http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-23

(2)การยึดอำนาจ 3 ครั้ง ในปี 2476 ..กล้าสู้ทุกรูปแบบ..ก็ไม่แพ้ (จบ) โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

(2)การยึดอำนาจ 3 ครั้ง ในปี 2476 บทเรียนที่...กล้าสู้ทุกรูปแบบ...ก็ไม่แพ้ (จบ)
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 20 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ระวัง!! เมื่อถอย จะถูกรุกต่อเพื่อรวบอำนาจ

79 ปีที่แล้ว สภาถูกรุกครั้งแรกโดยไม่มีการใช้อาวุธ แต่เป็นอำนาจจากฝ่ายบริหาร ถึงขั้นปิดสภา
ปี 2555 ฝ่ายนิติบัญญัติโดยความเห็นพ้องของฝ่ายบริหาร พร้อมใจกันถอยให้กับการรุกล้ำของศาลรัฐธรรมนูญ แต่นี้ไป เสียงจากการเลือกตั้งกี่สิบล้านเสียงก็ไม่มีความหมาย เมื่อผู้แทน ต้องทำตามคำสั่งแบบนี้ ... "หยุด! ห้ามยกมือขึ้น...ขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ คอยฟังคำตัดสิน"

แม้พรรคเพื่อไทยมีคำอธิบายในการถอยไว้หลายข้อ แต่เสนาธิการฝ่ายตรงข้ามสรุปดังนี้ 
"พวกมันถอยแล้ว... ที่พวกมันภูมิใจคือชนะเลือกตั้ง...ก็ยกให้มันไป ต่อให้มี 20 ล้าน 30 ล้านเสียง ก็ต้องแพ้เรา เพราะไม่ว่าเราจะสั่งอะไร ตัดสินอะไรมันก็ทำตาม ขอเพียงเราเป็นคนคัดเลือกผู้ตัดสินทุกองค์กรให้เป็นฝ่ายเรา จะดึงเวลา จะหมกคดี จะเร่งคดี จะให้หมดอายุความ ให้ถูกหรือผิด เราทำได้ คดีในช่วง 10 ปีนี้ยังมีอีกเยอะที่จะคุ้ยขึ้นมาเล่นงานมัน... แต่ถ้าพวกมันตั้งผู้ตัดสินได้ คงคุ้ยคดีของพวกเราเล่นเราถึงตายแน่ ... ดังนั้น ต้องรักษาความได้เปรียบนี้ไว้เท่าชีวิต ห้ามแก้ไขเด็ดขาด กว่าจะได้อำนาจนี้มาลงทุนไปเยอะ เราเคยหลอกพวกมันสำเร็จว่า ให้รับรัฐธรรมนูญไปก่อน เพื่อจะได้เลือกตั้ง เอาไว้แก้ไขทีหลัง ซึ่งคงจะทำได้ครั้งเดียว"

ไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยมีแผนรุกกลับหรือไม่ หรือเพียงแค่ซื้อเวลา แต่ในปี 2476 คณะราษฎร มีวิธีถอยและรุกกลับ...



2476 อำนาจบริหาร รุก...ปิดสภาผู้แทน และรุกต่อ

หลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา 1 เมษยน 2476 ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อำนาจเก่าก็รุกต่อโดย มีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ รัฐบาลดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นได้แล้ว

แต่ด้านการทหารยังมีพระยาพหลฯ ขวางอยู่อีกคน เพราะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พระยาทรงสุรเดช จึงชวนให้ทั้งหมดลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และทางการทหาร พระยาพหลฯ ก็ยอมลาออกตาม "สี่ทหารเสือ" ของคณะราษฎร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ยื่นหนังสือลาออก ด้วยข้ออ้างเรื่องสุขภาพ โดยระบุวันลาออกจากราชการไว้ล่วงหน้า คือ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับให้ลาออกโดยไม่มีการทักท้วงแต่อย่างใด 18 ตุลาคม รัฐบาลก็ได้มีประกาศแต่งตั้งให้พระยาพิชัยสงครามเป็นผู้รักษาในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหลพลฯ ให้พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาการเจ้ากรมยุทธการทหารบกแทนพระยาทรงสุรเดช และให้หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการทหารปืนใหญ่อยู่ในขณะนั้นเลื่อนขึ้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการแทนพระยาทรงสุรเดช ซึ่งควบอยู่สองตำแหน่ง

