http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-28

“โควินทะ ปราสาทฯ ” กับ ความยุติธรรมสองมาตรฐาน โดย นกุล ว่องฐิติกุล

.
อีกบทความ - “โอกินาวา” เมืองหน้าด่านที่ถูกเลือกปฏิบัติ โดย นกุล ว่องฐิติกุล

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“โควินทะ ปราสาท ไมนาลี” กับ ความยุติธรรมสองมาตรฐาน
โดย นกุล ว่องฐิติกุล คอลัมน์ จากญี่ปุ่น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 46


คดีฆาตกรรมสตรีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งในกรุงโตเกียวที่เคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อ 15 ปีก่อนได้กลับมาเป็นข่าวดังที่ได้รับการกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศญี่ปุ่นและนานาชาติอีกครั้ง 
เมื่อศาลอุทธรณ์แห่งโตเกียวได้มีคำตัดสินให้รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่และให้รอการลงโทษจำเลยผู้กระทำผิดด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวจากโทษจำคุกตลอดชีวิต

จำเลยผู้ถูกกล่าวหาเป็นชายชาวเนปาลวัย 30 ปี (ในขณะเกิดเหตุ) และเหยื่อฆาตกรรมเป็นเจ้าหน้าสตรีระดับบริหารวัย 39 ปี ของบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกฯ หรือ TEPCO 
19 มีนาคม 1997 มีผู้พบศพสตรีชาวญี่ปุ่นวัย 39 ปี คนหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยนาม) เสียชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์ในเขตชิบุยะของกรุงโตเกียว 
เจ้าหน้าที่ตำรวจลงความเห็นว่าเธอถูกฆาตกรรมด้วยการรัดคอและเงินสดจำนวน 40,000 เยน ของเธอถูกคนร้ายปล้นเอาไป เหตุเกิดประมาณเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 8 มีนาคม 

สองสัปดาห์ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายโควินทะ ปราสาท ไมนาลี ชายชาวเนปาลวัย 30 ปี เจ้าของร้านอาหารเนปาลแห่งหนึ่งผู้พักอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ห้องติดกันในข้อหาอยู่ในประเทศเกินกำหนดวีซ่าขาดอายุ 
ต่อมามีการตั้งข้อหาเพิ่มเป็นการฆาตกรรมจากพยานบุคคลและหลักฐานเป็นถุงยางอนามัยใช้แล้วในห้องน้ำที่เกิดเหตุที่มีคราบดีเอ็นเอของนายโควินทะ 
อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหายังมีกุญแจของห้องที่เกิดเหตุในครอบครอง 

เจ้าหน้าที่สืบพบด้วยว่าผู้ตายนั้นมีพื้นเพมาจากครอบครัวคนชั้นสูงมีฐานะทางสังคมและการเงินดีจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและทำงานเป็นพนักงานระดับผู้จัดการในบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกฯ 
แต่ในทางกลับกันด้วยเหตุผลใดไม่ชัดแจ้งผู้ตายยังมีอาชีพขายบริการทางเพศหลังเวลาเลิกงานและมีความสัมพันธ์กับบุรุษหลายคนทั้งหัวหน้างานผู้บังคับบัญชาและนายโควินทะซึ่งต่างล้วนมีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีลูกค้าของเธอ


ในระหว่างการต่อสู้ทางคดีซึ่งเป็นข่าวใหญ่ มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเลือกปฏิบัติและอคติของเจ้าหน้าที่และอัยการญี่ปุ่นเกี่ยวกับพฤติการณ์อันไม่เหมาะสม 
เช่นกีดกันไม่ให้ผู้ต้องหาพบกับทนายความจนศาลต้องสั่งปรับเจ้าหน้าที่ 
องค์กรนิรโทษกรรมสากลที่ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือในครั้งนั้นได้ชี้ว่าการตั้งข้อหาและการควบคุมตัวนายโควินทะขัดต่อกฎหมายอาญาญี่ปุ่นที่ไม่สามารถตั้งข้อหาอื่นเพิ่มจากข้อกล่าวหาในคดีที่ถูกจับกุมครั้งแรกนั่นคือการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายซึ่งโทษคือการเนรเทศส่งตัวออกนอกประเทศเท่านั้น 
ทั้งยังขัดต่อสิทธิของบุคคลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล

หลังการต่อสู้ในศาลยาวนาน 3 ปี วันที่ 4 เมษายนปี 2000 ศาลแขวงแห่งโตเกียวได้พิพากษายกฟ้องและเห็นว่านายโควินทะไม่มีความผิดให้ปล่อยตัว 
ทำให้อัยการกรุงโตเกียวยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลสูงหรือศาลอุทธรณ์โตเกียวในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันพร้อมทั้งคัดค้านการปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหา 
ต่อมาศาลอุทธรณ์โตเกียวมีคำพิพากษากลับว่านายโควินทะมีความผิดฐานฆาตกรรม 
และคดีนี้ถึงที่สุดในปี 2003 เมื่อศาลฎีกาหรือศาลสูงสุดโตเกียวมีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดฐานฆาตกรรมตามฟ้องมีโทษจำคุกตลอดชีวิต
และให้ส่งตัวนายโควินทะซึ่งปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอดไปรับโทษจำคุกที่เรือนจำเมืองโยโกฮามา



เดือนมีนาคม 2005 ทนายความของนายโควินทะได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์โตเกียวขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่เนื่องจากมีหลักฐานสำคัญในที่เกิดเหตุจำนวนมากไม่ได้รับการตรวจพิสูจน์และนำเสนอต่อศาลในการพิจารณาคดีครั้งแรก
เหตุจากพนักงานอัยการที่บอกว่ามีหลักฐานพอเพียงแก่การฟ้องร้องแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่และพนักงานอัยการส่งหลักฐานและวัตถุพยานที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุทั้งหมดไปรับการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ มีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากตัวอย่างวัตถุพยาน 84 รายการซึ่งมีอยู่ 42 รายการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการไม่ได้นำสืบในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งแรก เดือนกรกฎาคม 2011

รายงานผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานครั้งใหม่ถูกนำสู่ศาลว่าพบหลักฐานสำคัญจากคราบน้ำลายและอสุจิที่ตกค้างภายในและภายนอกร่างกายผู้ตายในขณะถูกฆาตกรรม คราบจากเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนรวมถึงเส้นผมและวัตถุพยานอื่นๆ ที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุระบุว่าเป็นของบุคคลคนเดียวกันซึ่งมีเลือดกรุ๊ปโอ 
ทำให้มีเหตุอันเชื่อได้ว่านายโควินทะซึ่งมีเลือดกรุ๊ปบีอาจจะไม่ใช่บุคคลสุดท้ายที่อยู่กับผู้ตายก่อนเสียชีวิต 
และอาจจะมีบุรุษนิรนามผู้มีเลือดกรุ๊ปโออยู่กับผู้ตายในคืนเกิดเหตุและเขาผู้นั้นอาจจะเป็นฆาตกรตัวจริงก็ได้



เมื่อมีเหตุอันน่าสงสัยซึ่งย่อมต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ที่ 4 แห่งโตเกียวจึงคำพิพากษาในวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาให้รื้อฟื้นคดีของนายโควินทะขึ้นพิจารณาใหม่พร้อมมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาจากโทษจำคุกตลอดชีวิตชั่วคราว 
หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งดังกล่าวในเวลา 10.00 น. อัยการโตเกียวได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลในทันทีพร้อมคัดค้านคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในตอนใกล้เที่ยง เวลาบ่าย 16.00 น. ศาลอุทธรณ์ที่ 5 แห่งโตเกียวซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาของศาลได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ที่ 4 ให้พิจารณาคดีใหม่และให้ปล่อยตัวจำเลย 
เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่ฉับพลันรวดเร็วเบ็ดเสร็จภายในวันเดียวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนท่ามกลางความปิติยินดีของนางรฐา ภรรยาของจำเลยและบุตรสาวสองคนคือ อลิชาและมิถิลาซึ่งเดินทางมาจากเนปาลเพื่อรอฟังคำพิพากษาที่หน้าศาลร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุนให้กำลังใจที่เป็นชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมายหลายคน

นายโควินทะผู้ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำที่โยโกฮามามายาวนานถึง 15 ปี ปัจจุบันมีอายุ 45 ปี ได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันเดียวกันและถูกส่งตัวไปยังที่ทำการของกองตรวจคนเข้าเมืองในโยโกฮามาเพื่อรอรับการเนรเทศส่งตัวกลับเนปาลภายใน 2-3 วัน ตามข้อหาเดิมคือเข้าเมืองผิดประเภทเนื่องจากวีซ่าขาดอายุ 
เขาได้พบกับภรรยาและลูกๆ ในวันต่อมาด้วยความปลื้มปีติและบอกกับทนายความว่าต้องการเดินทางกลับประเทศเนปาลโดยเร็วที่สุดเพื่อพบหน้ามารดา 
นางรฐา ภรรยาของเขาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าได้นำเสื้อเชิ้ต เนคไทและรองเท้าใหม่มาให้สามีเพื่อสวมใส่กลับบ้าน ทุกคนดีใจที่สามารถพานายโควินทะกับสู่บ้านเกิดได้ในที่สุด



ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของญี่ปุ่นบอกว่าการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีของนายโควินทะอย่างรวดเร็วเนื่องจากศาลอาจจะพิเคราะห์เห็นว่าเขาได้รับโทษจากกรรมที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นผู้ก่อมายาวนานถึง 15 ปีแล้วและเมื่อศาลสั่งปล่อยตัวเขาจะต้องถูกเนรเทศส่งตัวออกนอกประเทศทันทีโดยไม่ต้องอยู่รอคำพิพากษาในคดีที่รื้อฟื้นขึ้นใหม่ซึ่งมีแนวโน้มว่าเขาน่าจะพ้นข้อหา 
เมื่อรับรู้ว่าอัยการได้คัดค้านคำพิพากษาของศาล นายโควินทะ กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า "พวกเขายังไม่ยอมแพ้อีกหรือนี่?" 
เขาบอกด้วยว่า แม้จะไม่สามารถเรียกคืนเวลา 15 ปีที่เสียไป แต่เขาก็จะใช้ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ด้วยการมองไปข้างหน้าอย่างดีที่สุด

นายมาโกโตะ ทากิ รัฐมนตรียุติธรรมญี่ปุ่นกล่าวถึงคดีนี้ว่า เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการสืบสวนอย่างเพียงพอและย้ำว่า "หากมีบุคคลอื่นที่เป็นผู้ก่อเหตุในคดีนี้ จะต้องมีการสืบสวนติดตามอย่างเหมาะสมต่อไป" อัยการของคดีนี้ผู้ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลไปแล้วเพราะยังเชื่อว่าฆาตกรในคดีนี้คือนายโควินทะ คงอยู่ไม่เป็นสุขแน่ 



++

“โอกินาวา” เมืองหน้าด่านที่ถูกเลือกปฏิบัติ 
โดย นกุล ว่องฐิติกุล คอลัมน์ จากญี่ปุ่น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 46


15 พฤษภาคม คือวันเฉลิมฉลอง 40 ปี แห่งการปลดปล่อยโอกินาวาจากการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่เข้าปกครองจังหวัดโอกินาวาของประเทศญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองตามสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก 1952 
งานถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย มีแขกมาร่วมงานประมาณ 1,200 คน ซึ่งก็รวมถึงนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ผู้ว่าการจังหวัดโอกินาวา นายฮิโรคะสุ นาไกมะ และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศญี่ปุ่น นายจอห์น วี. รอสส์ 
ทางการจังหวัดโอกินาวาเลือกสถานที่จัดงานในปีนี้ที่หน้าฐานบินฟูเท็นมะของนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาเสมือนหนึ่งเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ถึงความรู้สึกของชาวโอกินาวาที่ต้องแบกรับภาระการอยู่ร่วมกับกองกำลังสหรัฐอเมริกามายาวนานกว่า 60 ปี ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง 
และอาจจะยังคงต้องแบกรับภาระนี้ต่อไปอีกนานเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จะย้ายกองกำลังบางส่วนไปอยู่ที่เกาะกวมและย้ายฐานทัพที่เหลือจากฟูเท็นมะไปยังเขตเฮโนโกะของเมืองนาโงะซึ่งก็ยังคงอยู่ในจังหวัดโอกินาวา

