http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-16

('ฟามดี'ของ'คนดี') ตอกหมุดความจริง, อภิสิทธิ์กับจ่าประสิทธิ์ โดย วงค์ ตาวัน

.
โพสต์เพิ่มในอีกแง่มุมหนึ่ง - “สมศักดิ์ เจียมฯ” ฮาไม่ออก เมื่อ รบ.-พท.ใส่ “เกียร์ถอย” ชะลอลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระ 3

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ตอกหมุดความจริง 
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 98 


เห็นอาการของพรรคการเมืองบางพรรค ที่กล้าสำแดงอารมณ์ดิบส่วนลึกออกมาอย่างไม่เกรงกลัวสายตาผู้คน ประสานกับม็อบเหลือง ไปจนถึงคนอยู่หลังฉาก ที่มารวมตัวกันพร้อมหน้าอย่างมีการนัดหมายที่ชัดเจนแน่นอน เช่นนี้แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย จึงตัดสินใจเล่นบทถอย 
ถอยการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง
เพื่อให้สถานการณ์เย็นลง
เสมือนรู้ดีว่า ถ้ารีบร้อนเดินหน้าต่อไป ก็จะเจอหลุมพราง และการรุมกินโต๊ะ ที่ตระเตรียมแผนกันเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ในหมู่ศัตรูทางการเมือง

แต่เป็นการถอย ท่ามกลางความหงุดหงิดของ ส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทยในสายเสื้อแดง รวมทั้งมวลชนคนเสื้อแดง 
โดยแนวคิดของคนส่วนหลังนี้ รู้ดีเหมือนกันว่าฝ่ายตรงข้ามหลากหลายมาชุมนุมรวมตัวกันแล้ว ขุดหลุมขุดบ่อตระเตรียมอาวุธนานาชนิดไว้รุมสังหารแล้ว แต่ก็พร้อมจะแตกหัก เพราะเชื่อมั่นในพลังของประชาชนที่ให้การสนับสนุน 
ที่สำคัญ ไม่น่าเชื่อว่าศัตรูของรัฐบาลชุดนี้ จะกล้ากำหนดวันล้มล้าง ทั้งที่รัฐบาลนี้เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาไม่ถึงปี!
เป็นการได้รับเลือกตั้งจากเสียงของประชาชนกว่า 15 ล้านเสียง 
ช่างหมิ่นแคลนประชาชนเจ้าของอำนาจนี้อย่างยิ่ง


ขณะเดียวกัน ในแง่ของ ส.ส. และสมาชิกเพื่อไทยสายเสื้อแดง ก็รู้สึกเช่นกันว่า เหล่าศัตรูของรัฐบาลคลุกคลีอยู่กับอำนาจพิเศษมากเสียจนไม่เข้าใจและไม่รู้จักในพลังของประชาชน 
จึงต้องการให้เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่าพลังของประชาชนต้องยิ่งใหญ่กว่าการรวมตัวของกลุ่มอำนาจในมุมมืด และพรรคการเมืองที่ล้าหลังตกยุคบางพรรค 
เชื่อว่าคราวนี้จะได้แตกหักและเอาให้ราบคาบกันเสียที 

แต่สุดท้าย รัฐบาลยิ่งลักษณ์และแกนนำของเพื่อไทย ตัดสินใจถอย รอวันเวลาที่เหมาะสมในภายภาคหน้า 
เป็นการยุติสัญญาณการพร้อมปะทะเพื่อพิสูจน์ระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจต่างๆ ในสังคมที่อยู่ตรงข้าม 
ด้านหนึ่ง ผู้คนในสังคมก็โล่งอก วิกฤตที่ตั้งท่าจะนำไปสู่ความรุนแรง ค่อยๆ ลดระดับลงไปเรื่อยๆ 
บรรยากาศความสงบค่อยๆ กลับคืนมา 
การซื้อเวลา อาจทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย และจบลงอย่างไม่เกิดความรุนแรงก็ได้!



เหตุผลของการคิดจะโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนกว่า 15 ล้านเสียงมาได้ไม่ถึงปี ประการหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความกลัวผีทักษิณจนขึ้นสมอง 
ผีทักษิณที่ตัวทักษิณเองถึงกับบอกว่า ผมยังไม่ตาย ไม่รู้จะกลัวไปทำไม
เหตุผลอีกส่วน มาจากคนที่ตกอำนาจและหวาดกลัวคดี 98 ศพ เหตุการณ์ที่รัฐบาลใช้ความผิดพลาดอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ จนทำให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองต้องตายไปเกือบร้อยชีวิต บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคน
คดี 98 ศพ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมในประเทศเราเอง กำลังคืบหน้า มีการรวบรวมพยานหลักฐานนำขึ้นศาลเพื่อไต่สวนแล้วประมาณ 20 ราย 20 คดี

อีกทั้งจากคำให้การของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าร่วมปฏิบัติ บ่งชี้ชัดเจนว่า ทั้งหมดปฏิบัติการภายใต้คำสั่งของ ศอฉ. 
ในสำนวนคดีบ่งบอกไว้ชัดว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อาวุธจริง กระสุนจริง เข้ามาดำเนินการกับผู้ชุมนุมนั้น ไม่ได้กระทำการภายใต้คำสั่งของกองทัพ ไม่ได้ทำตามคำสั่งตามสายงานการบังคับบัญชาในกองทัพแต่อย่างใดทั้งสิ้น 
เพราะกองทัพไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ในปฏิบัติการนี้เลย 
กองทัพไม่มีอำนาจด้วยซ้ำ ในการสั่งให้เจ้าหน้าที่แต่ละกรมกอง ขับรถหุ้มเกราะ รถถัง ถืออาวุธสงคราม เข้ามาปฏิบัติการในใจกลางกรุงเทพมหานคร 
อำนาจกองทัพอยู่ที่ชายแดน ปกป้องอธิปไตย รักษาความมั่นคงของชาติ 
อำนาจทั้งหมดที่สั่งการในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ลงเอย มีประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง ตายถึง 98 คนนั้น เป็นอำนาจและการสั่งการของ ศอฉ. ทั้งสิ้น

ใครที่มีอำนาจสั่งการใน ศอฉ. ใครที่เซ็นสั่งให้เคลื่อนกำลังบ้าง เซ็นสั่งให้ใช้อาวุธจริง เซ็นสั่งให้ยิงได้ แม้จะอ้างว่าเพื่อป้องกันตนเองบ้าง
ใครเหล่านั้นกำลังร้อนๆ หนาวๆ เมื่อคดีเดินหน้าไปเรื่อยๆ 
ไม่เพียงภายในประเทศ หากแต่ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลก ก็มีสำนวนคดี 98 ศพไปรออยู่แล้ว 
ขณะที่ข่าวผู้นำของหลายๆ ชาติถูกดำเนินคดีในศาลโลก ข้อหาสั่งฆ่าประชาชนจนตายหมู่ เริ่มมีมากหน้าหลายตาขึ้น 
ความหวาดผวาคดี 98 ศพในไทย ก็ย่อมมีด้วยเช่นกัน!

ความหวาดผวาในวิญญาณประชาชนที่ถูกฆ่า ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่ชายชุดดำ กำลังตามหลอกหลอนคนสั่งการ
การดิ้นรน เพื่อจะพลิกอำนาจการเมืองโดยไม่เกรงใจประชาชนกว่า 15 ล้านเสียง จึงเกิดขึ้น 
เพราะคดี 98 ศพ เริ่มรัดมัดมากขึ้นแล้ว




นักการเมืองกลุ่มหนึ่ง จะเด็กไร้สติหรือผู้ใหญ่ที่ควรจะวางตัวให้คนเชื่อถือ กลับพูดจาเหมือนกัน ด้วยการกล้าบิดเบือนความจริงเพียงเพื่อจะปกป้องพวกพ้องของตนเอง 
มีการสร้างวาทะทำให้เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง 
ราวกับว่าคนกลุ่มนี้ ไม่เคยเห็นชีวิตคนตาย 98 คนอยู่ในสายตา 
ราวกับว่า เห็นตึกอาคารห้างร้าน สำคัญ มีคุณค่ากว่าชีวิตคนจนๆ จากชนบท ที่ถูกยิงล้มเกือบร้อยราย

