.
“ความเป็นชาติ”
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 85
1
"ออง ซาน ซูจี" ผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเพิ่งคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งซ่อม มีกำหนดการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ
ประเทศแรกที่ซูจีตัดสินใจเดินทางมาเยือนก็คือ "ไทย"
และไฮไลต์หนึ่งของงานนี้ ก็ได้แก่ การที่เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ตัดสินใจไปเยี่ยมเยียนแรงงานพม่าจำนวนมหาศาลที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
การปรากฏตัวของซูจีที่มหาชัย ทำให้ผมนึกถึงข้อเท็จจริงซึ่งเคยเกิดขึ้นกับแรงงานพม่าในพื้นที่แห่งนี้ เมื่อไม่กี่ปีก่อน
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กระแส "เสื้อเหลือง" พุ่งถึงขีดสูงสุด และยังมีความเชื่อมโยงกับสถานะ "ความศักดิ์สิทธิ์" บางประการ ซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทย
นั่นคือ แรงงานต่างชาติต่างภาษาเหล่านั้น ที่บางส่วนอาจเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำงานอย่างถูกต้อง เลือกจะกลืนกลายตัวเองเข้ากับ "ความเป็นไทยกระแสหลัก" หรืออำพราง "ความแปลกแยก" ของตนเอง จากสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ
ด้วยการสวมใส่ "เสื้อเหลือง"
ดังนั้น ในยุคหนึ่ง "เสื้อเหลือง" สำหรับแรงงานพม่าที่มหาชัย จึงถือเป็นเครื่องมือปกปิด "ความเป็นอื่น" รวมทั้งเป็นแท็กติกหรือกลยุทธ์ที่พวกเขาและเธอนำมาใช้ปรับประสานต่อรองกับอำนาจอันทรงพลานุภาพของรัฐไทย
เป็นแท็กติกที่ช่วยปกปิด "ความผิดแผก" ใน "เรื่องเล่า" หรือ "เรื่องโจ๊ก" บางเรื่อง ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วสังคมไทย
อาทิ เรื่องเล่าว่าด้วยการตรวจจับแรงงานต่างด้าว ผ่านวิธีการออกคำสั่งให้พวกเขาและเธอร้องเพลงชาติไทย
2
ทีมชาติเซอร์เบียไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปประจำปี ค.ศ.2012 ที่โปแลนด์และยูเครน
แต่เซอร์เบียภายใต้การนำทีมของกุนซือคนใหม่ ซึ่งเป็นอดีตนักเตะเจ้าของตำนานลูกฟรีคิกบันลือโลก อย่าง "ซินิซ่า มิไฮโลวิช" ก็ตระเวนอุ่นเครื่องกับทีมร่วมทวีป ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายยูโร 2012 ทั้ง สเปน ฝรั่งเศส และสวีเดน
เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนยุโรป ที่จะเริ่มประเดิมสนามในช่วงเปิดฤดูกาล 2012-13
อาจเพราะต้องการรวบรวมสปิริตของทีมให้กลับมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง หลังพลาดท่าเสียทีในรอบคัดเลือกฟุตบอลยูโร
มิไฮโลวิชจึงออกกฎกติกามาหลายข้อ โดยให้นักเตะ ตลอดจนทีมงานผู้ฝึกสอน ลงนามรับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
กฎสำคัญประการหนึ่งที่มิไฮโลวิชบังคับใช้ ก็คือ ทุกคนในทีมต้องร้องเพลงชาติเซอร์เบีย
แล้วกฎข้อนั้นก็ถูกปฏิเสธท้าทายอย่างฉับพลันทันด่วนโดย "อาเดม ลายิช" หัวหอกดาวรุ่งวัย 20 ปี ที่ค้าแข้งอยู่กับฟิออเรนติน่า ในกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี
ลายิชไม่ยินยอมร้องเพลงชาติเซอร์เบีย ในแมตช์ที่ทีมลงฟาดแข้งอุ่นเครื่องกับทีมชาติสเปน ด้วยเหตุผลว่า เพราะขัดกับความเชื่อส่วนบุคคลของตนเอง
เนื่องจากเขาเป็นชาวสลาฟที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ทางตอนใต้ของเซอร์เบีย บริเวณพรมแดนติดกับบอสเนีย และ มอนเตเนโกร
อันถือเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ของประเทศ
พฤติกรรมขัดคำสั่งของหัวหน้าโค้ช ส่งผลให้ลายิชถูกขับออกจากทีมชาติเซอร์เบียทันที และจะไม่ถูกเรียกตัวเข้าร่วมทีมในยุคของมิไฮโลวิชอีก ตราบใดที่เขายังไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าว
3
เรื่องราวของ "แรงงานพม่าที่มหาชัย" ผู้ซึ่งอาจร้องเพลงชาติไทยไม่เป็น แต่ก็เคยสวม "เสื้อเหลือง" เพื่อแสดงความภักดี (อย่างน้อยก็ในเชิงกลยุทธ์เพื่อการเอาตัวรอด) ต่อ "(ศูนย์รวมจิตใจของ) ชาติไทย"
และ "อาเดม ลายิช" นักฟุตบอลทีมชาติเซอร์เบีย ผู้ปฏิเสธไม่ยอมร้องเพลงชาติ เพื่อธำรงความเชื่อส่วนตัว ซึ่งเกี่ยวพันกับปัจจัยทางด้านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศาสนา รวมถึงบาดแผลทางประวัติศาสตร์การเมือง
จึงถือเป็นเรื่องราวการต่อสู้ 2 รูปแบบ
ระหว่างคนต่างชาติที่พยายามปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอด เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ "ความเป็นชาติ" ชนิดอื่น ที่มีอำนาจเหนือพวกตน
และ "คนอื่น" ภายในชาติชาติหนึ่ง ที่ปฏิเสธท้าทาย "ความเป็นชาติ" ซึ่งตนเองสังกัดอยู่อย่างแปลกแยกห่างเหิน
นิทานสองเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "ชาติ" นั้นเต็มไปด้วยแง่มุมยอกย้อน และมิได้กอปรขึ้นมาจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่อย่างใด
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย