http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-29

ขี่พายุ ทะลุเมฆ, ลึกแต่ไม่ลับ29 มิ.ย.55

.
คอลัมน์ในประเทศ - ศาล รธน.“จัดหนัก” ยื่นถอนประกัน“จตุพร” แดงสะท้าน-รบ.สะเทือน
รายงานพิเศษ -ล้มปฏิบัติการ “ม้าแดง” แผนมะกัน ยึด “อู่ตะเภา” เมื่อศึกสีเหลือง-แดง โกอินเตอร์ “ปู”-กองทัพ ถอย-เมกา “จ๋อย”
คอลัมน์ โล่เงิน - โครงสร้าง บก.สกัดกั้นยาเสพติด 2 บอร์ดใหญ่ไฟเขียว 201 อัตรา ทุ่มอุปกรณ์ไฮเทค 111 จุดตรวจ 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ขี่พายุ ทะลุเมฆ
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 9


เมื่อโครงการตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศ ของนาซา ที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐาน "ศึกษา"
ได้กลายเป็น "โครงการก่อพายุ" ในการเมืองประเทศไทย 
เป็น "พายุ" ที่พร้อมจะพัดพารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าไป คิลลิ่งโซน 
คิลลิ่งโซน ทั้งของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ 
อันสุ่มเสี่ยง จะนำไปสู่การ "ตายน้ำตื้น" ถูกถอดถอน พักงาน และโค่นล้ม ภายใต้ พายุตุลาการภิวัฒน์ เหมือนดั่งรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เคยเจอมาแล้ว จากรายการ "ปรุงอาหาร" 

ซึ่งขณะนี้ "สัญญาณเตือนภัย" ก็ดังสนั่นหลายสัญญาณ
ไม่ว่ากรณี แก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ กรณีใบแดง นายการุณ โหสกุล รวมถึงคดีเก่าๆ ที่พร้อมจะฟื้นชีวิตขึ้นมาเขย่าคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย 
เหล่านี้เอง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระวังตัวแจ 
และที่สุด ก็ตัดสินใจถอย เรื่อง "นาซา" โดยโยนเรื่องให้ไปถกกันใน "รัฐสภา" ตามมาตรา 179 
ถอยเหมือนกับที่ถอยเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เพื่อลดเงื่อนไข "ประหาร" ทางการเมือง

เพียงแต่การถอย กรณี "นาซา" ดูจะถอยเป็นกระบวน มากกว่า เรื่องปรองดองและรัฐธรรมนูญ อยู่ตามสมควร
หรือจะกล่าวให้มีสีสันขึ้นอีกเล็กน้อย 
นั่นก็คือ ไม่ใช่ถอยเพราะพายุพัดพา แบบผู้ถูกกระทำ
หากแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามที่จะ "ขี่พายุ" เพื่อเป็น "ผู้กระทำ" ระหว่าง "ถอย" ด้วย



ต้องไม่ลืมว่า การที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในโครงการตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศ ครั้งนี้ 
สืบเนื่องจากสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (จิสด้า) ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ของ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับนาซา ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2553  
อยู่ในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้ว ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 
จากนั้นได้มีการจัดประชุมร่วมกันของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างๆ 18 หน่วยงาน รวม 5 ครั้ง 
จึงได้มีข้อสรุปที่จะมีการศึกษาเรื่องดังกล่าว 
บนพื้นฐานของ "วิทยาศาสตร์" และ "วิชาการ"

ซึ่งจุดนี้เอง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หวังจะนำมาย้อนเกล็ดพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา โดยปราศจาก "ข้อสงสัย" หรือข้อท้วงติงใดๆ 
แต่เมื่อเป็นฝ่ายค้าน ท่าทีกลับเปลี่ยนแปลงไป 
โดยพยายามวาดภาพให้โครงการที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และวิชาการ กลายเป็น โครงการอันน่ากลัว ที่เกี่ยวพันกับภารกิจ "จารกรรม" และทหาร 
ยิ่งไปกว่านั้น ยังนำเรื่องไปโยงให้สับสน และพิสดาร เข้ากับเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศในการกู้ภัยพิบัติธรรมชาติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค อีกด้วย 
ซึ่งว่าไปแล้ว เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับจีน ค่อนข้างสูงว่าสหรัฐจะใช้เป็นช่องทางเข้ามามีบทบาททางด้านความมั่นคง ในเอเชีย มากกว่าโครงการนาซา มากมายนัก

แต่เมื่อย้อนกลับไปที่ต้นตอของเรื่อง
ก็เหมือนดังกรณีของนาซา ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มต้นขึ้นมาเช่นกัน 
ทั้งนี้ นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับเองว่า เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ เสนอไปยัง นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศหรัฐ และได้พูดคุยกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศในการกู้ภัยพิบัติธรรมชาติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ 
1. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ไทย-สหรัฐ รวมทั้งมิตรประเทศอื่น 
2. เป็นโกดังเก็บอุปกรณ์รวมทั้งอาหาร โดยจะมีการพัฒนาอาหารที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน 
3. เตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติภารกิจใน 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในภูมิภาค


ดูจากเป้าหมาย-วัตถุประสงค์ของศูนย์กู้ภัยพิบัติธรรมชาติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคแล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่กว่าโครงการนาซา หลายเท่านัก 
และดูจะเปิดช่องให้สหรัฐมีบทบาทค่อนข้างสูง 
พรรคประชาธิปัตย์ ริเริ่มเอง แต่ไม่กังวล ไม่มีคำถาม เมื่อเป็นรัฐบาล 
เมื่อเป็นฝ่ายค้านกลับมากด้วยความกังวล และคำถาม

แถมผสมผสานเรื่องทั้งนาซา ทั้งศูนย์กู้ภัยพิบัติ เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมทั้งโยงใยไปเรื่องธุรกิจพลังงาน เรื่องข้อแลกเปลี่ยนการออกวีซ่าเข้าสหรัฐ ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติอันใหญ่โต ที่ใครดำเนินการต้องถูกตั้งคำถาม และถูกตั้งข้อสงสัย 
ขณะเดียวกัน ยังเสนอแบบหัวชนฝาให้นำเรื่องนี้เข้าสภา ตามมาตรา 190 เพื่อที่จะให้รัฐสภา ให้ความเห็นชอบก่อน 
เหล่านี้เอง ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มองเห็น 
และหวังจะใช้เรื่องนี้ย้อนเกล็ดพรรคประชาธิปัตย์ ในการอภิปรายทั่วไปในสภา ตามมาตรา 179 

ย้อนเกล็ดโดยชี้ให้เห็นว่า ใครเป็นผู้ริเริ่มและรับรู้เรื่องนี้มาแต่ต้น
ขณะเดียวกัน ใครเป็นผู้ขัดขวาง จนโครงการทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ ที่เป็นเรื่องดีและสร้างสรรค์ ต้องหยุดชะงักและอาจจะต้องล้มเลิกไป
ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศ รวมทั้ง นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ เป็นต้น ต่างประสานเป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศไทย และเสียดายที่โครงการต้องหยุดชะงักลง 

ขณะที่ในประเด็นแง่กฎหมาย นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ยืนยันว่า ที่นาซาขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อศึกษาวิจัยไม่เข้าข่าย ที่จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตามมาตรา 190 เพราะไม่เข้า 4 เงื่อนไขตามที่กำหนดคือ 
1. ไม่มีบทเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย 
2. ไม่ต้องออกบทบัญญัติให้เป็นไปตามสนธิสัญญา 
3. ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม 
และ 4.ไม่ผูกพันทางการค้า การลงทุนของประเทศ

ทางด้านประชามติ ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 63.5 เห็นควรที่จะให้นาซาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา
ยิ่งไปกว่านั้น ด้านความมั่นคง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ก็มีจุดยืนร่วมกันที่จะสนับสนุนโครงการนี้อย่างพร้อมเพรียงด้วย


"ฉันทามติ" เหล่านี้ แม้จะไม่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มั่นใจถึงขนาดตัดสินใจเดินหน้าโครงการตรวจสอบการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศของนาซ่า เพราะสัญญาณเตือนภัยที่ควบคุมและคาดการณ์ยาก จากกระแสตุลาการภิวัฒน์และองค์กรอิสระ แรงกว่า และอาจทำให้เกิดอุบัติทางการเมืองได้ จึงทำให้ตัดสินใจ "ถอย" 
แต่ก็พยายามถอย ที่ไม่ใช่ การ "ถอยกรูด" เป็นการถอยแบบตั้งรับ พร้อมทั้งออกอาวุธตอบโต้ไปด้วย โดยชี้เป้าไปที่ พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่หยิบฉวยเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตี ทำให้ประเทศเสียโอกาส ทางด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์  
โดยใช้เวทีสภา ตามมาตรา 179 ไม่ใช่ 190 มาเอาคืนฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้าน 
ซึ่งคงจะประดาบกันดุเดือด 
ส่วนจะ "ย้อนเกล็ด" แบบ ขี่พายุ ทะลุเมฆ ได้ผลมากน้อยเพียงใด ต้องติดตาม



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 8


ในที่สุด รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ยอมหลบฉากประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อมีมตินำกรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซ่า) ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศ ภายใต้โครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่อาจมีผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAC RS) เข้าสู่การประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ซึ่งจะเปิดในวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อรับฟังความเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. หลังจากมีเสียงคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้านคือ ประชาธิปัตย์ กับกลุ่มพันธมิตรฯ 
นับเป็นการเบี่ยงตัวหนีเผือกร้อนทางการเมืองอีกระลอก

ช่วงนี้ ถือว่าชะตาราหูของรัฐบาล "ปู" ไม่สู้ดี พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก "งานเข้า" ไม่หยุดหย่อน และแต่ละเงื่อนไขล้วนเป็น "ชนวนเสียว" ต่อจิ๊กซอว์มาเป็นชุดๆ ดังที่ได้ลำดับให้ดูชมไปแล้วใน "ลึกแต่ไม่ลับ" เมื่อสัปดาห์ก่อน และคาดหมายว่ายังมีวาระซ่อนเร้นอื่นๆ เตรียมปูดออกมาฟาดกระหน่ำอีกหลายประเด็นในโอกาสต่อๆ ไป 
"คนใน" ระดับ "สุชาติ ธาราดำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแท้ๆ ยังสวมบทโหร "ฟันธง" เสียงดังฟังชัดว่ารัฐบาลต้นสังกัด ส่อเค้าว่า "อยู่ไม่ยืด" 
ทั้งนี้ "เสมา 1" ซึ่งมีชื่อติดโผอยู่ระนาบหัวแถวมาตลอดว่าจะถูกเขี่ยออก หากมีการปรับ ครม. "ปู 3" ประเมินโดยพื้นฐานว่า รัฐบาลกำลังเผชิญกับมรสุมเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็น "จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำ นปช. ที่ถูกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นถอนประกันคดีก่อการร้าย-การแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปัญหาการแบ่งสีจะรุนแรงมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ อาจส่งผลถึงการยุบพรรคบางพรรค การถอดถอน ส.ส. จำนวนมาก จึงเป็นบทสรุปที่น่าสนใจว่า "อยู่ถึงสิ้นปีลำบาก"

ไม่เพียงแต่ "สุชาติ" ซึ่งอยู่ระดับคลุกวงใน จะรู้สึกหวั่นไหวกับสถานการณ์อันไม่สู้ดี คอการเมืองเอง จับกระแสโดยภาพรวมแล้ว ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน ว่ารัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" กำลังเจอคลื่นใต้น้ำแปลกๆ ละม้ายใกล้เคียงกับเหตุการณ์ก่อน "ปฏิวัติ 19 กันยายน 2549" ผสมกับ เหตุการณ์ช่วงฆ่าตัดตอนรัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์" 
ชงให้เจอทางตันเข้าแก๊ป "ปฏิวัติเงียบ" เพื่อล้างไพ่ทางการเมืองกันใหม่อีกรอบ และคาบนี้ จะไม่เรียกใช้บริการสูตร "เทพประทาน 2" เนื่องจากเกิดอาการผิดหวังมาจาก "เทพประทาน 1" อุตส่าห์กวาดบ้าน จัดสำรับกับข้าว ป้อนน้ำป้อนท่าให้ทุกกรณีแล้ว แต่กลับ "ไม่เอาอ่าว" พ่ายป่าราบ ถูก "ยึดเมือง" กลับไปต่อหน้าต่อตา  
กรณีหักโค่นรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" สำเร็จ ด้วยสูตร "ปฏิวัติเงียบ" ข่าวระบุว่ามีการวางตัวบุคคลที่ขึ้นมาขัดตาทัพเรียบร้อยแล้ว เป็น "น้ำดี" เพื่อมากอบกู้วิกฤตประเทศ ชื่อปรากฏออกมา จะไม่มีใครคัดค้าน...ข่าวลือ เขาว่ายังงั้น