ที่แน่ๆ ถ้ายึดมั่นในความจริง ตามลำดับวันเวลาที่เป็นจริง จะพบว่าคนทยอยถูกยิงตายตั้งแต่คืนวันที่ 10 เมษายน มาจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ถึง 98 คน 
แต่เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ที่พูดกันนักหนานั้น ประการหนึ่งยังไม่เคยจับได้ว่าใครเป็นคนเผา อีกประการ การเผาทั้งปวง เกิดขึ้นในบ่าย ในเย็น วันที่ 19 พฤษภาคม มิใช่หรือ 
ฆ่าไปเกือบร้อย แล้วจึงเกิดเหตุเผา

แต่กลับเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง มาโหมประโคม 
หรือต้องการเอาไฟเผาตึก มากลบศพประชาชนเกือบร้อยชีวิต

แต่พูดกันต่อไปเถอะ พูดไปเรื่อยๆ อย่าได้หยุด วาทะนี้ก็เคยโหมประโคมกันมาแล้ว ก่อนวันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ด้วยซ้ำ แล้วได้ผลจริงๆ คือ คนแห่กันไปเลือกพรรคเพื่อไทย จนล้นหลาม 
ความจริงในเหตุการณ์นี้ ได้รับการบันทึกไว้อย่างตรงไปตรงมาด้วยสื่อต่างๆ มากมาย คลิกไปในยูทูบ ก็เห็นภาพเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธจริงตามคำสั่งของ ศอฉ. ยิงประชาชนล้มชัดๆ จะๆ 
พร้อมกับเห็นชายชุดดำ รัวปืนอาก้า แต่ไม่รู้ว่ายิงไปไหน ใส่ใคร และมีใครเป็นอะไรจากกระสุนเหล่านั้นบ้าง

ขณะเดียวกัน หนังสือ" "98 ศพ" "ของกองบรรณาธิการข่าวสด ที่เพิ่งปรากฏต่อสังคม
เพื่อ"ตอกหมุดความจริง 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553" 
เป็นบันทึกความจริง ตอกหมุดความจริง ที่ประชาชนเลือกจะหามาพิสูจน์ข้อเท็จจริง มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากความจริง 
ก่อนจะเกิดความรุนแรง มีวิกฤตอะไร จากนั้นเหตุการณ์ดำเนินไปเช่นไร ลำดับไปตามวันเวลาที่เป็นจริง และนำเอาพยานหลักฐ่านที่เป็นจริงมานำเสนอ 
เพื่อร่วมกันทบทวน ไม่ให้ก้าวเดินซ้ำ ทำให้ผู้คนต้องล้มตายอีก 
รวมทั้งเพื่อร่วมกันทวงถามความเป็นธรรมทางคดีให้กับ 98 ศพ ต่อไป!



++

อภิสิทธิ์กับจ่าประสิทธิ์
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1660 หน้า 98


ลองถ้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สามารถพูดจาปราศรัยต่อหน้าประชาชน ด้วยการดัดสุ้มเสียงล้อเลียน จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ด้วยสีหน้าท่าทางสะอกสะใจเต็มที ที่ได้เล่นงานจ่าตำรวจบ้านนอกคนนี้ต่อหน้ามวลชนของตัวเองที่ปรบมือเฮฮาอย่างถูกอกถูกใจไปด้วย...เช่นนี้แล้ว 
คงต้องบอกว่า ไปไกลกู่ไม่กลับเสียแล้ว

เหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นคลิปยอดฮิตในยูทูบ
มีคนคลิกเข้าไปดูกันเป็นจำนวนมาก ด้วยความตื่นตะลึง ที่อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นไปได้ถึงขนาดนี้!?
บ้างก็ว่าดูแล้วน่ารักน่าชัง ให้อารมณ์คล้ายกับดูคลิปน้องโอ๊ต เจ้าของประโยค 'เรื่องนี้ต้องถึงครูอังคณา' อะไรประมาณนั้น
อาการหลุดๆ ของนายอภิสิทธิ์ ถึงขั้นลุยฟัดกับจ่าประสิทธิ์ครั้งนี้

