http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-30

ความไร้ตัวตนของรัฐและสังคม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ความไร้ตัวตนของรัฐและสังคม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 32


รัฐและสังคมไม่ได้มีมาเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เรานิยามมันขึ้นมา ฉะนั้น จะพูดถึงรัฐและสังคมอย่างไรให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน วิธีหนึ่งที่ใช้กันมากมาแต่โบราณ คือเอารัฐและสังคมไปเปรียบกับสิ่งอื่นที่เราคุ้นเคย นับตั้งแต่ต้นไม้, รังผึ้ง, เครื่องจักร และร่างกาย เป็นต้น

แต่ถึงจะเปรียบอย่างไร ก็หนีไม่พ้นการนิยามอยู่นั่นเอง และขึ้นชื่อว่านิยาม ย่อมไม่ได้กำหนดแต่ความหมายเพียงอย่างเดียว หากยังกำหนดไปถึงสิทธิ, หน้าที่, ความชอบธรรม และอื่นๆ อีกหลายอย่างของรัฐและสังคมด้วย... จะกระทำด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม 
ความเปรียบถึงรัฐและสังคมอย่างหนึ่งซึ่งค่อนข้างแพร่หลายในเมืองไทยเวลานี้ คือเปรียบกับร่างกายมนุษย์ 
ผมคิดว่าคนที่ทำให้ความเปรียบนี้แพร่หลายมากคือ ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี

ความเปรียบเช่นนี้มีมาเก่าแก่มาก เพื่อเน้นหน้าที่ของคนในช่วงชั้นต่างๆ ของสังคม เช่น ในอินเดียถือว่าวรรณะพราหมณ์ออกมาจากพระเศียรของพระเจ้า กษัตริย์จากพระพาหา ลงมาจนถึงศูทรที่ออกจากพระบาท 
หรือในรามเกียรติ์ไทย ก็เปรียบกษัตริย์เป็นศีรษะ ไล่ไปถึงไพร่คือขา ซึ่งต้องทำงานหนักเพื่อพยุงร่างกายให้ดำรงอยู่ไว้ 
ไม่กี่สิบปีมานี้เอง ปรัชญามหาดไทยยังยืนยันว่ามนุษย์เราไม่เท่ากัน แม้แต่นิ้วมือเรายังไม่เท่ากัน และหากนิ้วมือยาวเท่ากัน ก็ใช้มือทำอะไรได้ลำบาก 
แต่ผมไม่คิดว่าท่านอาจารย์ประเวศเปรียบรัฐและสังคมกับร่างกายมนุษย์ เพื่อเน้นหน้าที่ซึ่งแตกต่างกันของคนในช่วงชั้นต่างๆ แต่เป็นความเปรียบภายใต้อิทธิพลของเสรีนิยม คือเพื่อให้ความสำคัญแก่ทุกเซลล์ของร่างกายเสมอกัน เปิดให้รัฐและสังคมไทยรับข้อมูลข่าวสารอย่างที่ร่างกายมนุษย์มีประสาทคอยรับข้อมูลอย่างละเอียดยิบ ตลอดจนความร่วมมือของทุกเซลล์ที่จะตอบโต้กับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมาอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีขึ้นได้อย่างไรก็ตาม ความเปรียบรัฐและสังคมเหมือนร่างกายมนุษย์ของท่านอาจารย์ประเวศ ถูกลูกศิษย์ลูกหานำไปใช้ต่ออย่างกว้างขวาง โดยอาจไม่ได้มีเป้าหมายเชิงเสรีนิยมอย่างท่านอยู่บ่อยๆ

ผมจึงอยากพูดถึงข้อจำกัดของความเปรียบนี้ ไม่ใช่เพื่อคัดค้านท่านอาจารย์ประเวศ แต่เพื่อให้เห็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของความเปรียบ เนื่องจากว่ารัฐและสังคมคือรัฐและสังคม (ซึ่งเป็นแค่ความคิดของคน) ไม่ว่าจะเอาไปเปรียบกับอะไร ก็ล้วนมีข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึงทั้งสิ้น