การเปลี่ยนแปลงทางการทหาร มีผลต่อความปลอดภัยและอนาคตของนายทหารผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงนั้นก็มีการโยกย้ายคนของพระยาพหลฯ ออกจากหน่วยคุมกำลังทั้งหมด และจะให้พวกผู้ก่อการที่คัดค้านพระยามโนฯ นั้นไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ ส่วนหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกสั่งให้เตรียมตัวเข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศฝรั่งเศส

คณะราษฎรเห็นว่า พระยามโนฯ เตรียมเปลี่ยนการปกครองกลับเป็นระบอบเก่า



การรุกกลับของคณะราษฎร
ยึดอำนาจ เพื่อ...เปิดสภา


20 มิถุนายน 2476 

กลุ่มนายทหารหนุ่มของคณะราษฎรจึงได้ทำการรวมกำลังกัน โดยมีหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารบก และหลวงศุภชลาศัยเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือ ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเปิดสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง

ตอนเช้ามืดของวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 มีการนำกำลังเข้ายึดและควบคุมที่ทำการของรัฐบาลและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในพระนคร บังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและคณะรัฐมนตรีลาออกในวันเดียวกัน พร้อมกันนั้นก็ได้มีการแจกประกาศแถลงการณ์แก่ประชาชนถึงเหตุผลของการยึดอำนาจว่า
"ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แล้วงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ..."

ประธานสภาผู้แทนราษฎร กราบบังคมทูลลงพระปรมาภิไธยให้มีประกาศแต่งตั้งพระยาพหลพลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2476 หลังจากที่ปิดไปเป็นเวลากว่า 81 วัน 
ส่วนพระยามโนฯ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ปีนังจนเสียชีวิต


วิเคราะห์ การถอย-การรุก ของคณะราษฎร

มีคนบอกว่าพระยาพหลฯ เป็นคนซื่อ ตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคนอื่นๆ 
แต่ผู้อาวุโสที่รู้จักคนหนึ่งแย้งว่า คนที่ได้เป็นนายก 5 สมัย เป็นคนซื่อ พอฟังได้ แต่ที่จะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคนอื่นอาจไม่จริง

วันที่สภาถูกปิด นายปรีดีถูกบีบให้ลี้ภัยไปฝรั่งเศส พระยาพหลฯ รู้ดีว่าแรงบีบมาจากไหน คำกระซิบบอกนายปรีดีว่า ให้จากไปก่อน เดี๋ยวพรรคพวกทางนี้จะจัดการให้กลับมาทีหลัง แสดงว่ามีแผนอยู่แล้ว

ในขณะที่อีกฝ่าย เห็นว่าศัตรูตัวเก่งจากไปแล้วก็ย่ามใจ จึงรุกแบบไม่เกรงใจใคร ยิ่งพระยาพหลฯ ลาออก ก็ยิ่งมั่นใจ หารู้ไม่ว่า ข่าวที่ไปถึงหูนายทหารทุกคนว่าจะต้องถูกกำจัดเป็นข่าวร้าย ที่ทำให้ทุกคนโกรธแค้นและจะต้องโต้ตอบกลับ 
จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของหลวงพิบูลสงคราม นายทหารหนุ่ม ขาบู๊ ที่ออกมาจัดการกับพวกโต้การอภิวัฒน์ การยึดอำนาจกลับครั้งนี้ชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำไปเพื่อเปิดสภาผู้แทนให้กลับมาทำงานได้อีกครั้งหนึ่ง  

แต่มีข้อเสียก็คือ ไปสร้างนิสัยการใช้กำลังเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองให้กับกลุ่มทหารหนุ่ม



กบฏบวรเดช 11-24 ตุลาคม 2476 
ความล้มเหลวในการยึดอำนาจครั้งที่ 3


หลังได้อำนาจ รัฐบาลพระยาพหลฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ กลับสู่ประเทศไทย และเป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2476 สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มอำมาตย์เก่าและผู้สูญเสียอำนาจ 
พระองค์เจ้าบวรเดชจึงตัดสินใจทำการปฏิวัติ ด้วยการรวบรวมทหารผู้จงรักภักดี แต่การเคลื่อนไหวถูกคณะราษฎรติดตามอยู่ตลอดเวลา
พันเอกหลวงพิบูลสงคราม จึงได้เตือนว่า 
"...ในฐานะที่ข้าพเจ้า เป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเตือนให้ท่านจงสงบจิตสงบใจ หากท่านยังจุ้นจ้านอีก คณะราษฎรตกลงจะทำอย่างรุนแรงและจำต้องถือเอาความสงบของบ้านเมืองเป็นกฎหมายสูงสุดในการทำแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาด้วยความหวังดี"