ไม่ใช่แค่กรณีเดียว ยังออกอาการตอบโต้กับ โอ๊ค พานทองแท้ ลูกชายทักษิณอีก
รวมทั้งยังไปเสียดสีนายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ เรื่องการแต่งตัว และการตำส้มตำอีก
เรียกว่าหลุดกันสุดกู่

ทั้งหลายทั้งปวงเป็นช่วงเดียวกับที่พลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของนายอภิสิทธิ์ ประกอบวีรกรรมที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของรัฐสภาไทย 
ด้วยการวิ่งกรูกันเข้าไปบนบัลลังก์ประธานสภา เพื่อฉุดกระชากลากตัวท่านประธาน ตามด้วยการเข้าไปฉุกกระชากลากเก้าอี้ไปทิ้งอย่างสนุกสนาน 
ไม่มีใครห้ามใคร 
เพราะก่อนหน้านั้น หัวหน้าก็แสดงอารมณ์ในการอภิปรายโต้ตอบกับประธานสภาอย่างเดือดพล่าน
เท่านั้นยังไม่พอ

รุ่งขึ้นอีกวัน ก็ยังโห่ฮาบุกไปล้อมหน้าบัลลังก์ประธานสภาอีก ก่อนจะลงมือขว้างปาหนังสือ และแฟ้มเอกสารใส่ 
นายอภิสิทธิ์แถลงเองหลังเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ทำนองว่า แม้จะทำให้ประชาธิปัตย์เสียภาพพจน์ไปบ้าง แต่ก็คุ้มค่าเพื่อหยุดยั้งกฎหมายทำลายชาติ 
ทั้งประกาศจะเดินหน้าทุกวิธีทั้งในและนอกสภา เพื่อหยุดยั้ง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ประชาธิปัตย์ ชี้ว่าเป็นกฎหมายทำลายชาติ ทำเพื่อทักษิณ

ไม่น่าเชื่อว่าพรรคการเมืองเก่าแก่ ที่เคยชูสโลแกน เราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ได้กลายเป็นกลุ่ม ส.ส.กลุ่มแรก ที่สร้างเรื่องสยดสยองกลางสภาได้ขนาดนี้ อย่างที่ไม่เคยมี ส.ส. คนไหน กลุ่มไหน พรรคไหน กล้าทำมาก่อน 
นักวิชาการบางคนมองว่า เป็นการระบายอารมณ์เก็บกดของนักการเมืองที่แพ้ซ้ำซาก อย่างไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ 
บ้างก็ว่า คำพูดของนายอภิสิทธิ์สะท้อนชัด ว่าทำทุกทางเพื่อให้ตนเองชนะ มุ่งสู่เป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ 
บ้างก็มองว่า ไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์หลุดโลก 

แต่น่าจะเป็นการจงใจวางแผนมากกว่า ทำให้รู้สึกว่าระบบรัฐสภาในขณะนี้ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้อีกแล้ว 
ถ้าเป็นแผนเช่นนี้ ต้องการนำไปสู่อะไร!? 
ขณะที่ม็อบชุมนุมอยู่หน้าสภา ก็โหมอุณหภูมิสุดๆ แม้ว่าจะเกินเลยจากสถานการณ์ที่เป็นจริงไปหน่อย 
โดยไม่วายเรียกร้องให้ทหารออกมาทำหน้าที่ไวๆ

ไม่รู้อะไรทำให้ประชาธิปัตย์ยุคนายอภิสิทธิ์กล้าเดินหน้าไปในทิศทางที่ท้าทายสายตานักประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นอย่างมากได้ขนาดนี้ 
ก่อนหน้านี้ การอภิปรายในสภา พลพรรคประชาธิปัตย์ มักจะมุ่งโหมคำว่าเผด็จการรัฐสภาอยู่เนืองๆ จนนักประชาธิปไตยพากันงุนงงว่า สภายุคที่ประชาชนเลือกตั้งมากับมือ มาจากอำนาจของประชาชนแท้ๆ เช่นนี้ ทำไมประชาธิปัตย์จึงกล้ากล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา 
เพียงเพราะตนเองแพ้เลือกตั้งเป็นเสียงข้างน้อย เลยไม่ยอมรับกติกาเสียงข้างมากไปแล้วหรือ



นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยอภิปรายบนเวทีเสื้อแดงว่า การที่อภิสิทธิ์ยังเป็นหัวหน้าพรรค นั่นคือของขวัญที่ประชาธิปไตย์ทิ้งไว้ให้กับเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย 
ตอนที่แพ้เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ด้วยเหตุที่รู้กันดีว่า เพราะกระแสสังคมกำลังขึ้นสูง ในการทวงหนี้เลือด 98 ศพ  
แต่แล้วประชาธิปัตย์ยังเลือกอภิสิทธิ์กลับมาป็นหัวหน้าพรรคอีก 
เล่นเอาชาวเพื่อไทยยิ้มแทบปากฉีก เมื่อรู้ว่าประชาธิปัตย์ยังกอดอภิสิทธิ์เอาไว้อยู่ 
เพราะตราบใดที่การสะสางคดี 98 ศพ ยังดำเนินไป กระแสการทวงความเป็นธรรมให้กับคนตายยังดำเนินไปไม่ลดละ 
ตราบนั้น ญาติพี่น้องคนตายและคนเจ็บอันมากมายมหาศาล จะรักประชาธิปัตย์ได้หรือ!

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่ 
พออภิสิทธิ์เดินทางไปช่วยผู้สมัครหาเสียงถึงเชียงใหม่ อารมณ์เสื้อแดงก็เดือดพล่าน ผลก็คือ พรรคเพื่อไทยชนะขาดเหนือประชาธิปัตย์สุดกู่
บรรดาคนเพื่อไทยบอก ต้องขอบคุณอภิสิทธิ์ที่มาปรากฏตัวถึงเชียงใหม่ ช่วยเรียกเสื้อแดงออกมาเทคะแนนให้เพื่อไทยได้มากโข 
เพราะไม่เช่นนั้น เสื้อแดงอาจวางเฉย เหมือนกับที่เพื่อไทยโดนมาแล้วที่ปทุมธานี ก็ได้

แม้จะเป็นคนหนุ่มนักเรียนนอก แต่ก็ชัดเจนว่าประชาธิปัตย์ยุคอภิสิทธิ์ คือพรรคการเมืองอนุรักษนิยมฝ่ายขวาสุดกู่อย่างแท้จริง 
ประชาธิปัตย์ยุคอภิสิทธิ์ มัวแต่ต่อสู้อยู่กับเรื่องอำนาจทักษิณ จนไม่เคยมีข้อเสนอใหม่ๆ หรือทิศทางใหม่ๆ ให้กับประชาธิปไตย หรือความเป็นเสรีนิยม ไปจนถึงความก้าวหน้าของการเมืองไทย 
ไม่เท่านั้น ขณะพันตูกับทักษิณ ยิ่งทำให้ถลำลึกถอยหลังลงคลอง เพราะต้องไปอิงอำนาจนอกระบบอื่นๆ 
การต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดอง 
แม้จะชูการต่อต้านทักษิณ ค้านการช่วยนักโทษให้พ้นผิด ขัดขวางการช่วยคืนทรัพย์หลายหมื่นล้าน 
แต่ต้านทักษิณไป ก็โอบกอดอำนาจเก่าไว้ไม่ปล่อย


พูดไปพูดมา ที่ชาวประชาธิปัตย์ทำทั้งหมด คือมุ่งต่อสู้เพื่อรักษาระบบเก่าๆ ของสังคมเอาไว้อย่างสุดตัว
ระบบที่เอาอำนาจส่วนอื่นๆ มาขวาง มาถ่วง มาฉุดรั้งการเติบโตของพรรคการเมืองและสภา 
เพียงเพราะเอาคำว่า "คนดี" มาเป็นตัวชู 

ประชาธิปัตย์อาจจะเป็นเด็กดีของระบบเดิมๆ 
แต่สำหรับปัญญาชน นักคิดทางสังคม นักเสรีประชาธิปไตย กลายเป็นพรรคที่ล้าหลังทางประวัติศาสตร์ไปเรื่อยๆ!



