http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-16

สังคมอุดมฟามดี โดย คำ ผกา

.

สังคมอุดมฟามดี
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 89


"สพฐ. โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย โดยประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงตกลงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมนักเรียนผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา

โดยมีรายละเอียดว่าโครงการส่งเสริมนักเรียนผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า "โครงการเด็กดีมีที่เรียน" มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนักเรียนที่ทำความดี มีคุณธรรมจริยธรรม และช่วยเหลือสังคมเป็นที่ประจักษ์ เข้าศึกษาในสถาบัน อุดมศึกษาในพื้นที่ โดยมีความสามารถที่เรียนได้จนจบระดับปริญญาตรี ในระบบโควต้าพิเศษ ไม่มีการสอบแข่งขัน ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน" http://news.mthai.com/general-news/169639.html



คงไม่น่าแปลกใจหากมหาวิทยาลัยจะมีโควต้าสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางกีฬา หรือดนตรีเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบแข่งขันในระบบปกติ 
ฉันพยายามเช็กจากข่าวเท่าที่กูเกิลจะช่วยได้ ข่าวบางสำนักบอกว่าโครงการนี้เริ่มปี 2546 บางสำนักข่าวบอกว่าเริ่มปี 2551 แต่ที่ตรงกันคือทุกสำนักข่าวลงรูปผู้บริหารของ กสฐ., สกอ., ทอป. ฯลฯ ที่มายืนถือสมุดลงนามถ่ายรูปร่วมกัน 
ไม่มีสำนักข่าวไหนให้รายละเอียดต่อไปว่า เกณฑ์การวัดว่าใครคือผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์นั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
ในบทสัมภาษณ์ผู้บริหารทั้งหลาย ต่างก็ให้ความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลให้ความสนใจในการส่งเสริมสนับสนุนเด็กที่ความประพฤติดี เพราะเด็กที่จบมหาวิทยาลัยจำนวนมากหากเป็นคนไม่ดีก็จะสร้างปัญหาให้แก่สังคม บ้างก็ว่าเด็กประพฤติดีนั้นส่วนใหญ่เรียนหนังสือได้ดี (ก็ถ้าเด็กดีแล้วมันเรียนดีด้วยก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมีโควต้าพิเศษนี่นา เพราะเรียนดีก็ต้องสอบแข่งกับคนอื่นได้อยู่ดี) 
อ่านแล้วเพลียจิตสิ้นดี!


โครงการเด็กดีมีที่เรียน ป้าย "โตไปไม่โกง" เอาเข้าจริงๆ มันก็เรื่องเดียวกัน สังคมไทยเป็นสังคมขาดปัญญาเพราะคุณธรรมไปเบียดบังสมองให้ลีบลงเรื่อยๆ ชีวิตนี้เลยคิดได้แค่ว่า "ปัญหาใดๆ ในโลกล้วนมาจากคนเลว" 
หรือเรื่องเด็กบดินทรเดชาอดข้าวประท้วงที่ไม่ให้เรียนต่อ แทนที่จะประท้วงเพื่อให้สังคมเห็นความบกพร่องในระบบการศึกษาและโรงเรียนของไทย สุดท้ายกลับเป็นแค่การประท้วงเพื่อไปศิโรราบต่อระบบอุปถัมภ์ที่น่ารังเกียจเสียยิ่งกว่าระบบแพ้คัดออก

ก็ต้องถามกระทรวงศึกษาฯ ว่า เด็กที่มีคนดีระดับชาติอุปถัมภ์เช่นนั้นถือว่าเป็น "เด็กดี" ที่จะได้เข้าโครงการเด็กดีมีที่เรียนด้วยหรือไม่?


จะว่าไปแล้ว โรงเรียนก็คือเครื่องมือของรัฐในการล้างสมองพลเมือง 
พูดให้เบาๆ ได้ว่า โรงเรียนคือเครื่องมือในการสร้างพลเมืองในแบบที่รัฐปรารถนา 