แต่วันที่ 3 ตุลาคม พระองค์เจ้าบวรเดช พร้อมด้วยคณะ ได้เล็ดลอดไปนครสวรรค์ และเตรียมการปฏิวัติทันที 10 ตุลาคม 2476 กบฏยึดนครราชสีมา วันที่ 11 ตุลาคม ทหารจากนครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี และอยุธยา ได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานีรถไฟบางเขนและดอนเมือง ฝ่ายกบฏได้ยื่นคำขาดกับรัฐบาลว่า
คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรม กลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงขอให้คณะรัฐบาลถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งภายใน 1 ชั่วโมง มิฉะนั้น จะใช้กำลังบังคับ และจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารประจำการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แต่คำตอบของคณะรัฐบาลคือ กระสุนปืนใหญ่ เข้าถล่มกบฏ วันที่ 13 พวกกบฏเริ่มถอยออกจากวัดแคราย ในตอนค่ำกองทหารบางส่วนจากจังหวัดปราจีนบุรี เดินทางเข้าสู่พระนครร่วมมือกับรัฐบาลปราบปรามกบฏ รัฐบาลยังได้ทราบมาอีกว่า กองทหารที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ราชบุรี ลพบุรี ไม่ได้เข้ากับพวกกบฏ คงมีแต่ทหารจังหวัดนครสวรรค์

วันที่ 14-17 ตุลาคม ทหารรัฐบาลไล่ยิงพวกกบฏจนต้องถอยร่น แล้วส่งเรือสุริยมณฑลไปยึดเมืองอยุธยาไว้ได้ ทางด้านจังหวัดราชบุรีได้รับทหารกองพันผสมจากกรุงเทพฯ เพิ่มเติมและเคลื่อนตัวเข้าหาพวกกบฏที่จังหวัดเพชรบุรี พวกกบฏยอมแพ้ 
วันที่ 23 ตุลาคม พระยาสิทธิสงคราม มือขวาของพระองค์เจ้าบวรเดช ถูกยิงตายในสนามรบ 
วันที่ 24 ตุลาคม ทหารกบฏที่ปากช่องยอมแพ้เพราะต้านทหารรัฐบาลไม่ไหว

ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชเสด็จขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศ ทางด้านจังหวัดบุรีรัมย์ ไปลี้ภัยที่ไซ่ง่อน ส่วนผู้นำทหารกบฏ พากันหนีทัพเอาตัวรอด ทิ้งหลวงหาญรอนรบไว้ที่บุรีรัมย์ หลวงหาญฯ รู้ตัวว่าเพื่อนพากันเอาตัวรอดไปแล้ว จึงประกาศยอมแพ้ 
ทหารกบฏถูกจับหลายร้อยคน



บทเรียน คณะราษฎร
สู้กับ กบฏบวรเดช


วิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบัน

กรณีกบฏบวรเดช ถ้าเป็นรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อได้รับหนังสือยื่นคำขาด ก็คงยอมแพ้ทันที เพราะมีการยกกำลังทหารบุกมาล้อมกรุงเทพ น่ากลัวกว่าคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหลายเท่า แต่คณะราษฎรชุดนี้ สู้ทุกรูปแบบ แม้จะต้องรบกันหลายวัน ตั้งแต่ 11-24 ตุลาคม ก็ต่อสู้จนชนะเพราะรู้ว่า ถ้าไม่สู้ก็ต้องตายหรือถูกเนรเทศ จึงใช้ทั้งตาและฟันในการต่อสู้

คำถามสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อไทยถอยแบบนี้ ถ้าเขารุกต่อจะทำอย่างไร?
แผนรุกกลับด้วยการเปิดเวทีปราศรัยและสัมมนา ส.ส. นั้นเป็นแค่งานเสริมระหว่างปิดสภาฯ

เรื่องนี้ วิเคราะห์ได้สองทางคือเพื่อไทยต้องถอยอีก หรือเสื้อแดงไม่ยอมแล้วเดินหน้าแลกหมัดไม่สนใจพรรคเพื่อไทย ที่คิดแบบนี้เพราะเห็นว่าเป้าหมายเฉพาะหน้าของทุกฝ่ายแตกต่างกัน