เกมใต้ดิน-บนดิน ในการขยับขับเคลื่อน เพื่อหักโค่นรัฐบาล "ปู" ให้จอดป้าย อาศัยกลไก "นอกสภา" มาเป็นตัวกดปุ่ม "นายใหญ่ดูไบ" ย่อมรู้แจ้งแทงทะลุดีกว่าใครเพื่อน จึงสั่งถอยทุกกรณี และเช็กกระแส เตรียมทางหนีทีไล่ไว้รับมือแล้วทุกกระบวนท่า อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา เล่นแผน "ลับ-ลวง-พราง" ชื่อไปปรากฏอยู่ประเทศญี่ปุ่น เข้าออก 2-3 เที่ยว อ้างว่าเดินสายกินข้าว แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกลอเก่าๆ แต่จังหวะปะเหมาะช่วงหนึ่งแอบตีกรรเชียงโฉบเข้าฮ่องกง และสิงคโปร์ ก่อนบินกลับนครดูไบ เพราะนัดหมายไว้กับ "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะแม่ทัพศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี นำ "วิเชียร ขาวขำ" ที่ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายไปให้ "นายใหญ่" เป่ากระหม่อม 
มีข่าวว่า อีกไม่กี่วันที่จะถึง "ทักษิณ" จะโฉบมาเยี่ยมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และย่องเข้าเขมรแบบเงียบๆ 
การบุกกัมพูชาคาบนี้ มีวาระพิเศษสุด คือ บุกไปเคลียร์ใจ และเงินกับ "สมเด็จฮุน เซน"
ประเด็นไม่เป็นเรื่องมีอยู่ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายน "นายใหญ่" บินเข้ากรุงพนมเปญ เพื่อให้แกนนำ นปช. และกองทัพ "เสื้อแดง" แห่ไปรดน้ำดำหัว ดังที่เป็นข่าวว่า ยกพลไปสร้างสีสันกันครึกครื้นหลายหมื่นคน  
ตามข่าวเล่ากันเป็นตุเป็นตะในขณะนั้นว่า เพื่อเป็นการซื้อใจค่าใช้จ่ายทุกเม็ด ไม่ว่าจะเป็นที่พัก อาหารการกิน ยานพาหนะ ค่าธรรมเนียม ค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆ ถูก "เจ้าภาพ" ใจป้ำบริการฟรีแบบคนกันเองให้ทั้งหมด
แต่ "นายใหญ่" ไม่ยอม สั่งคนใกล้ชิดประเมินตัวเลขแล้ว "เหมาจ่าย" ให้ ทั้งโรงแรม ค่าภาษี อาหาร และอื่นๆ ให้ประเมินตัวเลขไว้

ก่อนกลับ มีการโปะจ่ายให้เรียบร้อย ผ่าน "เสี่ย" รายหนึ่ง ซึ่งเป็นล็อบบี้ยิสต์ชื่อดังคนหนึ่งและใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจใหญ่ 
ปรากฏว่า เงิน-ค่าใช้จ่าย ที่เคลียร์ก่อนเดินทางกลับ ประเมินว่าคงสมน้ำสมเนื้อ ไม่ถึงมือเจ้าของธุรกิจ และหน่วยงานที่ไปใช้บริการ 
จึงร้องเรียนกับ "สมเด็จฮุน เซน" 
"ฮุน เซน" ทำท่าจะเคือง "นายใหญ่" เลยต้องรีบไปเคลียร์กับเพื่อนเลิฟ
ส่วนการเข้าลาว จะมีนัยยะอะไร ไว้เป็นที่หลบฉากหลังพ่ายทัพหรือไม่ ยังไม่มีใครทราบได้



+++

ศาล รธน." จัดหนัก" ยื่นถอนประกัน"จตุพร" แดงสะท้าน-รบ.สะเทือน
คอลัมน์ ในประเทศ  ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 10


นอกจากคำสั่งให้รัฐสภาชะลอลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 
เพื่อรอผลวินิจฉัย 5 คำร้องคัดค้าน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคิวนัดหมายคู่กรณีมาชี้แจงวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ ก่อนจะมีคำตัดสิน 
กรณีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ในคดีก่อการร้าย 
ซึ่งศาลอาญารับคำร้องและออกหมายเรียกนายจตุพรมาสอบถามข้อเท็จจริง ในวันที่ 23 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาว่าจะถอนประกันตามที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญร้องมาหรือไม่ 
คืออีกปมหนึ่งที่สังคมเชื่อว่าจะเป็นตัวเร่งอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนแรงมากขึ้น

การยื่นคำร้องต่อศาลอาญาครั้งนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจ นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 
ด้วยเหตุผลโดยสรุปดังนี้ 
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้แจ้งความต่อกองปราบปราม ดำเนินคดีนายจตุพรกับพวก ฐานร่วมกันข่มขู่การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ทำลายความน่าเชื่อถือเพื่อหวังผลทางคดี 
ต่อมานายจตุพรถูกพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 2 สิงหาคม 2554 นายจตุพรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญา ภายใต้เงื่อนไขห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย 
ล่าสุด วันที่ 7 มิถุนายน 2555 นายจตุพรขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมหน้ารัฐสภา โจมตีการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสั่งให้ชะลอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องเข้าชื่อถอดถอนตุลาการ 
ในคำร้องยังยกถ้อยคำปราศรัยบางช่วงบางตอน รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายจตุพรในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า 
มีลักษณะข่มขู่ ยุยง ปลุกปั่น คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ คุกคามสิทธิส่วนบุคคลตุลาการและครอบครัว 
ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมและบ้านเมือง มีลักษณะเป็นกลุ่มองค์กรทำลายล้างศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ชัดแจ้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เงื่อนไขที่ศาลอาญากำหนดไว้ไร้คุณค่า และเชื่อว่ายังจะมีการกระทำต่อไปอีกอย่างไม่หยุดยั้ง แสดงถึงเจตนาขาดความเคารพยำเกรงต่อสถาบันศาล 
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องปกป้องสถาบันศาลรัฐธรรมนูญมิให้เสียหาย 
จึงขอให้ศาลอาญาพิจารณาเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว



ท่ามกลางความแคลงใจของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่มองว่าคำร้องขอให้ถอนการประกันตัวดังกล่าวไม่สมเหตุสมผลหลายประการ 
ทั้งยังมีข้อสงสัยในขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากกรณีมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ยื่นคำร้อง และทราบเรื่องหลังจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นเรื่องต่อศาลอาญาไปแล้ว 
แต่ก็ถือเป็นการทำหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า ควรต้องดูแลความปลอดภัยของตุลาการทุกคนไม่ให้ถูกข่มขู่คุกคามจากภายนอก 
อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ คนขับรถของนายวสันต์ ยังได้รับโทรศัพท์ข่มขู่จะพาคนบุกบ้านอีกด้วย

ขณะเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกแถลง งดให้ความเห็นกรณีดังกล่าว
อ้างว่าเพื่อไม่ให้เป็นการก้าวล่วงอำนาจศาลอาญา ที่ได้มีคำสั่งนัดสอบนายจตุพรแล้วในวันที่ 23 กรกฎาคม สำหรับข้อเท็จจริงทุกอย่างเป็นไปตามคำร้องที่ยื่นไป 


ด้านนายจตุพร ครั้งนี้ไม่ยอมตกเป็นเป้านิ่งเหมือนตอนศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 1 ให้พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา 
วันที่ 26 กรกฎาคม นายจตุพรเดินทางไปยังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือขอให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงการยื่นคำร้องขอถอนประกัน  
นายจตุพรต่อสู้ในแง่ที่ว่า การยื่นขอถอนประกันในคดีก่อการร้ายเป็นอำนาจของอัยการในฐานะโจทก์แห่งคดี ไม่ใช่อำนาจสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการใดๆ โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่รู้เห็นหรือมอบหมาย 
ดังนั้น การที่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ทราบเรื่อง และไม่ได้สั่งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องต่อศาลอาญา จึงทำให้คำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายจตุพรอ้างด้วยว่า ถ้อยคำปราศรัยหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 3 และ 7 มิถุนายน 
ไม่มีข้อความใดเป็นการข่มขู่ ยุยง ปลุกปั่น ให้ผู้ชุมนุมคุกคามการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือคุกคามสิทธิส่วนบุคคลของตุลาการและครอบครัว 
ท้าว่าถ้ามีขอให้ระบุว่าเป็นถ้อยคำใด แล้วแจ้งความดำเนินคดี พร้อมเรียกร้องนายวสันต์เปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ที่โทร.ไปข่มขู่คนขับรถของนายวสันต์



นายจตุพร พรหมพันธุ์ ตั้งข้อสงสัยการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ 
ประเด็นคือ เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เป็นคู่กรณีกับนายจตุพร ในคดีที่ตุลาการมีมติมอบหมายเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีต่อกองปราบปรามเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2553 
แต่ตุลาการก็ยังทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดให้นายจตุพรสิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. 
นายจตุพรอ้างว่าไม่เคยรู้เรื่องการแจ้งความดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นจะต้องยื่นคัดค้านตั้งแต่การเป็นองค์คณะชี้ขาดคุณสมบัติให้ตนเองพ้นจากการเป็น ส.ส. แล้ว เนื่องจากเป็นคู่ปฏิปักษ์ต่อกัน  
ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า การยื่นถอนประกันของศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นทันที หลังมีข่าวพรรคเพื่อไทยอาจส่งนายจตุพร ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมแทน นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติแจกใบแดง  
เป็นฉากต่อเนื่องจากมติเชือดนายจตุพร หลุดจากเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปหมาดๆ ซึ่งปฏิบัติการ"จัดหนัก"ครั้งนี้ ส่งผลต่อนายจตุพรทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ระยะยาวคือ หากศาลอาญามีคำสั่งถอนการประกันตัวตามที่ศาลรัฐธรรมนูญชงเรื่องขึ้นมา นายจตุพรก็ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งโดยไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะ ส.ส. 
ถึงนายจตุพรจะสามารถลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ได้ แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าหากศาลไม่มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 
รูปการณ์ก็จะซ้ำรอยการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เพราะต่อให้นายจตุพรชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็น ส.ส. อยู่ดี

ส่วนผลกระทบในระยะสั้น นอกจากการที่นายจตุพร ขู่อดข้าวประท้วงตายคาคุก
ยังมีประเด็นที่แกนนำเสื้อแดงแสดงความวิตกกังวลว่าปัญหาจากการยื่นถอนประกันนายจตุพร อาจมีผลต่อการตัดสินใจของแกนนำรัฐบาล
ในการผลักดันนายจตุพรเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม. ที่คาดว่าจะมีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ 

เพราะหากรัฐบาลเสี่ยงหักดิบ ฝืนเอานายจตุพรเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เป้าต่อไปที่จะถูกโจมตีคงไม่พ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ
หมากตานี้ฝ่ายตรงข้ามหวังผลกิน 2 เด้ง
ขุดหลุมฝังนายจตุพร พร้อมเขย่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้สั่นสะเทือนอีกระลอก



+++

ล้มปฏิบัติการ "ม้าแดง" แผนมะกัน ยึด "อู่ตะเภา" เมื่อศึกสีเหลือง-แดง โกอินเตอร์ "ปู"-กองทัพ ถอย-เมกา "จ๋อย"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 14


กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว เมื่อทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายกลุ่มพันธมิตรฯ ปลุกกระแสต้านการให้นาซ่าใช้สนามบินอู่ตะเภาในการขึ้นบินสำรวจชั้นบรรยากาศ ในโครงการ Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study campaign 
แม้ว่าสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะเคยอนุมัติให้นาซ่าทำหลายโครงการร่วมกับ GISTDA มาแล้วเมื่อปี 2553 มาแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ ดูจะเป็นใจให้ใครๆ สงสัย 
แถมทั้งมีการโยงไปถึงการแลกกับการที่อเมริกาจะให้วีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าอเมริกาได้ ที่ยิ่งทำให้เคลือบแคลง
รวมทั้งเป็นเรื่องเข้าใจได้ยาก เรื่องเก็บตัวอย่างเมฆ สำรวจชั้นบรรยากาศ แถมทั้งขึ้นชื่อว่า นาซ่า และอเมริกาด้วยแล้ว ย่อมไม่มีใครในโลกวางใจว่า ไม่มีวาระซ่อนเร้นในด้านการทหาร แถมเครื่องบิน ER-2 ของนาซ่า ที่นำมาใช้นั้นก็ระแวงกันว่าจะเป็นเครื่องจารกรรม เพราะพัฒนามาจากเครื่อง U-2


ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการมาปรับสมดุล Rebalancing ในเอเชียแปซิฟิก เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีน ที่มีการขยายแสนยานุภาพทางทหารในแถบนี้ โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้มากขึ้น จนมีการเผชิญหน้าของเรือรบจีนกับเรือรบฟิลิปปินส์ ประเทศน้องเลิฟของอเมริกา มาก่อนหน้านี้ 
อีกทั้งความข้องใจในความสัมพันธ์ของพม่ากับเกาหลีเหนือ ในเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์ร่วมกัน จนเคยมีข่าวพม่ามีนิวเคลียร์นั้น ก็มีส่วนที่ทำให้อเมริกาต้องกลับมาในภูมิภาคนี้ และอาจมีส่วนที่ทำให้นาซ่าจะต้องขึ้นสำรวจชั้นบรรยากาศ ถึงชั้นสตาร์โตสเฟียร์ แต่ทว่า ไม่ได้บินเหนือน่านฟ้าพม่า เพราะไม่ยอม 

สหรัฐอเมริกา ที่มัวไปตามล่า บิน ลาเดน และทำศึกต่อต้านก่อการร้ายมาเป็นสิบปี จึงต้องประกาศว่า US is coming back เร่งกลับมาสู่ภูมิภาคนี้
ตั้งแต่ นางฮิลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศ จนถึงการที่กลาโหมและ ทร.สหรัฐ เชิญ บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ไปเยือนอเมริกา ในรอบ 19 ปี มาแล้ว จนมาถึง พล.อ.Martin Dempsy ผบ.สส.สหรัฐ โดยเฉพาะไฮไลต์สุดคือ การที่ นาย Leon E. Panetta รมว.กลาโหม สหรัฐ พบปะกับ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เมื่อ 1 มิถุนายน ในระหว่างการร่วมประชุมความมั่นคง Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ และรับปากจะมาเยือนไทย ในฐานะแขกของกลาโหม ในปลายปีนี้ 
ซึ่งมีหัวข้อเรื่อง การขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เรื่อยมาตลอด ทั้งการเป็นศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ HADR-Humanitarian and Disaster Relief จนถึงนาซ่า 
แม้ว่ากองทัพไทยพยายามจะหันไปให้ความสำคัญกับจีน เพื่อเรียกร้องความสนใจจากอเมริกา ตั้งแต่การเลือกซื้อเครื่องบิน Gripen ของสวีเดน แทนเครื่องบินตระกูล F ของอเมริกา และซื้อปืน Tavor ของอิสราเอล แทนปืน M-16 หรือ M-4 ของอเมริกา จนถึงมีการฝึกร่วมกับจีนมากขึ้น เริ่มจากฝึก Blue Strike ของนาวิกโยธินไทย-จีน จากที่ทหารรบพิเศษไทย-จีน ฝึก Strike กันอยู่แล้ว
รวมทั้งเมื่อ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม นำทั้งปลัดกลาโหม ผบ.สส. และ ผบ. 3 เหล่าทัพไปเยือนจีนแบบทั้งครอบครัว ไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา แถมประกาศว่าจะไม่ไปเยือนประเทศไหนพร้อมหน้ากันเช่นนี้อีก เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้จีนทราบ แถมเพิ่มการฝึก ทอ.ไทย-จีน Lightning Strike และจะผลิตจรวดหลายลำกล้อง ร่วมกันอีกด้วย 
เทียบเชิญให้ พล.อ.อ.สุกำพล ออกมาจากปาก รมว.กลาโหมสหรัฐ ทันทีที่พบหน้ากันที่สิงคโปร์ เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ฝ่ายไทยขอให้ทางอเมริกามาเยือนก่อน ซึ่ง นาย Panetta ก็ตอบตกลงที่จะมาเยือนไทยในอีกไม่กี่เดือนนี้


แต่ดูเหมือนสิ่งที่มหาอำนาจอย่างอเมริกา ไม่ทันฉุกคิด ว่า จะเกิดการต่อต้านขึ้นในประเทศไทย หลังจากที่เรื่องนี้รั่วไหลออกมาเป็นข่าว และกลายเป็นเกมการเมือง ที่พรรคฝ่ายค้านนำมาโจมตีและเล่นงานรัฐบาล จะเห็นได้ว่านาซ่าได้วางแผนเรื่องการขนย้ายอุปกรณ์จาก Ames Research Center ออกมาตั้งแต่กลางพฤษภาคม มาทางเรือ เพราะกว่าจะถึงแหลมฉบังหรืออู่ตะเภา ก็เดือนสิงหาคม ที่นาซ่าจะเริ่มต้นโครงการพอดี 
มหาอำนาจขั้นเทพอย่างอเมริกา ก็ยังคิดไม่ถึงเลยว่า ศึกสีเหลืองแดง และการเมืองภายในแบบสยามนี้ จะโกอินเตอร์ ลามไปถึงยุทธศาสตร์ระดับโลกของอเมริกา
จนทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่กล้านำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 19 มิถุนายน ทั้งๆ ที่เรียก ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ มาประชุมถึงพัทยาขอความเห็นก่อนแล้วเมื่อ 18 มิถุนายน 
แล้วที่สุดรัฐบาลก็ไม่กล้าเอาเสถียรภาพ และการเมืองภายใน มาเสี่ยงกับการเมืองระดับโลก โดยมีมติในการประชุม ครม. 26 มิถุนายน ให้นำเรื่องการพิจารณาในสภา ตามมาตรา 179 ก่อน แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา จะตีความว่าไม่ต้องเข้าสภาตามมาตรา 190 ไม่ว่าจะ วงเล็บ 1 หรือ 2 ก็ตามแล้ว เพราะกระแสต่อต้านแรง 

