http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-09

2555..อยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จาก ปชต.สู่ ตุลาการธิปไตย โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

2555...อยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากประชาธิปไตย สู่...ตุลาการธิปไตย
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 20


หลายท่านคงผิดหวังและอึดอัด และอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลังจากเห็นปฏิกิริยาทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร เสนอเรื่องปรองดอง ยอมกระทบกระแทกกับคนเสื้อแดง
ทันทีที่โดดลงเรือเสื้อแดง ขึ้นบกไปกับรถของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
กลุ่มคนเสื้อแดงและแนวร่วมก็วิจารณ์กันหลายแง่หลายมุม

แต่พอ พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภา ทั้งสังคมก็ตกใจกับปฏิกิริยาแบบเด็กๆ ของประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ไปอาละวาดแย่งของเล่นในสภาจนวุ่นวายอลเวงไปถึงสองวัน นับว่าได้ทำลายภาพพจน์สภาได้พอควร
ส่วนปฏิกิริยาของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองและกลุ่มหลากสีก็ไม่เหนือความคาดหมาย เป็นการระดมกำลังมาตามแผน
แต่นี่ไม่ใช่แค่แผนล้มปรองดอง หรือล้มการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะสิ่งที่ตามมา คือคำสั่งที่ออกมาจากศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีสมุนรับใช้เผด็จการ คมช. ยื่นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางศาลรัฐธรรมนูญก็รับไว้พิจารณาและขอให้สภายับยั้งการลงมติวาระ 3 ซึ่งจะต้องมีในวันที่ 5 มิถุนายน 
งานนี้เล่นเอางงไปทั้งวงการ เหมือนกับนักฟุตบอลที่เลี้ยงลูกไปถึงหน้าประตูฝ่ายตรงข้ามกำลังง้างเท้าจะยิง อยู่ๆ ก็มีกรรมการคุมเวลาขอให้หยุดไว้ก่อน โดยไม่มีเสียงนกหวีด


ตุลาการธิปไตย พัฒนาการของตุลาการภิวัฒน์

วันนี้การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปยับยั้งอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เหมือนการเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งได้แบ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชนเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยหลักการไม่ควรมีอำนาจใดอำนาจหนึ่งครอบงำหรือแทรกแซงอำนาจอื่น 
หลังรัฐประหาร 2549 ศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกจับตามองและได้มาแสดงบทบาทในการยุบพรรคไทยรักไทย แต่ผู้คนก็ยังลังเลว่าอาจทำตามหลักการ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของใคร 
แต่พอมาถึงวันที่ปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ในกรณีทำกับข้าวออกทีวีก็มีเสียงไม่เห็นด้วย อื้ออึงขึ้นมาทั้งเวที และมองว่าน่าจะเป็นการใช้อำนาจแบบตุลาการภิวัฒน์ แต่นับจากปี 2550 อำนาจบริหารระดับนายกฯ ก็ถูกเด็ดไปสองสามรอบ พรรคการเมืองที่เป็นฐานของระบอบประชาธิปไตยก็ถูกยุบ

วันนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งให้สภาหยุดการทำงานได้ แสดงว่าการปกครองของประเทศไทยกำลังถูกแอบเปลี่ยนระบบไปเป็นตุลาการธิปไตย ซึ่งต้องเรียกว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 
แต่การแสดงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีข้อดีคือเป็นการประกาศจุดยืนของศาลรัฐธรรมนูญและเผยบทบาทอย่างชัดเจนว่าทำหน้าที่เพื่อใคร ทั้งยังได้เปิดเผยความต้องการของกลุ่มอำนาจเก่าว่าไม่ต้องการปรองดองและไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน



ความเห็นของผู้วิเคราะห์ต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า

1. สำหรับประชาชน ประเด็นปลีกย่อยที่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวพันกับ อัยการ ศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจในมาตราต่างๆ เป็นรายละเอียดที่พวกเขาไม่อยากรับรู้ แต่วันนี้พวกเขารู้แล้วว่ากำลังจะมีการยึดอำนาจโดยตุลาการภิวัฒน์อีกครั้ง 
ถ้าหากสิ่งนี้เกิดขึ้น การเลือกตั้ง ส.ส. ของคน 30 กว่าล้านก็จะไม่มีความหมาย เพราะเสียงของ ส.ส. ไม่สามารถตัดสินอะไรได้อีกแล้ว 
ขณะนี้มีชาวบ้านหลายคนได้แสดงความเห็นว่าถ้าศาลมีอำนาจมากขนาดนี้ก็ไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งให้เปลืองงบประมาณ
แต่บางกลุ่มคิดว่าถึงเวลาที่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยและนักกฎหมายจะต้องช่วยยกเครื่องระบบตุลาการได้แล้ว โดยจะเริ่มที่ศาลรัฐธรรมนูญ วันเวลาที่อำนาจตุลาการจะถูกตรวจสอบ คงมาถึงแล้ว

2. นักการเมืองโดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ที่อ้างว่าสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยจะยอมให้ตุลาการธิปไตยเติบโตมากกว่านี้หรือไม่ วันนี้แม้ ปชป. จะได้ประโยชน์ แต่วันหน้า อำนาจของนักการเมืองทุกพรรคก็แทบจะไม่เหลือ ถ้า ปชป. ยืนยันที่จะยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็ควรยุบพรรคแล้วแยกย้ายกันไปสมัครเป็นตุลาการ 
สำหรับพรรคเพื่อไทยที่ยอมหดหัวนานอยู่ถึง 5 ปี จากการถูกยุบพรรคเละตัดสิทธิการเมือง ถ้าไม่กล้าต่อสู้ในเรื่องนี้ก็ไม่ควรกลับเข้ามาสู่วงการเมืองอีก

3. นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าทำไมจึงต้องแก้ รัฐธรรมนูญ รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของระบบนิติบัญญัติควรจะจัดการแก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาด โดยร่างรัฐธรรมนูญที่มีความเหมาะสม กับประเทศไทยและมีบทลงโทษเพื่อจัดการกับกลุ่มที่ฉกฉวยอำนาจไม่ให้ใช้วิธีฉ้อฉลได้อีก
แต่วันนี้กลุ่มอำนาจเก่าเดินเกมรุกกลับ ฉวยโอกาสลากทักษิณกับ พ.ร.บ.ปรองดอง ไปดึง ไปล้มการแก้รัฐธรรมนูญ และสถาปนาการปกครองแบบตุลาการธิปไตยแบบนิ่มๆ ไม่ต้องมีที่มาจากประชาชน ถ้าไม่มีใครค้าน ก็จะรุกต่อ แต่คงไม่กล้าแก้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนสามารถเลือกศาลต่างๆ ได้โดยตรง

4. ทักษิณคงโดดลงจากรถของพลเอกสนธิวิ่งกลับมาลงเรือเสื้อแดงแล้วถอยห่างออกจากฝั่ง เพราะธงปรองดองที่ชูขึ้นถูกยิงพรุนไปแล้ว และก็ควรคิดออกเสียทีว่าจะสร้างประชาธิปไตยเพื่อประชาชน นั้นต้องทำอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้  
เรื่องกลับบ้านเป็นยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เป้าหมาย จนป่านนี้ยังไม่รู้เลยหรือว่ากำลังถูกบันทึกชื่อลงในประวัติศาสตร์ จะให้เขาบันทึกแบบไหน


ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
ที่ควรจะนำมาใช้ได้แล้ว

นักกฎหมายอาวุโสมากๆ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดความวุ่นวายมาตลอด 6 ปี เป็นเพราะไม่มีการใช้กฎหมาย ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ มาจัดการกับพวกกบฏและผู้สนับสนุนอย่างเด็ดขาด ความวุ่นวายจึงยืดเยื้อและขยายมาจนถึงทุกวันนี้

ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 
มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ 
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร 
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 114 ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฏ หรือรู้ว่ามีผู้จะเป็นกบฏ แล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