1. เป้าหมายเฉพาะหน้าของพรรคเพื่อไทย คือการดำรงสถานะการเป็นรัฐบาลไว้ให้นานที่สุด การต่อสู้ใดๆ ที่จะมีผลสะเทือนถึงสถานภาพรัฐบาลจะไม่กล้าขยับตัว ส่วนเป้าหมายของทักษิณ คือกลับบ้าน เป้าหมายของ ส.ส. และรัฐมนตรี ฝ่ายรัฐบาล คืออยู่ในตำแหน่งเดิม หรือไต่ขึ้นไปให้สูงกว่า เรื่องคนที่จะสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย คงนับได้ไม่กี่หัว

ส่วนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้วิเคราะห์คิดว่าคงไม่อยากเป็นนายกฯ นานๆ แต่ต้องเป็นตามภาระหน้าที่ที่รับมา ที่อาจอยู่ได้นานเพราะขยันทำงาน ไม่ยอมแลกหมัด และลอยตัวได้ดี จนคู่ต่อสู้ทำอะไรไม่ถูก ดูจากลีลาการหัวเราะครั้งล่าสุดแสดงว่ายังไม่เครียด

2. เป้าหมายของประชาชน โดยเฉพาะคนเสื้อแดง คือประชาธิปไตยที่แท้จริง และความยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นเป้าหมายที่สูงกว่าและยิ่งใหญ่กว่า แต่โอกาสที่จะได้มาก็ยาก ถ้าจะผ่านแบบสันติต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน ประเมินว่าแกนนำเสื้อแดง ที่เป็นตัวของตัวเอง จะต้องหาวิธีต่อสู้เคลื่อนไหว ไม่ว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ นักโทษการเมือง ซึ่งไม่จำเป็นต้องขออนุญาตพรรคเพื่อไทย และน่าจะแหลมคมกว่า ก้าวหน้ากว่า

3. เป้าหมายของกลุ่มอำนาจเก่า คือช่วงชิงโอกาสสุดท้าย ต้านประชาธิปไตยแท้ ทั้งด้วยกำลังและความได้เปรียบจากรัฐธรรมนูญ 50 การต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงสำคัญยิ่งกว่าการเลือกตั้ง


บทเรียนการต่อสู้ เพียงหนึ่งปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีข้อสรุปว่า อำนาจการปกครองไม่หล่นลงมาจากฟ้า ต้องต่อสู้แย่งชิงมาทั้งสิ้น และคณะราษฎรก็ใช้แนวการต่อสู้แบบธรรมชาติ คือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน บางทีเมื่อครบ 80 ปี การต่อสู้อาจซ้ำรอยเดิม

ผู้วิเคราะห์หลายสายชี้ว่า ถ้าไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จะเกิดความรุนแรงตามมา ก็ต้องนับว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ การถอยของเพื่อไทย การเดินเกมของ ปชป. ...มีผลต่อความเป็นความตายของประชาชนในอนาคต
ถ้าอำมาตย์ไม่กลัว มีหรือพวกไพร่จะกลัว

ถ้ายิ่งกลัวผีตัวไหน ผีตัวนั้นก็จะมาหลอกหลอนบ่อยๆ แต่วันนี้ พวกที่คิดสู้บอกว่า ต่อให้มี... รัฐประหารแล้วเป็นไร... ตุลาการภิวัฒน์แล้วเป็นไร อย่างมากก็รบกันเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อาจจะขาดอาหาร ขาดน้ำประปา-ไฟฟ้า เหมือนตอนน้ำท่วมใหญ่ เพียงแต่นานกว่า ใครเคราะห์ร้ายก็ตายจากไป

ไม่ต้องวิเคราะห์ก็รู้ว่าใครจะเสียมากกว่ากัน การต่อสู้ครั้งนี้ คงต้องใช้ทั้งตาต่อตา ฟันต่อฟัน แม้กระทั่งฟันปลอม (เพราะอาวุโสทั้งนั้น) จนกว่าจะมีใครแพ้ใครชนะเด็ดขาด แต่ปัจจัยต่างๆ ไม่เหมือน 40 ปีก่อนแล้ว

สถานการณ์วันนี้ไม่ใช่ พ.ศ.2476-2516 คนที่สู้เพื่อความถูกต้องจะมีคนช่วยเยอะและจะไม่แพ้ 



.