ทั้งๆ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้จี้ให้ทางกองทัพ โดยเฉพาะ ทร. ชี้แจง ปฏิเสธข่าวนาซ่าขนย้ายอุปกรณ์มาที่อู่ตะเภาแล้ว ที่ทั้ง บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. แจงไปรอบหนึ่ง แล้วให้ พล.ร.อ.ฆนัท ทองพูล ผบ.กองเรือยุทธการ และ บิ๊กห้าว พล.ร.อ.ดำรงศักดิ์ ห้าวเจริญ เสธ.ทร. แจงอีกรอบ 
ทั้งๆ ที่ ทร. เตรียมหาสถานที่รองรับทั้งทีมนาซ่า อุปกรณ์ และที่จะเป็นศูนย์ HADR ในอู่ตะเภาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเลือกใช้อาคาร Red Horse หรือ ม้าแดง ซึ่งเป็นอาคาร รวมทั้งที่พักที่อเมริกาสร้างไว้ เพื่อให้ทหารอเมริกันเวลามาฝึก ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกหน่วย Combat Engineer Unit ของทหารอเมริกัน ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ที่เคยมาใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานบินส่งกำลัง 
ทั้งๆ ที่ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ได้แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานไทย-สหรัฐ ที่มี พล.ท.สุรพงษ์ สุวรรณทัต เจ้ากรมยุทธการทหาร บก.กองทัพไทย ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนเสธ.สหรัฐระดับเหรียญรางวัลเป็นประธาน ร่วมด้วยเจ้ากรมยุทธการ 3 เหล่าทัพ เพื่อเตรียมร่างข้อตกลง TOR และตรวจสอบเครื่องบินและอุปกรณ์ของนาซ่าทั้งหมดไว้แล้ว พร้อมมอบหมายให้กองทัพอากาศ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเครื่องบินและอุปกรณ์ต่างๆ ของนาซ่าทั้งหมด 
อีกทั้งตามปกติ ตามบันทึกข้อตกลงปี 2526 ที่ ทร.ไทยทำไว้กับ ทร.สหรัฐ ในการใช้อู่ตะเภา ทั้งการแวะจอดพัก เติมน้ำมัน นั้น ทางสหรัฐจะประสานไปยังกรมยุทธการทหาร บก.ทัพไทย ก่อนแล้วจึงแจ้งมาที่ ทร. แต่ตามอำนาจแล้ว ทอ. จะมีอำนาจในการตรวจสอบเครื่องบินทหารต่างชาติ 
เรียกได้ว่าทางกองทัพได้เตรียมมาตรการรองรับไว้หมดแล้ว เพราะ บก.กองทัพไทย ได้ส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงความเห็นร่วมของ 3 เหล่าทัพ ไปยังเลขาธิการ ครม. ตามนายกฯ ต้องการแล้วว่า พร้อมสนับสนุนภารกิจ และไม่กระทบต่อความมั่นคง



แต่ที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าเอาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และเสถียรภาพของรัฐบาลไปเสี่ยงกับความสัมพันธ์กับอเมริกา เพราะการให้นำเข้าสภา ที่อยู่ระหว่างการปิดสมัยประชุม จนกว่าจะเปิด 1 สิงหาคม ย่อมหมายถึงการล้มโครงการนาซ่านี้แล้ว 
อีกทั้งนาซ่า ก็มีกำหนดเส้นตาย ของงบประมาณ 30 ล้านเหรียญ ในการนำมาทำโครงการที่อู่ตะเภา ที่เขารอคำตอบแค่ 26 มิถุนายน เพื่อที่จะไปทำในพื้นที่อื่นแทน 
แน่นอนว่า งานนี้ ทางกองทัพไทย ซึ่งมีความสนิทสนมกับสหรัฐอเมริกามายาวนาน ย่อมเสียความรู้สึกไปบ้าง ที่ ครม. ไม่กล้าอนุมัติ และอาจส่งผลบางอย่างให้สหรัฐช่วยเหลือทหารไทยน้อยลง  
แต่ทางทหาร คาดหวังว่า เรื่องนี้จะแยกกับโครงการตั้ง HADR ที่ถือเป็นเรื่องทางการทหาร ที่เปิดเผย ไม่ได้เป็นการตั้งฐานทัพ ที่อาจจะมีการดำเนินการต่อไป แต่ก็หวั่นใจว่า จะถูกต่อต้านอีก เพราะกลายเป็นการเมืองไปแล้ว 

ประการหนึ่ง ที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่กล้าไฟเขียวนั้น อาจเป็นเพราะความห่วงใย ที่ ผบ.เหล่าทัพ ที่กลัวผลกระทบด้านเทคโนโลยี จิตวิทยาความมั่นคง และมิตรประเทศ ที่จะต้องทำให้โปร่งใส และทำความเข้าใจกับประชาชนและมิตรประเทศ 
ที่สำคัญคือ ทั้ง พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ผบ.ทร. และโดยเฉพาะ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้แสดงความเห็นในการหารือกัน รวมทั้งข้อห่วงใย 4 ข้อ จากกองทัพ ที่ทาง บก.กองทัพไทย เสนอมายังนายกรัฐมนตรี ก่อนการประชุม ครม. 26 มิถุนายน เช่น ต้องการให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานมาศึกษาในรายละเอียดของการดำเนินการทั้ง HADR และ NASA การจัดทำร่างข้อตกลงร่วม ที่ต้องมีรายละเอียดและรอบคอบ และต้องประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนและมิตรประเทศรับทราบ เพื่อมิให้เกิดการหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และในการปฏิบัติภารกิจจะต้องมีเจ้าหน้าที่ไทยร่วมทำงานด้วยตลอด เช่น นักบิน นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์   
เพราะในส่วนของ ทร. นั้น แม้ว่าจะไม่กระทบต่อปฏิบัติการทางทหารของกรมการบิน ทร.
แต่ก็มีข้อห่วงใย ในเรื่องของการทำให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งประชาชนคนไทย และให้ประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ไม่หวาดระแวง  
เหล่านี้อาจทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่งเหวอ เกรงว่าจะมีผลกระทบที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะการเป็นประเทศเล็กๆ อยู่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญสะเทือนเก้าอี้นายกฯ ไม่น้อย เธอจึงเลือกที่จะล้มโครงการ แบบนิ่มนวล ด้วยการโยนเข้าสภา