ประการแรกเลย การที่ร่างกายมนุษย์สามารถขจัดสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคหรือสารพิษนั้น จะว่าไปก็เพราะมันมีหน่วยความจำแฝงอยู่ในทุกเซลล์ว่า อะไรเป็นอันตรายและอะไรไม่เป็นอันตราย 
รัฐและสังคมก็มีหน่วยความจำอย่างนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากเกิดจากการอบรมสั่งสอน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ใช้ทั้งวิธีกล่อมเกลาและบีบบังคับ เพื่อให้มองสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นอันตราย หรือเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ 
ดังนั้น รัฐและสังคมจึงไม่ได้ขจัดแต่สารพิษหรือเชื้อโรคเท่านั้น หากขจัดคนมีอำนาจน้อยกว่า เพราะคนมีอำนาจน้อยไม่สามารถร่วมกำหนดได้ว่า สิ่งใดเป็นอันตรายหรือไม่ ผู้มีอำนาจน้อยหรือผู้แข่งขันอำนาจกับคนมีอำนาจ จึงมักถูกขจัดอยู่เสมอ

อย่าว่าแต่รัฐและสังคมเลย แม้แต่ร่างกายมนุษย์ซึ่งทำงานสลับซับซ้อนได้อย่างดีเยี่ยม ก็ยังทำงานผิดอยู่บ่อยๆ ขจัดสิ่งที่ไม่ควรขจัดในคนที่เป็น "โรคพุ่มพวง" หรือดูดซึมสิ่งที่ไม่ควรดูดซึม เช่นสารตะกั่ว เป็นต้น 
เพราะสังคมไม่ใช่ร่างกายมนุษย์ เราจึงจำเป็นต้องมีกฎกติกาซึ่งมาจากการตกลงร่วมกัน มีความเป็นธรรม และโปร่งใส ในการขจัดสิ่งที่ถือว่าไม่ดีออกไป ไม่ว่าจะขจัดไปไว้ในคุกหรือขจัดไปต่างประเทศ ไม่ว่าขจัดคนหรือขจัดความคิด


ในประการต่อมา กระบวนการเลือกสรรเพื่อดูดซึมหรือขจัดออกไปของร่างกายมนุษย์นั้น ค่อนข้างเสถียร คือไม่เปลี่ยนแปลง แต่รัฐและสังคมไม่ควรจะใช้กระบวนการที่เสถียรขนาดนั้นไม่ใช่หรือ อย่างน้อยเราก็ต้องหวังว่ารัฐและสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องถูกฉีดยาผ่าตัดกันขนานใหญ่เหมือนร่างกายมนุษย์
ผมคิดว่า การเปรียบรัฐและสังคมเป็นร่างกายมนุษย์จำกัดพลวัตของรัฐและสังคมลงไปมากทีเดียว


ประการต่อมา โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะแบ่งช่วงชั้นของคนนะครับ เมื่อรัฐและสังคมถูกเปรียบกับร่างกายมนุษย์ พลเมืองของรัฐและสมาชิกของสังคมก็ถูกแยกออกเป็นสองประเภท คือเซลล์ดีมีประโยชน์กับเซลล์เสียเป็นอันตรายต่อร่างกาย 
เซลล์เสียที่เป็นอันตรายนี้จะทำอย่างไรกับมันดี ก็ต้องขจัดออกไปเท่านั้น 
ผมคิดว่า โดยไม่ได้ตั้งใจอีกเหมือนกัน การเปรียบรัฐและสังคมเป็นร่างกายมนุษย์นี้ ได้ทำลายความเป็นมนุษย์ของคนที่ถูกถือว่าเป็นอันตรายลงไป และทำให้สะดวกในอันที่จะขจัดเขาด้วยวิธีต่างๆ เหมือนเราขจัดเชื้อโรคหรือเซลล์มะเร็ง 
และในทางตรงกันข้าม เซลล์ดีก็จะได้รับการพิทักษ์ปกป้องเป็นพิเศษ นี่คือที่มาของลัทธิคนดี