มีคำอธิบายปรากฏการณ์ที่กลุ่ม ส.ส.ประชาธิปัตย์ กระทำสิ่งที่เหลือเชื่อกลางสภา ว่า ที่กล้าทำเพราะก่อนหน้านี้เคยทำอะไรยิ่งกว่านี้ แต่ไม่เคยผิด และไม่เคยรู่สึกว่าเป็นความผิด 
เหตุการณ์ 98 ศพ เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั้น ไม่ใช่มีแค่นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เท่านั้น ที่นั่งบัญชาการอยู่ในกรมทหารราบที่ 11 แต่มี ส.ส. อีกหลายคน ที่แวดล้อมนายอภิสิทธิ์ร่วมบัญชาการอยู่ในนั้นด้วย 
บางคนที่เคยผ่าน 98 ศพมาแล้ว ยังเฉยๆ ก็อยู่ในกลุ่มที่บุกไปหน้าบัลลังก์ประธานสภาด้วย
แต่เห็นอารมณ์อันไม่น่าเชื่อว่าจะทำเช่นนั้นได้แล้ว ทำให้พอนึกออกว่า อารมณ์ของกลุ่มนายอภิสิทธิ์ในห้องบัญชาการ ศอฉ. ช่วง 98 ศพนั้น จะเป็นเช่นไร 

ขณะเดียวกัน ขนาดผ่าน 98 ศพมาแล้ว ยังไม่เคยมีคำขอโทษจากนายอภิสิทธิ์และพวก 
ทุกวันนี้ ยังพูดหน้าตาเฉยว่าชุดดำฆ่า โดยไม่เคยมีพยานหลักฐานมารองรับเป็นชิ้นเป็นอัน 
เลยทำให้เข้าใจได้ว่า สำหรับนายอภิสิทธิ์แล้ว คงถือว่าความรับผิดชอบของชุดดำ ไม่ต่างจากความรับผิดชอบของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยบนชีวิตประชาชนและการคลี่คลายสถานการณ์อย่างสันติวิธี 
ดังนั้น คนตาย 98 คน บาดเจ็บอีกกว่า 2 พัน ขณะตนเองเป็นนายกฯ เลยสามารถโยนความรับผิดชอบนั้นไปให้ชุดดำ ที่ยังไม่เห็นตัวได้


แต่นายอภิสิทธิ์ที่ดูดีสไตล์นักเรียนนอก วันนี้ก็ไม่สามารถปกปิดตัวตนได้ เพราะล่าสุดสามารถลงมาลุยกับจ่าประสิทธิ์ จ่าบ้านนอกจากชายแดนสุรินทร์ได้อย่างเต็มตัว 
สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว ต่อไปนี้ก็สามารถจัดคู่ต่อสู้ทางการเมืองระดับเดียวกับนายอภิสิทธิ์ได้แล้ว ก็ต้องจ่าประสิทธิ์นี่แหละ 
อภิสิทธิ์กับจ่าประสิทธิ์คือคู่ใหม่ที่สมน้ำสมเนื้อที่สุด!



+++

โพสต์เพิ่มในอีกแง่มุมหนึ่ง

"สมศักดิ์ เจียมฯ" ฮาไม่ออก เมื่อ รบ.-พท.ใส่ "เกียร์ถอย" ชะลอลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระ 3
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 14


ภายหลังรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยตัดสินใจไม่เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 สวนทางกับเสียงเชียร์ของใครหลายๆ คน รวมถึง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
สมศักดิ์ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงท่าทีการเลือกเข้าเกียร์ถอยหลัง ของ ทักษิณ ชินวัตร-รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย-นปช.
มีเนื้อหาบางส่วนดังนี้