ในขณะที่ชาวโอกินาวาเองต่างต้องการให้สหรัฐอเมริกาย้ายฐานทัพออกจากโอกินาวาทั้งหมด 
นายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ได้กล่าวในสุนทรพจน์ตอนหนึ่งที่ให้ความหวังแก่ชาวโอกินาวาว่าฐานทัพของสหรัฐอเมริกาจะไม่ตั้งอยู่ถาวรในโอกินาวา  
เขาได้เน้นถึงความสำคัญของความมั่นคงของประเทศที่ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือทางการทหารกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจะค่อยๆ ปรับลดภาระในการรองรับกองกำลังของสหรัฐและทยอยส่งมอบที่ดินที่เคยเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกันคืนแก่ชาวเกาะโอกินาวา


รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงกับวอชิงตันมาตั้งแต่ปี 2006 ที่สหรัฐอเมริกาจะถอนกำลังพลจำนวน 8,000 นาย จากโอกินาวาไปยังเกาะกวมแลกกับการย้ายฐานบินที่ฟูเท็นมะซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นไปยังที่ตั้งใหม่ที่เขตเฮโนะโกะของเมืองนาโงะ 
การเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นเฉลี่ยปีละคนในระยะเวลาเกือบ 6 ปีที่ผ่านมาร่วมกันกระแสต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรงของชาวเมืองทำให้แผนการย้ายกำลังพลและการย้ายที่ตั้งฐานบินสหรัฐในโอกินาวาถูกเลื่อนกำหนดออกไปหลายครั้ง 
จนถึงยุคของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ที่ยืนยันจะดำเนินการเรื่องการย้ายฐานทัพฟูเท็นมะไปยังเมืองนาโงะให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม

นายฮิโรคะสุ นาไกมะ ผู้ว่าการจังหวัดโอกินาวาได้กล่าวในสุนทรพจน์ตอนหนึ่งในงานเดียวกันถึงภาระและความไม่เสมอภาคที่ชาวโอกินาวาต้องแบกรับแทนชาวญี่ปุ่นบนแผ่นดินใหญ่และประเทศในการเป็นที่ตั้งฐานบินอเมริกัน 
ชาวโอกินาวาได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายเรื่องการฐานทัพอเมริกันในโอกินาวาของรัฐบาลอย่างรุนแรงว่าชาวโอกินาวานั้นได้ถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลกลางและชาวญี่ปุ่นบนแผ่นดินใหญ่มาทุกยุคทุกสมัยจนแม้ในวันนี้ 
และต้องการให้ชาวญี่ปุ่นบนแผ่นดินใหญ่ร่วมแบกรับภาระเดียวกันกับชาวโอกินาวาไว้บ้าง ปัจจุบันจังหวัดโอกินาวาซึ่งมีพื้นที่เพียง 0.6% ของประเทศต้องรองรับกองกำลังสหรัฐอเมริกาในญี่ปุ่นถึง 74% ที่ใช้พื้นที่ 18.4% ของเกาะโอกินาวา  
จากการสำรวจความเห็นของชาวเมือง ผู้คนถึง 89% ต้องการให้ย้ายกองกำลังทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาออกไปจากโอกินาวา



จังหวัดโอกินาวาอันเป็นจังหวัดทางใต้สุดของประเทศญี่ปุ่นคือหมู่เกาะริวกิวที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่คือเกาะโอกินาวาร่วมกับเกาะเล็กเกาะน้อยนับร้อยเกาะ เฉพาะที่มีผู้คนอาศัยอยู่มีประมาณ 40 เกาะ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ 
ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นเสมือนเมืองหน้าด่านของประเทศญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ใกล้กับหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีนและไต้หวัน ทั้งยังเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โอกินาวาจึงมีความสำคัญทั้งด้านยุทธศาสตร์และด้านเศรษฐกิจการค้า 