คนดีนั้นควรได้รับการยกย่องสรรเสริญในรัฐและสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่กระบวนการที่สังคมจะตระหนักรู้ว่าใครคือคนดีนั้น ใช้เวลาที่ยาวนานพอสมควร แต่ก็จำเป็น เพราะทำให้มองเห็นว่าดีตรงไหน และไม่ดี หรือก็งั้นๆ ตรงไหน เพื่อให้ในที่สุดแล้ว สังคมย่อมยกย่องความดีมากกว่าคนดี 
แต่ลัทธิคนดีที่แพร่หลายเวลานี้ ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางสังคม หากอาศัยการชี้นิ้วของคนดีที่สังคมยกย่องแล้ว หรือมิฉะนั้นก็ประกาศตัว-โดยตรงหรือโดยนัยยะ-ว่าตัวเป็นคนดี 
ที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือ ลัทธิคนดีให้อำนาจและสิทธิแก่คนดีไว้เหนือคนทั่วไป เกิดอภิสิทธิ์ที่จะไม่ถูกตรวจสอบ หรือจับจองตำแหน่งในองค์กรสาธารณะที่ใช้เงินภาษีประชาชนหลายองค์กรด้วยกัน



อีกด้านหนึ่งของความเปรียบนี้ ก็คือรัฐและสังคมมีกระบวนการอันเป็นธรรมชาติ เหมือนร่างกายมนุษย์ หากได้พลังงานที่เหมาะสมแล้ว มันก็ทำงานของมันไปโดยไม่มีใครสั่ง เพราะร่างกายมนุษย์มีเป้าหมายที่ค่อนข้างแคบ คือมีชีวิตรอดเท่านั้น 
อย่างที่กล่าวแล้วนะครับว่า รัฐและสังคมไม่ใช่สิ่งธรรมชาติ หากเป็นสิ่งสร้างของมนุษย์เราเอง มันจึงมีเป้าหมายอื่นๆ มากกว่าเป้าหมายทางชีววิทยา เช่น ถึงอยากมีชีวิตรอดหรือดำรงอยู่สืบไปเหมือนร่างกายมนุษย์ แต่ก็อยากดำรงอยู่อย่างมีเกียรติอีกด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถใส่สิ่งที่เป็นคุณค่าลงไปในกระบวนการทำงานของร่างกายมนุษย์ได้ ในขณะที่รัฐและสังคมนั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยข้ออ้างถึงคุณค่ามากมายเสียจนกระทั่ง ปราศจากคุณค่าเหล่านั้น รัฐและสังคมก็หมดความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ 
ถึงแม้จะให้ความสำคัญแก่ทุกเซลล์ของร่างกายเหมือนกันก็จริง แต่ก็ไม่ "เท่ากัน" เพราะแต่ละเซลล์มีหน้าที่เฉพาะของตนเอง ที่สามารถทำงานได้ ก็เพราะต้องประสานกัน และจะประสานกันได้ ก็ต้องมีสมองคอยสั่งการ

เมื่อจำลองร่างกายมนุษย์มาเป็นรัฐและสังคม หน้าที่ของคนส่วนใหญ่คือเชื่อฟัง เปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล
นอกจากเป็นความคิดที่มนุษย์สร้างขึ้นเองแล้ว รัฐและสังคมยังถูกความคิดมนุษย์สร้างขึ้นใหม่ หรือปรับเปลี่ยนจากของเดิมไปเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง รัฐและสังคมจึงเปรียบกับอะไรไม่ได้สักอย่าง เปรียบกับเครื่องจักร มันก็แน่นิ่งเสียจนเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย เปรียบกับต้นไม้ ถึงจะเปลี่ยนได้ ก็เปลี่ยนไปตามฟอร์มเดิม ไม่มีวันที่จะเอารากชี้ฟ้าได้

เพราะรัฐสังคมไม่มี "กาย" ที่หยุดนิ่งให้ไปเปรียบกับอะไรได้

ยิ่งกว่านี้ ไม่ว่าจะเอาไปเปรียบกับอะไร ก็ล้วนมีข้อจำกัดของความเปรียบเสมอ



.