"ที่ผมรำพึง ถามถึงคุณทักษิณ เพราะมองจากสายตาคนนอกนะ (ผมว่าหลายคนก็คงมองแบบนี้) ผมว่า เพื่อไทย ต้องกำลังมีการแตกต่างขัดแย้งทางการเมืองในพรรคไม่น้อยแน่ๆ ในเรื่อง รธน. (หรือแม้แต่เรื่องสถานการณ์ที่กว้างออกไป เช่น ตั้งแต่กรณี พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ต้อง "ถอย" อย่างฉุกละหุกแบบนั้น) 

"อย่างเราเห็น ส.ส. อย่างก่อแก้ว หรือไม่ใช่ ส.ส. แต่ก็ใหญ่ในพรรคพอสมควร อย่างจาตุรนต์ ออกมายืนยันให้ "ชน" ลงมติแก้วาระ 3 (จาตุรนต์ถึงขนาดมี "จดหมายเปิดผนึก" ถึง ส.ส. พรรคตัวเอง)

"ขณะเดียวกัน เราก็เห็น ป.สภา สมศักดิ์ ออกมามีท่าทีจะไม่เอาด้วยแต่แรก รวมถึงมติล่าสุดของวิป รบ. ที่จะให้ปิดสมัยประชุมสภา โดยไม่มีมติเรื่องวาระ 3

"ผมกำลังรู้สึกจริงๆ ว่า ตอนนี้ เพื่อไทย กำลัง "มึน" (disoriented) ทางการเมือง จากความล้มเหลวเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง มาบวกกับเรื่องศาล รธน. เข้าอีก (ประเภทว่า ก่อนหน้านี้ คงไม่คาดการณ์แบบนี้ไว้ เพราะเห็นอุตส่าห์ "ทอดไมตรี" กับ "ชนชั้นสูง" ไว้เสียเยอะ แล้วอีกฝ่ายก็ราวกับมีท่าที "เอ็นดู" ยิ่งลักษณ์อะไรแบบนั้น)

"แต่พอมาเจอ "หมัดสวนกลับ" ทางการเมือง ติดๆ กันแบบนี้ เลย "มึน" ทำอะไรกันไม่ถูก"



"พูดแบบ "ฟันธง" สรุปนะ ตอนนี้ ทั้ง พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้งแก้ รธน. "เรื่องมันจบแล้ว" อย่างน้อย เฉพาะหน้าตอนนี้

"ผมยืนยันว่า ทั้งฝ่าย ทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. และโดยเฉพาะฝ่ายคนธรรมดาๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ที่ต้องการประชาธิปไตย

"จะต้องช่วยกัน rethink (คิดทบทวน - มติชนสุดสัปดาห์) ว่า "เราจะไปทางไหนกัน" ในเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

"ที่แน่ๆ นะ ผมยืนยันว่า ไอ้คำขวัญ ที่ออกจะ "เฮงซวย" แต่ต้น เรื่อง "ปรองดอง" น่ะ ทิ้งไปได้เลย

"รัฐบาลเองด้วย ควรหยุดพูดเรื่องนี้ไปเลย

"บอกไปเลยว่า (ก) การอยาก "ปรองดอง" ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ถ้าอีกฝ่ายไม่เอาด้วย (ข) ที่สำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้น พิสูจน์ว่าประเทศไทย ความขัดแย้งขั้นรากฐานมากๆ ยังอยู่เยอะ และการจะแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่แค่การมา "ชวนกันปรองดอง" แต่ต้องหาทางพูดถึง (address / identify) ปัญหาต่างๆ ที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งนั้น และหาทางจัดการกับต้นตอของความขัดแย้งนั้นอย่างถูกต้อง"



"อันนี้เป็น sad and bitter irony (ตลกร้ายที่เศร้าและขมขื่น) ที่สำคัญมากอยู่นะ

"ในอดีต ถ้าเป็นเรื่องอะไรที่ ถ้ามีการ "ชน" แล้ว คนที่จะเสี่ยงเดือดร้อนที่สุด คือ มวลชนธรรมดาๆ อย่างกรณีราชประสงค์ แกนนำระดับสูงสุดของ ทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. พร้อมจะตัดสินใจให้ "ชน" (ไม่ใช่ความลับอะไรนะ ที่ตอนแรกแกนนำมีมติให้ "ลง" แล้ว (รับข้อเสนอมาร์คเรื่อง "โร้ดแม็พ") แต่ตอนหลัง มีการมาเปลี่ยนมติ ยืนยันให้ "ชน" ไม่สลาย ทำไม? เป็นเรื่องที่ต้องเก็บไว้เป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ ให้ศึกษากันในอนาคต แต่มีการเปลี่ยนมติจริงๆ และไม่ใช่เรื่องสุเทพต้องมอบตัวอะไรแบบนั้นเป็นหลักด้วย เรื่องนั้น เป็นประเด็นเล็ก)

"แต่ถ้าเป็นเรื่องอะไรที่สิ่งที่ "เสี่ยง" ที่สุด คือ ฐานะของ ส.ส.ของพรรค ของ รมต. หรือแม้แต่ของนายกฯ แม้จะเป็นเรื่องที่ได้เปรียบในทางกฎหมาย ทางหลักการ และเป็นเรื่องที่แม้แต่นักวิชาการ ที่ไม่เคยเชียร์เพื่อไทย ก็เห็นว่าฝ่ายตรงข้าม ไม่มีเหตุผล ละเมิดหลักการ ฯลฯ... แกนนำระดับสูงของพรรคจะกลัวกันสุดขีด และพยายามเลี่ยงเต็มที่

"ผมว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของ "วัฒนธรรมการเมือง" ที่เคยพูดถึง...ว่า "อีลิต" นักการเมืองเราเคยชินแต่เรียกร้องให้มวลชนเสียสละในรูปแบบต่างๆ (ตั้งแต่มาชุมนุม ฯลฯ) แต่เมื่อถึงคราวพวกเขาควรต้องเป็นฝ่าย "เสียสละ" ต้อง "เสี่ยง" บ้าง จะอ้างโน่นอ้างนี่เสมอ (เรื่องอากง แม้แต่พูดก็ไม่ได้ ย้ายคุกนักโทษ 112 มาบางเขน ก็ทำไม่ได้ ฯลฯ"

"คือไม่ว่าอะไรที่เล็กขนาดไหน ถ้ามีประเด็นนักการเมืองเองต้อง "เสี่ยง" แล้ว เอา "ปลอดภัยสุดขีด" (ต่อตำแหน่ง) ไว้ก่อน เต็มที่ทั้งนั้น"



"...ถ้าพูดแบบตรงๆ ไม่เกรงใจนะ นักการเมืองใหญ่ของเพื่อไทยที่อยู่ในตำแหน่งตอนนี้ แม้แต่ตัวนายกฯ ปู เอง ประธานสภาสมศักดิ์ ประธานวิป และส่วนใหญ่ที่สุดในสภา ใน ครม. ตอนนี้ รวมทั้งคุณเฉลิม คุณยงยุทธ คุณสมชาย (อดีตนายกฯ ที่เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อไทย)

"ก็ล้วนแต่ไม่ใช่คนที่ต้องลงมาเสี่ยง ลงมาเสียสละ ต่อสู้ เอาเป็นเอาตาย ในหลายปีที่ผ่านมาเลย

"ถึงเวลา เรื่องที่ควรจะยืนยัน และสามารถยืนยันได้ กลับกลายเป็น "ปอดแหก" หัวหด กันหมด อ้างความ "เสี่ยง" อะไรกันหมด"

""อำนาจอยู่ในมือฝ่ายนั้น" "กำลังเราไม่พอ" บลา บลา บลา

- - - - - - - - - - - - -

"ครับผม นี่ใช้เป็นข้ออ้าง สำหรับเวลาที่ระดับนำทั้งหลายไม่ยอมทำในสิ่งที่ถูก ที่ควรทำ

"แต่ถ้าเวลา มวลชน ออกมาสู้กลางถนน ไม่เคยได้ยินนะครับ ว่า

"อำนาจ (ปืน) อยู่ในมือฝ่ายนั้น อย่าออกมากันเยอะๆ เลย อย่าสู้กันสุดๆ เลย เดี๋ยวตายกัน เจ็บกันเปล่าๆ"

"(ฮา ไม่ออก)" 



.