาส มีรัฐที่ใช้ความรุนแรง
การสร้างสังคมที่ไม่มีหนี้ ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องเป็นสังคมที่ดีกว่า มันเป็นเพียงสังคมที่ต่างออกไป


หนี้กับการยกเลิกหนี้

วิกฤติหนี้ของสหรัฐและยุโรปครั้งนี้ มีความรุนแรงมาก จนกระทั่งก่อให้เกิดขบวนการยึดครองวอลล์สตรีตที่นักเคลื่อนไหวเห็นว่าเป็นต้นตอใหญ่ของวิกฤติ 
ขบวนยึดครองวอลล์สตรีตนั้น มีหลายมิติด้วยกัน แต่พื้นฐานเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินและหนี้ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท

ประเภทหนึ่งว่าด้วยอิทธิพลของเงินเหนือการเมือง ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยของเศรษฐีจำนวนน้อย ไม่ใช่ของประชาชนเสียงข้างมาก ไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

อีกประเภทหนึ่งว่าด้วยเรื่องหนี้ภาคประชาชนได้แก่ หนี้จากการจำนอง หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้นักศึกษา และรัฐบาลปฏิบัติต่อหนี้ของประชาชนต่างกับหนี้ของสถาบันการเงินใหญ่อย่างมาก ในการเคลื่อนไหวนี้ พบว่า แนวคิดของแกรเบอร์มีบทบาทสูงในการชี้นำการเคลื่อนไหว ประเด็นที่จะพูดในที่นี้คือเรื่องการยกเลิกหนี้

แกรเบอร์เรียกร้องให้ยกเลิกหนี้ทั่วโลก ได้แก่ หนี้ระหว่างประเทศและหนี้การบริโภค การยกเลิกหนี้เป็นสิ่งหายากในสมัยปัจจุบัน แต่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติทั่วไปในอาณาจักรบาบิโลน อัสเซียเรีย และอียิปต์ ทั้งนี้ เพราะผู้ปกครองต่างตระหนักดีว่าในยามที่การเกษตรไม่เป็นผล เกิดทุพภิกขภัย ถ้าหากไม่ยกเลิกหนี้ก็มักเกิดการก่อจลาจลและความปั่นป่วนขึ้น หลักฐานแรกของการประกาศยกเลิกหนี้เกิดขึ้นในสมัยกษัตริย์ของชาวซูเมอร์

การยกเลิกหนี้ (ไม่ใช่การพักชำระหนี้) จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ยากของผู้คนได้มากมหาศาล นอกจากนี้ ยังเป็นการเตือนให้เห็นว่าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสุดยอด และการชำระหนี้ไม่ใช่ใจกลางของศีลธรรม หนี้เป็นสิ่งที่คนจัดการและสร้างขึ้นมา ถ้าประชาธิปไตยมีความหมายอะไรสักอย่าง ก็ควรจะจัดการเรื่องหนี้ในอีกแบบหนึ่ง (ดูบทความของ Drake Bennett ชื่อ David Graeber, the Anti-Leader 9f Occupy Wall Street ใน businessweek.com 261011)

ทัศนะของแกรเบอร์ย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ดูเหมือนว่ามันเป็นที่จับใจของชาวรากหญ้าตะวันตกไม่น้อย



.