ลองคิดดูว่า อยู่ๆ เราก็ส่งลูกหลานของเราไปไว้ในสถานที่หนึ่งตั้งแต่หกขวบ เพื่อให้พวกเขาถูกบ่มเพาะ ปลูกฝัง ขัดเกลา สลักเสลาออกมาเป็น "ผลิตภัณฑ์" ชิ้นหนึ่งตามที่มีใครบางคนบางกลุ่มที่เรียกกันว่ากระทรวงศึกษาธิการ, กรมวิชาการ (ผู้ผลิตหลักสูตรและแบบเรียน) ออกแบบเอาไว้?
กระทรวงศึกษาธิการ, กรมวิชาการที่อยู่ภายใต้รัฐไทย มีภาพ "พลเมืองไทย" ในแบบที่พวกเขาต้องการอยู่ในใจแล้ว จากนั้นพวกเขาก็คิดว่าจะต้อง "สอน" เด็กๆ อย่างไรให้เติบโตมาเป็นอย่างที่พวกเขาวาดหวังเอาไว้ 
ไม่ว่าลูกหลานของคุณจะมีอุปนิสัย บุคลิกภาพส่วนตัวอย่างไร เมื่อคุณส่งพวกเขาเข้าโรงเรียน พวกเขาจะถูกหล่อหลอมให้ไปอยู่ใน "แบบพิมพ์" ที่กระทรวงศึกษาธิการออกแบบไว้ ดังนั้น "ครู" ของเราจึงได้ชื่อว่า แม่พิมพ์ของชาติ  
เมื่อครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติ โรงเรียนในประเทศไทยจึงปฏิเสธ "ครู" ที่เป็น ตุ๊ด เป็นแต๋ว เพราะนั่นไม่ใช่พลเมืองในแบบที่รัฐไทยปรารถนาจะปลุกปั้นขึ้นมา

พลเมืองในอุดมคติของรัฐไทยเป็นเช่นไร?



ช่วงปี 2475-2500 โดยประมาณ รัฐไทยพยายามสร้าง "พลเมือง" ของรัฐประชาชาติ ตระหนักในสิทธิ เสรีภาพที่ควบคู่ไปกับหน้าที่ที่ต้องมีต่อ "ชาติ" อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 

แต่หลังจากปี 2500 เป็นต้นมา หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของพลเมืองไทยไม่ใช่การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่คือการปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
หลังปี 2520 เป็นต้นมา แบบเรียนของไทยสร้างภาพชนบทในฝันผ่านหมู่บ้านที่มีตัวละคร มานี มานะ ปิติ ชูใจ เจ้าแก่ ครูไพลินผู้อ่อนหวาน มีเกษตรอำเภอป็นตัวแทนของข้าราชการที่เอาการเอางานใส่ใจในปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ทุกคนต่างอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านอย่างมีความสุข เพราะรู้จักหน้าที่ของตน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวละครเหล่านี้จะแก้ไขได้ด้วย "การทำความดี" และเป็น "คนดี"
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านนั้นมักมาจาก "คนเห็นแก่ตัว" หากเราสามารถขจัดคนเห็นแก่ตัวออกไปจากหมู่บ้าน หรือ "เปลี่ยน" ให้เขากลับมาเป็น "คนดี" ได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป 
ตั้งแต่ปี 2527 ในสมัยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี 2523-2531) เป็นต้นมา ประเทศไทยมีโครงการ "แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง" ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
"รัฐบาลในขณะนั้นรวมทั้งคณะสงฆ์ และประชาชนชาวไทยทั้งชาติได้ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อพัฒนาชาติไทยให้ประเทศไทย เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ดีกินดี และอยู่กันด้วยความสงบสามัคคี โดยอาศัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นโครงการดีๆ ที่ทุกรัฐบาลในเวลาต่อมานำมายึดถือปฏิบัติต่อเนื่อง จนปรากฏงานสัปดาห์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองในทุกๆ ปี โครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองคงเน้นย้ำให้ข้าราชการ พระสงฆ์ และประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้ร่วมแรงร่วมใจกันในการพัฒนาตนเอง สร้างสรรค์ตนเอง พัฒนาครอบครัว" http://news.nipa.co.th/news.action?newsid=68956


ระบบ "คนดีมีคุณธรรม" ได้หย่อนเมล็ดพันธุ์ของมันลงในสมอง เอ๊ย ในแผ่นดินไทยนับตั้งแต่นั้น



ปัญหาการเมืองของไทยย่อมไม่ใช่ปัญหาเรื่องความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการถ่วงดุลอำนาจ 
ย่อมไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความเข้มแข็งของสถาบันการเมืองต่างๆ 
ย่อมไม่ใช่ปัญหาของการกระจุกอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง 
ย่อมไม่ใช่ปัญหาในระบบบริหารรัฐกิจ 
ย่อมไม่เกี่ยวกับความเทอะทะของมหาดไทย 
ย่อมไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการเมืองของไทย 
ย่อมไม่เกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์ 
ย่อมไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร 
ย่อมไม่เกี่ยวกับอำนาจของกองทัพที่มีล้นเกิน 
ย่อมไม่ใช่ปัญหาของการจัดสรรงบประมาณ ฯลฯ
แต่ปัญหาการเมืองไทยมีเรื่องเดียวเท่านั้นคือ "ไม่มีคนดีมาเป็นนักการเมือง"-จบมั้ย? จบนะ!