อาณาจักรริวกิวหรือจังหวัดโอกินาวาในปัจจุบันเคยเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมีกษัตริย์ปกครองตนเองในระหว่างศตวรรษที่ 15-19 และมีความใกล้ชิดกับจีนอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุคของราชวงศ์หมิงที่มีชาวจีนอพยพมาตั้งรกรากในอาณาจักรริวกิวจำนวนไม่น้อย  
จีนในยุคราชวงศ์ชิงได้ถือว่าหมู่เกาะริวกิวตลอดจนถึงไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรจีน ว่ากันว่า "คาราเตะ" ศิลปะการต่อสู้ของชาวโอกินาวานั้นได้รับอิทธิพลมาจาก "กังฟู" ของจีนนั่นเอง 
ในยุคปฏิรูปเมจิ ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองอาณาจักรริวกิวและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นในปี 1872 ต่อมาในปี 1879 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดโอกินาวา 
ในช่วงก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง รัฐบาลทหารของญี่ปุ่นได้ใช้โอกินาวาเป็นหน้าด่านเป็นสนามรบในต่อสู้กับกองทัพสหรัฐอเมริกาเพื่อป้องกันแผ่นดินใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตบนเกาะนี้ถึง 188,000 คน  
94,000 คน ในจำนวนนี้คือพลเรือนชาวเมืองโอกินาวา



เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม กองกำลังอเมริกันจึงเข้ายึดครองโอกินาวาตั้งแต่ปี 1945 หลังการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโกในปี 1952 รัฐบาลญี่ปุ่นยอมยกจังหวัดโอกินาวาให้อยู่ในความปกครองของสหรัฐอเมริกา 
จนเมื่อ 20 ปีต่อมา อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายเออิซากุ ซาโตะ ได้ใช้ความพยายามทางการทูตเจรจาอยู่หลายครั้งจนสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ยินยอมปลดปล่อยส่งคืนจังหวัดโอกินาวาให้แก่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1972 
ถึงกระนั้นสหรัฐยังคงถือครองพื้นที่บางส่วนบนเกาะเพื่อใช้เป็นที่ตังฐานทัพนาวิกโยธินจนถึงทุกวันนี้

เพื่อเป็นการตอบแทนชดเชยแก่ชาวโอกินาวาและเพื่อโน้มน้าวให้ยอมรับการย้ายฐานทัพฟูเท็นมะไปยังเมืองนาโงะ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ ได้จัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดโอกินาวาสำหรับปีงบประมาณ 2012 อย่างขนานใหญ่ 
มีการจัดสรรงบประมาณให้มากถึง 293,700 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากงบประมาณของปี 2011 
โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 150,000 ล้านเยน ให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการภายใต้กฎเกณฑ์เงื่อนไขที่น้อยมาก 
โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นคือการสร้างรันเวย์ที่สองเพิ่มสำหรับสนามบินนาฮา 
แผนการพัฒนาที่ดินที่ฐานทัพฟูเท็นมะเมื่อได้รับมอบคืนจากสหรัฐอเมริกาให้เป็นศูนย์มะเร็งสำหรับประชาชนในพื้นที่ทางใต้ของประเทศ 
รวมถึงโอนการบริหารจัดการ Shurijo Castle Park หรือปราสาทชูริ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมริวกิว ซึ่งเคยเป็นของรัฐบาลกลางให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลอีกด้วย


การขยายแสนยานุภาพทางทหารของจีนรวมถึงกรณีพิพาทเกี่ยวกับหมู่เกาะเซ็นกากุกับประเทศเพื่อนบ้านทำให้ญี่ปุ่นยังจำเป็นที่จะต้องคงความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐอเมริกาไว้เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีน 
โอกินาวาจึงยังคงเป็นชัยภูมิทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญและต้องถูกเลือกปฏิบัติอีกครั้ง 
ต่างกันที่ว่าคราวนี้เป็นการเลือกปฏิบัติในทางบวกเหนือกว่าที่ชาวญี่ปุ่นบนแผ่นดินได้รับ 
ถือเป็นการตอบแทนความเสียสละอันยาวนานของชาวโอกินาวาอย่างเหมาะสมก็ว่าได้




.