จากประสบการณ์ของท่านเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศเราแม้นมีกฎหมายแต่ก็ไม่เคยใช้อย่างจริงจัง คนที่ทำความผิดขนาดโค่นล้มอำนาจที่มาจากประชาชนไม่เคยถูกลงโทษ ชนะก็ได้ประโยชน์ ได้ชื่อเสียง ทุกคนวิ่งมาสยบ มาอาศัยบารมีอำนาจเพื่อเกาะกิน ถ้าหากผู้ทำการรัฐประหารพ่ายแพ้ก็มักจะได้รับการอภัยโทษ

ดังนั้น การใช้กฎหมายมาตรา 113-114 จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เมื่อมีการรัฐประหาร หรือใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์เพื่อยึดอำนาจ ให้มีคนถูกลงโทษ ติดคุกหรือถูกประหารชีวิตเพียงไม่กี่คน ก็จะไม่มีใครกล้ามาเป็นผู้นำ ตัดสินใจง่ายๆ และโทษแบบนี้ ไม่ควรมีอายุความเนื่องจากผู้ที่ทำการรัฐประหาร สามารถยึดครองอำนาจได้ช่วงเวลาหนึ่ง และยังสามารถถ่ายทอดอำนาจไปให้ผู้สืบทอด ทายาท หรือแนวร่วม

ดังนั้น การลงโทษคนเหล่านี้ อาจต้องใช้เวลา ส่วนใหญ่แทบทุกประเทศที่ทำได้ จะต้องอยู่ในช่วงที่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แล้วย้อนกลับไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
หมายความว่าถ้าอีกสิบปี ถึงจะดำเนินคดีได้ ก็ทำช่วงนั้น ถ้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จะสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตย และประเทศชาติ



โอกาสเกิด...
ปรองดอง, รัฐประหาร, สงคราม

ความเห็นของผู้วิเคราะห์ ณ สถานการณ์ปัจจุบันเรื่องปรองดอง ดูจากเกมในสภาและนอกสภา ในศาล ทีมวิเคราะห์ ฟันธงว่าแม้จะมีการแสดงการปรองดองอีกหลายครั้ง แต่การปรองดองอย่างแท้จริงจะทำไม่สำเร็จ จะต้องมีฝ่ายแพ้ไปข้างหนึ่ง
ถ้าเป็นการแพ้กลางกระดานโดยที่ประชาชนเลือกฝ่ายหนึ่งให้ชนะอย่างท่วมท้นและฝ่ายที่พ่ายแพ้ยอมรับ เรื่องจะจบแบบไม่ยาก

แต่ดูแล้วกลุ่มอำนาจเก่าดิ้นรน ไม่ยอมลงจากอำนาจ ไม่ยอมจำนน ไม่ยอมให้ถูกลงโทษ และจะใช้ตุลาการธิปไตยหรือ วิธีรัฐประหาร เข้าตอบโต้ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการปะทะกันด้วยกำลัง 
ความเห็นเรื่องรัฐประหาร ทีมวิเคราะห์ประเมินว่าการรัฐประหารไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ตราบที่อีกฝ่ายประกาศพร้อมสู้ จะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ พยายามหลีกเลี่ยงโดยการมองข้ามความผิดของผู้ถืออาวุธ มุ่งเป้าไปเฉพาะนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่จะให้รับผิดชอบ เพราะไม่อยากปะทะกับทหารและไม่อยากถูกรัฐประหาร 

ในขณะที่กลุ่มเสื้อแดงก้าวหน้า หมดความอดทน ไม่สนใจว่าจะเกิดรัฐประหารหรือไม่ ไม่กลัวและไม่เกรงใจตุลาการภิวัฒน์ อีกแล้ว และคิดว่าสามารถสู้ได้ด้วยกำลังมวลชน   
ซึ่งแกนนำคนเสื้อแดงประกาศเตรียมพร้อมต่อต้านอย่างเต็มที่โดยไม่ได้ใช้ท่าทีป้องกันหรือตั้งรับ แต่เป็นการท้ารบแบบ กูไม่กลัวมึง ตัวอย่างการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 พวกนักศึกษาไม่กี่พันคน ประกาศพร้อมสู้ แต่พวกรัฐประหารไม่สนใจ ยึดอำนาจแล้วฆ่า ผลก็คือเกิดสงครามกองโจร ทั้งประเทศ นาน 5 ปี นับศพแทบไม่ทัน
ดังนั้น ถ้ามีคนพร้อมสู้จำนวนมาก ก็ไม่มีใครอยากทำ ถ้าพลาดคงถึงตายและต้องคำนึงถึงครอบครัว