แต่อย่างไรก็ตาม ศึกอู่ตะเภา นี้ทำให้กองทัพกับรัฐบาล กระชับแน่นความสัมพันธ์ เพราะกลายเป็นพวกเดียวกันไปโดยอัตโนมัติ เพราะตลอดเวลากว่า 3 สัปดาห์ที่ทั้ง รมว.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ได้ชี้แจงมาตลอด จนถูกมองว่า เป็นการตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ แทนรัฐบาลด้วยซ้ำ
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันว่า กองทัพซึ่งดูแลความมั่นคง ไม่สามารถเข้าข้างใครได้ แต่จะทำหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ของชาติ ถ้าเป็นโครงการดีก็น่าเสียดาย เพราะจะต้องทำให้โปร่งใส มีการชี้แจงกับประเทศต่างๆ ซึ่งยอมรับว่า กองทัพมีข้อห่วงใยอยู่ โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้านและเป็นมิตรต่อกัน ที่ต้องเปิดเผย 
"เรื่องบางเรื่องฝ่ายความมั่นคงเข้าข้างใครไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบให้ดูแลแผ่นดินภายในกติกาที่มีอยู่ ไม่ใช่ตามใจชอบ มีหลักการ อย่าเอาผมไปเข้าใครคนโน้นคนนี้ ประเทศชาติเป็นหลัก" บิ๊กตู่ เปรย

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ ผบ.เหล่าทัพ ที่มีความสัมพันธ์ชื่นมื่นกันอยู่แล้ว ใกล้ชิดมากขึ้น เพราะเป็นโอกาสให้นายกฯ เชิญ ผบ.เหล่าทัพ มาพบหารือ ทานข้าวด้วยกัน และมีนัดหมายที่จะทานข้าวกลางวันด้วยกัน 2 กรกฎาคม ในโอกาสที่ไปงาน 100 ปีการบิน ทอ. 
แถมเมื่อวันเกิด 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพก็ส่งเลขานุการเหล่าทัพไปมอบดอกไม้แฮปปี้เบิร์ธเดย์แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แบบพร้อมหน้า เพราะหาก ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ไปด้วยตนเองก็คงไม่เหมาะนัก แต่ก็ทำให้นายกฯ ปลื้มไม่น้อย  
แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าได้กล้าเสีย สั่งถอย กองทัพก็เข้าใจได้ เพราะมีทหารไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย กับการให้นาซ่าเข้ามา แต่หนุนการตั้ง HADR เพราะสถานะของสนามบินอู่ตะเภาก็เสมือนเป็น FOB-Forward Operating Base ของอเมริกา นั่นเอง

แม้บรรดา ผบ.เหล่าทัพ จะเสียดาย โดย พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า "เสียดาย และเสียโอกาส รัฐบาลพยายามเต็มที่ ทำได้ก็ทำ ไปไม่ได้ก็หยุด ไม่ใช่ล่าถอยเสียหน้า" ก็ตาม แต่ก็รู้ดีว่าสะเทือนสัมพันธ์ทางทหาร และอาจส่งผลต่อการตั้ง HADR ไปด้วยก็ตาม แต่ก็ถือว่า ตัดไฟเสียแต่ต้นลมไปได้เรื่องหนึ่ง เพราะต่างก็คาดการณ์ไม่ถูกเหมือนกันว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากนาซ่าและอเมริกาเข้ามา ทั้งปัญหาการเมืองภายใน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ 
เพราะการเล่นเกมอำนาจ กับมหาอำนาจ อย่าง จีน และอเมริกา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และซับซ้อน ลับ ลวง พราง หลายชั้น แต่การเล่นเกมแห่งอำนาจภายในประเทศ ซับซ้อน และยากยิ่งกว่า หลายเท่าเลยทีเดียว 
รัฐบาลเสื้อแดง จึงต้องยอมล้มปฏิบัติการ ม้าแดง แผนยึดอู่ตะเภา ในที่สุด



+++

โครงสร้าง บก.สกัดกั้นยาเสพติด 2 บอร์ดใหญ่ไฟเขียว 201 อัตรา ทุ่มอุปกรณ์ไฮเทค 111 จุดตรวจ
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 99


หลังจากรัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็น "วาระแห่งชาติ" โดยกำหนดยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 154/2554 และเปิดปฏิบัติการ "วาระแห่งชาติพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด" มาตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2554 ตั้ง "ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ" หรือ ศพส. มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศพส. ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 
ขณะที่การสกั้ดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด เป็น 1 ใน 7 ของยุทธศาสตร์ที่สำคัญของพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ในการกำหนดให้พัฒนาประสิทธิภาพจุดตรวจบริเวณเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ให้เป็นเครือข่ายสกัดกั้นทั่วประเทศ พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือจุดตรวจ พัฒนาความพร้อมจุดตรวจ จัดระบบจุดตรวจให้สัมพันธ์กันทั่วประเทศ วางระบบอำนวยการจุดตรวจ 
ด้วยความสำคัญดังกล่าว จึงเป็นที่มาของไอเดียการก่อตั้ง กองบังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด (บก.สกัดกั้นฯ) ที่เสนอโดย พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) 
ซึ่งทั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เห็นชอบไฟเขียวผ่านตลอด


โครงสร้างของ บก.สกัดกั้นฯ ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ และ 4 กองกำกับการ มีตำแหน่งทั้งหมด 201 คน แบ่งเป็น ผบก. 1 ตำแหน่ง รอง ผบก.3 ตำแหน่ง ผกก. 5 ตำแหน่ง รอง ผกก. 9 ตำแหน่ง สว. 20 ตำแหน่ง นว. 1 ตำแหน่ง รอง สว. 40 ตำแหน่ง และ ผบ.หมู่ 122 ตำแหน่ง
การดำเนินการของ บก.สกัดกั้นฯ จะใช้การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยี ระบบกล้องอ่านทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติ บันทึกเข้าเป็นระบบดิจิตอล ใช้ระบบวิเคราะห์ประมวลรถยนต์ต้องสงสัยในพื้นที่ บช.ภ.5 และ บช.ภ.6 ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวม 111 จุด พร้อมติดตั้งรถติดอุปกรณ์เคลื่อนที่ 19 คัน ฝึกอบรมข้าราชการตำรวจที่ประจำด่านตรวจและจุดตรวจใน บช.ภ.5 และ บช.ภ.6 โดยจะส่งข้อมูลมายังศูนย์ควบคุมสั่งการ ตั้งอยู่ที่ บช.ปส. วิภาวดี ปฏิบัติงานโดยกำลังเจ้าหน้าที่ ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนฝ่ายดูแลระบบข้อมูลจะวิเคราะห์พฤติกรรมการเคลื่อนที่ของพาหนะและบุคคลต้องสงสัย ส่วนชุดปฏิบัติการจะตั้งด่านลอยร่วมปฏิบัติกับหน่วยงานหลักที่สำคัญ ทำหน้าที่สะกดรอยติดตามรถยนต์ต้องสงสัย  
ดูแลระบบฐานข้อมูลและพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับรูปแบบวิธีการลำเลียงยาเสพติดของกลุ่มนักค้ายา


พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า ปัจจุบันปัญหายาเสพติดมักจะทะลักเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามายังภาคเหนือและภาคอีสาน ก่อนกระจายลงสู่พื้นที่ต่างๆ ตอนในของประเทศรวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มนักค้ายาเสพติดมักใช้ถนนเป็นเส้นทางลำเลียงยาเป็นส่วนใหญ่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ 
"แต่ปัจจุบันเรื่องการตั้งด่านสกัดกั้นยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ปส. และตำรวจท้องที่ มีกำลังจำนวนน้อยและไม่เพียงพอ สาเหตุมาจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ปส. ส่วนใหญ่มักจะดูแลติดตามจับกุมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ๆ วิเคราะห์ข้อมูลด้านการข่าว เพื่อขยายผลจับกุมกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ส่วนตำรวจท้องที่ อาทิ ใน บช.ภ.5 และ บช.ภ.6 มีภารกิจอื่นๆ ในพื้นที่ ทั้งการตั้งด่านตรวจและต้องแบ่งกำลังไปติดตามจับกุมกลุ่มผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่ 
"ผมมองเห็นว่าการตั้งหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดจะต้องเป็นคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ตั้งด่านตรวจในเส้นทางหลักและรอง รวมทั้งเส้นทางเลี่ยง ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดที่สำคัญ มีการวิเคราะห์เส้นทางของกลุ่มนักค้ายาเสพติด เฝ้าติดตามพฤติการณ์ เพราะกลุ่มนักค้ายามักจะใช้รูปแบบในการลำเลียงยาเสพติดที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้รอดพ้นการจับกุมของเจ้าหน้าที่"
ผบช.ปส.เผย


สําหรับวิธีการทำงานของ บก.สกัดกั้นฯ ผบช.ปส. เปิดเผยว่า จะทำหน้าที่อำนวยการสกัดกั้นยาเสพติด โดยควบคุมด่านตรวจและจุดตรวจในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ติดตั้งระบบอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติและประมวลผล (License Plate Recognition) เฝ้าดูรถยนต์ทุกคันในเส้นทางลำเลียงยาเสพติด แล้วตรวจสอบหรือวิเคราะห์ว่ารถยนต์คันใดมีพฤติการณ์และเส้นทางเดินรถเข้าข่ายต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการลักลอบลำเลียงยาเสพติดหรือไม่ 
โดยมีโปรแกรมประยุกต์เป็นตัวช่วย คัดกรองรถยนต์ต้องสงสัย พร้อมทั้งแจ้งชุดปฏิบัติการสะกดรอยติดตามหรือแจ้งให้ด่านตรวจและจุดตรวจทำการตรวจค้น ติดตามจับกุมและขยายผล ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดวิธีการปฏิบัติ โดยจะต้องผสมผสานเทคนิคทั้งหมดเข้าด้วยกัน เน้นในพื้นที่ บช.ภ.5 และ บช.ภ.6 ซึ่งกลุ่มนักค้ายาเสพติดมักใช้เส้นทางลำเลียงยาก่อนส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ
ช่วงแรกจะตั้งจุดตรวจ 111 จุด และในปีงบประมาณ 2555 จะติดตั้งเพิ่มอีก 200 จุด ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และจากภารกิจสำคัญดังกล่าว ลำพังกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ปส. ที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอ ต้องขอกำลังพลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
ทั้งนี้ ผบช.ปส. กำหนดสเป๊กว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด บก.สกัดกั้นฯ ต้องมีความสนใจงานด้านนี้ มีความสามารถด้านการสกัดกั้นยาเสพติด มีประสบการณ์งานสืบสวน ละเอียดรอบคอบ รู้วิธีการสังเกตต่างๆ ตรวจสอบดูว่ารถคันไหนผิดปกติ รู้เทคนิคของคนร้าย มีความสามารถด้านการข่าว การวิเคราะห์ข้อมูล และการตั้งด่านตรวจ



ส่วนแผนการในอนาคต ผบช.ปส. กล่าวว่า การพัฒนาด่านตรวจในอนาคต ต้องเพิ่มกำลังพลให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจหนักและนานจนเกินไป ซึ่งอาจไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยจะลดเวลาทำงานจาก 8 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 6 ชั่วโมง หมุนเวียนกำลังพลมากขึ้น เพิ่มงบประมาณเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่ ด้านกายภาพ จะปรับปรุงสถานที่ให้มีที่พักอาศัยใกล้ด่านตรวจ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อาบน้ำคลายร้อนให้เจ้าหน้าที่ด้วย และด้านเทคโนโลยีก็จะใช้กล้องวงจรปิดเข้าร่วมในการตั้งด่านเพื่อบันทึกข้อมูลรถยนต์ที่ขับผ่านด่านตรวจอีกด้วย 
"เป้าหมายเพื่อตัดวงจรขบวนการค้าและการลำเลียงยาเสพติดให้มากที่สุด ทำให้ยาเสพติดไม่สามารถกระจายลงสู่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศได้ ถ้าหากตัวยาน้อยลง จะทำให้ราคายาเสพติดแพงขึ้น ผู้เสพจะลงลด ลดความต้องการของผู้ค้าและผู้เสพจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมด้านอื่นๆ เพิ่มพยานหลักฐานในการดำเนินคดีในชั้นศาลให้หนักแน่นมั่นคงมากยิ่งขึ้น
"ไม่รบกวนสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เส้นทางมากเกินไป เนื่องจากมีระบบที่สามารถคัดแยกรถปกติออกจากรถที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้ มีการบูรนาการทั้งข้อมูล หน่วยงาน และวิธีการปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องทำควบคู่ไปกับขบวนการป้องกัน การเข้าโครงการบำบัดรักษา สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อขจัดปัญหายาเสพติดให้หมดไปได้อย่างยั่งยืน" 
ผบช.ปส.ระบุ



.