ปัญหาของเศรษฐกิจไทยก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองในแง่ของอุดมการณ์ เช่น เราจะเป็นระบบตลาดเสรีหรือเราจะเป็นรัฐสังคมนิยม?
ปัญหาของเศรษฐกิจจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจไทยถูกทำให้เหลือเพียงแค่ ของถูกหรือของแพง, ทำอย่างไรให้คนจนมีสินค้าราคาถูก แต่ไม่คิดว่าทำอย่างไรให้คนไทยหายจน? 
และปัญหาของเศรษฐกิจสุดท้ายจะเหลือแค่ "นายทุนเห็นแก่ตัว นายทุนเลว นายทุนขูดรีด ถ้าเพียงแต่เรามีนายทุนที่มีคุณธรรม ศีลธรรม ก็จบ
ประเทศนี้ก็ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คนจนก็มีความสุขแบบคนจน คนรวยก็มีความสุขแบบคนรวย"-จบนะ!



เมื่อเป็นเช่นนี้จะสังเกตว่า คนไทยจะคลั่งไคล้นายทุนที่รวยเป็นพันล้าน หมื่นล้าน แล้วออกมาบอกสาธารณชนว่า พวกเขาเป็นนายทุนผู้เคร่งศาสนา พวกเขาเป็นนายทุนที่อุทิศเงินส่วนใหญ่ไปกับการสร้างอาศรมที่พัก วิปัสสนา  
มันน่าตลกสิ้นดี ที่นิตยสารของไทยพากันไปสัมภาษณ์นายทุนเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านที่อ้างว่าตนนั้นมีอาศรมที่พักสุดสมถะกลางหุบเขาในเขาใหญ่ และรักจะปลีกวิเวก ภาวนาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ 
แต่ประทานโทษ ที่ดินนั้นมันหุบเขาทั้งหุบเขา แล้วไปซื้อมายังไง ไปจับจองเป็นเจ้าของอย่างไร ใช้เงินเท่าไหร่เพื่อไปสร้างสาธารูปโภคส่วนตนในป่าให้มีชีวิตวิลิศมาหราไม่ได้อยู่เพิงหมาแหงนเป็นชีไพร 
แต่คนไทยผู้คลั่งไคล้ในความดีหาได้ตั้งคำถามเหล่านี้ไม่ เพราะเรารักคนดี

คนดีสำหรับเราคือใคร?
คนดีสำหรับเราคือคนที่ที่เฝ้าพร่ำบอกถึงความสมถะบนกองเงินกองทองของตนเอง เฝ้าบอกถึงการที่สละแล้วซึ่งความโลภ โกรธ หลง พร้อมกับชี้ให้เห็นว่ารถสปอร์ตคันละสิบล้านขึ้นไปหลายสิบคันที่จอดเรียงรายอยู่รอบตัวเขานั้นช่างไร้ความหมายต่อชีวิตของเขาหากปราศจากซึ่งธรรมะของพระพุทธองค์ 
ใครพูดได้เช่นนี้ คนไทยกรี๊ดใส่สลบ



โครงการเด็กดีมีที่เรียน ก็เป็นอีก "หน่อ" หนึ่งของการพยายามเอาก้อนคุณธรรมไปเบียดบังก้อนสมอง ลองจินตนาการกันดูว่า "เด็กดี" ในสายตาของกระทรวงศึกษาธิการคือเด็กแบบไหน? 
เด็กที่ยอมสยบอยู่ใต้อาณัติเครื่องแบบนักเรียนที่อัปลักษณ์ที่สุดในสามโลกโดยไม่เคยตั้งคำถามว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ คิดเป็น มีตามองเห็นว่าอะไรสวยอะไรไม่สวย เหตุไฉนต้องมาจำนนอยู่ในทรงผมที่อัปลักษณ์ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย โรงเรียนจะมีเครื่องแบบก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่เครื่องแบบนักเรียนไทยที่เด็กคนไหนสวมลงไปแล้วจะดู "โง่" ลงทันตาเห็น 

ไม่เชื่อลองจับเด็กชายสองคนมายืนเคียงกัน คนหนึ่งให้มีทรงผมปกติที่ไม่กร้อนเรียนเห็นหนังหัว ใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ อีกคนหนึ่ง กร้อนผมเกรียนเห็นหนังหัว ใส่เสื้อขาว กางเกงสีกากี เข็มขัดสีน้ำตาล-ขอให้พิจารณาดูออร่าของเด็กสองคนว่ามันจะต่างกันราวฟ้ากับเหว  
แต่กระทรวงศึกษาธิการไทยย่อมปรารถนาเด็กที่ดูโง่ ดูเชื่อง ดูหวาดกลัวตัวลีบ ไหล่ลู่ ศีรษะต้องค้อมต่ออำนาจของ "ผู้ใหญ่" เพราะพลเมืองในอุดมคติที่เขาต้องผลิตป้อนรัฐไทยคือ พลเมืองที่คิดไม่เป็น ตั้งคำถามไม่เป็น 

เพราะขืนผลิตพลเมืองที่คิดเป็น ตั้งคำถามเป็น 
..หรือ หากเราปลดปล่อยเด็กเหล่านั้นจากพันธนาการของเครื่องแบบ และพิธีกรรมต่างๆ นานาในโรงเรียนที่ประดิษฐ์มาเพื่อกดหลังเด็กให้ลู่ลง ต่ำลง จนแทบจะขนานกับพื้นแทนการตั้งตรง
(เว้นแต่ตอนเคารพธงชาติที่ต้องยืนตรง ไม่ต้องก้มกราบเสาธง)..  

รัฐไทยหลังปี 2500 ที่ห่อหุ้มความล้าหลังป่าเถื่อนของระบอบการปกครองแบบก่อนสมัยใหม่ภายใต้เปลือกของประชาธิปไตยจะรักษาความชอบธรรมเอาไว้ได้อย่างไร

อีกทั้งประวัติศาสตร์จอมปลอมที่เพียรปลูกฝังไว้ในแบบเรียนจะทรงอำนาจความศักดิ์สิทธิ์อีกเล่า มันคงถูกทึ้งเป็นชิ้นๆ



โครงการเด็กดีมีที่เรียน จะได้เด็กดีแบบไหน? เด็กที่ตัดผม ตัดเล็บ แต่งเครื่องแบบอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการจำนนต่อ "อำนาจ" อย่างไม่บิดพลิ้ว, เด็กที่ยกพานไหว้ครู คลานเข่าสวยงาม กราบเบญจางคประดิษฐ์ชนะเลิศ, เด็กที่ประกวดการท่องบทสวดมนต์ได้ที่ 1, เด็กที่เก็บขวดพลาสติกรีไซเคิลส่งครูได้มากชิ้นที่สุด เพราะครูบอกว่านี่คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อรักษาโลกร้อน  
เด็กที่ต่อไปนี้จะกราบเท้าพ่อแม่ก่อนนอนเพราะมันเอาไปสะสมแต้มเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยได้ เด็กที่ต่อไปนี้จะอยู่ในระบบ "ทำบุญเอาหน้า ภาวนากันตาย" เพราะความดีคือเหมือนคะแนนสะสมในบัตรเครดิต เก็บขยะได้ ห้าแต้ม, ช่วยครูยกของ สามแต้ม, เลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า สิบแต้ม, สวดมนต์ทุกวัน ยี่สิบแต้ม, แต่งตัวถูกระเบียบ สิบแต้ม, ไม่มีเซ็กซ์ในวัยเรียน ห้าสิบแต้ม ฯลฯ 


คงสนุกพิลึกที่เราต้องทำ "ความดี" แล้วป่าวประกาศต่อผู้คน เพราะขืนทำเงียบๆ ก็ไม่ได้แต้ม  
และต้องเลือกทำเฉพาะ "ความดี" ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดว่าเป็นความดีเท่านั้น


เด็กที่ไปประท้วงต่อต้านรัฐประหารคงไม่สามารถเอาไปจดแต้มขอคะแนนจากกระทรวงศึกษาฯ ได้ 
หรือเด็กที่ไปลงชื่อขอแก้ กม.อาญามาตรา 112 กับ คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขกฎหมายนี้ นอกจากจะไม่ได้แต้มแล้ว ฉันว่าต้องโดนตัดแต้มจนกุดแน่ๆ เลย

พ้นจากการถูกล้างสมองในโรงเรียน ออกจากมหาวิทยาลัย เราก็มาถูกล้างกันต่อด้วยวาทกรรม "ถ้าคนดีไม่ต้องมีกฎหมาย", "กฎหมายแก้ไม่ได้ต้องไปแก้ที่ศีลธรรมของคน" "ประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้ในสังคมไทยเพราะเรามีคนเลวมากกว่าคนดี"
ไปเถอะค่ะ ไปซื้อหนังสือ วอ. หนูดี วิกรม เข็มทิศ อะไรเหล่านั้นมาอ่านกันมากๆ อ่านแล้วเชื่อ อ่านแล้วทำตาม อ่านแล้วซึ้ง แล้วสังคมนี้จะดีเอง รอให้สังคมนี้มีคนดีมากกว่าคนชั่วแล้วค่อยมีประชาธิปไตย

โอเคมั้ย? จบนะ!



.