จะเกิดสงครามหรือไม่?

ถ้ามีคนเสียชีวิต จากการต่อสู้กับการยึดอำนาจ ไม่ว่าแบบไหนเหตุการณ์ขยายแน่นอน และจะมีคนจำนวนหนึ่ง ไม่อหิงสา ไม่สู้ด้วยมือเปล่า แถมยังด่าแกนนำว่าโง่ ไม่ยอมให้นำไปตายฟรีอีกแล้ว 
ดังนั้น โอกาสของสงครามจะเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจ เพราะการหาอาวุธไม่ใช่เป็นเรื่องยาก ราคาตลาดของปืนอัตโนมัติ ถ้าซื้อจำนวนมาก ไม่น่าเกิน 200-300 US$ ต่อหนึ่งกระบอก แต่ความสูญเสียจากสงครามจะเกิดขึ้นมากมาย 
เมื่อการปะทะจบลง จะมีการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง และอาจมีการฆ่ากันตามหลัง ชนิดที่เรียกว่าการกวาดล้างครั้งใหญ่ ใครหนีทันก็รอด ใครหนีไม่ทันก็ตาย คนในครอบครัวจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้อนาคต 

คนที่ไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้ อาจจะส่งเสียงเฮด้วยความมัน แต่ความขัดแย้งแบบนี้สามารถขยายตัว ฝังความเกลียดชัง ความโกรธแค้นอย่างล้ำลึกและมาระบายออกที่ปลายกระบอกปืนกับคมดาบ 
ยิ่งถ้าควบคุมกันไม่ได้และมีกลุ่มติดอาวุธมากมาย ความสูญเสียจะตามมาอย่างมหาศาล ถ้าจบแบบลิเบียต้องถือว่าจบเร็ว ถ้ายืดเยื้อแบบซีเรีย ความสูญเสียก็จะมากยิ่งขึ้น ถ้าผสมแบบอิรักเข้าไปก็จะเดือดร้อนยาวนานไม่รู้จบ

ถ้าปล่อยให้ความขัดแย้งวันนี้ข้ามการปรองดอง ข้ามการใช้กฎหมาย ไม่ยอมรับสภา ไม่ไว้ใจศาล ก็จะต้องลงเอยที่กำลังคนและอาวุธ 
ความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มจากการรัฐประหาร 2549 จนถึงวันนี้ 2555 ก็ยังทำไม่สำเร็จ เพราะสิ่งที่อยากทำเป็นการเดินถอยหลัง เมื่อเจอพื้นที่ขรุขระ ก็ต้องหกล้ม ถ้าไม่เลิกล้มความคิดคนจะตายเพิ่ม และจะพ่ายแพ้ย่อยยับ 

วันวิสาขบูชาปีนี้ ได้มีโอกาสขึ้นเขาสูงไปเวียนเทียน และคิดถึงหลักธรรม สัจธรรมเมื่ออดีต 260 ปี หรือวันนี้ 2,600 ปี ยังคงเป็นความจริง และพร้อมจะปรากฏให้เราเห็นเสมอ
ถึงวันนี้จึงได้เข้าใจว่า หลวงพ่อ ฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี เห็นอะไร และทำไมจึงต้องเขียนคำทำนายไว้เตือนล่วงหน้าถึง 40 ปี เพราะภาพอนาคตนั้นน่ากลัว

น่ากลัวกว่าน้ำที่ท่วมมิดหลังคาในคำทำนายมากนัก



.